วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์[1]

1.  ดินแดนและอาณาจักร

     1.1 ดินแดน

            อาณาเขตดินแดนเดิม  ครอบคลุม พื้นที่เพียง จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา และ แม่ฮ่องสอน (ไม่รวม แพร่ และน่าน ซึ่งปกครองเป็นอิสระ) ขยายดินแดนในสมัยพญาติโลกราช(1984-2030) ตีได้เมือง แพร่  และน่าน(พ.ศ. 1984-1994 สร้างพระเจ้าทองทิพย์ ณ วัดสวนตาล น่าน)  จึงได้ผนวกแพร่และน่านเข้าในอาณาจักร)  ต่อมาขยายอำนาจออกไปถึง รัฐฉานพม่า เชียงตุง เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยอง  เขตสิบสองพันนา เชียงรุ่ง และหลวงพระบาง)

            สภาพภูมิศาสตร์ อาณาจักรล้านนา ทางด้านทิศเหนือ มีเทือกเขาแดนลาว  ทิศตะวันตก เทือกเขาถนนธงชัย ตอนกลาง และทิศตะวันออก มีเทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาหลวงพระบาง   มีทรัพยากรธรรมชาติ  ป่าไม้อุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ก่อให้เกิด แม่น้ำสำคัญ เช่น ปิง วัง ยม  น่าน  แม่กวง แม่ปาย แม่ยวม แม่เมย แม่ตื่น  แม่แจ่ม  แม่กก แม่ลาว  แม่อิง เป็นต้น  อาชีพส่วนใหญ่ ทำการเกษตร ทำนา ทำสวน ทำไร่ เรียงรายอยู่ตามที่ราบร่องหุบเขา ตามแอ่งเมืองสำคัญ เช่น แอ่งเชียงราย – พะเยา, แอ่งเชียงใหม่ –ลำพูนมีบางพื้นที่ในเขตป่าทำอุตสาหกรรมป่าไม้  

     1.2 อาณาจักร

 อาณาจักรล้านนา สถาปนาโดยพญามังราย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1839  (รวมอาณาจักรหริภุญชัย ของพระนางจามเทวี เมื่อพุทธศตวรรษที่ 13)  มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ประกอบไปด้วยชน หลายชาติพันธุ์ แต่กลุ่มใหญ่ที่สุด เรียกตนเองว่า คนเมือง ในอดีตอันยาวนาน อาณาจักรล้านนา เคยมีความรุ่งเรืองทางอารยธรรมและวัฒนธรรมสูง ด้านการปกครอง มีมังรายศาสตร์ เป็นหลักกฎหมายการปกครองแบบโบราณ  มีอาณาเขตครอบคลุม เมืองสำคัญ เช่น ลำพูน   ลำปาง เชียงราย เชียงแสน น่าน แพร่  พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงตุง และสิบสองพันนา ด้านภาษา มีภาษาล้านนา หรือ ตั๋วเมือง เป็นภาษาสื่อสาร แม้จะมีภาษาถิ่นอื่นบ้าง เช่น ภาษาเขิน ภาษาลื้อ เป็นต้น ก็สามารถสื่อสารกันได้ 

ด้านศาสนา  มีคติความเชื่อเดิมในการนับถือผี และวิญญาณบรรพบุรุษ  นับแต่โบราณนานมา เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา ชาวล้านนาจึงนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ปรับใช้กับบุคคล เช่น พระธาตุประจำปีเกิด  ด้านจารีตประเพณี ชาวล้านนามีจารีต ข้อห้าม(ขึ๋ด) และข้อที่พึงปฏิบัติกำหนดเอาไว้  มีศาสนสถาน เช่น พระธาตุ วัด   ในแต่ละชุมชน ยิ่งในตัวเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน จะมีวัดในเขตเมืองไม่น้อยกว่า 40-50 วัด   มีประเพณีที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนา เช่น ประเพณีไหว้พระธาตุ  ประเพณีปี๋ใหม่เมือง(สงกรานต์) ประเพณียี่เป็ง(บูชาประทีป ปล่อยโคม) ประเพณีตักบาตรพระอุปคุตในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ(เป็งพุด) เป็นต้น  ด้านวิถีสังคม ชาวล้านนามีความผูกพันกันทางสังคมสูง นับถือกันตามสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีอัธยาศัยอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีไมตรีต่อคนต่างถิ่นอย่างจริงใจ

ปัจจุบัน อาณาจักรล้านนา เหลือดินแดนเพียง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังถือว่า เป็นศูนย์กลางความเจริญ ด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ  การศึกษา และการท่องเที่ยว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลได้ขยายสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา(มหาวิทยาลัย) จากส่วนกลางออกมาตั้งในภูมิภาค เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรก  มีชื่อตามจังหวัดว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”  นอกจากนี้ ยังมีสถาบันระดับอุดมศึกษาของรัฐ   เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคพายัพสถาบันระดับอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(วิทยาเขตเชียงใหม่) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(วิทยาเขตล้านนา)  มหาวิทยาลัยนอร์ธ-เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เช่น เชียงราย มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดพะเยา มีมหาวิทยาลัยพะเยา(เดิม ศูนย์วิทยบริการจังหวัดพะเยา ม.นเรศวร) ในจังหวัดลำปาง มีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยโยนก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นต้น

     1.3 คนพื้นถิ่นล้านนา

คนพื้นถิ่นเดิมที่ครอบครองแดนล้านนา ตามตำนานจามเทวีวงส์ และชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า คนพื้นถิ่นที่ครอบครองดินแดนนี้ในสมัยพระนางจามเทวี  เป็น ชาวลัวะ ชาวมอญ มีขุนวิลังก๊ะเป็นผู้นำชาวลัวะ เมื่อชาวล้านนา มาอยู่ เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ภาษาที่พูด ก็เรียกว่า ภาษาเมือง “คำเมือง” มีอักษรเขียนเป็นของตนเอง เรียก “ตั๋วเมือง”

 

2. ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ล้านนา

            2.1 ฮันส์ เพนธ์ แบ่งเป็น 4 ยุค ดังนี้

                   1) ยุคที่คนไทเข้ามาอยู่และตั้งตัวบนดินแดนล้านนา (1600 -1804) ก่อนพญามังราย(204 ปี)

                   2) ยุคสร้างล้านนา(1804-1914)  พญามังราย ถึง พญากือนา(110 ปี)

                   3) ยุครุ่งเรืองของล้านนา(1914 – 2068) พระสุมนะมาเชียงใหม่ ถึงพญาแก้วทิวงคต(105 ปี)

         4)  ยุคเสื่อมของล้านนา (2068 – 2101) นับแต่หลังพญาแก้ว ถึง พม่ายึดครองเมือง(33 ปี)

            2,2 สรัสวดี อ๋องสกุล แบ่งเป็น 3 สมัย ดังนี้

                    1สมัยสร้างล้านนา(1839-1898)  ราชวงศ์มังรายตอนต้น – สิ้นสมัยพญาผายู(59 ปี)

                    2สมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง(1898 – 2068) พญากือนา  ถึง พญาแก้ว (170 ปี)  รุ่งเรืองถึงขีดสุงสุด เรียกว่า ยุคทองของล้านนา ในสมัยพญาติโลกราช(1984-2030)

3)  สมัยเสื่อมและล่มสลายของล้านนา (2068 – 2101) นับแต่พญาเกศเชษฐราช(2068-2081)  ถึง พม่ายึดครองเมือง(2101)  เป็นเวลา  33 ปี

 

3. ยุคทองของล้านนา มองจากองค์ประกอบอะไรบ้าง

            อาจารย์ฮันส์ เพนธ์ นิยามยุคทองล้านนาเพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์ ต่าง ๆ ดังนี้

            3.1 มีกองทัพที่เข้มแข็ง(ความมั่นคงทางการเมือง)

  3.2 พระภิกษุมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย(สถาบันศาสนาเข้มแข็ง)

  3.3 มีกฎหมายที่เป็นธรรม(นิติรัฐ)

 3.4 มีช่างฝีมือที่มีความสามารถ สรรค์สร้างศิลปกรรมที่มีคุณค่าสูง(ลายปูนปั้นล้านนา)

 3.5 มีวิวัฒนาการด้านเกษตรกรรม และการชลประทานสูง(ระบบเหมืองฝาย)

 3.6 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ(อยู่ดีกินดี)

ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ การรับเอาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ รามัญนิกาย (เจริญที่ เมืองพันธุมวดี เมาะตะมะ หรือเรียกว่า “เมืองพัน”) ผ่านทางสุโขทัย(พญาลิไท) ที่พระสุมนเถระนำมาเผยแผ่สู่เชียงใหม่ สมัยพญากือนา สร้างวัดสวนดอก อรัญญิกาวาส(วัดป่า) ถวายให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ที่นำโดยพระสุมนะ มีประเพณีการบวช หรืออุปสมบทภิกษุโดยการต่อแพขนานในแม่น้ำ และทำการอุปสมบทพระภิกษุตามแบบลังกา(แม่น้ำกัลยาณี)

การสนับสนุนลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ หรือ สีหลนิกาย(ที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน)  สมัยพญาติโลกราช พระสงฆ์(ทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่) มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม จนมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย และพระไตรปิฎก สังฆปราชญ์หลายท่านสามารถแต่งตำรา หรือคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีได้จำนวนมาก ด้วยความเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยของสังฆปราชญ์ล้านนาเป็นผลให้เกิดการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นมาในปี 2020 ที่วัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอดพระอารามหลวง) สร้างพระไตรปิฎกฉบับบาลีอักษรล้านนาจารลงในใบลาน เอาไว้เป็นหลักอ้างอิงและศึกษาพุทธศาสนา นับจากนั้นมาก็ทำให้การพระศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบทอดมาอีกนาน

ด้านเศรษฐกิจ ในยุครุ่งเรือง ฮันส์เพนธ์ อธิบายจากการมองเห็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งผู้ปกครองและประชาชนมีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์อย่างสูง   “พระสงฆ์และช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างก่อสร้าง อาคารวิหารในยุคนี้สร้างกันจำนวนมากมายทั่วดินแดนล้านนา  มีการหล่อพระพุทธรูปจำนวนมาก  ถ้ากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางเป็นผู้สร้างวัด มักจะถวายที่ดินเป็นกัลปนาเพื่อผลประโยชน์ของวัด ถวายผู้คน(ข้าวัด)มาปฏิบัติรักษาพระพุทธรูป วัด และพระภิกษุสงฆ์”

 

4. การพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา

            การเข้ามาของพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา สามารถแบ่งเป็น 2 มิติ ดังนี้

            4.1 มิติทางชาติพันธุ์  ถ้ายอมรับว่า ชาติพันธุ์ไท เคยอยู่ที่ตอนใต้ของประเทศจีน อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวจีน(ฮั่น)  เรียกว่า อาณาจักรอ้ายลาว จุดศูนย์กลาง อยู่ที่ มณฑลยูนาน จะตั้งตัวมาช้านานเพียงไร ไม่อาจทราบ แต่ปรากฏ “เมืองเทียน” หรือ “เมืองแถน”  ราว พ.ศ.263-323   ในสมัยขุนหลวงม้าว (ลิเมา) กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายาน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ หลังจากพระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร แคว้นแคชเมียร์ พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง   พระเจ้ามิ่งตี่ จักรพรรดิจีนทรงรับเอาพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน พระองค์ได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตที่มาได้นําเอาพระพุทธศาสนาและสมณทูตมาด้วย เมื่อหลวงลิวเมารับเอาพระพุทธศาสนา ราวพ.ศ. 600 ก็ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง 77 หัวเมือง และราษฎรจำนวนถึง 51,890 ครอบครัว เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  (http://www.dhammathai.org /thailand/thailand.php)

ภายหลัง เมื่อไทกลุ่มนี้ต่อสู้ปกป้องดินแดนกับจีน แต่พ่ายแพ้สงครามกับจีน จึงถอยร่นลงมาทางแหลมอินโดจีน ตั้งบ้านเมืองเป็นอิสระ สร้างอาณาจักรน่านเจ้า (หนังสือ เรื่องของชาติไทย ของ พญาอนุมานราชธน เรียบเรียงเพื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2483 ราว 70 ปีมาแล้ว ยังมีความเชื่อเก่า ๆ ว่า ถิ่นเดิมของไทยอยู่ในดินแดนจีน และอาณาจักรน่านเจ้าเป็นของไท  แต่ถูกจีนรุกรานหลายระรอก กลุ่มหนึ่งลงมาตั้งอาณาจักรที่ราบทางภาคกลางตอนบนของไทยปัจจุบัน มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี)  เรื่องอาณาจักรน่านเจ้าเป็นของไทนั้น ได้มีข้อโต้แย้งจากนักนักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยาทั่วโลก และรับรู้กันมานานว่า  อาณาจักรน่านเจ้าไม่ใช่ของไท แต่เป็นอาณาจักรของ “ชนชาติไป๋หยี๋” (พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต หรือ โล-โล้หลอ-หลอ) ที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ อยู่ในหุบเขา(รอบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่) ทางตอนเหนือของมณฑลยูนนาน  ศูนย์กลางตั้งอยู่บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่าเมือง ต้าหลี่(ตำนานไทเรียก เมืองตาลีฟู) ด้วยผลงานศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการจีนและนักวิชาการนานาชาติต่างยืนยันตรงกันว่า “ไม่มีคนไทในน่านเจ้า เพราะน่านเจ้าไม่ใช่อาณาจักรของไท จึงไม่เคยมีคนไทถูกขับไล่ให้อพยพหลบหนีร่นลงมาทางใต้จากจีน” (มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอังคารที่  9  พฤศจิกายน  2553เรื่องของชาติไทย ที่แท้น่านเจ้าไม่ใช่ของไทย)

 ไทอีกกลุ่มหนึ่งอพยพจากน่านเจ้า มาตั้งรากฐานที่ “เชียงแสน” หรือ อาณาจักรโยนกเชียงแสน  พงศาวดารโยนกเล่าว่า นานมาแล้ว (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13) มีพวกลัวะ หรือ ละว้า ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้ดอยตุง มีปู่เจ้า “ลาวจก” หรือ “ลวจักราช” เป็นหัวหน้า (จก คือ จอบขุดดิน) ต่อมาได้สร้างบ้านเมืองในทุ่งราบเรียกชื่อว่า “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน” ลูกหลานของปู่เจ้าลาวจก หรือ ลวจักราช ได้ขึ้นครองเมืองต่อเนื่องกันมาหลายสิบพระองค์ แล้วต่อมา ได้สร้างเมืองใหม่เรียกว่า “ภูกามยาว หรือ พะเยา” มีผู้ครองเมืองภูกามยาวต่อมาอีกหลายพระองค์ ปรากฏพระนามที่โดดเด่นหลายพระองค์ เช่น “ขุนเจื๋อง”หรือ ท้าวเจือง (พุทธศตวรรษที่ 17) และ “พญางำเมือง”  อาณาจักรหิรัญนครเงินยางเชียงแสนนี้ ประกอบด้วย เมืองเงินยาง เมืองไชยนารายณ์(จังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน)  เมืองล้านช้าง และเมืองเชียงรุ้งในสิบสองพันนา

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 1118 พงศาวดารโยนก กล่าวว่า ได้เกิดชุมชน นครสุวรรณโคมคำ เมืองโยนกนาคนครเชียงแสน และอาณาจักรล้านนาไทขึ้น บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงเมืองหริภุญชัย(ลำพูน) มีเจ้าผู้ครองนครองค์สำคัญคือ พญาสิงหนวัติ พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม และพระเจ้ามังรายมหาราช(ครองราชย์ที่เมืองเงินยางเมื่อ พ.ศ. 1804)   พม่าเรียกชุมชนนี้ว่า “ยุน”, “โยน”,  “โยนก” หรือ “ยวน”

ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 18 พญามังราย หรือ พ่อขุนเม็งราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน ได้รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยที่ปกครองเป็นอิสระอยู่กระจัดกระจาย ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่ และสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 1805 ต่อมาพระองค์ทรงขยายดินแดน ยกทัพเข้ายึดเอาอาณาจักรหริภุญชัย จากพวกมอญเชื้อสายของพระนางจามเทวีได้ใน พ.ศ. 1835 แล้ว ตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้น เรียกชื่อว่า อาณาจักรล้านนา ศิลาจารึกที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ว่า พ่อขุนเม็งรายแห่งแคว้นล้านนา พ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงแห่งแคว้นสุโขทัย ได้ร่วมกันวางแผนสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 แล้วย้ายเมืองหลวงจากเชียงราย มาอยู่ที่เมือง นพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่ (สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง2552. หน้า 42)

 

สรุปว่า ถ้าคนล้านนา หรือ คนไทกลุ่มนี้สืบสายมาจากชนชาติไท สมัยขุนหลวงลิวเมา (ขุนหลวงเม้า)  ที่เคยรับพระพุทธศาสนาจากจีนยุคจักรพรรดิมิ่งตี่ พ.ศ. 600) และนำติดตัวมาประพฤติปฏิบัติในดินแดนใหม่นี้ ก็ยืนยันว่า ชาวล้านนา ได้นับถือ พระพุทธศาสนาแบบมหายาน นับตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 7 แล้ว ดังหลักฐานสำคัญในดินแดนนี้ คือ

1) นอกประตูเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตก มีพระธาตุกู่เต้า ที่สร้างเป็นปล้อง ๆ ต่อกันแบบเจดีย์จีน

2) ขุดพบลานเงินในท้องที่อำเภอเชียงแสน ซึ่งบรรจุมนตร์ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน สาขามันตรยาน เป็นหลักฐานว่า คนไทยนำพระพุทธศาสนาแบบมหายานจากจีนมา

3) ประมาณ พ.ศ. 1292 พระเจ้าอชุตตราช(หลานของพระเจ้าสิงหนวัติ) ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากพระสงฆ์มอญ ที่มาจากเมืองสะเทิม(สุธรรมนคร)  ได้สร้างพระธาตุดอยตุงตามรูปแบบศิลปะทวาราวดีขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  

 

4.2 มิติทางภูมิศาสตร์

                    เมื่อถือเอาดินแดนตามสภาพภูมิศาสตร์เป็นหลัก พระพุทธศาสนามาสู่แดนนี้ได้อย่างไรบ้าง ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณา ดังนี้

1)  โดยการนำมาของพระนางจามเทวี ผู้มาครองนครหริภุญชัย พุทธศตวรรษที่ 13 พ.ศ.1205)  ล้านนาในอดีต มีอาณาจักรโบราณ คือ อาณาจักรหริภุญชัย ปกครองโดยราชวงศ์จามเทวี  อาณาจักรหริภุญชัย เป็นอาณาจักรมอญที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ตำนานจามเทวีวงศ์ได้บันทึกว่า ฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้น  ทูลเชิญพระนางจามเทวี เจ้าหญิงจากอาณาจักรละโว้ ให้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย ในปี พ.ศ. 1205 (ชินกาลมาลีปกรณ์)  บางแห่งว่า มาครองเมืองปี พ.ศ. 1202 (ตามตำนานพระนางจามเทวีฉบับแปลและเรียบเรียงโดย นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์) ในครั้งนั้น พระนางจามเทวีได้นำพระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างศิลปะต่าง ๆ จากละโว้ขึ้นมาด้วยเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย  พระเถระ 500 รูป หมู่ปะขาวที่ตั้งตนอยู่ในเบญจศีล 500 คน บัณฑิต 500 คน หมู่ช่างแกะสลัก 500 คน ช่างแก้วแหวน 500 คน พ่อเลี้ยง 500 คน แม่เลี้ยง 500 คน หมู่หมอโหรา 500 คน หมอยา 500 คน ช่างเงิน 500 คน ช่างทอง 500 คน ช่างเหล็ก 500 คน ช่างเขียน 500 คน หมู่ช่างทั้งหลายต่าง ๆ อีก 500 คน และช่างโยธา 500 คน ให้ร่วมเดินทางกับพระนางเพื่อไปสร้างบ้านแปลงเมืองแห่งใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น  เดินทางขึ้นมาโดยเรือตามลำแม่น้ำปิง เป็นระยะเวลานานถึง 7 เดือน จึงถึงเมืองหริภุญชัย

พร้อมกับการเสด็จมาครองเมืองของพระนางจามเทวีครั้งนะน  ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ 1) พระแก้วขาว หรือ พระเสตังคมณี  องค์เดียวกันกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน 2) พระรอดหลวง ประดิษฐานที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เมื่อพระนางเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัยแล้ว สุเทวฤๅษีและสุกทันตฤๅษีจึงประกอบพิธีราชาภิเษก ยกพระนางจามเทวีขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งหริภุญชัย เฉลิมพระนามว่า “พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย” หลังจากพิธีราชาภิเษกล่วงไป 7 วัน พระนางจามเทวีทรงประสูติพระโอรส(แฝด) (ซึ่งทรงพระครรภ์มาตั้งแต่ยังทรงอยู่ที่เมืองละโว้) 2 พระองค์ พระโอรสองค์โต ขนานพระนามว่า “พระมหันตยศ” หรือ พระมหายศ ส่วนองค์รองขนานพระนามว่า “พระอนันตยศ” หรือ พระอินทวร

ในรัชสมัยของพระนางจามเทวี นครหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง  ราษฎรต่างอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงอย่างดียิ่ง ตามตำนานได้กล่าวว่า พสกนิกรต่างมีใจเลื่อมใสศรัทธา สร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง 2,000 วัด มีภิกษุอยู่จำพรรษาครบทุกแห่ง เมื่อพระนางชนะสงครามต่อขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะในถิ่นนี้ ได้สร้างวัดประจำเมืองขึ้นมาอีก 5 วัด เพื่อเป็นพุทธปราการ ล้อมพระนครหริภุญชัย ได้แก่

1) วัดอรัญญิกรัมมการาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  ปัจจุบันคือ วัดดอนแก้ว รวมกับ วัดต้นแก้ว

2) วัดมูลการาม (วัดกู่ละมัก / ลมักกัฏฐะ) ตั้งอยู่ทางทิศใต้  ปัจจุบัน คือ วัดรมณียาราม

3) วัดอาพัทธาราม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ   ปัจจุบัน คือ วัดพระคงฤาษี

4) วัดมหาวนาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก  ปัจจุบัน คือ วัดมหาวัน 

5) วัดมหาลดาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบัน คือ วัดประตูลี้

พระนางจามเทวีได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองอย่างดี ทำให้เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง  สมัยต่อมาพระนาง ก็ได้สร้างเขลางค์นคร (ลำพาง หรือ ลำปาง) ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง   ให้โอรสองค์เล็ก พระอนันตยศ ครองเมืองใหม่(ตำนานเขลางคนครว่า เมืองใหม่นี้ ฤาษีสร้างให้พระอนันตยศ ตามคำที่พระนางจามเทวีส่งราชสาส์นไปขอ)  พบการใช้ภาษามอญโบราณ ที่ปรากฏในศิลาจารึกของหริภุญชัยหลายชิ้น  อาณาจักรหริภุญชัย มีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงเมืองจีน ดังในหนังสือ “หมานซู” ของจีน สมัยราชวงศ์ถัง บันทึกถึงนครหริภุญชัยไว้ว่าเป็น “อาณาจักรของสมเด็จพระราชินีนาถ” (女王國 หนี่ หวัง กว๋อ)  พระพุทธศาสนาที่นำมาสู่อาณาจักรหริภุญชัย เป็นแบบเถรวาท ที่สืบทอดมาแต่สมัย ทวาราวดี นับแต่ปี พ.ศ. 1824 ครั้นพญามังราย ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองหริภุญชัยจากพญายีบาได้ อาณาจักรหริภุญชัยก็สิ้นสุดลง หลังจากที่เคยรุ่งเรืองมานานถึง 618 ปี มีกษัตริย์ครองเมืองจำนวน 49 พระองค์

ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14  อาณาจักรศรีวิชัยมีอำนาจรุ่งเรืองทางใต้ ศรีวิชัยรับพระพุทธศาสนาแบบมหายานจากชวา ที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าวิษณุ หรือ ธรรมตุงคะ ราชวงศ์ไศเลนทร์  ผู้สร้างพระมหาเจดีย์ บรมพุทโธ (บุโรบุโด)ที่ ชวา พ.ศ. 1318 พระพุทธศาสนาแบบมหายาน ก็แผ่ขยายจากทางใต้ขึ้นเหนือมาจนถึงอาณาจักรทวาราวดี และหริภุญชัย

ในปี พ.ศ. 1586 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์จามเทวี) กษัตริย์ครองนครหริภุญชัย ได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดให้สร้างพระสถูปทรงปราสาทแบบศรีวิชัย (เสา 4 ประตู) ขึ้นมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้นั้น ต่อมาภายหลัง เมื่อมีการบูรณะพระสถูป จึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถูปทรงปราสาทเดิม มาเป็นแบบพระธาตุหริภุญชัยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน   พระสถูปทรงปราสาทแบบศรีวิชัย ยังมีปรากฏที่ดินแดนล้านนาอีกหลังหนึ่ง คือ ที่วัดช้างค้ำ อำเภอเมืองจังหวัดน่าน เรียกว่า “สถูปหลังคาคฤหะ”

 

ร่องรอยของการนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานในภาคเหนือ ศาสตราจารย์ แสง จันทร์งามให้ความเห็นว่า ในธรรมเนียมการปฏิบัติของสงฆ์ล้านนา พบวัฒนธรรมแบบมหายาน ดังนี้

(1) ผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์(มังสวิรัติ) เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมการฆ่าสัตว์

(2) พิธีปอยข้าวสังฆ์อุทิศแก่ผู้วายชนม์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง หรือหญิงที่คลอดบุตรเสียชีวิต) โดยการจัดเครื่องอุปโภค บริโภค มีที่นอน หมอน มุ้ง หมาก พลู อาหาร หวี กระจกเงา บรรจุใส่เรือน หรือ เสื่อถวายพระสงฆ์ ในบางท้องถิ่น สร้างเรือนแบบปราสาท ถวายแด่วัดด้วย

(3) พระภิกษุสามเณรชาวล้านนาในสมัยก่อน ฉันอาหารในเวลาวิกาล(ฉันในเวลาเย็น)ได้อย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับพระสงฆ์ฝ่ายมหายานทั่วไป

(4) พระสงฆ์ชาวล้านนาสวดมนต์ ทำนองแบบธรรมวัตร  คือ การสวดติดต่อกันไปเรื่อยไปหยุดเป็นจังหวะจนกว่าจะจบ ดังธรรมเนียมแบบพระสงฆ์มหายานสวดมนต์  ไม่เน้นสังโยค จังหวะหนักเบา สั้นยาวตามหลักภาษาบาลี

(5) สมัยก่อนในงานมงคลต่าง ๆ  เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ พระสงฆ์นิยมสวด “อุณหิสสวิชัยสูตร” เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก แต่งเลียนแบบ “อุษณีวิชัยธารณี” หรือ “อุษณีชยสูตร”  ของลัทธิมัตรยาน ฝ่ายมหายาน เพื่อกำจัดเสนียด และต่ออายุให้ยืนยาว ปัจจุบัน นิยมนำมาใช้สวดในพิธีสะเดาะเคราะห์ สืบชะตาโดยทั่วไป  นอกจากนี้ ยังนิยมสวด “ชมพูบดีสูตร” พระสูตรมหายานอีกด้วย

(6) สมัยก่อน พระสงฆ์ล้านนานิยมสวมหมวกผ้า  “ว่อม” ดุจพระมหายานสวมหมวกผ้า เป็นบริขารพิเศษ

 

2) โดยการเผยแผ่จากพุกาม พุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อ พ.ศ.1600 พระเจ้าอนุรุทธมหาราช(อโนรธามังฉ้อ)แห่งพม่ามีอำนาจ ทรงตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพุกาม ทรงแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมมาถึงดินแดนตอนเหนือของไทย คือ ล้านนา ลงมาถึงลพบุรีและทวาราวดี พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามซึ่งเป็นสายที่มาจากเมืองมคธ อินเดีย จึงครอบงำคนไทยแถบนั้นไปด้วย คนไทยจึงหันไปนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามอีก 

 

3) โดยรับผ่านทางอาณาจักรสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ 20  สมัยพญากือนา พ.ศ. 1913  พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ สายนี้ มีประวัติอันยาวนาน สืบย้อนไปถึงประเทศลังกา นครศรีธรรมราช และสุโขทัย ดังนี้

(1) เถรวาทแบบลังกาวงศ์เมื่อ พ.ศ. 1698 พระเจ้าปรักกมพาหุ แห่งประเทศลังกา ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ได้อาราธนาพระมหากัสสปะ ชำระสะสางพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาก็กลับรุ่งเรือง มีชื่อเสียงไปไกล ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วไปต่างก็สนใจ พากันเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและได้รับการอุปสมบทใหม่ที่นั่น ครั้นศึกษาเจนจบแล้วก็กลับไปบ้านเมืองของตน ๆ เฉพาะในประเทศไทย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์นี้ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน

(2) สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1800–1920) หลัง พ.ศ. 1800 เมื่อไทยตั้งราชอาณาจักรมั่นคงอยู่ที่สุโขทัยแล้ว พ่อขุนรามคำแหง เลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไปเผยแผ่ที่สุโขทัย ทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์ ส่งเสริมการศึกษาพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีอยู่เดิมมีผู้เลื่อมในน้อยลง และในที่สุดก็มารวมเป็นนิกายเดียวกัน   พระพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสร้างวัด อาราม และหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่จำนวนมาก  เมื่อปี พ.ศ. 1893 พญาลิไทขึ้นครองราชย์ ได้นิมนต์พระมหาสวามีชื่อ “สุมนะ” (เรียกว่า พระมหาสุมนเถระ ศิษย์พระอุทุมพรสวามี แห่งเมืองพัน  เคยไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกากลับมาเผยแผ่ที่พม่า)  เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรุงสุโขทัย พระองค์ได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ณ วัดป่ามะม่วง ในเขตอรัญญิก และได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นหนังสือทางศาสนาที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อและวิถีปฏิบัติของประชาชนทั่วไปในเรื่องนรกสวรรค์และการทำดีทำชั่ว

(3) สมัยล้านนา ประมาณ พ.ศ. 1913 ในรัชสมัยของพญากือนา ได้ทรงส่งราชทูตไปนิมนต์พระสุมนเถระ จากพญาลิไท เพื่อขอให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา นับเป็นการเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ สายรามัญนิกาย (ต้นสาย พระอุทุมพรสวามี ที่เคยไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกากลับมาเผยแผ่ที่พม่า) ในดินแดนแถบนี้ พระมหาสุมนเถระ ได้มาพำนักที่ วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ประมาณ 2 พรรษา และมาประจำที่วัดบุปผาราม(วัดสวนดอก) เชียงใหม่  ที่พญากือนาอุทิศราชอุทยานสวนดอกไม้ให้เป็นวัดป่า สำหรับเป็นที่สำนักของพระมหาสุมนเถระ นับเป็นการหยั่งรากฝังลึกของพระพุทธศาสนาสายเถรวาทในล้านนาให้มั่นคงอีกสมัยหนึ่ง

(4) สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา (1932) ได้พระสีหลปฏิมา (พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์) จากกำแพงเพชร  สร้างพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน แบบสิงห์ 1 2 3 ขึ้นมา (ที่ลังกาไม่มี แต่คล้ายศิลปะแบบปาละ อินเดียใต้ พบมากที่บุโรบุโด)

(5) สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน  พ.ศ. 1967 พระสงฆ์ล้านนา 25 รูป  ประกอบด้วย พระชาวลพบุรี 8 รูป พระมอญ 1 รูป ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา จบแล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ชาวลังกา 2 รูป คือ พระมหาวิกรมพาหุ และพระมหาอุตตมปัญญา เพื่อมาทำการอุปสมบทกุลบุตรชาวเชียงใหม่  ตั้งสำนักที่วัดป่าแดง และได้ตั้งคณะสงฆ์สีหลขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง สมัยนี้ สงฆ์แตกเป็น 3 คณะ คือ คณะพื้นเมืองเดิม คณะสวนดอก(รามัญนิกาย) คณะป่าแดง(สีหลนิกาย)

 (6) ในรัชสมัยของพญาติโลกราช(1984-2030) พระองค์ได้อุปถัมภ์การสังคายนา ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ที่วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด ในนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2020

 (7) ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038–2068) เป็นยุครุ่งเรืองของวรรณคดีพระพุทธศาสนา หรือยุคทองสูงสุดของวรรณกรรมทางพุทธศาสนาในล้านนา เพราะมีพระสังฆปราชญ์จำนวนหลายองค์ สามารถแต่งคัมภีร์ทางศาสนาเป็นภาษาบาลีขึ้นมาจำนวนมาก เช่น พระสิริมังคลาจารย์ แต่ง 4  คัมภีร์ ได้แก่ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักรวาลทีปนี สังขยาปกาสกฏีกา  พระรัตนปัญญา แต่งหนังสือ วชิรสารัตถสังคหะและชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น

 

5. การพระพุทธศาสนาในยุครุ่งเรือง(ยุคทอง)ล้านนา

5.1 สมัยพญาติโลกราช(1984-2030)  พญาติโลกราช พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1952 เป็นพระโอรสลำดับที่ 6 ในพระเจ้าสามฝั่งแกน มีพระนามเดิมว่า ท้าวลก มีพี่น้องต่างพระราชมารดา รวม 10 องค์ เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 10 ของราชวงศ์ มังราย (พ.ศ. 1985)  เมื่อมีพระชนมายุ 32 พรรษา ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

1) ก่อนรัชสมัยพญาติโลกราช  ในสมัยพญาสามฝั่งแกน มีสงฆ์คณะใหม่ ที่ไปศึกษาจากลังกากลับมาอยู่ที่วัดป่าแดง เรียกตนเองว่า สีหลนิกาย หรือ ลังกาวงศ์ใหม่  มีคนเลื่อมใสนับถือมาก เพราะเน้นการศึกษาภาษาบาลี  และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ทั้งกล่าวหาและโจมตีคณะสงฆ์นิกายสวนดอก(นิกายที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย)ว่า ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย  จนทำให้สงฆ์เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทรุนแรงถึงขั้นชกต่อยกัน 

ข้อขัดแย้ง ทางวินัย ที่สีหลนิกาย(หนป่าแดง) กล่าวหารามัญนิกาย(หนสวนดอก) ว่าผิดพระวินัย ดังนี้

            1) พระหนสวนดอก ถือไม้เท้าออกบิณฑบาตเหมือนถือกะลาขอทาน

            2) พระหนสวนดอก รับเงินและทอง

            3) พระหนสวนดอก มีนาจังหัน

            4) พระหนสวนดอก ใช้อักขระแบบสันสกฤต เกินภาษาบาลี ที่พระพุทธโฆษาจารย์แปลไว้ (อักขระวรรค ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ใช้เป็น รฺฏ รฺฐ รฺฑ รฺฒ รฺณ อ่านว่า ระฏะ ระฐะ ..ระณะ)

            5) พระหนสวนดอก ออกเสียงสวดอักขระไม่ถูกต้อง ในพิธีกรรม เช่น พุทธัง  สะระณัง เป็น “พุทธัม      สะระณัม”

            6) การผูกพัทธสีมาของพระหนสวนดอก ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

            7) พระอุทุมพรสวามี ต้นนิกายหนสวนดอก เมื่อกลับมาพม่า ขณะที่อยู่ในเรือสำเภาท่ามกลางมหาสมุทร ทำการบวชภิกษุใหม่ คณะให้การอุปสมบทไม่ครบสงฆ์(ต้องมีภิกษุอย่างน้อย จำนวน 5 รูป) แต่เมื่อมีภิกษุรูปหนึ่งมรณะในระหว่างทาง จึงใช้พระพุทธรูปแทน ภิกษุรูปที่มรณภาพในเรือ นับเป็น 5 เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ในอุปสมบทกรรม  การเป็นภิกษุของหนสวนดอกถือว่าขาดเงื่อนไข ไม่สมบูรณ์นับแต่นั้นมา(เป็นโมฆะแต่ต้น)

ข้อสังเกต ตำนานมูลศาสนา แต่งโดย พระพุทธพุกาม เป็นพระนิกายหนสวนดอก

ข้อขัดแย้ง ทางวินัย ที่พระรามัญนิกาย หนสวนดอก กล่าวหาและโต้กลับพระสีหลนิกาย หนป่าแดง ดังนี้

   1)  พระนิกายหนป่าแดง ทำลายความสามัคคี สร้างความแตกแยกในพระสงฆ์(สังฆเภท)

   2)  พระมหาญาณคัมภีร์(ต้นนิกายหนป่าแดง) อุปสมบท(ใหม่ที่ลังกา)ไม่ถูกต้องตามพระวินัย(พระอุปัชฌาย์เป็นชีเปลือย ไม่ใช่สงฆ์ แถมลักทองจังโกวัด)

   3)  พระนิกายหนป่าแดง ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชแปลงมายังไม่ครบ 10 พรรษา (แต่กลับละเมิดพระวินัย ทำการอุปสมบทภิกษุ)

   4) พระนิกายหนป่าแดง(พระมหาญาณคัมภีร์) สั่งสอนไม่ให้กราบไหว้พระพุทธรูป และให้นำไปทิ้งเสีย(สูอย่าได้ไหว้รูปพระเจ้า สูอย่าบูชา บ่ได้บุญสักเม็ด พระเจ้านิพพานไปแล้วดาย พระเจ้า(พระพุทธเจ้า)เท่าไว้(ทรงมอบให้แต่) พระธัมมกับสังฆะแล หื้อฝังสารูปเสียว่าอั้น เขาฟังคำมันอันกล่าวนั้น ก็ฝังรูปพระเจ้าเสียแท้หั้นแล”(ประเสริฐ ณ นคร, ปวงคำ ตุ้ยเขียว (2537) : ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่  เชียงตุง กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์,)

ข้อสังเกต ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ จากคณะสงฆ์นิกายหนป่าแดง ยังพูดถึง(การสักการะ)พระรตนปฏิมาด้วย

 เพื่อระงับข้อขัดแย้ง(อธิกรณ์สงฆ์) พญาสามฝั่งแกน จึงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองนิกายให้ลงไปแก้ข้อกล่าวหากันที่แพขนาน 2 หลัง ผูกไว้กลางลำแม่น้ำปิง ผลการตอบโต้กัน พระนิกายสวนดอกแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อเป็นฝ่ายชนะ จนพระสงฆ์นิกายหนป่าแดงถูกห้ามเผยแผ่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น(กลุ่มหนึ่งไปตั้งสำนักที่ลำพูน)

2) ผลงานการบำรุงพระพุทธศาสนาของพญาติโลกราช ในรัชสมัยพญาติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงกลับมาให้การสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายหนป่าแดง (ลังกาวงศ์นิกายสิงหลใหม่) โดยทรงนิมนต์พระมหาเมธังกรญาณ แกนนำกลุ่มลังกาวงศ์ใหม่จากลำพูน ให้มาจำพรรษาที่วัดราชมณเฑียร พระองค์ให้รื้อปราสาทของพระราชมารดามาสร้างวิหารถวาย  สถาปนาให้พระมหาเมธังกรญาณขึ้นเป็น “พระมหาสวามี” ถวายสมณศักดิ์เป็นที่ “พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี”  (ม.ล. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (2556) รายงานการวิจัย พระพุทธศาสนาในล้านนา ระหว่างรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช-พญาแก้ว หน้า 18- 22)       

พระองค์ทรงปรารถนาเป็นทายาทในศาสนาและสนองคุณพระชนนีจึงทรงมอบราชสมบัติแด่พระชนนี แล้วผนวชโดยมี “พระญาณมงคลเถระ” เป็นพระอุปัชฌาย์ มี “พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชอยู่ชั่วคราว ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร ไม่นานก็ทรงลาผนวชออกมาครองราชย์

การที่พระองค์สนับสนุนสงฆ์สิงหลนิกาย ทำให้ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่รุ่งเรืองขึ้น กุลบุตรมาบวชเป็นจำนวนมาก พระภิกษุในนิกายสิงหลมีเพิ่มขึ้นมาก พระนิกายสิงหลใหม่เน้นการศึกษาภาษาบาลีและการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเจริญก้าวหน้าอย่างสูง

ความขัดแย้งระหว่างลังกาวงศ์ใหม่สายสิงหล (วัดป่าแดง) และลังกาวงศ์เก่าสายรามัญ (วัดสวนดอก) ที่มีอยู่ในยุคนั้น ก็ทำให้พระสงฆ์สายรามัญตื่นตัว ปรับตัวหันมาพยายามศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้มข้นเช่นกัน

พญาติโลกราชทรงส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทรงยกย่องพระภิกษุที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทำให้พระสงฆ์ในสมัยนั้นจึงมีความรู้สูง ที่ปรากฏมีชื่อเสียงมากมาย เช่น พระโพธิรังสี(แต่งจามเทวีวังสะ) พระธรรมทินนเถระ และพระญาณกิตติเถระ เป็นต้น

            ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งแรกในแดนไทย ความเชี่ยวชาญในการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและความรอบรู้ในพระไตรปิฎกของพระเถระชาวล้านนาในยุคนั้น ก่อให้เกิดการทำสังคายนาสอบชำระพระไตรปิฎก  ใน ปีพ.ศ. 2020 ที่วัดมหาโพธาราม (เจ็ดยอด)  โดยมีพระธรรมทินนมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน ท่านได้คัดเลือกพระเถรานุเถระประมาณ 100 กว่ารูป ที่มีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีและพระไตรปิฎกทั่วอาณาจักรล้านนา ที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ 12 รูป  ได้แก่ พระมหาเถระอภัยสารทมหาสามี ซึ่งมีพรรษาได้ 57 พรรษา พระญาณสิทธิ  พระญาณมงคล ชาวเมืองหริภุญชัย  พระญาณลังกา ชาวเมืองเชียงราย พระสัทธัมมรังสี ชาวเมืองเชียงแสน  พระรัตนปัญญาเถระ ชาวเมืองพะเยา  และพระรัตนปัญญาเถระ ชาวเขลางคนคร เป็นต้น กระทำสังคายนาชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎกครั้งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ในประวัติพระพุทธศาสนาต่อจากที่ทำมาแล้ว 7 ครั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา  เรียกว่า “อัฏฐมสังคายนา” ซึ่งใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้ จนเป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศไปทั่วประเทศข้างเคียง ทำให้พระเจ้าติโลกราชได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่”  พระไตรปิฎกฉบับที่สอบชำระในสมัยพญาติโลกราชจึงถือเป็นคัมภีร์หลักฐาน สำคัญชิ้นหนึ่งของพุทธศาสนาในล้านนาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

การสร้างและบูรณะวัดสำคัญๆ ในรัชสมัยของพญาติโลกราช มีดังนี้

สร้างวัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด) ในปี พ.ศ. 1999  ให้เป็นที่อยู่ของพระอุตตมปัญญาเถระ ที่ริมน้ำแม่ข่า (โรหิณีนที) โปรดให้ปลูกต้นโพธิ(หน่อจากวัดป่าแดงหลวง) ในอารามนั้นแล้วตั้งชื่อว่า วัดมหาโพธาราม จากนั้นสร้างสัตตมหาสถาน(อนิมิสเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รัตนจงกรมเจดีย์ทิศเหนือ  รัตนฆรเจดีย์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  อชปาลนิโครธ ทิศตะวันออก  สระมุจจลินทร์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้  ราชายตนะ ทิศใต้ ก่อกำแพงประตูโขง ) ในปีวอก พ.ศ. 2020 โปรดให้สร้างมหาวิหาร(วิหารเจ็ดยอด)ในอารามนั้น 

สร้างวัดราชมณเฑียร ด้านทิศเหนือ ภายในกำแพงนครเชียงใหม่

สร้างวัดป่าตาลมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่

สร้างวัดป่าตึง ให้เป็นอารามใหญ่ เรียกว่า วัดป่าแดงหลวง หรือ วัดรัตตวนาราม   ทรงสร้างโรงอุโบสถในวัดป่าแดงหลวง ซึ่งเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จในวันมหาปวารณา จึงทรงร่วมพิธีผูกพัทธสีมาที่วัดป่าแดงนั้นด้วย

ทรงบูรณะต่อเติมเจดีย์หลวง ให้ใหญ่และสูงกว่าเดิม กว้างด้านละ 35 วา สูง 45 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์นั้น ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต จากวัดพระธาตุลำปางหลวง นครเขลางค์ มาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจระนำเจดีย์หลวง ด้านตะวันออก

 ทรงมอบให้สีหโคตรเสนาบดี และ อาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ ดำเนินการหล่อพระพุทธรูป แบบ ลวปุระ ขนาดใหญ่ ด้วยทองสัมฤทธิ์หนักสามสิบสามแสน (=3,960 กิโลกรัม) ณ วัดป่าตาลมหาวิหาร ซึ่งมีพระธรรมทินนมหาเถระ เป็นเจ้าอาวาส

ในยุคนั้น มีการสถาปนาความเชื่อเรื่องพระธาตุในที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอาณาจักร โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางศาสนาของคนในถิ่นต่าง ๆ ด้วยการสร้างตำนานเมือง และตำนานพระธาตุ ขึ้นอย่างแพร่หลาย

โปรดให้คณะสงฆ์รื้อถอนสีมาที่ปลูกฝังตั้งแต่ครั้งคณะสงฆ์หนสวนดอก มาทำการปลูก(ผูก)ใหม่ หรือ ปลูกซ้อนสีมาเดิม เพื่อจัดการความเห็นต่างทางพระวินัยของพระสงฆ์

 

  5.2  สมัยพระเจ้ายอดเชียงราย(2030-2038) 

            ภารกิจทางศาสนา  โปรดให้ชำระขัณฑสีมา(สีมาขาดแดน ไม่ชนรอบกัน) ซึ่งพระญาณมงคลเถระ สมมุติไว้ที่เกาะดอนแท่น หน้าเมืองเชียงแสน  พระภิกษุรูปสำคัญที่เข้าร่วมพิธี  ประกอบด้วย พระมหาญาณโพธิมหาสามี เป็นประธาน พระเวฬุวันเถระ วัดกู่เต้า พระสุรสีห์ พระนารท วัดป่าแดงหลวง เป็นต้น

          ทำการบูชาพระมหาธาตุเจดีย์หริภุญชัยด้วยตุง(ธง) 100,000 (หนึ่งแสน) ผืน

พญาสุริยวงศ์ กับท้าวเอื้อยหอขวาง ราชบุตรพญาติโลกราช แอบลักลอบเอาพระแก้วขาว ไปหลบที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกกองทัพติดตามไปนำกลับคืนมาจากกรุงศรีอยุธยา

 

  5.3  สมัยพญาแก้ว(2038-2068)  พญาแก้ว มีพระนามที่เรียกกันต่าง ๆ คือ พระเมืองแก้ว หรือ พ่อท้าวแก้ว หรือ เจ้ารัตนราชกุมาร หรือ พญาแก้วภูตาธิปติราช หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงเป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราช  เป็นราชบุตร ของพญายอดเชียงราย กับ พระนางสิริยสวดี (เทวีโป่งน้อย) ได้รับการเฉลิมพระนามว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ”  เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์เม็งราย 

            ในรัชสมัยนี้ การพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง คณะสงฆ์ไม่แตกสามัคคี  พญาแก้วเลื่อมใสศรัทธาใน พระพุทธศาสนาทรงอุปถัมภ์บำรุงมากมาย มีหลักฐานจากศิลาจารึก ในการสร้างวัดและการบูรณปฏิสังขรณ์ถูกค้นพบมากชิ้นทางภาคเหนือ (จารึกอักษรไทยฝักขาม ประมาณ 34-36 หลัก) แสดงให้เห็นว่า พระองค์ให้การสนับสนุน ทำนุบำรุงการพระศาสนาอย่างยิ่ง  และพระองค์ทรงลาผนวชระยะหนึ่ง ดุจพญาติโลกราช(พระเจ้าปู่)

ผลงานพญาแก้ว  การสร้างวัด  พระองค์สร้าง เช่น

สร้างวัดบุพพาราม(วัดเม็ง)  พ.ศ. 2039

สร้างวัดศรีสุพรรณ พ.ศ. 2043

ฟื้นฟูวัดป่าแดงมหาวิหารให้เจริญรุ่งเรือง

สร้างพระอุโบสถ และ หอไตร ที่วัดมหาโพธาราม

อุปถัมภ์สงฆ์ทั้ง 3 คณะ (หนพื้นเมือง หนสวนดอก และ หนป่าแดง) จัดพิธีอุปสมบทขึ้นที่เชียงแสน ในปี พ.ศ. 2058  นิมนต์สงฆ์ทั้ง 3 คณะ เข้าประกอบพิธีอุปสมบทกรรม

ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ที่มีความรู้และแตกฉานในภาษาบาลีอย่างสูง สามารถเขียน(รจนา)คัมภีร์ทางศาสนาด้วยภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงเถรสังฆปราชญ์ล้านนาเป็นที่รู้จักกันในหมู่ประเทศชาวพุทธ

ปี พ.ศ. 2066 พระเจ้าโพธิสารราช เจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต(2063-2090) หรือ พระเจ้าล้านช้าง  โปรดให้ทูตเชิญราชสาส์นมาเพื่อขอคณะสงฆ์และพระไตรปิฎกไปเผยแผ่ยังกรุงศรีสตนาคนหุต พญาแก้วจึง ส่งพระเทพมงคลเถระ พร้อมคัมภีร์พระไตรปิฎก 60 คัมภีร์(มัด) ไปถวายพระเจ้าล้านช้าง(พงศาวดารโยนก : 371)

โคลงมัทรารบเชียงใหม่ กล่าวสรรเสริญพระญาแก้วว่า “พระองค์มีพระทัยมุ่งทำบุญทำทานเป็นกิจวัตรอันประเสริฐตลอดพระชนม์ชีพ มุ่งแต่รักษาศีลและทานโดยแท้ จึงทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข”(สิงฆะ วรรณสัย 2522 : หน้า 50 อ้างใน ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ รายงานวิจัยฯ หน้า 23)

 ตลอดระยะเวลา 3 รัชกาล  คือ  พระเจ้าติโลกราช  พระยอดเชียงราย  และพระเมืองแก้ว  รวมเป็นเวลา 84 ปี  นับเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา  เพราะเป็นยุคที่มีการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง  และก่อนจะมาถึงยุคทองนี้  พระสงฆ์ชาวล้านนาหลายสิบรูป ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกา  โดยใช้ภาษาบาลีเป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลให้พระสงฆ์ชาวล้านนามีความรู้แตกฉานในภาษาลีเป็นเยี่ยม  จนสามารถรจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง 

เมื่อพ้นจาก 3 รัชกาลนี้ไปแล้ว  สืบระยะหลังต่อมาก็ไม่ปรากฏมีผลงานภาษาบาลีจากพระสงฆ์ล้านนาอีกเลย(สมหมาย เปรมจิตต์, (2556) วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา)

สรุป สมัยอาณาจักรล้านนาเปรียบกับอาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรล้านนา เป็นอาณาจักรไทกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสระ เริ่มต้นตั้งอาณาจักรยุคเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย และเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยเดียวกัน  และก็ได้เจริญต่อมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนามีหลายอย่างคล้ายคลึงกับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งอยู่ใน ระยะเวลาใกล้เคียงกันอีกด้วย ตัวอย่างเช่น

1. พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ก็เข้าสู่อาณาจักรล้านนา ในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งตามพงศาวดารโยนก กล่าวว่า เข้ามาสมัยพญากือนา เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ แต่ว่าเข้า มาทางรามัญประเทศ และได้รับการทำนุบำรุงจากกษัตริย์ล้านนา มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน

2. มีการอาราธนาพระสงฆ์จากลังกา และส่งพระสงฆ์ไทยไปศึกษาที่ลังกาเหมือนกัน คือ ส่งไปเมื่อ พ.ศ. 1965 พร้อมกับพระเถระชาวกรุงศรีอยุธยา และพระเถระชาวกัมพูชา เป็นพระเถระชาวล้านนา 7 รูป ชื่อพระธรรมคัมภีร์, พระเมธังกร, พระญาณมงคล, พระศีลวงศ์, พระสารีบุตร, พระรัตนากร, พระพุทธสาคร  มีพระสงฆ์ชาวกรุงศรีอยุธยาอีก 2 รูป คือ พระพรหมมุนี และ พระโสมเถระ  และพระภืกษุชาวกัมพูชาอีก 1 รูป ชื่อพระญาณสิทธิ นอกจากรายนามที่กล่าวมายังมีพระภิกษุ และบริษัทอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ร่วมไปกับพระเถระคณะนี้อีกด้วย เมื่อขาเดินทางกลับจากศรัลังกา  พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้นิมนต์พระมหาเถระชาวลังกามาด้วย 2 รูป ชื่อ พระมหาวิกรรมพาหุ และ พระอุตตมปัญญา มาสู่ถิ่นนี้ด้วย

3. พญาติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ได้ทรงลาผนวชชั่วคราว เช่นเดียวกันกับ พระมหาธรรมราชาลิไท (ราว พ.ศ. 1990) แต่อาณาจักรล้านนา กลับมีหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะทางด้านตำราทางพระพุทธศาสนา ได้เจริญรุดหน้าไปกว่าอาณาจักรสุโขทัย เช่น

1) พญาติโลกราช ได้ทรงทำการอุปถัมภ์จัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นในอาณาจักรล้านนา ที่วั้ดมหาโพธำราม หรือ วัดเจ็ดยอด เมื่อ พ.ศ. 2020 (ซึ่งในเวลานี้ อาณาจักรสุโขทัยได้ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาไปแล้ว)

2) มีพระสังฆปราชญ์ เกิดขึ้นหลายองค์ ซี่งแต่ละองค์ได้รจนาคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาและทางประวัติศาสตร์ไว้จำนวนหลายเรื่อง จะขอยกพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

(1) พระญาณกิตติ รจนา คัมภีร์โยชนาวินัย โยชนาอภิธรรม และคัมภีร์อื่น ๆ อีก รวมได้ประมาณ 10 คัมภีร์

(2) พระรัตนปัญญา รจนา วชิรสารัตถสังคหะและชินกาลมาลี

(3) พระโพธิรังษี รจนา จามเทวีวงศ์

(4) พระนันทาจารย์ รจนา สารัตถะสังคหะ

(5) พระสุวรรณรังสี รจนา ปฐมสมโพธิสังเขป

(6) พระสุวรรณปทีปเถระ รจนา อเผคคุสารัตถทีปนี

   (7) พระสิริมังคลาจารย์ รจนา คัมภีร์ 4 เล่ม คือ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี และ สังขยาปกาสกฎีกา ซึ่งถือกันว่า พระมหาเถระองค์นี้ เป็นรัตนกวีที่เด่นที่สุดของอาณาจักรล้านนา

อีกคัมภีร์ 1 ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง  แต่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือ “ปัญญาสาสชาดก” หรือที่พม่าเรียกว่า “ซิมเหม่ปัณณาส” แต่งนิทานพื้นเมืองเป็นภาษาบาลี เลียนแบบการแต่งนิทานชาดก

คัมภีร์ต่าง ๆ ที่ปราชญ์ชาวล้านนา รจนาขึ้นนี้ ได้มีอิทธิพลในการศึกษาภาษาบาลีสืบมา จนปัจจุบันโดยเฉพาะคัมภีร์ มังคลัตถทีปนี   ในวงการศึกษาบาลี ให้ถือเป็นฉบับครูต้นแบบในการแต่งตำราทางศาสนา ซึ่งมีการอ้างอิงรายนามคัมภีร์ที่ผู้แต่งนำมาใช้เรียบเรียง ยืนยันต้นตอข้อมูลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ไม่น้อยกว่า 100 คัมภีร์

 

6. พระพุทธศาสนาล้านนาในยุคปัจจุบัน

     6.1 อิทธิพลจากวัฒนธรรมพุทธแบบพม่า

พ.ศ. 2101- 2317 สมัยที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า นับแต่สมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ – สมัยพระเจ้ากาวิละ  ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โดยการปกครองของพม่า  บ้านเมืองอยู่ในสภาพเมืองขึ้น การศาสนาขึ้นอยู่กับสภาพชุมชนที่ไม่มั่นคงและมีอำนาจ  ขาดผู้สนับสนุนหลัก ทำให้การพุทธศาสนาในล้านนาซบเซาลงไปมาก พระสงฆ์นักปราชญ์ที่เก่งเหมือนในสมัยรุ่งเรืองไม่มี การปฏิบัติกิจศาสนาก็เป็นแบบคตินิยมที่สืบกันมานาน บางอย่างมีการเบี่ยงเบนไปจากหลักการเดิมของเถรวาทมาก  รวมทั้งวัฒนธรรมพม่าได้มี อิทธิพลต่อวิถีชาวล้านนาหลายอย่าง เช่น

(1) นิยมบวชเป็นสามเณร มากกว่าการบวชเป็นภิกษุ การที่บวชเป็นเณร และบวชในระยะสั้น ๆ นั้น ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาในล้านนา ไม่เข้มแข็งและค่อยเสื่อมลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มมาอีก 200 ปี (2317 – 2557 เป็นเวลารวมทั้งหมด 400 ปี  ความเสื่อมถอยเช่นนี้ทำให้ไม่มีนักปราชญ์ทางภาษาบาลี และแต่งตำราที่เป็นภาษาลีเกิดขึ้นในล้านนาเช่นในสมัยก่อนอีก ทั้งนี้เพราะสังคมแต่นิยมการบวชสามเณร เมื่อสร้างวัดก็ไม่นิยมสร้างพระอุโบสถ ส่วนมากวัดในชุมชนจะมีเพียงพระวิหารกับพระสถูปเจดีย์  ถึงแม้มีผู้ที่บวชพระภิกษุและอุทิศตนต่อพระศาสนาตลอดชีพก็มีอยู่บ้าง แต่ความนิยมศึกษาพระปริยัติธรรมให้เข้มแข็งก็มีน้อย ส่วนใหญ่เน้นประกอบพิธีกรรมสงเคราะห์ชาวบ้าน หรือ ประพฤติตนในสายปฏิบัติ  สายครูบา เป็นเอกเทศไป(ข้อนี้ อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักแห่งความเสื่อมถอยด้านการปริยัติศึกษา และด้านการปฏิบัติ  เพราะที่พม่ายังมีพระสงฆ์ที่ทรงปริยัติ ทรงไตรปิฎก เชี่ยวชาญการปฏิบัติให้เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่ปัจจุบัน)

(2) พิธีแห่ลูกแก้ว แต่งตัวเหมือนเจ้าชาย ขี่ม้า ถือตรงตามพุทธประวัติ

(3) มีรูปบั้นสิงห์แบบพม่านั่งเฝ้าประตูวัด

(4) การนับถือพระอุปคุต และการตักบาตรในเวลากลางคืนของวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ เรียกว่า “เป็งปุ๊ด หรือเพ็งพุธ” ที่ประเทศพม่า มีรูปพระบัวเข็ม ก็คือ พระอุปคุตนั่นเอง

(5) การเอาทองหุ้มพระธาตุ หรือ พระเจดีย์ เป็นธรรมเนียมนิยมของพม่า(หุ้มทองจังโก)

(6) การฟ้อนผีมดผีเม็ง แต่งตัวแบบพม่า นุ่งโสร่ง มีผ้าพันศีรษะ

 

     6.2 การฟื้นฟูศาสนาในล้านนา พ.ศ. 2410- ปัจจุบัน (กล่าวเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่)

เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์(รัชกาลที่ 5) ประกาศผนวกรวมศูนย์การปกครองเข้าส่วนกลาง  อาณาจักรล้านนา ก็ลดระดับความสำคัญลงไปตามลำดับ คือ จากอาณาจักรเป็นประเทศราช จากประเทศราชเป็นมณฑลพายัพ  จากมณฑล ท้ายสุดก็แตกเป็นจังหวัดต่างๆ (จังหวัดภาคเหนือ)

การปกครองทางคณะสงฆ์ ก็ยึดตาม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 

การศึกษา ก็ยึดแบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ตามกรอบการศึกษาคณะสงฆ์ ที่กำหนดหลักสูตรโดยสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพญาวชิรญาณวโรรส

กล่าวเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่

ช่วงสมัยพระเจ้าอินทวโรรส พระสงฆ์จากวัดบรมนิวาส(คณะพระธรรมยุติกนิกาย) กรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดเชียงมั่น แล้วมาอยู่วัดเจดีย์หลวง ตั้งนิกายธรรมยุติล้านนาขึ้นมา พระสงฆ์พื้นเมืองเดิมก็กลายเป็น มหานิกาย  นอกจากนี้ ในอาณาจักรล้านนา ยังมีพระสงฆ์พม่าและชุมชนพม่าบางกลุ่มหลงเหลืออยู่บ้าง

ต่อมา พ.ศ. 2492-2509 เจ้าชื่น สิโรรส ได้บูรณะวัดอุโมงค์ สร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้นมา  ได้อาราธนา พระมหาปั่น หรือ  ปัญญานันทภิกษุ จาก “สวนโมกขพลาราม”  อำเภอไชยา   จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา พระมหาปั่น ได้เผยแพร่ศาสนาที่วัดอุโมงค์สืบมา และเรียกสถานที่นี้อีกอย่างหนึ่งว่า “สวนพุทธธรรม”   

พุทธทาสภิกขุ(เงื่อม อินฺทปญฺโญ) เคยมาร่วมเผยแผ่ธรรมที่วัดอุโมงค์นี้ ในช่วงเวลาสั้น ๆ  

พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่  ได้สร้างขึ้นมาเป็นที่บรรยายธรรมของ ปัญญานันทะ นับแต่สมัยเริ่มแรก

ต่อมา ได้เกิดมีชมรมชาวพุทธที่เข้มแข็ง  กลุ่มหนุ่มสาวเชียงใหม่” ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนาการฟังพระธรรมเทศนา เรียกว่า “รถด่วนขบวนพิเศษ”  โดยชุมชนหัววัดต่าง ๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเข้าพรรษา ทำกิจกรรมต่อเนื่องกันมามิได้ขาด เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว

ปี พ.ศ. 2527 มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา (มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มาเปิดวิทยาเขตเชียงใหม่ ที่วัดสวนดอก) ต่อมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ได้เปิดวิทยาเขตล้านนา ที่วัดเจดีย์หลวง ให้การศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ นับตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก

มีสำนักปฏิบัติธรรมทั้งสายสมถะและวิปัสสนามากแห่ง เช่น สำนักวัดเมืองมาง สำนักวัดร่ำเปิง สำนักวัดพระธาตุศรีจอมทอง  สำนักนิโรธาราม วัดดอยแม่ปั๋ง วัดถ้ำผาปล่อง วัดอรัญวิเวก วัดป่าเมืองใหม่ สำนัก ตาณังเลนัง เป็นต้น

เมื่อ พ.ศ. 2558 ชาวเชียงใหม่ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากวนอุทยานให้ตั้งเป็น “พุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่” ที่พื้นที่ ตำบลโป่งกุ่ม อำเภอดอยสะเก็ด ติดถนนสายเชียงใหม่ –เชียงราย ใกล้โครงการพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องใคร้ 

 

6.3 ความเชื่อ พิธีกรรม และประเพณีล้านนา

6.3.1 ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2545 : แนวคิดทางปรัชญาในคัมภีร์ประเภทวังสปกรณ์ล้านนา)

ความเชื่อ คือ การยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นจริง โดยใช้สติปัญญา เหตุผล ศรัทธา หรือ ยอมรับโดยไม่มีเหตุผล ความเชื่อแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เชื่อแบบงมงาย และเชื่อแบบใช้ปัญญา ความเชื่อมักจะสัมพันธ์แนบแน่นกับศาสนา ดังนั้น ความเชื่อทางศาสนาจึงเป็นความเชื่อทุกชนิดที่ว่าด้วยมนุษย์ วัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ไม่ได้เกิดจากการค้นคว้าวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ แต่ได้รับการสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมของสังคม ความเชื่อในศาสนาทุกระดับตั้งแต่ระดับที่งมงายจนถึงระดับที่ใช้ปัญญา ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา สามารถจำแนกออกได้ 3 ประการดังนี้

                   ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ

                        1) ความเชื่อในภูต ผี วิญญาณ อมนุษย์ เทพเจ้า

                        ชาวล้านนา นับแต่บรรพกาลมา  ก่อนที่จะนับถือพระพุทธศาสนา ก็มีความเชื่อที่สืบทอดกันมา ดั้งเดิมก็คือ ความเชื่อเรื่อง ภูต ผี ปีศาจ วิญญาณ เหล่าอมนุษย์ และเทพเจ้า ที่อาศัยอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เป็นมิติที่ซ้อนมิติ สิ่งเหล่านี้ มีพลังอำนาจ สามารถให้คุณ กำจัดปัดเป่าทุกข์ยาก และภัยพิบัติของมนุษย์ได้ ถ้ามนุษย์มีความเคารพยำเกรง หรือ ให้โทษก่อวิบัติอันตรายแก่มนุษย์ผู้ล่วงเกิน ขาดการเคารพยำเกรงได้   นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า เมื่อคนตายลงไป ย่อมมีสภาพเป็นวิญญาณ และอาศัยอยู่ในโลกของวิญญาณ

                         การนับถือผี ชุมชนในแถบล้านนานี้ เรียกสิ่งที่มีพลังอำนาจลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า ผี   มีการถือผีสืบทอดกันมา ผีที่ชาวล้านนานับถือจำแนกประเภทได้ 4 ชนิด คือ (ธิดา สาระยา, 2545 : 80)

                        (1) ผีที่สิงอยู่ในน้ำ ถ้ำ ป่า เขา ลำเนาไพร เหล่าภูต  ก่อนจะนับถือพระพุทธศาสนา ชาวล้านนามีลัทธิบวง สรวงภูตผีปีศาจ และแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังสืบทอดความเชื่อนี้อยู่  ด้วยความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ มีพลังอำนาจสามารถบันดาลคุณและโทษได้ มีปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ ตอนที่พระเจ้าดิสกุมาร(พระเจ้าสามฝั่งแกน) สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าแสนเมืองมา พระองค์ก็มิได้เลื่อมใสศรัทธาเอาใจใส่ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานัก แต่กลับหันไปนับถือผี และบูชาผี ดังความว่า “เจ้าดิสกุมารนั้น มีศรัทธาในศาสนาน้อยนัก ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอกศาสนา ไม่คบหาสัตบุรุษ  ทรงบวงสรวงแต่ภูผีปีศาจ สวน ต้นไม้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขา และป่า พระองค์เซ่นไหว้ ด้วยโค กระบือ เป็นต้น ประชาชนอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ มีชื่อเสียงว่า เป็นยักขทาส” (ชิน., 2517 : 116, 252)

                        (2) ผีบรรพบุรุษ     ชาวล้านนา เชื่อว่า เมื่อบรรพบุรุษตายไป ย่อมมีชีวิตอยู่ในโลกของวิญญาณ เพื่อแสดงความเคารพและกตัญญู จึงได้ทำพิธีเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ ด้วยพิธีลอยกระทง แต่ไม่ปรากฏว่า ขอความคุ้มครอง ดังเหตุการณ์ที่ชาวหริภุญชัย หนีภัยจากโรคอหิวาตก์ไปอยู่ที่หงสาวดี ครั้นภัยสงบลง  ก็พากันกลับจากหงสาวดี  ต่อมา มีความคิดถึงบรรพบุรุษของตนที่กรุงหงสาวดี เมื่อถึงอภิลักขิตสมัย ต่างก็พากันจัดของกินของใช้ใส่กระทงลอยน้ำไป เพื่ออุทิศให้แก่ญาติของตนเหล่านั้น(ศรี แนวณรงค์, 2533 : 233-233) นอกจากพิธีลอยกระทงอุทิศแก่ผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวล้านนาก็มียังพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ที่เรียกว่า “เค้าผี” คือ ผีบรรพบุรุษต้นตระกูล เพื่อบอกกล่าวให้บรรพบุรุษได้ทราบ ลูกหลานจะได้อยู่ดีมีสุข

 (3) ผีบ้าน ผีเรือน ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือน หรือผีประจำตระกูล ที่คอยดูแลบุตรหลาน ก็มีปรากฏอยู่สืบทอดมาจวบปัจจุบัน เช่น ผีมด ผีเม็ง ผีกะ ทางเหนือมีข้อห้ามแก่บุตรหลาน ขืนทำผิดจารีตขนบประเพณีสังคมลงไป เรียกว่า “ผิดผี”  ต้องขอขมาผี ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เซ่นไหว้เลี้ยงผี การฟ้อนผี พิธีเหล่านี้เป็นความเชื่อที่อธิบายความหมาย ผีอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นนามธรรม ให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม เป็นการตอกย้ำความคิดในการนับถือผีที่สืบทอดมา(วิทูรย์ บัวแดง, 2537 : 1-6 เอกสารอัดสำเนาการสัมมนา เรื่อง รำผีมอญ ฟ้อนผีเม็ง ภูมิปัญญาชาวบ้านจากพิธีกรรมแต่มิได้พบหลักฐานกล่าวไว้ในตำนานวรรณคดีบาลี 

                        (4) ผีใหญ่ที่เรียกว่า “เสื้อ” หรือ “ปู่เจ้า” ผีที่เป็นใหญ่รักษาบ้านเมือง ทางเหนือเรียกว่า ผีอารักษ์ หรือ ผีเสื้อ ที่เมืองละโว้ ก็มีผีเสื้อรักษาเมืองตนหนึ่ง มีฤทธิ์เดชมาก แปลงกายเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ และที่เมืองหริภุญชัยนอกจากไก่ขาวที่รักษาเมืองแล้ว ก็มีผีเสื้อน้ำรักษาเมืองด้วย แต่ผีเสื้อน้ำที่เมืองหริภุญชัยเป็นผีผู้ทรงศีลธรรม รักษาป้องกันเมืองเอาไว้จากศัตรู ซึ่งได้ต่อสู้กับผีเสื้อที่มาจากเมืองละโว้จนชนะได้เด็ดขาด  ลักษณะและที่อยู่ของผีเสื้อเมืองหริภุญชัย ได้กล่าวในจามเทวีวงส์ว่า                      

“สมัยนั้น ผีเสื้อที่รักษาหริภุญชัยนคร อาศัยอยู่กับด้วยภริยาในวิมานของตนภายใต้แม่น้ำสลุยนที ผีเสื้อนั้น มีสีดุจสีทองคำ เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ส่วนภริยามีสีดุจสีเงิน ก็เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ผีเสื้อทั้งสองนั้นเสวยทิพยศุข อยู่ในวิมานของตนกับด้วยบริวาร เพราะบุรพกรรมที่ตนสั่งสมไว้แล้ว ผีเสื้อที่รักษาหริภุญชัยนครนั้น คนทั้งหลายกล่าวว่า ผีเสื้อน้ำรักษา” (จาม.,2463 : 311-312) ความเชื่อเรื่อง ผี ของชาวล้านนา ครอบคลุมนับแต่ผีชั้นต่ำ ขึ้นไปจนถึงผีบน เรียกว่า “ผีฟ้า” ยกฐานะเป็นเทพาอารักษ์

                    ความเชื่อถือเกี่ยวกับพวก อมนุษย์

นอกจากความเชื่อถือภูต ผี ปีศาจ วิญญาณดังที่กล่าวแล้ว ยังได้พบความเชื่อเกี่ยวกับ พวก อมนุษย์ประเภทต่าง ๆ  ปรากฏอยู่ในวรรณคดีบาลีกลุ่มวังสปกรณ์  เช่น ในสิหิงคนิทาน ตอนจะหล่อพระพุทธสิหิงค์ ได้มี สุระ อสุระ ครุฑ ภุชงค์ คนธรรพ์ วิทยาธร กินนร สุบรรณ กุมภัณฑ์ เทวดา นาค ยักษ์  พรหม ช่วยกันหาโลหะมาหลอม (สิหิงค.,2506 : 4, 37-38)

อมนุษย์ ที่พบในวังสปกรณ์มีหลายประเภท แต่ที่มีบทบาทโดดเด่น ให้การช่วยเหลือมนุษย์ในการทำกิจกรรมต่างให้สำเร็จ หรือ บางคราวก็เป็นอุปสรรค ทำอันตรายแก่มนุษย์  จะขอยกตัวอย่างมานำเสนอเป็นบางเหล่าที่ปรากฏบ่อยที่สุด ดังนี้

     (1) นาค หรือ พญานาค  นาคเป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง บริวารของท้าวจตุโลกบาล มีพิภพอยู่ใต้บาดาล ที่เรียกว่า นาคพิภพ ตามตำนานพระพุทธศาสนา นาคมักจะมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้า เช่น ในคราวเสี่ยงถาดก่อนการจะตรัสรู้ ปรากฏว่า ถาดลอยทวนน้ำแล้วจมดิ่งลงถึงพื้นบาดาลที่อยู่ของกาฬนาค และในคราวเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้ มีช่วงหนึ่งที่ฝนตกพรำตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคมุจจลินท์ ขึ้นมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า จนเกิดตำนานพระปางนาคปรก และในตำนานศาสนาแถบเอเชียใต้ พญานาคก็มักจะได้รับหน้าที่สำคัญให้เป็นผู้เฝ้ารักษาสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา เช่น พระธาตุ พระเจดีย์ หลายแห่ง จนเกิดสถาปัตยกรรมที่เชิงบันไดขึ้นวัด ปั้นเป็นรูปบันไดพญานาค

(2) ยักษ์ รากษส หรือ ผีเสื้อ  ยักษ์เป็น อมนุษย์ บริวารท้าวเวสสุวรรณจอมยักษ์ มีนิสัยดุร้าย กินมนุษย์และสัตว์เป็นภักษาหาร พบความเชื่อเรื่องยักษ์ กุมภัณฑ์ รากษส และผีเสื้อน้ำ หลายแห่ง เช่น ในรัตนพิมพวงส์ ตอนที่ท้าวสักกะ พร้อมด้วยวิสสุกรรมเทพบุตรไปขอเอาแก้วมณีโชติ จากกุมภัณฑ์ ที่ภูเขาวิบุลบรรพต และก็ได้แก้วมณีมาสร้างเป็นพระแก้วมรกต(รตน. 2530 : มปน.) และในสิหิงคนิทาน ตอนที่ทำการบูชาพระพุทธสิหิงค์ ก็มีพวกยักษ์ พวกกุมภัณฑ์ ถือดอกไม้เครื่องสักการบูชาเข้าแถวเป็นลำดับต่อจากเทวดา(สิหิงค.,2506 : 39)       

                        ความเชื่อถือเทพเจ้า

                        การนับถือผีแม้ว่าจะยังมีอยู่ เพราะเป็นความเชื่อเดิม แต่เมื่อผสมกับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลก่อนพระพุทธศาสนา ผีที่มีพลังอำนาจ หรือ ผีที่เป็นใหญ่ ก็ได้รับการยกฐานะเป็นเทพเจ้า หรือ ผีชั้นสูง ผีฟ้า และเมื่อชาวล้านนา ได้รับพระพุทธศาสนาเข้ามาอีก การนับถือก็ผสมปนเปคละกันไป จัดระดับชั้นผีใหม่ โดยผีระดับต่ำก็ยังเป็นผีหรือปีศาจอยู่ ส่วนผีระดับสูงก็ยกระดับเป็นเทพารักษ์  หรือ เทพเจ้า เช่น พระอินทร์   พระพรหม เป็นต้น (เทพเจ้า หมายถึง โอปปาติกะ มีกายทิพย์ เกิดเป็นเองด้วยอำนาจกุศลกรรมที่กระทำเอาไว้  เป็นผู้มีฤทธิ์เดชอันน่ามหัศจรรย์ ล่วงอำนาจมนุษย์ เหนือธรรมชาติ เสวยอาหารทิพย์ มีวิมานเป็นที่อยู่)

                        ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า หรือ เทพยดา  คงสืบเนื่องมาจากชาวล้านนาสมัยนั้น นับถือศาสนาพุทธกับลัทธิพราหมณ์ผสมกับเทพเจ้า เป็นบางกรณี เช่น เวลาประชาชนจะทำอะไร  จะมีเทวดามาช่วยก็มี  เทพเจ้าที่ทำหน้าที่รักษาบ้านเมืองก็มี หรือช่วยสอดส่องคุ้มครองโลกอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มี ในวรรณคดี มีเทวดาเกือบทุกประเภท นับแต่ภูมิเทวดา รุกขเทวดา ปัพพตเทวดา สมุททเทวดา อากาสเทวดา วิมานเทวดา แม้กระทั่งพระอินทร์ พระพรหมก็กล่าวถึง  

                    พลังลึกลับเหนือธรรมชาติ โหราศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

1) ความเชื่อในไสยศาสตร์ ความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์นั้นมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ส่วนใหญ่การใช้ไสยศาสตร์ ก็เพื่อให้เป็นสิริมงคล หรือเพื่อให้เกิดความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ในชินกาลมาลีปกรณ์ พบการใช้ไสยศาสตร์อยู่หลายตอน ดังนี้

(1) การใช้มนต์คาถา  การต่อสู้ศึกสงครามในสมัยโบราณ แม้จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลักในการต่อสู้ศึกแล้ว ยังมีสิ่งเสริมพลังใจให้ฮึกเหิม เพิ่มสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น หรือ เป็นเครื่องมือในการรบได้ด้วย คือ การใช้เวท มนต์ คาถา เสกเป่า เพื่อให้ปัจจามิตรพ่ายแพ้ ในชินกาลมาลีปกรณ์  พบการใช้เวทมนต์คาถาต่อสู้กัน ในตอนสงครามแย่งราชบัลลังก์ ระหว่าง พระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ กับพระเจ้าพรหมมหาราช พระเจ้าอาแห่งเมืองเชียงราย (คมกฤษณ์   ศิริวงษ์, 2523 : 83)  เช่น “เมื่อพญากือนาล่วงลับไปแล้ว พระราชบุตรของพระองค์พระนามว่า พระเจ้าแสนเมืองมา ครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองเชียงใหม่โดยยุติธรรม เมื่อพระชนมายุได้ 23 ปี ครั้งนั้น พระเจ้ามหาพรหมได้ตระเตรียมทหารเป็นอันมาก เสด็จมาอาศัยเมืองเชียงใหม่ แล้วเสด็จไปยึดหริภุญชัย กวาดต้อนเอาสิ่งของที่พระองค์มีประสงค์แล้วเสด็จกลับไปเมืองเชียงราย  ภายหลังพระเจ้าแสนเมืองมาเตรียมทหารกองใหญ่เสด็จไปแคว้นโยน(โยนกสู้รบด้วยมนต์(เสกเป่าเวทมนต์คาถา กับพระเจ้าอา(พระเจ้ามหาพรหมจับพระเจ้าอาได้ทั้งเป็น แล้วเสด็จเข้าเมืองเชียงราย” (ชิน., 2517 : 114-15, 251)    

(2) การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  เป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง ที่ประกอบขึ้นเพื่อเป็นการผูกมัดจิตใจของผู้ที่อยู่ในการปกครองให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดี   พิธีนี้ปรากฏในจามเทวีวงส์ เมื่อปุตริยอำมาตย์จากนครละโว้ จะมาจับพระเจ้าอาทิตยราช แต่เกิดเสียที จึงแสร้งทำภักดีมาเจริญพระราชไมตรี   เพื่อความเชื่อใจกัน พระเจ้าอาทิตย์ราช ให้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนส่งตัวกลับไป ดังความว่า “พระเจ้าอาทิตยราช ก็ให้ตักน้ำมาเต็มขันทองใหญ่ แล้วล้างพระขรรค์ แก้วและหอกแก้วของพระองค์ เชิญเทพยดาทั้งสิ้นในชั้นกามาพจรทั้ง 6 และพระอินทร์ พระพรหม เป็นประธาน ให้เป็นสักขีพยาน  จึงให้ชาวกัมโพชทั้งสิ้นมี    ปุตรียอำมาตย์เป็นประธาน ให้กระทำสาบานแล้ว ดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดื่มกินเถิด ดังนี้ แล้วโปรดให้ไป ครั้งนั้น ชาวกัมโพชทั้งปวงกระทำการสาบานแล้วก็ดื่มกิน” (จาม., 2463 : 290-291)

2) ความเชื่อโหราศาสตร์ โหราศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยดาราศาสตร์เป็นหลัก มีโหราจารย์เป็นผู้ให้คำพยากรณ์โชคชะตาชีวิต และให้ฤกษ์ยามเป็นต้น เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาเผยแผ่ก่อนพระพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามา ถึงแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวล้านนาก็คงนับถือโหราศาสตร์ควบคู่กับพระพุทธศาสนา เพราะหลักการของศาสนาพุทธมิได้บังคับศรัทธา หากไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี  ผู้วิจัยพบความเชื่อโหราศาสตร์ของชาวล้านนา จากวรรณคดีบาลี มากแห่ง เช่น

(1) ฤกษ์ยาม ในจามเทวีวงส์ โหราศาสตร์เกี่ยวข้องหลายตอน มีโหราจารย์ประจำราชสำนัก ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องทั่วไป และพยากรณ์เหตุการณ์ชีวิตและบ้านเมืองในอนาคต หรือให้ฤกษ์ยามก่อนจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งฤกษ์ยามก่อนออกศึกสงคราม ดังตอนที่พระเจ้ามหันตยศ กับพระเจ้าอนัตยศเมืองหริภุญชัย นำกองทัพออกสู้รบกับเจ้ามิลักขะ ก็ต้องออกรบตามกำหนดฤกษ์ที่โหราจารย์ให้ไว้ ก็รบชนะ ความว่า “ลำดับนั้น พระอนันตยศได้ถาม พระโหราธิบดีผู้อาจารย์ของตนว่า ข้าแต่อาจารย์ ในยามนี้ ความมีชัยจะมีแก่เราทั้งหลายหรือไม่มี พระโหราธิบดี ทูลว่า จะมีชัย” (จาม., 2463 : 116)

ในชินกาลมาลีปกรณ์ ก็พบความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กิจกรรมที่จะต้องประกอบ หลายกรณี เช่น

การบวชพระ “...พระมหากษัตริย์ทรงปรารถนาอานิสงส์บุญอันยิ่งใหญ่ เพื่ออุทิศถวายแก่พระราชบิดา พระราชมารดาของพระองค์ จึงเผดียงพระภิกษุสงฆ์ให้ทำอุปสมบทกรรมในในวัดมหาโพธารามนั้น... เมื่อวันพุธขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีมะแม จุลศักราช 873(.. 2055) ประกอบด้วย โรหิณีนักษัตรฤกษ์” (ชิน., 2517 : 133, 264)  และปรากฏเรื่องฤกษ์ยามของการบวชพระในที่อื่น ๆ อีก (ชิน., 2517 :133, 265)

การหล่อพระพุทธรูป ในการหล่อพระพุทธรูปก็มีการกำหนดฤกษ์ยาม  เมื่อพระเจ้าติลกปนัดดาให้หล่อพระพุทธรูปทองคำขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ในวันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำเดือน 12 พ้นเวลาเที่ยงคืน พระจันทร์เสวยเพชฌฆาตฤกษ์(ชิน., 2517:  132, 263)

การสร้างอาคารสถานที่ มีการดูฤกษ์ยาม ในการสร้างอาคารสถานที่  เช่น การสร้างวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย มณฑปที่วัดป่าแดงมหาวิหาร กุฏิสงฆ์ เรือนหลวงที่ประทับ  ก่อกำแพงรอบพระธาตุ และรอบเมืองเชียงใหม่ การแต่งตั้งสมณศักดิ์พระสัทธธัมมสัณฐิระ เป็นพระราชครู (ชิน. 2517 : 140, 141, 42,144,150)

 (2) การพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต  

ในจามเทวีวงส์ กล่าวถึงสมณพราหมณ์และโหราจารย์ได้พยากรณ์ถึงความเจริญในอนาคตของเมืองหริภุญชัยหลังจากรบชนะสงครามกับละโว้(กัมโพชแด่พระเจ้าอาทิตยราชว่า “ข้าแต่มหาราช เบื้องหน้าแต่นี้ไป หริภุญชัยนครของเราทั้งหลาย จะเป็นมหานครศุขเกษมโดยไม่ต้องสงสัย เทพยดาผู้มีศักดาใหญ่ก็ยิ่งยินดี ไม่นานนักเทพยดาเหล่านั้น จะมาอภิบาลบำรุงรักษาพระนครให้เป็นศุข”(จาม., 2463 : 299)

3) ความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับบุญบารมีของบุคคล หรือพลังอำนาจวิเศษที่มีอยู่ในผู้มีบุญบารมี เช่น ในพระพุทธเจ้า เทพเจ้า อมนุษย์ผู้มีฤทธิ์เดช เป็นพลังเหนือธรรมชาติ ทั้งทำให้เกิดอาการเกรงกลัว หรือเป็นสิ่งอัศจรรย์เสริมสร้างปสาทะศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆยิ่งขึ้นไป มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีบาลีทั้ง 5 เรื่อง ซึ่งจะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างดังนี้

(1) ปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูป

ในรัตนพิมพวงส์  หลังจากสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วอมรโกฏ สีเขียวเป็นสายรุ้งเสร็จแล้วทำการบูชาด้วยมนุษย์และเทวดา พระพุทธรูปก็แสดงปาฏิหาริย์ ดังความว่า “พระพุทธรูปอันประเสริฐซึ่งไม่มีชีวิต ก็สำแดงปาฏิหาริย์ต่างๆ หลายประการอันประเสริฐยิ่ง เหมือนมีชีวิต สำแดงอยู่ตลอด 7 วันไม่ว่างเว้น รัศมีแผ่ซ่านออกจากองค์พระพุทธรูป รัศมีนั้น มี สีเขียวเหมือนปีแมลงภู่ สีเหลือง...สีแดง...สีขาว... สีแสด... และสีเลื่อมเหมือนสีแก้วไพฑูรย์หรือแก้วผลึก..แผ่สร้านออกจากพระพุทธรูป” (รตน.2530 : ตอนที่ 2 มปน.)

(2) ปฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ในรัตนพิมพวงส์ ครั้นบูชาพระแก้วมรกต ครบ 7 วัน พระนาคเสนจึงได้อัญเชิญพระบรมธาตุ 7 องค์ ของพระพุทธเจ้ามาบรรจุใส่ไว้ตามส่วนต่างๆ ในองค์พระพุทธรูป พระบรมธาตุก็ได้แสดงปาฏิหาริย์โดยลอยขึ้นไปบนอากาศจากที่บรรจุ มีรัศมีรุ่งเรือง เปล่งแสงสว่างโชติช่วง แล้วลงมาฝังลงในองค์พระพุทธรูปอีก(รตน. 2530 : มปน.)

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

            ชาวล้านนา เมื่อเชื่อใน ภูต ผี วิญญาณ วิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  เป็นต้น เป็นที่พึ่งพิง หรือยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ก็ได้กำหนดวิธีการที่ตนจะแสดงออกถึงความเคารพ นับถือ ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ที่คิดว่า ด้วยการประกอบพิธีกรรมเช่นนี้จะเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการกราบไหว้ บูชา อ้อนวอน ด้วยเครื่องพลีกรรมต่างๆ ดังนั้นพิธีกรรมจึงเป็นสื่อเชื่อมโยงศรัทธาของมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

              ความเชื่อเมื่อได้นับถือพระพุทธศาสนา

              เมื่อชาวล้านนาได้รับพระพุทธศาสนาแล้ว แม้จะยังคงนับถือผี สาง วิญญาณ และพลังลึกลับอยู่ แต่ก็เพลาลงไปมาก   ในจามเทวีวงส์ กล่าวถึงความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ส่วนความเชื่อในศาสนาอื่นนั้นแทบจะมิได้กล่าวถึง มีปรากฏบ้างก็ในการประกอบพิธีบวงสรวงทำพลีกรรมแก่เทพเจ้า ซึ่งเป็นลักษณะความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เคยมีอิทธิพลอยู่ก่อน ศรี แนวณรงค์กล่าวว่า “ทั้งนี้ เพราะผู้รจนาคัมภีร์เป็นพระภิกษุ จึงต้องการจะเขียนหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวไปจนครบ 5,000 พระวรรษา”(ศรี แนวณรงค์, 2533, 236) 

ส่วนวรรณคดีที่เหลือ นอกจากความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ผู้ปกครองและเหตุการณ์บ้านเมืองแล้ว การดำเนินเรื่องทั้งหมดก็เป็นไปตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น  ผู้เขียนขอสรุปประเด็นความเชื่อชาวล้านนาเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

                        ความเชื่อเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม

                            ความเชื่อ หรือศรัทธา ตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระอรรถกถาจารย์แสดงสืบทอดกันมามี 4 อย่าง คือ 1. กัมมสัททา เชื่อกรรม 2. วิปากสัททา เชื่อผลของกรรม 3. กัมมัสสกตาสัททา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  และ 4. ตถาคตโพธิสัททา  เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า(พระเทพเวที ป..ปยุตฺโต, 2533 : 323)  ชาวล้านนาต่างเชื่อถือและยึดมั่นในหลักการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งก็คือ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมนั่นเอง

                        ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด

                        ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา การเวียนว่ายตายเกิด ย่อมเป็นไปตามอำนาจกฎแห่งกรรม ทำดีได้สุคติ ทำชั่วประสบทุคติเมื่อสิ้นชีวิตลงไป จนว่าวจะหมดกรรมด้วยอำนาจแห่งมรรคผลนิพพาน ในเมื่อยังท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ทุกคนย่อมปรารถนาความสุขยิ่งๆขึ้นไปในชาติหน้าจำเป็นต้องสร้างสมคุณงามความดี ประพฤติสุจริตธรรมให้มาก เพราะบุญบาปเท่านั้นที่จะติดตัวไปในปรภพ สมบัตินอกกายติดตามไปไม่ได้ ย่อมตกเป็นของคนที่ยังมีชีวิตอยู่  การปรารภสร้างกุศลเป็นเสบียงเพื่อชาติหน้า พบในสิหิงคนิทาน ตอนพญากือนา ดังนี้

“สมัยนั้น พระเจ้ากลีมหาราช ...ทรงเห็นนิมิตอย่างหนึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความไม่เที่ยง  โอ สมบัติเหล่านี้ เมื่อเรามีชีวิตอยู่ มันก็เป็นของเรา เมื่อเราตายไปแล้ว มันก็เป็นของคนอื่น อย่ากระนั้นเลย เราต้องทำให้มันเป็นของเราในโลกหน้าอีกด้วย... จึงทรงสร้างวัดสวนดอก พระวิหาร พระเจดีย์ พระธาตุดอยสุเทพ และพระเจดีย์อื่น ๆ (ในชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า115, 120  ว่าพระเจ้าแสนเมืองมา สร้างพระเจดีย์หลวง แต่ไม่เสร็จสวรรคตก่อน ต่อมาพระเจ้าติโลกราช ทรงสร้างพระเจดีย์หลวงจนสำเร็จปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกา ทำบุญกุศลเป็นอันมาก” (สิงหิงค. 2506 : 68-69) 

 

              ค. แนวคิดทางศีลธรรม จริยศาสตร์ชองชาวล้านนา

                  แนวคิดทางศีลธรรมของชาวล้านนา ผู้เขียนได้กำหนดประเด็น ออกเป็น 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

                        1) ความคิดเกี่ยวกับความดี

                            ชาวล้านนามีแนวความคิดเกี่ยวกับความดี  และเป็นค่านิยมหลักของสังคม ซึ่งไม่ขัดกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “สิ่งที่ดี คือสิ่งที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แก่สังคม ไม่เป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่น กระทำลงลงไปแล้ว นำมาซึ่งความสุข ความเบิกบานใจ สิ่งนั้น คือ ความดี”  ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมา สิ่งนั้น ถือว่าเป็นความชั่ว หรือความไม่ดี เช่น ทุจริต 3  อกุศลกรรมบถ 10 เป็นต้น   

                 แนวคิดเกี่ยวกับความดี เป็นทั้งข้อห้ามที่เรียกว่าศีล หรือบัญญัติ  และข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม ที่เรียกว่า ธรรมะ หากใครฝ่าฝืน งดเว้นไม่กระทำตามข้อห้ามถือว่าเป็นความผิด ไม่ถูก ไม่ควร  ยิ่งถ้าละเมิดจารีตหรือ ศีลธรรมแล้วถือว่าเป็นความผิด ความชั่วอย่างร้ายแรง ต้องได้รับผลกรรมตามสนอง

                           จะเสนอในภาพรวมของประเภทแห่งความดี ที่เป็นแนวคิดกระแสหลัก มีการสืบทอดกันมาตามประเพณี ที่กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติ และประชาชนก็อนุวัตรตาม เป็นประเพณีและวัฒนธรรม  ของชาวล้านนา และเสนอแนวคิดว่าด้วยการทำความดีที่เป็นกระแสรอง ซึ่งไม่ปรากฏบ่อยนัก หรือมีกล่าวถึงน้อยครั้งเฉพาะวรรณคดีบางเรื่องเท่านั้น 

 

                        แนวคิดจริยศาสตร์กระแสหลัก

                         จากแนวคิดความดีกระแสหลักที่พระราชาและประชาชนต่างคือเป็นคุณค่า เป็นค่านิยมที่สืบ กันมา  ได้พบค่านิยมหลักจากวรรณคดีบาลีวังสปกรณ์ ดังต่อไปนี้

                        1) การให้ทาน การบริจาค    

                        ค่านิยมในด้านการให้ทานการบริจาควัตถุทานนั้น ชาวล้านนายึดถือว่า เป็นความดีประเภทแรก ผู้ที่สร้างสมความดี มักจะเริ่มต้นด้วยการให้ทานและบริจาค สงเคราะห์ อนุเคราะห์ แก่ประชาชนและแก่พระภิกษุสงฆ์  ปรากฏในวรรณคดีบาลีที่ศึกษาทุกเล่ม  จะขอยกมาพอเป็นตัวอย่าง คือ

                        ในจามเทวีวงส์ พระนางจามเทวีมักจะบำเพ็ญกุศลสมภารเสมอๆ และเมื่อพระเจ้า อนันตยศ ไปครองนครเขลางค์ และได้เชิญพระมารดาและพระเจ้ามหายศไป ได้ร่วมกันถวายมหาทานเป็นอเนกประการ ดังความว่า “ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน สมเด็จพระราชมารดา กับสมเด็จพระบรมราชโอรสทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จเข้าไปใกล้พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ถวายนมัสการแล้ว ก็ถวายบิณฑบาตทาน ให้ภิกษุสงฆ์อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตแล้ว จึงยังพราหมณ์คหบดีทั้งหลาย..ให้บริโภค ให้จัดแจงเรือนที่อยู่และภัตตาหารและเบี้ยเลี้ยงทุกวันพระราชทานแก่พราหมณ์คหบดีทั้งหลายเหล่านั้นอีก”(จาม. 2463 : 183)

                        ในชินกาลมาลีปกรณ์ พบว่า พระเจ้าแผ่นดินและชาวเมืองในล้านนา ต่างมีจิตศรัทธา ได้ถวายทาน บริจาคทานด้วยปัจจัยสี่อันควรแก่สมณบริขารแด่พระสงฆ์ และยังส่งพระไตรปิฎกที่จารึกไว้ จำนวนถึง 60 คัมภีร์ ไปถวายพระเจ้านครล้านช้างเพื่อให้เกิดศรัทธาปสาทะอีกด้วย(ขิน. 2517 : 162)

                        2) การรักษาศีล ปฏิบัติตามจารีตข้อห้ามทางศาสนาและประเพณี

                        ด้านการสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ ก็มีปรากฏ เป็นธรรมเนียมหลักที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาในอดีต ได้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรทุกวันพระ       พบเห็นหลักฐานในที่หลายแห่ง และมากครั้งเช่นกัน แต่ผู้วิจัยจะหยิบยกมาเพื่อเป็นตัวอย่างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ในจามเทวีวงส์พบว่า ทุกวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ พระนางจามเทวีพร้อมด้วยพระโอรสและชาวเมืองจะพากันไปวัดสมาทานศีลกันเสมอ ดังความว่า “ครั้นวันจาตุททสี ปัญจทสี และวันอัฏฐมีแห่งปักษ์ ชนทั้งหลาย คือมารดาและบุตรก็พากันเข้าไปสู่ภิกษุสงฆ์ ครั้นไปแล้วได้อภิวันท์แล้ว พากันสมาทานศีล ..ชนเหล่านั้น ได้กระทำโดยนัยนี้ ตลอดกาลทุกเมื่อ”(จาม. 2463 : 150-151)

                        3) การสั่งสมปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามัย

                            การฟังพระธรรมเทศนา ถือว่าเป็นการสั่งสมปัญญา  ในจามเทวีวงส์ พระนางจามเทวี พร้อมด้วยพระโอรสและชาวเมือง ได้ประกอบบุญกิริยาครบ 3 คือ ให้ทาน สมาทานศีล และสดับพระธรรมเทศนาเป็นการสั่งสมปัญญาบารมีเป็นประจำ  

                        ในชินกาลมาลีปกรณ์ ได้พบประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติ นอกเหนือจากการสดับพระธรรมเทศนาตามธรรมดา คือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงสดับนิทานเรื่องมหาเวสสันดร และธรรมบรรยายชื่อมหาเวสสันดรซึ่งพระองค์โปรดให้เขียนคัดไว้ (ชิน. 2517 : 153, 275)

                        4) การเคารพบูชาสิ่งควรเคารพบูชา

                             (1) การบูชา พระพุทธรูปสำคัญ ในวรรณคดีบาลี พบบ่อยมากที่ชาวล้านนา ได้เลื่อมใสศรัทธา ปฏิบัติบูชาพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ นับแต่พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปอื่นๆ ที่หล่อขึ้นมา กระทำการบูชาเป็นพิเศษ จนถือเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน อย่างแห่พระพุทธรูปออกไปสรงน้ำ หรือจัดงานประจำปีเป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                             การบูชาพระแก้วมรกต ในรัตนพิมพวงส์ เมื่อพระแก้วมรกต ไปถึงถิ่นเมืองใด พระราชาและชาวนครก็จะทำการสักการะบูชาตลอดทุกเมือง เช่นที่เมืองลำปาง ชาวเมืองพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก บูชาพระพุทธรูปด้วยเครื่องบูชาอย่างใหญ่หลวง และบูชาด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น ทั้งประโคมดนตรีและอัญเชิญพระพุทธรูปจากหอพระ..ครั้นถึงวัน15 ค่ำ 14 ค่ำ 8 ค่ำ เจ้าเมืองสั่งให้เปิดประตูหอพระเพื่อบูชาเป็นอย่างดี ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองเป็นพุทธมามกะทุกปีเจ้าเมืองสั่งให้เปิดประตูคูหาอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานบนอาสนะกลางวิหาร ป้าวร้องชาวเมืองให้มาสงน้ำพระ…(รตน. 2530 : มปน)

                             การบูชาพระพุทธสิหิงค์ ก็ในทำนองเดียวกัน นับแต่พระเจ้าพรหมแห่งเชียงรายได้ครอบครองพระพุทธสิหิงค์ก็ทำการบูชาเป็นอันมาก เลื่อมใสมากขนาดทำจำลองขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง และปรากฎเรื่อง พระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์ที่ชาวล้านนาเคารพบูชาอีกหลายแห่ง (ชิน. 2517 : 108-114, 123-128)

                             การบูชาพระพุทธรูปอื่น ๆ มีปรากฏหลายองค์ คือ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ใช้ทองหนัก สามสิบสามแสนที่พระเจ้าติลกราช สร้างไว้ที่วัดป่าตาล(ปัจจุบันคือวัดตโปทาราม(ร่ำเปิงการบูชาพระเจ้าเก้าตื้อ โดยพระเมืองแก้วเหลนพระเจ้าติลก ที่หล่อด้วยทองแดงเรือนโกฏิ มีที่ต่อ 8 แห่ง และต่อมาทรงได้พระพุทธรูปแก่นจันทน์อีกองค์ ก็ทำการบูชาตลอดพระชนม์ชีพ(ชิน. 2517 : 129-131,156-159) พระนางจามเทวีเมื่อสร้างวัดแล้วก็สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่สักการะบูชาด้วย

                             การบูชาพระธาตุ มีปรากฏทุกวรรณคดีบาลีที่ทำการวิจัย ถือว่าเป็นการสร้างความดีกระแสหลักอีกด้านหนึ่ง ทันตธาตุนิธานทั้งเรื่อง ว่าด้วยการเคารพบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้วและพระบรมธาตุส่วนอื่นๆอีก ในจามเทวีวงส์ ก็มีการพบพระธาตุสมัยพระเจ้าอาทิตยราช จนได้สร้างพระเจดีย์หริภุญชัยขึ้นมา ในสิงหิงคนิทาน และรัตนพิมพวงส์ก็กล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทะเจ้าที่ประดิษฐานในองค์พระพุทธรูป จึงทำให้เกิดอภินิหาร คนทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธาทำการบูชามโหฬารอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในชินกาลมาลีปกรณ์ ก็มีคติการเคารพบูชาพระธาตุปรากฏบ่อยมาก แทบตลอดเรื่อง จึงมีพระธาตุเจดีย์มากมายในภาคเหนือ เช่นพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุวัดสวนดอก วัดพระธาตุหริภุญชัย  พระธาตุเจดีย์หลวง พระธาตุลำปางเป็นต้น

                             (2) การเคารพพระภิกษุสงฆ์ การถวายสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์      พระสงฆ์เป็นศาสนทายาทผู้ประกาศคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชาวล้านนาให้ความเคารพระสงฆ์มาก ทุกยุคทุกสมัย ในกิจกรรมด้านศาสนา จะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ พระสงฆ์บางรูปมีบารมีอยู่ในฐานะสูงส่ง เป็นราชครู เป็นราชอุปัชฌาย์ สั่งสอนศีลธรรม แก่ประชาชน ปรากฏวัดวาอารามมากในล้านนา  หากมีเหตุการณ์ที่จะเกิดความขัดแย้ง พระสงฆ์สามารถระงับความขัดแย้งที่จะก่อสงครามให้ทั้งสองฝ่ายประสานสามัคคีผูกไมตรีกันได้ ถ้าชาวล้านนาไม่เคารพยกย่องให้เกียรติพระสงฆ์ไฉนเลยพระสงฆ์จะสามารถห้ามทัพที่กำลังประจันหน้ากันได้ ดังเหตุการณ์ที่พระมหาสุคนธเถระเจรจาสงบศึกแย่งพระพุทธสิหิงค์ ระหว่าง พระเจ้าพรหม กับเจ้าติปัญญานครกำแพงเพชร และป้องกันการจะเกิดสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาสมัยขุนหลวงพะงั่ว(พระเจ้าวัตติเดชความว่า “มหาบพิตรทั้งสองทรงมีบุญมาก มีปัญญามาก มีกำลังรี้พลมาก …ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นบิดาของทวยราษฎรทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีศีล เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั้งหลาย ของมหาบพิตรทั้งสองพระองค์จงสามัคคี อย่าพิโรธแก่กันเลย นี่ก็เมืองกำแพงเพชร โน่นก็นครเชียงใหม่ ขอให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าแบ่งแยกกันเลย ขอให้นครทั้งสองจงมัดไว้ด้วยเชือก คือพระราชไมตรีเถิด”(ชิน. 2517 : 112)

                             การนิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงศีล ทรงพระไตรปิฎกมาจำพรรษาที่วัดอันตนสร้างพร้อมทั้งถวายสมณศักดิ์ ยกย่องพระสงฆ์เป็นเจ้าอาวาส เป็นราชครู ดังที่พระเจ้าติโลกราช ยกย่อง พระมหาเมธังกรเถระพระอาจารย์ของพระองค์ มาสรงน้ำอภิเษก และถวายสมณศักดิ์ เป็นพระอดุลศักตยาธิกรมหาสามี ให้การอุปถัมภ์ด้วยลาภสักการะ และปัจจัยสี่ ดังที่กล่าวมาแล้ว

                        5) การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

                           ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กษัตริย์ล้านนา ที่มีเดชานุภาพเป็นพุทธมามกะ จะให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นเอนกประการ คงจะได้คติค่านิยมจากพระเจ้าอโศกมหาราช ของอินเดีย ที่ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ด้วยการถวายทานแด่พระสงฆ์ การสร้างวัดวาอาราม การสร้างพระสถูปเจดีย์ มากมายถึง 84000 เจดีย์ทั่วอินเดีย ดังนั้น กษัตริย์ล้านนา ที่ทรงศีลทรงธรรมจึงพยายามดำเนินตามรอบแบบพระเจ้าอโศกมหาราช จึงจะถือว่าเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมที่แท้จริง ดังนั้น นอกจากการให้ทาน รักษาศีลแล้ว พบว่าราชาทุกพระองค์ จะมีสร้างถาวรวัตถุอุทิศในพระศาสนา หลายประการ เช่น การสร้างวัด กุฏิ วิหาร เจดีย์ พระธาตุ การหล่อพระพุทธรูป  การปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ปรากฏบ่อยมากที่สุด ถือว่าเป็นแนวคิดสร้างความดีหลักอีกข้อหนึ่ง นับแต่พระนางจามเทวี เมื่อครองเมืองหริภุญชัย ก็สร้างวัดถึง 5 วัด ในทิศทั้งสี่ ของนคร มี อรัญญิกรัมมิการาม มาลุการาม อาพัทธาราม(วัดพระคงมหาวนาราม(วัดมหาวันมหาลดาราม(วัดประตูลี้พระเจ้าอาทิตยราชก็สร้างพระมหาธาตุเจดีย์หริภุญชัย พญากือนาสร้างวัดบุปผาราม(สวนดอกพระธาตุดอยสุเทพ พระเจ้าแสนเมืองมาสร้างเจดีย์หลวง เป็นต้น

                        จากค่านิยมแต่โบราณ จึงปรากฏว่า ที่อาณาจักรล้านนาเมืองเก่าโบราณ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง และเชียงราย มีวัด วา อาราม ทุกถนนแทบทุกซอย (โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ วัดหันหน้าชนกันคนละฝั่งถนนก็มีดังตัวอย่างที่ปรากฏในจามเทวีวงส์ ความว่า “ณ ระหว่างนั้น ชาวพระนครทั้งหลายด้วย  ชาวรัฐวาสีและชาวชนบททั้งหลาย พากันสร้างกุฎีและอารามทั้งหลาย ในระหว่างบ้านแลบ้านทั้งหลาย 5000 ตำบล มีวิหาร 2000 มีภิกษุ 5000 ล้วนมีปัญญาปฏิภาณเป็นต้นที่ทรงไตรปิฎกมี 500 รูป”(จาม.2463:150) 

                        การให้ความอุปภัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก  ศาสนาพุทธมีหลักธรรมที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกมานาน หลังพุทธปรินิพพานเพียง 443 ปี แต่ด้วยกาลผ่านไป ความคลาดเคลื่อนของคำสอนอาจจะเกิดมีได้ เพราะสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีช่วยจดจำตรวจสอบ พระสงฆ์ก็สืบทอดทรงจำ จารจารึกคัดลอกสืบๆกันมาตามยุคตามสมัย จึงเกิดประวัติการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสายเถรวาท นับแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 7 เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญในดินแดนล้านนา ในราวพ.. 2020 พระธัมมทินนมหาเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าตาล(วัดร่ำเปิงเห็นว่าพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนมาก มีความประสงค์ที่จะกระทำการชำระพระไตรปิฎกให้ถูกต้อง จึงได้ชักชวนพระสงฆ์ที่ฉลาดชำนาญในพระไตรปิฎกกว่า 100 รูป มาทำสังคายนา ที่วัดมหาโพธารามมหาวิหาร(วัดเจ็ดยอด)  ด้วยถือว่าเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมจะต้องให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และเป็นมหากุศลอย่างเอกอุ ด้วยเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎก พระเจ้าติโลกราช จึงได้ถวายความอุปถัมภ์ ด้วยการสร้างมณฑปที่กระทำสังคายนา แล้วจัดหาจตุปัจจัยถวายอุปัฏฐาก บ่ให้พระสงฆ์ลำบากด้วยประการใดๆ นับเป็นสังคายนาคราวที่ 8 ใช้เวลา 1 ปี จึงแล้วเสร็จ(สงวน โชติสุขรัตน์. 2515 : 132-133) 

                   การจารึกคำสั่งสอนพระไตรปิฎกลงใบลาน หรือ พับสา ถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศลอย่างยิ่งไม่หย่อนกว่าการสร้างพระพุทธรูป เมื่อพระเจ้าติลกราชให้พระสงฆ์ชำระพระไตรปิฎกบริสุทธิ์ดีแล้ว ก็ให้ทำการจารจารึกเป็นคัมภีร์ เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ด้วยถือค่านิยมโบราณที่กล่าวว่า “อักขระตัวหนึ่ง แทนพระพุทธรูปองค์ได้องค์หนึ่งๆ          เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นนักปราชญ์พึงเขียน(คัดลอกไตรปิฎกเถิด เมื่อไตรปิฎกยังมีอยู่ ก็ชื่อว่าพระตถาคตยังมีอยู่ถึง 84000 พระองค์ อักษรก็ดี พระพุทธรูปก็ดี มีผลเท่ากันโดยแท้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงจารึกอักษรไว้ในสมุดหรือใบลานซึ่งถือว่าเป็นธรรมเจดีย์ อักษรในพระไตรปิฎกมีประมาณ 28 โกฎิกับ 27 ตัว” (รตน. 2530 ;  ตอนที่ 3 มปน)   

                        6) การบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

                           การอุปสมบท หรือการบรรพชาอุปสมบท ถือว่าเป็นการสร้างสมบารมีที่เรียกว่า เนกขัมบารมี ในบารมี 10 ทัศ คนที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่เป็นผู้ชายก็จะบวชเป็นพระภิกษุ หรือสามเณร  การบวชถือว่าเป็นการสืบทายาทพระศาสนา ในส่วนตัวถือว่าเป็นการขัดเกลากิเลส ในทางล้านนามีคติการบวช นอกจากจะเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนทายาทแล้ว ได้พบว่า การบวชพระนั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนสนองพระคุณบิดามารดาอีกด้วย ในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีการบวชกุลบุตรในคราวเดียวถึง 500 คน ที่ท่าสฐานหลวง ในส่วนพระองค์เอง พระเจ้าติโลกราชก็ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระเทวีพระมารดา แล้วทรงผนวช โดยมีพระญาณมงคลเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี (พระอาจารย์)เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชที่วัดเจดีย์หลวง แต่ทรงผนวชอยู่ไม่นานก็สึกออกมาเสวยสิริราชสมบัติ(ชิน. 2517 : 121)

                        7)  ความกตัญญูรู้คุณ

                            การเคารพนับถือมารดาเมื่อยังมีชีวิต การรู้พระคุณบุรพการีถือว่าเป็นคุณธรรมความดี จะรู้ว่าใครเป็นคนดีให้ดูที่การรู้พระคุณและตอบแทนพระคุณ หลักคำสอนนี้ก็เป็นจริยธรรมกระแสหลักอีกข้อหนึ่ง การเคารพนับถือบิดามารดา ทั้งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และตอนที่ละโลกไปแล้ว บุตรหลานที่มีคุณธรรมมักจะให้การเคารพ เอื้อเฟื้อยกย่องให้เกียรติ ไม่ดูหมิ่นดูแคน เลี้ยงดู ไม่ละทิ้งยามชรา   

                        เมื่อบุรพการีสิ้นชีวิต  บุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุรพการี เมื่อบิดามารดา หรืออุปัชฌาย์อาจารย์ได้สิ้นชีวิตลง ย่อมแสดงความเคารพรัก เสมือนเมื่อครั้งท่านยังมีชิวิตอยู่ และแสดงความกตัญญูด้วยการทำบุญงานศพที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานศพแก่ผู้ตาย ก็ถือเป็นกระแสหลักอย่างหนึ่งทางด้านจริยธรรมของชาวล้านนา ด้วยชาวล้านนาถือตามคติทางพระพุทธศาสนาที่ว่า คนเรานั้น ตามกฎธรรมดาของโลก ย่อมมีการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีมนุษย์ผู้ใดจะหลีกหนีจากความตายไปได้ ดังนั้น เมื่อคนเราเสียชีวิตลงไป ผู้ที่เป็นญาติมิตรอยู่เบื้องหลัง ย่อมทำการปลงศพ ด้วยวิธีต่างๆ มีการฌาปนกิจบ้าง การฝังบ้าง ขึ้นอยู่กับประเพณีของแต่ละท้องถิ่น จะทำพิธีใหญ่หรือไม่ใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของผู้ที่เสียชีวิตและกำลังความสามารถของบุตรหลาน 

                        สำหรับงานศพของชาวล้านนาสมัยโบราณ มีคติความเชื่ออย่างเคร่งครัดว่า หากศพที่ตายโดยอุบัติเหตุ จะต้องทำการฝังอย่างเดียว ส่วนศพที่ตายตามธรรมดาต้องเผา ก่อนการเผาจะเก็บศพเอาไว้นาน บางคนข้ามปี หรือหลายปีก็มี การทำบุญงานศพนอกจากจะทำพิธีทางศาสนาแล้วก็มักจะมีมหรสพฉลองด้วย ถ้าเป็นศพเจ้านายผู้สูงศักดิ์ จะต้องประกอบพิธีงานศพอย่างมโหฬาร สร้างปราสาท บุษบก อยู่เหนือนกหัสดีลิงค์ แล้วตั้งโลงศพอยู่บนนกหัสดีลิงค์ดูสวยสง่าสมเกียรติ มีขบวนแห่ไปเผา 

                        การอุทิศส่วนกุศลให้บุรพการี การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ที่รียกว่า ปัตติทานมัยนั้น พบในที่มากแห่ง แต่ผู้วิจัยจะยกตัวอย่างจากจามเทวีวงส์ ตอนที่พระเจ้ามหันตยศและ พระเจ้าอนันตยศทำบุญอุทิศให้พระนางจามเทวีความว่า “เมื่อเสร็จสำเร็จการบูชาสักการะแล้ว พระเจ้ามหันตยศจึงเชิญพระอัฐิธาตุมากระทำการฉลอง พระราชทานมหาทานแล้วจึงหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลง อุทิศส่วนกุศลทั้งสิ้นนั้น ถวายพระนางเจ้าจามเทวี พระราชมารดาของพระองค์” (จาม. 2463 : 212-213)

                        ในชินกาลมาลีปกรณ์ ปรากฏหลายเหตุการณ์ที่มีการทำงานศพและทำบุญอุทิศแก่บรรพชน  จะยกเหตุการณ์การถวายพระเพลิงศพพระราชบิดา พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช ดังนี้ “เมื่อพระเจ้าติลกราชครองราชย์แล้ว พระเจ้าสามฝั่งแกนพระราชบิดาสวรรคต พระองค์ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่วัดป่าแดงมหาวิหาร ครั้นพระราชามารดาสิ้นพระชนม์ ก็จัดงานพระศพที่วัดป่าแดงมหาวิหาร และทรงกระทำบุญมีประการต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่พระราชมารดา ให้สร้างโรงอุโบสถหลังหนึ่งอุทิศเป็นบุญถาวรที่วัดป่าแดง ในปี พ.. 1995 (ชิน. 2517 : 121-122)

                        การลอยกระทง      นอกจากที่พบประเพณีงานทำบุญศพและการอุทิศส่วนกุศลที่ถือว่าเป็นการทำความดีแล้ว ในวรรณคดียังได้พบการอุทิศผลให้บุรพการีอีกแบบหนึ่ง คือ การลอยกระทง ซึ่งการลอยกระทงนั้น มีเป้าหมายหลักเพื่อการลอยเคราะห์กรรม แต่ชาวล้านนาก็มีการลอยกระทงอุทิศส่วนบุญแก่บรรพชนอีกด้วย เช่นที่ปรากฏในจามเทวีวงส์สมัยพระเจ้ากมลราช หลังจากหนีอหิวาตกโรคไปหงสาวดี หกปี ครั้นโรคสงบบางพวกก็กลับมาลำพูน บางพวกแก่ชราก็ไม่กลับมา เมื่อกลับมาก็คิดถึงหมู่ญาติ จึงได้ทำพิธีลอยกระทงอุทศผลบุญไปให้ดังความว่า “ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายซึ่งมาอยู่ในหริภุญชัยนั้นแล้ว เมื่อระลึกถึงหมู่ญาติว่า ตายาย มารดา บิดาของเราอยู่ในหงสาวดีนครนั้น ดังนี้ ครั้นถึงอภิลักขิตสมัยตามปีตามเดือนแล้ว ชนทั้งหลายนั้นลอยขาทนียโภชนียาหารตามน้ำลงไปทางใต้ อุทิศไปให้แก่หมู่ญาติเหล่านั้น เมื่อคนทั้งหลายเหล่านั้น ระลึกถึงหมู่ญาติมีมารดาบิดาเป็นต้น ไม่อาจจะสงบระงับความโศกไว้ได้ ก็ร้องให้คร่ำครวญมายังเรือนของตน”(จาม. 2463 : 249-250)

                        แนวคิดจริยศาสตร์กระแสรอง

                        ผู้เขียนได้พบแนวคิดเชิงจริยศาสตร์กระแสรองลงมา ที่ไม่ปรากฏบ่อยนัก คือ การบวช การฝึกกรรมฐานส่วนที่เป็นภาวนามัย แม้จะมีการสร้างวัดป่า แต่ไม่ค่อยปรากฏมีหลักคำสอนเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน หรือตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานเหมือนที่ชาวพุทธพม่าปฏิบัติกันให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนั้น ก็เป็นขนบประเพณีที่ยึดถือสืบกันมาบางเรื่อง ที่ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายเชิงตรรกะได้ เช่น ข้อห้ามเรื่อง “ขึ๋ด” เป็นต้น

                        2) เกณฑ์ตัดสินความดี 

                            ชาวล้านนา ซึ่งมีความคิดเกี่ยวกับความดี ความชั่ว ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา และเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าของความประพฤติของมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น มีองค์ประกอบ 3 ระดับ ดังนี้

            (1) มองที่สาเหตุ ระดับแรงจูงใจ หรือความคิดที่จะกระทำ ได้แก่ เจตนา การกระทำใดเกิดจากเจตนาดี กุศลเจตนา สิ่งที่กระทำอันเกิดจากเจตนาดีนั้นก็ถือว่า เป็นความดี เป็นบุญ หรือ กุศล ตรงกันข้าม เป็นอกุศล

            (2) มองที่ขณะกระทำ สิ่งที่กระทำลงไปทางกาย วาจา หรือแม้แต่การคิด ขอให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุจริต 3 กุศลกรรมบถ 10 เป็นต้น การกระทำไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นจริยธรรม ตรงกันข้าม เป็นทุจจริต เป็นอกุศลกรรมบถ

            (3) มองที่ผลของการกระทำ นั่นหมายความว่า สิ่งใดที่กระทำลงไป แม้จะเกิดจากเจตนาดี หรือเป็นความหวังดี ทำลงไปแล้ว แต่สิ่งที่กระทำนั้น ไม่ส่งผลเสียหาย ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน ก่อแต่ความสุข ความสบาย เป็นประโยชน์เกื้อกูล การกระทำนั้นจึงจะถือว่า ดี สมบูรณ์แบบ ตรงกันข้ามทำไปแล้ว ผลดีไม่เกิดตามมา ถือว่า ไม่ครบเกณฑ์ดี ก็ยังถือว่า ไม่ดีพร้อม

6.3.2 พิธีกรรมและประเพณีล้านนา

 (1) พิธีกรรม เอกลักษณ์การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งในงานมงคล และอวมงคล ทางล้านนา จะแตกต่างจากชาวพุทธไทยในท้องถิ่นอื่น เช่น

การสวด นิยมสวดธรรมนอง “ธรรมวัตร”  สวดเร็ว ต่อเนื่อง เหมือนพระสงฆ์ชาวพม่า ลังกา คล้ายลามะทิเบต

การเทศน์แบบพื้นเมือง องค์เทศน์ นิยมตั้ง นะโม เพียงจบเดียว(ภาคกลางนิยม กล่าว 3 จบ) แล้วอ่านคัมภีร์ธัมม์

ในพิธีกรรมบางอย่าง นิมนต์พระมาเทศน์ธรรมใบลานพร้อมกัน ถ้าหลายองค์ และหลายสูตร จะให้แสดงพร้อมกัน (ต่างคนต่างเทศน์) จนฟังไม่ได้ศัพท์ เพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดที่มีชื่อเป็นมงคล เจ้าอาวาสจะได้รับการนิมนต์ไปประกอบประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มากกว่าวัดอื่น

ทุกหมู่บ้านมีผู้นำพิธีกรรม เรียกว่า “ปู่จ๋ารย์” (อาจารย์วัด) ทำหน้าที่นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ปุ๋จ๋ารย์  จะได้รับเครื่องไทยทาน เหมือนพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธี

            การจะเริ่มพิธีกรรมสำคัญใด ๆ พิธีเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้ คือ พิธีการขึ้นท้าวทั้งสี่ มีเครื่องประกอบพิธีกรรมโดยกำหนดด้วยสีตามเทพ นอกจากนี้ มีพิธีต่างๆ เช่น    พิธีส่งแถน พิธีสูดก๋วม พิธีกินแขกแต่งงาน หรือพิธีแต่งงาน พิธีบูชาเทียนรับโชค  พิธีสืบชะตา เช่น สืบชะตาคน สืบชะตาบ้าน สืบชะตเมือง   พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ พิธีสู่ขวัญ เช่น สู่ขวัญคน สู่ขวัญสัตว์ (ควาย) สู่ขวัญสิ่งของ เครื่องใช้ สู่ขวัญข้าว พิธีส่งเคราะห์ พิธีกรรมเกี่ยวกับผีเสื้อวัด พิธีกรรมลงผีย่าหม้อนึ่ง พิธีกรรมเลี้ยงผีดงแม่เหียะ(ปู่แสะย่าแสะ)

 

(2)  ประเพณี (หลักประเพณี 12 เดือน และประเพณีย่อย ๆ อีก)

มีประเพณี “ตานต้อด”  เอาข้าวของเครื่องใช้เงินทองไปให้คนจน โดยไม่ให้รู้ตัว

มีการสร้างปราสาทรูปนกหัสดีลิงค์ เมื่อพระสงฆ์หรือเจ้านายถึงแก่มรณกรรมลง

ประเพณียี่เป็ง  ลอยกระทง ลอยโคม ตั้งธรรมหลวง

ประเพณีปี๋ใหม่ (สงกรานต์)  วันสังขารล่อง ทำความสะอาดบ้านเรือน  วันเนาว์ หรือวันเน่า  ระวังคำพูด ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย วันพญาวัน ทานขันข้าว สรงน้ำพระพุทธรูป พระเจดีย์ ดำหัวผู้ใหญ่ ค้ำต้นโพธิ์

ประเพณีบูชาเสาอินทขิล (เสาหลักเมือง ของเมือง)

ประเพณีการสืบชะตา บ้านเมือง -ขุนน้ำ-บวชต้นไม้-บวชป่า          

            ประเพณีการนับถือผี  / การเลี้ยงผี /การเลี้ยงผีปู่ย่า เดือน 9 (มิถุนายน) 

ประเพณีปอย(ปอยหลวง / ปอยน้อย/  ปอยล้อ)

ประเพณีทานก๋วยสลากภัต

ประเพณีปลูกเรือนใหม่                   

ประเพณีเรือนเย็น             

            การส่งหาบคอน

            ประเพณีใส่บาตรเพ็งพุธ

            ประเพณีเลี้ยงขันโตก

            ประเพณีไม้ค้ำต้นศรีมหาโพธิ์ (อ.จอมทอง) เจียงใหม่)

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ

 

6.4 วัดสำคัญในล้านนา (ข้อมูลจากสำนักพระพุทธศาสนา ปี พ.ศ. 2557)

 1) จังหวัดเชียงใหม่  มีวัด จำนวน 1,258 วัด  สำนักสงฆ์  มี 470 แห่ง

            พระอารามหลวง มีจำนวน  9 วัด

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร - พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร - ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร - พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร - ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร - ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง

วัดโพธารามมหาวิหาร - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ - ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง

วัดสวนดอก - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ - ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง

วัดท่าตอน - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ - ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ - ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร - ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง

วัดป่าดาราภิรมย์ - พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ - ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม

 

 

 

             วัดสามัญ

            วัดเชียงมั่น  วัดดับภัย วัดเชียงยืน วัดชัยมงคล วัดดวงดี วัดหมื่นล้าน วัดหมื่นเงินกอง วัดลอยเคราะห์  วัดดับภัย วัดชัยพระเกียรติ วัดศรีเกิด วัดอุโมงค์ หลักศิลาจารึกภายในวัดอุโมงค์จารึกไว้ว่า  วัดแห่งนี้มีชื่อว่า เวฬุกัฏฐาราม ซึ่งหมายความว่า วัดบนกอไผ่ 11 กอ 

 

     2) จังหวัดเชียงราย   มีจำนวนวัดทั้งหมด 1,216 วัด  

            พระอารามหลวง  มี 3 วัด

วัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย

วัดพระแก้ว (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย

วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงรายวัดพระแก้ว  

วัดสามัญ

วัดเชตวัน   วัดมุงเมือง วัดมิ่งเมือง วัดร่องขุ่น วัดศรีเกิด  วัดพระธาตุดอยตุง

มีวัด จีนนิกาย  1  วัด คือ วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม บ้านป่าไร่ ต. ท่าข้าวเปลือก อ. แม่จัน 

     3) จังหวัดพะเยา มีวัดจำนวน 455 วัด

พระอารามหลวง มี 1  วัด คือวัดพระศรีโคมคำ

วัดสามัญ วัดอนาลโย วัดกลางกว๊าน วัดติโลกอาราม   วัดลี วัดราชคฤห์ วัดภูมินทร์ วัดบุญยืน วัดไชยอาวาส

     4) จังหวัดน่าน มีวัดจำนวน 406 วัด

พระอารามหลวง 4 วัด

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร) ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน

วัดพญาภู (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน

วัดบุญยืน (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา

วัดพระธาตุแช่แห้ง (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลม่วงตี๊ด อำเภอภูเพียง

วัดสามัญ วัดน้ำล้อม วัดท่าช้าง วัดดอนแก้ว วัดเชียงแข็ง วัดช้างเผือก วัดกู่คำ

     5) จังหวัดแพร่ มีวัดจำนวน 359 วัด

พระอารามหลวง 2 วัด

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร) ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ

วัดสามัญ วัดจอมสวรรค์ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร วัดพระนอน วัดพระธาตุจอมแจ้ง วัดหลวง วัดศรีดอนคำ วัดพระธาตุพระลอ วัดสะแล่ง วัดสูงเม่น วัดป่าแดง

     6) จังหวัดลำปาง มีวัดจำนวน  706 วัด

พระอารามหลวง จำนวน 4 วัด

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร) ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง

วัดบุญวาทย์วิหาร (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง

วัดจองคำ (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลบ้านหวด อำเภองาว

วัดสามัญ   วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดท่ามะโอ วัดม่อนจำศีล  วัดไหล่หิน

     7) จังหวัดลำพูน มีวัดจำนวน 412 วัด

พระอารามหลวง จำนวน 2 วัด

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร (พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง

วัดพระพุทธบาทตากผ้า (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง

วัดสามัญ วัดมหาวัน วัดจามเทวี วัดพระยืน  วัดเกาะกลาง ป่าซาง วัดรมณียาราม วัดบ้านปาง ลี้ วัดหนองเจดีย์  วัดผาหนาม  ลี้วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว  วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้

     8) จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัดจำนวน 141 วัด

            พระอารามหลวง 1 วัด

วัดจองคำ (พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

วัดสามัญ วัดกลางทุ่ง ตำบลจองคำ วัดก้ำก่อ ตำบลจองคำ วัดดอนเจดีย์ ตำบลจองคำ วัดปางล้อ ตำบลจองคำ วัดพระธาตุดอยกองมู ตำบลจองคำ วัดปางหมู ตำบลปางหมู วัดหมอกจำแป่ ตำบลหมอกจำปึ่

 

7. สรุปพระพุทธศาสนาในล้านนาจำแนกตามองค์ประกอบ

            7.1 ศาสนธรรม ชาวล้านนามีหลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกเป็นหลักปฏิบัติ  คัดลอก “ธัมม์”  สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น เก็บรักษาไว้ที่หอธรรม หรือ หอไตร ในวัดเก่าแก่  ทุกชุมชน ทั่วราชอาณาจักรล้านนา คัมภีร์ใบลาน พับสา ยังมีสภาพสมบูรณ์ เป็นข้อมูลให้ศึกษาทั้งทางศาสนาและองค์ความรู้ภูมิปัญญาล้านนาอีกมากมาย แต่ก็ยังมืความเชื่อและคตินิยมเดิมในเรื่องการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังลึกลับ ผี เทพ เป็นต้น ซึ่งเป็นการผสมผสานให้คน สิ่งเหนือธรรมชาติ และธรรมชาติ อยู่ร่วมกันได้ และไม่ขัดกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

7.2 ศาสนบุคคล การสืบทอดพระพุทธศาสนา มีศาสนทายาท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ช่วยกันอนุรักษ์ทำนุบำรุงอย่างเข้มแข็ง ทั้งผู้ทำงานศาสนา และผู้อุปถัมภ์ พระสงฆ์ล้านนาสมัยก่อน เป็นพระเถรปราชญ์ นักวิชาการ แต่งหนังสือทางศาสนาฝีมือระดับเอกอุ ที่ชาวพุทธต่างประเทศยกย่องในความความรู้ที่แตกฉานและเชี่ยวชาญ บางยุคบางสมัยมีพระสงฆ์ผู้สุปฏิบัติ  มีบารมีสูงได้รับการเคารพยกย่องเป็นตนบุญ เป็นผู้นำชาวพุทธ บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หรือ สาธารณะประโยชน์ ทั่วล้านนาให้สืบมาชั่วลูกหลาน ชาวบ้านชาววัด มีความผูกพันและสัมพันธ์กันดี ตุ๊หลวง ปู่จ๋ารย์ ศรัทธาวัด ต่างเข้าใจกัน จัดตั้งเป็นคณะศรัทธาหัววัดต่าง ช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง

7.3 ศาสนวัตถุ ที่ดินแดนล้านนา ถือว่า มีวัดเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆในภูมิภาคอื่น  แทบทุกหมู่บ้าน มีพระธาตุเจดีย์สำคัญเป็นที่สักการะที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีพระพุทธรูปสำคัญ ๆ หลายองค์ เป็นที่สักการระ เคารพนับถือ ประจำจิตใจ นับแต่ระดับชุมชนขึ้นไปถึงระระดับประเทศ มีสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมล้านนาที่สวยงาม โดดเด่น ทรงคุณค่าไม่แพ้ถิ่นใด และที่ถือเป็นต้นแบบทางศิลปกรรมขั้นครูมีหลายชิ้น เครื่องสักการะก็มี สัตตภัณฑ์ ไว้ตรงหน้าพระพุทธรูป(ไม่นิยมโต๊ะหมู่บูชา)

7.4 ศาสนพิธี พิธีกรรมทางศาสนาของชาวล้านนา มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตน การทำบุญ หรือพิธีสำคัญใด ต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้ง 4  ก่อน การเขาสู่พิธี มีปู่อาจารย์นำประกอบพิธี มีขันแก้วทั้ง 3, ขันศีล, ขันนำทานก่อนจะถวาย จะมีการกล่าวโอกาสเวนทาน (ขอสูมาครัวทาน ก่อนแล้วกล่าวคำถวาย เป็นคำคล้องจองไพเราะ)  ถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์แล้ว ยังมีธรรมเนียมการถวายกัณฑ์ปู่จ๋ารย์ด้วย และการ กล่าวสวดแผ่เมตตาคำเมือง และกรวดน้ำ พิธีกรรมอื่นๆ มี พิธีทานหลัวหิงพระเจ้า พิธีทานข้าวใหม่ พิธีโสสานกรรม  เป็นต้น

------------

 

เอกสารอ้างอิง

ธิดา สาระยา.(2545). อารยธรรม-วัฒนธรรมในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

          มหาวิทยาลัย.

ประเสริฐ ณ นคร ปวงคำ ตุ้ยเขียว. 2537.  ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่  เชียงตุง. กรุงเทพฯ :

ศักดิ์โสภาการพิมพ์,

พระพรหมราชปัญญา.  1972 .  รัตนพิมพวงศ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร.(2530),  กรุงเทพฯ :

          กรมศิลปากร. (พิมพ์ครั้งที่ 2)

พระโพธิรังสี. มปป .  จามเทวีวงศ์. แปลโดย พญาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษม์) (2463),

กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์โสภณพรรฒธนากร.

พระโพธิรังสี. มปป .  สิหิงคนิทาน. แปลโดย พญาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษม์) (2506),

กรุงเทพฯ : ห้างหุนส่วนจำกัดศิวพร..

พญาปริยัติธรรมธาดา(แพ)แปล. 2506. ตำนานพระพุทธสิหิงค์. กรุงเทพฯ :ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร

พระรัตนปัญญาเถระ. 2059 . ชินกาลมาลี. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร.(2517),  กรุงเทพฯ :      

กรมศิลปากร.(พิมพ์ครั้งที่ 4)

พระเทพเวที ป.อ.ปยุตฺโต. 2533. พจนานุกรมพุทธศาสนตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธนา

การพิมพ์จำกัด.  

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์. 2545.  แนวคิดทางปรัชญาในคัมภีร์ประเภทวังสปกรณ์ล้านนา. เชียงใหม่ :

สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์. 2556. รายงานการวิจัย พระพุทธศาสนาในล้านนา ระหว่างรัชสมัยพระเจ้า

ติโลกราช-พญาแก้ว. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอังคารที่  9  พฤศจิกายน  2553,  เรื่องของชาติไทย ที่แท้น่านเจ้าไม่ใช่ของไทย

วิทูรย์ บัวแดง, 2537 : 1-6 เอกสารอัดสำเนาการสัมมนา เรื่อง รำผีมอญ ฟ้อนผีเม็ง ภูมิปัญญาชาวบ้าน

จากพิธีกรรม.

สงวน โชติสุขรัตน์. 2515. ประชุมตำนานล้านนาไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.  

สรัสวดี อ๋องสกุล. 2552.  ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ๊ง.

สิงฆะ วรรณสัย. 2522. โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่. เชียงใหม่  : ศูนย์หนังสือเชียงใหม่.  

สมหมาย เปรมจิตต์. 2556. วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา. เชียงใหม่ : มหามกุฏราชวิทยาลัย

 วิทยาเขตล้านนา.

แสง มนวิทูร แปล. (2506). นิทานพระพุทธสิหิงค์.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

แสง มนวิทูร แปล. (2517). ชินกาลมาลีปกรณ์.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

แสง มนวิทูร แปล. (2530).  รัตนพิมพวงศ์  ตำนานพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ฮันส์ เพนธ์. 2548. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม 10 จารึกในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม

 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

http://www.dhammathai.org /thailand/thailand.php สืบค้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2557.

----------------------

 

 



 

  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญพิเศษ ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์, อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรียบเรียงประกอบการบรรยาย เรื่อง “พระพุทธศาสนาในล้านนา”  โครงการอบรมมัคคุเทศก์ ประจำปี 2560   ภาควิชาการท่องเที่ยว และศูนย์บริการวิชาการ  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดี - ศุกร์ที่ 6-7 เมษายน พ.ศ. 2560 เวลา 17.30 -20.3น. ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 



[1]  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญพิเศษ ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์, อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรียบเรียงประกอบการบรรยาย เรื่อง “พระพุทธศาสนาในล้านนา”  โครงการอบรมมัคคุเทศก์ ประจำปี 2560   ภาควิชาการท่องเที่ยว และศูนย์บริการวิชาการ  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดี - ศุกร์ที่ 6-7 เมษายน พ.ศ. 2560 เวลา 17.30 -20.3น. ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

2 ความคิดเห็น:

  1. อาณาจักรนี้นับถือศาสนาอะไรคะ

    ตอบลบ
  2. เดิมนับถือ ผี ไสยศาสตร์ ต่อมา เทพเจ้า และพุทธศาสนา

    ตอบลบ