วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

ปุราโณวาท หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา

บทความเรื่อง
ปุราโณวาท : หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา [1]
คณะนักวิจัย :
                                     1. อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์  โคตรสุโพธิ์[2]*
                                          2. รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์  [3]** 
                                          3. รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แสง-ชูโต [4]**
                                          4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อินทนนท์  [5]**
คำสำคัญ : ปุราโณวาท,  หลักจริยศาสตร์, ดุลยภาพชีวิต, คัมภีร์ใบลานล้านนา
บทคัดย่อ
บทความเรื่อง “ปุราโณวาท : หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา” เป็นการเรียบเรียงจากการวิจัยเรื่อง  “การสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารคัมภีร์โบราณของวัดในกลุ่มจังหวัดล้านนาและ การถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านา เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น”  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อสืบค้นและอนุรักษ์คัมภีร์โบราณล้านนา ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน 2.  เพื่อทำรายการลงทะเบียน ทำดัชนีการสืบค้นอย่างเป็นระบบ และถ่ายสำเนาคัมภีร์โบราณที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแหล่งข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นการเพิ่มฐานข้อมูลใหม่ๆ เข้าสู่ระบบล้านนาคดีอย่างต่อเนื่อง   และ 3.  เพื่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านาและสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นที่ภูมิปัญญาล้านนานั้นเก็บรักษาไว้ ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสัมมนา การฝึกอบรม และกระตุ้นการทำวิจัยเรื่องที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคม
           ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เสริมด้วย การวิจัย ปฏิบัติการภาคสนาม (Local Area Action Research) มีขั้นตอนดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1) สำรวจรายการเอกสารหรือสำเนาภาพเอกสาร พระธรรมคัมภีร์ใบลาน ของวัดในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน  และจากฐานข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมและสำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) รวบรวมจัดทำรายการเอกสารคัมภีร์ใบลานที่ได้จากการสำรวจ 3) ตรวจสอบคุณภาพของเอกสาร และสำเนาภาพเอกสารคัมภีร์ใบลานและจัดทำรายการไว้ 4)  ปริวรรต ถอดความ เรียบเรียงสาระคัมภีร์ที่คัดเลือก จากวัดพื้นที่ทำการสำรวจและอนุรักษ์ อย่างน้อยวัดละ 1 เรื่อง ซึ่งได้ทำการปริวรรตทั้งหมดจำนวน 8 เรื่อง


                   ผลการวิจัยพบว่า 1) ในด้านการสำรวจรวบรวม อนุรักษ์ และสำเนาภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ใบลาน ของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ที่ปรากฏในรายชื่อเอกสารโบราณ จากฐานข้อมูลของหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั้น พบว่า สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียใหม่ ได้ออกไปสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลานของวัดในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515–2537 มีข้อมูลการสำรวจได้ทั้งหมดจำนวน 323 แห่ง จำนวน 291   วัด  และสมบัติของหน่วยงานราชการ / ส่วนบุคคล  จำนวน 32 ราย มีวัดในจังหวัดเชียงใหม่    257 วัด และ สมบัติของหน่วยงานราชการ / ส่วนบุคคล จำนวน  30 ราย ในพื้นที่ 19 อำเภอ  วัดในจังหวัดลำพูน  34 วัด  และสมบัติส่วนบุคคล จำนวน  2  ราย  ในพื้นที่   6  อำเภอ  เฉพาะพระธรรมคัมภีร์และเอกสารโบราณ ที่ได้คัดเลือกถ่ายสำเนาเอาไว้ เป็นจำนวน ทั้งสิ้น 2,179  รายการ นับเป็นจำนวนผูกได้ 7,944  ผูก  ในรายชื่อวัดที่สำรวจมาทั้งหมด ไม่ปรากฏวัดเป้าหมาย 5 วัด ใน 2 จังหวัด ไม่มีนักสำรวจคณะใด ได้เข้าไปทำการสำรวจและอนุรักษ์เอาไว้อย่างเป็นระบบมาก่อนจึงคัดเลือกเอาไว้เป็นแหล่งปฏิบัติการวิจัย  2.  สถานที่ปฏิบัติการสำรวจพระธรรมคัมภีร์เป็น วัดในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 วัด ประกอบด้วย 1) วัดล่ามช้าง ได้ผลการสำรวจรายการเอกสารรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,702 รายการ  จำนวน   2,806 ผูก/เล่ม    2) วัดผ้าขาว ได้ผลการสำรวจรายการเอกสารรวมทั้งสิ้น    592 ผูก/เล่ม    3)  วัดต้นยางหลวง ได้ผลการสำรวจรายการเอกสารรวมทั้งสิ้น  631 รายการ จำนวน 1,169    และ วัดในจังหวัดลำพูน จำนวน 2 วัด ได้แก่ 1) วัดพระยืน   ได้ผลการสำรวจรายการเอกสารรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,510 ผูก/เล่ม/แผ่น  จำแนกตามประเภทวัสดุ ได้แก่ 1. ใบลาน 1,505 ผูก  2. พับสาและผ้ายันต์ 4 เล่ม/ผืน  3. สมุดฝรั่ง 1 เล่ม   (2) วัดบ้านหลุก ต. เหมืองง่า   เป็นวัดที่มีเอกสารโบราณ พระธรรมคัมภีร์ใบลาน จัดเก็บไว้ที่หอไตร เป็นจำนวนมาก เก็บรักษาไว้ที่หีบธรรม จำนวนถึง 21 หีบ คณะนักวิจัย กลุ่มที่ 2 ได้ลงมือปฏิบัติการสำรวจ ตั้งแด่เดือน กรกฎาคม 2558 จนถึง เดือน มีนาคม 2559  ก็สามารถทำการสำรวจได้ประมาณ 1 ใน 7 ส่วน (1 : 7)  เพราะมีเอกสารที่จัดเก็บรักษาเอาไว้มาก เท่าที่คณะนักวิจัยได้ทำสำรวจ รายชื่อของเอกสารและลงทะเบียน ที่วัดบ้านหลุก สำรวจได้ จำนวน 1,279  ผูก นับจำนวนเอกสารใบลานที่สำรวจทั้งหมดได้ 7,356 ผูก/เล่ม 3. ทำการปริวรรตเอกสารโบราณจากแหล่งข้อมูลได้ 8 เรื่อง ได้แก่ 1.  โวหารตำนานสินธุรภิกขุณี  ฉบับธรรมวัดล่ามช้าง 2. ธรรมดาสอนโลก วัดผ้าขาว 3) คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ วัดต้นยางหลวง 4. เส้นธรรม  5. โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน 6. หนังสือโอวาท(นคอรเชียงใหม่ 7. หนังสือโอวาทานุศาสนี และ 8. มูลกัมมัฏฐาน ฉบับ วัดบ้านหลุก และ 4. กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านาและสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น คณะนักวิจัยได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ มีปราชญ์ท้องถิ่น และผู้แทนวัดเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 50 ท่าน  มีประเด็นที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้ 1. กระบวนการสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของภาคเหนือควรร่วมมือกันสำรวจอย่างต่อเนื่อง  2. การสืบค้นข้อมูลเพื่อนำเอกสารโบราณไปใช้ ควรมีการตรวจสอบข้อมูลที่มีระบบฐานข้อมูลอ้างอิง หรือ จากแหล่งต้นฉบับที่ให้บริการการสืบค้น ใช้หลายฉบับเพื่อสอบเทียบความถูกต้อง 3. การถ่ายทอดสู่ท้องถิ่น นักวิจัยได้จัดพิธีตากธรรม และการเรียนรู้อักษรล้านนาขึ้นมาแก่ชาวบ้านที่สนใจ จนสามารถอ่านและเขียนอักษรล้านนาได้  4.  ในอนาคต ควรจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อใช้ขับเคลื่อน ในการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของล้านนา ให้คลอบคลุมทุกมิติ ซึ่งผลจากการทำวิจัยครั้งนี้ จะได้เป็นการจุดประกายให้เกิดเครือข่าย และขยายงานการสำรวจอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลานออกไปอีกหลายพื้นที่ในอนาคต
          หลักจริยศาสต์ เพื่อสร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา พบว่า จากเอกสารโบราณที่ 7 เรื่อง พบว่า หลักทฤษฎีและหลักการประเมินค่าแห่งความดีของชาวล้านนานั้น ได้อาศัยหลักพุทธจริยศาสตร์ หรือ จริยธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นกรอบคิด ในเอกสารที่นำเสนอนี้ ได้พบคำสอนจริยศาสตร์ในระดับพื้นฐาน เกี่ยวกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นความดีที่ควรประพฤติ นอกจากจะได้พบคติปรัมปรา กติกา จารีตประเพณีของสังคมโบราณเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแล้ว ก็ยังได้พบหมวดธรรมคำสั่งสอนทั่วไปทางพระพุทธศาสนาอีกหลายหมวด เช่น สุจริตสังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 ศีล 5 ศีล 8 กุศลกรรมบถ 10 บุญกิริยาวัตถุ 10 ทศพิธราชธรรม 10 และบารมี 10 ประการ  ซึ่งเป็นกรอบในการสร้างสมคุณงาม ความดี นับแต่ การให้ทาน รักษาศีล สร้างวัด วิหาร พระธาตุเจดีย์ การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้พบหลักจริยศาสตร์ระดับสูง เพื่อพัฒนากายและจิต ตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เพื่อมุ่งสู่ความสะอาด สงบ และ สว่าง  ผ่านคำสอนในคัมภีร์ มูลกัมมัฏฐาน ขั้นตอนการปฏิบัติ จะเริ่มตั้งแต่ การภาวนาระดับต้น ด้วยอนุสสติ 10 และ พรหมวิหารภาวนา ที่เป็นขั้นสมถะภาวนา เมื่อได้ปีติ และสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะยกจิตของตนน้อมขึ้นสู่ระดับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาที่สูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมของชีวิต สามารถประคองกายและจิตของตนให้เกิดสภาวะสมดุล ไม่ให้ตกสู่กระแสแห่งโลกธรรมที่เข้ามากระทบมากจนเกินไป และเพื่อเป็นการปฏิบัติขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น ยังมีธุดงควัตร 13 ข้อ สำหรับผู้ปรารภความเพียรที่ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย



The Article entitled
“Precedent Instructions :  Ethics  for Cultivating a Balanced Life in Lan Na Tradition.” [6]
Researchers : 
1. Lect.Dr. Phisit Kotsupho Head Researcher.
2. Assoc. Prof. Dr. Thanes Sriwichailamphan Co Researcher.
                                                                                        3. Associate. Prof. Dr. Virapong Seang–Xuto Co Researcher.
4. Asst. Prof. Dr.Viroj Inthanon  Co Researcher.
Key words :  Precedent InstructionsEthics, balance of life,  Ancient Lanan Menuscripts    
Abstract
                The Aeticle entitled “Precedent Instructions :  Ethics  for Cultivating a Balanced Life in Lan Na Tradition”  is the compossive revision of the research project wich was entitled “the ascertainment and peservation of the ancient scriptures kept in Lanna province monasteries together with publicizing Lanna wisdom, aiming to found a learning source in locality” thereby, has 3 Objectives :  1) to Ascertain and reserve the Lanna ancient manuscripts, those kept at temples in Chiang Mai and Lam Phun Provinces. 2) to register the list of manuscripts, systemize the  search Index and digitally copy the new items to increase the Lanan Khadee Database.  3) to instruct the Lanan Wisdom and establish Local Learning centers where the Local wisdom can be learned through different activities such as academic seminars and training programs with the aim of motivating new research which may bring about wealth and prosperity to the community.  
                        The research methodology of  this project is principally Qualitative Research  with the help of Local Area Action Research. The procedures are:   1) the investigation the lists of  Ching Mai and Lam Phu Provinces manuscripts from the Data bases kept in  the Social Research Institute (SRI) The Center for the Promotion of Arts and Culture, and the CMU Central Library , Chiang Mai University   2) Ascertainment & Collection of the manuscripts from 5 Monasteries in 2  provinces, then systematic registration of all found  items  3) check the manuscripts in near perfect quality and make a digital photo copy of the selected Palm leaf  manuscripts and archive 4)  transliterate, interpret, compile the core essence of  the texts at least one from each monastery. Research tools include 1) the registration form used by the Social Research Institution 2) High resolution camera equipment for a digitized  copy of the Original manuscripts and 3)  focus group meetings to sum up how to preserve the manuscripts the, how to store the documents and how to access the database. In data analysis, all data will be analyzed by the frequency and the content analysis  by analytical  description.                     
                        The Results were found that 
            1)  The Lanna ancient manuscripts kept in Chiang Mai and Lam Phun Provinces, have been preserved by The Social Research Institute and they have done so between the years B.E 2515–2537.  It covered  323 places ;  291   Monasteries and 32 private belongings. Classification by Provinces, in 19 Districts of Chiang Mai there were   257 Monasteries and  30 private requisites. On the other hand, there were, in 6 districts of Lam Phun,  34 Monasteries and 2  private requisites. The photo copies of manuscripts are total 2,179  items, with binding numbers are 7,944  sets.  From a list  of monasteries we got from 2 provinces, there are no names of the 5 Purposive Monasteries we selected to research.  And There are no research groups that have systematically done a study, which is why we have decided to do a study in detail. 
            2) There are in total 5 Monasteries of interest for study;  3 in Chiang Mai and 2 in Lam Phun. In Chiang Mai on details, (1)  at Wat Lam Chang, the manuscripts are  1,702  items or  2,806 bindings/books    ( 2) at Wat Pha Khao, the manuscripts are  592 bindings/books    (3)  at Wat Ton Yarng Luang,  the manuscripts are  631 items  or   1,169  bindings/books. In Lam Phun on the details, (1)  at Wat Phra Yuen, the manuscripts are  1,510 bindings/books ; ( Palm leafs 1,505 bindings,  3  Paper Books & 1 cloth Yantra  and 1 modern styled book),    (2) at Wat Ban Luke, Tam Bon Muaeng Nga, there are a large amount of palm leaf manuscripts loaded in 21 scripture cabinets  on  Hor Trai,  actually the second group has started working from  July 2558 unto March 2559, but could complete only a 1 : 7 ratio. The  Palm leaf manuscripts are 1,279  bindings. (the incomplete work needs the more time and the more energy)
3. The 8 items of Manuscript are transliterated ;  1) The story of Sidhura Bhiksuni from Wat Lam Chang, 2) the ethical codes from a peaceful life of Wat Pha Khao, 3) the good resultant of Jetiya building from Wat Ton Yarng Luang,  4) the Name Lists of Dhamma Texts (Sen Tham), and  5) The instruction for Mongs & Novices,  from Wat Phra Yuen,  6) the Book of Ethical Instructions(Nakhorn Chiang Mai),  7) the  the Book of Ethical Instructions (Nakhorn Hari Phun Chai), and 8) the Mulakammatthan (the Grounded Meditation) Wat Nan Luke Version, these three items are from Wat Ban Luke.
4. in the process of transferring  Lanna Wisdom and building a local learning center for the group of researchers has an organized academic seminar on Saturday, February 27th 2559 at the Holiday Inns Hotel, Chiang Mai Province.  There will be approximately 50 people  attendance for the conference;  including local prominent scholars and representatives from 5 working places. The final suggestions received from the meeting are 1. The research should be continued and the exploration as well as the conservation of the Palm leaves by a joint effort and with other groups 2.when anyone receives research data it should be compared with other data in order to ensure the right knowledge and understanding 3. Due to the Tak Dham Ceremony, it has  increases the interest and awareness of people and inspired them to learn the Lanna alphabet, some could already basically read and write the manuscripts  4. A strategic plan should be put in place which would aim to drive the study of Lanna  language and culture in all aspects of Northern Thai Culture. Finally  the impact of  this research will spread via networks and explain the Palm Leafs’ exploration and conservation works throughout other areas in the future.
----------

ความนำ
           ความรู้ของบรรพชนล้านนาที่บันทึกไว้ในเอกสารใบลานหรือพับสา   นักวิชาการสมัยใหม่หลายท่าน จะมองว่า เป็นองค์ความรู้ที่ ตกยุค ล้าสมัย คร่ำครึ  โบราณ เหมาะสมกับสภาพสังคมและผู้คนในสมัยนั้น ที่ไม่มีสภาพซับซ้อน เป็นสังคมแบบ “เอกวัฒนธรรม” มิใช่สังคมแบบ “พหุวัฒนธรรม” อย่างปัจจุบัน  ข้อความเห็นเช่นนี้ ขอยอมรับว่า ก็มีส่วนเป็นจริงอยู่บ้างในบางองค์ความรู้เท่านั้น เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยผ่อนแรงในการทำงานแบบสมัยก่อน หรือ มุมมองด้านโลกทัศน์แบบสมัยโบราณที่ยังมองในวงแคบ เฉพาะสิ่งที่ตนมีประสบการณ์ และกรอบความเชื่อตามคติปรัมปรา เพราะขาดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และความเป็นเหตุเป็นผล  ด้วยเทคโนโลนีสมัยใหม่ แต่ทว่า บางองค์ความรู้ เช่น เรื่อง โอวาทคำสั่งสอน ด้านศีลธรรม จรรยา การปลูกฝังคุณธรรม การกล่อมเกลาอุปนิสัยของมวลสมาชิกในสังคมให้เป็นคนดี รู้จักผิดชอบ ชั่วดี เป็นอารยชน เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม  ยกสู่ระดับสังคมแห่งอารยะ เป็นสังคมที่น่าอยู่อาศัย ซึ่งกรอบคิดแบบนี้ ทางโลกตะวันตกเรียกว่า องค์ความรู้สาขาจริยศาสตร์ หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการประเมินค่าของความเป็นคนดี หรือสังคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด นับแต่อดีต ถึงปัจจุบัน  ยุคต่อ ๆ ไปในอนาคต ยังไม่มีสังคมใดในโลกที่ไม่ต้องการคนดี ไม่ต้องการสังคมที่มวลสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็พยายามแสวงหาหนทางเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยหันหน้าเข้าเจรจาด้วยเหตุผล ก็จะสงบความขัอแย้งลงไปได้  นี่แหละคือองค์ความรู้ที่ไม่ล้าสมัย และยังจะใช้เป็นกรอบปฏิบัติต่อไปโดยไม่เสื่อมถอยคุณค่าลงไปแม้แต่น้อย เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างดุลยภาพแห่งชีวิตและสังคมได้อย่างประเมินค่ามิได้  
           โอวาทคำสอนของปราชญ์โบราณล้านนา ที่ได้รับการสืบทอดเป็นมรดกทางปัญญา จากยุคสู่ยุค เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ผ่านการบอกเล่า ผ่านการจดจารจารึกด้วยวัสดุต่างๆ ซึ่งวัสดุที่รองรับ อาจจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่สาระเนื้อในก็จะได้รับการผลิตซ้ำด้วยวัสดุใหม่ๆ และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อำนวยความสะดวกสบายในการหยิบนำมาใช้ เป็นที่น่าเสียดายที่องค์ความรู้นี้ ถูกจารจารึกลงในใบลาน ด้วยภาษาเมือง อักษรล้านนา ถูกใช้เป็นเครื่องมือการถ่ายทอดความรู้ของมนุษย์ในสมัยก่อน เมื่อเข้าสู่การพัฒนาประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่  อะไรที่เป็นแบบเก่าก็จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ก็เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม วัสดุที่ใช้รองรับองค์ความรู้และการถ่ายทอดก็เปลี่ยนไปจาก วัสดุดิบๆตามธรรมชาติ(ใบลาน) หรือพับสา ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะในการจารหรือเขียนลงไป มาเป็นกระดาษ เล่มสมุด ที่ใช้เขียนหรือตีพิมพ์ได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า ทำให้คัมภีร์ใบลานและพับสา(ซึ่งเนื้อในก็คือองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเช่นที่กล่าวมา)ถูกละเลย ขาดการเอาใจใส่ ไม่สนใจองค์ความรู้(ที่ยังเป็นประโยชน์) และถูกเก็บสุมกองเอาไว้อย่างไร้คุณค่า ในซอกมุมของหีบธรรม  ซอกตู้ บางส่วนถูกขายเป็นของเก่าไป บางส่วนถูกแปรสภาพเป็นมวลสารสร้างวัตถุมงคล ทั้งนี้ เพราะขาดการสืบทอดอักขรวิธีในการอ่าน ขาดการนำมาผลิตซ้ำ จึงทำให้ช่วงเวลาของประวัติศาสตร์องค์ความรู้ในท้องถิ่นขาดหายไป จนแทบจะต่อกันไม่ติด บางครั้งไม่สามารถสืบค้นถึงต้นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมจารีตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของชุมชนไปได้
           สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้คณะนักวิจัย ต่างยุคต่างคณะ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่า 30 ปี(2516-ปัจจุบัน)   ได้ช่วยกันออกทำงานสืบสาน ต่อยอดลมหายใจองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่ถูกเก็บในฐานะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มัดหีบห่อใส่ตู้ปิดตายเอาไว้ ไม่ต้องการให้ใครไปศึกษาค้นคว้า ปล่อยให้เป็นความมืดมนธ์   โดยการเข้าไปสำรวจ สืบค้น อนุรักษ์ จัดระบบ ลงทะเบียน ทำฐานข้อมูลสืบค้นให้ง่ายต่อการนำมาศึกษา มีผู้สนใจจากทุกสารทิศมาทำการศึกษาค้นคว้า ใช้เอกสารใบลาน เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิได้เป็นอย่างดี
           ผลจากการลงมือทำการสำรวจ อนุรักษ์ และจัดระบบสารสนเทศฐานข้อมูลพระธรรมคัมภีร์ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ในปี 2558 ในแหล่งพื้นที่ 5 วัด ประกอบด้วย วัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ ตำบล วัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ และวัดต้นยางหลวง ตำบลไชยสถาน จังหวัดเชียงใหม่  วัดพระยืน ตำบลเวียงยอง  และวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า จังหวัดลำพูน ได้พบเอกสารคัมภีร์ใบลานที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  เช่น โอวาทการอบรมสั่งสอน กฎ กติกาสังคมของล้านนาในอดีต ที่เป็นข้อแนะนำทั่วไปบ้าง  เป็นโอวาทคำสั่งสอนโดยตรง เกี่ยวกับข้อห้ามและข้อที่ควรปฏิบัติบ้าง  เป็นการอบรมสั่งสอนโดยอ้อมผ่านการยกนิทานตัวอย่างบ้าง  เพื่อใช้สั่งสอนอบรม ทั้งแก่ประชาชนทั่วไปและพระภิกษุสามเณร  นอกจากนี้ คณะนักวิจัย ยังได้พบ พระธรรมคัมภีร์ เรื่อง “มูลกัมมัฏฐาน” คำสั่งสอนเรื่องการฝึกควบคุม อารมณ์  จิตใจ และสติ ปัญญา ที่เป็นระบบ  เนื้อหาสาระ และข้อแนะนำการปฏิบัติ ละเอียดละลอ ชัดเจน นับตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น จนถึงระดับที่ปฏิบัติลึกลงไป ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติ(ทั้งฆราวาสและบรรพชิต) สามารถฝึกปฏิบัติตามด้วยตัวเองได้   จึงเป็นเสมือนแผนที่และเข็มทิศสำหรับพกติดตัวผู้ปฏิบัติใช้เป็นคู่มือการฝึกปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ การพัฒนาตนให้เจริญด้วย ศีล(กาย) สมาธิ(จิต  อารมณ์) และปัญญา(ความรู้สัจธรรม)  มีทั้งหมดนี้ มีจำนวน 8 เรื่อง จากวัด 5 แห่งในเชียงใหม่และลำพูนดังที่กล่าวมา    สมควรนำมาถ่ายทอดด้วยภาษาร่วมสมัยอันจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างออกไป ทั้งเป็นการรื้อฟื้น องค์ความรู้ที่ถูกลืมด้วยข้อจำกัดทางภาษาและการเข้าถึง นำกลับมาปัดฝุ่น เสนอสาระเนื้อหาในชื่อ “ปุราโณวาท : หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา” แสดงหลักจริยธรรม ที่เป็นน้ำเชื่อมประสานสังคมสามารถให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติไมตรี ดังนั้น เรื่องนี้ “ปุราโณวาท : หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา”ถือว่า เป็นผลเกิดมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย “การสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารคัมภีร์โบราณของวัดในกลุ่มจังหวัดล้านนา และ การถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านา เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น”    ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สภาวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประจำปีงบประมาณ 2558 ผ่านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่ 1. เพื่อสืบค้นและอนุรักษ์คัมภีร์โบราณล้านนา ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน จำนวน 5 วัด   คัดเลือกเฉพาะวัดที่มีเอกสารโบราณ ที่ขาดการสำรวจอย่างเป็นระบบ ในจังหวัดเชียงใหม่ 3 วัด และในจังหวัดลำพูน  2 วัด  2.  เพื่อทำรายการลงทะเบียน ทำดัชนีการสืบค้นอย่างเป็นระบบ และถ่ายสำเนาคัมภีร์โบราณที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแหล่งข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นการเพิ่มฐานข้อมูลใหม่ๆ เข้าสู่ระบบล้านนาคดีอย่างต่อเนื่อง และ 3.  เพื่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านาและสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นที่ภูมิปัญญาล้านนานั้นเก็บรักษาไว้ ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนา การฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ด้านการอ่านวรรณกรรมอักษรโบราณล้านนา และกระตุ้นการทำวิจัยเรื่องที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคม
ผลการศึกษา
1. พื้นที่ในการทำวิจัย คณะนักวิจัยได้กำหนดพื้นที่ในการสำรวจอนุรักษ์ฯ จำแนกเป็นรายวัดในต่ละจังหวัด ดังนี้ 1) วัดในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวน 3 วัด ได้แก่
               (1) วัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คณะนักวิจัยได้ลงมือปฏิบัติการสำรวจและทำการอนุรักษ์ ได้ผลการสำรวจคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,702 เรื่อง  จำนวน   2,806 ผูก/เล่ม ได้คัดเลือก  เรื่อง “โวหารตำนานสินธุรภิกษุณี” ฉบับธรรมวัดล่ามช้าง จังหวัดเชียงใหม่ จาร ปี จศ. 1173 (พ.ศ. 2354)  อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยยวน ที่มีอายุ 205 ปี   ซึ่งเป็นตำนานของภิกษุณีที่แปลกออกไปจากประวัติของพระมหาเถรี ภิกษุณีในพระพุทธศาสนา สมัยพุทธกาล และค้นพบที่วัดล่ามช้างที่นี่  จึงเห็นควรปริวรรตออกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้
               (2) วัดผ้าขาว ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ได้ผลการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งสิ้น  592 ผูก/เล่ม ได้คัดเลือกปริวรรตเรื่อง “ธรรมดาสอนโลก”   
             (3)  วัดต้นยางหลวง ต. ไชยสถาน อ. สารภี จ. เชียงใหม่  ได้ผลการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งสิ้น 631 รายการ 1,169 ผูก  ได้คัดเลือกเรื่อง  “คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์” วัดต้นยางหลวง  เป็นผลงานที่บันทึกประวัติการบูรณะพระธาตุเจดีย์ และพรรณนาอานิสงส์ของผู้ที่ได้ร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์ในอดีตว่าได้รับอานิสงส์เป็นประการใด เพื่อเป็นการสร้างศรัทธาและพลังใจแก่พุทธศาสนิกชน ที่ได้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการบูรณะและสมโภช ฉลองพระธาตุเจดีย์ประจำวัดต้นยางหลวง คัมภีร์ธรรมอานิสงส์ผูกนี้ มีลักษณะเป็นเส้นจาร  ใบลาน อักษรธรรมล้านนา เนื่องในพิธีสมโภชการบูรณะพระเจดีย์ครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2546  ถึงแม้ว่า พระธรรมคัมภีร์ใบลานผูกนี้ จะเป็นของที่จารขึ้นมาใหม่ มีอายุคัมภีร์เพียง 13 ปีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่า เป็นเอกสารจดหมายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ซึ่งได้บันทึกรายการการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้ ผ่านมามาหลายครั้ง หลายวาระเอาไว้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 นำโดยครูบากรองแก้ว ญาณวิชโย อดีตเจ้าอาวาส เป็นต้นมา ถ้านับแต่ปีแรก จวบปัจุบัน กาลเวลาก็ได้ล่วงเลยมาเกือบศตวรรษแล้ว และนับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของภูมิสังคมที่ควรแก่การเผยแพร่อีกเรื่องหนึ่ง
          2) วัดในจังหวัดลำพูน จำนวน 2 วัด ได้แก่
                    (1) วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง จ. ลำพูน   วัดพระยืน เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสายลังกาวงส์ ที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยสุโขทัย เมื่อพญากือนา นิมนต์พระสุมนเถระ จากสุโขทัยมาประกาศศาสนาลัทธิลังกาวงส์ที่ราชอาณาจักรล้านนา  พระสุมนเถระ ได้มาพำนักที่วัดพระยืนก่อน เป็นเวลาถึง 2 ปี  และเมื่อพญากือนา ได้สร้างวัดบุปผาราม(สวนดอก) ให้เป็นที่สำนักของท่านแล้วเสร็จ พระสุมนเถระจึงได้มาอยู่เผยแผ่พุทธศาสนาประจำ ที่อารามสวนดอก(ไม้) คณะนักวิจัยปฏิบัติการสำรวจ อนุรักษ์ และทำรระบบรายการเอกสารของวัดพระยืน ได้รายนามพระธรรมคัมภีร์ทั้งหมดจำนวน 1,510 ผูก/เล่ม/แผ่น เพื่อนำองค์ความรู้ของท้องถิ่นออกมาเผยแพร่ จึงได้คัดเลือกมาทำการปริวรรตและถอดความจำนวน 2 เรื่อง  ได้แก่ “เส้นธรรม” (บัญชีรายการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ในครั้งอดีต) ฉบับวัดพระยืน และ “โอวาทสอนภิกขุสามเณร” ฉบับวัดพระยืน ที่จารโดย อภิไชยภิกขุ ที่เคยพำนักอยู่วัดพระยืนในอดีต
                   (2) วัดบ้านหลุก ต. เหมืองง่า อ. เมือง จ.ลำพูน    วัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า เป็นวัดที่มีเอกสารโบราณ และ พระธรรมคัมภีร์ใบลาน จัดเก็บไว้ที่หอไตร เป็นจำนวนมาก โดยเก็บรักษาไว้ในหีบธรรม ซึ่งมีจำนวนถึง 21 หีบ คณะนักวิจัย(ด้วยเวลาที่จำกัด) สามารถสำรวจได้ประมาณ 1 ใน 7 ส่วน (1 : 7)  ทั้งนี้ เพราะมีเอกสารใบลานจำนวนมากดังที่กล่าวมา  เท่าที่ได้สำรวจรายชื่อเอกสารและลงทะเบียนจัดหมวดหมู่ ได้คัมภีร์ใบลานเพียง  1,279 รายการ  สำหรับการปริวรรต ถอดสาระองค์ความรู้ในท้องถิ่น ก็ได้คัดเลือกมาจำนวน 3 เรื่อง คือ หนังสือโอวาท(นคอรเชียงใหม่) จ.ศ. 1119(พ.ศ. 2380),  หนังสือโอวาทานุสาสนี(หริภุญไชยนคอร) จ.ศ. 1251(พ.ศ. 2432)  และคัมภีร์ “มูลกัมมัฏฐาน”  ฉบับวัดบ้านหลุก เป็นเสมือนคู่มือแนะนำการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งอธิบายขั้นตอนและวิธีปฏิบัติภาวนาเอาไว้อย่างละเอียดและน่าสนใจ ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถลงมือปฏิบัติตามด้วยตัวเองได้ไม่ยากนัก จึงได้ปริวรรตจากต้นฉบับออกมาเผยแพร่
          2. สาระสำคัญของคัมภีร์ใบลานจากแหล่งข้อมูล
สาระสำคัญของเอกสารต้นฉบับ  มีทั้งหลักคำสอนที่เป็นคติความเชื่อ จารีตประเพณีแบบดั้งเดิม และคำสอนเกี่ยวกับการอบรมจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม สำหรับฆราวาส ปรากฏในเรื่องต่างๆ เช่น โวหารสินธุรภิกษุณี อานิสงส์การสร้างเจดีย์ และธรรมดาสอนโลก ในส่วนที่เป็นการวางกติกา หรือ ประกาศธรรมเนียมข้อปฏิบัติ สำหรับอบรมพระภิกษุ สามเณรให้ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างถูกต้อง ก็ปรากฏใน โอวาท ทั้ง 3 สำนวน เช่น โอวาทสอนภิกขุสามเณร  ฉบับวัดพระยืน โอวาท(นคอรเชียงใหม่) จ.ศ. 1119,  หนังสือโอวาทานุสาสนี(หริภุญไชยนคอร) จ.ศ. 1251 ฉบับวัดพระยืน และ ฉบับวัดบ้านหลุก อีก 2 สำนวน          เอกสารที่เป็นทั้งหลักคำสอน และ หลักการปฏิบัติภาวนา ด้านวิปัสสนาธุระ ของพระสงฆ์ในราชอาณาจักรล้านนา ดังเรื่อง “มูลกัมมัฏฐาน”  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของพิธีกรรมเบื้องต้นก่อนการลงมือปฏิบัติภาวนา และขั้นตอนการปฏิบัติ เริ่มจากการชำระศีลให้บริสุทธิ์ ทำสมาธิภาวนา อาศัยอารมณ์ตามแนวสมถภาวนา ทั้ง 40 ชนิด นับตั้งแต่อนุสสติ 10 ประการ เป็นต้น เพื่อเป็นจุด/ฐานกำหนดให้จิตได้ยึดเหนี่ยว เป็นสมาธิจิต จนเกิด อุปจารสมาธิ  และอัปนาสมาธิ เมื่อปฏิบัติได้ช่ำชองแล้ว ก็พัฒนาการปฏิบัติสู่ระดับที่สูงขึ้นไปเป็นการสร้างปัญญา ตามหลักวิปัสสนา อาศัย “รูปนาม” เป็นอารมณ์ พิจารณาให้เห็นสัจธรรมตามหลักไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) จนเกิดวิปัสสนาญาณ  คือ สัมมสนญาณ  อุทยัพยญาณ เป็นต้นไป จะได้บรรเทาความโลภ ความโกรธ และความหลง ถ้าผู้ปฏิบัติมีบุญบารมีและอินทรีย์แก่กล้า ก็อาจจะบรรลุมัคค์และผลได้ นอกจากนี้ ในมูลกัมมัฐาน ยังได้เสนอหลักการปฏิบัติธุดงค์ ท่านเรียกว่า “อริยวงส์” อันเป็นวัตรที่พระอริยสงฆ์ได้ใช้ฏิบัติเพื่อความขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้อยู่ง่าย เลี้ยงง่าย มีความมักน้อยสันโดษ บำเพ็ญตนเป็นผู้ตื่นรู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท อบรมสติ สมาธิและปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง
         ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เรียบเรียง ได้ตรวจสอบเทียบความสอดคล้องตามพระไตรปิฎกและคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็พบว่า มูลกัมมัฏฐาน สำนวนนี้ มีความถูกต้องตามหลักการ จะมีความแตกต่างไปบ้าง ก็เพียงแต่เทคนิควิธีที่ได้สืบทอดกันมาตามคติสายพระอาจารย์กัมมัฏฐานแบบล้านนาเท่านั้น   ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนปรากฏใน “มูลกัมมัฏฐาน” ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า จังหวัดลำพูน
3. ปุราโณวาท ในฐานะเครื่องมือการถ่ายทอดหลักจริยศาสตร์เพื่อสร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา
เอกสารชุด “ปุราโณวาท : หลักจริศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา” ที่คัดเลือกนำพระธรรมคัมภีร์ใบลานในท้องถิ่น (เชียงใหม่ ลำพูน) มาถ่ายถอดอักษร และถ่ายทอดเนื้อหาสาระในคราวนี้  เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ในการเสนอภูมิปัญญาบรรพบุรุษล้านนา เกี่ยวกับ หลักจริยศาสตร์ จริยธรรม คุณธรรม และหลักปฏิบัติภาวนา จากสมถภาวนา ถึง วิปัสสนาภาวนา อย่างละเอียด สามารถจะใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองได้ เสมือนมีครูกัมมัฏฐานคอยให้คำแนะนำอยู่ข้างกาย
ในด้านจริยศาสตร์พบว่า หลักทฤษฎีและหลักการประเมินค่าแห่งความดีของชาวล้านนานั้น ได้อาศัยหลักพุทธจริยศาสตร์ หรือ จริยธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นกรอบคิด ในเอกสารที่นำเสนอนี้ ได้พบคำสอนจริยศาสตร์ในระดับพื้นฐาน เกี่ยวกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นความดีที่ควรประพฤติ นอกจากจะได้พบคติปรัมปรา กติกา จารีตประเพณีของสังคมโบราณเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแล้ว ก็ยังได้พบหมวดธรรมคำสั่งสอนทั่วไปทางพระพุทธศาสนาอีกหลายหมวด เช่น สุจริตสังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 ศีล 5 ศีล 8 กุศลกรรมบถ 10 บุญกิริยาวัตถุ 10 ทศพิธราชธรรม 10 และบารมี 10 ประการ  ซึ่งเป็นกรอบในการสร้างสมคุณงาม ความดี นับแต่ การให้ทาน รักษาศีล สร้างวัด วิหาร พระธาตุเจดีย์ การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้พบหลักจริยศาสตร์ระดับสูง เพื่อพัฒนากายและจิต ตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เพื่อมุ่งสู่ความสะอาด สงบ และ สว่าง  ผ่านคำสอนในคัมภีร์ มูลกัมมัฏฐาน ขั้นตอนการปฏิบัติ จะเริ่มตั้งแต่ การภาวนาระดับต้น ด้วยอนุสสติ 10 และ พรหมวิหารภาวนา ที่เป็นขั้นสมถะภาวนา เมื่อได้ปีติ และสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะยกจิตของตนน้อมขึ้นสู่ระดับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาที่สูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมของชีวิต สามารถประคองกายและจิตของตนให้เกิดสภาวะสมดุล ไม่ให้ตกสู่กระแสแห่งโลกธรรมที่เข้ามากระทบมากจนเกินไป และเพื่อเป็นการปฏิบัติขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น ยังมีธุดงควัตร 13 ข้อ สำหรับผู้ปรารภความเพียรที่ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
ปุราโณวาท คำสั่งสอนของบุรพชนที่ถ่ายถอดสาระออกมาจากคัมภีร์ใบลานล้านนา เมื่อใช้กรอบพุทธจริยศาสตร์มาวิเคราะห์เนื้อหา ตรวจสอบความถูกต้องตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ  และปฏิเวธ  ก็พบว่า โอวาททั้งหมดนี้ เป็นองค์ความรู้ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะมีหลักฤษฎี เพื่อชี้นำทางผู้ปฏิบัติมุ่งสู่เป้าหมายของชีวิตที่สมดุล ทั้งคติโลกและคติธรรม มีหลักปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์และบรรพชิต สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดความสะอาด สว่างและสงบได้ และท้ายที่สุด มีหลักปฏิเวธ คือ ผลแห่งการปฏิบัติ ที่สร้างดุลยภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติได้อย่างลงตัว
 เอกสารจากคัมภีร์ใบลานที่นำเสนอมา ล้วนเป็นเพชรน้ำงาม เป็นโอวาทของปราชญ์โปราณในอดีต ที่สั่งสอนหลักการดำเนินชีวิตทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต สร้างดุลยภาพที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางโลกและทางธรรม จึงใช้ชื่อโดยรวมว่า “ปุราโณวาท : หลักจริยศาสตร์สร้างดุลยภาพชีวิตแบบล้านนา”  ควรค่าแก่การศึกษาและและสังเคราะห์แก่นสารสำคัญน้อมนำมาปฏิบัติปรับใช้กับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันได้
        4. สะท้อนคิดกระบวนการอนุรักษ์และการใช้คัมภีร์ใบลาน ของนักวิชาการล้านนา
          คณะนักวิจัย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ว่า เพื่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านาและสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นที่ภูมิปัญญาล้านนานั้นเก็บรักษาไว้ ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนา การฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ด้านการอ่านวรรณกรรม อักษรโบราณล้านนา และกระตุ้นการทำวิจัยเรื่องที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมดังที่กล่าวมาในบทที่ 1 วิธีการเติมเต็มในข้อนี้ จึงได้จัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการการสืบค้น อนุรักษ์เอกสารโบราณ และการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ขึ้นมาในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ ห้องประชุมธาราทอง 1 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ ระยะเวลาในการประชุม ตั้งแต่เวลา 08.30-12.30 น.  โดยเชิญปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณและวัฒนธรรมล้านนา รวมทั้งผู้แทนวัดที่ทำการอนุรักษ์จำนวน 50 ท่าน เข้าร่วมสัมมนา ระดมความคิดเห็น ช่วยกันสะท้อนภาพ กระบวนการอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์นับตั้งแต่อดีต จนปัจจุบัน และแสวงหาแนวทางอนุรักษ์ร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้   พระครูสุนทรสังฆพินิต(เสน่ห์ ญาณเมธี) ดร.  ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นประธานในการสัมมนา เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถานำเข้าสู่ประเด็นให้เห็นถึงกระบวนการอนุรักษ์และการใข้ฐานข้อมูลเอกสารใบลานต่อที่ประชุม ดังนี้
      “งานสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารโบราณ เป็นการนำเอาสิ่งที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 400-500 ปี  นำมาเปิดเผยใหม่อีกครั้ง สิ่งที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ หรือ ปริวรรตถ่ายทอดออกมานำเสนอในรูปแบบใหม่ จะทำให้คัมภีร์ทั้งหลายที่มีอยู่นั้นมีคุณค่านับประมาณมิได้  และเคยทราบมาว่า บางวัด ได้นำเอาคัมภีร์ใบลานไปเผา เพื่อนำเอาไปเป็นมวลสารทำเครื่องของขลัง ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องนำเอาใบลานไปทำเช่นนั้น เพราะในคัมภีร์นั้น มันคือภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนซึ่งมีนัยะและความสำคัญที่จะต้องเข้าไปศึกษา ตีความ และถอดองค์ความรู้นั้นๆ ออกมานำเสนอใหม่  การประชุมในวันนี้ก็น่าจะได้องค์ความรู้ใหม่ซึ่งเป็นภาระที่ทุกคนในที่นี้นำพาไปให้ถึงจุดหมาย [7]

        ประเด็นเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อินทนนท์ และ อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำการเสวนา ได้ดำเนินการสัมมนาสู่ประเด็นหลักๆ ดังนี้
1)  ประสบการณ์ในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในอดีต
รองศาสตราจารย์ สมหมาย เปรมจิตต์ M.A., ป.ธ. 9 เป็นอาจารย์นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นแรก ที่เริ่มปฏิบัติทำการสำรวจในเบื้องต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และลงมือขยายการสำรวจออกไปอย่างจริงจังให้ทั่วอาณาเขตภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2521 จนเกษียณอายุราชการ ได้เล่ารายละอียดจากประสบการณ์ตรงของท่าน ดังนี้  
              “เมื่อได้เห็นคัมภีร์ใบลานภายในห้องที่ทำงาน ได้หยิบขึ้นมาอ่านดู  เกิดความสนใจที่จะออกไปสำรวจ  ได้สอบถามนายปวงคำ ตุ้ยเขียว ถึงคัมภีร์ใบลาที่มีอยู่ ในเชียงใหม่ เฉพาะเขตอำเภอเมือง ประมาณเท่าไร  ได้ทราบว่า มีประมาณ  200 กว่าผูก  ก็ได้เริ่มโครงการสำรวจเอกสารใบลาน ร่วมกับนายปวงคำขึ้นมา ครั้งแรกไปลงมือสำรวจที่วัดฝายหิน และวัดโดยรอบพื้นที่ ของมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เมื่อพบข้อมูลเอกสารโบราณมีอยู่จำนวนมาก ต่อมา โครงการที่ทำการสำรวจนี้ ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ทำการลงมือสำรวจอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 - 2523  ภายในระยะเวลา 3 ปี ตั้งเป้าหมายการสำรวจให้ได้อย่างน้อย 500 วัด ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ  เอกสารที่สำรวจได้ ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตำนานทั้งทางศาสนาและตำนานพื้นเมือง รวมทั้งพิธีกรรมโหราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากจะได้รับทุนสนับสนุนการทำงานเป็นเม็ดเงินแล้ว มูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบเครื่องถ่ายไมโครฟิล์มมาอีก 1 ชุด เพื่อการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล  ก่อนจะออกทำการสำรวจใหญ่ ก็ได้คิดแบบสำรวจ โดยแบ่งออกเป็น 11 หมวด โดยยก หมวดพระพุทธศาสนาขึ้นก่อน เพราะเป็นหมวดใหญ่ (แบ่งออกได้ 17 หมวดย่อย) และไล่หมวดไปตามเอกสารที่ปรากฏ  ดังที่ใช้เป็นแบบสำรวจกันที่สถาบันวิจัยสังคม หาวิทยาลัยเชียงใหม่  เมื่อเสร็จสิ้นโครงการที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น คณะทำงานก็ยังได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนมา และเมื่อเกษียณอายุราชการก็เป็นอันยุติการสำรวจไป ถ้าเรา (ประเทศไทย) ตื่นตัวออกทำการสำรวจจัดเก็บอนุรักษ์เอาไว้ให้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2(ราว พ.ศ. 2480-2485)  เอกสารโบราณที่ยังมีอยู่ในครั้งนั้น ก็น่าจะมีความสมบูรณ์มากกว่าตอนนี้ แม้ว่าจะลงมือสำรวจช้าไปบ้าง เพราะทำตามชาวตะวันตกที่เข้ามาทำการสำรวจ เฉพาะเรื่องที่เขาสนใจ แต่ก็ยังดีที่ยังมีเอกสารใบลานหลงเหลือให้เราตามเก็บและอนุรักษ์เอาไว้จำนวนหนึ่ง[8]
2) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลคัมภีร์ใบลาน ในมุมมองของนักวิชาการ
        อาจารย์ ดร.บาลี พุทธรักษา อดีต รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย ได้เล่าถึงการใช้ข้อมูลจากเอกสารโบราณว่า
ได้เริ่มใช้ข้อมูลจากเอกสารโบราณ เมื่อราวปี พ.ศ. 2520 โดยสืบค้นข้อมูลเรื่อง จักรวาลทีปนี เพื่อนำไปทำวิจัยในช่วงที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เมื่อจบการศึกษาก็ได้โอนย้ายมาทำงานที่สถาบันวิจัยสังคม ในปีพ.ศ. 2523 ได้ออกทำการสำรวจเอกสารโบราณในจังหวัดลำปาง (วัดไหล่หิน, วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดในเขตอำเภอแม่ทะ) และได้อธิบายถึงการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารโบราณว่า การสืบค้นข้อมูลมี 2 วิธี คือ (1) การลงไปสืบค้นข้อมูลจากวัดโดยตรง  โดยที่การสืบค้นในลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำให้พบสภาพเอกสารต้นฉบับและอายุของเอกสารที่เก่าแก่ พบว่าเอกสารที่มีอายุราวๆ 500 กว่าปี ส่วนใหญ่จะได้มาจากเวียงสร้อย และวัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง  นอกจากนี้ ยังได้พบคัมภีร์ใบลานสำคัญ ที่ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร [9] ผู้เป็นหลักในการนำสำรวจ รวบรวมเอกสารคัมภีร์ใบลานทั่วล้านนา และ มีวิริยะ อุตสาหะ พยายามขึ้นไปคัดลอกพระธรรมคัมภีร์(พระไตรปิฎก)จากนครหลวงพระบาง ประเทศลาว มาเก็บรักษาไว้ที่ วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่มากที่สุดในภาคเหนือ   (2) การมาสืบค้นข้อมูลจากเอกสารไมโครฟิล์มที่เก็บรักษาและให้บริการ ที่สถาบันวิจัยสังคม หรือที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   วิธีสืบค้นแบบที่สองนี้ นักศึกษา หรือ ผู้ที่สนใจจะสามารถสืบค้นข้อมูลได้โดยสะดวก เพราะไม่ต้องลงทุนเสียเวลาไปสืบค้นข้อมูลถึงวัดแหล่งข้อมูลเดิม เมื่อสืบค้นข้อมูลจากเอกสารโบราณชิ้นใด เรื่องใดแล้ว นักค้นคว้าควรทำบันทึกท้ายเรื่อง (Colophon) ให้ละเอียด ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าและต่อนักวิชาการครั้งต่อไป[10]
3) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้แทนของวัดที่ทำการสำรวจและนักวิชาการ
          ในการทำโครงการวิจัยสำรวจและอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลาน จังหวัดภาคเหนือ(เชียงใหม่และลำพูน) ประจำปี 2558 คณะนักวิจัยอยากได้ข้อมูลสะท้อนกลับจากแหล่งข้อมูลจริงที่ลงไปทำการสำรวจและอนุรักษ์ ได้มีผู้แทนจากวัด และผู้แทนจากท้องถิ่นได้สะท้อนความคิดเห็นที่น่าสนใจ สมควรบันทึกเอาไว้ โดยไม่ขอสรุปประเด็น แต่จะนำคำพูดขอผู้แทนแต่ละวัด และผู้แทนท้องถิ่นมานำเสนอ ตามลำดับดังต่อไปนี้
          (1)  พระอาจารย์ พระมหาสกุล มหาวีโร เจ้าอาวาสวัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบเป็นคนชอบนำเอาหลักธรรมมาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย จึงนำเอาเนื้อหาสาระจากเอกสารโบราณ เช่น หลักธรรมคำสอนบางส่วนจากคัมภีร์ต่างๆ มาแปลและเผยแผ่คำสอนในเชิงนวนิยาย และมองว่า เป็นสิ่งที่ดีที่มีการสืบค้นและถ่ายสำเนาเอกสารโบราณ แต่อยากจะให้มองต่ออีกไปว่าจะนำไปใช้อย่างไร การประชุมครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้เกิดประโยชน์ทางด้านวิชาการและด้านเผยแผ่พระศาสนาอยู่พอสมควร
          2) พระอาจารย์ พระครูภาวนาโสภิต วิ. (บุญญรัตน์ เมืองวงศ์)  ดร.  เจ้าอาวาสวัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้เสนอแนะว่า พวกเราจะต้องจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อใช้ขับเคลื่อน ในการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของล้านนา ให้คลอบคลุมทุกมิติ อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของตน ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมภายนอกที่ถั่งโถมเข้ามา อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ลืมรากเหง้าของตน
3) พระอาจารย์ พระอธิการอานนท์ วิสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล่าว่า
ที่วัดล่ามช้าง มีเอกสารโบราณเก็บรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความวิตกว่า จะจัดการอย่างไรจึงจะเหมาะสม ต่อมา มีคณะนักวิจัย(อ.ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะนักวิจัย)  จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขอเข้ามาทำการสำรวจและจัดหมวดหมู่เอกสารให้ ก็คลายความกังวลไปและขออนุโมทนา 
เอกสารโบราณของวัด ถือได้ว่ามีสภาพที่สมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมากเนื่องจากครูบาสิงห์คำ กญฺจโน อดีตเจ้าอาวาส ได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โครงการฯ นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนรุ่นใหม เพราะได้ทำการสืบค้นและได้นำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ พร้อมทั้งสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น
4) อาจารย์เสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นผู้ดำเนินโครงการสำรวจและอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์วัดลี้หลวง ได้รับความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม(คุณธิตินัดดา จินาจันทร์) และได้รับทุนสนับสนุน จากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่านวิทยาสงฆ์ลำพูน(พระครูสิริสุตานุยุต(สมาน จนฺทรํสี ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 8 เดือนก็แล้วเสร็จ ประกอบพิธีตากพระธรรมและนำคัมภีร์ขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอไตร ได้รับความร่วมมือจากศรัทธาและประชาชนชาวอำเภอลี้ เป็นการจุดประกายให้สังคมเมืองลี้ตื่นตัว ตระหนักถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษสมควรเก็บรักษาและนำมาถ่ายทอดแก่สังคมในวงกว่าง ได้แสดงถึงวิธีการนำภูมิปัญญาออกมาเผยแพร่ ดังนี้
ตัวท่านเองได้จัดรายการวิทยุชุมชนและได้นำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาของคนในอดีตมาเผยแผ่ผ่านรายการวิทยุ ซึ่งโดยส่วนตัว ได้สนใจในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว  เมื่อ 20 ปีก่อน ได้ทำการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองลี้จากพับสา
และได้เห็นวัดลี้หลวง มีหอไตรที่มีเอกสารโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้เกิดความสนใจในการที่จะอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ จึงได้ริเริ่มโครงการทำความสะอาดคัมภีรืโบราณ โดยทำร่วมกับชาวบ้าน ประจวบกับทางวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโครงการวิจัยเข้าไปทำการสำรวจ อนุรักษ์เอกสารโบราณอย่างเป็นระบบให้
ในขณะที่มีการดำเนินงานต่างๆ อยู่นั้น ก็ได้จัดการเรียนการสอนภาษาล้านนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน โดยเชิญให้พ่อน้อย พ่อหนาน ผู้ที่รู้ภาษาล้านนามาเป็นวิทยากรสอนภาษาล้านนาให้กับชาวบ้าน จากระดับที่อ่านไม่ได้เลย ก็สามารถอ่านและเขียนได้  กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาโดยสรุปนี้ หวังว่าจะทำให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเอกสารโบราณที่มีอยู่ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ หวงแหนสมบัติของชุมชนสืบไป
          5) รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย พลเมืองดี อาจารย์และนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ที่ได้ร่วมงานวิจัยกับคณะนักวิจัยชุดนี้ตลอดมา ในฐานะนักวิชาการผู็เชี่ยวชาญล้านนาคดี ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวการเผยแผ่เอกสารไมโครฟิล์มของสถาบันวิจัยสังคมว่า
ควรนำเอาเอกสารไมโครฟิล์มที่มีสภาพสมบูรณ์ขึ้นสู่ระบบออนไลน์(on line) เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาทางด้านภาษาล้านนาให้กับคนรุ่นใหม่ หรือ ผู้ที่สนใจ และควรให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาข้อตกลงในการระบบการเขียนภาษาล้านนา และ วิธีการปริวรรตเอกสารโบราณให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็น่าจะทำให้การนำภูมิปัญญาล้านนามาใช้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
          6) อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ นักวิจัยในพื้นที่ทีมที่ 2 (ลงมือสำรวจและอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ล้านนา ที่วัดผ้าขาว เชียงใหม่ วัดพระยืน และวัดบ้านหลุก ลำพูน) ได้เล่าถึงการสำรวจเอกสารโบราณวัดบ้านหลุก จังหวัดลำพูน ให้ที่ประชุมฟังว่า
งานสำรวจเป็นงานที่หนักมาก เพราะมีเอกสารโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้สำรวจเสร็จไปบางส่วนเท่านั้นซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะสำรวจให้เสร็จ ในขณะที่การสำรวจนั้น ได้พบเอกสารที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เช่น โวหารมโหสถ เขียนในสมัยเจ้าหลวงน้อยอินทร์ มี 16 ผูก ซึ่งที่อื่นมีไม่มากขนาดนี้
ในกระบวนการถ่ายเสียงเวลาปริวรรตเอกสารนั้น เห็นว่า ควรให้รักษาตามรูปศัพท์เดิมไว้ก่อน แล้วค่อยอ่านออกเสียงตามสำเนียงในท้องถิ่นนั้นๆ  ขอยกตัวอย่างในใบลานวัดบ้านหลุก ซึ่งเขียนตามสำเนียงภาษาไทยอง เช่น คันธวุง (กัน-ทะ-วุง) ซึ่งเมื่อเขียนให้ถูกตามรากศัทพ์จริงๆ คือ คันธวงศ์ เป็นต้น 
สำหรับรูปแบบการจัดหมวดหมู่ ของสถาบันวิจัยสังคม เห็นว่ายังขาด หมวดบาลีไวยากรณ์เพราะเวลาสำรวจพบเอกสารที่เป็นบาลีไวยากรณ์จำนวนมาก แต่กลับไม่มีหมวดพิเศษให้ลง จึงต้องไปบันทึกรายการลงใน หมวดปกิณกะ ซึ่งเห็นไม่ถูกต้องตามหมวดของเอกสารจริง เห็นว่า ถึงวลาแล้วที่ปราชญ์ล้านนาต้องมาประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อทบทวนการจัดหมวดหมู่และหลักเกณฑ์การปริวรรตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
งานสำรวจเอกสารโบราณนั้นยังไม่ถึงทางตัน คือ ไม่มีเหลือให้สำรวจอีกแล้ว ตามความเป็นจริงนั้น ยังมีวัดที่ยังเหลืออยู่มาก รอให้นักวิชาการเข้าไปทำการสำรวจ  ประการสำคัญ ผู้สำรวจจะต้องมีความรู้และความสามารถในการแยกแยะเนื้อหาในเอกสารได้ว่าเป็นเรื่องอะไร จัดอยู่หมวดไหน ไม่ใช่เพียงแต่เห็นเพียงแค่ชื่อเรื่องเดียวกัน หรือคล้ายกัน จะเหมาว่า เป็นเรื่องเดียวกันไปเสียทั้งหมด
         
          รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้ร่วมวิจัยในโครงการ ได้แสดงความเห็นและกล่าวสรุปความเห็นก่อนปิดการสัมมนา ที่น่าใส่ใจอย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้ 
      ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถาบันวิจัยสังคมได้มองเห็นถึงภาพรวมของงานด้านล้านนาคดีในสถาบันการศึกษา ยังเป็นการนำเสนอเน้นเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าที่จะเน้นเนื้อหาสาระที่มีอยู่ งานสำรวจเอกสารโบราณมีความสำคัญและยังมีความจำเป็นอยู่มาก และงานสำรวจ/อนุรักษ์ดังกล่าวนี้ จะดำเนินได้ดี ต้องมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน
ขอให้ตระหนักว่า เอกสารที่ได้มาจากการสำรวจนั้น จะต้องมองให้ถูกต้องว่า ทั้งหมดที่ได้มา เป็นสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่จะหวงเแหนเก็บเอาไว้ เมื่อได้มาก็ต้องร่วมกันศึกษาสาระสำคัญทำการเผยแพร่ออกมา 
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมสัมมนาฯในครั้งนี้ จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนงานการสำรวจ/อนุรักษ์ฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้อย่างชัดเจน

สรุปและวิจารณ์
ปุราโณวาท ในฐานะเครื่องมือการถ่ายทอดหลักจริยศาสตร์ สร้างดุลภาพชีวิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คัดเลือกนำพระธรรมคัมภีร์ใบลานในท้องถิ่น (เชียงใหม่ ลำพูน) มาถ่ายถอดอักษร และถ่ายทอดเนื้อหาสาระในคราวนี้  เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ในการเสนอภูมิปัญญาบรรพบุรุษล้านนา เกี่ยวกับ หลักจริยศาสตร์ จริยธรรม คุณธรรม และหลักปฏิบัติภาวนา จากสมถภาวนา ถึง วิปัสสนาภาวนา อย่างละเอียด สามารถจะใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองได้ เสมือนมีครูกัมมัฏฐานคอยให้คำแนะนำอยู่ข้างกาย
ในด้านจริยศาสตร์พบว่า หลักทฤษฎีและหลักการประเมินค่าแห่งความดีของชาวล้านนานั้น ได้อาศัยหลักพุทธจริยศาสตร์ หรือ จริยธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นกรอบคิด ในเอกสารที่นำเสนอนี้ ได้พบคำสอนจริยศาสตร์ในระดับพื้นฐาน เกี่ยวกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นความดีที่ควรประพฤติ นอกจากจะได้พบคติปรัมปรา กติกา จารีตประเพณีของสังคมโบราณเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแล้ว ก็ยังได้พบหมวดธรรมคำสั่งสอนทั่วไปทางพระพุทธศาสนาอีกหลายหมวด เช่น สุจริตสังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 ศีล 5 ศีล 8 กุศลกรรมบถ 10 บุญกิริยาวัตถุ 10 ทศพิธราชธรรม 10 และบารมี 10 ประการ  ซึ่งเป็นกรอบในการสร้างสมคุณงาม ความดี นับแต่ การให้ทาน รักษาศีล สร้างวัด วิหาร พระธาตุเจดีย์ การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้พบหลักจริยศาสตร์ระดับสูง เพื่อพัฒนากายและจิต ตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เพื่อมุ่งสู่ความสะอาด สงบ และ สว่าง  ผ่านคำสอนในคัมภีร์ มูลกัมมัฏฐาน ขั้นตอนการปฏิบัติ จะเริ่มตั้งแต่ การภาวนาระดับต้น ด้วยอนุสสติ 10 และ พรหมวิหารภาวนา ที่เป็นขั้นสมถะภาวนา เมื่อได้ปีติ และสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะยกจิตของตนน้อมขึ้นสู่ระดับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาที่สูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมของชีวิต สามารถประคองกายและจิตของตนให้เกิดสภาวะสมดุล ไม่ให้ตกสู่กระแสแห่งโลกธรรมที่เข้ามากระทบมากจนเกินไป และเพื่อเป็นการปฏิบัติขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น ยังมีธุดงควัตร 13 ข้อ สำหรับผู้ปรารภความเพียรที่ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
ปุราโณวาทจากคัมภีร์ใบลานล้านนา เมื่อใช้กรอบพุทธจริยศาสตร์มาวิเคราะห์เนื้อหาตรวจสอบความถูกต้องตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ  และปฏิเวธ  ก็เห็นว่า โอวาททั้งหมดนี้ เป็นองค์ความรู้ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะมีหลักฤษฎีเพื่อนำทางผู้ปฏิบัติสู่เป้าหมายของชีวิตที่สมดุล ทั้งคติโลกและคติธรรม มีหลักปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์และบรรพชิต สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดความสะอาด สว่างและสงบได้ และมีหลักปฏิเวธ คือ ผลแห่งการปฏิบัติ ที่สร้างดุลยภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติได้อย่างลงตัว  นับได้ว่า ปุราโณวาทชุดนี้ สมควรจะนำมาศึกษาและสังเคราะห์แก่นสารสำคัญมาปรับใช้กับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันได้


หนังสืออ้างอิง

ก. ข้อมูลปฐมภูมิ เอกสารคัมภีร์ใบลาน

คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ วัดต้นยางหลวง (2546).  2546 เส้นจาร  ใบลาน อักษร
         ธรรมล้านนา หรือ ไทยยวน จำนวน 1 ผูก 48 หน้าลาน รหัสภาพถ่ายดิจิตัล
         หมายเลข   14.0005.01I.00111-1 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ธรรมดาสอนโลก. (มปป.) ฉบับวัดเชียงมั่น   จังหวัดเชียงใหม่. เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน
                 จำนวน 1 ผูก 38 หน้าลาน. เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 132.294.016 ชม 010800404.
         สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มูลกัมมัฏฐาน.  (จ.ศ. 1238  พ.ศ.2419).  ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า จังหวัด
         ลำพูน เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน  จำนวน 5 ผูก
         269  หน้าลาน สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  
โวหารตำนานสินธุรภิกษุณี (อุตตนิทานตำนาน).  (จ.ศ. 1251).ฉบับวัดล่ามช้าง จังหวัด
         เชียงใหม่  เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก 27
         หน้าลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยยวน  รหัสภาพถ่ายดิจิตัล
         หมายเลข 15.0007.01M.1472-11 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เส้นธรรม  ฉบับวัดพระยืน. (มปป). เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก เอกสาร
         ภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข 15.0008.00.0000-01 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่) และ ลักขณะบาตร. (จ.ศ.1199  พ.ศ.2380).  ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน. หนังสือใบลาน เส้นจาร อักษรไทยยวน เอกสาภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข 15.0009.04.0106-01   สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
หนังสือโอวาทานุศาสนี. (หริภุญไชยนคอร)  (จ.ศ.1251).  ฉบับวัดบ้านหลุก เป็นหนังสือใบลาน ขนาดสั้น เส้นจาร
         อักษรไทยวน หมายเลขที่สำรวจเดิม ส.ส-ล.พ 858/2507  สำรวจใหม่ พ.ศ.2558  เอกสาภาพถ่ายดิจิตัล
         หมายเลข 15.0009.011.0117-01 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน. (มปป).  เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน เอกสาร
         ภาพถ่ายดิจิตัล เลขที่ 15-0008---- 1 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โอวาทพระน้อย. (จ..1257). วัดสันป่าเลียง เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 79.024.01G.074-074.สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โอวาทานุสาสนีวรพรคำสอนราชครูวัดสวนดอก (จ..1196). วัดหมื่นเงินกอง เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 78.011.01P.067068. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ข. หนังสือทั่วไป
กีรติ บุญจือ.(2519). จริยศาตร์สำหรับผู้เริ่มเรียน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจำกัด.
เกรียงไกร เกิดศิริ และชาญคณิต อาวรณ์. (2553). ล้านนากับการเป็นมรดกโลก ในโครงการมรดกโลกล้านนา
 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กรุงเทพฯ :  อุษาคเนย์.
เกรียงไกร เกิดศิริ และชาญคณิต อาวรณ์. (2554) ผ่อล้านนา มองวิถีวัฒนธรรมล้านนา
        โดยสังเขป  ในโครงการมรดกโลกล้านนา กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์.
ขวัญนภา สุขคร. บรรณาธิการ. (2557). ประเพณีอารยธรรมล้านนา คุณค่าศรัทธาและความเชื่อ.เชียงใหม่ 
ในโครงการเสริมสร้างอัตลักษณ์(Identity) เพื่อสร้าง  เสน่ห์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนโดยการ
มีส่วนร่วมของชุมชน กิจกรรมตามรอยอารยธรรมล้านนา ปีงบประมาณ 2557.
ชัยอนันต์ สมุทวาณิช. (2527). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต).(2540). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหา
จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ . (2556). การถายทอดศิลปะและวัฒนธรรมภูมิปัญญาล้านนาสู่สังคม โดยผู้ทรงภูมิปัญญา 
          ท้องถิ่น. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์  (2557). พิธีกรรมในวิถีชีวิตล้านนาจากคัมภีร์โบราณ. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์  (2558) ภูมิปัญญานครน่าน : เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน. เชียงใหม่ : บริษัท ทริโอ
          แอดเวอร์ไทซิง แอนด์ มีเดียจำกัด.
 มณี พะยอมยงค์. (2527). วิถีชีวิตและค่านิยมของชาวล้านนาไทย. เชียงใหม่ :      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500. (2535). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2535). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2530). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2525. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
วิโรจน์ อินทนนท์. (2557). บทสวดและวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานล้านนา. เชียงใหม่  : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วิทยาเขตเชียงใหม่.
ศรีเลา เกษพรหม. (2544). ประเพณีชีวิตคนเมือง. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สงวน สุขโชติรัตน์. (2514).  ประเพณีลานนาไทยและพิธีกรรมต่างๆ. เชียงใหม่ : ประเทืองวิทยา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ. (2546). โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา :  ปริวรรตและแปลพร้อมกับ
ความนำ, เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ. (2547).โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา : การวิเคราะห์เนื้อหา. เชียงใหม่ :         มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ. (2548). โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา : ปริวรรตและวิเคราะห์กฎหมาย       ล้านนา, เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2523). สภาพของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน(ฉบับปรับปรุงใหม่). พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :
ศิลปบรรณาคาร.
อุดม รุ่งเรืองศรี, รวบรวม. (2547).พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1. เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
อุดรคณาธิการ, พระ (ชวินทร์ สระคำ) และจำลอง สารพัดนึก, รวบรวม. (2539). พจนานุกรม บาลี -ไทย สำหรับนักศึกษา ฉบับปรับปรุงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ร้านเรืองปัญญา ท่าพระจันทร์,
ฮันส์ เพนส์. (2527). ความเป็นมาของล้านนาไทยใน ทิว วิชัยขัทคะ. เชียงใหม่ : ทิพเนตร.





[1] บทความนี้เรียบเรียงจากโครงการวิจัยเรื่อง “การสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารคัมภีร์โบราของวัดในกลุ่มจังหวัดล้านนา และ การถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านา เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น”ระหว่าง ปี 2557-2558
            [2] *หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[3] **นักวิจัย อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[4] **นักวิจัย อาจารย์ประจำ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
            [5] **นักวิจัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[6] This article is the compossive revision of the research project which was entitled  “The ascertainment  and preservation of the ancient Scriptures kept in Lanna provinces monasteries  together with publicizing Lanna wisdom aiming to found a learning  source  in  locality” durinng 2014-2015.

[7] พระครูสุนทรสังฆพินิต(ดร.พม.เสน่ห์ ญาณเมธี) ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ประธานในการสัมมนา แสดงความเห็น ใน ช่วงพิธีเปิดต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การสืบค้น อนุรักษ์เอกสารโบราณ และการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ ห้องประชุมธาราทอง 1 โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่.

[8]  รศ.สมหมาย เปรมจิตต์ วิทยากรรับเชิญ ช่วงที่ 1 แสดงความเห็นต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การสืบค้น อนุรักษ์เอกสารโบราณ และการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ ห้องประชุมธาราทอง 1 โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่.
[9] ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร หรือ ครูบามหาเถร เป็นชาวอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีอายุระหว่าง ปี พ.ศ. 2332 2421 อายุได้ 89 ปี 69 พรรษา มรณภาพ ในปี พ.ศ. 2421   ที่ วัดป่ามะม่วง  เมืองระแหง (จังหวัดตากในปัจจุบัน)
[10] อ.ดร.บาลี พุทธรักษา วิทยากรรับเชิญ ช่วงที่ 2 แสดงความเห็นต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การสืบค้น อนุรักษ์เอกสารโบราณ และการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ ห้องประชุมธาราทอง 1 โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น