วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการสร้างเจดีย์ (และอานิสงส์การสร้างเจดีย์) ฉบับวัดต้นยางหลวง อำเภอสารภี (วัดครูบากองแก้ว ญาณวิชโย)

อานิสงส์สร้างเจดีย์ วัดต้นยางหลวง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ความเป็นมา
               คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ (ประวัติการสร้างเจดีย์) วัดต้นยางหลวง  ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่   รหัสภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข   14.0005.01I.00111-1   สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ เป็นผลงานบันทึกประวัติการบูรณะพระธาตุเจดีย์ ของวัดต้นยางหลวง ตำบลไชยสถาน ในปี พ.ศ. 2546 เส้นจาร  ใบลาน อักษรธรรมล้านนา หรือ ไทยยวน จำนวน 1 ผูก 48 หน้าลาน   เนื่องในพิธีสมโภชการบูรณะพระเจดีย์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเคยมีประวัติการบูรณะมา จากบันทึกว่า ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2477 โดยครูบากองแก้ว ญาณวิชโย อดีตเจ้าอาวาส ครั้งที่ 2  ปี พ.ศ.2538  พ่อหลวงประสิทธิ์ นางอำพร ปัญญารักษ์ ได้บูรณะฉัตรยอดพระเจดีย์และปิดทองยอดพระเจดีย์  ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ.2545 พระอธิการเฉลิมศักดิ์ โกวิโท (ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูโกศลสิทธิวิธาน” ในปี พ.ศ. 2558) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก จากกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านต้นยางหลวงและผู้มีจิตศรัทธาจากบ้านใกล้เรือนเคียง ทุกสารทิศ ได้ทำการสร้างบูรณะพระธาตุเจดีย์ เสร็จแล้วทำการฉลองสมโภช(ทานปอยหลวง) ระหว่างวันที่ 17 - 20 มีนาคม พ.ศ.2546  
            ส่วนเนื้อหาต่อมา เป็นการแสดงอานิสงส์ของการสร้างเจดีย์ ผ่านการเล่าเรื่องประกอบว่า มีพระภิกษุและสามเณร ได้พากันสร้างเจดีย์และทำการบำรุงอุปัฏฐากรักษา ผลบุญนั้น ส่งให้ได้ถึง พระนิพพาน (ความหลุดพ้นจากทุกข์เพราะการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์) เป็นเครื่องเจริญศรัทธาของผู้ที่ทำมหากุศลคือการร่วมสร้างหรือบูรณะพระเจดีย์จะได้ประสบความสุขและเข้าสู่สุคติในอนาคตกาล ธรรมอานิสงส์สร้างเจดีย์ผูกนี้ ศรัทธาแม่อุ้ยคำปัน ทิพย์ปัญญา พร้อมด้วยบุตรแลหลานเหลนทุกคน รวมเป็นเจ้าภาพสร้างถวายไว้ เมื่อเดือน 6 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2546 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พ่ออุ้ยมอย แม่อุ้ยบัวแก้ว สมภารพ่ออุ้ยปุย ทิพย์ปัญญา และ นายดวงดี ทิพย์ปัญญา ผู้ล่วงลับ(ยศพล เจริญมณี ปริวรรต มกราคม 2559)   
             อานิสงส์สร้างเจดีย์ ฉบับวัดต้นยางหลวงนี้จารึกในใบลานด้วยอักษรล้านนา    ถือว่า เป็นเอกสารจดหมายเหตุ บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนวัดต้นยางหลวง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่คณะนักวิจัย ลงมือสำรวจเอกสารโบราณ ในพื้นที่นี้ มัความเห็นว่า สมควรแก่การนำมาถ่ายทอดอย่างยิ่ง เพื่อชุมชนจะได้รับรู้ประวัติในภาคภาษาไทยในวงกว้างออกไป 

สาระเนื้อหา
 ตอนเบื้องต้นของ คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ เป็นบทบันทึกประวัติการบูรณะพระธาตุเจดีย์ ของวัดต้นยางหลวง ว่าพระเจดีย์นี้ สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ครูบากองแก้ว ญาณวิชฺโย อดีตเจ้าอาวาส ได้บูรณะเมื่อเดือน 8 เหนือ แรม 13 ค่ำ พ.ศ. 2477 ทำบุญฉลอง  เมือเดือน 7 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ถึง(แรม) 8 ค่ำ พ.ศ. 2478 สิ้นทุนทรัพย์ 389 รูเปีย ในปี พ.ศ. 2538 พ่อหลวงประสิทธิ์ นางอำพร ปัญญารักษ์ ได้บูรณะฉัตรยอดพระเจดีย์และปิดทองยอดพระเจดีย์ สิ้นทุนทรัพย์ 60,000 กว่าบาท ในปีพ.ศ. 2545 พระอธิการเฉลิมศักดิ์ เจ้าอาวาส พร้อมด้วย คณะศรัทธาจากกรุงเทพมหานคร มีรายชื่อนายทหารหลายนาย และผู้มีจิตศรัทธาจากรุงเทพฯ[1]  และคณะศรัทธาวัดต้นยางหลวง ญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง บ้านเหนือ บ้านใต้ ตะวันตกตะวันออก และผู้ใจบุญสูนทาน พร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ ทำการบูรณะพระธาตุเจ้าเจดีย์องค์นี้สิ้นทุนทรัพย์...(เอกสารไม่ได้ระบุไว้)...บาท และทำบุญสมโภชวันที่ 17 - 20 มีนาคม 2546 แม่อุ้ยคำปัน ทิพย์ปัญญา พร้อมด้วยบุตรและหลานเหลนเป็นเจ้าภาพสร้างถวายธรรมอานิสงส์ การสร้างพระธาตุเจ้าเจดีย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2546  อุทิศกุศลไปหาพ่ออุ้ยมอย แม่อุ้ยบัวแก้ว สมภาร  พ่ออุ้ยปุย ทิพย์ปัญญา  นายดวงดี ทิพย์ปัญญา ผู้ล่วงลับ
ตอนที่ 2 เป็นพระธรรมเทศนาอานิสงส์ การสร้างเจดีย์ นับแต่หน้าที่ 5 เป็นต้นไป ดังความว่า
ในครั้งสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับที่พระเชตะวันวิหาร  เมืองสาววัตถี พระองค์ได้เทศนาถึงอานิสงส์การสร้างเจดีย์แก่พระอานนท์เถระโดยยกเรื่องในอดีตมาเล่าว่า  นานมาแล้ว มีภิกรูปหนึ่งอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งกับสามเณรผู้เป็นศิษย์จำนวน 4 รูป  ในวันหนึ่ง พระภิกษุก็เรียกสามเณรศิษย์ทั้ง 4 รูปมาแล้วก็กล่าวสั่งสอนว่า  มีหน้าที่อยู่ 2 ประการที่เราทำ คือ  ปัญญาธุระ และ วิปัสสนาธุระ[2] พระอริยะเจ้า ได้ปฏิบัติตามธุณะนี้ก็เข้าสู่พระนิพพาน   ปัญญาธุระ ได้แก่ การก่อสร้างสิ่งใหม่ในศาสนาก็ดี การปฏิสังขรณ์สิ่งเก่าที่แตกพัง หรือคร่ำคร่าก็ดี จะมีผลานิสงส์มากน้อย สุดแต่จะได้สร้างมากหรือน้อย บุคคลใดมีเจตนาเลื่อมใสศรัทธาได้สร้างพระเจดีย์ธาตุไว้ในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ก็จะสำเร็จผลตามที่ตนปรารถนาทุกประการ
เมื่อสามเณรทั้ง 4 รูปได้ฟังคำพรรณนาอานิสงส์การสร้างเจดีย์มีมากเช่นนั้น  ต่างก็ต่างมีจิตโสมนัสยินดีมากนัก ก็พากันกล่าวว่า  บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็มีใจโสมนัสยินดีอยากจะสร้างเจดีย์ธาตุเ ขอให้พระอาจารย์ตกแต่งหน้าที่ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ธาตุ ไว้ค้ำชูพระศาสนาเถิด   ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะกระทำตามคำสั่งของครูทุกประการ
 ภิกษุผู้อาจารย์ก็กล่าวว่า ถ้าว่าเธอทั้งหลายมีเจตนาเช่นนี้เป็นการดีแท้  นักปราชญ์แต่ก่อน สอนว่า ผู้ใดได้สร้างมหากุสลาภิสันตะริยะ มีเจดีย์ที่บรรจุพระชินธาตุ(สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า)เป็นประธาน  ก็ควรรักษา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เอาไว้ให้มั่น จงมีวิริยะ ขันติ ตั้งเจตนาให้เลื่อมใสอย่างงยิ่ง อย่าให้มีความโกรธ  และมานะถือตัวเกิดขึ้น ตลอดเวลาที่สร้างจนกว่าจะแล้วเสร็จ ผู้นั้นก็จะได้อานิสงส์สมดังคำปรารถนาของตน สามาเณรก็รับเอาโอวาทของพระภิกษุผู้อาจารย์  
พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์  มอบหมายให้ เชษฐสามเณร รูปที่มีอายุแก่สามเณรรูปอื่นเตรียมสิ่งของอุปกรณ์เบื้องต้น สามเณรอีกรูปหนึ่งมอบหมายให้ก่อไฟต้มน้ำสำหรับอาบสรง  สามเณรตนนี้ให้ไปบิณฑบาต(ขอ)น้ำอ้อยมา  สามเณรชื่อ จุโตสัตถา จงทำงานกับสามเณรรูปพี่   สามเณรรูปที่รับหน้าที่เรื่องน้ำอ้อยและหนัง ก็ไปบิณฑบาตน้ำอ้อยกับอุบาสก อุบาสิกา   ได้มาแล้วก็มอบให้สามเณรรูปที่รับหน้าที่ก่อไปต้มไปทุกวัน เมื่อต้มน้ำอ้อยกับหนังดีแล้วก็นำไปมอบให้สามเณรรูปแรก ผสมให้เข้ากันดีแล้วใส่ไว้ในรางรอจนมันงวด ดีแล้ว ก็นำไปให้พระภิกษุผู้อาจารย์ทุกวัน
ครั้งนั้น ยังมีสตรีนางหนึ่ง พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่นางยังเด็ก และอาศัยอย฿ู่ในเรือนนั้น ในวันหนึ่ง นางก็รำพึงในใจว่า ข้าเกิดมาชาตินี้พ่อแลแม่ก็มาตายจากตั้งแต่เรายังน้อยคงป็นกรรมมาให้ผลนางมีถุงเบี้ยอันหนึ่ง ก็รำพึงว่า ถุงเบี้ยอันนี้ถ้าเก็บรักษาไว้จะมีประโยชน์อะไร สมควรจะเอาไปถวายพระเจดีย์ที่ท่านสร้างใหม่คงจะได้กุศลบุญมากกว่า คิดได้ดังนั้น จึงนำถุงเบี้ยไปมอบถวายสามเณรรูปที่แก่กว่า  และกล่าวว่า ขอให้นำไปสร้างเจดีย์ด้วยเถอะ ในถุงนี้ มีของที่ดีมากอยู่  มีกุฏหอยและกุฏคำ รวมทั้งหมากบ้า(ลูกสะบ้า)เกิดเป็นหิน  สามเณรรับเอาแล้วคัดแยกเงินและทองคำออกมาไว้ เพื่อไว้ซื้อ คำ(เปลว)แลำน้ำระเบียงมาทาเจดีย์   ถัดจากนั้น อุบาสิกาคนหนึ่งรับเป็นเจ้าภาพถวายหนัง คนหนึ่งเป็นเจ้าภาพน้ำอ้อย คนหนึ่งรับเป็นเจ้าภาพปูน  และอุบาสิกา 4 คนก็พากันมาช่วยขนทรายไว้ให้แก่พระภิกษุและสามเณร ยังมีหญิงผู้หนึ่งไปตักน้ำมาใส่เป็นประจำมิได้ขาด  
ในขณะที่เตรียมผสมวัสดุสร้างเจดีย์ สามเณรรูปหนึ่งทำหน้าที่ย่อยหินเพื่อผสมกับทรายแต่หินแข็งมาก ย่อยยากจึงโกรธหินที่มันแข็งแล้วละทิ้งหน้าที่ไปเสียเหลือสมาเณร 3 รูป ก็ช่วยกันตั้งจิตว่าพวกเราจะไม่โกรธ จึงพากันตั้งใจทำด้วยความวิริยะและขันติ จนสร้างเสร็จ ทำการอภิเษกอบรม สักการบูชาเจดีย์ที่สร้างไว้ ปฏิบัติการสักการบูชาสนอายุขัย
พระภิกษุผู้อาจารย์ เมื่อสิ้นอายุก็มาเกิดเป็นชายผู้ประเสริฐ เจริญวัยใหญ่ขึ้นมา ท่านเล็งหันภัยในวัฏสงสารจึงออกจากเรือนไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญสมณธรรม มีแต่ลูกไม้ และหัวมันเป็นอาหาร ในป่าหิมพานต์  สามเณรตนแก่กว่าได้ไปเกิดเป็นชายคนหนึ่ง พ่อแม่ตายแต่น้อย ก็ได้ไปอาศัยอยู่กับย่าจ่าสวน ของพญาเจ้าเมือง อดีตนางคืออุบาสิกาผู้รับอุปถัมภ์เลี้ยงดูภิกษุแลสามเณร อดีตสามเณรผู้ทำหน้าที่ก่อไปต้มน้ำอ้อยและหนังได้เกิดมาเป็นชาย ชื่อ “วิชาเตโช” มีฤทธิเดชมาก มีของวิเศษ คือ ไม้เท้าวิเศษ ถ้าข้าศึกมาแต่ทิศหนใด จะมากเท่าใด เขาจะนำไม้เท้าถูแผ่นดิน ก็จะลุกเป็นไฟไปไหม้ข้าศึกให้พ่ายแพ้ไป  สามเณรที่รับหน้าที่ไปบิณฑบาตเอาน้ำอ้อยและหนังได้ไปเกิดเป็นชายชื่อว่า วิชาตโจ มี “หนัง ประกำ” เป็นอาวุธติดตัว สามารถใช้ชัดไปทำลายข้าศึกได้ สำหรับสามเณรผู้ตำหินไม่แหลกไปเกิดเป็น พญาเจ้าเมืองที่ย่าจ่าสวน  นางผู้ถวายถุงเบี้ยประจุไว้ในเจดีย์ รวมทั้งนางผู้ถวายน้ำอ้อย  หนัง ปูน ทราย และน้ำเมื่อสิ้นชีพไป ก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในปราสาทร่วมกัน
ต่อมาวันหนึ่งพระอินทร์เล็งมายังโลกมนุษย์ก็เห็นชายหนุ่มกำพร้าอยู่กับย่าจ่าสวนอายุได้ 16 ปี จึงลงมาโปรด นำอาวุธมี ดาบกายสิทธิ์  ปืนธนู พร้อมเครื่องท้าว 5 ประการ(เบญจกกุธภัณฑ์) เงินทองคำ เสื้อผ้า  อาหารทิพย์ทั้งมวล เอาใส่ในหีบทองคำลูกหนึ่ง ขนาดใหญ่ปากกว้างได้ 100 วา สูงได้ 100 วา จึงเรียกนางเทพธิดาทั้ง 5 (นางสุวัณณสังขาร และอีก 4 นาง ให้เข้าไปอยู่ในหีบทองคำ นางสุวัณณสังขารนั้นมีถุงวิเศษ ใครต้องการสิ่งใดนางจะเทออกจากถุงมาให้ได้ไม่ไหมดสิ้นด้วยผลบุญที่ได้ถวายถุงเบี้ยแก่พระเจดีย์ แล้วให้หีบนั้นตกลงมาทีี่สวนพญาเจ้าเมือง
นายจ่าสวนอุยยานไปทูลพญาว่า เมื่อคืนนี้ มีหีบหอยบังคำ ใหญ่ลูกหนึ่งตกลงมาที่อุทยาน กลงตาเต็มสวนอุยยานตัวหีบมีสีเหมือนทองคำมีวัณณะเหมือนดั่งคำ พญาเจ้าเมืองจึงให้ตลตีกลองประกาศหาคนที่สามารถเปิดหีบบังหอยทองคำได้  หมดเวลาไป 1 เดือนก็ไม่มีใครเปิดหีบออกได้ คนเดินมาชมจำนวนมาจนสวนอุทยานเรียบดังหน้ากลอง ชายกำพร้อและย่าจ่าสวนก็ ไปขอทานมาประทั้งชีพ ทุกวัน เมื่อพญาเห็นว่าเปิดไม่ได้ ก็ให้หยุดการเปิด  ชายหนุ่มจึงถามย่าจ่าสวนก็ได้ทราบเรื่องว่า เพราะมีหีบตกมาที่สวนอุทยาน ย่าห้ามไม่ไห้ไป แต่เขาอยากดูจึงย่องไปดูในยามกลางคืน ไปยืนอยู่ที่ใกล้หีบคำหน่วย เดินเวียนแวดล้อมไปมา เอามือลูบคลำพลางกล่าวว่า หีบนี้งามมาก มีสีดุจทองคำ จะเป็นการดีมากถ้าได้ไปวางไว้ที่ขอบตูบของตน
หีบหอยคำจึงตอบว่า  “เจ้าหนุ่ม ถ้าอยากได้จริง จงพาข้าไปคืนนี้แหละ  โดยใช้ฝ้ายดำและฝ้ายแดงของแม่หม้ายมาคล้องเขาจูงไป  ข้าจะตามเจ้าไป ชายหนุ่มรีบมานำฝ้ายดำฝ้ายแดงของย่าหม้ายจ่าสวยไปมัดคล้องหีบหอยคำจูงมาตั้งไว้ใกล้ขอบตูบชายกำพร้า
ชายเห็นอัศจรรย์จึงไปบอกย่าจ่าสวน ให้ไปดูว่า หีบหอยคำมาวางที่ใกล้ตูบเรา ย่าจ่าสวนก็รีบลุกไปดูก็เห็นหีบหอยคำหน่วยนั้น ครั้นรุ่งแจ้ง ย่าแลหลานก็พากันไปแจ้งอุปราชาแสงเมือง ว่าบัดนี้ หีบหอยคำที่พญาเจ้าเมืองให้คนทั้งหลายไปแก้ไม่ได้นั้น บัดนี้มันมาอยู่ที่ขอบตูบของข้า จงให้คนไปนำมาเก็บเสีย  แสนเมืองก็บอกว่า แต่กอ่นคนตั้งหลายแสนยังแก้ไม่ได้ มันมาอยู่ที่ตูปของยายหลายคงเป็นบุญของสองยายหลานแล้วละไว้นั้นแหละ  สองยายหลานก็ขอทานยังชีพตามเดิม
ในหีบที่พญาอินทร์เนรมิตนั้น มีของทิพย์ 7 ประการ คือ ม้าวใส่แขน แหวนสอดก้อย สร้อยสังวาล  เศวตรฉัตร พัดพ้าว จามร ดาบกายสิทธิ์ รองเท้าทิพย์ แก้วมณีโชติ  กงจักรแก้ว พรหมหัวอัน หนึ่ง รวมทั้ง ข้าวน้ำและโภชนะอาหารทิพย์ ในวันหนึ่ง ตรงกับวันข้างขึ้น 15 ค่ำ เดือนเพ็ญ เมื่อสองย่าหลานยังไปขอทานยังทันมา นางสุวัณณสังขาร ได้โภชนะทิพย์ และ เสื่อ สาด อาสนะทิพย์ออกมาปูไว้ในห้องตูบแห่งย่าหลาน  ครั้นตกแต่งแล้วก็ปัดกวาดให้สะอาดแล้วเข้าไปอยู่ในหีบหอยคำดั่งเก่า ตกค่ำมาย่าหลานกลับมาเห็นโภชนะอาหารทิพย์ และที่นอนก็กลัวจึงพากันไปบอกชาวบ้านชาวเมืองมาดู แต่พวกเขาไม่เห็นก็ว่า สองยายหลาน โกหกแล้วหนีกลับทุกคน ย่าหลานก็พากันกินข้าวน้ำโภชนะอาหาร ที่มีรสอร่อยกว่าที่เคยกินมาก่อน คิดว่า คงเป็นบุญของพวกเรา หรือจะเป็นเรื่องใดไม่แจ้ง ชายหนุ่มจึงต้องการหาคำสอบ จึงบอกว่า ขอให้ยายออกไปขอทานคนเดียวส่วนหลานจะคอยดูอยู่ที่บ้านว่าใครเตรียมอาหารไว้ให้พวกเรา  ครั้นได้เวลาอาหาร นางสุวัณณสังขารก็ออกมาจากหีบหอยคำมากวาดชำระให้สะอาด จัดแต่งโภนาอาหารไว้พร้อมในห้องตูบ
ชายกำพร้า ก็เห็นนางออกมาจากหีบหอยคำมีมีสีสันวรรณงดงามงามยิ่งนัก คิดว่านางจักเป็นนางเทวดา แล้วออกจากที่ตนหลบซ่อนอยู่ เข้าไปใกล้นางถามว่า นางมีชื่ออะไร นางตอบว่า ตัวข้านี้ชื่อสุวัณณสังขาร ที่ข้าหากออกจากหีบหอยคำนี้ เพื่อมาอุปถัมภ์ค้ำชูเจ้าทั้งสองย่าและหลาน ให้มีความสุขสำราญยิ่งกว่าคนทั้งหลายในเมืองนี้  และทั้งสองก็สนทนาจนถึงเวลาค่ำ ย่า กลับมาถึงบ้านพบว่า หลานกับนางสุวรรณสังขารพูดจากันก็ตกใจพูดไม่ออก หลายจึงมาเล่าให้ยายฟังเรื่องทั้งหมด
นางสุวรรณสังขารก็ขอกว่าต่อนี้ไปไม่ต้องออกไปขอทาน ในถุงของข้านี้ มีของกินของใช้(เครื่องอุปโภค บริโภค)ทุกอย่าง รวมทั้งเงินและทองใช้ไปจนตลอดอายุของข้าก็ไม่หมดสิ้นไป ในถุงมักงจักรสามารถนำออกมาสู้ข้าศึกได้ เมื่อนางถูกต้องตัวมนุษย์ก็กลับเข้าหีบไม่ได้  เลยอยู่เป็นภริยาของชายกำพร้า  นางก็นำของออกจากถุงมาให้ทานแก่คนยากจน ทุกวัน ไม่ขาด
เมื่อพญาเจ้าเมืองรู้ข่าวว่า ชายกำพร้าเกิดมีโภคสมบัติมากนักคนหลังไหลไปขอทานมิได้ขาดในอนาคตผู้คนทั้งหลายจะไปอ่อนน้อมค้อมหัวให้ชายกำพร้าแน่ๆ จึงให้ราชทูตไปถามดู ให้รู้แจ้งเหตุทุกอย่าง แล้วมารายาน  เมื่อราชทูตไปถึงก็ไม่มีผู้ใดออกปากถามได้ เพราะเห็นนางสุวัณณสังขารรูปร่างงดงามงามยิ่งกว่าหญิงใดในมนุสสโลก จึงไปทูลพญาเจ้าเมือง  ตัวพญาเกิดความรักอยากได้นางมาครอง สึงสั่งให้อุปราชแสงเมืองไปแจ้งแก่ชายกำพร้าว่าอีก 7 วันพญาเจ้าเมืองจะยกรี้พลไปแย่งเอานางสุวัณณสังขารมาเป็นราชเทวี แสนเมืองก็ไปบอกเรื่องนั้น  เมื่อครบ 7 วัน พญาเจ้าเมืองก็ยกรี้พลไปชิงนางมาสู่ราชมณเฑียรอุสสาราชภิเสกเป็นราชเทวี ให้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลาย นางสุวัณณสังขารก็เนรมิตกายของนางให้ร้อนดังไฟ   พญาเจ้าเมืองไม่อาจเข้าไปถูกเนื้อต้องตัวนางได้ จึงรักษาไว้ให้ในราชมณเฑียร
ชายกำพร้า ก็มีความเสียใจคิดถึงหาภริยาของตน คิดว่าเราเป็นคนทุกข์ยาก และผจญวิบากกรรมเก่า นับแต่อยู่ด้วยกันก็ไม่เคยลักฉกของผูใดมากิน บัดนี้ซ้ำ มีผู้มาชิงเอานางให้พลัดพรากจากชีวิตไป  จึงได้ขอลายายออกไปป่าใหญ่ แสวงหาวิชาความรู้ ถ้าไม่มีเหตุเภทภัยก็จะได้กลับมาหาย่าตามเดิม แล้วหนีไปมุ่งหน้าสู่ป่าใหญ่ มีแรด ช้าง  เสือ หมี กินลูกไม้เป็นอาหาร มีสัตว์ติรัจจฉานเป็นเพื่อน ลึกจนไปถึงอาศรมบทที่อยู่แห่งเจ้าฤๅษีตนเป็นครูเมื่อชาติก่อน
ฤๅษีถามว่า พ่อหนุ่มมาแต่ไหน เขาก็เล่าเรื่องให้ฟัง ฤๅษีก็เล็งอตีตญาณของตนจึงกล่าวว่า ท่านจงอยู่ในอาศรมกับเรานี้เถอะ และทุกอย่างจะสำเร็จ  ฤๅษีไปบิณฑบาตในสวรรค์ชั้นตาวติงสามาเลี้ยงชายกำพร้าทุกวัน พญาอินทร์รู้เหตุแล้วก็สั่งฤๅษีให้รีบสอนศาสตร์ศิลป์อันวิเศษ จบแล้วจงรีบส่งกลับไป ฤาษีก็สอนศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายแก่ชายกำพร้าจนจบเพททุกอย่างหาผู้เสมอมิได้  นอกจากนี้ พระฤๅษีได้สอนศาสตร์ศิลป์ ชื่อว่า “น้ำรพี” ให้มีจิตเหมือนดั่งคนผู้มีฤทธิ์ (มีคุณวิเศษดังนี้) 1. แม้นจักใช้เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม อันใหญ่ ให้ผจญข้าศึกศัตรูก็ปราบเอาชนะได้หมด  2. เมื่อเอ่ยปาก(สาบ)คนทั้งหลายให้เป็นแห่(แร่) เป็นหิน เป็นหลัก เป็นตอ ก็ได้ 3. ถ้าอยากกินข้าวอาหารอันใด ให้เอาน้ำรพีลงจุ่มน้ำดูดกิน ก็รู้สึกอิ่มเหมือนดั่งกินข้าวและอาหาร เมื่อสอนจบแล้วก็นำชายกำพร้อาไปส่งที่ทางกลับ
ชายกำพร้าเดินไปจนถึงต้นนิโครธอันเป็นที่พักสำราญของชาย “วิชาเตโช” และนั่งพักที่เงาต้นไม้ วิชาเตโช มาไล่ให้หนีไป ถ้าไม่ฟังจะเอาชีวิตเสีย เมื่อชายกำพร้าถูกไล่ สอง สามครั้งก็ไม่หนี วิชาเตโชจึงเอาไม้เท้าแทงลงบนแผ่นดิน ก็บังเกิดเป็นไปไหม้เข้ามาหาชายกำพร้า  ชายกำพร้าก็เอาน้ำรพี ซัดไป ก็เกิดเป็นน้ำอันใหญ่ไปดับไฟมอดหมด  วิชาเตโชเห็นฤทธีดังนั้น ก็มีใจสะท้านเกรงกลัวมาก เข้ามากราบไหว้ขอขมาโทษและขอติดตามไปด้วย  ชายกำพร้ากับวิชาเตโช กินน้ำสัจจะ(ดื่มน้ำสาบาน)ต่อกัน ก็เดินทางไปด้วยกัน
ชายกำพร้ากับวิชาเตโชเดินมาถึงไม้ชมพู่ต้นหนึ่งเป็นที่สำราญของ “วิชาตโจ” เข้าไปนั่งพักในร่มเมื่อ วิชาตโจ มาพบเข้าจึงขับไล่ว่า อย่านั่งที่นี่ จงหนีออกไปเสีย ถ้าไม่หนี ร่างกายของพวกแก จักแหลกเหลวไปบัดนี้ พูกไล่สองครั้ง  สามครั้ง เขาทั้งสองก็ไม่หนี  ชายกำพร้าจึงบอกวิชาเตโชว่า จบรบกับมันลองกำลังให้แพ้ด้วยฤทธีก่อนเถอะ  ถ้าว่าท่านเอาชนะไม่ได้ ข้าจะรบเอง วิชาเตโชก็รับคำสหาย
วิชา่เห็นว่าสองคนไม่ฟังคำจึงโกรธมา ขว้างเอาหนังประกำให้หื้อไปตัดหัวทั้งสองคนหนังประกำอันนั้นก็ลอยมาตามอากาศ วิชาเตโช ก็เอาไม้เท้าขว้างขึ้นไปรบกับด้วยหนังประกำ มีเสียงอันดังเหมือนดั่งฟ้าร้องฟ้าผ่าป่าไม้ดังก้องไป ทั้งสองคนต่างมีฤทธีเสมอกัน รบกันไม่รู้แพ้รู้ชนะ ชายกำพร้าจึงได้โยนน้ำรพีซัดขึ้นใส่หนังประกำ ก็ย่อยเป็นธุลีไป  วิชาตโจครั้นเห็นหนังประกำของตนย่อยเป็นผงธุลี ก็มีใจหดหู่มาก จึงเข้าไปไหว้ชายกำพร้า ขอขมาโทษ และขอติดตามไป ชายกำพร้าก็ให้กินน้ำสัจจะแล้วให้วิชาตโจ ตามไปอีกคน รวมเป็นสามสหาย ก็เดินทางมาถึงบ้านย่าจ่าสวน
 ย่าจ่าสวนเมื่อได้เห็นหลายกลับมาถึง ก็ดีใจมาก  บอกว่า ย่าอยากเห็นหน้าเจ้าทุกวันทุกยาม บัดนี้ก็สมดั่งคำปรารถนาแห่งย่าแท้ ชายกำพร้าก็ปรึกษากับสหายสองคนว่า คืนนี้เราพากันนอนกับย่าคืน 1 ก่อน วันหน้า พวกเราจะพากันไปรบพญาเจ้าเมืองนี้ เพราะมันมาชิงเอาภริยาข้าไปแต่ก่อน  ขอให้สหายจงสู่รบตามฤทธีของตนมัน อย่าได้เกรงขามเลย
 ก่อนยามใกล้รุ่งแจ้งคืนนั้น  นางสุวัณณสังขารก็นิมิตฝันว่า พระอาทิตย์ออกมา 3 ดวง เรียงกันอยู่ มีหมู่ดาวทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร มีรัศมีรุ่งเรืองงามในชมพูทวีปทั้งมวล  ครั้นตื่นขึ้นมานางก็มีความอัศจรรย์ในใจ 
ในรุ่งเช้าวันนั้น  ชายกำพร้าและสหายครั้นกินข้าวน้ำโภชนะอาหารเสร็จแล้ว อำลาย่าจ่าสวน  พา สหายทั้งสองพากันเดินอย่างไม่เกรงกลัวผ่านถึงท้องสนามหลวง ทั้ง 3 คน ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ในราชมณเฑียร   นายนักการไปแจ้วง่ามีผู้ร้ายนอกเมือง 3 คน จักมารบเอาบ้านเมืองโดยพวก เขาพากันขึ้นนั่งเหนือแท่นแก้วในหอหน้าข่วงหลวง  พญาเจ้าเมืองก็โกรธมากกล่าวว่า กูได้เป็นพญามาถึงเดียวนี้ ยังไม่มีใครมาเทียมเท่ากู จงรีบไปจับมัดพวกมันให้กูบัดนี้
คนก็กรุวิ่งไปล้อมจับ ชายกำพร้าเหลียวเห็นคนทั้งหลายกรูออกมากระจายทั่วกันอยู่เช่นนั้น
 ก็สวาดธิยายคุณ(วิชา)ของตนแล้ว ก็สั่งว่า ท่านทั้งหลายจงพากันไปยืนกระจายตัวอยู่ภายนอก จง อย่าได้พูดจากันจงนิ่งเหมือนเหมือนไม้อันปักไว้นั้นเถอะ คนทั้งหลายก็พากันไปยืนกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ไม่มีใครพูดสักคน คนที่เห็นเหตุก่ชารณ์ก็มาทูลพญาเจ้าเมืองว่า ชายสามคนที่ฤทธิเดชมาก พระองค์คงต้องเสียบ้านแน่ๆ  พญาเจ้าเมืองโกรธมาจึงให้ไปนำช้างมงคลเตรียมยุทโธปกรณ์พร้อมขี่ช้างออกมามีหมู่เสนาอามาตย์แวดล้อมอ้อมเป็นบริวารไม่อาจนับได้ ไหลหลั่งไปตามพญาอย่างเร่งรีบ
พญาจิ่งสั่งว่า สูทั้งหลายจุ่งไปอารักขาวังไว้ ทุกซอกทุกมุม  ถ้าอ้ายกำพร้ามันออกทิศใดหื้อฆ่าเสีย  พวกเขาก็เข้าโอบล้อมชนิดที่หาช่องว่างมิได้เลย ชายกำพร้าก็สวาดธิยายไตรเพท แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จุ่งพากันออกไปยืนกระจายอยู่ภายนอก อย่าได้พูดจาจงนิ่งเหมือนไม้ที่ปักไว้ เมื่อพวกเขาออกไปยืนกระจายไม่เคลื่อนไหวเช่นนั้น เหลือแต่พญาเจ้าเมืองนั่งคอช้างคนเดียว
พญาเจ้าเมืองเห็นเช่นนั้น ก็ซ้ำโกรธขึ้นไปอีก ไสช้าง ใสช้างเข้าไปหมายฆ่าชายกำพร้าให้ตาย  ชายกำพร้า จึงกล่าวกับพญาผู้จะมากระทำร้ายว่า  “ท่านจงตกลงจากคอช้างแล้วกลายเป็นหินอยู่เหนือแผ่นดินนี้เทอะ” เมื่อกล่าวเสร็จ พญาก็ตกจากคอช้างพลันกลายเป็นหิน ส่วนช้างตัวนั้นก็ไม่ไหวกายได้ ก็ยืนนิ่งอยู่  ชายกำพร้าก็ซ้ำปราบเอาชนะข้าศึกได้ดังนี้  ในเมืองนั้น ไม่มีผู้ชายสามารถพูดสักคน  มีแต่ผู้ญิงทั้งมวลหั้นแล
นางสุวัณณสังขารที่อยู่ในปราสาท ก็พาเอานางทั้งหลายอันได้กระทำกุศลบุญกันมาแต่ก่อน  ได้เข้ามาสู่สำนักชายกำพร้า และนางทั้ง 6 ที่ได้สร้างกองบุญร่วมชายกำพร้ามาแต่ชาติก่อน ที่พญาอินทร์ให้อยู่ในหีบหอยทองคำนั้น ก็พากันออกมาเครื่องทิพย์ที่มีในหีบหอยทองคำ  มี แก้วมณีโชติ กงจักร เศวตรฉัตร ม้าวใส่แขน แหวนใส่ก้อย สร้อยสังวาล อันพญาอินทร์ตกแต่งไว้ในหีบ ก็ปรากฏออกมาตามนางทั้งหลายฝูงนั้น  ตั้งอยู่ในสำนักชาย หีบหอยคำลูกนั้น ก็กลายเป็นช้างเผือกตัวหนึ่ง เข้ามาอยู่ในเวียง  ย่าจ่าสวนผู้เลี้ยงชายกำพร้า  ด้วยกุศลบุญอันได้อุปัฏฐากปัจจัยเลี้ยงเจ้าภิกขุแลสามเณรมาแต่ชาติปางก่อน บัดนี้ก็มาปรากฏให้ย่าจ่าสวนกลับกลายร่างเป็นนางสาวน้อยผู้มีอายุได้ 16 ปี
ในกาลนั้น พวกผู้ญิงทั้งหลาย ผู้เป็นลูกเสนา  ภริยาอามาตย์ ในเมือง พร้อมกันมาในสำนักชายกำพร้ากล่าวว่า ผู้ข้าทั้งหลายขอพึ่งสมภาร ขออภัยโทษแก่ข้าทั้งหลายเถิด ชายกำพร้าก็รับขมาโทษฃ ชายกำพร้าก็มาพูดกัสหายว่า บ้านเมืองที่นี่ก็มีแต่เราเป็นผู้ชายเพียง 3 คน  เราควรเรียกเสนาทั้ง 4 ผู้เป็นนายแคว่นแก่บ้านมาถามจะได้รู้ว่า ร้ายและดี ชายกำพร้าก็สวาดธิยายมนตร์ให้พวกเสนาทั้งหลายมีสติและเคลื่อนไหวไปมาได้และพากันไปพบพญาเจ้าเมืองกลายเป็นหิน จึงเกรงกลัวชายกำพร้ามาก จึงมาจำยอมอ่อนน้อมทุกคน
ชายกำพร้าถามว่าพวกท่านจะทำอะไรก็จงทำตามใจเถิด เสนาก็กล่าวว่าพวกนี้ ถูกญาเจ้าเมืองบังคับให้ออกมา ตอนนี้ยืนเหมือนหลักเหมือนตอ ขอให้ท่านโปรดให้เขาคืนเป็นคนตามเดิมเถิดได้อยู่กับลูกกับเมียแห่งเขาดังเก่า ท่านจะแต่งตั้งให้พวกเขาทำหน้าที่อะไร พวกเขาจะเชื่อฟังรับสั่งทุกประการ ชายกำพร้าก็บีบบังคับเอาคำปฏิภาณจากเสนาทั้งหลายให้ มั่น จึงได้สวาดธิยายไตรเพท คลายมนต์สะกด คนทั้งหลายก็มีสติคืนมา กลับสู่บ้านสู่เรือนของตนเขา
ตั้งแต่บัดนั้นมา หมู่เสนาทั้งหลาย ก็เรียกชุมนุมไพร่บ้านไพร่เมืองให้พร้อม พากันแต่งเทียนเงินแลเทียนคำ กระทำตามราชประเพณีมาแต่ก่อน ก็มาน้อมถวายเมืองให้ชายกำพร้าครอบครอง แต่งตั้งให้เป็นใหญ่เหนือหัวเขาทั้งหลายในเมือง
ส่วนนางสุวัณณสังขารมารำพึงว่า บ้านเมืองนี้ แต่ก่อนพวกเขาทุกข์ยาก เพราะพญาเจ้าเมืองทำให้เดือดร้อน ไม่มีเว้นไม่มีเวลาจะสร้างเหย้าเรือนที่อยู่อาศัยควรที่จะช่วยให้พวกชาวเมืองมีบ้านเรือนอยู่อาศัย จึงได้นำถุงมาเทออก เงินและทองคำไหลหลั่งออกมามากมาก จ่ายแจกให้ทานแก่คนทั้งหลายคนละ 1 พันทองคำ ทุกคน   คนทั้งหลายก็ไหลหลั่งมารับเอาจากนางทุกคนไม่ขาด ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย ก็สรรเสริญยกย่องว่า แม่เราทั้งหลายจะได้รับความสุขจากพญาตนก่อนก็ยังไม่เคยได้รับราชทานมากมาเห็นปานนี้ พวกชาวเมืองชื่นชมว่า บ้านเมืองมีสุขเพราะมีผู้เสวยเมืองโดยชอบตามหลักทศธรรม ประพฤติสุจริต ประกอบด้วยทานปารมีเป็นต้น
 พญาอินทร์เห็นชายกำพร้าได้เสวยเมืองก็ยังไม่สมฤทธีสมบูรณ์ จึงพาหมู่เทวดาทั้งหลายอันได้แสนโกฏิลงมาสู่มนุสสโลก เพื่อจะส่งเสริมให้ชายกำพร้าเป็นพญาจักรวรรดิราชในเมืองชมพูทวีป จึงรับสั่งวิสุกรรมเทวบุตรเนรมิตปราสาทอันได้ 108 หลังอันประดับไปด้วยแก้ว 7 ประการ เนรมิตกาลพฤกษ์ทิพย์ไว้ 4 มุมปราสาท อันห้อยย้อยไปด้วยผ้า เสื้อ แก้ว แหวน เครื่องทั้งหลายทุกอย่าง เนรมิตกำแพงเวียงอันกว้างได้ 12 โยชน์ ล้วนด้วยแก้ว 7 ประการ  
พญาอินทร์กับทั้งเทวบุตรและเทวดาทั้งหลายก็เอาตุริยดนตรีไปแห่เอาพญาจักรวรรดิ พร้อมกับนางสุวัณณสังขารขึ้นสู่หอที่วิสสุกรรมเนรมิตไว้  พญาอินทร์ก็นำเอาน้ำต้นแก้วหดหลั่งในเรือนคำ มีหมู่เทวดา เทวบุตรก็มาสรงด้วยเรือนคำทั้ง 4 ด้าน ถัดนั้นหมู่เสนาอามาตย์ พราหมณาจารย์ ปุโรหิตอาจารย์ทั้งหลาย ก็ให้ทรงผ้าขาวพราวบริสุทธิ์ ก็พร้อมกันมาสรง จนเสร็จสิ้น  นำเสื้อผ้าทิพย์และเครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย คือว่า ม้าวใส่แขน แหวนใส่ก้อย สร้อยสังวาลย์ อันเป็นเครื่องทิพย์มาสุบสอดประดับกายพญาจักรวรรดิ และกายแห่งนางสุวัณณสังขาร พญาอินทร์กับทั้งเทวบุตร เทวดาทั้งหลายนำขึ้นสู่ปราสาท  กระทำวิวาหะมังคละ  ตั้งชื่อใหม่เป็น “พญาจักรวรรดิสังขารจักร” ให้เป็นใหญ่ในเมืองชมพูทวีป   นางสุวัณณสังขารก็ตั้งหื้อเป็นอัครมเหสีเทวี เป็นใหญ่แก่กว่านางทั้งหลาย นางทั้ง 6 ที่ได้เคยกระทำบุญตามกันมามาแต่ชาติก่อน ให้อยู่กับนางสุวัณณสังขาร ผู้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลายได้หมื่น 6 พันนางในปราสาทที่
 ชายวิชาเตโช ให้เป็นอุปราชาแสนเมืองแล้ว ให้ย่าจ่าสวน ที่กลายร่างเป็นสาวน้อยนั้นมาอยู่ในปราสาทกับอุปราชาแสงเมือง ตั้งไว้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลาย 500 นางเป็นบริวารในปราสาทนั้น ส่วนชายวิชาตโจ ก็ตั้งให้เป็นมหาเสนา มีนางผู้ได้กระทำกรรมดีมาแต่ชาติก่อนเป็นภรรยา ให้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลายได้ 500 อยู่ในปราสาทหลังหนึ่ง
เมื่อพญาอินทร์กระทำวิวาหะมังคละแล้วก็ให้พรและมังคละโอวาทแก่พญาจักรวรรดิสังขารจักรขอให้ตั้งอยู่ด้วยคลองทศราชธรรม 10 ประการ ก็พาเอาหมู่เทวบุตรเทวดา เสด็จสู่สวรรค์ อันเป็นที่อยู่แห่งตน
 ท้าวพญาเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ก็มาสาธุการด้วยเดชะสมภารแห่งพญาจักรวรรดิ ไม่ให้ขาดจากประเพณีทศธรรม 10 ประการ ฟ้าฝนก็ตกถูกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้า ทั้งหลายก็ผลิตผลงอกงาม คนทั้งหลายยินสั่งสมทานบารมี ศีลบารมี ไปไม่ขาด จนตลอดชีวิต อานิสงส์ได้สร้างยังเจติยธาตุเจ้า นิฏฺฐิตํ ก็สมเร็จสระเด็จ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง พฤษภาคม 2559)



[1] ร้อยเอกปัน ไพรัช  พลโท วีรศักดิ์ ไพรัช, พลโท อภิชาต เพ็ญกิติ,  พลโทดนัย เงินโสภา, พลโท สาโรช ฏิตวัฒนาคุณ, พลตรี ฉัตรชัย จันทรโสภณ, พลตรี แดง มีชูอัตถ์, พลตรี ธานี เคียดแก้ว, พลตรี พุทธพล พวงทอง, พลตรี วีรพงศ์ พันธุมสูต, พลตรี สุวรรณ สมิงแก้ว, พลตรี พรชัย กรานเลิศ, พลตรี ล้วน ชูวงศ์, พลตรี อาจศักดิ์ ถาวรสัน, พลตรี พงษ์พุทธ เมฆรัฏ, พลตรี วิศาล ชันโอภาส, พลตรี พิศณพล พานสูต, พลตรี นายแทพย์ มงคล จิวสันติคาร, พลตรี สะพรั่ง กัลยาณมิตร, พลตรี กิตติพงศ์ เกล็ดโกวิท, คุณสุรพล สุกอ่อน พร้อมคณะ คุณนพพร พิเศษประกาศิต, คุณสุรพงษ์ สิริวันชัย, คุณเสาวรส เกษมวโรดม, คุณมหาสันติ สร้อยขัตติยะ, ดาบตำรวจ อนุรักษ์ คันธา
[2] ความตามอรรถกถา ธุระ(กิจของนักบวช)ในพระศาสนามี 2 ประการในศาสนาคือ คันถธุระ ศึกษาพระปริยัติธรรมให้ช่ำชอง และ วิปัสสนาธุระ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ ในที่นี้ ว่า เป็นปัญญาธุระ หมายเอา นวกรรม คือการสร้างและปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุ(พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น