วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน นครหริภุญไชย

โอวาทสอนภิกขุสามเณร วัดพระยืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
        ความเป็นมาของเอกสาร
โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ฉบับนี้ ตามชื่อที่ผู้แต่งใช้ชื่อว่า “โอวาทพุทธศาสนา” เป็นงานเขียนของพระอภิไชย ขณะที่ท่านมาอยู่ที่วัดพระยืน ด้านทิศตะวันออกของเวียงหริภุญไชย(ลำพูน) ในปีรวงเปล้า (แต่ไม่ได้บอกจุลศักราชเอาไว้ จึงไม่สามารถคาดว่าประมาณปีพุทธศักราชใด) จุดประสงค์การแต่งก็เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ได้ถึง 5,000 พระวัสสา  และขอให้เป็นปัจจัย อำนวยอิฏฐผลแก่ท่านและมารดาบิดาในอนาคต  คณะนักวิจัยได้พบเอการดังกล่าว ที่เป็นผลงานของภิกษุผู้อยู่ที่วัดพระยืนแต่งเอง จึงเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะปริวรรตถอดความออกมา ให้เห็นว่า ภิกษุสามเณรที่บรรพชาอุปสมบทมาแล้ว ควรจะตระหนักถึงสมณภาวะของตน ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า  ตั้งใจศึกษาพระปริยัติ ลงมือปฏิบัติ จึงจะเป็นผู้เจริญในพระศาสนา ทำความเพียรค่อยปฏิบัติไปตามโอวาทนี้  ก็จักพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารโดยแท้ หากปฏิบัติตามไม่ได้ ก็จงอย่าทนอยู่ย่ำยีพระศาสนาด้วยมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดทำนองคลองธรรม  จะเป็นภัยแก่ตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แม้ว่าภาษาบาลีที่เขียนตามภาษาพูดแบบมุขปาฐะ จะไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ก็ไม้่ใช่ประเด็นให้เกิดความด้อยในผลงาน เพราะสามารถใช้สื่อความได้อย่างถูกต้องและงดงามว่า ผู้แต่งต้องการจะชี้สาระและแนวทางปฏิบัติอะไร อย่างไร แก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ   (ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตและถายถอดอักษร กรกฎาคม 2558 ; พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เกริ่นนำและถอดสาระ)

 สาระเนื้อหาโดยย่อของเอกสาร
นโม ตสฺสตฺถุ (ขอความนอบน้อม ของข้าพเจ้า จงมีแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเถิด)  
ต่อไปนี้จักกล่าวถึงคลองโอวาทแก่ภิกษุและสามเณรทั้งหลาย ขอจงตั้งใจฟังและปฏิบัติตามที่ได้สั่งสอนเอาไว้เถิด การที่เราทั้งหลายเข้ามาบวชเรียนในพระศาสนาก็เพื่อจักกระทำตนให้ออกจากวัฏสงสาร ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน จึงกล่าวได้ว่า “นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ” นั้น และในบทที่ว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ ก็ขอเอา ปัพพัชชัง ยังการบวช สะระณะคะมะนัง ข้าพเจ้าจักถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงกล่าวได้ว่า สะระณะคะมะนัง อามะ ภันเต
ภิกษุและสามเณร ควรยึดถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อนที่จักปรินิพพานนั้นเป็นการปฏิบัติบูชา อัปปะมาทัง กล่าวคือ ภิกษุและสามเณรทุกรูป ควรปัดกวาดดูแลยังพระพุทธบาท พระธาตุ เจดีย์ ต้นโพธิ์ พระพุทธรูป ลานวัด กุฏิ วิหาร ที่อยู่ของอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ และคอยดูแลอุปัฏฐากอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ทุกค่ำเช้า ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็ให้อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ ด้วยการจัดเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น และไม้สีฟันถวาย พร้อมกับเคารพกราบไหว้บูชาอยู่เสมอ
ถวายคนโทน้ำดื่มแด่พระพุทธเจ้า ให้กล่าวคำถวายว่า “อิมัง อุทะกัง พุทธะโคตะมัง ปะฏิคัณหาตุ” (ต้นฉบับเขียนปฏิคัณหันตุ ซึงผิดหลักไวยากรณ์บาลี)  
ถวายไม้สีฟัน กล่าวว่า “สิทันตะระมุกขัง ปะฏิคัณหาตุ อะนุกัมปัง อุปาทายะ”
ถวายผ้าเช็ดหน้า “อิทัง มุญจะนะมุกขัง พุทธะโคตะมัง อะนุกัมปัง อุปาทายะ”
ให้สวดบูชาพระพุทธคุณ (อิติปิ โส) พระธรรมคุณ (สวากขาโต) พระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน) แล้วให้สวดว่า พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ, อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ฯลฯ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, อามะ ภันเต ข้าแต่เจ้าข้า ข้าก็ขอรับเอายังไตรสรณคมน์แห่งพระพุทธเจ้า สะระณัง อิติ ว่าขอถือเอาไว้เป็นที่พึ่ง
ทะสะสิกขาปะทานิ สิกขาบท คือ ศีล 10 เวระมะณี ให้เว้น ปาณาติปาตา การทำปาณาติบาต คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย มีผู้ชาย ผู้หญิง เป็นต้น รวมถึงอย่าทำร้ายสัตว์และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ให้แท้ง
ในสิกขาบท อะทินนาทานา ก็ให้เว้นเสียจาก อทินนาทาน คือ ลักขโมย ฉกฉวย แย่งชิงสิ่งของ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องอุปโภค-บริโภค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ หากว่ากระทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าไม่มีศีลอยู่ในตัว
ในสิกขาบท อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี ให้เว้นเสียจากกระทำมิจฉาจารกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือ แม้แต่ในสัตว์เดรัจฉาน โดยการล่วงเข้าไปในปัญจมรรค คือ ทวารทั้ง 5 คือ ปาก จมูก หู ทวารหนัก ทวารเบา ภิกษุและสามเณรูปใดล่วงในสิกขาบทดังกล่าว ขาดจากการเป็นสมณเพศ อุปมาเหมือนใบไม้ที่หลุดออกจากขั้วร่วงหล่นลงมา ไม่สามารถที่จะนำกลับเอาไปติดคืนได้ดังเดิม
ในสิกขาบท มุสาวาทา ให้เว้นเสียจากมุสาวาท คือ พูดเท็จ พูดยุยง สนส่อ(ส่่อเสียด)ให้คนทะเลาะกัน พูดเพ้อเจ้อหาประโยชน์ไม่ได้ เห็นสิ่งที่ชั่วว่าดี เห็นสิ่งที่ผิดว่าถูก ไม่เชื่อคำสั่งสอนพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เกียจคร้าน มักโกรธเคือง ชอบโจทก์ฟ้องร้องกล่าว เป็นต้น
ในสิกขาบท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา ภิกษุและสามเณาควรเว้นจากการเสพสุรายาเมาทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นศีล 5  
คฤหัสถ์หญิงชายทั้งหลายที่ได้เข้ามาสู่ในสถานที่รัตนะทั้งสามประการประดิษฐานอยู่ เมื่อได้สมาทานศีลแล้วก็อย่าได้มีใจหลงผิด คิดทำบาป ละเมิดในสิกขาบทเหล่านี้ในสถานที่ดังกล่าว
สิกขาบทข้อที่ว่า วิกาละโภชะนา ให้ภิกษุและสามเณรเว้นจากการขบฉันอาหารเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว
สิกขาบทข้อที่ว่า นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา ให้เว้นจากไปดูการละเล่น ขับฟ้อน ร้องรำ ประโคมเครื่องดนตรี งานมหรสพต่างๆ ไม่ควรเล่นการพนันขันต่อทุกชนิด หรือ เดินเที่ยวเล่นตามตลาด แม้แต่การแสดงกิริยาอาการอันไม่สำรวม เช่น ร้องเล่น เต้นรำ ปรบมือโห่ร้อง ก็อย่าทำ
ในสิกขาบทที่ว่า มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา ภิกษุและสามเณรเว้นเสียจากการทัดทรงดอกไม้และเว้นจากการลูบไล้ทาตนด้วยเครื่องหอม
ในสิกขาบทที่ว่า อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา ก็ให้เว้นจากการนั่งในที่นั่ง เตียงสูงกว่าภิกษุ แม้นว่า ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่า ก็ไม่ควรนั่งบนอาสนะเหนือกว่าภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าตน เป็นต้นว่า อุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์
ในสิกขาบทที่ว่า ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคะหะณา ให้เว้นเสียยังการถือจับหรือเคลื่อนย้ายเงินทองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
สิกขาบททั้ง 10 ประการนี้ เป็นบาปกรรมที่ภิกษุและสามเณรพึงเว้นเสีย เป็นสิกขาบทที่ภิกษุและสามเณรพึงน้อมรับไปประพฤติปฏิบัติตามครูบาอาจารย์หากได้สั่งสอนเอาไว้
ภิกษุและสามเณรรูปใดไม่ตั้งอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติ เป็นต้นว่า ไม่ศึกษาเล่าเรียน เกียจคร้านในการสวดมนต์ กินแล้วเอาแต่นอน ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ มีความโกรธ มักชอบทะเลาะวิวาท ไม่ปัดกวาดดูแลที่นั่งที่นอนของครูบาอาจารย์ มัวแต่กินเที่ยว หาสาระไม่ได้ ชอบลักขโมย มีใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักจารีตคลองธรรม ไม่ฟังโอวาทคำสอน เป็นคนว่านอนสอนยาก ตกอยู่ในห้วงกิเลสตัณหา หลงใหลในกามคุณ ย่อมนำพาตนไปสู่อบายมุขและอบายภูมิเหมือนพระเทวทัต จึงถือว่าเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในความประมาท
ภิกษุและสามเณรต้องตั้งอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติอันดีงามที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนไว้ เช่น ขยันหมั่นเพียรในการเรียน เขียน อ่าน ท่องบทสวดมนต์ ลุกขึ้นมาปัดกวาดวิหารกุฏิแต่เช้า จัดเตรียมสำรับ น้ำฉัน น้ำใช้เอาไว้ ปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนถึงดูแลต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน อยู่ในโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย เจริญภาวนา (นับลูกประคำ) ทุกค่ำเช้า บิณฑบาตได้อาหารมาก็ควรแบ่งใส่ในที่ควรบูชา รวมทั้งจัดดอกไม้ไว้ในที่ควรบูชา หากต้องเที่ยวไปในละแวกบ้านก็ให้ครองผ้าให้เรียบร้อย หากเป็นพระภิกษุก็ควรครองผ้าให้ครบสามผืน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป แม้จะไปรับเอายังทักษิณาทานก็ไม่ได้อานิสงส์ หากเป็นสามเณรก็ให้ครองจีวรแล้วรัดผ้ามัดอกให้เรียบร้อย การนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อยอย่างนี้ถือว่าได้ปฏิบัติตามคลองแห่งพระอริยเจ้าจึงได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในสุปฏิปันนตาธิคุณ หากไม่ปฏิบัติตามนี้ อาศัยอยู่กินไปวันๆ ทำตัวอันธพาล ไม่ฟังคำใคร ท่านว่าร้ายมันว่าดี ท่านว่าผิดมันว่าถูก มีใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ตั้งอยู่ในวินัยคำสอนทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็นคนหาศีลหาธรรมไม่ได้ (อสมโณ) เป็นผู้ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า (พาโลสิ) แม้นจักนุ่งห่มจีวรก็หาผลานิสงส์อะไรไม่ได้เลย เสมือนเอาผ้าไปคลุมตอไม้เท่านั้นเอง และภิกษุและสามเณรนั้นไม่ควรนำเอาผ้าไตรจีวรของผู้อื่นมานุ่งห่มโดยไม่ได้รับอนุญาต
อนึ่ง ทายกนำผ้ามาถวายโดยเจาะจงเฉพาะไว้รูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุสามเณรรูปใดเห็นว่าผ้าของคนอื่นนั้นงาม แต่ผ้าของตนไม่งาม แล้วสลับผ้าของผู้นั้นมาไว้ที่ตนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้แต่ผ้าที่พระภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าได้จัดสรรแบ่งปันให้แต่ละคนเป็นที่เรียบร้อยก็ไม่ควรสลับเอาผ้าของคนอื่นมาเป็นของตนเอง
อนึ่ง ลักขโมยของกินของผู้อื่นเอามาเป็นของตนนั้น ไม่ควรทำ
อนึ่ง ลักขโขยกินของถวายของเจ้าอาวาส ไม่ควรทำ
แต่เดิมยังมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาต ได้กล้วยมา 2, 3 ลูก แล้วได้ถวายข้าวพระ สามเณรที่อยู่เฝ้าก็ได้ขโมยกินกล้วยไป 2 ลูก เมื่อพระภิกษุรูปนั้นถามถึงกล้วยที่หายไป สามเณรตอบว่า เห็นสุนัขตัวหนึ่งเข้ามาขโมยไป ด้วยคำพูดดังกล่าวทำให้สามเณรรูปนั้นตายไปเกิดเป็นสุนัขมีขนสีทอง เรื่องราวดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในท้องเรื่อง “สุวัณณะเมกขะ”
ภิกษุ สามเณร ศิษย์วัดทั้งหลาย ขอให้เข้าใจเถิดว่า จะหยิบกินอะไรในวัดนั้นก็ให้บอกกล่าวถามครูบาอาจารย์เสียก่อน จึงค่อยนำไปกิน
โอวาทนี้ เน้นย้ำปมาทธรรม และ อัปปมาทธรรม ซึ่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นต่างก็สรุปรวมอยู่ในธรรมะสองข้อนี้
บุคคลใดได้บรรลุในอริยมรรค(ผล) ทั้งแปด เข้าถึงซึ่งพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 1 (ปฐโม สมโณ), เข้าถึงพระสกิทาคามี จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 2 (ทุติโย สมโณ), เข้าถึงพระอนาคมี จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 3 (ตติโย สมโณ) และเข้าถึงพระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 4 (จตุตโถ สมโณ) บุคคลนั้นเป็นผู้มีความสุขมากนัก
บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามวินัยแห่งพระพุทธเจ้าเรียกได้ว่าเป็นคนนอกศาสนา กระทำความเพียรไปอย่างไรก็เปล่าประโยชน์ จักเป็น ปฐโม สมโณ, ทุติโย สมโณ, ตติโย สมโณ, จตุตโถ สมโณ ก็หาไม่
ความโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อครอบงำตนหรือโลก ย่อมทำให้เกิดวามมืดมน และ ความมืดมนที่ว่านั้น คือ การเป็นคนที่ไม่มีศีล ไม่สร้างบุญกุศล โง่เขลา ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่เคารพนับถือในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สั่งสมแต่บาป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิผู้ต ประทุษร้ายผู้ไม่มีความผิด ยุยงคนให้ทะเลาะวิวาท ทุบตีกัน คบชู้ กระทำอนันตริยกรรม ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชอบโมโหโกรธา ทุบตีพ่อแม่ ไม่ทำนุบำรุงพระศาสนา พระพุทธบาท พระเจดีย์ ตัดต้นโพธิ์ ทำลายพระพุทธรูป เข้ารีตนับถือเดียรถีย์ กระทำแต่สิ่งที่จักนำบาปกรรมมาสู่ตน สิ่งเหล่านี้จักทำให้โลกนั้นมืดมัวและห้ามทางสวรรค์
สำหรับสิ่งที่ทำให้โลกสว่างแจ้ง คือ การเป็นผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน รักษาศีล ฟังธรรม ไม่ทำบาป มีจิตใจเมตตาต่อสัตว์
ไม่โกหกหลอกลวง ไม่กล่าววาจากลับกลอก หาสาระไม่ได้ หมั่นเจริญภาวนาอยู่เสมอ ให้ถึงพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคมีและพระอรหันต์ ทั้งหมดนี้จึงด้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่กระทำให้โลกนั้นแจ้งสว่างไสว กล่าวถึงคลองวัตรปฏิบัติไว้เท่านี้ก่อนแล
สามเณรทั้งหลายที่ได้เข้ามาบวชเรียนในพระศาสนาก็ให้ถือปฏิบัติไว้ว่า ตื่นนอนขึ้นมาก็ให้ปัดกวาดที่นอนของครูบาอาจารย์ ตักน้ำ จัดเตรียมและยกประเคนภัตตาหาร กวาดลานวัด ล้างบาตรแล้วนำมาประเคนให้เจ้าอาวาส ครูบาอาจารย์ จัดเตรียมน้ำดื่มและหมากไว้สำหรับพระภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ปัดกวาดที่นั่ง ที่นอน วิหาร เดีย์ ลานวัดให้สะอาดเรียบร้อย ปฏิบัติตนให้อยู่ในโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ นุ่งห่มผ้าให้เรียบร้อยเวลาเที่ยวตามละแวกบ้าน สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำก็ให้ไต่ถามครูบาอาจารย์ นับลูกประคำเจริญภาวนา หมั่นสวดมนต์ เขียน อ่านหนังสือทุกเช้าค่ำ ตกแต่งพานดอกไม้บูชาพระแก้วห้าโกฐาก คือ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา-ครูบาอาจารย์ และสมถวิปัสสนากรรมฐาน เจริญพุทธานุสติและจิตภาวนาอยู่เสมอ ก็จักนำพาตนให้พ้นจากวัฏสงสารอย่างแน่แท้
สามเณรทั้งหลายก็ควรปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเถิด หากผู้ใดตั้งอยู่ในปมาทธรรม เกียจคร้าน เอาแต่หลับนอน ตื่นสาย ไม่ขยันเล่าเรียน ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ตั้งตนอยู่ในความประมาท เที่ยวพูดจาเกี้ยวผู้หญิง แอบกินเหล้าเมายา ทำตัวอันธพาล ไม่เคารพนับถือพระธรรม ไม่ตั้งอยู่ในสมณภาวะ คือ ทำกายใจให้เป็นพระ เห็นผิดเป็นชอบ ไม่รู้จักบาปบุญ จิตใจชั่วร้ายเหมือนยักษ์เปรต ลักขโมยสิ่งของที่ถวายไว้กับพระรัตนตรัยมาเก็บซ่อนไว้ เมื่อถูกถามก็ปฏิเสธว่าตนไม่รู้ไม่เห็น มีจิตใจตั้งอยู่ในมิจฉาทิฏฐิผิดทำนองคลองธรรม หากผู้ใดเป็นดังที่กล่าวมานี้ก็ไม่ควรจักอยู่ในพระศาสนาอีกต่อไป ครั้นตายไปเกิดเป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนหูหนวก ตาบอดอย่างแน่แท้
โยคาวจรทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และศิษย์วัด จงตั้งใจฟังโอวาทธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเอาไว้ก่อนปรินิพพานนั้นเถิด ผู้ใดปฏิบัติตามโอวาทธรรมดังกล่าวก็จักพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏนี้อย่างแน่นอน โอวาทะพุทธะสาสะนา นิฏฐิตังฯ
โอวาทฯ ฉบับนี้ ธุ(พระภิกษุ)อภิไชย เขียนไว้ในปีรวงเป้า เมื่ออยู่วัดพระยืนไชยแก้วกว้างท่าท้างหัวเวียงหริภุญไชยสุขาวดี ทางทิศตะวันออก รุ่งเช้าวันนั้นแล ข้าฯ เขียนโอวาทนี้ไว้ค้ำชูพระศาสนาให้ถึง 5,000 ปี ขอจงเป็นปัจจัยให้แก่ตัวเองและพ่อแม่ด้วยเถิด

ชัปนะ ปิ่นเงิน: ถ่ายถอดและอธิบายศัพท์ ขนินทร์ เขียวสนุก และพิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบและเรียบเรียง มิถุนายน 2559)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น