วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"สินธุรภิกษุณี" หรือ อุตตนิทานตำนาน : เรื่องที่เล่ากันในเมืองคุย อักษรฮ่อ คัมภีร์ใบลาน ฉบับวัดล่ามช้าง เชียงใหม่

 โวหารตำนานสิธุรภิกขุณี ฉบับวัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ  อำเภอ เมือง จังหวัดเชียงใหม่

1.ความเป็นมา
                 โวหารตำนานสินธุรภิกขุณี ฉบับธรรมวัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร จำนวน 1 ผูก 27 หน้าลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยยวน  รหัสภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข 15.0007.01M.1472-11 สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ชื่อที่ปรากฏภายในเอกสารเรียกว่า “อุตตนิทานตำนาน”  คัดลอกต้นฉบับจากเมืองคุย เดิมจารึกด้วยอักษรห้อ(อักษรจีนฮ่อ)  ผู้คัดลอกนามว่า “ภิกขุวัง(ส์)”   ได้ปริวรรตออกเป็นภาษาไทยยวน(ภาษาเมือง หรือ ล้านนา) เมื่อจุลศักราช 1173  ตรงกับ พ.ศ.2354   ปีร้วงเม็ด เดือน 3 แรม 14 ค่ำ วัน 7(วันเสาร์)  นับอายุปีที่คัดลอกเอกสารลงใบลานถึงปัจจุบันนี้(พ.ศ.2559) ก็จะมีอายุได้ 205 ปี  ตำนานเรื่องสินธุรภิกษุณีนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ ที่วัดล่ามช้าง เมื่อได้ทำการอนุรักษ์และลงรายการเอกสารจัดหมวดหมู่  ผู้วิจัย(พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์) พิจารณาว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่เคยได้พบและตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ทั้งเป็นเรื่องแปลก นับว่าเป็นการค้นพบเอกสารโบราณที่น่าวิจัยค้นคว้าในเชิงลึก จึงปริวรรตถ่ายถอดอักษรออกมา ด้วยความตั้งใจจะศึกษาว่า ตำนานสินธุรภิกษุณีรูปนี้ จะมีส่วนละม้ายกับประวัติ และจริยาวัตรของพระเถรีรูปใดในสมัยพุทธกาล   (ปริวรรตจากต้นฉบับ โดย ยศพล เจริญมณี มกราคม 2559, พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ถอดสาระและเรียบเรียง 2559)

2. สาระเนื้อหา
ภิกขุวัง(ส์) ผู้จารได้ลอกคัมภีร์อุตตนิทานที่ได้ต้นฉบับจากเมืองคุยที่บันทึกด้วยอักษรห้อประมาณปี พ.ศ. 2358 เมื่อ 201 ปีมาแล้ว ที่เรียกชื่อว่า โวหารสินธุรภิกขุณี เพราะเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ เล่าประวัติของภิกษุณีนามว่า สินธุระ เป็นหลักตลอดเรื่อง  ในตอนต้น ประมาณ 4 หน้าลาน เล่าว่า มีแผ่นศิลาจารึกคำเตือนจากพระอินทร์ทำนายถึงยุคมิคสัญญี คนทั้งหลายในอนาคตจะละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิม แสดงการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา ไม่เคารพเชื่อฟังคำสอนของ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และภิกษุสงฆ์ พวกเขาจะประสบกับภัยพิบัตินานาประการ เป็นต้นว่า จะเกิดศึกสงครามฆ่าฟันกันเลือดไหลหลั่งนองดังสายน้ำ จะมีโจรภัย(ภัยจากโจรผู้ร้าย)ชุกชุม จะเกิดฉาตกภัย(เกิดภัยแล้ง น้ำมหาสมุทรเหือดแห้ง ข้าวยากหมากแพง อดหยาก หิวโหย) จะเกิดวาตภัย(พายุใหญ่) จะเกิดแผ่นไหวใหญ่     อัคคีภัย(ไฟไหม้)ลุกลามไปทั่ว ดุจไฟประลัยกัลป์ล้างโลก หากมนุษย์กลัวเกรงต่อภัย จงยึดมั่นในคุณงามความดี ให้รู้จักบาป บุญ คุณและโทษ ก็จะพ้นจากอันตราย  ประมาณปี พ.ศ. 3169 ที่จะมาถึงข้างหน้ พระอินทร์ได้รับสั่งให้เทพบุตรตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นพญาจักรพรรดิ มีฤทธิ เดช อานุภาพ ยศ และบริวารมาก  พญาจักรพรรดิมีสุรเสียงดังประดุจฟ้าฝ่าฟ้าผ่า  ตรัส(พูดออกมา)เมื่อใด แผ่นดินไหวเมื่อนั้น ท้าวพญาร้อยเอ็ดหัวเมือง ต่างมาอ่อนน้อม ยอมตนอยู่ภายใต้การปกครอง บ้านเมืองก็อยู่สุขเกษมสำราญ ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีกัลปพฤกษ์ 12 ต้นเกิดขึ้นด้วยบุญสมภารของพญาจักรพรรดิ พระสงฆ์จะทรงสิกขาบท บำเพ็ญภาวนา รักษาพระธรรมวินัย แผ่นดินก็จักราบเพียงเป็นดั่งหน้ากลอง พญาจักรพรรดิตนนั้น จะได้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อีก 1,831 ปี เพื่อให้เต็ม 5,000 พระวัสสา คำทำนายจากจารึกผินศิลาพระอนทร์ก็จบลงเท่านี้ นับจากนั้นไปตลอดผูก เป็นเรื่องราวของสินธุรภิกษุณี ดังนี้  
 กาลครั้งหนึ่ง ในเมืองหริภุญชัย(เท่าที่อ่านเรื่องทั้งหมด คงไม่ใช่ หริภุญชัยลำพูน) พญาใสกล้า ผู้ครองเมือง มีธิดา 3 องค์  ผู้พี่ชื่อว่า “สีมูล”(ศรีมูล) ผู้กลางชื่อว่า “สีคันธา”(ศรีคันธา)  ผู้น้องสุดท้องชื่อว่า “สินธุระ” พระธิดาผู้พี่ทั้ง 2 ต่างมีครอบครัว และบุตรธิดาแล้ว เหลือแต่ธิดาผู้น้อง พญาใสกล้า ผู้พ่อ ประสงค์จะให้นางแต่งงานเป็นฝั่งฝา จึงเรียกธิดามาแจ้งให้ทราบว่า พ่อจะจัดการหาชายที่เหมาะสมมาเป็นสามีให้ นางบอกว่า ให้รอไปก่อน อะไรที่สมควรได้ มันก็จะได้ตามบุญของแต่ละคน แล้วนางก็ไปถามพี่ทั้งสองว่า ตอนตั้งครรภ์ มีลูกในท้อง พวกนางมีความสุขหรือความทุกข์เป็นอย่างไร พวกพี่ก็ตอบว่า มีความทุกข์ปางตาย จะกิน จะนอน จะเดินก็ลำบากเป็นที่สุดน่าเบื่อหน่ายแท้ๆ นางได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า ถ้าเราแต่งงานมีสามีก็คงจะเป็นเหมือนพวกพี่สาว ถ้าได้สามีที่ดี ก็จะมีความสุข หากได้สามีร้ายก็จะเป็นทุกข์ นางจึงไม่ต้องการจะมีสามี  พญาผู้พ่อจึงใช้วิธีบังคับ  ออกประกาศให้ผู้ชายทั้งภายในเมือง และภายนอกเมืองทั้งหมดเข้ามาวังให้ลูกสาวได้เลือกคู่  ให้สาวใช้ไปเรียกนางมาเลือกคู่ในวันพรุ่งนี้  แต่นางตัดสินใจที่จะหลบหนีไป  เมื่อเวลาตอนกลางคืน นางจึงได้ลอบหลบหนีออกจากวัง โดยมุดออกทางช่องน้ำ(ช่องระบายน้ำ)  รีบวิ่งหนีไปจนถึงรุ่งแจ้ง เมื่อพญาตื่นบรรทมมา ไม่เห็นนาง รู้ว่านางหลบหนีไป จึงสั่งให้คนออกติดตาม แกะรอยไปจนทันเห็นหลังนาง ก็บอกว่า พญาให้กลับ แต่นางไม่ยอมกลับ แถมยังเร่งรีบวิ่งมุ่งหน้าหนีไปจนถึงริมฝั่งมหาสมุทร น้ำขวางหน้าทางตันไม่มีที่ไปอีกแล้ว  นางคิดว่า เราคงต้องตายแน่ ตอนหนีจากมาก็ไม่ได้บอกลาผู้ใด  ถือว่าเป็นความผิดต่อจารีตของบ้านเมืองเช่นนี้ จะขอตายดีกว่าหวนกลับไปให้ได้อับอายขายหน้า นางก็ตั้งสัจจะอธิษฐานไหว้วานเทวดาทั้งหลายว่า
“ข้าแด่เทพเจ้าผู้อยู่ในน้ำที่นี้เป็นต้น รวมทั้ง ครุฑ นาค และอิศวร ตัวข้าชื่อ นางสินธุระ ได้ฟังคำพ่อแม่ว่าจักหาสามีตกแต่งให้เป็นครอบครัว แต่ข้าฯรู้สึกเบื่อหนายในสังสารวัฏฏ์ จะขอกระโดดน้ำตายเสีย เมื่อข้าตายไป ขอให้ไปเกิดในที่ประเสริฐพ้นจากสังสารวัฏฏ์เถิด และขออย่าให้ซากสังขารของข้าฯเรี่ยรายกระจายไป”  เมื่อนางอธิษฐานจิตเสร็จแล้ว  ถอดคว้านตีน(หมายถึงเครื่องใส่เท้า)แขวนไว้บนต้นไม้ เพื่อฝากไว้ให้พ่อแม่เห็น แล้วกระโดดลงน้ำมหาสมุทรไป
ในครั้งนั้นพญานาค(ผู้รักษามหาสมุทร) ก็นำเอาดอกบัวทิพย์มารับไว้ นางไม่จมลงน้ำ ทั้งสามารถเดินไปบนผิวน้ำเหมือนเดินบนบก แล้วเดินต่อไปบนผิวน้ำ จนไปถึงเกาะกลางมหาสมุทร  ขึ้นไปนั่งอยู่แผ่นหินก้อนหนึ่ง ส่วนคนที่มาติดตามเมื่อ เห็นนางกระโดดลงน้ำแต่ไม่จม ซ้ำเดินไปบนน้ำเป็นปกติ ก็มองตามจนสุดสายตาแล้วกลับมารายงานพญา  ส่วนนางเทวีผู้เป็นแม่ ได้ยินคำคนใช้รายงานว่า ธิดาของนางกระโดดลงน้ำมหาสมุทรไปเช่นนั้น ก็รำพันว่า ลูกข้าฯต้องตายแน่ ร้องไห้จนล้มสลบไป  พญาเห็นเทวีสลบไป จึงประคองศีรษะนางขึ้นไว้เหนือตัก เป่ากระหม่อม สักครู่หนึ่ง นางก็ฟื้นได้คืนสติกลับมา พญาก็ปลอบว่า “อย่าร้องไห้เลย ถ้าลูกยังไม่ตาย (สัก)วันหนึ่งคงได้เห็นหน้ากัน”
นางสินธุระเมื่อถึงเกาะขึ้นไปนั่งอยู่บนหินแล้ว พญานาคก็เนรมิตมณฑป 1 หลัง ให้เป็นที่อยู่ทั้งเนรมิตเกาะนั้นให้อุดมไปด้วยผลาหาร ทั้งหวานทั้งเปรี้ยวไว้ให้นางได้กินตามใจต้องการ เมื่อนางอยู่ในมณฑปอย่างสุขสำราญนั้น  พระอินทร์ได้เนรมิตตนเป็นพราหมณ์เฒ่าเข้ามาที่พักนาง ร้องบอกว่า ตนหลงทางมา แถมอดอาหารมาหลายวันแล้ว ขออาหารกินประทังตายด้วย นางก็บอกว่า มีแต่ผลไม้ที่อยู่ตามต้นไม้นั้น ขอให้พราหมณ์ขึ้นปลิดเอาเองเถิด พระอินทร์กล่าวว่า เขาแก่แล้วปีนต้นไม้ไม่ไหว ขอให้นางหยิบใส่มือให้ด้วย นางจึงตอบว่า ท่านเป็นเพศชาย เราเป็นเพศหญิง จะให้เราปลิดผลไม้แล้ววางใส่ในมือแก่ท่าน มันผิดธรรมเนียมโบราณของคน(ชายหญิงไม่ใกล้ชิดกัน) ถ้าอยากกินแท้ๆ จงไปนอนหงายที่ใต้ต้นไม้นั่นเถิด พราหมณ์ก็ไปนอนอยู่ที่โคนต้นไม้ นางจึงอธิษฐานขอให้ลูกชมพู่ หล่นตกลงมาใกล้ๆ พอให้พราหมณ์หยิบกินได้ ผลชมพู่ก็หล่นตกลงในมือ  พราหมณ์เก็บได้เต็มถุง พระอินทร์เห็นบุญญานุภาพเช่นนั้น ก็คิดว่า นางผู้นี้มีบุญบารมีแท้ ภายหน้าจักได้เป็นพระตนหนึ่ง(พระอรหันต์) จึงได้แจ้งแก่นางว่า  เราคือพระอินทร์ผู้ครองสวรรค์ เล็งเห็นนางมีความทุกข์โศก จึงได้เนรมิตเกาะและลูกไม้ทั้งหลายไว้เพื่อให้เป็นอาหาร จงบริโภคตามสุขสบายเถิด แล้วประทานพร 10 ประการให้นางสินธุระ เมื่อนางพำนักอยู่ที่เกาะนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดจนนางบรรลุเป็นพระอรหันต์และคงอาศัยอยู่ที่เกาะดังกล่าวตลอดมา
ต่อมา บ้านเมืองของนางเกิดความโกลาหลวุ่ยวาย ด้วยมีสัตว์ 3 ชนิด คือ มีกุ้งตัวใหญ่ขนาดเท่าลำตาล มีปูตัวใหญ่ขนาดผืนสาดคล้า และ ปลาตะเพียนทองตัวใหญ่ อายุได้ 500 ปี อาศัยที่ “พรหมทันตาสระ” ในอุทยานของพญาตนพ่อ สัตว์ทั้ง 3 ตัวมีฤทธิเดชอำนาจมาก กลายเป็นยักษ์ออกมารบกวนบ้านเมืองให้เดือดร้อน ครั้งนั้น มีลูกสาวอามาตย์ผู้หนึ่งอายุได้ 16 ปี  อามาตย์เห็นว่า ควรหาคู่ครองตกแต่งให้เป็นฝั่งเป็นฝา จึงไปเกี่ยวดองกับบุตรชายอาจารย์ แล้วเชิญหมอมาหาฤกษ์ยามวันเดือนที่เหมาะสม หมอตรวจดูฤกษ์แล้วบอกว่า ปีเดือนนี้ยังไม่เหมาะ ขอให้เลื่อนไปแต่งในปีหน้าเถอะ อามาตย์ก็ให้บุตรชายอาจารย์อยู่เรียนศิลปศาสตร์กับปุโรหิต
วันหนึ่ง ลูกสาวอามาตย์ไปเที่ยวสวน ได้เห็นปลาตะเพียนทองว่ายเที่ยวเล่นไปมาในสระน้ำ นางจึงเด็ดดอกไม้โยนลงไปให้เป็นอาหารปลา พักผ่อนจนพอแก่ใจก็ชวนสาวใช้กลับวัง ขณะกลับนั้น นางได้เดินสวนทางกับชายหนุ่มผู้เป็นบุตรอาจารย์ แต่พวกเขายังไม่เคยได้พบหน้ากันก่อน นางรู้ว่า เขาเป็นคู่มั่นหมายของตน แต่เมื่อยังไม่ได้แต่งงานกันตามจารีต ก็ไม่ควรพูดจาทักทายและใกล้ชิดกัน ให้ผิดธรรมเนียม  จึงเดินหลีกลงข้างทางผ่านไป บังเอิญปิ่นปักผมของนางไปติดกับกิ่งไม้และตกลงไปที่พื้นดิน โดยที่นางไม่รู้ตัว แต่บุตรชายอาจารย์เก็บเอาไว้
 คืนนั้น ปลาตะเพียนทองคิดว่า เป้าหมายของการเกิดมาในโลกก็คือการได้คู่ครองจะด้วยวิธีผิดหรือถูกก็ตาม มันจึงเนรมิตตนเอง กลายเพศเป็นหญิงสาวให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนดังธิดาของท่านอามาตย์ แล้วเดินไปที่บ้านพักของบุตรอาจารย์เรียกให้เขาเปิดประตู ทำทีถามถึงปิ่นปักผมที่ตกหายว่าท่านเห็นไหม ชายหนุ่มร้องตอบว่า เห็นและเก็บให้แล้ว เมื่อเปิดประตูออกมา ได้พบหญิงสาวที่คล้ายธิดาอามาตย์ ก็บอกว่า ให้รอที่หน้าบ้าน เขาจะไปนำปิ่นมาให้ เมื่อได้ปิ่นออกมา ก็ไม่พบหญิงสาว ร้องเรียก สอง สามครั้ง ก็ไม่มีคำตอบ จึงกลับเข้าไปในบ้าน กลับได้พบหญิงสาวนอนที่บนเตียงของตน ก็บอกว่า มันไม่เหมาะด้วยจารีต เพราะเรายังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานกัน  แต่ด้วยเล่ห์มารยาของปลาตะเพียนแปลงร่างมา ทำให้ชายหนุ่มต้องจำใจร่วมอภิรมย์ด้วยนางปลอม
เมื่อใกล้สว่าง นางก็ชวนหนีออกจากที่นั่น  ด้วยเหตุผลว่า เขาจากบ้านมานาน ควรกลับไปบ้าง และด้วยเกรงกลัวความผิดที่พวกตนชิงสุกก่อนห่าม จึงพากันหลบหนีไป เมื่อคนใช้อามาตย์นำอาหารไปส่ง เห็นประตูใส่กุญแจ แต่ไม่พบคน จึงกลับมาบอกเหตุนั้น อามาตย์จึงสั่งให้คนออกติดตาม  ไปทันชายหนุ่มกับหญิงสาวพอดี ตักเตือนว่า การหนีตามกันมาผิดจารีตคลองธรรม  ขอให้พวกเขากลับไปแจ้งแก่พ่อแม่ก่อน ถ้าจะไปจริง ๆ ก็ขี่ช้าง ขี่ม้ากลับไป จึงจะสมฐานะและยศศักดิ์
เมื่อชายหนุ่มและหญิงปลอมมาถึง อามาตย์เห็น คิดว่าเป็นธิดาของตน ก็โกรธมาก ร้องด่าทอภริยาด้วยด้วยคำอันหยาบช้า ไม่สั่งสอนลูก ทำให้ได้รับความอับอายขายหน้าชาวบ้าน จึงทุบตีภริยาตน ฝ่ายภริยาก็บอกว่า ธิดาสาวยังนอนอยู่ที่เตียง ไม่ได้ไปไหน จึงเข้าไปดูก็เห็นธิดาตัวจริงนอนอยู่ เรียกออกมา ปรากฏว่า เป็นธิดาสาวเหมือนกันทั้งสองคน สร้างความสับสน จึงถามซักไซ้เพื่อพิสูจน์ว่า คนใดเป็นลูกสาวจริง นางทั้งสองคนก็ตอบได้ตรงกััน และกล่าวหาอีกฝ่ายว่า เป็นยักษ์ปลอมมา เมื่อให้ชาวใช้ต่างๆ มาชี้ตัวก็ยังแยกไม่ออก ต่างชี้มั่วไป อามาตย์ก็สั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เอาไปเผาไฟพิสูจน์เสีย เมื่ออามาตย์ถูกเขาห้ามก็โกรธมาก จึงหลบหนีไปอยู่ในที่อื่นเสียหนึ่งคืน  
วันรุ่งเช้า อามาตย์ไปทูลเรื่องราวแก่เจ้าเมือง ขอให้ช่วยเชิญพญาวิษณุกรรม(หมอดู) มาส่องดูว่า ลูกสาวคนใดตัวจริงตัวปลอม ฝ่ายนางปลาตะเพียนทองก็หายตัวไปบอกสหายกุ้งให้แปลงตัวเป็นวิษณุกรรมมาแทน แล้วพระวิษณุกรรม(ตัวจริง)ก็มาพบกันกับวิษณุกรรม(กุ้ง) และทั้งสองต่างก็ชี้ไปว่าคนนั้นใช่ คนไม่ใช่ตามความเห็นของตน พญาพิษณุทั้ง 2 ก็ถุ้มเถียงกันโดยไม่อาจชี้ชัดลงได้  พญาหริภุญชัยก็กล่าวว่า ควรไปเชิญพญาปทุมมาตัดสินอีกคน นางปลาตะเพียนทองก็หายตัวไปบอกปูยักษ์ให้แปลงกายเป็นพญาปทุม มาอีกคน เกิดมีพญาปทุม 2 คนอีก เรื่องราวไปกันใหญ่ คือ เกิดมีธิดาอามาตย์ 2 คน มีพญาวิษณุกรรม 2 คน และมีพญาปทุมอีก 2 คน  ทั้ง 6 คนต่างยืนยันว่า ตนเป็นตัวจริงทั้งนั้น พญาหริภุญชัยไม่อาจตัดสินได้ จึงรับสั่งว่า วันนี้หยุดเอาไว้แค่นี้ก่อน ขอเลื่อนไปพิจารณาตัดสินความในวันพรุ่งนี้
 พญาหริภุญชัย เมื่อเสด็จเข้าพระที่ก็ทำพิธีบูชาเทพเจ้้า มีท้าวทั้งสี่ รวมทั้งผีอารักษ์บ้านเมืองขอให้มาช่วยบอกนิมิตร กำจัดความเดือนร้อนให้ด้วย เมื่อพระองค์บรรทมก็ปรากฏสุบินว่า มีนกอินทรีนำดอกบัวมาถวาย พระองค์ทรงรับเอาด้วยหัตถ์เบื้องขวา แล้วก็สะดุ้งตื่น รุ้งแจ้งก็ให้เชิญหมอปุโรหิตมาทำนายพระสุบินนิมิต หมอปุโรหิตก็ทำนายถวายว่า ถ้ามหาราชเจ้าได้รับเอาดอกบัวด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย พระองค์จักได้พบยังพระโอรส บัดนี้ มหาราชได้รับเอาด้วยหัตถ์เบื้องขวา พระองค์จักได้พบพระธิดาผู้ประเสริฐไม่ต้องสงสัย พญาหริภุญชัยตรัสว่า “นางสินธุระธิดาของเรา ได้ตกน้ำไปนานนับได้ 7 ปีแล้ว ไม่มีผู้ใจมาแจ้งข่าวคราวว่า นางยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าได้ตายไป” ตรัสแล้วพระองค์ก็กรรแสงถึงพระธิดาสินธุระ
ในส่วนของพระธิดาสินธุระ เมื่อพำนักอยู่ที่เกาะกลางสมุทร ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว  นางก็รำพึงถึงพระชนก-ชนนีี ว่า เราหนีมาอยู่ที่นี้ได้ 7 ปี ทางบ้านจะเป็นอย่างไรหนอ  นางก็ไขดูผอบแก้วส่องดูบ้านเมืองและพ่อแม่พี่น้อง ก็เห็นว่า บ้านเมืองบังเกิดโกลาหลเป็นอันมาก คิดว่า เราบวชเป็นสมณะแล้ว จะกลับไปหาพ่อแม่ด้วยตัวเองไม่ควร   ถ้าได้รับการนิมนต์ก่อนจึงจะไปได้ นางจึงไปขอร้องให้พญานาค แปลงเป็นพราหมณ์เฒ่า ไปสู่ปราสาทของพระชนกแล้วทูลถามว่า  พระองค์ยังอยากจะพบหน้าพระธิดาสินธุระหรือไม่  ถ้าพระองค์อยากพบ ขอให้ปลูกสร้างมณฑปขึ้นมาหลังหนึ่ง ในท่ามกลางเวียงแล้ว มุงด้วยผ้าขาว 7 ชั้น แล้วสร้างเตียงนอนสูงได้ 7 ศอก ปูลาดด้วยผ้าขาว ตั้งไหน้ำที่บรรจุเต็มด้วยน้ำหอมที่มุมมณฑปมุมละ 1 ไห มีขันดอกไม้ 1 ขัน    ขอให้มหาราชพร้อมทั้งเสนาอามาตย์พร้อมกันอาราธนา 3 ที พระธิดาก็จะมาปรากฏในเตียงนอนนั้น
เมื่อพญากระทำตามคำแนะนำและอาราธนาแล้ว  ยามนั้น ท้องฟ้าก็เกิดมืดมัวไปหมด มองไม่เห็นกัน สินธุรภิกษุณีก็เหาะมานั่งเหนือเตียง ครั้นท้องฟ้าแจ้ง เหล่าราชบริพาร พบพระธิดานั่งเหนืออาสนะ เหล่าอามาตย์ก็ไปทูลว่า พระธิดามาถึงแล้ว พญาหริภุญชัย จึงให้เรียกมเหสี และเหล่าสนมนางกำนัลให้นำเครื่องสักการบูชา มีข้าวตอกดอกไม้และเครื่องหอมเป็นต้นไปบูชานาง พร้อมกับถามพระธิดาว่า นางโกรธพ่อด้วยเรื่องใดจึงหลบหนีออกจากมืองไปโดยไม่สั่งลา นางก็บอกเหตุผลดังที่กล่าวมาว่า อยากพ้นจากวัฏฏะสงสารจึงได้หนีไปจนถึงเกาะกลางสมุทร ได้บวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระพุทธเจ้า และบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ที่เกาะตลอดมา
พญาหริภุญชัยก็ตรัสพ้อว่า นับแต่ลูกจาก พ่อไปไม่ทราบว่าเป็นหรือตาย แต่ใจคิดว่า ลูกได้ตายจากพ่อไปแล้ว บัดนี้เป็นบุญนักหนาที่ลูกยังมีชีวิตกลับมาหา พ่อมีความดีใจและความสุขอย่างที่สุด แต่ว่า บ้านเมืองของเราตอนนี้เกิดเหตุเดือดร้อน  และไม่ทราบว่า จะเป็นเพราะเหตุใด เพื่อแก้ไขปัดเป่า จึงได้ทำพิธีเชิญลูกให้มาช่วยแก้ไขความเดือดร้อน
สินธุรภิกษุณีจึงสั่งว่า ขอให้ไปนำธิดาอามาตย์ หมอวิษณุกรรม และพญาปทุมมาในที่นี้ให้ลูกได้ดูก่อน แล้วจะรู้ความจริง พญาก็ใช้คนไปนำธิดาอามาตย์  หมอวิษณุกรรม และพญาปทุมมาที่กลางเวียง แต่เมื่อพนักงานไปนำพวกเขา 6 คนมาที่ปะรำพิธี  ทุกคนกลับเห็นคนเพียง 3 คน เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก   จึงถามสินธุรภิกษุณีว่า พระธิดาคงมีวิชาสิปปคุณแก่กล้าแน่ๆ นางก็ตอบว่า นางไม่มีวิชาสิปปคุณอันใดพิเศษ เพียงแต่ได้บำเพ็ญภาวนาเมตตาอยู่เท่านั้น แต่ถ้าพระบิดาและเหล่าราชบริพารอยากเห็นเหตุการณ์นี้แล้ว ขอให้สร้างมุ้ง(สุด)ใหญ่มีความยาว 8 ศอก ความกว้าง 8 ศอกให้นำไห(ตุ่มน้ำ)ตาลใหญ่ จำนวน 3 ลูก ขนาดกลว้าง 3 ศอก และสูงได้ 3 ศอก เติมน้ำให้เต็มไหตาล 3 ลูกนั้น เอามุ้งครอบไว้ ก็จะเห็นสัตว์ 3 ตัวที่เป็นต้นเหตุเอง พญาผู้พ่อก็สั่งให้ทำตามคำของนาง แล้วนำเอามาวางไว้ในที่ใกล้สินธุรภิกขุนี
เมื่อนั้น สินธุรภิกขุนี ได้เริ่มสวดธัมม์(สาธยายพระสูตรต่างๆ) ที่ได้เรียนมาในสำนักพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่บท  เย สันตา,(มังคลสูตร) ยานีธะ,(รตนสูตร) กะระณี,(กรณียเมตตสูตร) มหาสมัย(มหาสมยสูตร)  ขณะที่ภิกษุณีสาธยายธัมม์อยู่นั้น สัตว์ 3 ตัว มีปลาตะเพียนยักษ์ ที่แปลงกายเป็นธิดาอามาตย์  กุ้งยักษ์ที่แปลงกายเป็นหมอวิษณุกรรม และปูยักษ์ ที่แปลงกายเป็นพญาปทุม ด้วยอานุภาพแห่งการสวดธัมม์(เจริญพุทธมนต์)ซึ่งมีฤทธิอำนาจมาก พวกเขาไม่อาจหลบหนีไปได้ ก็ได้มาปรากฏอยู่ในไหตาลนั้น แล้วนางก็เชิญให้ทุกคนมาแลดูในไหตาลที่มุ้งครอบไว้
เมื่อคนทั้งหลายได้เปิดมุ้งและมองดูในไหตาลก็พบสัตว์ใหญ่ 3 ตัว คือในไหตาลแรก พบปลาตะเพียนทอง ความยาวประมาณ 3 ศอกคืบ ไหตาลลูกที่ 2 ก็เห็นปูตัวใหญ่ขนาดเท่าฝามุนต่าง(ตอนแรกบอกขนาดเสื่อลำแพน) ดวงตาโปนโตเท่าลูกมะกอก ตีนยาว 1 วา 1 ศอก และในไหตาลลูกที่ 3 ก็เห็นกุ้ง มีลำตัวใหญ่ขนาดเท่าลำตาล ดวงตาใหญ่ขนาดเท่าลูกมะกอก  หนวดยาว 1 วา มีดวงตาอันแข็งกร้าว น่ากลัวยิ่งนัก นางก็กล่าวว่า  ปลาตะเพียนทองที่เนรมิตตนเป็นลูกสาวอามาตย์นั้นเพราะมันมีราคะตัณหาเกิดความรักใคร่กับบุตรชายอาจารย์ เมื่อมันเห็นบุตรชายอาจารย์พบกับธิดาอามาตย์ขณะที่ทั้งสองเดินสวนทางกันที่อุทยานวันนั้น ตัวเนรมิตเป็นหมอวิษณุกรรมก็ได้แก่ปูยักษ์ตัวนี้ ส่วนที่เป็นพญาปทุมก็คือกุ้งตัวนี้ เพราะเขาทั้ง 3 ตัวเป็นสหายกัน  
คนทั้งหลายเมื่อได้ยินคำสินธุรภิกษุนีกล่าวเช่นนั้น ก็ขอนุญาตว่า ควรนำสัตว์เหล้านนี้เอาไปฆ่าเสีย เพราะมันเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวาย นางจึงห้ามว่า  เราเป็นสมณะไม่อนุญาตให้ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วจึงๆด้เล่าถึงวิบากกรรมในอดีตของสัตว์ทั้ง 3 ให้คนทั้งหลายได้รับรู้ว่า  ในชาติก่อนนี้ พวกเขาเป็นสหายกัน เคยไปฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ในชาตินี้ วิบากกรรมเขามีจึงได้มาเกิดเป็นสัตว์ติรัจฉาน  วิบากของปลาตะเพียนทองนี้ ชาติก่อนเกิดเป็นลูกมหาเศรษฐี  ชอบกินแต่เนื้อปลาตะเพียนอย่างเดียวเป็นอาหาร อย่างอื่นไม่กิน  พ่อแม่ต้องพยายามหาซื้อเอามาให้เขากินให้ได้ไม่ว่าจะมีราคาจะแพงเท่าใดก็ยอม พรานปลาทั้งหลายรู้ว่ามีปลาตะเพียนอยู่ที่ใด ก็ไปหานำมาขายแก่เศรษฐี ด้วยวิบากกรรมนั้น มันตายไป จึงได้มาเกิดเป็นปลาตะเพียนทองถึง 500 ชาติ
วิบากกรรมของปูตัวนี้ ชาติก่อนเกิดเป็นลูกพญาตนหนึ่ง อยู่ในเมืองวิเทหะ ชอบนำปูมาเล่นชนกัน ให้คีบกัน ถ้าว่ามีปูตัวใหญ่อยู่ที่ใด ก็ไปเอามาขังไว้แล้วเอามาชนกันคีบกันเล่น ครั้นปูตายไปก็กินเนื้อปู และน้ำปูอยู่เสมอ ครั้นตายไปจึงได้มาเกิดเป็นปูถึง 500 ชาติ
  วิบากกรรมของกุ้งตัวนี้ ในชาติก่อนมันได้เกิดเป็นเป็นลูกเศรษฐีในเมืองวิเทหะ เขาชอบกินแต่กุ้งเป็นอาหารทุกวัน อาหารชนิดอื่นมันก็ไม่กิน ครั้นตายไปจึงเกิดเป็นกุ้งถึง 500 ชาติ  แต่เพราะเคยได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า มาชาติสุดท้ายพวกเขาจะได้เกิดเป็นคน และเราจะสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าแก่พวกเขา และพวกเขาก็จะได้บรรลุธรรมต่อไป แล้วภิกษุณีก็เทศนาสั่งสอนให้พญาและข้าราชบริพาร ละเว้นจากทุจริต ประพฤติสุจริต จงรักษาศีล 5 ศีล 8 เจริญเมตตาภาวนา ให้ทานแก่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก อย่าตระหนี่ และอย่าประมาททางบุญ ขอให้ดำรงตนอยู่ในทศพิธราชธัมม์ บ้านเมืองก็จะจำเริญมาก จงบริจาคปัจจัยทั้ง 4 แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อย่าได้ขาด  อานิสงส์จะได้พ้นจากความทุกข์ในวัฏฏสงสาร มีนิพพานเป็นที่สุด ในสำนักพระศรีอริยไตรย์ที่จักมาตรัสรู้ในภายหน้า
ในกาลนั้น พญาแลเสนาอามาตย์รวมทั้งชาวเมือง เมื่อได้ฟังคำสอนของสินธุรภิกษุณีแล้ว ก็มีความชมชื่นยินดีมาก ต่างบูชาด้วยข้าวของ เงินทอง ผ้าผ่อน ท่อนจันทน์มากมาย กองกันสูงขึ้นได้ขนาดเท่าชั่วต้นตาล  สินธุรภิกษุณีก่อนที่จะจากไปก็เขียนหนังสือสั่งไว้ด้วยคำว่า “เมืองอันนี้ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า รินทมาตานคร ด้วยชื่อนี้ก็จักมีความอุดมสมบูรณ์ มีฤทธิ์อำนาจมาก”  แล้วนำไหตาล 3 ไห ที่สัตว์ 3 ตัวอยู่ เหาะไปสู่เกาะของตน โดยไม่ได้บอกลาผู้ใด
ที่นั้น พญาพร้อมทั้งเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ไม่เห็นนางที่เตียง พบแต่หนังสือที่นางเขียนสั่งไว้ จึงปรึกษากันว่า เครื่องบูชาประมาณเท่านี้ นางก็ไม่เอาไป พวกเราควรจะทำอะไรดี อามาตย์ทั้งหลายก็ทูลว่า ควรสร้างอารามถวายให้เป็นที่อยู่ของพระอรหันต์ ส่วนเงินและทองนั้น ให้นำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปไว้ประจำในอาราม พญาก็ให้กระทำตามนั้น และหล่อรูปพระอัครสาวกขวาซ้าย สองรูป  หล่อรูปเหมือนสินธุรภิกษุณีไว้ด้วย ตั้งชื่อ อารามว่า “มาตาสิทธิอาราม” แล้วพญาก็มาเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า “รินทมาตานคร”  เมืองนี้ตึ้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมคธ ไปทางทิศตะวันออก ใช้ระยะการเดินทาง  8 คืน   ท้านสุด พญาก็จัดการตกแต่งธิดาอามาตย์กับบุตรชายอาจารย์ให้ได้อยู่ด้วยกันวันนั้นเอง
เมื่อสินธุรภิกษุณีนำสัตว์ทั้ง 3 ไปที่เกาะ อนุสสติได้ว่า ในชาติก่อนท่านเคยได้ตั้งปฏิญาณแก่กันเอาไว้ บัดนี้ถึงเวลาที่จะได้เปลื้องคำปฏิญญาโปรดให้พวกเขาถึงความสุข  จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า “ข้าแด่พญาอินทราธิราช พญาพรหม และท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ขอจงเป็นสักขีแก่ข้าฯ ขอให้สัตว์ 3 ตัวนี้ได้กลับถือกำเนิดเป็นมนุษย์ด้วยเถิด”   ในกาลนั้น อินทราธิราชได้รู้เหตุก็เสด็จลงมาสู่สำนักแห่งสินธุรภิกษุญี  เอาน้ำต้นคนทีรดลงบนตัวสัตว์ทั้ง 3 ทันใดนั้น สัตว์ทั้ง 3 ก็กลายเป็นทารกน้อย 3 คน  ปลาตะเพียนทองเกิดเป็นกุมารี ส่วนปูและกุ้ง เกิดเป็นกุมาร 2 คน สินธุรภิกษุณีเมื่อเห็นสัตว์ทั้ง 3  กลายเป็นคนด้วยอำนาจสัจอธิษฐานของตน ก็มีใจชื่นชมยินดีมาก ได้ถนอมเลี้ยงทารกน้อยทั้ง 3 ไว้ จนถึงอายุได้ 7 ขวบ นางก็สอนกัมมัฏฐานภาวนาให้ ทารกทั้ง 3 เมื่อปฏิบัติตามก็ได้บรรลุอรหันตมัคค-ผล

ข้อสังเกต จากโวหารตำนานเรื่องสินธุรภิกษุณีท่านนี้ บอกว่า นางได้พบพระพุทธเจ้า และสดับพระธรรมเทศนาที่โปรดโดยพระพุทธองค์  บรรลุเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพ   เมื่อตรวจสอบประวัติของพระเถรีที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ยังไม่ปรากฏว่ามีส่วนคล้ายหรือเทียบเคียงกับจริยาวัตรของพระเถรีรูปใด ในตำนานระบุชื่อพญาบิดาว่า พญาใสกล้า เจ้าเมืองหริภุญชัย ก็คงไม่ใช่ นครหริภุญชัย (ลำพูน)  เพราะตอนจบ บอกพิกัดว่า เมืองหริภุญชัย อยู่ห่างจากเมืองมคธ (ราชคฤห์) ไปทางทิศตะวันออก ระยะทางวัดด้วยการเดินเท้า สิ้นเวลาพักแรมระหว่างทาง 8 คืน ชื่อพี่สาว 2 คน คือ นางสีมูล(ศรีมูล) และ  นางสีคันธา(ศรีคันธา) แต่ตัวนางเองชื่อ สินธุระ เห็นแปลกออกไป ถ้าจะให้เข้าชุดกัน น่าจะเป็นสีธร(ศรีธร หรือ สิริธร แปลว่า ผู้ทรงศิริ) แถมยังมีเรื่องปาฏิหาริย์ ที่สัตว์(ซึ่งมีอำนาจตบะมาก เพราะมีอายุยืนถึง 500 ปี) สามารถแปลงกายเป็นคน มาสร้างความวุ่นวายโกลาหลแก่มนุษย์ จนภิกษุณีต้องมาปราบ และนำสัตว์กลับไปอธิษฐานให้สัตว์ทั้งสามได้อัตภาพใหม่ โดยเกิดเป็นมนุษย์ ว่าโดยข้อเท็จจริง ยังไม่สามารถปลงใจเชื่อได้ว่า เรื่องทำนองนี้จะมีความเป็นไปได้ แต่ว่าโดยสาระแห่งพระธรรมีกถา  ก็ควรรับฟัง เพราะเน้นชี้แจงเรื่องบาปบุญคุณโทษ กรรมและวิบากของกรรม และการเจริญภาวนาเพื่อมุ่งสุ่ความหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร สิ้นทุกข์เข้าสู่ความสุขมีพระนิพพานเป็นที่สุด.     (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง มีนาคม 2559)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น