วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปรามเตือนการทำผิด วินิจฉัยพิพากษา(คามณีจันทร์ชาดก) เรื่องลำดับที่ 5 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

ปรามเตือนการทำผิด วินิจฉัยพิพากษา(คามณีจันทร์ชาดก)  [1]


ความย่อ
               คามณีจันทร์ชาดก ฉบับวัดแช่ช้าง  ตำบลแช่ช้าง  อำเภอสันกำแพง  จังหวัดเชียงใหม่ จารโดยน้อยเย็น ในปีจุลศักราช 1222 (พ.ศ.2403)  เป็นนิทานชาดกที่มีตัวอย่างของการตัดสินคดีความอยู่ในนั้น รวมทั้งการตอบปัญหาที่มีผู้ฝากให้มาถาม  เรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงให้พระสงฆ์สาวกฟังที่พระเชตวันอาราม เมืองสาวัตถี  พระพุทธเจ้าได้เล่าอดีตเมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีและได้เกิดเป็นพระราชกุมารของพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์เมืองพาราณสี มีพระนามว่า อาทาสมุขกุมาร พระราชโอรสพระองค์นี้ได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านศาสตร์ศิลป์และไตรเพท 3 และทรงมีความสนใจและศึกษาเรื่องกฎหมายธรรมศาสตร์อีกด้วย เมื่ออายุ 7 ขวบพระราชบิดาสวรรคต เสนาอำมาตย์ได้ทดลองความสามารถของพระองค์หลายอย่าง เมื่อเห็นว่าเป็นผู้มีปัญญาจึงราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนมายุยังน้อย
               กล่าวถึงบุคคลหนึ่งชื่อ คามณีจันทร์ ซึ่งเคยเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าพรหมทัต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตลงก็มาคำนึงถึงชีวิตของตัวเองว่า เราจะมาทำหน้าที่รับใช้กษัตริย์ที่มีอายุน้อยไม่สมควรจึงลาออกจากราชการแล้วออก จากเมืองพาราณสีไปใช้ชีวิตในชนบทห่างไกล  ประกอบอาชีพทำนา ต่อมาได้เกิดคดีความขึ้นกับตัวเองถึง 4 คดี เจ้าทุกข์จึงคุมตัวมาฟ้องต่ออาทาสมุขกษัตริย์เพื่อช่วยตัดสินคดีความ สุดท้ายอาทาสมุขกษัตริย์จึงพิพากษาให้คามณีจันทร์ชนะทุกคดี และยังมีปัญหาอีก 10 เรื่อง ที่มีทั้งมนุษย์และสัตว์ฝากมาถาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญญา พระราชาก็ตอบปัญหาและเสนอทางแก้ไขให้จนครบทุกเรื่อง วิธีพิจารณาความ และคำตัดสินในสมัยโบราณเป็นเรื่องแปลก บางคดี เข้าทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง 
                   ส่วนภาษาบาลีที่จารลงในใบลานทางล้านนาส่วนใหญ่ มีข้อผิดพลาดมาก เพราะคนจารกับคนบอกขาดความรู้ลุ่มลึกทางไวยากรณ์บาลี เขียนตามคำบอก หรือตามเสียงที่ได้ยิน ด้วยมาตรฐานและความเชี่ยวชาญทางภาษาบาลีที่ต่ำ  ผู้เรียบเรียงพยายามปรับให้เข้ากฎเข้าเกณฑ์ไทางไวยากรณ์บาลี เพื่อให้ศัพท์สามารถแปลได้ถูกต้อง แต่ก็มีบางศัพท์ที่ไม่อาจคาดเดา ว่าต้นรากคืออะไร คงปล่อยเอาไว้ตามต้นฉบับไปก่อน หากพบที่มาอื่นใด จะทำการแก้ไขต่อไป
ความเรียงสาระของเรื่อง
คามณีจันทร์ชาดก
               นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ, สัปปานะยัง ฆะราณะ กุสสะโลติ  อิทัง สัตถา   เชตะวะเน  วิหะรันโต  ปัญญาปะสาสะนัง  อารัพภะ กะเถสิ ธัมมะสะภายัง  ภิกขุ ทุพะละสะปัญญา  ปะสังสันตานิ  อาวุโส  ตะถาคะโต  มะหาปัญโญ  ปุถุปัญโญ หาสะนาปัญโญ  วะณะปัญโญ   ติกขะปัญโญ  นิพเพธิกะปัญโญ  สะเทวะกัง  โลกัง ปัญญายะ  อะติกันตะ... 
               พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เป็นครูแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย สถิตในเชตวันอาราม ปรารภถึงภิกษุทั้งหลายที่ชุมนุมกันที่ธรรมศาลาและกล่าวสรรเสริญปัญญาของพระพุทธเจ้าว่าทรงมีปัญญาที่กว้างขวาง  มีปัญญาที่ทำให้คนยิ้มแย้มแจ่มใสและได้ถึงมรรคผล ทรงมีปัญญาอันแหลมคม ทรงมีปัญญากล้าแข็ง ทรงมีปัญญาสอนให้มนุษย์และเทวดาพ้นจากวัฏสงสารข้ามล่วงยังมนุษยโลกกับทั้งเทวโลกด้วยปัญญา
               พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกจากคันธกุฎีมาที่ธรรมศาลาแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านมาชุมนุมกันด้วยกิจอันใด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พวกเราทั้งหลายมาชุนนุมกันด้วยเห็นถึงพระปัญญาของพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีปัญญามากนั้นไม่ใช่จะมีเพียงในกาลบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ยังมีเช่นกัน ตรัสเพียงเท่านั้นก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบอาราธนาให้พระองค์เล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง
               พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่องอดีตของพระองค์ให้ฟังว่าครั้งเมื่อพญาพรหมทัต เสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสีนั้น พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์พระเทวีของพญาพรหมทัตเมื่อประสูติออกมามีใบหน้าสดใสงดงามมากประดุจดั่งกระจก พระบิดาและพระมารดาจึงให้ชื่อว่า อาทาสมุขกุมาร[2] เมื่อพระราชบุตรมีอายุ 7 ขวบ พญาพรหมทัตจึงให้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ทั้ง 3 หลังจากนั้นพญาพรหมทัตก็ได้สวรรคตลง เหล่าราชวงศ์และเสนาอามาตย์จึงได้จัดพิธีพระศพอย่างสมพระเกียรติ
               เมื่อพ้น 7 วันหลังจากประชุมเพลิงสรีระศพพญาพรหมทัตแล้ว พวกเสนาอามาตย์จึงได้ประชุมกันที่ท้องพระโรง พูดถึงพระราชกุมารที่ถึงแม้จะทรงพระเยาว์ก็สมควรที่จะทำราชาภิเษกให้เป็นกษัตริย์แทน  เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ให้มีการตกแต่งเมืองพาราณสีเตรียมจัดพิธีราชาภิเษก  แต่ก่อนจะถึงพิธีนั้นจะต้องทดสอบปัญญาของผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ก่อน จึงเข้าไปกราบทูลอาทาสมุขราชกุมารเพื่อเสด็จไปที่ท้องพระโรง ระหว่างที่เสด็จไปนั้นพวกเสนาก็จูงลิงตัวหนึ่งติดตามพระองค์ไปเมื่อเสด็จไปถึงก็ขึ้นนั่งบนพระแท่นเศวตฉัตร เหล่าเสนาอามาตย์จึงกราบทูลว่าเมื่อพระองค์ไม่ขัดข้องที่จะเป็นพญาแทนพระบิดาและต่อไปจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินคดีความในศาล  อาทาสมุขราชกุมาร ก็ตรัสว่าก็ดี จากนั้นจึงกราบทูลว่า ชายลิงผู้นี้เขารู้เรื่องกฎหมายและวิธีตัดสินคดีต่างๆ เมื่อพญาพรหมทัตพระราชบิดายังอยู่ก็ใช้ชายลิงผู้นี้ในการตัดสิน ขอพระองค์แต่งตั้งชายลิงผู้นี้ให้เป็นใหญ่ด้วยพระเจ้าข้า อาทาสมุขะทรงทอดพระเนตรดูลิงตัวนั้นแล้วจึงรำพึงในใจว่า ชายผู้นี้ไม่ใช่คน แต่เป็นลิง ขึ้นชื่อว่าลิงจะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นนั้นไม่ค่อยมีและยังทำความฉิบหายให้เกิดกับบุคคลอื่นด้วย พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนอามาตย์ สัตว์ตัวนี้จะว่าฉลาดอาจสร้างบ้านแปลงเรือนนั้นไม่มีสัตว์ตัวนี้มีหน้าอันเหี่ยวย่น ย่อมไม่เป็นผลดีแก่กิจกรรมทั้งหลายอันตระกูลลิงนั้นย่อมสร้างแต่ความวุ่นวายให้เกิดมีตลอดกาล
               เสนาอามาตย์จึงทูลว่าสัตว์ตัวนี้คงจะเป็นอย่างที่พระองค์ว่า จึงให้นำลิงตัวนั้นออกไปอยู่ต่อมาอีก 3 วันพวกเขาจึงแต่งตัวให้ลิงตัวนั้นแล้วนำมาเฝ้าอาทาสมุขะที่โรงศาลตัดสินคดีความอีก  และกราบบังคมทูลว่าข้าแด่พระองค์ ชายผู้นี้เป็นอำมาตย์ผู้พิจารณาคดีความในสมัยที่พระบิดาของพระองค์ยังมีชีวิต  ขอพระองค์พิจารณาชายผู้นี้เพื่อตั้งให้เป็นผู้ตัดสินคดีด้วยเถิด  อาทาสมุขราชกุมารจึงตรัสว่า ดูรา อำมาตย์ คนที่มีสภาพอย่างนี้จะมีจิตใจที่จะพิจารณาวินิจฉัยคดีนั้นไม่มี ดูรา อำมาตย์ขนอันแข็งกระด้างอันมีในตนแห่งคนผู้นี้ จะไม่มีในตนแห่งคนที่มีปัญญา สัตว์ตัวนี้เป็นลิงไม่อาจจะสั่งสอนผู้อื่นได้ พระราชบิดาของเราได้สั่งไว้ว่า อันว่าลิงนั้นย่อมไม่รู้ถึงเหตุและไม่ใช่เหตุ ลิงตัวนี้ไม่รู้ค่าสิ่งใดเลย อำมาตย์จึงทูลว่า ก็คงเป็นอย่างที่พระองค์ว่า แล้วให้นำลิงตัวนั้นออกไป
               อยู่มาอีก 1 วัน เหล่าอามาตย์จึงแต่งตัวให้ลิงตัวนั้นแล้วนำกลับมาที่ห้องวินิจฉัยอีกแล้วกล่าวทูลอาทาสมุขราชกุมารว่า ชายผู้นี้หากเป็นผู้ดูแลพระราชมารดาของพระองค์ในตอนที่พระราชบิดายังอยู่ ชายผู้นี้เป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อผู้เฒ่าผู้แก่ในราชตระกูลของพระองค์ พระองค์ควรสงเคราะห์ชายผู้นี้ อาทาสมุขราชกุมารพิจารณาดูลิงตัวนั้นแล้วจึงรำพึงว่า ขึ้นชื่อว่าลิงนั้นย่อมมีจิตหวั่นไหว ไม่อาจจะทำกิจกรรมอันใดได้  จึงตรัสว่า ดูก่อนอามาตย์ทั้งหลาย  ชายที่เห็นนี้ก็เป็นลิงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ญาติพี่น้องได้ ด้วยเงินทอง อาหารและเครื่องนุ่งห่มได้ ส่วนอามาตย์ทั้งหลายก็กล่าวว่าก็คงจะเป็นดั่งพระองค์ว่า จึงให้นำลิงตัวนั้นออกไปแล้วจึงมาทูลว่าพระองค์เป็นผู้ฉลาดอาจครองราชย์ได้จึงพร้อมกันราชาภิเษกพระโพธิสัตว์เจ้าให้เป็นกษัตริย์ ออกไปตีป่าวข่าวร้องให้ชาวเมืองรับรู้
               อาทาสมุขราชกุมารได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติปกครองบ้านเมืองโดยชอบด้วยทศพิธราชธรรม 10 ประการ ประกอบด้วยปัญญาอันฉลาด
               ในเมื่อเสนาอามาตย์ได้ทำพิธีราชาภิเษกอาทาสมุขะขึ้นเป็นกษัตริย์ เสวยราชยสมบัติในเมืองพาราณสีแล้ว ยังมีพวกน้อย[3] ผู้หนึ่งชื่อ คามณีจันทร์  เป็นผู้รับใช้ในวังมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดาของอาทาสมุขราชกุมารได้รำพึงในใจว่า สมบัติทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีความหมายสำหรับคนที่มีอายุยังน้อยเท่านั้น สำหรับตัวกูนี้เป็นอันเฒ่าแก่แล้วจะมาบำเรอคอยเฝ้าราชกุมารนั้นไม่ควร จึงได้ขอลาออกจากราชการไปเพื่อทำนาเลี้ยงชีวิต 
               เมื่อคามณีจันทร์ออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ในชนบทก็ได้เกิดคดีความขึ้นกับตัวเองถึง 4 คดี คือ
คดีที่ 1 ถูกกล่าวหาว่ายืมวัวเพื่อนไปไถนา และถูกกล่าวหาว่าไม่ส่งคืน  
               คามณีจันทร์ออกจากเมืองไปไกลถึง 16,000 วา ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อถึงฤดูทำนาคามณีจันทร์จะลงมือทำนา แต่ยังไม่มีวัวสำหรับไถนา จึงไปยืมวัว 2 ตัว จากเพื่อนคนหนึ่งมาไถนาจนเสร็จ แล้วนำวัวทั้ง 2 ตัวไปคืนแก่เจ้าของวัวซึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ตอนที่นำวัวไปคืนนั้น เจ้าของวัวและภรรยากำลังนั่งกินอาหารอยู่บนเรือน  เมื่อไปถึงบ้าน วัว 2 ตัวนั้นก็เข้าไปสู่ที่คอกวัว เพราะวัวเคยอยู่  คามณีจันทร์ก็คิดว่าเจ้าของวัวคงเห็นแล้วจึงไม่ได้ผูกวัวไว้กับคอก  และได้เดินกลับออกไป  ตกเวลากลางคืน มีโจรมาขโขมยเอาวัว 2 ตัวนั้นไป  เมื่อรุ่งเช้า ชายเจ้าของวัวไปที่คอกวัวไม่เห็นวัวของตน  และคิดว่าโขมยมาลักเอาไปเสียแล้ว  เจ้าของวัวจึงรำพึงในใจว่า “จะให้คามณีจันทร์ใช้หนี้”  จึงเดินทางไปทวงเอาวัวจากคามณีจันทร์ คามณีจันทร์ก็บอกเจ้าของวัวว่า “เมื่อวานตอนเย็นข้าก็ได้นำวัวไปคืนที่บ้านสหายแล้ว  ตอนนั้นข้ายังเห็นสหายนั่งกินอาหารอยู่กับภรรยา”  เจ้าของวัวก็ถามไปว่า “ท่านได้ผูกวัวของข้าไหมเล่า”  คามณีจันทร์ตอบว่า “ข้าไม่ได้ผูก เพราะคิดว่าท่านจะลงมาผูกเอง”  เจ้าของวัวจึงไม่พอใจและพูดขึ้นว่า “ดังนั้นท่านต้องรับผิด และใช้ค่าวัวให้แก่ข้า  ข้าจะพาเจ้าไปให้กษัตริย์เจ้าเมืองเป็นผู้ตัดสินคดีความเรื่องนี้”  ว่าแล้วก็นำคามณีจันเดินทางไปเพื่อมุ่งไปสู่ศาลากว๊าน คือ ศาลในเมือง

คดีที่ 2 ถูกกล่าวหาว่าตีภรรยาเพื่อนที่กำลังตั้งครรภ์
               คามณีจันทร์เดินทางไปกับเจ้าของวัวและเกิดอาการหิวข้าวเมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งเป็นหมู่บ้านของเพื่อนคามณีจันทร์ จึงบอกแก่เจ้าของวัวว่า “ท่านจงรอข้าอยู่ตรงนี้ก่อนข้าจะเข้าไปขอกินข้าวบ้านเพื่อนแล้วจะกลับมา” คามณีจันทร์จึงเดินเข้าไปที่เรือนของเพื่อน บังเอิญเพื่อนไม่อยู่พบแต่หญิงท้องแก่ใกล้คลอดที่เป็นภรรยาของเพื่อน จึงขอกินข้าวกับนาง นางพูดขึ้นว่า “ข้าวและอาหารที่สุกแล้วไม่มี แต่ไม่เป็นไรข้าจะรีบขึ้นไปหุงข้าว  ท่านจงรออยู่ก่อนเถิด” แล้วนางจึงรีบขึ้นบันไดเรือน ด้วยกรรมใดไม่ทราบ นางเกิดเหยียบบันไดพลาดตกลงมาท้องพาดกับขั้นบันไดจึงทำให้แท้งลูก ขณะนั้นผัวของนางกลับจากธุระมาพบเหตุ จึงกล่าวโทษกับคามณีจันทร์ว่าเป็นผู้ตีภรรยาตนจนแท้งลูก  จะต้องไปฟ้องศาลในเมือง จึงนำคามณีจันทร์ออกจากบ้านมารวมกับเจ้าของวัวเดินทางไปพร้อมกัน
คดีที่ 3 ถูกกล่าวหาว่าตีม้าผู้อื่นจนขาหัก
               ในระหว่างที่ทั้ง 3 คนเดินทางไปนั้น พบกับคนเลี้ยงม้ากำลังจูงม้าให้เข้าบ้าน แต่ม้าไม่ยอมเข้า  เจ้าของม้ามองเห็นคามณีจันทร์เดินมาจึงตะโกนว่าช่วยตีม้าให้เข้าบ้านด้วยเถิด คามณีจันทร์จึงคว้าได้ก้อนหินขว้างปาไปถูกม้า ทำให้ม้าขาหัก  เจ้าของม้าไม่พอใจจึงพูดขึ้นว่า “ท่านทำให้ม้าข้าขาหัก มันเป็นราชโทษ ข้าต้องพาเจ้าไปพึ่งพญาเจ้าเมืองให้ช่วยตัดสิน”  ว่าแล้วก็นำคามณีจันทร์เดินทางไปพร้อมเจ้าของคดีอีก 2 คน 
คดีที่ 4 ถูกกล่าวหาว่าฆ่าช่างสานเสื่อ
               คามณีจันทร์ก็ครุ่นคิดไปตลอดทางว่า กูไม่มีค่าวัว ไม่มีเงินใช้ค่าที่ทำให้ลูกเขาตาย ไม่มีเงินใช้ค่าม้า เขาจะพากูไปฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อท้าวพญาเจ้าเมือง กูจักมีเงินจากที่ใดมาใช้หนี้เขา ขณะกำลังเดินทางผ่านเข้าสู่ป่าและภูเขา  จึงตัดสินใจว่า กูควรตายเสียดีกว่า คิดดังนั้นแล้วจึงบอกแก่คู่ความทั้ง 3 ว่า ข้าปวดท้อง ขอเข้าไปถ่ายในป่านี้ ท่านหลายจงรอข้าอยู่ตรงนี้เถิด เมื่อเข้าไป ก็เห็นเป็นหน้าผาจึงกระโดดลงไปเพื่อฆ่าตัวตาย  ด้านล่างมี 2 พ่อลูกกำลังนั่งสานเสื่ออยู่ คามณีจันทร์จึงตกลงไปบนหลังผู้เป็นพ่อถึงแก่ชีวิต  ผู้เป็นลูกจึงกล่าวโทษว่า “ท่านเป็นผู้ฆ่าพ่อเราตาย เป็นราชโทษ ข้าจึงขอพาเจ้าไปฟ้องกับท้าวพญาเจ้าเมืองให้ท่านเสียเงินค่าชีวิตพ่อข้า” จึงพาขึ้นมาพบกับคู่ความทั้ง 3 คนแล้วจึงคุมตัวคามณีจันทร์เดินทางต่อไป
มีผู้ฝากเรื่องไปถามพญาเจ้าเมือง 10 เรื่อง
เรื่องที่ 1 ปัญหาของนายบ้าน
               บุคคลทั้ง 4 คือ เจ้าของวัว พ่อลูกอ่อน เจ้าของม้า ลูกช่างสานเสื่อและคามณีจันทร์เดินทางมุ่งเข้าสู่เมือง ในระหว่างทางได้พบกับนายบ้านคนหนึ่งยืนอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อเห็นคามณีจันทร์และพวกเดินผ่านมา นายบ้านจึงทักว่า  “คามณีจันท์ท่านจะไปไหนกัน”คามณีจันทร์กล่าวว่า  “ข้าจักไปเฝ้าพญาเจ้าเมือง”  นายบ้านจึงกล่าวต่อไปว่า  “ดีแล้วข้าขอฝากข่าวถามเจ้าพญาว่า แต่เดิมข้าเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก เมื่อก่อนเคยมีรูปร่างผิวพรรณและมีสุขภาพดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ เลย แต่บัดนี้เกิดเป็นโรคต่างๆ หลายโรคจนทำให้ร่างกายซูบผอม ทรัพย์สมบัติที่เคยมีก็หมดสิ้นไม่เหลือสิ่งใดเลย ท่านจงถามเจ้าพญาด้วยว่าเป็นเพราะเหตุใด ทราบว่าพญาเจ้าเมืองเป็นผู้มีปัญญาอาจจะรู้ถึงสาเหตุ จึงฝากท่านช่วยทูลถามให้ด้วย  เมื่อได้ความประการใดตอนท่านกลับขอแวะบอกให้ข้าทราบด้วย” คามณีจันทร์ก็รับปากนายบ้านผู้นั้นแล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 2 ปัญหาของหญิงโสเภณี         เมื่อเดินไปผ่านหน้าบ้านของหญิงหาเงิน(ขายตัว)  เมื่อหญิงสาวเห็นคามณีจันทร์เดินมาพร้อมกับพวกจึงถามขึ้นว่า “ลุงจักพาไปกันที่ใด”  คามณีจันทร์ตอบว่า “ข้าจะเดินทางไปเฝ้าพญาเจ้าเมือง”  หญิงสาวผู้นั้นจึงกล่าวว่า “ข้าได้ยินมาว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงเป็นมหาบัณฑิต ท่านจงเอาปัญหาของข้าไปทูลถามพระองค์ด้วย คือ ตัวข้านี้แต่ก่อนก็มีรายได้จากผู้ชายทั้งหลาย   แต่บัดนี้ ไม่มีชายใดมาข้องแวะกับข้าเลย  ข้าจึงขาดรายได้ไป ขอให้ทูลถามพระองค์ว่าเป็นด้วยสาเหตุใด” คามณีจันทร์ก็รับปากนางว่าจะทูลถามให้ แล้วก็จึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 3 ปัญหาของหญิงมีสามีใจรวนเร
               เมื่อเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง  มีหญิงสาวตะโกนถามขึ้นว่า “พวกลุงทั้งหลายจะพากันเดินทางไปที่ใด”  คามณีจันทร์ตอบว่า “ข้าจะเดินทางไปเฝ้าพญาเจ้าเมือง” หญิงสาวผู้นั้นจึงกล่าวต่อไปว่า “ข้าขอฝากเรื่องไปทูลถามพระองค์ท่านผู้เป็นมหาราชบัณฑิตด้วยว่า ข้านั้นทำไมจึงมีจิตใจที่เรรวน เมื่ออยู่ในบ้านของสามีก็อยากจะไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่  เมื่ออยู่บ้านพ่อแม่ก็อยากกลับไปอยู่บ้านสามี  จึงเดินทางกลับไปกลับมาอย่างนี้เป็นประจำ เป็นด้วยเหตุใด”  คามณีจันทร์ก็รับปากนางว่าจะทูลถามเรื่องนี้ให้ แล้วก็พากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 4 ปัญหาของงู
               เมื่อเดินไปในระหว่างทางมีงูตัวหนึ่งอยู่ข้างทางเดิน  เมื่อเห็นกลุ่มคนเดิมมางูจึงถามขึ้นว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันไปที่ใด”  คามณีจันทร์จึงตอบว่า “พวกเราจะพากันไปเฝ้าท้าวพญามหากษัตริย์”  งูแสดงความดีใจแล้วพูดขึ้นว่า “ดีแล้ว ข้าก็เคยได้ยินมาว่าพระองค์เป็นผู้มีปัญญา ข้าขอฝากความประหลาดใจของข้าไปทูลถามพระองค์ด้วยว่า ตัวข้านี้อยู่ในรูจอมปลวก เมื่อเวลาที่ข้าอยู่ในรูจอมปลวกนั้น  เมื่อข้าหิวอาหารมาก มีตัวอันผอมเล็ก เมื่อข้าจะออกจากรูทำไมจึงออกยากดูเหมือนกับรูนั้นแคบบีบรัดตัวข้า  เมื่อข้าออกมาได้แล้วได้ไปหาอาหารกินจนอิ่มเต็มที่ มีตัวอันอ้วนใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก  และเมื่อกลับเข้าไปในรูทำไมถึงเข้าไปได้อย่างง่ายดายไม่ติดขัดเลย ขอท่านทูลถามพระองค์ท่านด้วยว่า เป็นเพราะเวรกรรมอันใดของข้า” คามณีจันทร์ก็รับปากงูว่าจะทูลถามให้ แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 5 ปัญหาของเนื้อทราย
               เมื่อเดินทางต่อไปได้พบกับเนื้อทรายตัวหนึ่ง ยืนอยู่ที่โคนไม้นิโครธ (ต้นไทร)  เมื่อเห็นกลุ่มคนเดิมมาจึงถามขึ้นว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันไปที่ใด”  คามณีจันทร์จึงตอบว่า “พวกเราจะพากันไปเฝ้าท้าวพญามหากษัตริย์”  เนื้อทรายตัวนั้นพูดขึ้นว่า “ดีแล้ว ข้าขอฝากความทุกข์ของข้าไปทูลถามพระองค์ด้วยว่า ทำไมตัวข้านี้จึงชอบกินหญ้าที่โคนต้นนิโครธนี้ ไม่อยากออกไปกินหญ้าที่อื่นเลย  ขอท่านทูลถามพระองค์ท่านด้วยว่าเป็นเพราะเวรกรรมอันใดของข้า” คามณีจันทร์ก็รับปากเนื้อทรายว่าจะทูลถามให้ แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 6 ปัญหาของนกกระทา
               เมื่อเดินทางต่อไปได้พบกับนกกระทาตัวหนึ่ง จับอยู่ข้างจอมปลวก  เมื่อเห็นกลุ่มคนเดิมมาจึงถามขึ้นว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันไปที่ใด”  คามณีจันทร์จึงตอบว่า “พวกเราจะพากันไปเฝ้าท้าวพญามหากษัตริย์”  นกกระทาตัวนั้นพูดขึ้นว่า “ดีแล้ว ข้าขอฝากความทุกข์ของข้าไปทูลถามพระองค์ด้วยว่า ทำไมตัวข้านี้เมื่อจับอยู่ข้างจอมปลวกจึงมีความสุข แต่ถ้าไปจับที่อื่นไม่มีความสุขเลย ขอท่านทูลถามพระองค์ท่านด้วยว่า เป็นเพราะเวรกรรมอันใดของข้า” คามณีจันทร์ก็รับปากนกกระทาว่าจะทูลถามให้ แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 7 ปัญหาของรุกขเทวดา
               เมื่อเดินทางไปถึงต้นไม้ต้นหนึ่ง  มีรุกขเทวดาประจำต้นไม้นั้น เห็นกลุ่มคนเดินมาจึงถามขึ้นว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันไปที่ใด”  คามณีจันทร์จึงตอบว่า “พวกเราจะพากันไปเฝ้าท้าวพญามหากษัตริย์” รุกขเทวดาจึงกล่าวว่า “ดีแล้ว ขอฝากคำถามไปทูลกับพระองค์ด้วยว่า ก่อนมีคนนำเครื่องเซ่นสังเวยมากราบไหว้บูชามิได้ขาด แต่บัดนี้หาคนมาบูชาไม่มีเลย ข้าก็ ขอให้ท่านทูลถามพระองค์ด้วยว่า เป็นเพราะเหตุใด” คามณีจันทร์ก็รับปากรุกขเทวดาว่าจะทูลถามให้ แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 8 ปัญหาของนาค
                   เมื่อเดินทางต่อไปผ่านสระแห่งหนึ่งมีนาคอยู่รักษา  เมื่อเห็นกลุ่มคนเดิมมานาคจึงถามขึ้นว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันไปที่ใด”  คามณีจันทร์จึงตอบว่า “พวกเราจะพากันไปเฝ้าท้าวพญามหากษัตริย์”  นาคจึงพูดขึ้นว่า “ข้าขอฝากปัญหาไปทูลถามพระองค์ด้วยว่า  เมื่อก่อนนี้น้ำในสระใสเย็นมากนัก แต่บัดนี้มีน้ำขุ่นและแห้งเขิน  เป็นเพราะเหตุใด” คามณีจันทร์ก็รับปากนาคว่าจะทูลถามให้แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 9 ปัญหาของฤาษี
               เมื่อเดินทางเข้าไปใกล้จะถึงเมืองพาราณสี  เดินผ่านสวนอุทยานซึ่งมีฤาษีอาศัยอยู่ เมื่อรู้ว่าพวกคามณีจันทร์จะเข้าเฝ้าเจ้าพญามหากษัตริย์  จึงฝากเรื่องไปทูลถามว่า “แต่ก่อนผลไม้ในสวนอุทยานนี้มีรสอันหวานหอมมาก  แต่บัดนี้ลูกไม้ทุกอย่างมีรสฝาดและขมมีรสชาติเหมือนกันทุกต้น เป็นด้วยเหตุใด ขอคามณีจันทร์ช่วยทูลถามให้ข้าด้วยเถิด”  คามณีจันทร์ก็รับปากฤาษีว่าจะทูลถามให้แล้วจึงพากันเดินทางต่อไป
เรื่องที่ 10 ปัญหาของพราหมณ์
               เมื่อเดินไปจนเกือบจะเข้าประตูเมือง  มีพราหมณ์กลุ่มหนึ่งพักอยู่ที่ศาลานอกกำแพงเมือง  เห็นว่าคามณีจันทร์และพวกกำลังจะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ จึงได้ฝากปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกพราหมณ์ให้ช่วยทูลถามให้ด้วย ว่า แต่ก่อนพราหมณ์ทั้งหลายที่อยู่ในศาลานี้เวลาที่สวดสาธยายมนต์จะมีความจำที่แม่นยำ แต่บัดนี้มีการหลงลืมบทสวดต่างๆไปหมด เป็นเพราะเหตุใด  คามณีจันทร์ก็รับปากว่าจะทูลถามให้
               จากนั้นจึงพากันเข้าไปในเมืองและเข้าเฝ้าอาทาสมุขราชกุมารในโรงตัดสินความ  เมื่อพญาเจ้าเมืองเห็นคามณีจันทร์ก็จำได้ และรำพึงในใจว่า “ชายผู้นี้เคยรับราชการอยู่อุปัฏฐากบิดาของเรา ต่อมาได้ลาออกแล้วไม่รู้ว่าไปอยู่ ณ ที่ใด เป็นเวลานาน เพิ่งมาเห็นในวันนี้เอง”  พระองค์จึงตรัสถามคามณีจันทร์ว่า “คามณีจันทร์ท่านไปอยู่ที่ใดเป็นเวลานานมาก ที่ท่านมานี้มีเรื่องอันใด” 

วินิจฉัยตัดสินคดีที่ 1
 คามณีจันทร์จึงกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ได้ไปอยู่ในชนบทห่างไกล  ตั้งแต่เมื่อพระราชบิดาของพระองค์สวรรคต  ข้าพระองค์จึงได้ขอลาไปเป็นชาวนาทำนาเลี้ยงชีวิต แต่เมื่อไปทำนาข้าพระองค์ได้เช่าวัวจากชายผู้นี้ เมื่อเสร็จนาข้าก็นำวัวไปคืน ชายเจ้าของวัวก็เห็น แต่ชายเจ้าของวัวได้กล่าวหาข้าว่าไม่ได้คืนวัวให้กับเขา  จึงคุมข้าพระองค์มาฟ้องเพื่อให้พระองค์ตัดสิน” คามณีจันทร์จึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้เจ้าเมืองฟังตั้งแต่ต้นจนจบ  จากนั้นพระองค์จึงตัดสินคดีนี้ว่า “โทษที่คามณีจันทร์เอาวัวไปคืนถึงบ้านแต่ไม่ได้ผูกวัว ให้เสียค่าปรับตามค่าของวัว 2 ตัวเป็นเงิน 69 กหาปนะ  ส่วนผู้เป็นเจ้าของวัวได้เห็นคามณีจันทร์เอาวัวไปคืน แต่พูดเท็จว่าไม่เห็น จึงให้คามณีจันทร์ควักลูกตาของเจ้าของวัวออกทั้ง 2 ข้าง  แล้วจึงให้นำตัวทั้ง 2 คนออกไปข้างนอก เจ้าของวัวจึงกราบเท้าคามณีจันทร์และกล่าวว่า “ท่านอย่าได้ควักลูกตาของข้าเลย  ค่าวัวที่เจ้าจะเสียข้าก็ไม่เอาแล้ว พร้อมกับมอบเงินให้อีกจำนวนหนึ่งแล้วจึงกลับไป
วินิจฉัยตัดสินคดีที่ 2
               ชายผู้เป็นเพื่อนคามณีจันทร์ที่ภรรยาของเขาแท้งลูก ได้เป็นโจทก์ฟ้องว่า  “มีวันหนึ่งคามณีจันทร์ไปบ้านข้าพเจ้า  และได้ตีเมียของข้าที่กำลังตั้งท้องได้ 7 เดือน ทำให้ลูกของข้าตายและแท้งออกมา”  เจ้าพญาจึงถามคามณีจันทร์ว่า “ท่านไปตีเมียที่มีครรภ์ของชายผู้นี้จนถึงกับแท้งลูกจริงหรือ”  คามณีจันทร์จึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พญาเจ้าเมืองฟังตั้งแต่ต้นจนจบ  เมื่อนั้นอาทาสมุขราชถามผู้เป็นพ่อลูกอ่อนว่า “ท่านจะให้คามณีจันทร์ชดใช้อย่างไร” ชายผู้เป็นพ่อลูกอ่อนทูลว่า “ข้าแด่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้าอยากจะได้ลูกคืนมา” พญาเจ้าเมืองจึงตัดสินว่า “คามณีจันทร์เจ้าจงเอาเมียของชายผู้นี้ไปอยู่กับท่าน เมื่อตั้งครรภ์และคลอดลูกแล้วจึงนำเมียและลูกไปส่งคืนให้กับชายผู้นี้เถิด”  แล้วให้นำตัวโจทก์และจำเลยออกไปด้านนอก  ชายผู้เป็นโจทก์จึงก้มกราบเท้าคามณีจันทร์และกล่าวว่า “คามณีจันทร์อย่าได้เอาเมียข้าไปอยู่กับท่านเลย อย่าทำให้ครอบครัวของข้าต้องแยกกันเลย” พูดแล้วจึงให้เงินกหาปนะแก่คามณีจันทร์แล้วกลับไป 
วินิจฉัยตัดสินคดีที่ 3
                   โจทก์ที่เป็นเจ้าของม้ากล่าวฟ้องว่า “คามณีจันทร์ได้ตีม้าของข้าพเจ้าจนขาหัก ดังนั้นขอให้เขาใช้เงินค่าม้าให้จำนวน 1,000 กหาปนะ” พญาเจ้าเมืองจึงถามคามณีจันทร์ว่า เป็นความจริงดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่” คามณีจันทร์จึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบให้พญาเจ้าเมืองฟัง พญาเจ้าเมืองจึงถามเจ้าของม้าว่า “ท่านเป็นคนบอกให้คามณีจันทร์ช่วยตีม้ามิใช่หรือ” เจ้าของม้าว่า “ข้าไม่ได้พูดอย่างนั้น” พญาเจ้าเมืองได้พิจารณาคำให้การของคามณีจันทร์จนแน่ใจแล้วจึงตัดสินว่า “ชายเจ้าของม้ากล่าวเท็จว่าไม่ได้บอกให้คามณีจันทร์ช่วยตีม้า ทั้งที่ตะโกนให้เขาช่วยตีม้า ดังนั้น ให้คามณีจันทร์ตัดลิ้นของชายผู้นี้เสีย  ส่วนคามณีจันทร์ก็ให้ใช้ค่าม้า 1,000 กหาปนะให้แก่เจ้าของม้า” แล้วให้นำทั้ง 2 คน ออกไปด้านนอกศาล ชายเจ้าของม้าจึงขอร้องไม่ให้คามณีจันทร์ตัดลิ้นพร้อมให้ทรัพย์สินเงินทองแก่คามณีจันทร์แล้วกลับไป
วินิจฉัยตัดสินคดีที่ 4
               ลูกของช่างสานเสื่อซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคามณีจันทร์ในข้อหาฆ่าพ่อเขาตาย ได้บรรยายฟ้องว่า “ข้าแด่พระองค์ คามณีจันทร์คนนี้ได้เป็นโจรและฆ่าพ่อของข้าพเจ้าตาย จึงขอพระองค์ลงโทษด้วย” พญาเจ้าเมืองจึงถามคามณีจันทร์ว่า “ท่านได้ฆ่าพ่อเขาตายตามที่เขากล่าวหาจริงหรือไม่” คามณีจันทร์จึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้เจ้าพญาฟังตั้งแต่ต้นจนจบ พญาเจ้าเมืองจึงถามลูกของช่างสานเสื่อว่า “ท่านจะให้ลงโทษคามณีจันทร์อย่างใด” ลูกช่างสานเสื่อตอบว่า “ข้าขอพ่อของข้าคืนมาอย่างเดิมพระเจ้าข้า” พญาเจ้าเมืองจึงตัดสินว่า “อันว่าคนตายไปแล้วไม่สามารถจะนำกลับคืนมาได้ มีอย่างเดียวคือให้คามณีจันทร์ไปอยู่กับแม่ของท่าน และจะได้เป็นพ่อของท่านด้วย” ตัดสินดังนี้แล้วให้นำทั้ง 2 ออกไปนอกศาล ลูกช่างสานเสื่อจึงกราบคามณีจันทร์และกล่าวว่าท่านอย่าได้ทำให้ครอบครัวเราเดือดร้อนเลย แล้วให้เงินแก่คามณีจันทร์แล้วจึงกลับบ้านไป
               คามณีจันทร์เมื่อได้รับการตัดสินคดีให้ชนะทุกคดีแล้ว ก็มีความยินดีปรีดา และได้กราบขอบ พระคุณ พญาเจ้าเมืองที่ได้มีพระเมตตาตัดสินคดีด้วยพระปัญญาปรีชาสามารถ ทำให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
               หลังจากนั้นคามณีจันทร์จึงได้ทูลขอพระราชานุญาตเล่าถึงเรื่องที่มีผู้ฝากมาถามถึงเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา เพื่อให้พญาเจ้าเมืองช่วยอธิบายความเหล่านั้น พญาเจ้าเมืองจึงตรัสว่า “ท่านจงเล่ามาเถิด ว่ามีการฝากมาถามเรื่องใด”  คามณีจันทร์จึงได้ทูลบอกคำถามที่ฝากมาถาม
               ตอบคำถามของพวกพราหมณ์ การที่พวกพราหมณ์มีความหลงลืมในการสวดสาธยายมนต์ไม่จำเหมือนแต่ก่อนนั้น  เพราะเมื่อก่อน ไก่ยามที่อยู่ใกล้กับพวกพราหมณ์นั้นขันเป็นเวลา จึงกำหนดเวลาได้ว่าเวลาไหนควรตื่นขึ้นมาสวดสาธยายมนต์ เวลาไหนควรหลับพักผ่อน แต่บัดนี้ไก่ยามขันไม่เป็นเวลา จึงทำให้พวกพราหมณ์กำหนดเวลาตื่นไม่แน่นอน ทำให้นอนไม่เต็มที่ จึงมีความหลงลืมมนต์ต่างๆ อันนี้เป็นเพราะไก่ยามขันไม่เป็นเวลาเป็นต้นเหตุ
               ตอบคำถามของพวกฤาษีนั้น แต่ก่อนพวกฤาษีได้บำเพ็ญสมณธรรม เพ่งกสิณ บริกรรมภาวนา แต่บัดนี้พวกฤาษีทั้งหลายได้ละทิ้งการบำเพ็ญสมณธรรม  กระทำยังสิ่งที่ไม่ควรทำ ดังนั้น ลูกไม้ทั้งหลายในสวนอุทยานจึงมีรสทั้งฝาดและขม แต่ถ้าฤาษีทั้งหลายได้พากันบำเพ็ญสมณธรรม ประพฤติพรหมจรรย์เหมือนแต่ก่อนเมื่อใด ลูกไม้ทั้งหลายก็จะกลับมามีรสอันหอมหวานเหมือนเดิม ท่านจุ่งนำคำนี้ไปบอกแก่ฤาษีทั้งหลายเถิด
               ตอบปัญหาของพวกนาคนั้น เป็นเพราะพวกนาคที่อยู่ในสระนั้นเอาแต่ทะเลาะผิดเถียงกัน จึงทำให้น้ำในสระขุ่นและแห้ง ถ้าเมื่อใดพวกนาคทั้งหลายมีความสามัคคีกันน้ำในสระก็จะใสเย็นเหมือนเดิม
               ตอบปัญหาของรุกขเทวดา เพราะเหล่ารุกขเทวดาไม่ดูแลรักษาพวกคนที่เดินทางไปมาทั้งหลาย จึงไม่มีคนบูชา ดังนั้น ให้รุกขเทวดาช่วยดูแลรักษาคนทั้งหลาย คนเขาก็จะนำเครื่องเซ่นสังเวยมาถวายเหมือนเดิม
               ตอบปัญหาของนกกระทา เพราะใต้จอมปลวกมีทรัพย์สินเงินทองฝังอยู่ นกกระทาจึงห่วงข้าวของเหล่านั้น ให้ท่านขุดเอาทรัพย์สินเหล่านั้นเสียเถิด
               ตอบปัญหาเนื้อทราย เพราะน้ำหวานจากรวงผึ้งที่ติดอยู่บนกิ่งข้างบนตกลงมาใส่หญ้าจึงทำให้หญ้ามีรสหวานหอม เนื้อทรายจึงหลงไหลเกิดตัณหาโลภ ท่านจงเก็บรวงผึ้งเหล่านั้นมาแบ่งให้กับเราเถิด
               ตอบปัญหาของงูใต้จอมปลวกนั้นมีทรัพย์สมบัติฝังไว้ งูจึงมีความโลภเพราะห่วงสมบัติ จึงทำให้ออกจากรูยาก  แต่เวลาที่อิ่มแล้วความโลภน้อยลงจึงทำให้ออกจากรูได้ง่าย  ท่านจงขุดเอาสมบัติเหล่านั้นไปเสียทั้งหมดเถิด
               ตอบปัญหาหญิงที่อยู่บ้านผัวก็อยากไปอยู่เรือนพ่อแม่  เมื่ออยู่เรือนพ่อแม่ก็อยากไปอยู่เรือนผัวนั้น  เป็นเพราะนางมีชู้  จึงพูดเท็จกับผัวว่าจะไปเรือนพ่อแม่  แล้วไปคบกับชู้ 2-3 วันก็กลับมาเรือนผัว ท่านจงบอกแก่นางด้วยว่าถ้าไม่เลิกประพฤติเช่นนี้เจ้าพญาจะมาเอาชีวิตของนาง  นางคงจะกลับตัวเป็นคนดีได้
               ตอบปัญหาของหญิงขายบริการ เพราะว่านางรับเงินค่าตัวจากชายหนึ่งแล้วบริการยังไม่ครบถ้วนตามกติกา  แต่ก็ไปรับเงินและบริการให้กับชายอื่น  เป็นการให้โอกาสแก่ชายที่ให้เงินทีหลังมากกว่าชายที่ให้เงินก่อน จึงไม่มีชายใดมาใช้บริการ
               ตอบปัญหานายบ้าน เป็นเพราะนายบ้านตัดสินความให้ลูกบ้านโดยไม่ยุติธรรม รับเงินจากคู่กรณี คือ ตัดสินคดีไม่ชอบธรรม ท่านจงบอกให้นายบ้านผู้นั้นเลิกประพฤติเช่นนั้นเสีย ไม่นานก็จะกลับมีทรัพย์สินเงินทองเหมือนเดิม และจะหายจากโรคต่างๆ ด้วย
               เมื่อการตอบปัญหาของผู้ที่ฝากมาถามด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของพญาเจ้าเมืองจบลงแล้ว  พระองค์ก็ได้พระราชทานให้ข้าวของเงินทอง พร้อมทั้งแต่งตั้งคามณีจันทร์ให้มีฐานะเป็นพราหมณ์  มีสิทธิ์ได้รับเงินประจำตำแหน่ง  คามณีจันทร์จึงกราบทูลลา ในระหว่างที่เดินทางกลับก็ได้แวะบอกแจ้งคำตอบปัญหาที่มีผู้ฝากถาม จากนั้นก็กลับถึงที่อยู่ของตน เมื่อหมดอายุลงก็จุติไปสู่ปรโลกตามบุญกรรมที่ทำไว้
               ครั้นจบชาดกเรื่องนี้ลง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้มีปัญญามากเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ครั้งเมื่อเกิดเป็นอาทาสมุขะและเป็นผู้ตัดสินคดีความในศาลก็มีปัญญามาก และใช้ปัญญานั้นตัดสินคดีความได้
               พระพุทธเจ้าจึงได้สรุปชาดกดังนี้ คามณีจันทร์ในครั้งนั้น ปัจจุบันได้แก่พระอานนท์ พระพุทธอุปัฏฐาก  ส่วนอาทาสมุขโพธิสัตว์ผู้เป็นกษัตริย์เมืองพาราณสีในชาตินั้น คือ พระตถาคตในชาตินี้
               คามณีจันทร์ชาดกก็จบลงเพียงเท่านี้  จารเสร็จเมื่อยามกลองงาย ข้าพเจ้าน้อยเย็นเป็นผู้จาร ปีกดสัน ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 เม็งว่าวันศุกร์ ไทว่าวันกดไจ้  จุลศักราชได้ 1222 (พ.ศ.2403)  พระญาณภิกขุ คัดลอกไว้เพื่อค้ำชูศาสนาพระโคดมพุทธเจ้า ให้ยืนยาวตราบต่อเท่า 5,000 พระวัสสา  สทินนัง วะตะ เม ทานัง อะระหัตตะมัคคะญาณัง ทินนัง นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ โน นิจจัง ธุวัง ธุวัง
               ปริวรรตและเรียบเรียง : ศรีเลา เกษพรหม (ตุลาคม 2556)
               ตรวจสอบกับต้นฉบับ : พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ (พฤศจิกายน 2558)



              [1]   คามณีจันทร์ชาดก  ฉบับวัดแช่ช้าง  ตำบลแช่ช้าง  อำเภอสันกำแพง  จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไมโครฟิล์ม 79.023.01D.124-124 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริวรรตโดย ศรีเลา เกษพรหม 2556

[2] ต้นฉบับว่า อาทาสมุกขกุมารแต่เพื่อความถูกต้องของภาษาบาลีควรเขียนเป็น อาทาสมุขกุมารมุข แปลว่า หน้า, อาทาส แปลว่า แว่น, กระจกส่องหน้า
[3] ตำแหน่งข้าราชบริพารกลุ่มหนึ่ง พวกน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น