วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความนำ ปทัสฐานสังคมคุณภาพล้านนา เรื่องลำดับที่ 1 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

บทนำ

      ผู้เขียนในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้ทำกิจกรรมการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมภูมิปัญญาล้านนาสู่สังคมโดยผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับงบประมาณจากสภาวิจัยแห่งชาติ(วช) ผ่านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2555 ที่ดำเนินการ โดยการคัดเลือกเอกสารจากคลังข้อมูลมาทำการศึกษา ด้วยเงื่อนไขว่า เอกสารที่นำมาใช้ ต้องไม่ซ้ำกับชุดที่สถาบันวิจัยได้เคยทำการเผยแพร่ออกไปแล้ว และคัดเลือกเอกสารโบราณเฉพาะแหล่งที่มาจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ลงมือปริวรรตต้นฉบับ โดยคณะปราชญ์ล้านนาผู้เชี่ยวชาญ ถอดความ เรียบเรียงเนื้อหาสาระ ด้วยภาษาสมัยใหม่ ได้มาครั้งแรก จำนวน 50 เรื่อง จำแนกตามหมวดได้ดังนี้ หมวดพระพุทธศาสนา 32 เรื่อง หมวดโหราศาสตร์ 1 เรื่อง หมวดลัทธิพิธีกรรม 4 เรื่อง หมวดไสยศาสตร์ 2 เรื่อง และหมวดปกิณกะอีก 11 เรื่อง
       ในปีพ.ศ. 2556 คณะทำงานก็ได้ทำกิจกรรมต่อยอดขยายผลจากครั้งแรก โดยได้รับทุนสนับสนุนงบวิจัยเพื่อบูรณาการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งหลังนี้ได้กำหนดคัดเลือกคัมภีร์ใบลานและพับสาที่เกี่ยวกับพิธีกรรมในวิถีชีวิตล้านนา นับตั้งแต่การเกิด การแต่งงาน การประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพ การเจ็บป่วย การ สร้างที่อยู่อาศัย พิธีกรรมเกี่ยวกับการเสียชีวิตและการปลงศพ  คำทำนาย พิธีสวดถอน เพื่อแก้ไขให้สิ่งร้ายกลายเป็นดี แนวปฏิบัติทางศาสนา ตั้งแต่การแปลคำขอบรรพชา อุปสมบท การเรียนกรรมฐาน การเดินจงกรมแบบล้านนา ที่อธิบายหลักการและขั้นตอนปฏิบัติพร้อมกับคำภาวนาในขณะปฏิบัติเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของล้านนาที่น่าสนใจ คราวนี้ได้มาจำนวน 20 เรื่อง จำแนกออกตามหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดพระพุทธศาสนา  4 เรื่อง หมวดกฎหมายโบราณ   2 เรื่อง หมวดโหราศาสตร์ 2 เรื่อง หมวดลัทธิพิธีกรรม 8 เรื่อง  หมวดไสยศาสตร์  3 เรื่อง และ  หมวดปกิณกะอีก 1 เรื่อง
      เอกสารเหล่านี้ เสนอความรู้นับตั้งแต่คติเกี่ยวกับการเกิด  การอบรมกล่อมเกลาเยาวชน การครองชีวิตคู่ การแต่งงาน การประกอบอาชีพ ความเชื่อในพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์  พิธีแรกนา พิธีบูชาข้าว  พิธีสร้างยุ้งฉาง   กฎหมายโบราณที่ตราลักษณะความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งเอาไว้ เป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองสามารถตัดสินข้อพิพาทในสังคมล้านนาได้   พิธีกรรมเกี่ยวกับการเสียชีวิต พิธีสวดถอดเนื่องในการเสียชีวิตโดยสาเหตุอื่นๆ เนื่องจากวัฒนธรรมล้านนา เป็นสิ่งที่ควบคู่กับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบท  อานิสงส์การบวช  คำเรียกขวัญลูกแก้ คำแปลคำขอบรรพชาอุปสมบท วิธีเรียนกรรมฐาน  วิธีเดินจงกรม ซึ่งผู้จารตำราได้ชี้แจงขั้นตอนวิธีปฏิบัติ มีคำภาวนาขณะที่ปฏิบัติ สำหรับพิจารณาองค์ธรรมเอาไว้อย่างละเอียด ชี้แจงวิธีการปฏิบัติให้พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงที่ขึ้นไปตามลำดับ ตรงตามจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา เกิดปัญญายั่งรู้สัจธรรมได้  เอกสารสำนวนชุดที่นำเสนอเหล่านี้ อาจขาดความสมบูรณ์ไปบ้าง เพราะยังไม่ได้สอบเทียบกับสำนวนชุดอื่นๆ ที่เก็บรักษาเอาไว้ แต่ก็พอจะเป็นแนวให้ผู้สนใจศึกษาเชิงลึกและติดตามได้
      ผลจากการศึกษา 2 ปีที่ผ่านมา ได้ปริวรรตภูมิปัญญาล้านนาจากเอกสารโบราณ ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในที่ใดมาก่อน มีจำนวนถึงจำนวน 70 เรื่อง จำแนกตามหมวดหมู่ได้ดังนี้   หมวดพระพุทธศาสนา จำนวน  36  เรื่อง หมวดกฎหมายโบราณ จำนวน 2 เรื่อง หมวดโหราศาสตร์  จำนวน     3 เรื่อง หมวดลัทธิพิธีกรรม จำนวน 12  เรื่อง หมวดไสยศาสตร์ จำนวน 5  เรื่อง  หมวดปกิณกะ จำนวน 12 เรื่อง รวมจำนวน 70 เรื่อง
               ประกอบกับในปีงบประมาณ 2557 คณะทำงานได้รับอนุมัติให้ทำโครงการ “สำรวจรวบรวมและจัดทำระบบสารสนเทศสำเนาภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ ใบลานพระนครน่าน สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ” ลงมือสำรวจและอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ ได้จำนวน 2,338 รายการ ทั้งในปีงบประมาณ 2558 ก็ได้รับการอนุมัติงบประมาณให้จัดตีพิมพ์เผยแผ่ ในชื่อ      ภูมิปัญญานครน่าน : เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่านซึ่งหนังสือดังกล่าวได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่แล้ว
                 เอกสารโบราณซึ่งบันทึกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่คณะทำงานได้ปริวรรตและถอดสาระเอาไว้นั้น ยังคงเก็บรักษาไว้ในรูปต้นฉบับ หากได้คัดเลือกเรื่องที่โดดเด่นนำมาเรียบเรียงสาระเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน  สามารถประยุกต์ปรับแนวคิดใช้ให้เหมาะกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ก็จะเป็นคุณค่า ทั้งในด้านการสืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษล้านนามิให้สูญหาย แลและในด้านขยายผล โดยการแตกกิ่งต่อก้านภูมิปัญญาสู่อนุชนรุ่นต่อไป    โดยใช้เอกสารเป็นตัวเล่าเรื่อง ก็จะเห็นวิถีล้านนาได้ชัดเจน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งสำหรับการสรรค์สร้างรากฐานทางปัญญาแก่นักวิชาการด้านล้านนาคดีสืบไป
               การเรียบเรียงสาระมุมมองเชิงปรัชญาเรื่อง “ล้านนาวิถีทัศน์ : ปทัสฐานสังคมคุณภาพ” ครั้งนี้ ได้กำหนดเป้าประสงค์หลักไว้ที่การคัดเลือกภูมิปัญญาล้านนาอันโดดเด่น  เป็นรากฐานวัฒนธรรมและชีวิตชาวล้านนา ด้วยกรอบความคิดทางปรัชญาตะวันตกอย่างน้อย 2 สาขา คือ ในด้านโลกทัศน์ ชีวทัศน์ เป็นอภิปรัชญา(Metaphysics) บรรรยายถึงปฐมกำเนิดโลก มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป กาลเวลานานมากนับเป็นหลายอสงไขย์ เริ่มก่อตัวจากธาตุทั้ง 4 ผสมกันได้สัดส่วนทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต พืช และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก่อน แล้วจึงเกิดสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  นับจากปฐมกัปมีอายุได้ 3 อสงไขย์ จึงเกิดมีมนุษย์ คนแรกเป็นเพศหญิง นามว่า  “อิตถังเคยยะสังคะสี”  นางนี้เป็นคนสร้างสัตว์ 12 ชนิด (สัตว์ประจำ 12 นักษัตร) ต่อมาจึงเกิดเพศชาย ชื่อว่า “เคยยะสังคะสี” เมื่อทั้งสองมาพบกันก็ช่วยกันสร้างมนุษย์ขึ้นมาจาก เถ้าไคล จำแนกเป็น บุรุษ สตรี และนปุงสกลิงค์(กระเทย) สร้างฤดู วัน เดือน ปี ภพภูมิของสัตว์ทั้งหลาย จนถึงกาลเวลาที่โลกจะล่มสลายไป และกลับมาเกิดใหม่หมุนวนเป็นวัฎฎะ  แนวคิดเช่นนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม ธรรมชาตินิยม(Naturalism) ส่วนมุมมองทางด้านจริยศาสตร์(Ethics) เอกสารโบราณทางล้านนา มีทฤษฎีจริยศาสตร์คุณธรรม(Ethics of Virtues) และจริยศาสตร์หน้าที่(Ethics of Duty) มีคำสอนด้านข้อที่ควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของคฤหัสถ์ โดยการนำหลักจริยธรรม ทางพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5, อบายมุข 4, สังคหวัตถุ 4, ทิศ 6 อปริหานิยธรรม 7 เป็นต้น มาเป็นกรอบความประพฤติ ในการครองตน ครองคน และครองงาน ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหลักคุณธรรมข้ออื่นๆ  ที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้เป็นพ่อเหย้า แม่เรือนที่ดี  รวมทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และข้อตามคติความเชื่อของชาวล้านนา มีกฎหมายโบราณตราเป็นกรอบบังคับ ให้สมาชิกในสังคมได้ปฏิบัติ ทั้งหมดนี้นับเป็นวิถีชีวิตอันงดงาม สะท้อนหลักปรัชญาเกี่ยวกับโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ชัดเจน  ผู้เรียบเรียงได้เลือกเฟ้นมาจำนวน 7 เรื่อง  จากข้อมูลเอกสารโบราณ 70 เรื่อง ที่เคยปริวรรตเก็บไว้   มีหมวดพระพุทธศาสนา พุทธตำนาน หมวดกฎหมาย หมวดโหราศาสตร์ และหมวดปกิณณกะ ทำการสอบทานกับต้นฉบับเดิม  และตีพิมพ์ออกเผยแพร่ภูมิปัญญาล้านนา เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม และเพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของบรรพบุรุษล้านนาสู่สาธารณชน
               หลักการทำงานนั้น คณะทำงาน ได้ดำเนินตามนโยบาย ของมหาวิทยาลัย ที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ที่ 4 : มุ่งทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทยท้องถิ่นล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในข้อย่อย เป้าประสงค์ที่ 1 : ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทยท้องถิ่นล้านนา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสอดประสานกับแผนการดำเนินงานของโครงการล้านนาคดีศึกษา แผนงานที่ 3 : การสร้างองค์ความรู้และการอนุรักษ์สืบสาน มีหลักการดำเนินงาน คือศึกษาวิจัยและต่อยอดความรู้ รวมถึงพัฒนาความรู้ด้านล้านนาคดี เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และแผนที่ 5 : การบูรณาการ ที่มีหลักการดำเนินงาน : การดำเนินงานโครงการหรือการวิจัยที่ร่วมมือกับหน่วยงานในภาครัฐ หรือเอกชนในด้านล้านนาคดีศึกษา
               เรื่องที่คัดมาทั้ง  7 เรื่อง แสดงฐานคิดตามกรอบปทัสฐานสังคมได้ ดังนี้
               มนุษย์ทุกเชื้อชาติที่มีความเจริญทางอารยธรรมและวัฒนธรรม ย่อมมีหลักความคิดในการมองโลก มองชีวิต ที่ภาษาทางปรัชญาเรียกว่า “โลกทัศน์ และ ชีวทัศน์”อัน เป็นแบบของตน ดังที่ชาวฮินดูโบราณกลุ่มหนึ่ง  มองโลกและชีวิตว่า เกิดจากการบันดาลของพระพรหมมหาเทพ   พระองค์ ทรงสร้างสรรพสิ่งในจักรวาล ขณะที่โลกทัศน์ของชาวจีน มองไปที่ “องค์เง็กเซียนฮ่องเต้” เจ้าฟ้าบนสรวงสวรรค์ เป็นผู้สร้างและปกครองโลก คติความเชื่อของชาวยิว ก็ชี้ไปที่พระยโฮวาเป็นผู้รังสรรค์จักรวาล  กลับมาที่ชาวล้านนาโบราณ พบว่าก็มีโลกทัศน์และชีวทัศน์เป็นของตนเอง ปรากฏในเอกสารโบราณหลายเรื่อง เช่น  “ปฐมมูลมูลี”  ว่าด้วย ตำนานเค้าผีล้านนา  และ “ปฐมมูลสังขยา” เป็นต้น   ผู้เรียบเรียงได้เลือกเรื่อง “ปฐมมูลสังขยา”  มาเป็นฐาน พบคติความเชื่อและการนับผีแบบดั้งเดิม ผสานด้วยคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาสอดแทรกเข้ามาอย่างกลมกลืน เมื่อฐานคิดดี ย่อมำนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ โลกทัศน์ชีวทัศน์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งเป้าหมายของชีวิต ดังคำโบราณว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หรือ “เราเป็นอย่างที่เราคิด”
               หลักเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ชาวล้านนานอกจากจะมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ที่เรียกว่า การนับถือผีแบบดั้งเดิมแล้ว ยังนับถือพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจอีกกระแสหนึ่งด้วย  สิ่งใดจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นที่พึงพิง และเป็นรูปธรรมสามารถแตะต้องสัมผัสได้ สิ่งนั้นย่อมถูกนำมาเชื่อมโยง ให้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตนอีกเปลาะหนึ่ง ชาวล้านนาจึงได้สร้างตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการเสด็จมาโปรดของพระพุทธเจ้าถึงถิ่นที่อยู่ของตน ดังตำนานพระเจ้าเลียบโลก และตำนานของพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาในพื้นที่นั้น เพื่อให้เป็นศูนย์ยึดรวมจิตใจของพวกเขา นอกจากนี้ยังโยงไปถึงต้นตำนานของชื่อบ้านนามเมืองของพวกเขาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ ในการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  ในการเสด็จโปรดโลกนั้น เมื่อถึงที่ใด ชุมชนใด เมื่อเขายอมรับพระพุทธศาสนาเป็นที่พึงทางจิตใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานพระเกศาบ้าง บริขารบางอย่างบ้าง เพื่อให้เป็นสิ่งแทนพระองค์ แก่ชาวบ้านที่มีโอกาสได้พบ พวกเขาได้พากันสร้างพระธาตุ พระเจดีย์เอาไว้ สำหรับเป็นที่สักการบูชา เรียงรายตลอดเส้นทางการเสด็จโปรดโลกของพระพุทธเจ้า สำหรับชื่อบ้านนามเมือง เมื่อมีเหตุการณ์ หรือ นิมิตหมายอันใดเกิดขึ้นมาเป็นพิเศษ พวกเขาก็ได้ตั้งชื่อบ้าน ชื่อเมือง ตามเหตุการณ์ หรือนิมิตหมายนั้นๆ  ดังชื่อบ้าน นามเมือง สืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน ที่กล่าวมาโดบย่อนี้เป็นสื่อสัญลักษณ์แสดงถึงการยอมรับพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ   “ตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุพระธาตุ” จึงเป็นเรื่องเหมาะมาประกอบเรื่องราวในตอนนี้
               ครั้นได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นดุจประทีปส่องใจเช่นนี้  เพื่อให้การดำรงชีวิตปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีงามขึ้น ชาวล้านนาได้นำหลักคำสอน สำหรับผู้ครองเรือนที่ดีมาปฏิบัติ พวกเขาจงเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดี รู้จักหลีกความชั่ว บำเพ็ญกุศล สร้างคุณงามความดี รักษาจิตใจไม่ให้กิเลสฝ่ายต่ำมาครอบงำมากเกินไป ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ในตอนนี้ ผู้เรียบเรียงได้นำหลัก  “ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์” หรือ “ราโชวาทกถา” ที่สั่งสอนสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน วิถีชีวิตชาวล้านนา จึงสามารถดำรงตนเคียงคู่ไปกับจารีตผู้ครองเรือนที่ประเสริฐได้อย่างลงตัว
               อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมนุษย์จำนวนมากมารวมตัวกันเป็นสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม หลายคนหลายความคิด ต่างจิตต่างใจ  เข้าทำนอง “นานาจิตตัง” เมื่อสามาชิกควบคุมตนไม่ได้ การทะเลาะวิวาท การเบียดเบียน มุ่งร้าย หมายขวัญต่อฝ่ายตรงกันข้ามก็ย่อมมีได้ เป็นเหตุให้เกิดคดีความ ผู้เสียหายฟ้องร้อง เรียกหาความเป็นธรรม และความยุติธรรม ในเมื่อเป็นคดีความกัน วิธีการจัดระเบียบทางสังคมให้สมาชิกอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ผู้กระทำความผิด ต้องถูกลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด ผู้เสียหายก็ได้รับการทดแทนเยียวยาตามสมควร  จำเป็นต้องสร้างหลักการธำรงความยุติธรรมในสังคมขึ้นมา มีการวินิจฉัยความผิด พิพากษาไปตามโทสานุโทษ ในส่วนนี้ จึงได้นำกรณีการตัดคดีความของ ราชาปราชญ์ นาม “อาทาสมุขกุมาร” ในเรื่องคามณีจันทร์ชาดก มาเป็นตัวอย่าง ทำนองการวินิจฉัยคดีความของผู้พิพากษาสมัยปัจจุบัน ที่นำคำพิพากษาของศาลชั้นสูงเป็นเครื่องเทียบเคียง
               การจะนำเพียงตัวอย่างการตัดสินคดี ในคามณีจันทร์ชาดกมาใช้เป็นกรอบคงไม่ครอบคลุมนัก ในเมื่อสังคมได้พัฒนาจากรูปแบบเรียบง่าย มาเป็นสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อป้องปรามเอาไว้ก่อนที่จะเผลอทำความผิด เรียกว่า “กันเอาไว้ดีกว่าแก้”  ทางผู้ปกครองบ้านเมือง จำเป็นต้องตรากฎหมาย ให้เป็นแนวปฏิบัติยึดถือเอาไว้ หลักนิติศาสตร์ จึงต้องประกาศให้สมาชิกได้รับทราบกฎกติกาเอาไว้ก่อน จะอ้างไม่ได้ว่า บ้านเมืองยังไม่มีบทบัญญัติ หรือ ตนไม่ทราบว่ามีบทบัญญัติกฎหมายแล้ว    ชาวล้านนาเป็นสังมอารยะ ก็มีกฎหมายโบราณ ที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์” เป็นหลักวิธีพิจารณาความ ครอบคลุมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งเอาไว้ บ้านเมืองจึงถือว่ามีขื่อมีแป จัดการปกครองเป็นระเบียบด้วยระบบนิติรัฐ ส่วนนี้ จึงได้นำ “ธรรมศาสตร์” กฎหมายโบราณล้านนามาเติมเต็ม ให้เห็นว่า อาณาจักล้านนาในอดีต มีระบบการปกครองที่ดี มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทั่วถึง ธรรมศาสตร์ จึงเป็นกฎหมายจารีตของชาวล้านนานับแต่นั้นมา
               ในส่วนของพลเมืองพสกนิกรของแผ่นดิน ทุกประเทศเขตคาม ย่อมต้องการสมาชิกที่มีคุณสมบัติเป็นพลเมืองดี ทำหน้าที่และแสดงบทบาทให้เหมาะสมตามตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ  สมาชิกทุกคนเป็นดุจฟันเฟืองที่หมุนสังคมให้พัฒนาก้าวไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ หากจะมีฟันเฟือง หรือ กลไกตัวใด เกิดชำรุด  ไม่ทำหน้าที่ แถมหยุดนิ่ง ก็จะทำให้เครื่องจักรใหญ่ คือ สังคมโดยรวม เกิดความเสียหายขึ้นมาได้ คนเราตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตายไป ย่อมมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องพึ่งหาอาศัยกันและกัน เพื่อความสถาพรของระบบสังคม ส่วนนี้ ก็พบหลักคำสอนเรื่อง “มูลโลก หรือ โลกถานะ” อันเป็นกรอบจารีต หรือ ครรลองในการดำเนินชีวิต กำหนดสิ่งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเอาไว้ ดังที่พญาสมันตราชได้บัญญัติจารีตในการทำศพสำหรับคนตายในลักษณะต่าง ๆ เช่น จารีตในการทำศพของเด็ก, หญิงตั้งครรภ์, พระภิกษุสามเณร-ศิษย์วัด และข้า ทาส นอกจากนี้ ยังมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการดำเนินชีวิต เช่น การปลูกบ้านเรือน, การสร้างวัด กุฏิ วิหาร, การแต่งงานหรือประกอบพิธีมงคล  การซื้อ การไถ่ช้าง ม้า วัว ควาย ข้า ทาส  และวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน คัมภีร์ โลกถานะ หรือ มูลโลก จึงเป็นดุจน้ำประสานสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น
               วิถีล้านนาที่นำเสนอตอนท้ายสุด เป็นเรื่องความรู้สึกในด้านความไม่มั่นคงปลอดภัย ความวิตกกังวล ต่อชะตาชีวิตของตน และสมาชิก มีบางสิ่งที่เลวร้ายได้เกิดขึ้นมาแล้ว และยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นมากับตนเมื่อใด เพื่อแสวงหาวิธีการป้องกันมิให้เภทภัยเกิดขึ้น  หรือ ถ้าภัยเกิดขึ้นมาแล้ว จะมีวิธีการขจัด ปัดเป่าให้หายไปได้อย่างไร  จึงได้นำความเชื่อแบบล้านนา เกี่ยวกับ “ขึด” มาแสดงผ่านคัมภีร์ “ตำนานแม่ธรณี” ความเล่าว่า พระแม่ธรณีถูกวิษณุกรรมเทพบุตรถามสาเหตุแห่งความเจริญและความเสื่อมจากทรัพย์สมบัติของมนุษย์ พระแม่ธรณีจึงบอกว่า สาเหตุเกิดจากขึดใหญ่ 7 ประการ   และได้บอกวิธีการในการถอนขึดเหล่านั้นเอาไว้ นับเป็นคำสอนที่แฝงกุศโลบายสร้างขวัญกำลังใจ ให้สู้ปัญหาชีวิตที่ถั่งโถมเข้ามาแก่ชาวล้านนาได้อย่างน่าอัศจรรย์
                การนำภูมิปัญญาล้านนาอย่างน้อย 7 เรื่อง  มาเป็นแว่นส่องดูวิถีวัฒนธรรม ประเพณีการดำรงชีวิตของชาวล้านนา  ก็เห็นกรอบที่เป็นตัวสร้างบรรทัดฐานทางสังคม หรือ ปทัสถาน (Social Norms)  หมายถึง  มาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่ม ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ  ได้แก่  กฎ  ระเบียบ  แบบแผนความประพฤติต่าง ๆ ตรงตามกรอบปทัสฐานทางสังคม ที่ผู้แต่งเอกสารประกอบการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง รหัสวิชา  สค102 การจัดระเบียบทางสังคม (social  organization) ดังนี้
      “ บรรทัดฐานทางสังคม  แบ่งเป็น  ประเภท  คือ
     1. วิถีประชา หรือ  วิถีชาวบ้าน (Folkways)  หมายถึง  แนวทางการปฏิบัติของบุคคลในสังคม 
ซึ่งปฏิบัติตามความเคยชิน  และเป็นที่ยอมรับในสังคม  เช่น  การลุกให้คนชรานั่งในรถประจำทาง  วิถีประชา    ยังหมายถึง  มารยาททางสังคม  งานพิธีต่าง ๆ ตามสมัยนิยม  เช่น  การแต่งกาย  การรับประทานอาหาร  การอาบน้ำวันละ  2  ครั้ง  ผู้ที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะได้รับการติเตียน  เยาะเย้ยถากถาง  หรือการนินทาจากผู้อื่นทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตาม
      2. กฎศีลธรรม  หรือ  จารีต (Morals)  หมายถึง  ระเบียบแบบแผนที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติโดย
เคร่งครัดมีความสำคัญมากกว่าวิถีประชา  หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกสังคมประณามอย่างรุนแรง  กฎศีลธรรมมักเป็นข้อห้าม  เป็นกฎข้อบังคับ  และมีเรื่องของศีลธรรมความรับผิดชอบชั่วดีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก
               3. กฎหมาย (Laws)  หมายถึง  กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่รัฐบัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดย
องค์การทางการเมืองการปกครองและได้รับการรับรองจากองค์การของรัฐ  เพื่อควบคุมบุคคลในสังคมหากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมายได้แก่  ระเบียบ  ข้อบังคับ  พระราชกำหนด  พระราชกฤษฎีกา  และพระราชบัญญัติ  เป็นต้น  กฎหมายที่ดีต้องทันต่อเหตุการณ์  หรือเป็นกฎหมายที่คาดการณ์ข้างหน้าได้
               ความสำคัญของบรรทัดฐานต่อการจัดระเบียบทางสังคม  คือ เป็นแนวทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน  ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติใน แนวเดียวกัน และ มีไว้ควบคุมสมาชิกในสังคมให้อยู่ในกรอบของสังคม  ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม  เพราะมนุษย์นั้นสามารถทำทั้งสิ่งที่ดีงามและชั่วร้าย”[1]
               เมื่อใช้กรอบ ปทัสฐานทางสังคมดังที่ยกมาเป็นฐานอธิบาย จึงมั่นใจว่า วิถีล้านนา ในด้านวิถีประชา(Folkways)   มีตำนานปฐมมูลสังขยา และ   ตำนานพระเจ้าบรรจุพระธาตุ  ในด้านกฎศีลธรรม(Morals)  หรือ  จารีต ก็มี ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ ตำนานมูลโลก หรือ โลกถานะ และตำนานพระแม่ธรณี-ขึดหลวง เป็นหลัก ในด้าน กฎหมาย(Laws)   ชาวล้านนา มีการตรากฎหมายโบราณที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ และ ตัวอย่างคำวินิจฉัยพิพากษาอรรถคดีในคามณีจัทนร์ชาดก ได้ครบทั้ง 3 เส้าแห่งปทัสฐานสังคม วิถีชีวิตล้านนา จึงนับได้ว่า มีปทัสฐานสังคมคุณภาพ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น