วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กระบวนการอนุรักษ์เอกสารโบราณล้านนา : การสำรวจ การจัดหมวดหมู่และการอนุรักษ์

กระบวนการอนุรักษ์เอกสารโบราณล้านนา
: การสำรวจ การจัดหมวดหมู่และการอนุรักษ์

เรียบเรียงโดย
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อการสำรวจ อนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ วัดในจังหวัดพะเยา
20 เมษายน พ.ศ. 2559
-----------
1. แนวคิดและหลักการ
         1.1 แนวคิดเกี่ยวกับการสำรวจเอกสารคัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลาน หรือ หนังสือใบลาน เป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ทำมาจากใบต้นลาน การบันทึกตัวอักษรลงในใบลานเรียกว่า จาร การทำใบลานเป็นผูก ต้องเจาะรูตรงกลางใบลาน ค่อนไปทางด้ายซ้าย หรือจะเจาะรู 2 รู ให้ห่างจากปลายลาน 2 ข้าง ประมาณ ข้างละ 1 คืบ แล้วร้อยด้วยด้ายที่ฟั่นเป็นเชือก เรียกว่า “สายสยอง”(บางท้องถิ่นเรียกว่า “สายสนอง”)  เมื่อร้อยผูกรวมกันเรียกว่า คัมภีร์ใบลานหนึ่งผูก (โดยทั่วไป คัมภีร์ 1 ผูก มักจะมีจำนวนใบลานประมาณ  24 แผ่น)  ไม่เรียกลักษณะนามเป็น “เล่ม” เหมือนหนังสือไทย สมุดข่อย หรือ พับสา   คัมภีร์ใบลานที่มีเนื้อหายาว มีจำนวนรวมกันหลายผูก นับเป็น 1 เรื่อง หรือ 1 ชุด  ทางล้านนา เรียกว่า 1 กับ   เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความสวยงามให้กับคัมภีร์ใบลาน ส่วนมากนิยมใช้ไม้ประกับ ทำเป็นปกหน้าและปกหลัง ไม้ประกับ ทำด้วยไม้จริง มีความหนาประมาณ ครึ่งเซนติเมตร  วัดและตัดขนาดให้เท่ากับหรือใหญ่กว่าใบลานเล็กน้อย มักเขียนลวดลายแบบต่างๆ มีสีสันสวยงาม เป็นการเพิ่มคุณค่าแก่หนังสือใบลานด้วย ขอบใบลานทั้งผูก หรือ ทั้งชุด มักนิยมทาด้วยสีแดง หรือ สีทอง ตกแต่งให้สวยงาม เช่น ฉบับล่องชาด ฉบับทองทึบ ถ้าไม่มีการตกแต่งขอบใบลาน จะเรียกว่า ฉบับลานดิบ ขั้นตอนสุดท้ายในการเก็บรักษาอาจห่อด้วยผ้าธรรมดา หรือ ผ้าที่ถักทอด้วยผีมือ มีลวดลายสวยงาม ทางล้านนาเรียกว่า กัมภีร์(คัมภีร์) หมายถึง ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน  อาจนำคัมภีร์หลายๆ ผูกมาห่อรวมกันก็ได้ แล้วเขียนบันทึกรายการหรือทำทะเบียนติดไว้บนห่อผ้าเพื่อให้เกิดสะดวกในการค้นหา
รองศาสตราจารย์ สมหมาย เปรมจิตต์ ผู้ริเริ่มการสำรวจและอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลานรุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เล่าให้ฟังว่า  เมื่อท่านได้มารับราชการตำแหน่งอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2507 เป็นอาจารย์ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ สอนวิชาศาสนาและวิชาภาษาบาลี ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ท่านได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ประเทศฟิลิปปินส์ (ในครั้งแรก เรียนสาขาวิชาปรัชญา แต่ได้เปลี่ยนสาขาวิชาเป็น มานุษยวิทยาในเทอมถัดมา)  เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา ได้ย้ายไปสังกัดสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ในปี 2515 ขณะที่ทำงานที่คณะสังคมศาสตร์นั้ง  โต๊ะทำงานของท่านตั้งอยู่ใกล้กับโต๊ะทำงานของ อาจารย์ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ซึ่งท่านศึกษามาทางด้านภาษาศาสตร์ ภาษาโบราณ และได้เรียนภาษาล้านนาจากวัดพันเตา เป็นช่วงที่ ดร. ฮันส์ เพนธ์ กำลังค้นคว้าคัมภีร์ล้านนาอยู่พอดี    ในห้องทำงานของท่าน มีชั้นจัดเก็บเอกสารโบราณ(ใบลานและพับสา)    เอกสารโบราณที่ห้องทำงานของ ดร.ฮันส เพนธ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา  ซึ่งอาจารย์สมหมายประมาณคร่าว ๆ ด้วยสายตา มีจำนวน 200 ฉบับ เมื่อสอบถามก็ได้ความว่า  ในจังหวัดเชียงใหม่   ยังมีเอกสารโบราณแบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก  อาจารย์สมหมายก็เกิดความคิดว่า สิ่งเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์มาก หากจะได้ทำการสำรวจและรวบรวมจัดเก็บเอาไว้ เพื่อทำการศึกษาเชิงลึกต่อยอดทางวิชาการ  ท่านได้ไปปรึกษากับคณบดีคณะสังคมศาสตร์(สมัยนั้น) ก็ได้เห็นขอบถึงความสำคัญของเอกสารเหล่านี้และให้การสนับสนุน จากนั้นเป็นต้นมา อาจารย์สมหมายจึงได้ทำโครงการสำรวจคัมภีร์โบราณในจังหวัดเชียงใหม่ แม้ช่วงต้นจะขาดงบประมาณสนับสนุน แต่ด้วยความตั้งใจจริง ก็มุ่งมั่นทำงานกันอย่างต่อเนื่อง  ครั้งแรกคณะทำงานออกไปสำรวจคัมภีร์ ณ วัดฝายหิน ซึ่งตั้งอยู่ชิดกำแพงด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเดือน สิงหาคม  ก่อนการสำรวจก็ได้จัดทำแบบฟอร์มการสำรวจขึ้นมาเป็นแนวปฏิบัติการ แยกออกเป็นหมวดหมู่ได้  11 หมวด(ซึ่งทางสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้เป็นแบบการสำรวจเอกสารโบราณตลอดมา)  จากวัดฝายหินก็ขยายลงไปสำรวจที่วัดสวนดอก วัดปราสาท วัดผาบ่อง ทั้งได้จัดทำประมวลรายชื่อเอกสารโบราณที่ได้สำรวจเอาไว้ทั้งหมด เพื่อให้ผู้สนใจได้รับรู้ รายชื่อเอกสารว่า ในวัดนั้น ๆ มีเอกสารอะไรบ้าง  ในส่วนทีมสำรวจ ก็ได้เริ่มปริวรรตเอกสารโบราณบางเรื่องออกมาสำเสนอ ว่า เรื่ออะไร มีสาระสำคัญอย่างไรออกมาเผยแพร่  ผลจากการทำงานต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นการจุดประกายเบื้องต้น และส่งผลให้มีคนเริ่มรู้จักและสนใจศึกษาเอกสารโบราณกันมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2518 สยามสมาคม เมื่อได้รับทราบภารกิจนี้ ก็ได้ให้ทุนสนับสนุนการสำรวจ ปริวรรต เอกสารโบราณ และปี พ.ศ. 2520 อาจารย์สมหมายได้เดินทางไปสัมมนา ณ เมือง  โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น  และได้บรรยายถึงกระบวนการสำรวจเอกสารโบราณในภาคเหนือของประเทศไทย  ทำให้มูลนิธิโตโยต้า เกิดความสนใจ ให้การสนับสนุนงบประมาณและมอบเครื่องถ่ายไมโครฟิล์ม(สิ่งที่ต้องการมากในขณะนั้น คือ ทุนสนับสนุน และเครื่องถ่ายไมโครฟิล์ม) เมื่ออาจารย์สมหมายกลับมาด้วยทุนและอุปกรณ์สนับสนุนพน้อมเช่นนี้ จึงได้ลงมือขยายพื้นที่การสำรวจ จัดลงทะเบียน ถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มเอกสารโบราณออกไปทั่วเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน และจังหวัดใกล้เคียง ในการทำงานได้ตระหนักถึงการอ่านแบบถ่ายเสียงอักขระ เพื่อให้ผู้ที่อ่านภาษาไทยภาคกลางสามารถเข้าใจได้ง่าย แล้วนำข้อมูลรายการสำรวจมาเก็บรักษาไว้ที่สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลจะเสียหาย ก็ได้จัดการเก็บรักษาในรูปเอกสารสำรอง  โดยมูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น นำไมโครฟิล์ม(ที่ถ่ายสำเนาแล้ว) ไปจัดพิมพ์ลงบนกระดาษสาที่ไม่ได้เคลือบสารเคมี (ทำให้อายุเอกสารอยู่ได้เป็นหลายร้อยปี) แต่น่าเสียดายที่การพิมพ์สำเนาเอกสารจากไมโครฟิล์มลงบนกระดาษสาได้ไม่ครบทุกม้วน ต้องยุติลงด้วยเหตุผลบางอย่าง จึงได้เอกสารพิมพ์ต้นฉบับ เพียง 30 เล่ม (หากพิมพ์ออกมาได้ครบทุกม้วน ก็จะเป็นต้นฉบับคู่สำรองที่มีคุณค่ามาก)  นับจากนั้นมา งานเอกสารล้านนาก็เริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง  
ในระยะแรก การใช้ประโยชน์จากเอกสารโบราณ ส่วนมากจะเป็นนักค้นคว้า นักวิชาการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งทำให้ชื่ออาจารย์สมหมาย   เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มการสำรวจและเก็บรักษา ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่  (ในช่วงที่ขยายการสำรวจออกมานั้น ได้เชิญอาจารย์บาลี พุทธรักษา เข้ามาร่วมงาน  ซึ่งอาจารย์สมหมายเห็นลายมือของอาจารย์บาลี สวยงามและเป็นระเบียบ) และต่อมา ได้มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ามาขอใช้ประโยชน์จากเอกสารโบราณ ในคลังข้อมูลล้านนามากขึ้นทุกวัน
ปี พ.ศ. 2529 ได้มีทีมงานสำรวจ อนุรักษ์และจัดเก็บเอกสารโบราณ คู่ขนานกันขึ้นมา คือ อาจารย์ ม.ร.ว. รุจยา อาภากร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน และช่วงก่อนหน้านี้(พ.ศ. 2526)  โปรเฟสเซอร์ ดร. ฮารันด์ ฮุนดิอุส จากประเทศเยอรมัน ได้มาทำการสำรวจและรวบรวมเอกสารโบราณ ประเภทนิทานโบราณได้ประมาณ  800 กว่าเรื่อง มี อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย  คุณปวงคำ ตุ้ยเขียว เป็นต้น เป็นผู้ช่วยการสำรวจ) ทั้ง ดร. ฮารันด์ ฮุนดิอุส และอาจารย์ ม.ร.ว.รุจยา จึงได้ร่วมมือกัน ดร. ฮารันด์ ฮุนดิอุส ได้ขอทุนมาสนับสนุนการสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์โบราณตามวัดต่าง ๆ(พ.ศ. 2529-2535) วิธีการอนุรักษ์คือ ถ้าสายสยองขาดก็เปลี่ยนใส่ใหม่ ไม่มีไม้ประกับคัมภีร์ ก็ใส่ไม้ประกับ  โดยซื้อไม้เนื้อแข็งมา แล้วจ้างโรงเลื่อยทำเป็นไม้ประกับ)  ไม่มีผ้าห่อคัมภีร์ ก็จัดหาผ้าด้ายดิบมาห่อเอาไว้ เพื่อมิให้คัมภีร์กระจัดกระจายไป
เกี่ยวกับสถานที่และอุปกรณ์ที่จัดเก็บรักษาคัมภีร์โบราณ รวามทั้งสภาพของเอกสารโบราณนั้น ทีมงานสำรวจพบว่า หากหอไตร หรือ หอธรรมของวัดใด อยู่ในสภาพที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่รักษาหมั่นเข้าไปตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ  และไม่มีหลังคารั่วซึมจากนำ้ฝน คัมภีร์โบราณที่เก็บไว้ในตู้ หรือ หีบธรรม ก็จะคงอยู่ในสภาพดี ในทางตรงกันข้ามคัมภีร์โบราณก็จะเกิดความเสียหาย เปื่อยผุ หรือ แตกผูก นอกจากนี้ ยังมีสัตว์จำพวกหนู แมลงสาบ ปลวก เข้าไปทำลายเอกสารเหล่านี้ให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน   การทำงานของคณะสำรวจในเบื้องต้นนั้น ทีมสำรวจปัจจุบัน นำโดย อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2554-2557) ได้ให้ข้อสังเเกตวิธีทำงานที่ควรตระหนักไว้ก็คือ   “ทีมสำรวจก่อนหน้านี้ ได้ทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีข้อมูลว่า อีกทีมทำอะไรไว้บ้าง เป็นการทำงานซ้ำซ้อน สิ้งเปลืองงบประมาณ เวลา และบุคคลากรไปมาก ขาดการทำงานแบบร่วมมือกัน ไม่มีการสร้างเครือข่ายเป็นระบบอย่างวิธีทำงานของชาวตะวันตก” (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2557 พิธีกรรมในวิถีชีวิตล้านนาจากคัมภีร์โบราณ, หน้า 176-178)  
                   เกี่ยวกับอายุของคัมภีร์โบารณ ทีมสำรวจพบว่า คัมภีร์ใบลานที่ได้รับการอนุรักษ์ ส่วนใหญ่จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี  เพื่อรักษามิให้สูญหาย ทีมวิจัยสำรวจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ให้ความสำคัญของอายุคัมภีร์ ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็สมควรทำการอนุรักษ์อย่างยิ่ง  แม้ว่าคัมภีร์ใบลาน นับเป็นเอกสารโบราณ ถึงจะมีอายุน้อยกว่าศิลาจารึก แต่จะมีอายุมากกว่าหนังสือสมุดไทยหรือสมุดข่อย เป็นเป็นเรื่องอายุการใช้งานของวัสดุที่ใช้รองรับการจารึก หรือการเขียน ที่ภาคเหนือของประเทศไทย ได้พบเอกสารใบลานที่อยู่ในสภาพดีและสมบูรณ์ ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 400 ปี ถึง 500 ปีขึ้นไป เช่นคัมภีร์ที่พบในวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  อักษรและภาษาที่จารึกในคัมภีร์ใบลาน ก็เป็นอักษรภาษาโบราณ  ได้แก่ อักษรขอม ภาษาบาลี/ไทย อักษรธรรมล้านนา  หรือ ตั๋วเมือง ภาษาบาลี / ล้านนา  อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี/ไทย อักษรธรรมลาว ภาษาบาลี/ลาว เป็นต้น (http://www.addsiam.com/100  -เรื่องเมืองไทย/หนังสือใบลาน-คัมภีร์ใบลาน/2.html สืบค้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558) ซึ่งคนปัจจุบันน้อยคนนักที่จะสามารถอ่านได้   จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณมาช่วยอ่าน หรือ แปล ด้วยการปริวรรตถอดอักษร หรือ การถอดความหมาย ออกมา
การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน    ควรเก็บไว้ในสถานที่เหมาะสม เช่น ในหีบธรรม ตู้พระธรรม หรือ ชั้นวาง ที่สามารถป้องกับสัตว์และแมลงทำลายได้  คัมภีร์ใบลานที่มีผู้จารถวายไว้ตามวัด จะถูกเก็บรักษาโดยห่อหรือมัดแล้วนำไปใส่หีบธรรม(หีตธัมม์) ในหอธรรม(หอไตร) หีบธรรมเป็นหีบไม้รูปทรงต่างๆ ที่มีการตกแต่งลวดลายต่างๆไว้อย่างสวยงาม ส่วนมากจะทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีฝาเปิด – ปิดด้านบน
หอธรรม หรือ หอไตร ที่เป็นที่เก็บหีบธรรมและคัมภีร์ใบลาน นิยมสร้างเป็นอาคารสูง มีลักษณะมิดชิด เพื่อป้องกันนก หนู ค้างคาว มดและสัตว์อื่น ๆ เข้าไปทำรัง ซึ่งจะสร้างความเสีย หายให้กับคัมภีร์ใบลานได้ บางแห่งจะสร้างหอธรรมไว้กลางสระน้ำ แล้วทำบันไดหรือสะพานชั่วคราวที่จะพาด เมื่อต้องการที่จะเข้าไปในหอธรรมเท่านั้น ถ้าเสร็จธุระต้องชักสะพานหรือบันไดออก  ถือเป็นภูมิปัญญาในการเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า(พระดิเรก วชิรญาโณ(อินจันทร์ : 2545 น. 8.)
          ที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการ หน่วยงาน และสถาบันต่าง ๆ เช่น สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัย เชียงใหม่  เป็นต้น มีบุคลากร สำคัญที่ขอเอ่ยนามเพื่อเป็นเกียรติเช่น ศาสตราจารย์   ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส, อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย, รองศาสตราจารย์ สมหมาย เปรมจิตต์, อาจารย์บุญทา     สุโรจน์  รองศาสตราจารย์ ดร. อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์,  ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี, รองศาสตราจารย์ ดร. ม.ล. พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์ อาจารย์ ม.ร.ว. รุจยา อาภากร เป็นต้น ได้สำรวจ ทำทะเบียน และถ่ายไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนแล้วจำนวนหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นโครงการสำรวจ  ได้จัดพิมพ์รายชื่อคัมภีร์ใบลานที่ได้สำรวจเสร็จแล้ว  นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้พระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่ เห็นความสำคัญในการเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยสำรวจปัจจุบันก็ตระหนักดีว่า ในวัดต่างๆทั่วภาคเหนือ  ยังคงหลงเหลือคัมภีร์ใบลานอีกจำนวนมหาศาล ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจมาก่อน เพราะนักสำรวจชุดก่อนหน้านี้ ก็สนใจและจัดเก็บเฉพาะเรื่องที่ตนเห็นว่า สำคัญและเกี่ยวข้องดังที่กล่าวมา ได้ละเลยเรื่องอื่น ๆ ที่ตนไม่ได้สนใจไปอย่างน่าเสียดาย) ถ้าปล่อยข้อมูลเหล่านี้ทิ้งไว้อยู่ในสภาพนั้นอีก คัมภีร์เหล่านั้นก็อาจถูกทำลายหรือเสียหายไปโดยยังมิได้ทำการสำรวจอนุรักษ์เอาไว้เลย
          อย่างไรก็ตามในระยะ 4-5 ที่ผ่านมา คณะนักวิชาการและนักวิจัย มีอาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม เป็นที่ปรึกษา  และมีมวลสมาชิกประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงษ์ แสง-ชูโตผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อินทนนท์, รองศาสตราจารย์ ดร. จีรยุทธ ไชยจารุวณิช, อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ, ดร.ชัปปนะ ปิ่นเงิน, ชนินทร์ เขียวสนุก, อมรรัตน์ เฟื่องวรธรรม, สวัสดิ์ ดีใส, อุไร ไชยวงศ์ และ ยศพล เจริญมณี เป็นต้น ได้สนใจและรื้อฟื้นทำการสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียน และทำสำเนาคัมภีร์ใบลานและเอกสารโบราณฟื้นขึ้นมาใหม่ ในการสำรวจอนุรักษ์ครั้งนี้ เป็นการลงมือสำรวจอย่างละเอียด  จัดระบบเอกสารให้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการอ้างอิงและเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่นขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อสืบสานต่อยอดลมหายใจ สร้างกิจกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยปราชญ์ล้านนา ในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ลงมือทำการสำรวจและอนุรักษ์ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มล้านนาคดี จากสถาบันวิจัยสังคม ประกอบด้วย สุวิภา จำปาวัลย์ ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ ก็ได้ทำการสำรวจอนุรักษ์ ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
 1.2 หลักการการสำรวจคัมภีร์ใบลาน
หลักการและแนวทางในการสำรวจอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของ ทุกกลุ่มจะมีหลักการไม่แตกต่างกัน เพื่อชี้แนวทางพอเป็นกรอบใหญ่ๆ ในการสำรวจอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน มีคู่มือการสำรวจคัมภีร์ใบลาน ที่พระดิเรก วชิรญาโณ(อินจันทร์) ผู้เคยปฏิบัติงานร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ภาควิชาภาษาไทย ได้เรียบเรียงสรุปแนวคิดและหลักการอนุรักษ์คัมภีร์ ดังต่อไปนี้  (พระดิเรก วชิรญาโณ, อินจันทร์ : 2545 น.11-22)
การสำรวจคัมภีร์ใบลาน หรือ การคัดธรรม เป็นงานด้านการสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานที่เก็บรักษาไว้ตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ทราบจำนวนชื่อเรื่อง ตลอดจนถึงสภาพคัมภีร์ใบลานเพื่อทำการซ่อมแซมและเก็บรักษาให้เหมาะสม
คัมภีร์ใบลานจำนวนมากที่มีอยู่ในปัจจุบัน บางแห่งไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร หากถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานอาจถูกทำลายจากหนู มอด ปลวก ฯลฯ ตลอดจนถึงความร้อนและความชื้น เมื่อเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการผุพังของคัมภีร์ใบลาน
การเก็บคัมภีร์ใบลานในหีบธรรมเป็นเวลานาน ทำให้ใบลานหมดอายุเร็วขึ้น เพราะไม่ได้สัมผัสกับอากาศภายนอกและถูกกดทับเป็นเวลานาน ๆ มีส่วนทำให้ใบลานบิดงอ หรือเสียหายได้ การสำรวจและอนุรักษ์ซ่อมแซม ก็จะเป็นการยืดอายุของใบลานได้อีกทางหนึ่งด้วย
 1.3 ขั้นตอนของการสำรวจคัมภีร์ใบลาน
การไปสำรวจคัมภีร์ใบลานตามสถานที่ต่าง ๆ คณะผู้สำรวจ(หัวหน้า) จำเป็นจะต้องติดต่อประสานงานกับเจ้าของสถานที่ หรือ ผู้ดูแลรักษาคัมภีร์ใบลานเหล่านั้นก่อน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และเพื่อประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ล่วงหน้า
 ข้อที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือควรให้เจ้าของสถานที่ ผู้ดูแล และชาวบ้านในท้องที่นั้นเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะการสำรวจอนุรักษ์ที่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลดังกล่าว ย่อมมีผลต่อการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์หลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เจ้าของสถานที่และชาวบ้านได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของคัมภีร์ใบลานและพับสาเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นเอกสารโบราณ เป็นแหล่งความรู้ ภูมิปัญญา(มรดก)ของบรรพบุรุษของตนที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดเอาไว้
คัมภีร์ใบลานที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ส่วนมากจะไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบ หรือเป็นหมวดหมู่ บางผูกแยกออกจากกับ หรือ มัด บางผูกตัวใบลานแยกออกจากกัน เพราะสายสยองที่ใช้ร้อยใบลานขาดหรือหมดอายุการใช้งาน ดังนั้นการทำงานต้องดำเนินไปอย่างมีขั้นตอน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1)  การรวบรวมคัมภีร์ใบลานและพับสาทั้งหมดในวัดหรือสถานที่ที่ทำการสำรวจ ตรวจดูคัมภีร์ใบลานที่ต้องสำรวจ และวางแผนในการดำเนินงานให้เหมาะสมว่าจะต้องใช้ระยะเวลาและบุคลากรเท่าใด
2)  แยกคัมภีร์ใบลานในมัดหรือกับที่ครบชุดไว้ต่างหากจากคัมภีร์ใบลานอื่นๆ การจะดูว่ามัดหรือกับนั้นครบถ้วนหรือไม่ สามารถดูได้จากจำนวนที่บอกไว้ในบัญชัก หรือ ตรวจดูลำดับผูกว่าเรียงลำดับครบหรือไม่ แล้วตรวจดูว่าคัมภีร์ใบลานผูกสุดท้ายนั้นจบหรือไม่
3)  นำคัมภีร์ใบลานที่ไม่ครบชุดนั้นมาจัดเรียงไว้ เพื่อหาผูกที่เป็นชุดเดียวกัน โดยนำเอาคัมภีร์ใบลานทั้งหมดมาเรียงกัน ตามขั้นตอน ดังนี้
        3.1) เรียงตามความยาวของใบลาน เพื่อจำแนกกลุ่มตามความยาว เพราะว่า ใบลานที่นำมาจารจะมีขนาดความยาวที่ต่างกัน
        3.2) ตั้งสันคัมภีร์ใบลานทั้งหมดขึ้น เพื่อแยกชุดสีและลวดลายที่ปรากฏตรงสันคัมภีร์ใบลาน
        3.3) ตรวจนับจำนวนผูกและเนื้อหาในคัมภีร์ใบลานว่าครบหรือไม่ หากมีครบก็ห่อหรือมัดไว้ชั่วคราว และนำไปจัดอยู่ในกลุ่มที่ครบชุดแล้ว
        3.4) แยกคัมภีร์ใบลานที่ไม่เข้าชุด กันเก็บไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ
4) ทำความสะอาด ซ่อมแซม บันทึกข้อมูลจัดหมวดหมู่ และมัดหรือห่อคัมภีร์ใบลาน เพื่อนำไปเก็บไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม
5) สรุปบัญชีรายชื่อของคัมภีร์ใบลานและพับสาเหล่านั้น โดยอาจทำไว้ทั้งบัญชีรายชื่อ ลำดับตามมัด บัญชีรายชื่อเรียงเอกสารเรียงตามลำดับตัวอักษร และบัญชีรายชื่อตามลำดับหมวดหมู่เอกสาร
           1.4 แบบสำรวจคัมภีร์ใบลาน
                   การบันทึกข้อมูลจากคัมภีร์ใบลานในการสำรวจแต่ละครั้ง หากบันทึกรายละเอียดมากเท่าใดก็จะมีประโยชน์ต่อเจ้าของ ผู้สำรวจและผู้สนใจศึกษาค้นคว้ามากเท่านั้น เพราะการทำทะเบียน จะทำให้ทราบจำนวนและชื่อเรื่องของเอกสารที่มีอยู่  ส่วนข้อมูลอื่นๆ ก็จะบอกถึงชื่อเอกสาร ชื่อผู้จาร หมวดหมู่ สภาพ อายุ จำนวนหน้าลาน ข้อความท้ายใบลาน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจที่จะศึกษา
                   ในการสำรวจใบลาน ผู้สำรวจต้องกำหนดเครื่องมือ หรือ แบบสำรวจ ขึ้นอยู่กับคณะสำรวจจะเรียกชื่อว่าอย่างไร เช่น “แบบบันทึกข้อมูลเอกสารโบราณ” ของสถาบันวิจัยสังคม, “บัตรข้อมูลคัมภีร์ใบลานล้านนา” ของโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม,  “แบบสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสา” ของกลุ่มใบลาน อาคารเรือนเดิม เป็นต้น ซึ่งแบบเหล่านี้ ทางคณะผู้สำรวจต้องสร้างเอาไว้เป็นกรอบในการบันทึกรายละเอียดของรายการเอกสาร   เช่น รหัส หรือ เลขทะเบียน ชื่อเรื่อง หมวดเรื่อง  แหล่งที่สำรวจ อักษร ภาษา  ประเภทเอกสาร จำนวนผูก/หน้า ปีที่จารหรือบันทึก ลักษณะเอกสาร วันเดือนปีที่สำรวจ การซ่อมแซม การถ่ายภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างที่ 1  แบบสำรวจเอกสารของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มา : “แบบบันทึกข้อมูลเอกสารโบราณ” ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตัวอย่างที่ 2  แบบสำรวจเอกสารของโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




ที่มา : “บัตรข้อมูลคัมภีร์ใบลานล้านนา” ของโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ตัวอย่างที่ 3   แบบสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสา  ของกลุ่มใบลาน  วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม  เชียงใหม่ 

แบบสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสา ของกลุ่มใบลาน/อาคารเรือนเดิม มช.

เลขที่ทะเบียน......................................
สำรวจเมื่อวันที่................/................./.................
สถานที่...................................................................................................................................
ชื่อเรื่องเอกสาร............................................................................................................................
หมวด.............................................................................................................................................
หน้าทับเคล้า.......................... ...........................................................................................
บัญชัก......................................................................................................................................
หน้าทับปลาย.............................................................................................................
จำนวน.....................หน้า   จารหน้าละ.........................บรรทัด
อักษร..............................    ภาษา..............................................
ลักษณะเอกสาร  (   ) ใบลาน      (   ) พับสา       (   ) อื่นๆ...................................
สภาพเอกสาร    (   ) ดีมาก       (   ) ดี            (   ) ชำรุด                 (   ) ชำรุดมาก
การซ่อมแซม     (   ) ทำความสะอาด      (   ) ซ่อมสายสยอง                 (   ) ซ่อมตัวใบลาน
ข้อความท้ายใบลาน(อวสานพจน์).......................................................................................
...........................................................................................................................
จาร/เขียน เมื่อ จ.ศ................. พ.ศ........................ ปี(ปีหนไท)............................
หมายเหตุและข้อสังเกตของผู้สำรวจ...................................................................................................
ชื่อผู้สำรวจ......................................................................................................

ที่มา : “แบบสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสา” ของกลุ่มใบลาน ร่วมงานกับอาคารเรือนเดิม คณะมนุษยศาสตร์  ซึ่งคณะทำงานชี้แจงว่า แบบสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสานี้ ปรับปรุงจากแบบสำรวจของโครงการสำรวจคัมภีร์ใบลานของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อความสะดวกและเหมาะสมในการทำงาน(พระดิเรก วชิรญาโณ, 2545 : หน้า 14.) 

        การออกแบบสำรวจเอกสารโบราณ  อาจจะมีรูปแบบแตกต่างออกไปจากตัวอย่างที่ให้ไว้ ทั้งนี้ เมื่อมีคณะทำงานออกสำรวจในภายหลังภายหลัง แลเห็นว่า แบบเดิมยังไม่ครอบคลุมประเภทเอกสาร   ไม่สามารถจำแนกหมวดเอกสารได้ละเอียด จึงได้ ปรับปรุง เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่โดยอาศัยเค้าโครงของแบบสำรวจเดิมก็มี
ตัวอย่างที่ 4   แบบสำรวจเอกสารโบปราณประเภทพับสา  ของอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ
แบบสำรวจเอกสารโบราณประเภทพับสา
          ชื่อหน่วยงาน                                                            
เลขที่ทะเบียน                         
1.      สถานที่ วัด                เลขที่             ตำบล                      อำเภอ           
2.      จังหวัด           (   ) เชียงใหม่    (   ) ลำพูน       (   ) ลำปาง      (   ) เชียงราย   
                               (   ) พะเยา (   ) แพร่  (   ) น่าน (   ) แม่ฮ่องสอน (   ) อื่นๆ
3.      ประเภท                   (   ) พับหัว       (   ) พับหลั่น     (   ) อื่นๆ
4.      เนื้อกระดาษ    (   ) กระดาษสา (   ) กระดาษข่อย         (   ) อื่นๆ
5.      สภาพเอกสาร  (   ) สมบูรณ์ (   ) ปกขาด          (   ) เนื้อหาแยกจากกัน (   ) ชำรุด         
(   ) ชำรุดมาก
6.      อักษร  (   ) ธรรมล้านนา         (   ) ไทเขิน       (   ) ไทลื้อ        (   ) ไทใหญ่      (   ) พม่า
7.      ภาษา  (   ) ไทยวน      (   ) บาลี         (   ) ไทใหญ่      (   ) พม่า         (   ) อื่นๆ
8.      หมวด  (ต้องมีเนื้อหาหลักมากกว่า 70 เปอร์เซนต์)
                   01 หมวดพระพุทธศาสนา
                             (   ) 01A พุทธตำนาน              (   ) 01B มหาชาติชาดก
                             (   ) 01C ทศชาติชาดก             (   ) 01D ชาดกทั่วไป
                             (   ) 01E พระสูตร                  (   ) 01F พระอภิธรรม
                             (   ) 01G พระวินัย                 (   ) 01H ธรรมะทั่วไป
                             (   ) 01I อานิสงส์ต่างๆ             (   ) 01J ทรรศนะเกี่ยวกับจักรวาล
                             (   ) 01K ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา(   ) 01L ตำนานปูชนียวัตถุ
                             (   ) 01M พระสาวกที่มีชื่อเสียง    (   ) 01N พยากรณ์เหตุการณ์อนาคต
                             (   ) 01O บทสวดมนต์และพิธีกรรม(   ) 01P พิธีกรรมสงฆ์
                             (   ) 01Q เทพนิยาย
                   (   ) 02 หมวดนิทานพื้นบ้าน             (   ) 03 หมวดกฎหมายโบราณ
                   (   ) 04 หมวดจริยศาสตร์                          (   ) 05 หมวดประวัติศาสตร์
                   (   ) 06 หมวดโหราศาสตร์               (   ) 07 หมวดโคลงกลอน
                   (   ) 08 หมวดยาสมุนไพร                          (   ) 09 หมวดลัทธิพิธีกรรม
                   (   ) 10 หมวดไสยศาสตร์                           (   ) 11 หมวดปกิณกะ
9.      เนื้อหาประกอบด้วย
9.1                                                                           
9.2                                                                           
9.3                                                                           
9.4                                                                           
9.5                                                                           
9.6                                                                           
9.7                                                                           
9.8                                                                           
9.9                                                                           
9.10                                                                          
10.    บันทึกเมื่อ      จ.ศ.               ตัว ปี    ตรงกับ พ.ศ.                (   ) ไม่ปรากฏ
11.    ขนาดเอกสาร  กว้าง              เซนติเมตร ยาว            เซนติเมตร
หนา              เซนติเมตร  จำนวนหน้า            หน้า
12.    การซ่อมแซม   (   ) ทำความสะอาด      (   ) ซ่อมปก (   ) ซ่อมรอยต่อ (   ) ไม่ซ่อม
13.    ถ่ายภาพดิจิตอล        (   ) ถ่าย                   (   ) ไม่ถ่าย
14.    หมายเหตุ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                               
15.    ข้อสังเกตของผู้สำรวจ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                 
16.    ชื่อผู้สำรวจ                                                            
17.    วันที่สำรวจ    /       /       (วัน/เดือน/ปี)

ที่มา : แบบสำรวจเอกสารโบปราณประเภทพับสา  ของอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ

1.5 วิธีบันทึกข้อมูลลงในแบบสำรวจ
จากแบบสำรวจดังกล่าวนี้ ผู้สำรวจต้องบันทึกข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการทำทะเบียนเอกสารและบัญชีรายชื่อต่อไป การบันทึกข้อมูลมีวิธีการและคำอธิบายประกอบตามลำดับ ดังตัวอย่างการลงรายการสำรวจของกลุ่มใบลาน ต่อไปนี้
1) เลขทะเบียน คือเลขที่บอกลำดับที่ของเอกสารที่สำรวจ(ตามลำดับผูก)โดยเขียนอักษรย่อของสถานที่ เครื่องหมายทับ(/) และตามด้วยตัวเลข โดยเริ่มตั้งแต่ 1 2 3 ... (หรือ 001 002 003 ...) ไปเรื่อยๆ จนครบหมดทุกผูกที่มีอยู่ เช่น ดด / 15 (หมายความว่า เป็นคัมภีร์ของวัดดอกแดง ลำดับที่ 15) เป็นต้น
2) การบันทึกวันที่ที่ทำการสำรวจ จะเป็นข้อมูลที่ใช้ในการสรุประยะเวลาในการดำเนินงาน และเป็นหลักฐานอ้างอิงอื่นๆ ซึ่งผู้สำรวจควรเขียนให้ครบถ้วน เช่น 9 / มิถุนายน / 2545 เป็นต้น
3) สถานที่ หมายถึงแหล่งที่อยู่ของเอกสาร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงถึงเอกสารว่าเป็นของวัดหรือสถานที่ใด หากเป็นเอกสารส่วนตัวของบุคคลใดก็ให้บอกชื่อเจ้าของและที่อยู่ไว้โดยละเอียด
4) ชื่อเรื่องเอกสาร คือชื่อของคัมภีร์ใบลานหรือพับสาที่สำรวจ หากมีจำนวนหลายผูก ควรบอกลำดับผูกของคัมภีร์ใบลานเรื่องนั้นๆด้วย โดยผู้สำรวจสามารถหาชื่อเรื่องเอกสารได้จากส่วนต่างๆของคัมภีร์ใบลานแต่ละเรื่องดังนี้
       (1) หน้าทับธรรม(หน้ารับธรรม)ทั้งหน้าทับเคล้าและหน้าทับปลาย โดยปกติแล้วผู้จารมักจะบอกชื่อคัมภีร์ไว้ในส่วนของหน้าทับ มักจะจารว่า “หน้าทับเคล้า...ผูก...แล” หรือ “หน้าทับปลาย...ผูก...แล” เป็นต้น
       (2) ด้านซ้ายของคัมภีร์ใบลานใบแรก(ส่วนที่เป็นเนื้อหา)ซึ่งผู้จารอาจจะบอกชื่อของเรื่องของคัมภีร์ใบลานนั้นไว้ เช่น “โสทัตถกี ผูก 3 แล”
       (3) อวสานพจน์ คือข้อความที่ผู้จารได้จารต่อท้ายจากเนื้อหาของคัมภีร์ใบลานเรื่องนั้นๆ(หลังจากคำว่า “ก็บังคมสมเร็จสระเด็จ”)ส่วนมากจะบอกชื่อของคัมภีร์ก่อน เช่น “วินัยทั้ง 5 ผูก 3 แล” หรือบางครั้งผู้จารจะบอกชื่อของตนและชื่อเรื่องของคัมภีร์ใบลานนั้น เช่น “พินทาภิกขุ ได้ริรังส้างธัมม์มูลสิกขานี้ไว้ค้ำชูสาสนา 5000 พระวัสสาแล”
       (4) บัญชัก คือแผ่นไม้หรือแผ่นโลหะที่ติดมากับมัดหรือกับคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมักจะระบุถึงชื่อผู้จาร และชื่อคัมภีร์ใบลานในมัดนั้นว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้บันทึกชื่อเรื่อง ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้บันทึกชื่อเรื่องเอกสารในกรณีที่ไม่ปรากฏในส่วนอื่นๆของคัมภีร์ใบลานผูกนั้นๆได้
       (5) หากไม่สามารถหาชื่อคัมภีร์จากหน้ารับธรรม ด้านซ้ายของใบลานที่เป็นเนื้อหาแผ่นแรก และอวสานพจน์ได้ สามารถหาชื่อของคัมภีร์ใบลานได้จากส่วนท้ายของเนื้อหา เพราะบางครั้งจะสรุปเรื่องหรือบอกชื่อของของคัมภีร์นั้นไว้ เช่น “กุมารปพฺพํ นิฏฺฐิตํ กรียาอันสังวัณณนาวิเสสจายังห้องเหตุ กุมมารบันกัณฑ์ถ้วน 8 ก็บังคมสมเร็จสระเด็จ เท่านี้ก่อนแล”
          หากคัมภีร์ใบลานดังกล่าวไม่จบในเรื่อง คือไม่มีการสรุปท้ายดังตัวอย่างที่ยกมา ผู้สำรวจควรอ่านคัมภีร์ใบลานผูกแรกของเรื่องนั้น เพราะบางครั้งก็มีการกล่าวชื่อไว้ในส่วนนั้นด้วย เช่น “.พระพุทธเจ้าก็ยกเอายังพระธรรมเทศนาดวงชื่อว่า...มาแสดงแก่...ดั่งนี้...”
          หากผู้สำรวจไม่สามารถหาชื่อของคัมภีร์ใบลานจากส่วนต่างๆเหล่านี้ ควรปรึกษากับผู้อื่นที่มีความรู้ก่อน ถ้ายังไม่สามารถวินิจฉัยได้ ต้องเขียนข้องสังเกตหรือข้อสันนิษฐานไว้ใน “หมายเหตุและข้อสังเกตของผู้สำรวจ” ลงในแบบสำรวจด้วย
5) หมวด หมายถึง หมวดหมู่ของเอกสาร โดยการสำรวจแต่ละครั้งนั้นผู้สำรวจควรมีข้อตกลงในเรื่องการจัดหมวดหมู่เอกสารไว้ก่อน โดยผู้สำรวจต้องมีความเข้าใจวิธีการแบ่งหมวดหมู่นั้นด้วย เพราะการแบ่งหมวดหมู่เอกสารจะทำให้ทราบถึงเนื้อหา และประเภทของคัมภีร์ใบลานที่สำรวจแล้ว เช่น กปิราชชาดก บันทึกว่า A 6.4 ปัญญาสชาดก เป็นต้น
6) บัญชัก หมายถึงแผ่นไม้ แผ่นโลหะ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ทำเป็นป้ายเพื่อบอกชื่อคัมภีร์ จำนวนผูกชื่อผู้สร้าง วันเดือนปีที่สร้าง และคำอธิษฐานต่างๆ ซึ่งการสร้างคัมภีร์ใบลานเป็นมัดหรือกับนั้น มักจะมีการทำบัญชักติดไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหา ซึ่งผู้สำรวจอาจจะสามารถนำข้อมูลในบัญชักไปบันทึกข้อมูลเกี่ยวข้องกับชื่อเรื่อง จำนวนผูก ชื่อผู้สร้าง และวันเดือนปีที่สร้างได้ หากไม่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานผูกนั้นๆ ผู้สำรวจควรบอกลักษณะผูกที่ใช้หรือลักษณะอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็นในแบบสำรวจด้วย
7) หน้าทับเคล้า หมายถึง ใบลานแผ่นแรกของคัมภีร์ใบลานแต่ละผูก ผู้สำรวจต้องบันทึกข้อความที่ปรากฏในหน้าทับเคล้าด้วย ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “หน้าทับเคล้า” หรือ “หน้ารับใบเคล้า” เป็นต้น ตามปกติผู้จากมักจะบอกชื่อและลำดับผูกของคัมภีร์ใบลานนั้น บางครั้งก็บอกชื่อผู้จาร หรือข้อความอื่นๆ เช่น
                   “หน้าทับเคล้าโสทัตถกีผูก 3 ข้าแล”
                   “หน้าทับเคล้าเป็นที่ลองเหล็กจาร บ่ใช่หนานอย่าฟั่งมาแต้ม”
8) หน้าทับปลาย หมายถึง ใบลานแผ่นสุดท้ายของผูก ซึ่งก็มีความสำคัญและวิธีการบันทึกข้อมูลเหมือนกับหน้าทับเคล้า
9) จำนวนหน้าลาน(หรือจำนวนหน้าของพับสา) ผู้สำรวจต้องบันทึกจำนวนหน้าลานของคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกโดยนับเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหา(ไม่นับหน้าทับเคล้า หน้าทับปลาย ใบลานเปล่า)เพราะจะทำให้ทราบถึงขนาดความยาวของเรื่อง เพื่อเปรียบเทียบกับคัมภีร์ใบลานผูกอื่นๆที่มีชื่อเรื่องเดียวกัน โดยปกติแล้ว คัมภีร์ใบลานแต่ละผูก ผู้จารจะจารตัวเลขหรือตัวอักษรลำดับหน้าไว้ด้านซ้ายหรือด้านขวาของด้านหลังใบลาน
10) อักษร การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับตัวอักษรที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานที่สำรวจนั้น แม้ว่าโดยทั่วไปคัมภีร์ใบลานล้านนาจะจารด้วยอักษรธรรมล้านนา แต่เนื่องจากในล้านนามีการใช้อักษรหลายระบบ คือมีทั้งอักษรธรรมล้านนา อักษรไทลื้อ อักษรไทใหญ่ ส่วนอักษรไทนิเทศ หรือ ตัวขอมเมือง(มักจะจารหรือบันทึกในวรรณกรรมประเภทโคลง) และอักษรฝักขาม(มักใช้จารึกหรือสลักลงบนแผ่นหิน) การบอกลักษณะตัวอักษรจะทำให้ทราบถึงที่มาของเอกสาร ชาติพันธุ์ของผู้จาร ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ฯลฯ ต่อไป
โดยทั่วไปในส่วนของเนื้อหา มักจะจารด้วยอักษรธรรม การใช้อักษรอื่นๆมักพบในหน้าทับและข้อความท้ายใบลาน
11) ภาษา โดยทั่วไปภาษาที่พบทั่วไปในคัมภีร์ใบลานล้านนานั้นจะมี 2 ภาษา คือ ภาษาล้านนา(ไทยวน) และภาษาบาลี คัมภีร์ใบลานที่จัดอยู่ในหมวดพุทธศาสนานั้นจะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
          (1) คัมภีร์ภาษาบาลี หมาถึงคัมภีร์ที่เป็นบทสวด คาถาหรือมีเนื้อหาเป็นภาษาบาลี โดยขึ้นต้นชื่อเรื่องว่า “บาลี...” เช่น “บาลีวินัยมหาวัคค์”
          (2) คัมภีร์นิสสัย หมายถึงคัมภีร์ที่มีลักษณะเป็นการแปลภาษาบาลีมาเป็นภาษาล้านนา โดยการนำเอาคำหรือภาษาบาลียกขึ้นมาก่อนแล้วแปลเป็นภาษาล้านนาสลับกันไปตลอดเรื่อง ชื่อจะขึ้นต้นว่า “นิสสัย...” หรือ “ศัพท์...” เช่น “ศัพท์วินัยมหาวัคค์” “นิสสัยกัมมวาจา”
          (3) คัมภีร์โวหาร หมายถึงคัมภีร์ที่มีเนื้อหาหรือดำเนินเรื่องด้วยภาษาล้านนา แต่มีการยกคำศัพท์ คาถาหรือบทสวดภาษาบาลีมาประกอบการดำเนินเรื่อง นิยมเรียกชื่อคัมภีร์นั้นๆไปเลย หรืออาจขึ้นต้นชื่อด้วยคำว่า “โวหาร..” เช่น “โวหารวินัยมหาวัคค์” “มังคลัตถทีปนีผูก 1 แล”
       การแยกประเภทของภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ใบลานนั้น ผู้สำรวจต้องตรวจดูเนื้อหาทั้งหมดว่าจัดอยู่ในคัมภีร์ประเภทใด จากทั้ง 3 ประเภท หากเป็นคัมภีร์ที่ใช้ภาษาบาลีตลอดทั้งผูกหรือเกือบทั้งหมด ให้บันทึกว่า เป็นภาษาบาลี แต่หากจัดอยู่ในคัมภีร์ประเภทนิสสัยหรือโวหาร ให้บันทึกว่าเป็นภาษาล้านนา(หรือไทยวน)
12) ลักษณะเอกสาร หมายถึง ประเภทหรือลักษณะของวัสดุที่ใช้บันทึกอาจจะเป็นใบลาน พับสา หรือสมุดข่อย ซึ่งผู้สำรวจก็ต้องทำเครื่องหมาย “/” หน้าประเภทของเอกสารนั้นๆ หากเป็นวัสดุอื่นต้องระบุชื่อในช่อง “อื่นๆ” ให้ชัดเจน
13) สภาพเอกสาร หมายถึง สภาพความสมบูรณ์ของเอกสารว่าอยู่ในสภาพใด เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานประกอบการสำรวจและดำเนินการในขั้นถัดไป
14) การซ่อมแซม หมายรวมไปถึงการทำความสะอาดด้วย เพราะคัมภีร์ใบลานบางผูกมีฝุ่นหรือคราบสกปรกติดอยู่ เพื่อยืดอายุของคัมภีร์ใบลาน ผู้สำรวจต้องทำความสะอาดตามความเหมาะสมของสภาพคัมภีร์ใบลานผูกนั้นๆ เช่น ใช้ผ้าธรรมดาเช็ดหรือลบฝุ่นออก หรือใช้แอลกอฮอล์เพื่อเช็ดคราบสกปรกอื่นๆ หากคัมภีร์ใบลานผูกใดมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมแล้ว ผู้สำรวจต้องซ่อมแซมคัมภีร์ใบลานนั้นโดยดูจากสภาพความเสียหาย
ในสมัยโบราณ หากคัมภีร์ใบลานหักหรือขาดวิ่นไป มักใช้ลานมาซ่อมแซมโดยการเย็บให้ติดกัน ถ้าทับตัวอักษรก็จารเพิ่มตามต้นฉบับ หรือใช้ทางมะพร้าวมาวางทับแล้วใช้เข็มและด้ายมาเย็บให้ติดกัน หากสายสยองเปื่อยหรือขาด ควรเปลี่ยนใหม่ นอกจากนั้นหากผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าหรือขาดก็ควรเปลี่ยนใหม่ด้วย
15) ข้อความท้ายใบลานหรืออวสานพจน์(Colophon) หมายถึง ข้อความต่างๆที่ปรากฏอยู่ในส่วนของท้ายใบลานหลังจากที่จารเนื้อความตามคัมภีร์นั้นๆ จบแล้ว กล่าวคือถือเป็นข้อความที่เป็นส่วนของผู้จารเอง ซึ่งส่วนมากจะบอกชื่อคัมภีร์ ชื่อผู้จาร วันเดือนปีที่จาร หรือชื่อของผู้จ้างให้จาร(เจ้าศรัทธา) สถานที่จาร และคำอธิษฐาน เป็นต้น
การจารข้อความในส่วนท้ายของใบลาน ถือเป็นจารีตนิยมอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าและความน่าสนใจ เพราะบางครั้งข้อความในท้ายใบลานก็แทรกความรู้ สภาพเหตุการณ์บ้านเมือง วิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นด้วย
16) ปีที่จาร การบันทึกปีที่จารจะทำให้ทราบถึงอายุของคัมภีร์ใบลานผูกนั้นๆ โดยต้องบอกทั้งปีจุลศักราช(จ.ศ.) ปีพุทธศักราช(พ.ศ.) และปีหนไท
การหาปีพุทธศักราช และปีจุลศักราช
                             จุลศักราช        +        1181   = พุทธศักราช
                             พุทธศักราช       –       1181   = จุลศักราช
ผู้จารมักจะบอกปีจุลศักราชและบอกปีหนไทกำกับไว้เสมอ ผู้สำรวจต้องบันทึกชื่อปีหนไทไว้ เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของปีที่จาร
17) หมายเหตุและข้อสังเกตของผู้สำรวจ การบันทึกข้อมูลในส่วนนี้ ผู้สำรวจควรบอกลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น ความสำคัญของเนื้อหา อายุของเอกสาร พบการใช้อักขระวิธีพิเศษ อักษรภาษาอื่น มีลวดลายหรือรูปภาพที่น่าสนใจ หรือข้อสงสัยในเรื่องชื่อเรื่องเอกสาร เป็นต้น
18) ชื่อผู้สำรวจ ผู้สำรวจต้องลงชื่อผู้สำรวจด้วยตัวบรรจง เพื่อเป็นหลักฐานว่าใครเป็นผู้สำรวจ ซึ่งหากมีข้อสงสัยเมื่อทำบัญชี หรือสรุปผลการสำรวจ ผู้ทำบัญชีก็สามารถซักถามเพื่อยืนยันข้อมูลจากผู้สำรวจจากรายชื่อที่บันทึกกำกับไว้ได้

2. การจัดการหมวดหมู่ธรรม และการลงทะเบียนคัมภีร์ใบลานล้านนา
        การจัดหมวดหมู่ธรรมในการสำรวจ แต่ละคณะก็จะกำหนดหมวดหมู่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเรื่อง เนื้อหาของพระธรรมคัมภีร์ที่สำรวจ เท่าที่พบ มีหลานวิธีการจัดหมวดหมู่  จำแนกได้ ดังนี้
        2.1  การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน แบบสถาบันวิจัยสังคม
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการจัดของรองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ คณะผู้สำรวจกลุ่มแรก ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แบ่งหมวดเรื่องคัมภีร์ใบลานด้วยการจัดหมวดหมู่ธรรมเป็น 11 หมวดหลัก  และกระจายย่อยออกไปทั้งหมดเป็น 27 หมวดเรื่อง ดังนี้
01     หมวดพุทธศาสนา Buddhism แบ่งย่อยออกไปอีก 17 หมวดเรื่อง ดังนี้
01A     พุทธตำนาน                         Buddha’s Legendary History
01B     มหาชาติชาดก                       Great Jataka Story
01C     ทศชาติชาดก                        Ten Jataka Stories
01D     ชาดกทั่วไป                          General Jataka Stories
01E     พระสูตร                                       Suttanta Doctrine
01F     พระอภิธรรม                        Abhidhamma Doctrine
01G     พระวินัย                             Vinaya Doctrine
01H     ธรรมะทั่วไป                         Religious Teachings
01I      อานิสงส์ต่าง ๆ                      Blessings
01J     ทรรศนะเกี่ยวกับจักรวาล           Cosmological View
01K     ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา           History of Buddhism
01L     ตำนานปูชนียวัตถุ                   History of Sacred Objects
01M    พระสาวกที่มีชื่อเสียง                Famous Disciples
01N     พยากรณ์เหตุการณ์อนาคต          Propercy
01O    บทสวดมนต์                         Prayers and Rituals
01P     พิธีกรรมสงฆ์                         Sangha Ceremonies
01Q    เทพนิยาย                            Buddhist Myth
02     หมวดนิทานพื้นบ้าน    Folktales
03     หมวดกฎหมายโบราณ  Customary Law
04     หมวดจริยศาสตร์                 Ethics
05     หมวดประวัติศาสตร์    History
06     หมวดโหราศาสตร์       Astrology
07     หมวดโคลงกลอน                 Poetry
08     หมวดยาสมุนไพร                 Traditional Medicine
09     หมวดลัทธิพิธีกรรม      Rites and Rituals
10     หมวดไสยศาสตร์                 Magic
11     หมวดปกิณกะ            Miscellaneous
ที่มา เพ็ญพรรณ เครือไทย, อมรรัตน์ เฟื่องวรธรรม. รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟิล์มของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2521 – 2533(ฉบับปรับปรุง ปี 2552). หน้า ก – ข, 2552.


2.1 /1  การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน แบบสถาบันวิจัยสังคม ฉบับปรับปรุง
แบบสำรวจของสถาบันวิจัยสังคม ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหมวดเรื่องมาใหม่อีก 1 หมวด ต่อท้าย  หมวดหลักที่ 12 หมวดปกรณวิเสส Extra Canonical Works  โดย ชัปนะ ปิ่นเงิน ในโครงการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลานวัดบ้านธิหลวง จังหวัดลำพูน ดังข้อความว่า รายชื่อและจำนวนของเอกสารที่สำรวจและลงทะเบียนที่จัดเก็บรักษาไว้ของวัดบ้านธิหลวง ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน และวัดช่างเพี้ยน ตำบลช่างเพี้ยน อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สำรวจระหว่างวันที่ 10 มกราคม-25 มกราคม พ.ศ. 2558 จำแนกประเภทเอกสารและข้อมูลตามแบบบันทึกข้อมูลเอกสารโบราณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปรับปรุงใหม่) ออกเป็น 28 หมวดเรื่อง ดังนี้
01     หมวดพุทธศาสนา              Buddhism
01A     พุทธตำนาน                         Buddha’s Legendary History
01B     มหาชาติชาดก                       Great Jataka Story
01C     ทศชาติชาดก                        Ten Jataka Stories
01D     ชาดกทั่วไป                          General Jataka Stories
01E     พระสูตร                                       Suttanta Doctrine
01F     พระอภิธรรม                        Abhidhamma Doctrine
01G     พระวินัย                             Vinaya Doctrine
01H     ธรรมะทั่วไป                         Religious Teachings
01I      อานิสงส์ต่าง ๆ                      Blessings
01J     ทรรศนะเกี่ยวกับจักรวาล           Cosmological View
01K     ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา           History of Buddhism
01L     ตำนานปูชนียวัตถุ                   History of Sacred Objects
01M    พระสาวกที่มีชื่อเสียง                Famous Disciples
01N     พยากรณ์เหตุการณ์อนาคต          Propercy
01O    บทสวดมนต์                         Prayers and Rituals
01P     พิธีกรรมสงฆ์                         Sangha Ceremonies
01Q    เทพนิยาย                            Buddhist Myth
02     หมวดนิทานพื้นบ้าน            Folktales
03     หมวดกฎหมายโบราณ          Customary Law
04     หมวดจริยศาสตร์                       Ethics
05     หมวดประวัติศาสตร์            History
06     หมวดโหราศาสตร์              Astrology
07     หมวดโคลงกลอน                       Poetry
08     หมวดยาสมุนไพร                       Traditional Medicine
09     หมวดลัทธิพิธีกรรม             Rites and Rituals
10     หมวดไสยศาสตร์                       Magic
11     หมวดปกิณกะ                  Miscellaneous
        12     หมวดปกรณวิเสส              Extra Canonical Works

ที่มา : ชัปปนะ ปิ่นเงิน รายงานการสำรวจ คัมภีร์ใบลานและพับสา วัดบ้านธิหลวง ตำบลบ้านธิ  และวัดช่างเพี้ยน ตำบลช่างเพี้ยน อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558

2. 2 การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน แบบกลุ่มใบลาน วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม(กลุ่มอาคารเรือนเดิม)
พระดิเรก วชิรญาโร (อินจันทร์) ผู้เรียบเรียงคู่มือการสำรวจคัมภีร์ใบลาน โดยคำแนะ นำของศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่อาคารเรือนเดิม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า เนื่องจากคัมภีร์ใบลานที่พบในล้านนา มีความหลากหลายในด้านเนื้อหา การสำรวจและทำทะเบียนจึงต้องมีการจัดหมวดหมู่เอกสารเพื่อความสะดวกต่อผู้ที่สนใจศึกษาและค้นคว้าหาความรู้จากคัมภีร์ใบลาน และการจัดหมวดหมู่ที่นำเสนอนี้ ได้แบ่งประเภทตามเนื้อหาเป็นหลัก(เพราะว่าคัมภีร์ใบลานบางเรื่องอาจจะมีชื่อเรียกที่ไม่สัมพันธ์กับเนื้อหา)  กำหนดเป็น 18 หมวดหลัก แยกย่อยออกไป เป็น 28 หมวดเรื่อง พร้อมกับให้คำอธิบายแต่ละหมวดเรื่องเอาไว้เป็นแนวการลงรายการ(พระดิเรก วชิรญาโณ : 2545 หน้า 25-46) ดังนี้
A พระไตรปิฎก (แยกย่อยออกไป 7 หมวดเรื่อง) ดังนี้
                             1 พระวินัยปิฎก
                             2 พระสุตตันตปิฎก/พระสูตร
                             3 พระอภิธรรมปิฎก
                             4 พระไตรปิฎกแบบย่อ
                             5 อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสสต่างๆ
                             6 ชาดก
                                       1 นิบาตชาดก
                                       2 ทศชาติชาดก
                                       3 มหาชาติชาดก
                                       4 ปัญญาสชาดก
                                       5 ชาดกนอกนิบาต(ชาดกล้านนา)
                             7 ธรรมทั่วไป
B ประวัติศาสตร์
C ตำนาน
                             1 พุทธตำนาน
                             2 ตำนานของพระสาวก
                             3 ตำนานปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ
                             4 ตำนานบุคคล
D อานิสงส์
E จริยศาสตร์
                F นิทานพื้นบ้าน
G การพยากรณ์เหตุการณ์อนาคต
H โหราศาสตร์
I จักรวาลวิทยา
J ไสยศาสตร์
K ภาษาศาสตร์
L กฎหมาย
M เวชศาสตร์
N พิธีกรรมท้องถิ่น
O พิธีกรรมสงฆ์
P กวีนิพนธ์
                             1 กวีนิพนธ์ทั่วไป
                             2 กวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเป็นคำทำนาย
Q บทสวด, คำไหว้ต่างๆ
R ปกิณกะ
คำอธิบาย การแบ่งหมวดหมู่คัมภีร์ใบลาน ตามแบบกลุ่มใบลาน หรือ กลุ่มอาคารเรือนเดิม
A พระไตรปิฎก หมายถึงคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเอาหลักคำสอนต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ แบ่งออกเป็น 3 ปิฎก ดังนี้
      1 พระวินัยปิฎก หมายถึงคัมภีร์ที่มีเนื้อหาว่าด้วยพุทธบัญญัติ พระวินัย เช่น มหาวรรค, ปาราชิกกัณฑ์, ปริวาร เป็นต้น
      คัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายพระวินัยปิฎก(อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสส ฯลฯ) ซึ่งเป็นภาษาบาลี นิสสัย และโวหารล้านนา เช่น กังขาวิตรณี, วินยวินิจฉยะ, มูลสิกขา เป็นต้น
      คัมภีร์ที่แต่งอธิบายพระวินัยอย่างย่อที่เป็นภาษาล้านนา เช่น ปาติโมกข์, วินัยกรรมวาจา เป็นต้น
      2 พระสุตตันตปิฎก คือคัมภีร์หมวดที่ว่าด้วยคำสอนต่างๆ ทั้งที่เป็นสูตรที่มีเนื้อหายาวและสั้น ในส่วนของเนื้อหามักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เอวํ เม สุตฺตํ เอกํ สมยํ...”
      นิกายในพระสุตตันตปิฎก ได้แก่ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตตนิกาย, อังคุตตรนิกาย, ขุททกนิกาย
      หัวข้อย่อยในขุททกนิกาย เช่น เถรคาถา, เถรีคาถา, อุทาน, เปตวัตถุ ฯลฯ
      พระสูตรที่อยู่ในนิกายต่างๆ เช่น พรหมชาลสูตร, สามัญญผลสูตร ฯลฯ
      คัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายพระสุตตันตปิฎกซึ่งมีทั้งที่เป็นภาษาบาลี นิสสัย และโวหารล้านนา เช่น กุรุนที, สารัตถทีปนี ฯลฯ
      นอกจากนั้นยังหมายรวมไปถึงคัมภีร์ที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อสรุปความหรือคัมภีร์ที่อธิบายพระสูตรต่างๆ เช่น สาราริกวิชานสูตร, มหาสมัยสูตร, มูลนิพพานสูตร ฯลฯ
      3 พระอภิธรรมปิฎก หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นหลักธรรมชั้นสูง ว่าด้วยเรื่องจิต เจตสิก รูป และนิพพาน(ปรมัตถธรรม) ทั้งที่เป็นภาษาบาลี นิสสัย และโวหาร จัดเป็นหมวด ได้แก่ ธัมมสังคณี, วิภังค์, ธาตุกถา, ปุคคลบัญญัติ, กถาวัตถุ, ยมก, ปัฏฐาน
      คัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายพระอภิธรรมปิฎก เช่น ธาตุกถาอัตถโยชนา, เขมปกรณะ ฯลฯ
      คัมภีร์ที่จัดอยู่ในหมวดนี้จะรวมไปถึงคัมภีร์อภิธรรมแบบย่อ เช่น อภิธรรมรอม, 7 คัมภีร์รอม
      4. พระไตรปิฎกแบบย่อ หมายถึงคัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายหรือสรุปเนื้อหาพระไตรปิฎกโดยย่อ เช่น ไตรปิฏกะ, ปิฏกะจอง, ปิฏกะมาลา
      5. อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสสต่างๆ หมายถึงคัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายหลักธรรมคำสอน หรือเรื่องอื่นๆที่ไม่สามารถจัดเข้าในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก เช่น คันธวังสะ, มิลินทปัญหา, วิสุทธิมัคค์ ฯลฯ
      6. ชาดก หมายถึงเรื่องเล่าที่เป็นประวัติการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ปัจจุบันวัตถุ(เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงชาดก) อตีตวัตถุ(ชาดกหรือเรื่องราวในอดีตของพระโพธิสัตว์) และสโมธาน(การบอกว่าบุคคลในชาดกนั้น ในชาติปัจจุบันคือใคร) คัมภีร์ใบลานที่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ ได้แก่
                   6.1 นิบาตชาดก หมายถึงชาดกที่มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎก แต่งเป็นคาถามีทั้งหมด 547 เรื่อง โดยสังเกตจากชื่อคัมภีร์ที่จะลงท้ายด้วยคำว่า “นิบาต” หรือ “นิบาตชาดก” เช่น เอกนิบาต, ติงสนิบาต, มหานิบาต ฯลฯ เป็นต้น
                   6.2 มหานิบาตชาดก(ทศชาติ) หมายถึงชาดกที่เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบารมี 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า อันได้แก่ เตมิยชาดก, ชนกชาดก ไปจนถึง เวสสันตรชาดก และทศชาติรอม 
                   6.3 มหาชาติชาดก หมายถึงคัมภีร์เวสสันดรชาดกที่เป็นพระชาติสุดท้ายของการบำเพ็ญบารมี แบ่งเป็น 13 กัณฑ์ คือ ทศพร, หิมพานต์, ทานกัณฑ์ ไปจนถึง นครกัณฑ์
                   6.4 ปัญญาสชาดก หมายถึงชาดก 50 เรื่อง รวมกับเรื่องในภาคผนวกอีก 6 เรื่องเป็น 56 เรื่อง เช่น ธัมมธัชชชาดก, นรชีวชาดก, ปัญญาพลชาดก ฯลฯ 
                   6.5 ชาดกนอกนิบาต หมายถึงชาดกที่ไม่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก(นิบาตชาดก) เป็นชาดกที่นักปราชญ์ล้านนาแต่งขึ้นมาใหม่ บางเรื่องแต่งจากนิทานพื้นบ้านหื้อนำโครงเรื่องจากนิบาตชาดกมาแต่งใหม่ ตัวอย่างเช่น กล้วยพันกอ, กาเผือก, จัมปาสี่ต้น ฯลฯ 
      7. ธรรมะทั่วไป หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นคำสอนทั่วไป หรือการอธิบายหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่ง เช่น พรานสังกา, ปารมี 30 ทัศ, โลกวุฒิ ฯลฯ
B ประวัติศาสตร์ แบ่งเป็น 2 หมวดย่อย ได้แก่
      1. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา หมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาทั้งในอินเดีย ลังกา และล้านนา เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์, มูลสาสนา, ตำนานวัดป่าแดง
      2. ประวัติศาสตร์ล้านนาและอื่นๆ มีเนื้อหาเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือพงศาวดารต่างๆ(พื้น) เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานเชียงแสน, ตำนานเจ้าเจ็ดตน 
C ตำนาน หมายถึงเรื่องเล่าที่กล่าวถึงบุคคล สถานที่หรือวัตถุต่างๆที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความเชื่อแบ่งเป็น
      1. พุทธตำนาน หมายถึงตำนานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เช่น ชินมหานิทาน, ตำนานพระเจ้า 5 พระองค์
      2. ตำนานพระสาวก หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงประวัติหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระสาวกในสมัยพุทธกาลเท่านั้น เช่น กัสสปะนิพพาน, พิมพาพิลาป
      3. ตำนานปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ หมายถึงตำนานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ วัด เจดีย์ โบราณสถาน พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท เช่น ตำนานดอนเต้า, ตำนานดอยเกิ้ง
      4. ตำนานบุคคล หมายถึงตำนานเล่าเรื่องราวหรือประวัติของบุคคลต่างๆ เช่น คัมภีระสืบสาสนา, คัมภีระม้างสาสนา, สุเมธฤๅษี
      5. ตำนานเทพปกรณัม คือเรื่องราวของเทพ เทวดาตามความเชื่อท้องถิ่น เช่น ตำนานท้าวทั้ง 4, ตำนานนางธรณี
D อานิสงส์ หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงผลที่ได้รับจากการทำบุญหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำสิ่งต่างๆ เช่น อานิสงส์กฐิน, อานิสงส์บวช
E จริยศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอนให้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมและคุณธรรม เช่น ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์, ปู่เถ้าสอนหลาน, โลกวินัย
F นิทานพื้นบ้าน หมายถึงนิทานหรือเรื่องเล่าที่ไม่มีองค์ประกอบของการดำเนินเรื่องเหมือนชาดกและเนื้อหาไม่ใช่การสั่งสอนหรืออธิบายเรื่องธรรมะ เช่น นิทานวันลักเสียชอมเสีย, นิทานวันเก้ากอง, ไก่น้อยดาววี
G การพยากรณ์เหตุการณ์อนาคต หมายถึงคัมภีร์ที่มีเนื้อหาหลักคือการพยากรณ์พเหตุการณ์ในอนาคต ส่วนมากจะปรากฏในรูปของตำนาน เช่น ตำนานกวางฅำ, ตำนานกุมารยักข์, โลกหานี
H โหราศาสตร์ หมายถึงตำราดูฤกษ์ยาม ทำนายอนาคตของคนโดยดูจากวันเดือนปีเกิด ลักษณะของสัตว์ ฯลฯ
I จักรวาลวิทยา หมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยความรู้และทัศนะเกี่ยวกับจักวาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ เช่น จักรวาฬทีปนี, ไตรภูมิ, ปถมมูลมูลี
J ไสยศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องเวทมนต์คาถา ยันต์ การทำเสน่ห์ การทำเทียนบูชา การขับไล่ภูตผีปีศาจ ฯลฯ
K ภาษาศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และอักขรวิธีต่างๆ เช่น กิตก์, ตัทธิต, นามศัพท์ ฯลฯ
L กฎหมาย หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึง ข้อห้ามหรือกฎระเบียบของคนในสังคมที่กล่าวโทษลักษณะต่างๆ เช่น กฎหมายโบราณ, คดีเมือง, มังรายศาสตร์
M เวชศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ตำรายา และการรักษาโรคต่างๆ
N พิธีกรรมท้องถิ่น หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงการประกอบพิธีกรรมและที่เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น พิธีกรรมส่งอุบาทว์, พิธีถอนขึ๋ดต่างๆ, พิธีสืบชะตา
O พิธีกรรมสงฆ์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยการทำพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ หรือเป็นพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การสวดกฐิน, พิธีสวดปาฏิโมกข์, พิธีอุปสมบท
P กวีนิพนธ์ หมายถึงผลงานวรรณกรรมประเภทร้อยกรอง คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สมาส คร่าว ซอ ช้อย(จ๊อย) ระบำ และคำขับ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
      1. กวีนิพนธ์ทั่วไป เช่น กลอนสุภาษิต, กายพ์มหาราช 
      2. กวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำทำนายต่างๆ เช่น คร่าวเจ้าราช, โครงห้าพันพระวัสสา เป็นต้น
Q บทสวด,คำไหว้ต่างๆ หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นบทสวดหรือคำไหว้ต่างๆทั้งที่เป็นภาษาบาลีและภาษาบ้านนา เช่น กัมมวาจา, ทิพมนต์, มหาสันติงหลวง 
R ปกิณกะ หมายถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องต่างๆหลายเรื่อง หรือไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้
        คัมภีร์ที่มีลักษณะการแปล เช่น ศัพท์เครื่องบวช, พาหุงแปล 
        ตำรามาตราตวงวัด,การคำนวณ(แบบล้านนา) เช่น การคำนวณปฏิทิน, ลักษณะชั่ง 
        ตำราวิธีการสร้างสิ่งต่างๆ เช่น การสร้างพระพุทธรูป, การสร้างวิหาร, วิธีการสร้างบ้าน 

2. 3 การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน แบบตามหลักสากล(An Analysis of the Pãli Canon)
สุวิภา จำปาวัลย์, รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการระบบสารสนเทศด้านล้านนาคดีศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  2556 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอกสารรายงานการวิจัย 2556 น. 32-35) ได้อธิบายถึงข้อจำกัดของรูปแบบบันทึกหมวดเรื่องของเอกสารโบราณที่ผ่านว่ายังไม่ลงตัวดี จึงปรับรูปแบบการบันทึกหมวดใหม่อาศัยแบบสากล อ้างคุณ Webb ดังนี้ “แนวคิดในการพัฒนารูปแบบการจัดหมวดหมู่คัมภีร์ใบลาน เกิดจากการสำรวจคัมภีร์ใบลานทุกผูกที่ปรากฏในแต่ละวัดมีจำนวนมากถึงหลักพันผูก ทางโครงการได้เก็บข้อมูลทุกผูก ทั้งชื่อธรรมที่ปรากฏ ปีที่จาร จำนวนชุด จำนวนหน้า บันทึกสภาพของคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกนั้น พร้อมทั้งบันทึกในเชิงปฏิบัติการอนุรักษ์ เกี่ยวกับการดูแลรักษา ซึ่งต่างจากการสำรวจในอดีต ที่ได้คัดเลือกธรรมที่มีความน่าสนใจมาสำเนาเป็นเอกสารไมโครฟิล์มเก็บรักษาในคลังใบลานของสถาบันวิจัยสังคม การจัดหมวดหมู่จึงกำหนดตามธรรมที่คัดเลือกมาเก็บไว้ ซึ่งเดิมนักวิจัยในโครงการ การพัฒนาสารสนเทศด้านล้านนาคดีศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้เริ่มดำเนินการสำรวจใบลานตั้งแต่ พ.ศ.2555 โดยการสำรวจใหม่ ณ วัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง พบว่าคัมภีร์ใบลานวัดนี้ถูกสำรวจโดยคณะทำงานหลายกลุ่ม มีการบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกันไปตามหมวดหมู่ที่จัดของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการสืบค้น การเชื่องโยงข้อมูล ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลเกิดความสับสนในอนาคต
                    ในการสำรวจของโครงการฯ เป็นการสำรวจคัมภีร์ใบลานที่พบในวัดทั้งหมด ทุกผูก โดยการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาต่างจากการสำรวจอื่นๆ คือ การบันทึกข้อมูลในส่วนอวสานพจน์ หรือ Colophon เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การจัดทำใบบันทึก จึงเป็นประเด็นสำคัญของการทำงานบันทึกข้อมูลภาคสนามจากแหล่งข้อมูลจริง ซึ่งใบบันทึกนี้ ทางโครงการได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแบ่งหมวดหมู่ของรายชื่อธรรมที่พบ โดยในการปฏิบัติงานช่วงแรกที่วัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และวัดห้วยกาน อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้ใช้ใบบันทึกข้อมูลโดยแบ่งหมวดหมู่ตามที่สถานบันวิจัยสังคมได้จัดแบ่งไว้ สิ่งที่มีผลต่อความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล คือ ความสามารถของผู้ปริวรรต เช่น ธรรมชื่อเดียวกันถูกเก็บไว้ในหมวดที่แตกต่างกัน ตามความเข้าใจของภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละคน ที่มีความสามารถในการอ่านอักษรธรรมล้านนาได้ต่างกัน และวิธีการบันทึกที่ผู้บันทึกเขียนตามคำอ่าน เนื่องจากการแปลงอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทย
                   การปรับปรุงหมวดหมู่ชื่อธรรม เริ่มใช้ในการสำรวจคัมภีร์ใบลานที่วัดทรายมูลเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นวัดในชุมชนเมืองจึงไม่มีผู้รู้ในท้องถิ่น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกในการทำงานปริวรรตอักษรธรรม และบันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถด้านการอ่านธรรมบาลี และมีความเข้าใจธรรมล้านนาอย่างลึกซึ้ง จึงมีแนวคิดในการกำหนดหมวดหมู่ของชื่อธรรมตามหลักสากลในพุทธศาสนา ซึ่งแบ่งเป็น 26 หมวดใหญ่ ในหมวดใหญ่ได้บรรจุหมวดย่อย ซึ่งต้องแบ่งย่อยตามหัวข้อหลักนั้นๆ ทำให้ได้ความชัดเจน ไม่สับสน โดยคณะทำงานได้ให้รายชื่อย่อยของธรรมที่ปรากฏทั้งในหมวดใหญ่และหมวดย่อยมากกว่า 1000 ชื่อ ทั้งชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และอักษรธรรมล้านนา เพื่อให้สะดวกต่อการสืบค้นในระบบฐานข้อมูล และเป็นต้นแบบให้กับการกำหนดหมวดหมู่คัมภีร์ใบลานที่พัฒนามาจากการจัดหมวดหมู่เดิม
                    การปฏิบัติงานของโครงการได้สำรวจตามชื่อธรรมของคัมภีร์ใบลานล้านนา ตามวัดต่างๆ ทุกผูก เพื่อดูรายชื่อของธรรมใบลานทั้งหมดที่มีอยู่ สำหรับเป็นการศึกษาในเชิงวิเคราะห์ และการจัดทำฐานข้อมูลต่อไป ในการจัดหมวดหมู่คัมภีร์ใบลานตามหลักสากล จำแนกเป็นหมวดใหญ่ได้ทั้งหมด 26 หมวด หมวดย่อยตามชื่อธรรมที่พบและมีชื่อเรียกตามหลักสากล ที่มีความละเอียดมากขึ้น สามารถแบ่งกลุ่มได้ชัดเจน โดยใช้เอกสารอ้างอิงจาก Russell Webb. (2008). An Analysis of the Pãli Canon. Third edition Online © (2008) โดยแบ่งได้ 26 หมวดใหญ่ ได้แก่
          1A วินัย                    1B สุตตันตะ               1C อภิธรรม
          2 อรรถกถาพระไตรปิฎก  3 ฎีกา/อนุฎีกา            4 ปกรณวิเสส
          5 ชาดกนอกนิบาต        6 อานิสงส์                 7 กฎหมาย
          8 โหราศาสตร์             9 ตำรายา                 10 พงศาวดาร
          11 ประวัติศาสตร์         12 สาวกนิพพาน          13 อนาคตพระพุทธเจ้า
          14 กวีนิพนธ์               15 คาถาและยันต์         16 ไวยากรณ์
          17 อภิธานศัพท์           18 ทรรศนะเกี่ยวกับโลกและจักรวาล
          19 พยากรณ์               20 พิธีกรรมสงฆ์           21 จริยศาสตร์
          22 พิธีกรรมท้องถิ่น       23 ตำนาน                 24 นิทานพื้นบ้าน
          25 ปกิณณกะ              26 ธรรมะทั่วไป
          การแบ่งหมวดหมู่โดยใช้หลักสากล ตามการจัดหมวดหมู่ธรรมในพุทธศาสนา เนื่องจากการสำรวจชื่อธรรมและเนื้อหาจากคัมภีร์ใบลานของวัดที่ทำการสำรวจ เป็นการบันทึกข้อมูลหมดทุกผูก ธรรมที่เก็บรวบรวมรายชื่อไว้จึงสอดรับกับระบบสากลได้ และส่งผลดีในการสืบค้น การศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงระบบการจารคัมภีร์ใบลานในท้องถิ่นเทียบกับระบบสากลได้ หากมีการนำข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมต่อกัน
          การจัดระบบหมวดหมู่ใบลานตามสากล สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมที่นิยมจารถวายเป็นพุทธบูชาในแต่ละท้องถิ่น การบันทึกจำนวนของธรรมในคัมภีร์ใบลานที่สัมพันธ์กับระยะเวลาที่มีการจารและคัดลอก สามารถบอกลักษณะสังคมชุมชน ค่านิยม ความเชื่อ ตลอดจนข้อมูลประวัติศาสตร์ ที่สามารถรวมกับข้อมูลด้านอื่นๆ ทั้งการบันทึก มุขปาฐะ เหตุการณ์ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างวิธีการใส่รหัสข้อมูลคัมภีร์ใบลานล้านนาที่สำรวจพบตามวัดที่โครงการสำรวจ ของสุวิภา จำปาวัลย์ ที่ปรับปรุงวิธีลงรายการดังที่กล่าวว่า “การเพิ่มชื่อของธรรมที่พบโดยใช้ตามหลักสากล ทั้งชื่อ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาล้านนา โดยละเอียด ทำให้เกิดความชัดเจนในการแบ่งหมวดหมู่เมื่อลงสำรวจและบันทึกข้อมูลภาคสนาม เกิดความสะดวกในการสืบค้น และการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยการใส่รหัสของธรรมในแต่ละชื่อได้กำหนดตามชื่อสากลที่ปรากฏใน An Analysis of the Pãli Canon. ของ Russell Webb. ดังนี้

ตารางแสดงตัวอย่างวิธีการใส่รหัสข้อมูลคัมภีร์ใบลานล้านนาที่สำรวจพบตามวัดที่โครงการสำรวจ
ลำดับ
ชื่อเรื่อง
ผูกที่/หน้าลาน
ปีที่จาร
รหัส
เลขที่อ้างอิง
หมายเหตุ
1
มหาวิภังคะ
1/41
1280
1.A.1
1/10

2
ราโชวาทชาดก
1/38
1272
1.B.5.10.2.1
7/23

3
เอกาทสสงฺฆาทิเสส
1/27
1304
1.A.1.16
5/32

ลำดับที่          การเรียงลำดับชื่อเรื่องใบลานตามตัวอักษรในภาษาไทย
ชื่อเรื่อง          ชื่อธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานแต่ละผูก อ้างตามคู่มือการจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน สถาบันวิจัยสังคม/2556
ผูกที่/หน้าลาน จำนวนผูก ทั้งที่เป็นผูกเดี่ยว และลำดับผูกของธรรมที่รวมอยู่ในกับธรรม กรณีเป็นเรื่องที่มีจำนวนผูกมากกว่า 1 ผูกขึ้นไป จำนวนหน้าลาน เพื่อดูความสมบูรณ์ของลานแต่ละผูก
ปีที่จาร          บันทึกตามปีที่ปรากฏในบันทึกการจารใบลานท้ายธรรมหรือในอวสานพจน์ (Colophon) เป็นปีจุลศักราช แปลงเป็นปีพุทธศักราชโดยผลรวมของ 1181
รหัส              มาจากเลขรหัสของชื่อธรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ในคู่มือการจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน สถาบันวิจัยสังคม/2556
เลขที่อ้างอิง     มาจากเลขที่ในบันทึกการสำรวจภาคสนาม ซึ่งตรงกับเลขที่ในสติ๊กเกอร์สีขาว ขนาด 1x2.5 เซนติเมตรที่ติดอยู่ด้านซ้ายหน้าแรกของคัมภีร์ใบลานที่เก็บรักษาไว้ในแต่ละวัด เลขตัวแรกคือเลขของวันที่ทำการสำรวจตามลำดับวัน (ไม่ใช่วันที่ในปฏิทิน) ต่อด้วยเลขลำดับผูกที่สำรวจในวันนั้น
หมายเหตุ       ส่วนบันทึกอื่นๆ
ที่มา : สุวิภา จำปาวัลย์, รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการระบบสารสนเทศด้านล้านนาคดีศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  2556 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอกสารรายงานการวิจัย 2556 น. 32-35)
2.4 การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลาน แบบ Digital Library of Lao Manuscripts
http://www.laomanuscripts.net/en/texts/searchSearch by Category
          เพื่อให้เห็นการจัดหมวดหมู่คัมภีร์ใบลาน ของประเทศลาวที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีธรรมเนียมการจารธรรมใบลานถวายวัดเช่นกัน เมื่อ ศ.ดร.ฮารันด์ ฮุนดิอุส ได้ไปสำรวจระหว่างปี พ.ศ.2536-2547 = คศ. 1993-2004) มีการสำรวจทำการอนุรักษ์และทำสำเนาฐานข้อมูลออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ก็ได้พบการจัดหมวดธรรมอีกระบบหนึ่ง ซึ่งจัดไว้เพียง 20 หมวดเรื่อง ดังนี้
               1. Vinaya (พระวินัย)
               2. Sutta (พระสูตร)
               3. Abhidhamma (พระอภิธรรม)
               4. Chanting (บทสูตรมนต์)
               5. Anisong / Salong / Song (อานิสงส์ / ฉลอง / สอง)
               6. Jataka (ชาดก)
               7. Didactics (โอวาทคำสอน)
               8. Custom / Ritual (ประเพณี / พิธีกรรม)
               9. General Buddhism (ธรรมะทั่วไป)
               10. Buddhist Tale (นิยายธรรมะ)
               11. Folk Tale (นิทานชาวบ้าน)
               12. Buddhist Chronicle (ตำนานพระพุทธศาสนา)
               13. Secular History (ตำนานเมือง)
               14. Law (กฎหมาย)
               15. Philology (อักษรศาสตร์)
               16. Secular Literary Work (วรรณคดี)
               17. Astrology (โหราศาสตร์)
               18. Medicine / Magic (ตำรายา / ไสยศาสตร์)
               19.Miscellany (รวมหลายหมวด)
               20. Undetermined (ยังไม่ได้กำหนด)

          ที่มา : http://www.laomanuscripts.net/en/texts/searchSearch by Category สืบค้นวันที่ 7 มีนาคม 2558.

2.5 การจัดหมวดหมู่ธรรมในคัมภีร์ใบลานและรูปแบบการสำรวจของวัดพระธาตุแช่แห้ง
        วัดพระธาตุแช่แห้ง ได้จัดทำโครงการปริวรรตพระธรรมคัมภีร์ใบลาน  พระนครเมืองน่าน  สมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษมหันต์ไชยนันทบุรี มหาราชวงษาธิบดี ดังที่กล่าวมา มีแบบสำรวจและการจัดหมวดหมู่ธรรมคัมภีร์ ออกเป็น 21 หมวดเรื่อง ดังนี้

  
ตัวอย่างแบบสำรวจพระธรรมคัมภีร์ ของวัดพระธาตุแช่แห้ง

        ที่มา : ภาพถ่ายแบบสำรวจพระธรรมคัมภีร์โบราณล้านนา ถ่ายโดย วสุ ละอองศรี 27 กันยายน 2557

3.  แนวคิดว่าด้วยหลักการปริวรรตเอกสารโบราณ
          เอกสารโบราณล้านนาที่จารึกด้วยอักษรภาษาล้านนา ที่รู้จักกันดีว่า “ตัวเมือง 
อักษรธรรม หรืออักษรไทยวน” มีวิวัฒนาการเป็นมายาวนาน อุดม รุ่งเรืองศรี กล่าวว่า อักษรเมือง คลี่คลายมาจากอักษรเฟนิเซียน กลายไปเป็นอักษรพราหมี ประมาณ พ.ศ. 300 ปรับตัวเป็นอักษร
ปัลลวะ ประมาณ พ.ศ. 1100  และอักษรปัลลวะนี้ เป็นต้นเค้าของอักษรมอญโบราณ ที่ใช้ในอาณาจักรหริภุญไชย ประมาณ พ.ศ. 1600 และถูกนำมาใช้ในอาณาจักรไทยวนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง  ดัดแปลงมาจากอักษรมอญยุคใหม่ (พ.ศ. 1793-1843 ดังได้พบการใช้จารึกบนแผ่นทองที่ฐาน พระประธานวัดพระธาตุสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 1919 โดยจารึกเป็นอักษรสุโขทัย 3 บรรทัด และอักษรล้านนา 1 บรรทัด เมื่อพระมหาสุมนเถระ นำพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย ก็ได้นำอักษรฝักขาม (อักษรสุโขทัย) มาใช้จารึกที่ล้านนาด้วย พบที่วัดพระยืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พ.ศ.1913 ส่วนอักษรธรรมที่ปรับปรุงจนสมบูรณ์ที่สุดนั้น พบว่า นับแต่พระมหาญาณคัมภีร์กลับมาจากการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ในปี พ.ศ. 1975 เป็นต้นมา มีการใช้จารึกคัมภีร์ทางศาสนาลงในใบลานมาก แต่เป็นภาษาบาลี (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528
: 12-13) ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นอีกว่า “แต่ก่อนชาวล้านนาใช้อักษรธรรมเขียนภาษาบาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. 1919
เป็นอย่างน้อย และใช้เขียนภาษาไทย อย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2008” (ประเสริฐ ณ นคร, งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของประเสริฐ ณ นคร, 2534
: 23)  สมัยต่อมาเมื่อพระเจ้ากาวิละ “ฟื้นม่าน”ประกาศดินแดนเป็นอิสระจากพม่า ก็ได้ดัดแปลงอักษรล้านนาใหม่โดยผสมอักษรฝักขาม กับอักษรล้านนา แล้วเติมศกลงไปดุจอักษรขอม เรียกว่า “อักษรขอมเมือง หรือ อักษรไทยนิเทศ”ประมาณ พ.ศ. 2325
          อักษรธรรม/อักษรเมือง อักษรฝักขาม และอักษรไทยนิเทศเหล่านี้ รับใช้ชาวล้านนามานาน ทั้งการจารึกคัมภีร์ทางศาสนา และใช้เขียนประวัติศาสตร์ ตำนาน  และเรื่องทั่วไป แต่ชาวล้านนานิยมใช้อักษรธรรมจารึกคัมภีร์ทางศาสนาเป็นภาษาบาลี ส่วนตัวเมืองนิยมใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทางโลกเป็นภาษาล้านนา  อักษรฝักขามส่วนใหญ่ใช้ในศิลาจารึก ไม่นิยมใช้ทั่วไปเหมือนอักษรเมือง จนเมื่อนโยบายรวมหัวเมืองเข้ากับส่วนกลาง และบังคับให้ใช้อักษรไทยกลาง เป็นภาษาราชการ พ.ศ. 2436 และคนเมืองก็ต้องปรับตัวให้ทันสมัย นิยมเรียนและใช้อักษรไทยภาคกลางอย่างกว้างขวาง การเรียนอักษรล้านนาก็เสื่อมลง นอกจากจะทำการ ศึกษา และถ่ายทอดกันภายในวัดเท่านั้น ประจวบกับนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าด้วยภาษาและหนังสือกับหน้าที่พลเมือง ในปี พ.ศ. 2483 สถานภาพการใช้อักษรล้านนาก็แทบจะหมดลมหายใจลงไป ทั้งนี้เป็นเพราะ “ไม่ใช่ไม่มีผู้สอน แต่ไม่มีคนสนใจศึกษาเล่าเรียน” 
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีคุณค่าและเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองนั้น  แม้จะถูกละเลยไปบ้างบางยุค
บางสมัย ไม่นานก็ย่อมมีคนเล็งเห็นคุณค่า และนับว่าเป็นความโชคดีที่ยังมีผู้รู้อักษรล้านนาและรักษามรดกบรรพบุรุษเหลืออยู่ แม้ว่าจะมีเหลือไม่มากนัก แต่ก็พอที่จะสืบลมหายใจต่อกันมาได้ พอดีกับมีการเปิดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ภาคเหนือ มองเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาบรรพบุรุษและการปฏิรูปการศึกษาที่ให้โอกาสโรงเรียนในแต่ละภูมิภาคสร้างหลักสูตรท้องถิ่นของตนได้ การศึกษาอักษรล้านนา จึงได้ฟื้นคืนมาศึกษากันพอสมควร แต่ผู้ที่รู้และเชี่ยวชาญจริงๆ ในอักษรล้านนา ก็ยังมีอยู่ในวงจำกัดมาก
          คัมภีร์และเอกสารโบราณล้านนา  จารึกด้วยภาษาที่คนสมัยใหม่อ่านไม่ออก จึงถูกละเลยให้อยู่ในหอไตร (หอธรรม) หอสมุด หรืออยู่ในการครอบครองของผู้รักของเก่า คนที่อ่านไม่ออกก็มองข้ามไปดุจไก่ได้พลอย ต่อมาเมื่อมีการอนุรักษ์ และจัดการฟื้นฟู ทำการศึกษาค้นคว้ากันขึ้นมาใหม่ จึงเป็นงานที่ยาก จำเป็นต้องใช้ผู้รู้ ที่เป็นน้อย เป็นหนาน (ผู้ที่เคยบวชเรียน)  พระสงฆ์ และผู้รู้ในท้องถิ่น ให้ช่วยกันทำการปริวรรต คำว่า ปริวรรต หมายถึง หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป หรือแปรไป (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานสถาน, 2525 : 515) การปริวรรตตามหัวข้อนี้ หมายถึง การถอดอักษรธรรมล้านนาหรือ ตัวเมืองเป็นอักษรไทยกลาง ถ่ายทอดสาระที่บันทึกในคัมภีร์ใบลาน หรือพับสาเหล่านั้นออกมาให้เป็นภาษาไทยกลาง ซึ่งท่านเหล่านั้นต่างคนต่างก็ทำการปริวรรตตามความถนัดและความสนใจของตน ไม่มีรูปแบบแน่นอนตายตัวเป็นมาตรฐาน (เพราะไม่มีใครกำหนดมาตรฐานดุจกรรมการราชบัณฑิตทำพจนานุกรม) สุดแต่ภูมิรู้และวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้เป็นหลัก
          จากประเด็นที่กล่าวมา คณะผู้วิจัยพบว่า วิธีการปริวรรตอักษรโบราณพื้นเมือง มาเป็นอักษรไทยปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของการใช้งาน ดังจะได้เสนอรูปแบบการปริวรรต และจุดประสงค์ของการใช้งาน ตามคำบรรยายแนวการปริวรรต อักษร พื้นเมืองล้านนา ของประเสริฐ ณ นคร (ประเสริฐ ณ นคร, หน้า 117-119)   และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี  ที่ทำการปริวรรตเอกสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และจัดทำขึ้นมาใหม่ เรียกว่า วิธีทำข้อมูลสถาปนา (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี, 2538) ดังต่อไปนี้

        3.1 การปริวรรตแบบถอดหรือถ่ายตรงตามตัวอักษรตัวต่อตัว
                   วิธีนี้ ผู้ปริวรรตต้องถอดตัวอักษรตามต้นฉบับทุกประการ ไม่สนใจการออกเสียง  รักษาอักษรศาสตร์แบบโบราณอย่างเคร่งครัด  และดูพัฒนาการของภาษา จะได้เห็นต้นตอของการสะกด การันต์ สามารถย้อนกลับไปสู่ภาษาเดิมได้ ใช้กันมากในการถอดและอ่านศิลาจารึก ดังตัวอย่างเช่น หนังสือพื้นเมืองของล้านนา (อักษรธรรมล้านนา) ใช้อักษร  “ฑ” นางมณโฑ ตัวเดียวกัน แทนตัว “ฑ นางมณโฑ” ในภาษาบาลี และแทนตัว “ด เด็ก” ในภาษาไทย เวลาปริวรรต จะใช้ “ฑ” แทนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทย เช่น “บัณฑิตเฑิร”(บัณฑิตเดิน) อีกตัวอย่างหนึ่ง อักษร “บ ใบไม้” ในอักษรธรรมล้านนา บางครั้งก็ใช้แทน  “บ ใบไม้ “ บางครั้งก็ใช้แทน “ป ปลา”  ก็ต้องปริวรรตเป็น “บ ใบไม้” ตามรูปตัวอักษร เช่น “เบรตบ่มาบรากต” แม้จะดูแปลกตา แต่ผู้ปริวรรตควรแสดงคำที่เขียนตามอักขรวิธีปัจจุบันไว้ให้เปรียบเทียบด้วย “เปรตบ่มาปรากฏ” ผู้ที่จัดวางระบบการปริวรรตและทำตามระบบนั้นอย่างเคร่งครัดคือ พระธรรมราชานุวัตร (ฟู อตฺตสิโว) ผู้เขียนหลักภาษาไทยพายัพ และพจนานุกรมไทยพายัพ และ สิงฆะ วรรณสัย ทั้งสองท่านใช้หลักคล้ายกัน คือยึดเอาอักขรวิธีล้านนา เป็นหลักซึ่งมีระบบการกลายเสียงในพยัญชนวรรคค่อนข้างตายตัว วิธีการดังกล่าวนี้ นับเป็นระบบการปริวรรตที่แพร่หลายและเป็นแม่แบบการปรับปรุงวิธีการปริวรรตที่เป็นมาตรฐานที่นิยมกันในปัจจุบัน

         3.2 การปริวรรตตามเสียงในภาษาท้องถิ่น
                วิธีนี้พบมากในการพิมพ์ชาดกและคร่าวธรรมล้านนา ใช้อักษรภาษาไทยกลาง แต่ถอดออกมาเป็นภาษาท้องถิ่น เช่น อักษรธรรมล้านนาเขียนว่า “พี่เมารักน้อง”  ก็จะเขียนตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ปี้เมาฮักน้อง”  คำว่า “เบรตบ่มาบรากต” จะเขียนเป็น “เผดบ่มาผากต” การปริวรรตแบบนี้ จะเป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น ที่ต้องการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นของตน แต่คนต่างถิ่นส่วนใหญ่ในภูมิภาคอื่นจะอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะมีภาษาถิ่นที่ตนไม่เข้าใจความหมายอีกมาก อาจเข้าใจผิดไปจากเค้าเรื่องเดิมไป
                   การปริวรรตตามเสียงที่ปรากฏ โดยไม่ได้ยึดระบบอักขรวิธีล้านนา เช่น ผลงานของนายเมืองใจ ชัยนิลพันธ์ ซึ่งเริ่มพิมพ์คร่าวซอด้วยอักษรไทยกลางเมื่อประมาณ พ.. 2495 และได้ขายลิขสิทธิ์ให้แก่นายประเทือง เภาวัฒนสุข เจ้าของร้านประเทืองวิทยา และนายประเทือง ได้นำวรรณกรรมคร่าวซอมาพิมพ์ด้วยอักษรไทยกลางอีกหลายเรื่องเมื่อประมาณ พ.. 2510  (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2527 : 19) ด้วยเหตุนี้ วิธีการปริวรรตดังกล่าว จึงมีบางท่านนิยมเรียกว่า วิธีการแบบร้านประเทือง
วิธีการในทำนองนี้ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว บรรณาธิการ หนังสือ งานปริวรรตคัมภีร์โบราณล้านนา  สิ่งพิมพ์อันดับที่ 3 /2553  กล่าวไว้ในถ้อยแถลงว่า “งานปริวรรตคัมภีร์โบราณล้านนาเป็นโครงการหนึ่งของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ที่มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงบประมาณในการทำงานครั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่น ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานเปิดอาคารเทพรัตราชสุดาแล้ว มหาวิทยาลัยได้สนองกระแสพระดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เกี่ยวกับงานปริวรรตคัมภีร์ใบลาน สถาบันฯ ได้มอบหมายให้คุณโสภณ พรมจิตต์ สำรวจคัมภีร์ที่ได้เก็บรวบรวมไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คัมภีร์เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับมอบจากนักศึกษาที่เคยเรียนวิชาภาษาถิ่น วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และวิชาวัฒนธรรมศึกษา ใบลานผูกที่มีสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนทุกหน้าและมีคุณค่าควรปริวรรตมีจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ พุทธคุณสังคหะโลก, นางวิสาขารักษาศีล และตำรายาสมุนไพรรักษาม้า จึงได้ปริวรรตคัมภีร์ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว และให้ขอความร่วมมือจากนักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยช่วยปริวรรตคัมภีร์โบราณ จำนวน 19 เรื่องได้แก่ 1.  ตำนานพระธาตุทุ่งตูม 2. ตำนานพระธาตุเจ้าแจ้ขุ่มเท้าจอมดอย 3. ตำนานแม่ระมิงค์ 4. ตำนานถ้าเชียงดาว 5. ตำนานพระแก้วเจ้า 6. พุทธคุณสังคหโลก 7.  สมณกถา หนังสือมหาสวาธุเจ้าอุตตมะและมหาสวาธุเจ้าหลวงพรหมสร 8.  บวชพระลงขนานและโอวาทคำสอน  9. ตำราก่อพระเจ้า  10. นางวิสาขารักษาศีล 11. สู่ขวัญคน 12. สู่ขวัญข้าว 13. สู่ขวัญช้าง 14. สู่ขวัญม้า สู่15. ขวัญควาย 16. สู่ขวัญย่าหม้อนึ่ง  17. ตำรายาสมุนไพรล้านนา 18. ตำรายาจากสมุดบันทึก และ 19. ตำรายาสมุนไพรรักษาม้า เป็นคัมภีร์ใบลาน 11 เรื่อง จำนวน 227 หน้าใบลาน, พับสา 1 เรื่อง จำนวน 5 หน้าพับสา, เอกสารประเภทสมุดบันทึก จำนวน 7 เรื่อง รวม 55 หน้า รวมปริวรรตทั้งสิ้น 287 หน้า ใบลาน/พับสา/สมุด จำนวนเชิงอรรถที่อธิบายคำศัพท์และอื่นๆ จำนวนทั้งสิ้น 1,751 เชิงอรรถ รวมจำนวนหน้า 214 หน้าพิมพ์ (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว 2553 หน้า จ)   
เนื้อหามีความหลากหลายและมีคุณค่าซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจศึกษาเรื่องท้องถิ่นล้านนา คัมภีร์หลายเรื่องยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน และมีคัมภีร์บางเรื่องมีภาษาบาลีปะปนอยู่ ไม่ได้ส่งคำบาลีให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ขอท่านผู้อ่านโปรดใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที่ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลางเป็นหลัก ส่วนตำรายาและสมุนไพรพื้นบ้านมีหลายคำที่หาคำอธิบายไม่ได้ จึงเว้นไว้ ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ปัจจุบันตำรายาสมุนไพรเป็นที่น่าสนใจของคนทั่วไปและสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคต่างๆ ได้ จึงขอนำเสนอไว้ 2 ตำรา”(อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2553)

        3.3 การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ
                    วิธีนี้จะใช้หลักการเขียนคำส่วนใหญ่ให้อยู่ในรูปที่ตรงกับภาษากลางให้มากที่สุดเพื่อให้คนไทยทุกท้องถิ่นสามารถอ่านและเดาเนื้อหาจนเข้าใจความหมายได้ โดยไม่คำนึงถึงภาษาถิ่น เช่น ต้นฉบับเขียนว่า “ช้าง” ภาษาถิ่นว่า “จ๊าง” ก็ปริวรรตเป็น “ช้าง” ทุกคนก็อ่านเข้าใจตรงกัน 
อีกประการหนึ่ง ถ้าเสียงอ่านในภาษาถิ่นตรงกับคำในภาษาไทยกลาง ให้เขียนตามเสียงอ่าน โดยไม่ต้องคำนึงถึงต้นฉบับเดิม เช่นข้อความว่า “จัไพเฑิร” อ่านตามเสียงภาษาถิ่นว่า จักไปเดิน ก็ให้ถ่ายทอดตามเสียงอ่าน อนึ่ง อักขรวิธีล้านนา ถ้าเขียน “ไป” จะออกเสียงเป็น “ไป๋” จึงจำเป็นต้องเขียน”ไพ”  เพื่อให้ออกเสียงเป็น “ไป” เมื่อถอดอักษร ควรใช้ “ไป” จะเหมาะกว่า  อักษร “ฑ” ที่เขียนแทนทั้ง “ฑ” และ “ด” ตรงใดเป็น “ฑ” หรือเป็น “ด” ก็ควรถ่ายรูปตามอักขรวิธีไม่ต้องยุ่งยากในการเดาว่า เมื่อไรจะเป็น “ฑ” และเมื่อใดจะเป็น “ด”  และ ใช้ “น” สะกดแทน “ร” เช่นคำว่า “เฑิร” ก็ถ่ายออกมาเป็น “เดิน” ทั้งนี้เพราะอักขรวิธีสมัยโบราณไม่เคร่งครัดในระบบการเขียนตามมาตรฐานของพจนานุกรม ยกเว้นคำบางคำ ที่ถ่ายทอดออกมาก็ยังไม่เข้าใจ ให้คงการเขียนถ่ายแบบตามตัวหนังสือเดิม ดังคำว่า “นักเช่น” ก็เขียนเป็น “นักเจ้น” แล้วยังมีคำร้อยกรองบางคำที่ต้องรักษาสัมผัสเอาไว้ ต้องเขียนตามสำเนียงถิ่น เช่น คำว่า “ไปเป็นของเปิ้นแล้วนอ” ไม่ควรเขียนว่า “ไปเป็นของเพิ่นแล้วนอ”  หรือคำโบราณ เช่น  “เหล้น” การไม่เขียนเป็น “เล่น” ก็อาจจะเกิดประโยชน์แก่นักภาษาศาสตร์ต้องการตรวจสอบวรรณยุกต์คำไทยดั้งเดิมก็ได้ ทั้งนี้ หากคำใด เป็นคำโบราณ ที่ไม่รู้ความหมาย หรือยังหาความหมายไม่ได้ ก็อย่าเดาสุ่ม หรือดัดแปลง เปลี่ยนคำเข้าข้างตนเองตามอำเภอใจ ตัวไม่เข้าใจ ภายหลังอาจมีคนที่สามารถค้นหาความหมายจากภาษาไทยในท้องถิ่นอื่นก็ได้  
                   ในทำนองเดียวกัน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. ได้ทำการปริวรรต ราชวังสะ ฉบับวัดพระงาม เชียงใหม่ ที่อินฺทวํสภิกขุ จารเมื่อ จ.ศ. 1216 (พ.ศ. 2469) และจัดพิมพ์เป็นฉบับสถาปนาขึ้นมา เป็นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์มิ่งเมือง ก็ใช้แนวทางการปริวรรตตามที่กล่าวมา (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538)

        3.4 การปริวรรตแบบแบ่งเป็น 2 คอลัมน์ บรรทัดต่อบรรทัด
                   โดยด้านซ้ายเขียนอักษรธรรมล้านนาตามต้นฉบับ ส่วนด้านขวา เขียนข้อความที่ปริวรรตเป็นอักษรไทยภาคกลาง บรรทัดต่อบรรทัด คำใดที่ยาก ก็แปลความหมายไว้ในวงเล็บท้ายข้อความในบรรทัดเดียวกัน วิธีนี้ อุดม รุ่งเรืองศรี นิยมใช้ในช่วงแรกๆ ต่อมาจึงได้ตัดส่วนที่เป็นอักษรธรรมล้านนาทิ้งไป เพราะต้องการประหยัดหน้ากระดาษ
                   การปริวรรตแบบที่ 4 นี้ ได้พบเห็นมีการจัดหน้าแปลกออกไปจากอุดม รุ่งเรืองศรี เช่น งานปริวรรตของ รศ.ดร.อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์ บางเรื่องอักษรต้นฉบับอยู่หน้าซ้าย
คำปริวรรต (อ่าน) ใช้ภาษาไทยกลาง ตรงตามตัว ในหน้าขวา มีการอธิบายคำยากไว้หลายเรื่อง
เช่น เรื่อง มาตลังกา (2555) มีการเรียงความและแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส บางเรื่องเช่นเรื่อง ภาษิตตระกูลไท (2554) จะพิมพ์ภาษิตอักษรต้นฉบับเอาไว้ก่อนแล้วปริวรรตออกมาด้วยภาษาไทยกลางและแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นบทเรียงลงมา
                   ในทำนองกลับกัน จรีย์ สุนทรสิงห์  (2551) ได้ปริวรรตจากภาษาไทยกลางกลับเป็นอักษรล้านนา จากผลงานเรียบเรียงมหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ฟู อตฺตสิโว) วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้พิมพ์ต้นฉบับไว้ในหนังสือหน้าซ้าย และคำปริวรรตกลับอักษรล้านนาไว้หนังสือหน้าขวา บรรทัดต่อบรรทัด ความตรงกัน พิมพ์เนื่องในงานทำบุญอายุ ครบ 8 รอบ 96 ปี พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวรมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งในการปริวรรตกลับสู่อักษรล้านนา ก็ได้ใช้อักขรวิธีแบบดั้งเดิมของล้านนา นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

          3.5 การปริวรรตแบบจัดทำฉบับสถาปนา (Archetype) ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี
                   เพื่อความเข้าใจร่วมกัน คณะอนุกรรมการชี้แจงระบบการทำงาน และข้อตกลงเบื้องต้น ในการปริวรรต รวมทั้งรูปแบบการสถาปนา(สังเคราะห์จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา และจัดเป็นฉบับใหม่ ที่สมบูรณ์ที่สุด) เพื่อการอ้างอิง ซึ่งคณะผู้วิจัยเห็นว่า ไม่ควรตัดทอนคำชี้แจงลงไป อันอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ จึงนำเสนอทั้งหมดแม้จะยาวไปบ้าง แต่นั่น คือ “กระบวนการและเกณฑ์สำหรับการปริวรรต แบบฉบับสถาปนา” ดังต่อไปนี้ 
                   ในการปริวรรต ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี ครั้งนี้ คณะอนุ-กรรมการได้แสวงหาต้นฉบับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้ต้นฉบับที่ สมบูรณ์และเหมาะแก่การที่จะเป็นต้นแบบในการปริวรรตตำนาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของนครเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากแหล่งต่างๆ ดังที่ได้รับต้นฉบับเพื่อใช้ในการทำงาน ดังนี้
                   1. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม เชียงใหม่ จ.ศ. 1216 จากหอสมุดแห่งชาติ
                   2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ CMA.HPms. จารเมื่อ จ.ศ. 1288 จาก ดร. ฮันส์ เพนธ์
                   3. ตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับของวัดอัฏฐารส จังหวัดลำพูน จารเมื่อ จ.ศ. 1244
                   4. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับของวัดพระหลวง จังหวัดแพร่ จารเมื่อ จ.ศ. 1246
                   5. ตำนาน 15 ราชวงศ์ ฉบับของวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ จารเมื่อ จ.ศ. 1251
                    6. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับของวัดพิชัย จังหวัดลำปาง จารเมื่อ พ.ศ. 2489
                   7. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับของวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ จารเมื่อ พ.ศ. 2510
                   8. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พ.ศ. 2514
                    9. พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. 2516
                   10. สิบห้าราชวงศ์ ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2518

                   ในการปริวรรตนี้ คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเห็นว่าควรจะใช้วิธีการศึกษาสอบสวนและชำระต้นฉบับซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี ที่ดีที่สุดเพื่อร่วมสมโภชเมืองเชียงใหม่ในวาระที่มีอายุครบ 700 ปี และจากการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการต่างๆ แล้ว เห็นว่าวิธีการที่ Paul Mass นักปราชญ์ชาวเยอรมันได้รวบรวมขึ้นจากการศึกษาของนักปราชญ์ยุคก่อนๆ น่าจะเป็นวิธีการที่ใช้การได้ดี และเมื่อตรวจสอบกับการที่ได้มีผู้ใช้วิธีการนี้ศึกษาชำระคัมภีร์ของอินเดียได้ผลดีมาแล้วก็ทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะในการทำงานครั้งนี้ และวิธีการดังกล่าวนี้ก็เป็นวิธีการที่คล้ายกับวิธีการที่นักปราชญ์ชาวไทยใช้ในการตรวจชำระต้นฉบับมาก่อน เพียงแต่มีการระบุถึงที่มาของข้อมูลนั้นดูจะรัดกุมและสามารถตรวจสอบได้ดี ทำให้คณะอนุกรรมการเลือกใช้วิธีเดียวกันนี้มาใช้ตรวจสอบชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี ในครั้งนี้
                   วิธีการที่ Paul Mass รวบรวมขึ้นนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า วรรณกรรมที่ต้องตรวจสอบนั้นมีต้นตอดั้งเดิมมาจากต้นฉบับเดียว แต่เมื่อได้รับการคัดลอกต่อเนื่องกันไปนั้นทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนมากขึ้นตามลำดับ และเมื่อสอบเทียบข้อมูลโดยตลอดอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าเอกสารข้อมูลนั้นจะแยกเป็นสองกลุ่มเสมอไป ดังนั้นในการตรวจสอบ ชำระนั้นจะต้องพิจารณาหาต้นฉบับที่เห็นว่าน่าเชื่อถือมากที่สุดเป็นฉบับหลัก และใช้ฉบับที่มีสถานภาพสูงสุดของอีกสายหนึ่งมาตรวจสอบ และใช้ฉบับอื่นๆ มาคอยสอบทานเสมอโดยเฉพาะในกรณีที่ข้อความฉบับหลักและฉบับตรวจสอบต่างก็น่าเคลือบแคลงทั้งคู่
                   จากการตรวจสอบเอกสารข้อมูลปฐมภูมิแล้วพบว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับของวัดพระงามซึ่งจารเมื่อ จ.ศ. 1216 และฉบับ CMA. HPms. ซึ่งจารเมื่อ จ.ศ. 1288 ของ ดร. ฮันส์ เพนธ์ เป็นเอกสารที่ทรงความสำคัญคู่กัน แต่คณะอนุกรรมการได้ตัดสินใจเลือกเอาฉบับวัดพระงามเป็นต้นฉบับหลักและใช้ฉบับ CMA. HPms. (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าฉบับ จ.ศ. 1288) เป็นฉบับตรวจสอบ เพราะเห็นว่าฉบับวัดพระงามนั้นจารขึ้นหลังจากเหตุการณ์สุดท้ายที่ปรากฏในตำนานเพียง 27 ปี และแม้ว่าฉบับ จ.ศ. 1288 จะแม่นยำกว่าในการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ แต่ฉบับหลักก็ให้ความแม่นยำมากกว่าในแง่ของการใช้ตัวกล้ำและตัวสะกด
                    จากการที่เลือกเอา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม เป็นฉบับหลักในการทำงานครั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการสร้าง ข้อมูลสถาปนา โดยมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้
                   ก. ปริวรรตเอกสารฉบับหลักเพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างข้อมูลสถาปนา (Archetype)
                   ข. ใช้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับตรวจสอบ คือ ฉบับ จ.ศ. 1288 มาตรวจสอบข้อความจากฉบับหลักโดยละเอียดทุกตัวอักษร ทุกวรรค ทุกตอน
                   ค. ถ้าข้อความใดจากต้นฉบับทั้งสองแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าหากจะใช้ความจากฉบับหนึ่งฉบับใดก็ได้โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลสถาปนาแล้ว จะใช้ความจากฉบับหลัก และหากเห็นว่าความจากฉบับตรวจสอบยังน่าสนใจอยู่ ก็จะระบุไว้ในเชิงอรรถ
                   ง. หากความในฉบับหลักและฉบับตรวจสอบแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าความในฉบับตรวจสอบดีกว่าความจากฉบับหลักก็จะใช้ความจากฉบับตรวจสอบบรรจุเป็นข้อมูลสถาปนาแทน และระบุถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ในเชิงอรรถ
                   จ. หากความในฉบับหลักและฉบับตรวจสอบแตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าความจากทั้งสองฉบับต่างก็น่าเคลือบแคลง คณะอนุกรรมการจะได้พิจารณาความจากฉบับสอบทานอื่นๆ มาประกอบด้วย หากเห็นว่าความจากฉบับอื่นดีกว่าก็จะใช้ความที่เห็นว่าดีกว่านั้นบรรจุไว้ในข้อมูลสถาปนา และระบุถึงความในฉบับหลักและฉบับตรวจสอบไว้ในเชิงอรรถ
                   ฉ. ในกรณีที่คณะอนุกรรมการเห็นว่าความจากฉบับหลัก ฉบับตรวจสอบ และฉบับที่ใช้สอบทานต่างก็ไม่น่าพอใจแล้ว คณะอนุกรรมการจะได้เสนอข้อมูลสันนิษฐานลงแทนไว้ในข้อมูลสถาปนาและระบุถึงความในฉบับหลักและฉบับตรวจสอบไว้ด้วยในเชิงอรรถ
            
             เกณฑ์ในการปริวรรตอักษรที่ใช้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี
                   การปริวรรต หรือ การใช้อักษรไทยกลางมาบันทึกข้อมูลจากเอกสารภาษาล้านนาแทนตัวอักษรธรรมล้านนานี้ จำเป็นต้องอาศัยรูปอักษรและอักขรวิธีของภาษาไทยกลางมาเป็นพื้นฐาน โดยมีสมมุติฐานว่า ในเมื่อภาษาล้านนาและภาษาไทยกลางต่างก็เป็นภาษาที่สืบเนื่องมาจากภาษาไทดั้งเดิม ซึ่งย่อมหมายความว่า ในแง่โครงสร้างของประโยค ในแง่ศัพท์ และในแง่ของเสียงแล้ว ภาษาทั้งสองนี้มีจุดร่วมกันอยู่ แต่เนื่องจากการที่ภาษาทั้งสองมีสถานภาพเป็นภาษาถิ่นราชธานีที่มีประวัติศาสตร์และพัฒนาการของตนเอง จึงทำให้ภาษาทั้งสองนี้แผกเพี้ยนกันไปบ้าง ความแผกเพี้ยนดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทั้งจากการสร้างสรรค์ภายในสังคม และอิทธิพลอันเกิดจากวัฒนธรรมภายนอกซึ่งเข้ามามีส่วนช่วยให้ความแตกต่างระหว่างภาษาในสองถิ่นนี้ขยายตัวมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามหากจะถอดภาษาล้านนาจากอักษรธรรมล้านนา และนำมาบรรจุในรูปลักษณ์ของอักษรและอักขรวิธีในภาษาไทยกลางแล้ว คนที่ชินกับภาษาไทยกลางก็ย่อมจะเข้าใจข้อความนั้นได้เกือบจะสมบูรณ์ และในทำนองเดียวกัน หากนำภาษาไทยกลางมาบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนาแล้ว สิ่งที่ปรากฏนั้นผู้ใช้อักษรล้านนาย่อมเข้าใจได้เกือบจะครบถ้วนเช่นเดียวกัน
แม้ว่า “สาร” ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมภาษาหนึ่งจะสามารถส่งผ่านสื่อไปให้ผู้บริโภคในอีกวัฒนธรรมภาษาหนึ่งได้โดยระบบใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่จะขาดหายไปในระหว่างการส่งทอดข้อมูลนั้นก็คือ จุดเด่น ในระบบการเขียน ดังที่เห็นได้จากระบบการเขียนอักษรธรรมล้านนานั้น โดยปกติตัวสะกดมักจะอยู่ด้านล่างของพยัญชนะต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถจำแนกหน้าที่ของตัวอักษรที่เขียนนั้นได้ดีกว่าการเขียนเรียงกันไปในบรรทัด และอีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอิทธิพลแฝงในการปริวรรตก็คือ ในเมื่อภาษาล้านนาปรากฏในรูปลักษณ์ของภาษาที่ปริวรรตด้วยอักษรไทยกลางแล้ว ผู้อ่านก็มักจะใช้ธรรมเนียมการออกเสียงอักษรในภาษาไทยกลางมาใช้ออกเสียงภาษาล้านนาปริวรรตโดยความเคยชิน ซึ่งมีผลทำให้ความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านอักษรล้านนา – ไทยปริวรรต โดยออกเสียงตามภาษาล้านนานั้นหย่อนสัมฤทธิ์ผล ครั้นจะนำความรู้ที่เป็นภาษาล้านนามาเสนอโดยใช้อักษรธรรมล้านนาอย่างเต็มรูป ก็จะเป็นการจำกัดจำนวนผู้ที่ต้องการศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์” (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. 2538 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี หน้า ก-ค)
หนังสืออ้างอิง

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี.(2514). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี.
คณะทำงานฝ่ายรวบรวมประวัติและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่. (2540). มรดกศาสนาใน  เชียงใหม่ ภาค 1, ชาวล้านนา. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์.
โครงการจัดตั้งศูนย์ล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [ออนไลน์]. 11 มีนาคม พ.ศ.2558.
เข้าถึงได้จาก: http://library.cmu.ac.th/lannakadee/about.php.
จรีย์ สุนทรสิงห์. (2551). มหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มรดกล้านนา.
จีรยุทธ ไชยจารุวณิช. (2552). โครงการ  e-๖๐ วรรณพิมพ์ล้านนา : รายงานฉบับสมบูรณ์. เชียงใหม่
          : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  เครือข่ายภาคเหนือ.
ชัปนะ ปิ่นเงิน.(2558). โครงการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลานวัดบ้านธิหลวง จังหวัดลำพูน. ลำพูน : เอกสารอัดสำเนา.
ประเสริฐ ณ นคร. (2534). งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของประเสริฐ ณ นคร. นครปฐม : โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน.
พระดิเรก วชิรญาโณ อินจันทร์. (2545). คู่มือการสำรวจคัมภีร์ใบลาน. เชียงใหม่ : กลุ่มใบลาน วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ และคณะ. (2557). พิธีกรรมในชีวิตประจำวันจากเอกสารโบราณล้านนา เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นพบุรีการพิมพ์เชียงใหม่.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ และคณะ. (2556). รายงานวิจัย กิจกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านนาโดยปราชญ์ท้องถิ่น. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นพบุรีการพิมพ์เชียงใหม่.
พรรณเพ็ญ เครือไทย และอมรัตน์ เฟื่องวรธรรม. (2552), รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟิล์มของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2521-2533. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2556). วัดน้ำบ่อหลวง สมบัติวัด ศรัทธาวัด. หนังสือที่ระลึกงานทอดผ้า กฐินพระราชทาน ประจำปีพุทธศักราช 2556, สรัสวดี – สมโชติ อ๋องสกุล บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : หจก.วนิดาการพิมพ์.
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. (2538).
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่
700 ปี. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ.  (2544). โครงการอนุรักษ์พระคัมภีร์ล้านนา, เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ (2546). โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา : ปริวรรตและแปลพร้อมกับความนำ, เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ (2547).โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา : การวิเคราะห์เนื้อหา,   เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา.
สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ (2548). โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา : ปริวรรตและวิเคราะห์กฎหมายล้านนา, เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา.
สิงฆะ วรรณสัย. (2522). โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ ถอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน. เชียงใหม่ : มปท.พิมพ์บรรณาการในงานฉลองอายุ 7 รอบ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มารดาของอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินท์.
สุวิภา จำปาวัลย์. (2556) . รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการระบบสารสนเทศด้านล้านนาคดีศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์.(2555). มาตลังกา. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
ราชภัฏเชียงใหม่.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว บรรณาธิการ. (2553).งานปริวรรตคัมภีร์โบราณล้านนา สิ่งพิมพ์อันดับที่
3/2553.
เชียงใหม่ : สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2523). สภาพของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). พิมพ์ครั้งที่ 2กรุงเทพฯ : ศิลปะบรรณาคาร.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2528). วรรณกรรมล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มิตรนาราการพิมพ์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2552). โครงการ  e-๑๒๐ วรรณลิขิตล้านนา: รายงานฉบับสมบูรณ์.
เชียงใหม่: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  เครือข่ายภาคเหนือ.

อ้างอิงจาก เครือข่าย อินเทอร์เน็ต
Digital Library of Lao Manuscripts [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2558. 
เข้าถึงได้จาก: http://www.laomanuscripts.net/en/index.
http://www.ch.or.th/showmenu.php?idod=19 ประวัดพระธาตุแช่แห้ง วุฒิชัย บันทัก
           เมื่อ  28/11/2010 20:34 น. สืบค้นวันที่ 9 มีนาคม 2558.
http://library.cmu.ac.th/lannakadee/search.php
http://library.cmu.ac.th/lannakadee/doe/index.php
http://library.cmu.ac.th/lanna_ebook/
Webb, Russell. (2008). An Analysis of the Pãli Canon. Third edition Online © (2008).


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น