วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บวชป่ากับการแก้ปัญหาหมอกควัน

บวชป่ากับการแก้ปัญหาหมอกควัน
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ภาควิชาปรัชญาและศาสนาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ทุกปีในฤดูร้อน จังหวัดในภาคเหนือที่สภาพภูมิศาสตร์เป็นภูเขาและป่าไม้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะพืชไร่   ด้วยความเคยชินกับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ประกอบกับพื้นป่าในหน้าแล้งเป็นช่วงฤดูการผลัดใบของต้นไม้ ใบไม้แห้งที่หล่นทับถมในทุกส่วนของผืนป่า  เมื่อมีการเผาเพื่อทำไร่ หรือเผาซังข้าวในนา ต่างคนต่างเผา ควบคุมไม่ได้ เกิดไฟลุกลามขยายไหม้เข้าไปในผืนป่า ลามลึกเข้าไปถึงบนดอย ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ที่สะสมกันทั่วทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างมาก ประชาชนเจ็บป่วยเพราะสภาวะอากาศเป็นพิษ  ทัศนวิสัยแย่ บนท้องฟ้า อากาศถูกปกคลุมด้วยหมอกควันจนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ นี้คือปัญหาซ้ำซาก เกิดขึ้นทุกปี เป็นวิกฤติที่ปัจเจกชน หรือ องค์กรเดียวจะเข้ามาแก้ไขได้ยาก  ต้องระคมความคิดจากหลายฝ่ายเข้าช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หลากหลายวิธีการ และหนึ่งในวิธีการนั้น ได้แก่ “การบวชป่า”
          การบวชเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเพื่ออภิเษกสามัญชนเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เมื่อเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ การที่คนสามัญจะเจ้าไปเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บวช ต้องมีท่าทีเคารพ ยำเกรง ยกย่องให้เกียรติ  ทั้งไม่ไปแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บวช มีแต่จะให้การอุปถัมภ์บำรุงให้เจริญ เพื่อเป็นที่พึงทางจิตวิญญาณ
เมื่อการบวชเป็นพิธีกรรมที่กระทำต่อบุคคล แล้วเหตุใดจึงขยายไปสู่การบวชป่า เป็นทางออกของการแก้ปัญหาหมอกควัน ?
ย้อนไปเมื่อหลายปีมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2523 เกิดกระแสการรับรู้และให้ความสำคัญเรื่อง ป่าชุมชนพระครูพิทักษ์นันทคุณ พระสงฆ์นักพัฒนา  จังหวัดน่าน ได้นำพิธีกรรมการบวชคน เข้ามาประยุกต์กับงานพิทักษ์ ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วง ที่ดำเนินการอยู่มาทำกิจกรรม บวชป่าและ “ถวายทานผ้าป่าต้นไม้ เรียกว่า “พิธีบวชป่า” เพื่อเป็นกุศโลบายในการพิทักษ์ป่า   พระครูพิทักษ์นันทคุณอธิบายใหม่ว่า บวชแปลว่า เว้นชั่ว บวชคน เพื่อให้คนที่บวชเว้นการทำความชั่วทำบาป  และ “การบวชป่า” เพื่อให้คนเว้นการตัดไม้ทำลายป่า นับเป็นครั้งแรกในจังหวัดน่าน หลังจากนั้น ก็ร่วมปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับป่าสงวนหมู่บ้าน มอบหมายให้กรรมการหมู่บ้านดูแล ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วงมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมการบวชป่าได้สร้างกระแสการรักป่าขึ้นมา ผ่านไปไม่นานนัก ผลที่ได้กับชุมชน คือ ในหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง หน่อไม้ ผักหวาน อาหารป่าที่มีให้เก็บกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะป่ามีความชุ่มชื้นร่มเย็น

แม้แนวคิดการบวชป่า เพื่อการพิทักษ์ป่า บำรุงรักษาป่า งดเว้นการเผาป่า ผืนป่าก็จะคืนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติให้กับชุมชน ดังที่เกิดแก่ชุมชนบ้านกิ่วม่วง จังหวัดน่าน จะเป็นเพียงจุดเล็กน้อยก็ตาม แต่ถ้าทุกชุมชนเห็นความสำคัญของป่า งดการเผาป่าตามฤดูกาล เว้นการอาศัยประโยชน์จากป่าในทางทำลายดุจการยำเกรงต่อผู้บวช ขยายพื้นที่ให้กว้างออกไป ก็จะเป็นวิธีการแก้ปัญหาหมอกควันได้แน่นอน เพราะแก้ปัญหาได้ตรงจุด คือ งดการเผาอย่างสิ้นเชิง ถ้าใครเผาจะเป็นบาป มีผลเลวร้ายเหมือนกับการทำอันตรายต่อผู้บวชนั่นเอง... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น