วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ปรัชญาตะวันตก-ตะวันออกและปรัชญาร่วมสมัย : สาระและคุณค่าในสังคมยุคคนรุ่นใหม่และยุคปัญญาประดิษฐ์

 

ปรัชญาตะวันตก-ตะวันออกและปรัชญาร่วมสมัย :

สาระและคุณค่าในสังคมยุคคนรุ่นใหม่และยุคปัญญาประดิษฐ์

Western - Eastern and Contemporary Philosophy :

Its Content and Values in the new generation and artificial intelligence age society

Lect.Dr.Phisit Kotsupho

A Former Prof. of Philosophy, in Faculty of Humanities CMU.

Director of Graduate School, MCU.CM. Campus

เรียบเรียงเพื่อประกอบการบรรยาย แด่นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีการศึกษา 2566

2 กรกฎาคม 2566

--------

บทคัดย่อ

ปรัชญามีมานานหลายศตวรรษ มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาเพื่อสะท้อนความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ของสังคม ในสังคมอดีต สังคมคนรุ่นใหม่ หรือ สังคมยุคปัญญาประดิษฐ์ ปรัชญายังคงมีความเกี่ยวข้องและสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าแก่เราเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในสมัยของเรา บทความนี้จะสำรวจเนื้อหาและคุณค่าของปรัชญาตะวันตก ตะวันออก และปรัชญาร่วมสมัยในบริบทของสังคมคนรุ่นใหม่และยุคปัญญาประดิษฐ์ ลองมาถกประเด็นกันว่า วัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาที่แตกต่างกัน จะสามารถช่วยให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติของความเป็นจริง ความหมายของชีวิต และบทบาทของมนุษย์ในโลกได้อย่างไร  จะขอศึกษาความท้าทายและโอกาสที่ปัญญาประดิษฐ์มีอิทธิพลต่อมนุษยชาติ  แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะได้มีศักยภาพทำการปฏิวัติอย่างหลากหลายแง่มุมในชีวิตของมนุษย์ แต่ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังทำให้เกิดคำถามทางจริยธรรมที่สำคัญตามมา แต่หลักปรัชญาจะสามารถช่วยให้เราคิดอย่างมีวิจารณญาณที่เกี่ยวกับคำถามทางจริยธรรมและพัฒนาหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมสำหรับการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย บทความนี้จะสรุปบนฐานเหตุผลที่ว่า หลักปรัชญาก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องในสังคมทุกสมัย ทั้งสังคมคนรุ่นใหม่และสังคมยุคปัญญาประดิษฐ์ หลักปรัชญาจะสามารถช่วยให้เราเข้าใจความท้าทายและโอกาสในยุคสมัยของเรา แถมยังเป็นเครื่องมือให้เราในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเกี่ยวกับเรื่องอนาคตด้วย

 

คำสำคัญ: ปรัชญา, สังคมคนรุ่นใหม่, ยุคปัญญาประดิษฐ์, จริยธรรม, ค่านิยม

 1. ความนำ

          สังคมในแต่ละยุคแต่ละภูมิภาค ทั้งตะวันออกและตะวันตก ย่อมประสบปัญหาและมีวิธีการคิดแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือ สังคมสมัยโบราณ  ขาดองค์ความรู้เรื่องกฎธรรมชาติ เมื่อประสบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ตื่นตา ตื่นใจ ก็พยายามแสวงหาคำตอบตามความคิดและข้อสันนิษฐานของตน แล้วชี้สาเหตุการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไปที่สิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภูต ผี เทพ หรือพลังอำนาจลึกลับ เป็นผู้บันดาล ถ้าอยากให้ธรรมชาติสงบ หรืออำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้ตน ก็หาวิธีขจัดปัดเป่าแก้ปัญหาด้วยพิธีกรรมทางศาสนา พิธีทางไสยศาสตร์ เป็นต้น  เพื่อขอให้พลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรรมชาติได้พึงพอใจ และประทานความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติมาให้ ในสังคมที่มีสภาพภูมิศาสตร์ต่างกัน เช่น ในทะเลทราย ในเกาะโดดเดี่ยวท่ามกลางมหาสมุทร  ในพื้นที่ราบกว้างใหญ่ไพศาล หรือ ในป่าในเขา ในพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนสูงชันทะยานเสียดฟ้า เป็นต้น วิธีอธิบายสาเหตุธรรมชาติเพื่อแก้ข้อสงสัย และขจัดปัญหาในแต่ละพื้นที่แต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ สุดแต่สภาพแวดล้อม ทางภูมิสังคมของแต่ละกลุ่มชนนั่นเอง  

เมื่อผ่านยุคสมัยมาตามลำดับ มนุษย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับความลับและกฎของธรรมชาติมากขึ้น กระบวนการคิดและการแก้ปัญหาของมนุษย์ ก็เริ่มเป็นระบบมากขึ้น องค์ความรู้และความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เข้าใกล้กฎธรรมชาติมากขึ้น ก็เกิดตามมา กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบที่สืบทอดกันมา จากรุ่นสู่รุ่นตามยุคสมัย ได้แพร่กระจาย ขยายจากสังคมหนึ่งสู่สังคมหนึ่ง ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ในระยะทางที่ห่างกัน ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาวิธีคิด  คุณภาพชีวิตและสังคมก้าวกระโดดจากสังคมแบบโบราณ มาสู่สังคมยุคก้าวหน้า และทันสมัยอย่างที่ทราบกัน

ผลพวงจากการพัฒนาระบบบความคิด ทำให้เกิดนักคิดรุ่นแล้วรุ่นเล่า พวกเขาได้เสนอวิธีคิดที่เป็นระบบ เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ผู้นำปัญญาของสังคม เราเรียกกันว่า “นักศาสนา”  “นักปรัชญา” “นักวิทยาศาสตร์” “นักประดิษฐ์คิดค้น” เป็นต้น สรุปได้ว่า ความคิดและวิธีคิดย่อมเป็นตัวชี้ทางมีอิทธิพลกำหนดชะตาชีวิตของคนและสังคมทุกยุคทุกสมัย อย่างที่พูดกันว่า “คนย่อมดำเนินชีวิตตามความความคิดของตน” หรือ “คุณเป็นอย่างที่คุณคิด”    

วิธีคิด คือ อะไร ตามคำนิยามของคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา “วิธีคิด” หมายถึง “หลักการ หรือ เหตุผลในทางวัฒนธรรม ที่ให้คุณค่าและความหมายต่ออุดมการณ์ของการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ๆ ที่สัมพันธ์กัน คือ

(1) ระบบคุณค่าทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ
                   (2) ระบบภูมิปัญญาสำหรับการจัดการกับความสัมพันธ์ทางสังคมของคน และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติแวดล้อม

(3) ระบบอุดมการณ์อำนาจที่แสดงศักดิ์ศรีและสิทธิของความเป็นมนุษย์(ตามธรรมชาติ)

ดังนั้น “วิธีคิด” คือ “วิธีการ” “กรรมวิธีที่ใช้” หรือ “กระบวนการ” ที่คนใช้ในการแสดงกิริยา “คิด” “ใคร่ครวญ” หรือ “ทำงานโดยใช้ความคิด”  หมายถึง วิธีการคิด กรรมวิธีที่ใช้ในการคิด ใคร่ครวญ หรือ กระบวนการคิด

วิธีคิด มี 2 ประการ คือ

ประการแรก  วิธีการให้เหตุผล หรือ วิธีทางตรรกะ  เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการคิดของมนุษย์ มนุษย์ต่างสมัยย่อมมีวิธีคิดต่างกัน เช่น วิธีคิดของมนุษย์ในสังคมดั้งเดิม ถูกกำหนดด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์ ศาสนา และประสบการณ์ชีวิต ในขณะที่มนุษย์สมัยใหม่ มีวิธีคิดที่เน้นการใช้เหตุผลและค้นคว้าหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เป็นเนื้อหาสำคัญ

ประการหลัง  ผลรวมของประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ มีความหมายใกล้เคียงกับ ความรู้ ภูมิปัญญา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ หรือ อุดมการณ์ เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง และสภาพแวดล้อมแห่งหนึ่งย่อมมีวิธีคิดเป็นของตนเอง คนไทยสมัยสุโขทัย ย่อมมีวิธีคิดต่างจากคนไทยยุคปัจจุบันร่วมสมัย  เป็นต้น

วิวัฒนาการวิธีคิดของมนุษย์ ตั้งแต่บรรพกาลมาถึงปัจจุบัน วิชาการทางมานุษยวิทยาได้ลำดับพัฒนาการของวิธีคิด เอาไว้ ดังต่อไปนี้ (สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้าจังหวัดนครราชสีมา. 2540, นครราชสีมา :   สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี, หน้า 36.)

1)   วิธีคิดของคนป่า เป็นวิธีคิดที่ไม่สลับซับซ้อนในการแก้ปัญหา ล้าหลัง ไม่เจริญ อิงอาศัยความเชื่อในพิธีกรรมลึกลับ ขาดเหตุผล คิดเฉพาะหน้าเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายภาพและจิตใจขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น อันที่จริง ควรเรียกว่า เป็นเพียงสัญชาตญาณ(Instinct) ตามธรรมชาติ

2)   วิธีคิดของคนพื้นเมือง ชาวยุโรปผิวขาวเชื่อโดยมีอคติว่า ชาวพื้นเมืองมีตรรกะในการคิดแก้ปัญหาด้อยประสิทธิภาพกว่าพวกตน ชาวพื้นเมืองมีมันสมอง เทียบได้กับเด็กชาวยุโรปผิวขาวผู้เจริญเท่านั้น

3)   วิธีคิดของคนเมืองและชาวยุโรปสมัยใหม่ เน้นที่ปัจเจกบุคคลย่อมให้ความสำคัญกับกลุ่ม หรือส่วนรวม อิทธิพลของกลุ่มมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล การสูญเสียเอกลักษณ์และแรงยึดเหนี่ยวของกลุ่มนำมาซึ่งความแปลกแยก ปัญหาทางจิตวิทยาและความขัดแย้ง วิธีคิดจึงซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับเห็นความสัมพันธ์และสมานฉันท์ในองค์กร

4)   วิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากจริยธรรมคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ ให้หลักคิดว่า ปัจเจกบุคคลควรที่จะทำหน้าที่ทางโลกของตัวเองให้ดีที่สุด การทำหน้าที่ดังกล่าว ถือเป็นพันธะทางจริยธรรมที่มีค่ามากที่สุด ความคิดนี้มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก

5)   วิธีคิดสากลของมนุษย์ เลวี สเตราส์ อธิบายว่า ภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความคิดนั้นมีโครงสร้างที่แน่นอน ความคิดของมนุษย์ทำงานในลักษณะการทำงานของคู่ตรงกันข้าม (binary oppositions) นั่นคือ มนุษย์ผลิตความคิดที่มีความหมายได้ก็ต่อเมื่อเขาเริ่มคิดถึงสิ่งที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น ธรรมชาติ - วัฒนธรรม ดิบ- สุก เป็นต้น

สเตราส์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า คนสมัยโบราณกับคนสมัยใหม่ ย่อมมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน คือ

     คนสมัยโบราณ คิดแบบสาระพัดช่าง(Bricolleur) เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ไม่มีตำราคิดค้นและประดิษฐ์ได้เฉพาะเทคโนโลยีที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่ซับซ้อนมากนัก ลองผิดลองถูก เก็บเล็กผสมน้อยต่อเชื่อมหากัน

     กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของวิธีคิดและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม ยังสามารถพบได้ทั้งในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่

     คนสมัยใหม่ คิดแบบวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์(Engineer & Scientist) เริ่มจากการคิดแบบมีโครงสร้าง มิใช่คิดแบบลองผิดลองถูกจากสถานการณ์  พยายามเข้าถึง สูตร สมการ ทฤษฎีหรือโครงสร้าง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการประดิษฐ์ หรือ แก้ปัญหา

     กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของภูมิปัญญาและผลผลิตของโลกสมัยใหม่ที่ มีวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญ

เพราะมนุษย์เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย สนใจและสังเกตในทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้าง พร้อมกับเสาะแสวงหาคำตอบที่คิดว่าจะสมเหตุสมผลต่อปัญหาที่คาใจของตน นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเป็น “นักปรัชญา”

ความเป็นนักปรัชญาจึงเกิดมาจากสถานภาพที่มนุษย์รู้จักใช้เหตุผลเป็น ดังที่ อริสโตเติล นักปรัชญากรีก นิยามความหมายของมนุษย์ไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล (Man is a rational animal.)” (Aristotle. (1925). Nicomachean Ethics (W.D. Ross, Trans.). Clarendon Press. (Original work published prior to 1925, Page: 1139a10))

วันปรัชญาโลก”(World Philosophy Day)

ปรัชญา เป็นเรื่องสำคัญที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้มี “วันปรัชญาโลก”(World Philosophy Day)  เป็นวันสากลที่ UNESCO ประกาศให้เฉลิมฉลองทุกวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนพฤศจิกายน มีการเฉลิมฉลองครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

องค์การสหประชาชาติโดยองค์การยูเนสโก ใช้วันนี้ เพื่อเน้นย้ำถึง ความสำคัญของปรัชญาและส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์และการสนทนาทั่วโลก เป้าหมาย คือ ส่งเสริมการวิเคราะห์เชิงปรัชญา การวิจัย และการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญ และตอบสนองต่อความท้าทายที่มนุษยชาติเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (https://en.unesco.org /events/world-philosophy-day-0)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันปรัชญาโลก :

ในปี 2545 วันปรัชญาได้รับการประกาศโดย UNESCO ตามคำร้องขอของรัฐบาลโมร็อกโก

ในปี 2553 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 คือ  UN ให้ปักหมุดวันปรัชญาโลกด้วยการเรียกร้องให้ชาวโลกใช้เหตุผลและการเจรจามากขึ้น (UN marks World Philosophy Day with call for greater use of reason and dialogue 18 November 2010)

The United Nations marked World Philosophy Day today with a call for greater efforts to guard against the politics of polarization and the rejection of stereotypes, ignorance and hatred

(องค์การสหประชาชาติได้เฉลิมฉลองวันปรัชญาโลกในวันนี้ ด้วยการเรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้น ในการป้องกันการแบ่งขั้วการเมืองและ การปฏิเสธการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ความไม่รู้ และความเกลียดชังกัน)

ปี 2566 คำขวัญสำหรับวันปรัชญาโลก คือ “ปรัชญาตามเส้นทางสายไหม”

มีหลายวิธีในการเฉลิมฉลองวันปรัชญาโลก เช่น การเข้าร่วมการบรรยาย การเข้าร่วมการอภิปราย หรือเพียงแค่สะท้อนความเชื่อทางปรัชญาของคุณเอง

2. หลักการของปรัชญา

ปรัชญาในฐานะที่ชาวไทยเข้าใจ

เมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ปรัชญา” เป็นของใหม่สำหรับชาวไทยหรือในวงการศึกษาไทย และก็เป็นสิ่งที่ชาวไทยบางท่านต้องผลักดันอยู่นานจนกว่า วิชาปรัชญา จะได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ในขณะที่ประเทศแถบตะวันตก ได้บรรจุวิชาปรัชญาให้เรียนกันตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา เพราะปรัชญาคือฐานภูมิปัญญาของชาวตะวันตก

ที่มาของคำว่า “ปรัชญา” พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (วรรณไวทยากรณ์     วรวรรณ) ทรงบัญญัติคำว่า “ปรัชญา” ขึ้นมาเพื่อแปลคำว่า“Philosophy” ในภาษาอังกฤษ (Sompong Sucharitkul. (2008). A History of Thai Philosophy. Bangkok: The Siam Society. p. 1.)

“ปรัชญา” เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า ความรอบรู้ แต่ความรู้ที่เป็นปรัชญา เป็นความรู้สองระดับ คือ ความรู้ขั้นแสวงหา และ ความรู้ขั้นค้นพบ เป็น เหตุ และ ผล ของกันและกัน ความรู้ขั้นแสวงหาอยู่ในระดับ Philosophy เป็นเหตุ ความรู้ขั้นระดับปรัชญา(ภาษาสันสกฤต)เป็นผลแห่งการค้นพบ(Blackburn, S. (2008). The Oxford Dictionary of Philosophy. Oxford: Oxford University Press. p. 672.)

 

นักปราชญ์ชาวอินเดียเรียกระบบการคิดนี้ว่า “ทรรศนะ” หมายถึง การหยั่งรู้ความจริง”

ดังนั้น “ปรัชญา” เป็นดังผลแห่งความรู้ ในขณะที่ “Philosophy” เป็นดังเหตุแห่งความรู้ แต่ทั้งสอง ดูจะแยกระดับจากกันได้ยาก

ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถาน จึงให้นิยามคำ “ปรัชญา” ว่า “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง”

แสน ธรรมยศ ผู้ได้รับการศึกษาปรัชญาจากเวียดนาม ก่อนมีการบุกเบิกวิชาปรัชญาในประเทศไทย มองความสำคัญวิชาปรัชญาว่า “เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความรู้ เป็นวิทยาการแห่งการปฏิบัติ และเป็นดวงเทียนมหึมาของโลกทรรศน์ที่บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อจะจูงมนุษย์ไปสู่วิถีทางแห่งสันติภาพ” (Sucharitkul, S. (1999). The Life and Works of Saen Thammayot. Bangkok: The Siam Society. p. 12.)

โดยใจความ ปรัชญา ก็คือการแสวงหาความจริง ตั้งแต่ระดับธรรมดาสามัญ ไปจนถึงระดับสูงสุดของสิ่งต่างๆ ทั้งเขตแดนรูปธรรมและนามธรรม เพื่อตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาเป็น โลกทรรศน์ และชีวทรรศน์ หรือ แนวทางในการดำเนินชีวิต ปรัชญาจึงเป็นแก่น (Core) ของวิชาทั้งหลาย

เนื้อหาและสาระของวิชาปรัชญา ตามความเข้าใจของคนไทยทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ มีความเข้าใจผิด หรือ ทัศนคติที่ผิดต่อ วิชาปรัชญาว่า “เป็นวิชาที่พูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง” นักปรัชญาเป็นคนแปลกประหลาด เหมือนอยู่คนละโลก คนธรรมดา อยู่ในโลกของความจริง ขณะที่นักปรัชญาอยู่ในโลกของความเพ้อฝันหรือโลกอุดมคติ วิถีชีวิตและวิธีคิดไม่เหมือนคนธรรมดาสามัญ แนวคิดของนักปรัชญา หากพูดโดยไม่เกรงใจ ก็ว่า แนวคิดเพี้ยน นักปรัชญาเป็นคนเพี้ยน หรือ หลุดโลก นักปรัชญาสื่อสาระอะไรกับใคร เมื่อเขาไม่เข้าใจ ก็มักจะถูกกระแนะกระแหนว่า อย่าพูดแบบปรัชญา

คงเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง  คนไทยบางคนที่คิดอะไรนอกเหนือชาวบ้านธรรมดาสามัญ มีความลุ่มลึกทางความรู้ มีวิสัยทัศน์ที่ไกล และคิดเป็นระบบ ล้ำหน้าคนร่วมสมัย จึงมักถูกป้ายสีว่า “วิปปลาส เพี้ยน” ด้วยความตื้นเขลาแห่งระบบคิด และความบกพร่องของกระบวนการคิด คนไทยจึงไม่กล้ายอมรับตนเองว่า เป็นนักปรัชญา ทั้งไม่อยากเรียนวิชาปรัชญา

ประการสำคัญ ปรัชญามิใช่วิชาชีพที่สร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวย ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตนดุจสาขาวิชาอื่นๆได้ เส้นแบ่งระหว่าง อัจฉริยะ กับ เพี้ยน บางยิ่งกว่าหนึ่งในพันของมิลลิเมตร นักปรัชญากับคนเพี้ยน ก็มีเส้นแบ่งที่บางเฉียบดุจเดียวกัน

คิดอย่างไรจึงเป็นปรัชญา

นักปรัชญาคิดไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป ตัวอย่าง ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวัน หรือ โลกก็หมุนไปตามธรรมดา คนทั่วไปมองเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดประการใด เพราะเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น ไม่ได้สงสัยประการใด แต่นักปรัชญาพบเห็นแล้วกลับมิได้ปล่อยให้เรื่องผ่านไปอย่างที่คนธรรมดาสามัญปฏิบัติ พบเห็นอะไรเขาจะสงสัยและตั้งคำถามว่า นั่นอะไร นี่อะไร ทำไม เพราะอะไร และเพื่ออะไร บางทีตั้งความสงสัย แม้กระทั่งตัวเองว่า เรามีอยู่จริงหรือ? ด้วยเหตุนี้ คนธรรมดาจึงไม่พัฒนาทางปัญญามากจนเป็นนักปรัชญา เพราะสงสัยแล้วไม่ถาม หรือ คิดว่ารู้แล้วไม่อยากเรียนเพิ่ม

การคิดเชิงปรัชญา ต้องคิดอย่างมีเหตุผล มิใช่คิดหรือสงสัยเรื่อยเปื่อยตามแต่จิตจะฝันเฟื่อง เมื่อคิดเรื่องใด ต้องคิดอย่างแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์หาสาเหตุของเรื่องนั้นๆ ต้องคิดให้ลึก คิดให้กว้างและคิดอย่างรอบคอบ ประมวลมาจากข้อมูลทั้งหลาย สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ แสดงผลแห่งการคิดนั้นมาตั้งเป็นทฤษฎี รวมถึงวิธีคิดอีกด้วย จนคิดว่าน่าจะหาคำตอบได้สมเหตุสมผล คำตอบอาจจะถูกหรือผิด เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว สุดแต่ใครจะคิดทฤษฎีใดออกมา หรือมองชีวิตและโลกจากมุมมองใด การคิดแบบปรัชญาจึงเป็นวิธีการคิดอย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อตอบปัญหาที่ตนเองสนใจและใคร่รู้ ปรัชญา คือ ศิลปะแห่งการคิดอย่างมีเหตุผล (Philosophy is the art of rational thinking.) (Whewell, W. (1837). The History of Philosophy. London: J. W. Parker. P.2)

          2.1 หลักการของปรัชญาตะวันตก

สังคมตะวันตกพยายามค้นหาและพิสูจน์ “ความจริง” ในขณะที่สังคมตะวันออกยอมรับความจริงตามที่ให้ไว้และสนใจที่จะหาสมดุลมากขึ้น  ชาวตะวันตกให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น ชาวตะวันออกให้ความสำคัญในความรับผิดชอบต่อสังคม

ปรัชญาตะวันตก หมายถึง การคิดเชิงปรัชญาในโลกตะวันตกหรือตะวันตก (เริ่มต้นด้วยกรีกโบราณและโรม ขยายไปทั่วยุโรปกลางและตะวันตก ต่อไปนี้จะเสนอหลักการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาตะวันตก เริ่มแต่ยุคกรีก ขอนำวิธีการกระตุกความคิดแบบนักปรัชญาที่สำคัญดังนี้

2.1.1 โสคราติส (Socrates : 470 BC, - 399 BC,) วิธีการของโสคราตีส เปรียบเหมือนเห็บของชาวเอเธนส์

แนวทางการแสวงหาความรู้ของโสคราตีส เป็นวิธีการแบบเสวนา  หรือการโต้วาทีแบบเสวนา  เป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนสนทนาความคิด ระหว่างบุคคล อาศัยการถามและตอบคำถาม เพื่อกระตุ้นการคิดเชิงวิพากษ์และเพื่อดึงความคิดและกำหนดข้อสันนิษฐานพื้นฐานออกมา ซึ่งวิธีการแบบเสวนาของโสคราตีส มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1) ให้คำจำกัดความ หรือ ความคิดเห็นเบื้องต้น

2) ถามคำถามที่มีข้อยกเว้นสำหรับคำจำกัดความหรือความคิดเห็นนั้น

3) ให้คำจำกัดความหรือความคิดเห็นที่ดีขึ้น

 วิธีแบบโสคราตีสใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร?

วิธีนี้นี้ ถือว่า เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจสอบและเปิดเผบความเชื่อของตน ตรวจสอบสมมติฐาน หลักฐาน เหตุผล ฯลฯ ที่ใช้เพื่อสนับสนุนการหาความรู้ มันทำให้เรากระตือรือร้นในการคิดค้นมากกว่าอยู่เฉยๆ เช่น เมื่อกำลังฟังการบรรยาย หรือ ดูวิดีโอ ก็คิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อ พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของเรา (Gill, C. (1996). The Philosophy of Socrates. Cambridge, UK: Cambridge University Press. P.15.)

2.1.2 จอห์น ล็อค (John Locke 1632-1704) คนเราเกิดมาด้วยจิตใจที่ว่างเปล่า เหมือนกระดาษเปล่า Mind is passive จิตอยู่นิ่งแต่เพราะมีประสบการณ์จากประสาทสัมผัส ทำให้เรามีความรู้ได้ ดังนั้น การรับรู้ประสบการณ์ตรงทางประสาทสัมผัสเป็นที่มาของความรู้ของมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบความรู้ผ่านประสาทสัมผัสเป็น ปรัชญาแนววิทยาศาสตร์  . (Locke, J. (1689). An Essay Concerning Human Understanding. London: T. Bassett. (Book II, Chapter I, Section 2)

2.1.3 เดส์คาร์ตส์(Descartes 1596-1650)  เสนอวิธีการหาความรู้ด้วยการสงสัยอย่างเป็นระบบ The Theory of Doubt (The Methodic Doubt) or ความคิดหรือเหตุผลที่ชัดแจ้งในใจทำให้เราได้ความรู้จริง Rationalism knowing by reason (Descartes, R. (1641). Meditations on First Philosophy. Cambridge: Cambridge University Press. P.17)

2.1.4 อิมมานุเอล คานท์(Immanuel Kant 1724-1804) กล่าวว่า “การรับรู้ทางประสาทสัมผัส หากไม่มีความคิดร่วมด้วย ก็ มืดบอด ขณะที่ มีแต่ลำพังความคิด แต่ไม่มีวัตถุแห่งการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ก็ว่างเปล่า” Mind is active จิตเป็นธรรมชาติที่คิด . (Kant, I. (1781/1787). Critique of Pure Reason. Cambridge: Cambridge University Press. P.92)

2.1.5 เดวิด ฮิวม์(Devid Hume  1711-1776) ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่าน จะนำมาเป็นสูตรสำเร็จ(บทเรียน)สำหรับการแก้ปัญหาใหม่ๆไม่ได้ ปัญหาและวิธีแก้ต้องรู้เงื่อนไขปัจจุบันของแต่ลำเรื่องแก้เป็นกรณีๆไป รูปแบบและเงื่อนไขแห่งความสำเร็จในอดีตะนำมาใช้แก้ปัญหาสำเร็จรูป(สูตรสำเร็จ)ในปัจจุบันไม่ได้ (Hume, D. (1739). A Treatise of Human Nature. Oxford: Clarendon Press. P.147-148)

2.1.6 วิลเลี่ยม เจมส์(William James 1711-1776)  นักคิดที่ ยืนยันว่า ความรู้เกิดจากการลงมือปฏิบัติ หรือทำ  (Pragmatism knowing by practice or by doing) . (James, W. (1907). Pragmatism: A New Name for Some Old Ways of Thinking. Longmans, Green and Co. p.50)

หมายเหตุ นักปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่เป็นฆราวาส

 

          2.2 หลักการของปรัชญาตะวันออก

              ปรัชญาตะวันออกเป็นกลุ่มของแนวทางชีวิตและปรัชญาที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่การเข้าใจกระบวนการของจักรวาล และ  การกลายเป็น  อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

              หลักการสำคัญของปรัชญาตะวันออกคือ มองโลก และชีวิตแบบองค์รวม ความเป็นเอกภาพ เอกภาพทางจักรวาลวิทยานี้เป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินชีวิตไปสู่ความจริงนิรันดร์ ชีวิตเป็นวัฏฏจักร การเกิดขึ้นซ้ำๆ กับทุกสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ

              โดยหลักการใหญ่ ธรรมเนียมทางปรัชญาตะวันออก มักถกเถียงเกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือการไม่มีอยู่จริงของพระเจ้าน้อยมาก แม้ว่าธรรมเนียมความเชื่อทางตะวันออกบางอย่างจะมีสิ่งมีชีวิตทางจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ และแม้แต่เทพเจ้าที่ทรงพลัง แต่โดยทั่วไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากจักรวาล แต่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

              ปรัชญาตะวันออกมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับหลักปฏิบัติทางศาสนา เช่น ศาสนาฮินดู เรียกปรัชญาอินเดีย ศาสนาพุทธ(พุทธปรัชญา) ศาสนาขงจื๊อ และศาสนาเต๋า(ปรัชญาจีน)

              การให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปรัชญาตะวันออกต่อโลก คืออะไร

          ลักษณะที่สำคัญที่สุดของมุมมองโลกตะวันออก - เกือบจะพูดได้ว่าแก่นแท้ของมัน – คือการตระหนักรู้ถึงความเป็นเอกภาพและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ประสบการณ์ของปรากฏการณ์ทั้งหมดในโลก เป็นการแสดงออกของความเป็นหนึ่งเดียวอันเป็นปฐมฐาน (Monroe, J. (2017). Eastern Philosophy: A Beginner's Guide. New York: Sterling Publishing. P.13.)

      2.3 หลักการของปรัชญาร่วมสมัย

ยุคปัจจุบันของปรัชญา พัฒนาการล่าสุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 บางครั้งเรียกว่า ยุคร่วมสมัย พร้อมกับการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการเมืองที่สำคัญ ยุคสมัยใหม่ยังคงปะทุขึ้นด้วยการเคลื่อนไหวทางปรัชญาใหม่ๆ ปรัชญาร่วมสมัย มุ่งเน้นไปที่ อภิปรัชญา ญาณวิทยา ตรรกะ จริยธรรม สุนทรียศาสตร์ ปรัชญาจิตใจ ปรัชญาภาษา ปรัชญาการเมือง คำว่า 'ปรัชญาร่วมสมัย' หมายถึงยุคปัจจุบันของปรัชญา โดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับนักปรัชญาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 21

ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มเห็นความแตกแยกในแนวทางของปรัชญาที่ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ ของปรัชญาตะวันตก ในสหราชอาณาจักรและอเมริกาเหนือ การมุ่งเน้นที่ตรรกะ ภาษา และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเริ่มมีความโดดเด่นในปรัชญา และธรรมเนียมการคิดค้นทางปรัชญาเช่นนี้ ก่อให้เกิด หลักคิด สมัยใหม่  คือ ปรัชญาวิเคราะห์ ที่ใช้แนวทางเชิงตรรกะและวิทยาศาสตร์ ปรัชญาอัตถิภาวนิยม ที่แสวงหา อิสรภาพและเสรีภาพ ปรากฏการณ์วิทยา ปรัชญาการตีความ ปรัชญาปฏิฐานนิยม ปรัชญาโครงสร้างนิยม ปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น. (Bunning, N., & Tsui-James, E. (Eds.). (2004). The Blackwell Companion to Philosophy. Malden, MA: Wiley-Blackwell. P.23.)

 รายนามนักปรัชญาร่วมสมัย เช่น

Leo Tolstoy (18281910) Charles Sanders Peirce (18391914) Friedrich Nietzsche (18441900) Gottlob Frege (18481925) Alexius Meinong (18531920)  Giuseppe Peano (18581932) Edmund Husserl (18591938) Henri Bergson (18591941) Alfred North Whitehead (18611947) Bertrand Russell (18721970) Henry M. Sheffer (18821964) Franz Kafka (18831924) Karl Jaspers (18831969) Ludwig Wittgenstein (18891951) Gabriel Marcel (18891973) Martin Heidegger (18891976) Rudolf Carnap (18911970) Gilbert Ryle (19001976) Alfred Tarski (19011983) Karl Popper (19021994) Jean-Paul Sartre (19051980) Kurt Gödel (19061978) Simone de Beauvoir (19081986) W. V. O. Quine (19082000) Albert Camus (19131960) John Rawls (19212002) Thomas Kuhn (19221996) Hilary Putnam (1926— )  Edmund Gettier (1927— ) Jürgen Habermas (1929– ) Harry Frankfurt (1929— ) Jaakko Hintikka (1929— ) Jacques Derrida (19302004) Carl Ginet (1932— ) Alvin Plantinga (1932– ) John Searle (1932—) Thomas Nagel (1937— ) Robert Nozick (19382002) Alvin Goldman (1938– ) Saul Kripke (1940— ) Frank Jackson (1943— )Jonathan Dancy (1946— )Peter Singer (1946— ) David Chalmers (1966— )

 3. สังคมยุคของคนรุ่นใหม่ และยุคปัญญาประดิษฐ์

          3.1  สังคมยุคของคนรุ่นใหม่ หรือเจเนอเรชั่นใหม่

การจำแนกตามอายุมีลักษณะดังนี้:

Baby Boomers: เบบี้บูมเมอร์เกิดระหว่างปี 2489 ถึง 2507 ปัจจุบันอายุระหว่าง 57-75 ปี

Gen X: Gen X เกิดระหว่างปี 2508 ถึง 2522/80 และปัจจุบันมีอายุระหว่าง 41-56 ปี

Gen Y: Gen Y หรือ Millennials เกิดระหว่างปี 1981 ถึง 1994/6 ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 25 ถึง 40 ปี Gen Y.1 = อายุ 25-29 ปี  Gen Y.2 = 29-39

Gen Z: Gen Z เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012 ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 9 ถึง 24 ปี

Gen A: Generation Alpha เริ่มต้นด้วยเด็กที่เกิดในปี 2555 และจะดำเนินการต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2568 หรือหลังจากนั้น

ก่อนหน้า 4 เจเนอเรชั่น ยังมี 3 เจเนอเรชั่น คือ

1) Lost Generation  ประชากรยุคแรกที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426-2443 หรือในช่วงทศวรรษที่ 80 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว จึงถูกตั้งชื่อว่า "Lost Generation" เหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนยุคนี้ก็คือ การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

 2) Greatest Generation  หรือที่รู้จักกันว่า G.I. Generation คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2444-2467 คือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงกลายมาเป็นกำลังหลักของการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสงบ เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก คนรุ่นนี้จึงเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง  ผู้คนในยุคนั้นจะมีความเป็นทางการสูง ผู้ชายจะใส่สูทผูกเนคไทเมื่อออกจากบ้าน คนในสังคมจะมีแบบแผนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความคิด ความเห็น ความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมั่นรัฐบาล อำนาจรัฐ มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองร่วมกัน

3) Silent Generation   หมายถึงคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2468-2488 ประชากรรุ่นนี้จะมีไม่มากเท่ารุ่นอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น ผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงาน หามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้จึงมีความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก มีความจงรักภักดีต่อนายจ้าง และประเทศชาติสูง เคารพกฎหมาย เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น กระทั่งเวลาผ่านไป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว คนในรุ่นนี้จึงได้รับโอกาสมากขึ้น มีช่องทางการสร้างกิจการของตัวเอง รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นรากฐานจนถึงปัจจุบันนี้. (Chui, M., Manyika, J., & Osborne, M. (n.d.). The Future of Work in the Age of Artificial Intelligence. p. 11.)


ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่างของกลุ่มคนใน 4 เจเนอเรชั่น 

1) Baby Boomer Generation หรือ Gen B คือคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507 ยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองสงบหลังจากสงคราม ทุกคนที่มีชีวิตรอดต้องเร่งกลับมาฟื้นฟูให้ประเทศกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่เนื่องจากได้สูญเสียจำนวนประชากรจากการทำสงคราม คนในยุคนี้จึงมีค่านิยมว่าต้องมีทายาทหรือลูกหลานเยอะๆ เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานมาช่วยกันพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันคน Gen B คือคนมีอายุประมาณ 60 ขึ้นไป ลักษณะนิสัยจะเป็นคนจริงจัง เคร่งครัดเรื่องขนมธรรมเนียนประเพณี เป็นเจ้าคนนายคน ชีวิตทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความอดทนสูง ประหยัดอดออม ซึ่งมักถูกจัดเป็นพวก “อนุรักษนิยม”

2) Generation X หรือ Gen-X คือคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522 สำหรับคน Gen-X นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Yuppie หรือ Young Urban Professionals หมายถึง คนที่เกิดมาในยุคมั่งคั่ง ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป และเป็นยุคที่มีการให้ควบคุมอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากค่านิยมยุคเบบี้บูมเมอร์ ส่งผลให้มีเด็กเกิดมากเกินไป ปัญหาตามมาก็คือเรื่องของทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร

ปัจจุบันคนยุค Gen-X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พฤติกรรมและลักษณะนิสัยของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดคือ ชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการ มีแนวคิดสร้างความสมดุลในเรื่องงานและครอบครัว คือทำงานตามหน้าที่ ไม่บ้างาน ไม่ทุ่มเท ทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง ไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง สร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หลายคนใน Gen-X มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา และไม่ยึดขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งยังเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป เช่น มองว่าการอยู่ก่อนแต่ง การหย่าร้างก็เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่ 3 ซึ่งต่างจาก กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดจารีตประเพณี(Twenge, J. M. (2006). Generations at Work: Managing the Clash of Traditional and Modern Values. New York, NY: American Management Association. Page 22.)

3) Generation Y หรือ Gen-Y เรียกอีกอย่างว่า Millennials คือคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523-2540 คน Gen-Y จะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตัล มีความเป็นสากล เปิดรับวัฒนธรรมแบบ Teen Pop มองว่าการชื่นชอบศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องปกติธรรมดา มีเทคโนโลยีพกพา รักความสะดวกสบาย เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและเฟื่องฟู ทำให้พ่อแม่ที่เป็นคนในยุค Gen B ซึ่งถูกปลูกฝังให้ทำงานหนักค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิต จึงทำให้ดูแลเอาใจใส่ลูกๆ ที่เกิดมาในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เด็กยุค Gen-Y จึงมักจะถูกตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ

ลักษณะพฤติกรรมของคน Gen-Y มักต้องการความชัดเจนในการทำงาน เช่น ต้องชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร? คาดหวังที่จะมีเงินเดือนสูงๆ คาดหวังคำชม แต่ไม่อดทนต่องานที่ทำ ชอบเปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ คน Gen-Y ยังต้องการสร้างสมดุลเวลาให้กับตัวเอง เช่น หลังเลิกงานมักจะไปทำกิจกรรมให้ความสุขกับตัวเอง อย่างไปเล่นฟิตเนส แฮงเอาท์พบปะเพื่อนฝูง

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ในทั้งช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ รวมทั้งสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่าสามารถใช้เครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นภาพคนยุคใหม่ที่นั่งเล่นสมาร์ตโฟน ไอแพด คุยโทรศัพท์ ไปพร้อมๆ กับทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดิน การทำงาน หรือกินข้าวได้ (Weinstein, B. J. (2014). The Millennial Mindset: Understanding, Reaching, and Teaching Generation Y (pp. 33-34). Thousand Oaks, CA: Corwin Press.)

4) Generation Z หรือ Gen-Z คือคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 เกิดจากพ่อแม่รุ่นใหม่อย่าง Gen-X และ Gen-Y เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมแบบดิจิตัล ดำเนินชีวิตแบบมีการติดต่อสื่อสารไร้สาย และสื่อบันเทิงต่างๆ เด็กรุ่นนี่้จะเป็นรุ่นแรกที่ทั้งพ่อและแม่จะออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ จึงทำให้เด็กยุค Gen Z ได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อและแม่ของตัวเอง

เนื่องจากเกิดมาในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย เด็กในยุคนี้อาจจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตนั้นจะอยู่ได้อย่างไร แถมยังยกให้สมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะของชาว Gen-Z จนถูกเรียกว่า Digital in their DNA คนเจนนี้ติดโลกออนไลน์และรับข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างรวดเร็ว ทันโลกและวิเคราะห์สถิติเรื่องต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคตได้เร็ว ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย แต่ก็เป็นคนที่กลัวอนาคต จึงมักหาข้อมูลมาเปรียบเทียบและป้องกัน เช่น เรียนอะไรไม่ตกงาน อาชีพอะไรมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าจะเลือกงานที่เงินดีมากกว่าที่ชอบจริงๆ

คน Gen-Z จะเปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้นจากการมองเห็นในโลกดิจิตัล จึงเปิดกว้างในการยอมรับความแตกต่าง มีแนวโน้มที่จะปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยกชนชั้น สีผิว ศาสนา หรือประเพณีที่แตกต่าง แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นมนุษย์หลายงาน เพราะความอดทนต่ำ ต้องการคำอธิบายมากขึ้น ต้องมีเหตุผล ต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต ส่วนการเรียนรู้ของคน Gen Z จะหาความรู้ได้ทุกที่ เกลียดการเรียนแบบบรรยาย ก็ชอบข้อมูลแนวกราฟ ภาพ สถิติชัดเจน เน้นข้อมูลสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายๆ เพราะจดจำข้อมูลได้ดีจากข้อมูลสั้นๆ ตามแบบฉบับโลกออนไลน์ . (Twenge, J. M., & Martin, A. (2019). Understanding Generation Z: The Challenges and Opportunities of Growing Up in a Digital Age. New York, NY: Simon & Schuster.Page 30.)

วิธีการทลายช่องว่างเพื่อสร้างความเข้าใจในคนแต่ละ Gen

เมื่อเข้าใจแล้วว่าคนในแต่ละยุคมีค่านิยมในชีวิตอย่างไร ก็สามารถก้าวข้ามความต่างเพื่อเข้าหากันได้ง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอน คือ

1)   เข้าใจถึงความแตกต่าง ยอมรับว่าคนเราถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน คนที่มีความเชื่อหรือทัศนคติต่อชีวิตไม่เหมือนเรา เขาไม่ใช่คนไม่ดีเสมอไป

2)   ชื่นชมจุดดี แทนที่จะต่อต้าน ให้เราลองมองหาจุดเด่นของคนในแต่ละกลุ่มให้พบ

3)   บริหารความแตกต่าง เปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงคนแต่ละกลุ่มที่เราต้องทำงานด้วย


          3.2  สังคมยุคปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี AI คืออะไร ?

AI (Artificial Intelligence) แปลเป็นภาษาไทยว่า "ปัญญาประดิษฐ์" มันถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) โดย John McCarthy นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง 'ปัญญาประดิษฐ์' ซึ่งเขาได้ต่อยอดแนวคิดของ Alan Turing ที่จุดประเด็นเรื่องความคิดแบบมนุษย์ในเครื่องจักร จนสามารถสร้าง AI ตัวแรกขึ้นมาได้สำเร็จ (McCarthy, J. (1956). Memorandum on Artificial Intelligence. Dartmouth College. P.1)   ซึ่งในรายงานเอกสารของ John McCarthy ที่ได้กล่าวถึง AI โดยบัญญัติความหมายเอาไว้ว่า

AI หรือ Artificial Intelligence เป็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์มีความฉลาด หน้าที่ของมันคือการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจความฉลาดของมนุษย์ และไม่ได้ถูกจำกัดแค่วิธีการที่เห็น หรือ สิ่งที่สังเกตได้จากทางชีวภาพเท่านั้น

เคยได้ยินว่า "มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถคิดถึงสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อนได้" เราเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าความเชื่อทางศาสนา เรื่องผี เทวดา เทพเจ้า หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตจากนอกโลก แม้จะยังไม่เคยเห็นและพิสูจน์ได้ว่ามีจริง เราคิดและประดิษฐ์เครื่องบินลำแรกได้เพราะพี่น้องตระกูลไรท์ ที่เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถโผบินได้เหมือนนก

คงทำให้มุมมองด้าน AI ของ John McCarthy ที่เขาวาดฝันไว้คงเป็น ความเชื่อว่าสักวันเครื่องจักรจะมีความคิดเป็นของตัวเองและสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ ไม่ใช่แค่เรียนรู้และทำตามความรู้เดิมของมนุษย์

ณ ปัจจุบัน แม้ทุกคนจะเห็นแล้วว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย รายล้อมไปด้วยคำว่า AI หากแต่ว่าความจริงแล้ว ปัจจุบัน AI ที่เราเห็นกันบนสินค้าต่าง ๆ ไม่ใช่ AI ในอุดมคติสักเท่าไหร่ คงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ AI ที่ผ่านเกณฑ์จริง ๆ คงเป็นสิ่งที่เราเห็นจากในภาพยนตร์ อย่าง  'IRON MAN' ที่มี 'จาร์วิส' เรื่อง 'IRON MAN', 'ซันนี่' ที่อยู่ในเรื่อง 'I Robot' หรือ 'แชปปี้' จาก หนัง ภาพยนตร์ Chappie เท่านั้น ที่มันสามารถสร้างบุคคลิกของตัวเองขึ้นมาได้เหมือนเด็กทารกที่ค่อย ๆ เติบโตและเรียนรู้ความเป็นมนุษย์

เทคโนโลยี AI มีกี่ประเภท ?  (Chui, M., Manyika, J., & Osborne, M. (2014). The Future of Work in the Age of Artificial Intelligence. p. 11.)

Weak AI  หรือเรียกอีกชื่อว่า Narrow AI หรือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) ประกอบด้วย AI ที่ช่วยในการตัดสินใจ, คอยแนะนำหรือคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ จากสถิติ หรือ AI ที่ถูกฝึกฝนให้ทำในสิ่งที่มันเรียนรู้มาเพื่อช่วยเหลือ ด้านต่าง ๆ

AI ที่ทุกวันนี้เราเห็นในโลก ไม่ว่าจะเป็นระบบการขับรถอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) ระบบ AI บนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บนระบบพยากรณ์ยอดขาย หรือแม้แต่อะไรที่ล้ำหน้าสุด ๆ อย่างระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) และก็เจ้า Siri ของ Apple พวกนี้ก็คือ Weak AI ทั้งสิ้น ทุกสิ่งที่มันทำหรือแก้ปัญหา คือสิ่งที่มันเรียนรู้มาเพื่อตอบสนองไปตามอัลกอริทึมของระบบ

Strong AI  คือ ปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบ ที่สามารถทำงานได้ซับซ้อนและมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ หรือ สูงกว่า ตามทฤษฎีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

Artificial General Intelligence (AGI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (มีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ มีการตระหนักคิดได้แบบมนุษย์ ไม่ใช่เรียนรู้จากสิ่งที่เห็นเท่านั้น)

Artificial Super Intelligence (ASI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง (มีความฉลาดเกินมนุษย์)

AI ประเภทนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ถ้ามีก็คงเป็นความลับสุดยอด หรือไม่ก็มีแค่ในหนังกับนิยายเท่านั้น

ตัวอย่างการใช้ เทคโนโลยี AI ที่น่าสนใจในระดับโลก

เราทุกคนรู้จัก AI ที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ระบบคาดการณ์เส้นทางจราจรบน Google Maps, ระบบจดจำใบหน้า, ระบบตรวจคำผิดบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ อัลกอริทึมช่วยค้นหาและแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องบน Netflix หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ และอีกมากมาย

 Sophia หุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี AI มีความใกล้เคียงกับมนุษย์

                    โซเฟีย(Sophia) เป็นหุ่นยนต์ AI ตัวแรกที่ได้รับสิทธิในการเป็นมนุษย์ และ ถือสัญชาติของประเทศซาอุดีอาระเบีย เธอปรากฏตัวครั้งแรกในสาธารณะ เมื่อปี พ.ศ.2560 (ค.ศ. 2017) และตระเวนออกงานสัมภาษณ์นักข่าวหลายครั้งถึงความฝัน ความคิด และ ทัศนคติแบบมนุษย์ของเธอ

การมีอยู่ของ โซเฟีย (Sophia) นับว่าเป็นหุ่นยนต์ AI ที่เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากที่สุดแล้วเท่าที่เราเคยเห็นในโลก หรือก็คือเข้าใกล้ความเป็น Strong AI เธอถูกพัฒนาโดย บริษัท Hanson Robotics โดยมี เดวิด แฮนสัน (David Hanson) เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้นแบบของ โซเฟีย คือ นักแสดงสาว ออดรีย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) นักแสดงสาวสวยชาวอังกฤษที่เสียชีวิตไปแล้วในปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993)

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็น เทคโนโลยี AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและชีวิตของผู้คนมากมาย แม้จะมีหลายฝ่ายที่พยายามสนับสนุนให้มี AI ในอุดมคติเกิดขึ้นมาได้จริง ๆ แต่ในปัจจุบัน ความฉลาดของ AI ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ก็เริ่มทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความกังวลว่าการพัฒนา AI มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อมนุษย์มากกว่าผลดี เพราะหากเราควบคุมมันไม่ได้อีกต่อไป ก็อาจกลายเป็นภัย. (Russell, S., & Norvig, P. (2010). Artificial Intelligence: A Modern Approach (3rd ed.). Pearson Education. Page 3.)

 4. สาระและคุณค่าของปรัชญาในสังคมไทย

4.1 สาระ ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา

      ผู้เขียน(พิสิฏฐ์) ประสงค์จะนำเสนอความคิดเรื่องปรัชญาไทยด้วยกรอบคิดที่ชี้ให้เห็นถึงโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบดั้งเดิมของชาวไทยที่ยังไม่เจือปนด้วยวิทยาการสมัยใหม่ตะวันตก ด้วยข้อมูลเอกสาร ตำราประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตที่เคยปฏิบัติกันมา เอกลักษณ์แนวความคิดของไทย มองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม มีความสัมพันธ์กันทุกระบบและทุกระดับ ชีวิตคน สัมพันธ์กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมมนุษย์รอบตัว และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น คนหนึ่งเกิดมามีชีวิต ก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติ สัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่ามีแม่ซื้อหรือ แม่กำเนิด เทพารักษ์ประจำตัวรักษา การดำรงชีวิตในสังคม ต้องมองหน้ามองหลัง พึ่งพาอาศัยกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ด้วยระบบคุณธรรม เพื่อสังคมจะได้สงบสุข ไม่แยกส่วนดุจระบบปรัชญาตะวันตก ผู้เขียนขอจัดกลุ่มแนวความคิดตามระบบปรัชญาแบบตะวันตกได้ 3 สาขา คือ (Phisit Kotsupho, Thai Philosophy : The Thinking System of Thai People,  on  http://phil-re4you.blogspot.com/2017/03.)

   4.1.1 สาขาอภิปรัชญา

ความคิดเรื่องผี วิญญาณ เทวดา ความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า การเวียนว่ายตายเกิด การแสวงหาความจริงของสิ่งต่างๆ การอธิบายจุดกำเนิดของสิ่งต่างๆ ในรูปนิยายพื้นบ้าน หรือวรรณกรรมศาสนา เป็นต้น เช่น วรรณกรรม “ไตรภูมิพระร่วง” ถือว่าเป็นวรรณคดีปรัชญาเล่มแรกของไทย มีคุณค่าทางปรัชญา ให้ความรู้เกี่ยวกับกำเนิดสัตว์ต่างๆ กำเนิดจักรวาล การสร้างโลก อันเป็นปรัชญาแขนงอภิปรัชญา และให้ความรู้เกี่ยวกับบาปบุญ ในประเด็นทางอภิปรัชญา จะนำเสนอพอเป็นตัวอย่าง คือ

ความคิดเรื่องกำเนิดโลก จักรวาล และมนุษย์ เป็นความสงสัยของมนุษย์นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยถามตนเองตลอดมาว่า โลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร กำเนิดมาจากไหน ทำไมจึงมีดินฟ้าอากาศ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวตำนานกำเนิดโลกและมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไตหรือไทโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและดินแดนส่วนใหญ่ของลาวในปัจจุบันเชื่อว่า ผีฟ้า หรือ ผีแถนเป็นผู้สร้างโลก กำเนิดโลกและมนุษย์มาจากแถน “แถนเป็นคนแต่งโลกขึ้นมา โดยการปั้นรูปผู้หญิงหงาย ปั้นรูปผู้ชายคว่ำ ปั้นไว้เฉพาะวิญญาณ ยังไม่มีตัณหา ลมพัดกระจัดกระจายตกไปอยู่คนละแห่ง ต่างคนต่างอยู่ ต่อมาเกิดไฟไหม้แผ่นดิน กลิ่นหอมโชยขึ้นไปถึงแถน กลิ่นหอมไปถึงคู่ชาย-หญิงที่แถนปั้นไว้ แถนก็พูดว่า ‘โลกทางลุ่ม(ข้างล่าง) คือหอมแท้(ส่งกลิ่นหอมมาก)’ ว่าแล้วชาย-หญิงคู่นั้นก็ลงไปกินดินที่ถูกไฟไหม้ในโลกมนุษย์ จากนั้นทำให้คนเกิดตัณหาขึ้นมา พอสมสู่กันแล้วก็ไม่สามารถกลับคืนไปอยู่สวรรค์ได้อีกต่อไป…”(Pisit Charoenwongsa. (2007). Thai Philosophy: The Essence and Value of Philosophy in Thai Society. Bangkok: Chulalongkorn University Press. pp. 62-63.)

ความเชื่อนี้ใกล้เคียงกับตำนานการเกิดมนุษย์ที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเล่มสำคัญและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ หนังสือเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งแต่งโดยพระยาลิไทกรุงสุโขทัย ปฐมบทของมนุษย์ในโลกเกิดจากการที่อาภัสสรพรหมลงมากินง้วนดินในโลกมนุษย์แล้วทำให้เกิดราคะขึ้นมา

ตำนานเค้าผีล้านนา ปฐมมูลมูลี หรือ ปฐมมูลมูลี กล่าวถึงการเกิดโลก มนุษย์ สัตว์ และ พืชว่า “เมื่อโลกยังไม่ปรากฏ มีแต่อากาศว่างเปล่า ความร้อนกับความเย็นมาบรรจบกัน ทำให้เกิดลมพัดหมุนวนอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นกลุ่มก้อน จากกลุ่มก้อนก็เกิดเป็นแผ่นดิน น้ำ หิน ผา แร่ธาตุต่างๆ ความชื้นก่อให้เกิดเป็นคู่เป็นไคลบนแผ่นหินผา แล้วกลายเป็นต้นไม้ใบหญ้า เครือเถาวัลย์ จากธาตุทั้ง 4 เกิดสัตว์เดรัจฉาน เช่นหนอน ด้วง แด้ แมลงภู่ผึ้งและสัตว์ที่มีเลือดมีกระดูก แต่ขนาดเล็กมาก เกิดตาย แผ่ขยายเต็มแผ่นดิน หลายกัปผ่านไป มีอิตถี(มนุษย์เพศหญิง) เกิดจากธาตุดิน ชื่อนางอิตถังไคยะสังกะสี มีคันธะดอกไม้(ดมกลิ่นดอกไม้)เป็นอาหาร เนื่องจากพื้นดินมีพืชพันธุ์งอกเต็มไปหมด นางจึงนำเอาเสทนี(น้ำ หรือ เหงื่อ) และเมทนี(ดิน)มาปั้นเป็นรูปสัตว์อย่างละคู่(เพศเมีย เพศผู้) ให้มากินพืชพันธุ์จนหมด มีปุริสะ(มนุษย์เพศชาย) ผู้หนึ่งเกิดจากธาตุไฟชื่อว่า นปุงไคยะสังกะสี (คนถนัดเรียกว่า ปู่สังไคยะสังกะสี) เดินทางมาพบนางอิตถังไคยะสังกะสี ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์สมสู่เป็นผัวเมียกัน แล้วทั้งคู่ช่วยกันสร้างมนุษย์ออกมา 3 คน คนแรก เป็นเพศหญิง คนที่ 2 เพศชาย และ คนที่ 3 นปุงสะ(คนไร้เพศ) จากนั้นทั้งคนและสัตว์ก็แพร่หลาย กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆเต็มโลก เมื่อมีคนมาก ก็เกิดมีการละเมิดศีลธรรม คนชั่วทำผิดศีลธรรมมาก สุดท้ายโลก ปู่และย่าสังไคยะสังกะสี ก็จะต้องทำลายล้างโลก”  (Anatole – Roger Peltier,(2534),  ปฐมมูลมูลี ตำนานเค้าผีล้านนา) กรุงเทพฯ อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊ป, หน้า 21 -27)

นี้คือตำนานสร้างโลก และมนุษย์ จากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเทวดา พระยาแถน หรือพระเจ้ามาเนรมิต เกิดโดยวิวัฒนาการตามธรรมชาติ การแปรปรวนของฤดูหนาวและฤดูร้อน ทำให้เกิดธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เมื่อลมพัดน้ำ พร้อมกับความร้อน น้ำเหือดแห้ง บังเกิดเป็น แผ่นธรณี (ธาตุดิน) มีความชุ่มชื้น จึงบังเกิดคราบไคลของน้ำซึ่งลาวเรียกว่า “ขี้ตมปวก” หรือ “ขี้ไคน้ำ” แล้วมีมนุษย์คู่แรก ก็เกิดจากธาตุธรรมชาติ เพศหญิงเกิดก่อนจากธาตุดิน เพศชายเกิดตามมาจากธาตุไฟ เดิมเรียกว่า นางอิตถังไคยะสังกะสี และนปุงไคยะสังกะสี ต่อมาท้องถิ่นต่างๆก็เกิดเรียกเพียนกันไป เช่น “ปู่สังไคสา-ย่าสังไคสี หรือ ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี” มนุษย์คู่นี้แหละที่ช่วยกันสร้างพลโลกต่อมาและทำลายโลกเพราะเห็นว่า เกิดความชั่วร้ายมากมายในมวลมนุษย์ ความคิดเรื่องการทำลายโลก เพราะความชั่วของคนนี้ คล้ายกันแทบทุกศาสนาและวัฒนธรรม(Pisit Charoenwongsa. (2007). Thai Philosophy: The Essence and Value of Philosophy in Thai Society. Bangkok: Chulalongkorn University Press. p. 64.)

ในพงศาวดารล้านช้าง กล่าวถึงชนกลุ่มแรกที่เกิดมาในโลกนั้นเกิดมาจากน้ำเต้าใหญ่ หรือ น้ำเต้าปุ้ง (น้ำเต้า ภาษาบาลี ว่า “ลาวุ” หรือ “ลาพุ” การที่เรียกเชื้อชาติว่า “ลาว” ก็เพราะเกิดจาก “ลาวุ” น้ำเต้าปุ้งนี่ดอกกระมัง) เท้าความตามตำนานว่า มี ขุนทั้งสาม คือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ขออนุญาตต่อแถนเพื่อกลับมาอยู่เมืองมนุษย์ตามเดิม พระยาแถนจึงอนุมัติให้อพยพลงมาอยู่ “นาบ่อนน้อยอ้อยหนู” และมอบควายตัวหนึ่งให้ลงมาช่วยไถนา ต่อมาควายตายลง จึงเกิดเป็นต้นน้ำเต้าขึ้นที่ซากของควาย มีผลน้ำเต้าใหญ่มากผลหนึ่ง (น้ำเต้าปุ้ง) เมื่อผลน้ำเต้านั้นโตเต็มที่ก็ได้ยินเสียงคนอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก ขุนทั้งสามจึงเอาเหล็กชี(เหล็กหมาด)เผาไฟให้แดง เจาะรูเพื่อให้คนออกมา 2 รู คือ พวกไทยลมกับไทยผิวเนื้อดำคล้ำ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า ขอม เขมรและมอญ แต่ยังมีคนเหลืออยู่ในน้ำเต้าปุ้งอีกขุนทั้งสามจึงหาสิ่วมาเจาะใหม่อีก 3 รู พวกที่ออกมารุ่นหลังนี้ไม่ถูกรมควันจากเหล็กชีจึงมีผิวกายขาวกว่าได้แก่ ไทยเลิง ไทยลอ ไทยคราว ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนลาว คนไทย คนญวน ในภายหลัง

สรุปว่า การเกิดโลกและมนุษย์ครั้งแรก มี 2 แนวคิด คือ มีพระยาแถนผู้ศักดิ์สิทธิ์ปกครองฟ้า สร้างโลกและมนุษย์ และอีกแนวคิดเชื่อว่า โลกและมนุษย์เกิดมาจากธาตุ 4 ตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดขึ้นมา.

ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ

สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวไทยเชื่อนั้น ดั้งเดิมก็เป็นความเชื่อในสิ่งลึกลับ พลังอำนาจลึกลับอิทธิ ปาฏิหาริย์ ภูต ผี สาง วิญญาณ ขวัญ และอมนุษย์ ประเภทต่างๆ มีอิทธิเดช หรือมีอำนาจเหนือมนุษย์ เป็นสิ่งที่ควบคุมระบบธรรมชาติให้เป็นไปตามใจบงการของสิ่งเหนือธรรมชาติ ชาวไทยสมัยก่อนไม่เข้าใจกฎธรรมชาติ จึงอธิบายสาเหตุปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วยพลังอำนาจลึกลับบันดาล การที่จะให้ธรรมชาติอำนวยผลสิ่งที่ดีให้ตนได้ ก็ด้วยการปฏิบัติเอาใจพลังเหนือธรรมชาติผู้ดลบันดาลให้พอใจมากที่สุด พูดง่ายๆ การจะเอาชนะธรรมชาติ หรือบังคับธรรมชาติได้ก็โดยการเอาอกเอาใจพลังอำนาจที่บงการธรรมชาติเท่านั้น จึงเกิดพิธีกรรมบวงสรวง เซ่น ไหว้ อ้อนวอน บวงสรวง ตามความเชื่อมากมาย

ผีเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทย จำแนกผีออกเป็นหลายประเภทและหลายระดับ “ผี” เป็นคำไทย มาคู่กับคำว่า “ผู้” ในความหมายของคนไทย “ผู้” ถึงคนเป็นทั้งยังมีชีวิตอยู่ “ผี”หมายถึง คนที่ตาย เมื่อตายลงจึงกลายเป็นผี ที่เรียกว่า ไปเผาผี ความจริง ผี ไม่ได้หมายเพียงแต่สภาพของผู้ที่ตายไปเหลือแต่วิญญาณเท่านั้น ยังหมายรวมอำนาจที่ยิ่งใหญ่นอกเหนือมนุษย์ เป็นอำนาจที่บันดาลให้เกิดโลก มนุษย์ จักรวาล เช่น ผี ฟ้า ผีแถน เป็น ผีปกครองโลก ระดับลดรองลงมาก็เป็นผีประจำเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ประจำถิ่น ผีบ้าน ผีเรือน เสื้อบ้าน เสื้อเรือน และผีอนาถาทั่วไป เมื่อชาวไทย นับถือศาสนาฮินดู ผีฟ้าผีแถนได้รับการยกระดับเป็นเทพเจ้าสูงสุดบนฟ้า เหล่าผีต่างๆที่ทรงมหิทธานุภาพ กลายเป็นเทวดาอารักษ์ไป

ความเชื่อในอมนุษย์ประเภทต่างๆ มีดาษดื่นในวัฒนธรรมไทย เช่น ยักษ์ ครุฑ พญานาค เงือก เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีความเชื่อเดิมในเรื่องเวทมนต์ คาถา วิชา อาคม ไสยศาสตร์ เคราะห์ เวรอุบาทว์ จัญไร อัปปีย์ ขึ๋ด เหล่านี้เกี่ยวกับอำนาจพลังลึกลับ อำนาจกายสิทธิ์ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องชะตากรรมและบุญวาสนา

คำถามทางปรัชญาว่า “มนุษย์ถูกกำหนดหรือมีเสรีภาพ” หรือ “อนาคตเราอยู่ในมือเราจริงหรือ” คำตอบของชาวไทยสมัยก่อน ค่อนข้างเชื่อไปทาง ประเด็นแรกมากกว่า ถือว่าโชคชะตาของมนุษย์ได้ถูกจารึกไว้ล่วงหน้าแล้ว คนมั่งมี คนทุกข์ยาก ต่างถูกชะตากำหนดให้เกิดมาทุกข์ หรือ มั่งมี ดังคำกล่าวว่า “บุญทำกรรมแต่ง” หรือ “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” ถ้าต้นตระกูล เผ่าพันธุ์ ชาติกำพืดดีหรือเลว ลูกหลานย่อมเป็นไปตามเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล ไม่ผ่าเหล่าแตกกอออกไปได้ ดังคำว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว แนวไม่ทิ้งเหล่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะให้แน่ ต้องดูถึงยาย” เป็นต้น แสดงว่า ใครเกิดมาย่อมมีเจ้าชะตากำหนดให้เป็นไป และเกิดจากเผ่าพันธุ์ใดย่อมมีอุปนิสัยสันดานตามต้นตอ กอเหง้าของผู้นั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้

เมื่อชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา ความเชื่อนี้จางลงไป เชื่อว่า แม้จะมีชะตากำหนดเพราะกรรมเก่า แต่ก็สามารถสร้างกรรมใหม่เปลี่ยนแปลงโชคชะตาให้ร้ายหรือดีได้ คนจะสุขหรือทุกข์ จะสูงส่งหรือต่ำต้อย เพราะกรรมของตัว มิใช่เพราะชาติพันธุ์วรรณะ ดังที่กล่าวว่า “ คนจะเลวหรือดี มิใช่เพราะชาติกำเนิด แต่ ดีหรือเลวเพราะกรรมของตนเอง” เข้าข่ายความคิดเห็นประเด็นที่ 2 ว่า อนาคตเรา อยู่ในมือเรา(กรรมที่ทำเอง)

ในประเด็นนี้ นักคิดไทยท่านหนึ่งชื่อ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน มีชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2451- 2491 อดีตนายทหารอากาศ ยศ เรืออากาศโท ถูกกล่าวหาเป็นกบฏ 2 ครั้ง (2477 และ 2481) เมื่อถูกคุมขังก็มีเวลาขีดเขียนหนังสือและกวี แสดงความคิดเห็นได้รับการตีพิมพ์เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นนักคิดที่เฉียบคม วาทะกล้า นวนิยายเล่มหนึ่งที่ถูกยกให้เป็นหนังสือ 1 ใน100 เล่ม ของวรรณกรรมดีเด่นของชาติ ที่เยาวชนไทยควรอ่าน คือ เรื่อง “เมืองนิมิตร” ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “An Idealists Dream” (2482) ถูกริบทำลายต้นฉบับไป แต่เขียนใหม่เชื่อว่า “ความฝันของนักอุดมคติ”(2487) กล่าวว่า “มนุษย์ย่อมมีชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม หมายความว่า สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง เช่น ดิน ฟ้า อากาศ และผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ เช่น ธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยมของสังคมเป็นต้น เหล่านี้ มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์”

อันที่จริง สิ่งที่คนไทยเคยมีความเชื่อติดตัวมานาน คือ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ชะตาชีวิตของบ้านเมือง และของคน ขึ้นอยู่กับฟ้าลิขิต และการโคจรของดวงดาว กล่าวแบบภาษาพื้นๆ ว่า “ดวง” เช่น ดวงบ้าน ดวงเมือง และดวงชะตาชีวิตของแต่ละคน การจะประกอบกิจกรรมใดๆ ก็จำเป็นต้อง ผูกดวง หาฤกษ์ยามที่ดี ด้วยเชื่อว่า ถ้าประกอบพิธีตรงกับฤกษ์ ผา นาที ที่กำหนด ชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ความเชื่อ อีกประการหนึ่ง คือ เนื้อคู่ หรือ คู่ครอง เรียกว่า คู่แนน แถนแต่ง เกิดมาเป็นคู่แล้ว ไม่แคล้วกัน

การเวียนว่ายตายเกิด คนไทยเชื่อในเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิด เมื่อคนตายไป อาจไปเกิดในเมืองแถน หรือ แดนทุรกันดาร บางทีอาจกลับมาเกิดเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวเดิมก็ได้ ตายไปแล้วนอกจากจะกลับมาเกิดเป็นคนแล้ว อาจจะเกิดเป็นพืช(เช่นเรื่องจำปาสี่ต้น) เป็นสัตว์(เช่นเรื่องปลาบู่ทอง) เป็นผีสาง เป็นยักษ์ ฯลฯ แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด อาจจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เพราะอาศัยกฎแห่งกรรม จึงเวียนว่ายตายเกิด เพื่อชดใช้กรรมเก่าที่เคยทำมา เรียกว่าเกิดมาใช้กรรมเวร คนกว่าจะหมดกรรม (Pisit Charoenwongsa. (2007). Thai Philosophy: The Essence and Value of Philosophy in Thai Society. Bangkok: Chulalongkorn University Press. pp. 67-68.)

ความคิดเรื่องความจริงสูงสุด

ประเด็นเรื่องความเป็นจริงสูงสุด ในทรรศนะของชาวไทยก่อนนับถือพุทธศาสนา ยอมรับความจริงมี 3 ประการ คือ 1. โลกทางวัตถุที่เห็นและจับต้องได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ปรากฏว่า ชาวไทยสมัยก่อนได้มองโลกทางวัตถุ ว่าเป็นเพียงมายา ดุจแนวคิดของนักปราชญ์พราหมณ์ และ 2. โลกหน้า หรือ ปรโลก หรือโลกในมิติอื่น เช่น นรก สวรรค์ บาดาล ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มีสัตว์ผู้เป็นอมตะ ตายไม่เป็น คือ ผีฟ้า หรือ ผีแถน เทียบได้กับแนวคิดเรื่องพระเจ้า(GOD) พระพรหม ของศาสนาคริสต์ หรือศาสนาพราหมณ์ และ 3. กฎธรรมชาติ ก็เป็นความจริง หมายความว่า กฎที่มีอยู่ดั้งเดิม เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เป็นกฎที่มนุษย์มิได้บัญญัติขึ้น มีอยู่จริงแล้วในตัวของมันเอง ต่อมาชาวไทยก็ขยายเป็นเรื่องกฎแห่งศีลธรรม และกฎแห่งกรรม เมื่อนับถือพระพุทธศาสนา

สรุปว่า แนวคิดทางอภิปรัชญา เป็นแนวสัจนิยม(Realism) มองโลกตามความจริง ไม่เฟ้อฝัน ให้ความสำคัญทั้งทางกายและจิตใจอาจเข้าลักษณะทวินิยม(Dualism) แต่ไม่แยกกายออกจากใจอย่างเด็ดขาดดุจทวินิยมตะวันตก

สาขาญาณวิทยา

ความคิดในด้านการแสวงหาความรู้ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ ชาวไทยสมัยก่อนมีความคิด จำแนกเป็นประเด็นได้ดังนี้

ความรู้ คือ วิชา หมายถึงความรู้ทั่วไป สามารถแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาปรัชญา หากมีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องใดๆ เราเรียกว่า วิชาการ หมายถึงมีความรู้ในเรื่องที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนมา เช่น นักวิชาการศึกษา นักวิชาการประวัติศาสตร์ นักวิชาการการเมือง หรือ มีวิชาอาคม แบบโบราณ เป็นต้น  (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. แนวคิดไทย เล่ม 2. นนทบุรี : สาขาวิชาศิลปศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2533. หน้า 443-445.)

แหล่งเกิดความรู้ ตามความคิดของชาวไทย แหล่งเกิดความรู้ จำแนกเป็น

- ความรู้เกิดจากประสบการณ์ เรียนรู้จากสังเกตธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งความรู้ ตำรับตำรา ขยายถึงความรู้ที่เกิดจากกระบวนการศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนอบรม จากครู อาจารย์ ดังคำที่ขุนแผนสอนพลายงาม ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า

.....อันตำรับตำราสารพัด

ลูกเก็บจัดแจงไว้ที่ในตู้
ถ้าลืมหลับตรงไหนไขออกดู

ทั้งของครูของพ่อต่อกันมา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา

ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ..

และตอนนางทองประศรีนำพลายแก้วไปฝากสมภารวัดส้มเกลี้ยงเพื่อเล่าเรียนว่า

... ท่านเจ้าขาฉันพาลูกมาบวช

ช่วยเสกสวดสอนให้เป็นแก่นสาร
ด้วยขุนไกรบิดามาถึงกาล

จะได้อธิษฐานให้ส่วนบุญ
อีกทั้งวิชาการอ่านเขียน

เจ้าจะได้ร่ำเรียนเสียแต่รุ่น... (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ปรัชญาไทย : ระบบคิดของคนไทย,  ใน  http://phil-re4you. blogspot.com/2017/03)

ลักษณะความรู้จากแหล่งนี้ เรียกว่า ความรู้หลังประสบการณ์(Aposteriori Knowledge)

ชาวไทยเรียกกันว่า พรแสวง เกิดมาไม่เก่ง แต่แสวงหาเรียนรู้ ฝึกฝนจนเก่งได้

- ความรู้เกิดจากการคิด หรือใช้เหตุผลการขบคิดพินิจพิเคราะห์ ด้วยการใช้เหตุผล ด้วยเชาวน์ปฏิภาณ ไหวพริบ ก็ทำให้เกิดความรู้ได้ ชาวไทยเชื่อในเรื่อง พรสวรรค์ เพราะบางคนมีความคิด มีปัญญาติดตัวมาแต่เกิด เป็นอัจฉริยะเก่งมาแต่เกิด ภาษาศาสนาว่า สชาติกปัญญา ดังความสามารถของศรีปราชญ์ ที่สามารถแต่งต่อโคลงอีก 2 บาท จนครบ ที่เป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ขึ้นกระทู้แล้วมอบให้บิดาศรีปราชญ์แต่งต่อ

หรือตัวอย่างปัจจุบัน เด็กชายเดียว อายุเพียง 4 ขวบ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน แต่สามารถเล่นเกมส์ทศกัณฐ์เด็ก ตอบคำถามบอกชื่อคนได้ถึง 200 หน้า ได้รับเงินรางวัลถึง 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาท) เป็นต้น และบางคนรู้โดยไม่ต้องเรียน ทางปรัชญาเรียกว่า ความรู้มีก่อนประสบการณ์(Apriori Knowledge)

การตรวจสอบความรู้ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ ในมุมมองของชาวไทย ถ้าใช้ทฤษฎีทางปรัชญามาจับ จะพบว่า ชาวไทยใช้ครบทั้ง 3 ทฤษฎี คือ

1. ทฤษฎีสหนัย (Inherence Theory) คือ ทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่า ข้อความใดข้อความหนึ่งเท็จจริงหรือไม่ ให้ดูว่าข้อความนี้สอดคล้องกับข้อความอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ข้อความนั้นก็เป็นจริง ถ้าขัดแย้งกันข้อความนั้นก็ไม่เป็นจริง เช่น

ถ้ามีใครพูดว่า "ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน" เราก็ต้องยอมรับคำพูดนี้จริง เพราะความรู้เดิมมีอยู่ว่า สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง ตกต่ำแล้วก็อาจจะตั้งตัวขึ้นมาได้ หรือฟังเพยที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับวิธีหาความรู้แบบนิรนัย (Deduction)

แต่การนิรนัยบางเรื่องของคนไทยก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะอ่อนตรรกะ โดยข้อเสนอหลักไม่เป็นความจริงสากล เช่น คนไทยสอนกันมาว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ เป็นคนที่คบไม่ได้” เมื่อเห็นผู้ใด จิตใจไม่มั่นคง(หรืออาจเป็นเพราะสาเหคุอื่นๆ) บังเอิญเคยมีสามีมาแล้ว 3 คน หรือ ชายเคยบวชมาแล้ว 3 หน ก็เหมารวมหมดว่า เป็นคนไม่ดี

2. ทฤษฎีสมนัย (Correspondence Theory) คือทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกต้องเป็นจริงก็ต่อเมื่อความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เช่น คำพูดที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง” หรือคำพูดที่ว่า “สิบช่าง ไม่เท่าเคย สิบลูกเขย ไม่เท่าพ่อตา” และสุภาษิตที่ว่า “เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” ดังนั้นสิ่งที่ค้ำประกันว่า ความรู้ถูกต้องเป็นจริง คือ การที่ความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มีประสบการณ์ตรงและชำนาญในเรื่องนั้นๆ ปฏิบัติแล้วจะเกิดผลทั้งทางดี หรือทางร้ายก็ได้ ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับการหาความรู้แบบอุปนัย (Induction)

3. ทฤษฎีปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือทฤษฎีที่ถือว่า เกณฑ์ตัดสินความจริง คือ การใช้งานได้ ความสำเร็จประโยชน์ในทางปฏิบัติ ความมีประโยชน์ คือ พิจารณาจากความสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจริงคือ สิ่งที่มีประโยชน์ ปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังสุภาษิตว่า

“ผิจะจับ จับจงมั่น   ผิจะคั้น คั้นให้ตาย
ผิจะหมาย หมายจงแท้ ผิจะแก้ แก้จงกระจ่าง”

และว่า
“อย่ารักเหากว่าผม อย่ารักลมกว่าน้ำ
อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเดือนกว่าตะวัน” เป็นต้น (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2559 ทฤษฎีและ

ปัญหาทางญาณวิทยา, เชียงใหม่ : ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน้า 253)

เมื่อชาวไทย นับถือพระพุทธศาสนา จึงเน้นการแสวงหาความรู้ตามแบบพุทธปรัชญา ทั้งโดยประสบการณ์ตรง การสังเกต การพินิจพิเคราะห์ ทั้งโดยการเรียนรู้ เพราะอาศัยประสบการณ์ตรงหรือเชาวน์ปัญญา แต่สิ่งที่เน้นที่สุดคือ การจะมีความรู้ดีและถูกต้องนั้นก็ต้องเกิดจากการนั่งสมาธิพัฒนาจิตใจ อันเป็นสาเหตุแห่งความรู้ขั้นสูงสุด คือ ความรู้จริง หรือ ปัญญา รู้จริงตรงตามสัจธรรม

สรุปประเด็นทางญาณวิทยา ชาวไทยอดีต ให้ความความสำคัญกับความรู้ที่เกิดจากทั้ง 2 แหล่ง ที่เรียกว่า พรแสวง และ พรสวรรค์ ความรู้จริงต้องตรงกับข้อเท็จจริง และความจริง

สาขาจริยศาสตร์

    ในคำสอนของชาวไทยตามวรรณคดีต่างๆ ส่วนใหญ่จะปลูกฝังค่านิยมทางด้านศีลธรรม และจริยธรรม สอนเรื่องความดี ความชั่ว บาปบุญ คุณโทษ เน้นความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคมและส่วนตัว มีการสอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ในแนวคิดตามระบบจริยศาสตร์ จะนำเสนอค่านิยมความดี ของชาวไทย ตามประเด็นดังนี้

    ความดีคืออะไร โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงความดี มักจะจำกัดที่ ความมีศีลธรรม หรือจริยธรรม เป็นความถูกต้อง เป็นความสวยงาม เป็นธรรม แต่ภาษาไทย ใช้คำว่า ดี หรือความดีในภาพที่กว้างครอบคลุมนัยะด้านอื่นๆด้วย ดังนั้น “ดี” ในความคิดของคนไทย หมายถึง คุณสมบัติที่น่าพึงปรารถนาโดยรวมด้านอื่นเข้ามาประกอบ เช่น

การไม่เกเร ไม่ดื้อรั้น ไม่เกียจคร้าน เชื่อฟังโอวาท เป็นความดี ของเด็ก
การไม่ทอดทิ้งเพื่อนในยามยากจน ยามเจ็บไข้ ยามจาก เป็นความดีของเพื่อน
การไม่หยิ่งโส โอหัง ไม่ถือตัว มีเมตตา เป็นความดีของผู้ใหญ่
ความยุติธรรม เป็นความดีของผู้ปกครองและหัวหน้า
การรู้จักขอโทษ การรู้จัก ให้อภัย “ไม่เป็นไร เลิกแล้วกันไป” เป็นความดีของทุกคน
การรู้จักเกรงใจ รู้ที่ต่ำที่สูง มีสัมมาคารวะ เป็นความดีของทุกคน
ความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นความดีของทุกคน (Pisit Charoenwongsa. (2007). Thai

Philosophy: The Essence and Value of Philosophy in Thai Society. Bangkok: Chulalongkorn University Press. pp. 73-74.)

เกณฑ์วัดค่าความดี แม้ชาวไทยจะไม่ได้วางระบบวัดค่าความดีเอาไว้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มักไม่สุดโต่ง ตกขอบ ขนาดชอบที่สุด หรือเกลียดที่สุด ชอบยึดทางสายกลาง ความพอดี ค่านิยมนี้ ชาวไทยนำมาใช้ประเมินค่าของการกระทำตามวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางความคิด ถือเจตนาในการกระทำสำคัญกว่าผลของการกระทำ อย่างคำว่า สำคัญที่ใจ แต่บางครั้งก็ยืดหยุ่นตามเหตุการณ์ ไม่ตายตัว ถ้าใช้เกณฑ์แบบตะวันตก ก็จะพบเค้าให้เห็น หลายเกณฑ์ ดังนี้

1. เกณฑ์ตายตัว หรือ สัมบูรณนิยม วัดคุณค่าในตัว(intrinsic values) มากกว่าคุณค่านอกตัว(extrinsic values) สิ่งใดดี สิ่งนั้นย่อมมีค่าในตัวเอง “เพชรย่อมเป็นเพชร” ตกที่ใดก็ยังเป็นเพชร เช่น ความกตัญญูเป็นความดี ซื่อสัตย์สุจริต เป็นความดี ความเมตตากรุณาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นความดี ผู้ใดทำก็ดีแก่ผู้นั้น ทำเมื่อใด ทำที่ไหน ก็ดีเมื่อนั้น เหมาะกับสถานที่นั้น ไม่มีข้อยกเว้น ดังจารึก สุโขทัยบ่งถึงความเชื่อจริยธรรมทางศาสนา และเกณฑ์ที่คิดว่าดี คือ มาตรฐานทางศีลธรรม(Moral Norms) เช่น “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง...ไพร่ฟ้าลูกเจ้า ลูกขุน ผิแลผิดแผกแยกว้างกัน สวนดูแท้แล้จึงแล่งความแก่ข้า ด้วยความเชื่อ บ่เข้าผู้ลัก บ่มักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”ในบางวัฒนธรรม เช่นล้านนา เมื่อทำผิดทำนองครองธรรม ผิดจารีตประเพณีนิยม จะบอกว่า “ผิดผี” ทางอีสาน มีเกณฑ์ยึด ฮีต 12 ครอง 14 ทางภาคกลาง ก็มีเกณฑ์จารีต ขนบธรรมเนียมที่ยึดปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบัน เกณฑ์เหล่านี้ ย่อหย่อนลงไปมาก คนในสังคมไทยสมัยใหม่แทบไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญ

2. เกณฑ์แบบสัมพัทธ์(Relative) ขึ้นอยู่กับปัจจัย บุคคล สถานที่ กาลเวลา ระดับ รู้ความเหมาะ ควรหรือไม่ควร ที่จะประพฤติต่อใคร ในสถานการณ์ใดสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ ภาษิตไทยว่า “เข้าเมืองหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” “อย่าเป็นคนขวางโลก” “อย่างไรก็ได้” ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า คนไทยไม่จริงจัง จริงเป็นเล่น เล่นเป็นจริง ไม่มีหลักการ ตัวอย่าง เมื่อเราใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ยึดหลักว่า ไม่ควรมีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือ การปฏิรูปใดๆ อันเป็นกระบวนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เมื่อทหารเคลื่อนรถถังออกมายึดอำนาจ คราวใด คนไทยก็เสียความรู้สึกและอกสั่นขวัญแขวนคราวนั้น แต่การณ์กลับตาลปัตร ในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา เมื่อทหารรวมตัวเรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”(คปค.) นำโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตน์กลิน ผู้บัญชาการทหารบก คนไทยส่วนใหญ่ต่าง พอใจ ยินดี ชื่นชม ต้อนรับ หอบลูกจูงหลายไปดูทหารและรถถัง ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เหมือนเทศกาลงานวันเด็ก แม้แต่คนไทยที่เคยยึดหลักการประชาธิปไตย เคร่งครัด ก็ยังมีใจโอนอ่อนหย่อนลงมา ยอมรับว่า คปค. ทำดีแล้ว ในสถานการณ์บ้านเมืองที่จะล่มสลายเพราะระบอบทักษิณปกครอง พฤติกรรมไม่คงเส้นคงวาของคนไทยเช่นนี้ ทำให้ชาวต่างชาติไม่เข้าใจว่า การปกครองที่ว่า ดีหรือไม่ดี คนไทยยึดอะไรเป็นเกณฑ์แน่ ทั้งนี้เพราะมาตรฐานทางสังคมไทย(Social Norms)มีขึ้นมีลงตามสภาวะแวดล้อม

3. เกณฑ์ยึดทางสายกลาง( Middle Criterion) โดยลักษณะนิสัย ชาวไทยเป็นคนประนีประนอมสูง ปรับตัวเองเข้ากับทุกคนได้ แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะที่อ่อนแอ ไม่มั่นคง เป็นไม้หลักปักเลน เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินเรื่องอะไร หลีกเลี่ยงที่จะใช้ความขัดแย้งรุนแรงแบบหัวชนฝา เอากันถึงตายไปข้างหนึ่ง

ถ้าเป็นไปได้ ชาวไทยขอยึดทางสายกลาง เพื่อถนอมไมตรีทั้ง 2 ฝ่าย เข้าทำนอง “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” หรือ “รักพี่เสียดายน้อง” “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” “ลูบหน้าปะจมูก”

แต่จุดที่ชาวไทยมักถูกเข้าใจผิดเรื่องเกณฑ์ทางสายกลาง ก็คือ เป็นคนประเภท “นกสองหัว” หรือ “ลิ้นสองแฉก” “เหยียบเรือสองแคม” “ปลิ้นปล้อนกระล่อนแบบศรีทะนนชัย” “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก”

อันที่จริง การยึดทางสายกลางเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็อาจจะมิใช่การประนีประนอมระหว่าง ตำรวจกับโจรผู้ร้าย แต่อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ ทางเลือกที่ 3 ที่เหมาะสำหรับการเข้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและพฤติกรรม (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ปรัชญาไทย : ระบบคิดของคนไทย,  ใน  http://phil-re4you. blogspot.com/2017/03)

คนดี มีลักษณะอย่างไร 

ในความคิดของคนไทย ลักษณะคนดี สามารถมองได้ทั้งจากคุณสมบัติภายใน(Intrinsic Value/Quality)ที่เรียกว่า ความมีจริยธรรมและคุณธรรม ทั้งมองได้จากคุณสมบัติภายนอก(Extrinsic Value/Quality)อันเป็นส่วนที่ปรากฏ

1. คุณสมบัติภายใน เกิดจาก ใจดี มองจากแนวคิดไทย พบคุณลักษณะ ดังนี้ คนดีย่อรักพวกพ้อง คนดีคำนึงถึงคุณธรรมมากกว่าสิทธิประโยชน์ คนดีย่อมเข้ากับผู้อื่นได้ คนดี ย่อมทำให้เกิดผลดี มองด้านมโนจริยา มีลักษณะ เคารพยำเกรง บิดา มารดา และอาจารย์ นับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ มีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย และมองจาก สมบัติผู้ดี 10 ประการของ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (พ.ศ. 2444) พบว่า ผู้ดี ย่อมมีความเรียบร้อย ไม่ทำอุดจาดลามก มีสัมมาคารวะ มีกิริยาเป็นที่รัก มีความสง่า ไม่เห็นแก่ตัว มีใจดี ปฏิบัติการงานดี และสุจริตซื่อตรง (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี, (2444) สมบัติผู้ดี 10 ประการ)

2. คุณสมบัติภายนอก มองที่พฤติกรรม เช่น เป็นคนเอาการเอางาน ให้ผู้อื่นพึ่งพาอาศัยได้ มีอำนาจวาสนา บารมี ปกป้องลูกน้องได้ เป็นพลเมืองดีของชาติ มีความรู้ความสามารถดี

เจ้าพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เรียบเรียง สมบัติผู้ดี พ.ศ. 2455 ในด้าน กายจริยา 12 ข้อ คือ

1) ย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพ เฉพาะหน้าผู้ใหญ่
2) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่
3) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่
4) ย่อมแหวกที่ หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่ หรือผู้หญิง
5) ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น
6) ย่อมเปิดหมวก เมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
7) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด
8) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน
9) ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน
10) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน
11) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน
12) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย

และด้านวจีจริยา มี 6 ข้อ คือ

1) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่
2) ย่อมไม่กล่าวร้าย ถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือ ของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง
3) ย่อมไม่กล่าววาจา อันติเตียนสิ่งเคารพ หรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา
4) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาเสียก่อน
5) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ
6) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ (เจ้าพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล), (2455), สมบัติผู้ดี. มปท.)

จริยศาสตร์ไทย แนวคิดเกี่ยวกับ ความดี มีทั้งดีในและดีนอก คนดี มีทั้งคนดีทางศีลธรรม และคนดีทางสังคมยกย่อง เกณฑ์วัดความดีของไทย มีหลายแบบ เหมือน มาตรฐาน 2 ชั้น เลือกใช้ตามสถานการณ์ให้เหมาะสม

          4.2 คุณค่า  ปรัชญามีคุณค่าและความสำคัญ

ภาพวาดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา  “โรงเรียนแห่งเอเธนส์” เต็มไปด้วยใบหน้าที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเพลโตและอริสโตเติล เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ภาพวาดเป็นจดหมายรักถึงนักปรัชญาในอดีต ทุกวันนี้ จดหมายรักของเราดูแตกต่างไปจากผลงานชิ้นเอกของราฟาเอลเล็กน้อย แต่โลกยังคงหลงใหลในปรัชญา ทำไม ตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลายคนคิด ปรัชญาไม่ใช่แบบฝึกหัดเชิงวิชาการที่แห้งแล้ง หากไม่มีการนำไปประยุกต์ใช้จริง

เหตุผล 10 ประการที่ปรัชญามีคุณค่าและความสำคัญ ดังนี้

4.2.1 ปรัชญาถามคำถามที่สำคัญ ไม่มีหลักการใดที่จะหมกมุ่นอยู่กับคำถามใหญ่ๆ เท่ากับปรัชญา ไม่ว่าจะเป็นการให้เหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน การไตร่ตรองความหมายของการมีอยู่ หรือการค้นหารูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด ปรัชญาได้นำพาความอยากรู้อยากเห็นของมนุษยชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยโบราณ นักปรัชญาได้อุทิศตนเพื่อสำรวจกระบวนการคิดในขณะที่วิเคราะห์ความคิดของพวกเขาในทุกขั้นตอน ไม่มีคำถามใดที่ใหญ่หรือเล็กเกินไปสำหรับปรัชญา

4.2.2 ปรัชญาช่วยในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเหตุผล นอกจากการถามคำถามใหญ่ๆ แล้ว ปรัชญายังเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิดอีกด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการใช้เหตุผลเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่กำหนดปรัชญา เป็นเวลาหลายปีที่นักปรัชญาได้อภิปรายถึงวิธีการประเมินและจัดหมวดหมู่รูปแบบการคิดที่แตกต่างกัน วิธีระบุการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง และอื่นๆ การอภิปรายเกิดขึ้นเสมอ เมื่อคุณนำแนวความคิดเชิงปรัชญามาใช้และเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ข้อความและแนวคิดด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์ คุณจะกลายเป็นนักคิดที่ดีขึ้น คุณสามารถบอกได้ว่าเมื่อใดที่แนวคิดนั้นคุ้มค่ากับเวลาของคุณ หรือขึ้นอยู่กับสิ่งที่อ่อนแอและไร้เหตุผลโดยเนื้อแท้ นี่เป็นทักษะที่จำเป็นที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ในชีวิตของคุณ

4.2.3 ปรัชญาช่วยชี้นำกระบวนการวิจัย เมื่อคุณต้องเผชิญกับโครงการวิจัยบางอย่าง ปริมาณข้อมูลอาจล้นหลาม ปรัชญาและการเน้นที่การคิดเชิงวิเคราะห์และการโต้แย้งที่ถูกต้องช่วยให้คุณแยกแยะทุกสิ่งได้ คุณจะสามารถบอกได้เมื่อความคิดหรือข้อโต้แย้งไม่เกิดขึ้น ดังนั้นคุณจึงสามารถมุ่งความสนใจไปที่อื่นได้ ปรัชญายังช่วยให้คุณพัฒนาจุดยืนของตนเองโดยใช้การให้เหตุผลที่ชัดเจนและมีเหตุผลโดยอิงจากงานวิจัยที่คุณทำ

4.2.4 ปรัชญาสอนความโน้มน้าวจิตใจ นอกจากการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการใช้เหตุผลแล้ว ปรัชญายังสอนผู้คนถึงความสำคัญของการโน้มน้าวใจ คุณสามารถมีข้อโต้แย้งที่ดีที่สุดในโลกพร้อมหลักฐานมากมาย แต่ถ้าคุณไม่สามารถให้คนอื่นเห็นได้ ประเด็นคืออะไร? เริ่มตั้งแต่สมัยโบราณ วาทศิลป์ ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการโน้มน้าวใจ ถูกใช้โดยทุกคนตั้งแต่นักการเมือง นักกฎหมาย ไปจนถึงกวี เมื่อคุณศึกษาปรัชญาและวาทศิลป์ คุณจะได้เรียนรู้วิธีพัฒนาและนำเสนอข้อโต้แย้งของคุณในแบบที่ดึงดูดผู้ฟังของคุณ นี่เป็นทักษะที่มีค่าอย่างยิ่งไม่ว่าคุณจะมีเป้าหมายอะไรก็ตาม

4.2.5 ปรัชญาสอนการแก้ปัญหา ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าคุณจะประสบปัญหาประเภทใด ปรัชญาสามารถช่วยได้ นั่นเป็นเพราะว่าปรัชญาสอนเทคนิคต่างๆ เช่น การสังเกต สัญชาตญาณ และตรรกะ การใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ คุณสามารถแยกปัญหาออกเป็นสาระสำคัญและทดสอบวิธีแก้ปัญหา ปรัชญาได้รับการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบของคำถามใหญ่ มันสมเหตุสมผลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับปัญหาใด ๆ

4.2.6 ปรัชญาใช้ได้กับทุกสาขาวิชา ไม่ว่าคุณจะจัดการกับเรื่องใด มีแง่มุมทางปรัชญาที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ในแง่หนึ่ง ปรัชญาบังคับให้คุณถามคำถามเช่น "อะไรนะ" และทำไม?" ไม่ว่าคุณจะกำลังศึกษาวรรณคดีหรือวิทยาศาสตร์ บทความเชิงปรัชญาจะทำให้คุณถามว่า: สาระสำคัญของหัวข้อที่อยู่ในมือคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญ ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการให้เหตุผล ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในทุกสาขาวิชา พวกเขาทำให้กระบวนการเรียนรู้มีระเบียบและคุ้มค่ามากขึ้น

4.2.7 ปรัชญาสร้างรากฐานที่ดีสำหรับการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ปรัชญาไม่ได้มีประโยชน์แค่ในห้องเรียนหรือสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เท่านั้น เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับสายอาชีพต่างๆ รวมถึงโลกธุรกิจ ในการประสบความสำเร็จในธุรกิจ บุคคลต้องทำงานผ่านปัญหาที่มักซับซ้อน เขียนข้อโต้แย้งที่โน้มน้าวใจสำหรับตำแหน่งงาน และค้นคว้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการใช้เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้เป็นจริงมากขึ้นสำหรับวิชาชีพทางกฎหมาย อาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ยังต้องมีความเชี่ยวชาญด้านแนวคิดทางปรัชญาและการคิดเชิงวิเคราะห์ อาชีพใด ๆ ได้รับประโยชน์จากปรัชญาเล็กน้อย มันไม่ใช่วิชาที่จำกัดเฉพาะวิชาการ

4.2.8 ปรัชญาช่วยให้แยกแยะความเชื่อ คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตโดยไม่ตั้งคำถามในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ปรัชญาขอให้เรามองชีวิตและโลกทัศน์ของเราให้ละเอียดยิ่งขึ้น เราอาจตระหนักว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อในตัวเอง โลก และอื่นๆ มันไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป ในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะมั่นใจในสิ่งที่เราเชื่อมากขึ้น แม้ว่าเราจะไม่เคยปกป้องพวกเขากับบุคคลอื่น กระบวนการซักถามและรวบรวมหลักฐานสำหรับความเชื่อของเราอาจเปลี่ยนชีวิตเราได้

4.2.9 ปรัชญามีอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบัน แม้ว่าคุณจะไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ปรัชญาก็มีผลกระทบอย่างมากต่อวิธีการทำงานของโลก เรามีประชาธิปไตยเพราะนักปรัชญา หลายประเด็นที่ผู้คนทะเลาะกันทุกวัน เช่น การเป็นคนดี เป็นเรื่องของปรัชญา หากคุณเคยสงสัยว่าทำไมโลกถึงเป็นอย่างที่เป็น และคุณมองย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ คุณจะพบว่าสิ่งต่างๆ ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากปรัชญา

 4.2.10 ปรัชญาสามารถเชื้อเพลิงการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมหรือการเมือง เริ่มต้นจากการโต้วาทีทางปัญญา เนื่องจากปรัชญาคือทั้งหมดที่เกี่ยวกับการใส่ใจในทุกสิ่ง รวมทั้งคำถามและกระบวนการคิด ปรัชญาสนับสนุนให้โลกมองลึกลงไปว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ ถึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่และถ้ามันจะดีกว่านี้ นั่นเป็นวิธีที่ทำให้ก้าวหน้า

5. สรุป

ในการสำรวจปรัชญาตะวันตก ตะวันออก และร่วมสมัย เราได้เจาะลึกเนื้อหา คุณค่า และความสำคัญที่ปรัชญาเหล่านั้นมีต่อคนรุ่นต่อไปและยุคของปัญญาประดิษฐ์ ความเข้าใจนี้ทำให้เราเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของปรัชญาในฐานะกรอบกำหนดปฏิสัมพันธ์ของเรากับคลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีขั้นสูงและอิทธิพลที่มีต่อสังคม

ปรัชญาแต่ละแขนง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันออก หรือปรัชญาร่วมสมัย ล้วนอุดมไปด้วยขุมทรัพย์แห่งข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยให้เราสำรวจภูมิความรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในยุคสมัยของเรา ค่านิยมหลักของปรัชญาเหล่านี้ส่งเสริมการคิดอย่างมีเหตุผล การพิจารณาอย่างมีจริยธรรม และการตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของเรากับปัญญาประดิษฐ์

  การถือกำเนิดของปัญญาประดิษฐ์แม้จะได้เอื้อประโยชน์ที่เป็นไปได้มากมาย แต่ยังนำไปสู่ความท้าทายทางจริยธรรมที่ปรัชญามีความพร้อมในการจัดการ ธรรมเนียมการถกเถียงและวิเคราะห์ของปรัชญาจะสามารถช่วยนำทางเราในการชี้แจง อภิปราย และจัดการกับข้อกังวลทางจริยธรรมเหล่านี้ได้

 ในสังคมยุคปัญญาประดิษฐ์ ปรัชญายังคงมีความเกี่ยวข้องอย่างมาก คำสอนทางปรัชญา ช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้ากับนัยทางจริยธรรมของ AI ชี้นำการพัฒนาของ AI  และรับประกันว่า AI จะไปกันได้กับคุณค่าของมนุษย์ ความสามารถส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของ AI นี้ จะสนับสนุนความเข้าใจ และส่งเสริมการตัดสินที่สมดุลทำให้มีคุณค่าอย่างยิ่งในภาคพื้นที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นนี้

  ยิ่งเมื่อเราก้าวไปสู่อนาคตเท่าใด การศึกษาและการประยุกต์ใช้ความรู้ทางปรัชญาจะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญต่อไป ซึ่งช่วยให้เราไม่เพียงแต่จะเข้าใจความซับซ้อนของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI เท่านั้น แต่ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมของเราและมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น โดยเนื้อแท้แล้ว ก้าวเดินแห่งองค์ความรู้ทางปรัชญาแม้ยังห่างความสมบูรณ์ที่สุดอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นหลักประกันว่า ปรัชญาจะเป็นกัลยาณมิตรที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเมื่อเราสำรวจน่านน้ำที่ยังไม่ได้เขียนแผนที่ในอนาคต

หลักปรัชญาเป็นสิ่งที่สร้างโลกทัศน์ของผู้คน เนื่องจากส่วนใหญ่จะกำหนดพฤติกรรมและแนวทางการตัดสินใจในปัญหาเฉพาะ ปรัชญามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาระดับโลก หน้าที่หลักของปรัชญาคือการสร้างมุมมองโลกและยังมีอิทธิพลทางอ้อมต่อการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาในทางปฏิบัติทุกยุคทุกสมัย

 หนังสืออ้างอิง

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี, 2444, สมบัติผู้ดี 10 ประการ, มปท.

เจ้าพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล), 2455, สมบัติผู้ดี, มปท.

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2559, ทฤษฎีและปัญหาทางญาณวิทยา, เชียงใหม่ : ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2535, ปรัชญาไทย : ระบบคิดของคนไทย,  ใน  http://phil-re4you. blogspot.com/2017/03.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2533, แนวคิดไทย เล่ม 2. นนทบุรี : สาขาวิชาศิลปศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. 2540, วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้าจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา :   สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี.

Aristotle. 1925). Nicomachean Ethics (W.D. Ross, Trans.). Clarendon Press. Original work published prior to 1925.

Anatole – Roger Peltier, 2534, Pathamamulamuli,  Bangkok: Amarin Printing Group.  

Blackburn, S. (2008). The Oxford Dictionary of Philosophy. Oxford: Oxford University Press. p. 672.

Bunning, N., & Tsui-James, E. (Eds.). 2004, The Blackwell Companion to Philosophy. Malden, MA: Wiley-Blackwell.

Chao Phraya Phra Sadet Surendrathibodi, 2444, 10 Good Properties of the Good people, NA.

Chao Phraya Wisut Suriyasak (M.R. Pia Malakul), 2455, Noble Qualities. NA.

Chui, M., Manyika, J., & Osborne, M. (n.d.). The Future of Work in the Age of Artificial Intelligence.

Descartes, R. 1641, Meditations on First Philosophy, Cambridge: Cambridge University Press.  

Gill, C.  1996, The Philosophy of Socrates, Cambridge, UK: Cambridge University Press.  

Https://en.unesco.org /events/world-philosophy-day-0

Hume, D.  1739, A Treatise of Human Nature, Oxford: Clarendon Press.  

James, W.  1907, Pragmatism: A New Name for Some Old Ways of Thinking, Longmans, Green and Co.

Kant, I.  1781/1787, Critique of Pure Reason. Cambridge: Cambridge University Press.  

Locke, J.  1689, An Essay Concerning Human Understanding. London: T. Bassett. (Book II, Chapter I, Section 2).

McCarthy, J. 1956, Meorandum on Artificial Intelligence, Dartmouth College.     

Monroe, J. 2017, Eastern Philosophy: A Beginner's Guide, New York: Sterling Publishing.  

Phisit Kotsupho, 2016, Theories and Problems of Epistemology, Chiang Mai : Department of Philosophy & Religion, Faculty of Humanities, Chiang Mai University.

Phisit Kotsupho, 2535, Thai Philosophy : The Thinking System of Thai People,  on  http://phil-re4you.blogspot.com/2017/03.

Pisit Charoenwongsa. 2007, Thai Philosophy: The Essence and Value of Philosophy in Thai Society. Bangkok: Chulalongkorn University Press.

Sompong Sucharitkul, 2008, A History of Thai Philosophy. Bangkok: The Siam Society.

Sucharitkul, S. 1999, The Life and Works of Saen Thammayot. Bangkok: The Siam Society.

Suriya Samutthagupt and Friends, 2540, The Thinking Method of the Thai people, the ritual "Khuang Phi Fon" of "Lao Khao Chao", Nakhon Ratchasima Province. Nakhon Ratchasima : School of Social Technology Suranaree University of Technology.

Twenge, J. M. 2006, Generations at Work: Managing the Clash of Traditional and Modern Values. New York, NY: American Management Association.

Whewell, W.  1837, The History of Philosophy. London: J. W. Parker. P.2.

Weinstein, B. J.  2014,  The Millennial Mindset: Understanding, Reaching, and Teaching Generation Y,   Thousand Oaks, CA: Corwin Press.