วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

พุทธปรัชญา (Buddhist Philosophy)

 

พุทธปรัชญา  (Buddhist Philosophy)


ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

ข้าราชการบำนาญ ตำแหน่งอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 บทคัดย่อ 

               พุทธปรัชญามีจุดกำเนิดมาจากพระพุทธศาสนา ปรัชญาตะวันออกส่วนมากมีรากฐานมาจากศาสนาไม่สามารถแยกกันได้เหมือนปรัชญาตะวันตก "ปรัชญา" ที่ชาวอินเดียเข้าใจ ก็ต่างจาก "Philosophy" ที่ชาวตะวันตกใช้อยู่  ตามทัศนะชาวตะวันตก Philosophy อยู่ในระดับการแสวงหาความรู้และความจริงด้วยเหตุผล ในทัศนะชาวอินเดีย ปรัชญา คือ ตัวความรู้ที่ตกผลึกผ่านการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติได้ผลจริงมาแล้วจึงสรุปเป็นทัศนะและนับเป็นส่วนต่อยอดจากปรัชญาตะวันตกมิใช่รู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อเกิดการหลุดพ้น

              พุทธปรัชญาเป็นที่ยอมรับมากและโดดเด่นที่สุดในด้านหลักการและความสมเหตุสมผลขององค์ความรู้  เพื่อให้เห็นภาพพุทธปรัชญาชัดเจนจะสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

               1. หลีกเลี่ยงการโต้เถียงทางปรัชญา พระพุทธเจ้าไม่ใช่นักเก็งความจริง   แต่จะพยายามอธิบายหลักคำสอนอย่างมีเหตุผล คัดค้านพวกที่เชื่อถือโชคลาง แต่มีท่าทีแบบวิทยาศาสตร์ โดยย้ำที่คุณค่าความเพียรพยายาม และการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากกว่า จุดหมายของพุทธปรัชญาไม่ใช่การสนทนาโต้ตอบความคิดทางปรัชญา แต่มุ่งที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ เมื่อถูกถามปัญหาเกี่ยวกับอภิปรัชญา พระองค์จะปฏิเสธ และเงียบเฉย

               2. ไม่ใช่ทุนิยม  พุทธปรัชญาถูกกล่าวหาว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย  เนื่องจากคำสอนที่ว่า โลกเต็มไปด้วยทุกข์  หน้าที่ของมนุษย์คือการถอนตนออกจากความทุกข์   ท่าทีแบบนี้เหมือนเป็นทุนิยมในเบื้องต้น แต่ก็แสดงหนทางหลุดพ้นจากทุกข์เอาไว้ อาจกล่าวได้ว่า มีจุดเริ่มต้นเป็นแบบทุนิยม แต่จุดจบที่สุนิยม

               3. เป็นสัจนิยม  พระพุทธเจ้าวิจารณ์ความเชื่องมงายตามคัมภีร์ที่สืบทอดมาตามประเพณี เช่น คัมภีร์พระเวทเป็นต้น คำสอนเน้นที่ประสบการณ์จริงของชีวิต และไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งอะไรที่อยู่เหนือขอบเขตแห่งความพยายามและความเข้าใจของมนุษย์

4. เป็นแบบปฏิบัตินิยม พุทธปรัชญาเป็นสิ่งที่นำมาปฏิบัติได้ผลจริง ดังอริยสัจ 4 ที่ชี้ตัวปัญหาพร้อมทั้งต้นตอและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างได้ผลจริง 

                    สรุปความว่า  พุทธปรัชญาปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาอินเดียระบบเก่า ไม่ยอมรับความเชื่องมงาย  แม้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าเอง ถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามหลักเหตุผล ก็ไม่ยอมให้เชื่อ ทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ไม่ยอมรับว่าการบรรลุธรรมจะมีได้เพราะพิธีกรรมอ้อนวอน ปฏิเสธระบบวรรณะ แต่ชี้ว่าคนจะดีหรือเลวมิใช่เพราะชาติวรรณะ  แต่ดีหรือเลวเพราะการกระทำของตนเองเป็นเงื่อนไขสำคัญ  ทรงแสดงทางสายกลางเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้อง ตามลำดับ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

 

Abstract

Buddhist philosophy has its origins in Buddhism, and in this respect it is similar to most eastern philosophy in that it cannot be strictly separated from its roots, as is generally done in the west. The word Prajyais different from philosophy”. From a western perspective, philosophy is the search for knowledge and truth by purely rational means. From an eastern point of view - say Indian thought - philosophy is that knowledge which is obtained through the long process of experimentation; only knowledge that can be put into practice can rightly be called philosophical. In short, Eastern thought differs from western thought in that it is not a purely theoretical pursuit of knowledge for the sake of knowledge but an attempt to extinguish the suffering and find salvation.

Buddhist philosophy is generally considered as the most respected theory of knowledge both for reasons of its basic concepts and for its use of argumentation. In order to clarify the general traits of Buddhist philosophy we will summarize its main tenets as follows:

1.       Avoidance of philosophical debate. Lord Buddha is not mainly a searcher for truth. Still He presented his findings in a rational way and opposes those who believe in fate. In this the Lord Buddha bears some similarities to a modern western attitude in that He stresses the value of personal effort and practice. The aim of Buddhism is not only discursive debate and providing arguments for basic concepts, but rather aims at extinction of suffering. Whenever the Lord Buddha was presented with a metaphysical question, He refused to answer and kept silent.

2.       Buddhism is not a pessimistic philosophy. Buddhism is often accused of presenting a pessimistic worldview because the Lord Buddha taught that this world is full of suffering. Mans duty is to withdraw himself from this vale of tears. At first glance this appears pessimistic, but the Lord Buddha also showed a way out of this suffering. We can perhaps state that Buddhism starts from a pessimistic point of view and ends with an optimistic note.

3.       Buddhism is a realistic philosophy. The Lord Buddha attacks all kinds of superstitious beliefs in various traditional religious teachings, e.g. as in the Vedas. Instead Buddhism stresses real life experience and holds that nothing transcends human effort and understanding.

4.       Buddhism is a pragmatic philosophy. Buddha's teachings can be put into practice and yield results following the Four Noble Truths identifying obstructions and containing rules for efficient problem-solving.

Concluding we can say that Buddhist philosophy rejects traditional Indian concepts and superstitious beliefs. Even the Buddhas own teachings are subject to the same rational scrutiny and cannot be accepted on the basis of mere belief only. The Buddha explains events in a causal way. The Buddha does not believe that enlightenment or salvation is the result of rituals and refuses to uphold the societal separation of Caste as outlined in the Vedas. Instead, Buddhism holds that a persons goodness or badness does not result from his birth but from his own actions. Buddhism preaches the middle way as the correct way to develop oneself along the concepts of morality, meditation, and insight.

พุทธปรัชญา (Buddhist Philosophy)

1. นักคิดสมัยในสมัยก่อนพุทธกาล

               ในสมัยก่อนพุทธกาล นักคิดชาวอินเดียทั้งหลายได้แสวงหาความเป็นจริงสูงสุดที่เป็นฐานรองรับความมีอยู่ของชีวิต โลก และจักรวาล และพยายามทั้งทฤษฎีอธิบายแนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงนั้นๆออกมา เรียกว่า “ทรรศนะ” แต่เป็นที่รู้จักกันดีในแบบตะวันตกว่า “ปรัชญา” แนวคิดทางปรัชญาของอินเดียสมัยก่อนพุทธกาลมีหลายทรรศนะสามารถจำแนกเป็นลัทธิต่างๆได้ถึงถึง 62 ทฤษฎี [1] แต่ในภาพรวมสามารถจัดได้ 3 กลุ่มหลัก คือ

1.1 กลุ่มจารีตนิยม หรือ อนุสสาวิกา(Traditionalist)

               กลุ่มจารีตนิยมนี้มีความเชื่อว่า  ความรู้ทุกชนิดเกิดมาจากแหล่งเดียวกัน  โดยการเปิดเผยของเทพเจ้า  ความรู้เรียกว่า “เวท” (Vedas) ถูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ 3 หมู่เรียกว่า  “ไตรเวท” และได้ยึดถือว่า พระเวท เป็นคัมภีร์หลักสำคัญ มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นโองการของสวรรค์  เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่ สูงส่ง และสุดยอดของมนุษย์ การสอน  การศึกษาก็ต้องบอกและสอนให้ตรงกับสิ่งที่กล่าวในคัมภีร์พระเวท ต้องยึดตามแบบและปฏิบัติตามประเพณีธรรมเนียมเก่า  ต้องอนุรักษ์และอนุวัตรตาม ไม่มีคำโต้แย้ง ทั้งไม่ต้องการคำวิจารณ์ หรือแสวงหาเหตุผล

               กลุ่มจารีตนิยม หรือ อนุสสาวิกา บอกสอนความรู้ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากคนโบราณ เพราะของเดิมดีแล้ว เหมาะสมแล้ว

               1.2 กลุ่มเหตุผลนิยม หรือ ตักกี(Rationalist)และวิมังสี (Criticaliser)

               กลุ่มเหตุผลนิยมนี้แสวงหาความรู้ โดยการใช้เหตุผลและการตั้งข้อสมมุติฐาน  ซึ่งถือว่าเป็นการเก็งความจริง ความรู้ที่ได้มานั้น กลุ่มนี้ไม่ได้อ้างว่าเป็นความรู้ที่เกิดจากญาณหยั่งรู้พิเศษอันเกิดมาจากการบำเพ็ญเพียงทางจิตจนบรรลุ ที่เรียกว่า สัญชานะพิเศษ (Extra Sensory Knowledge) นักคิดกลุ่มนี้ ประกอบด้วยนักปรัชญาอุปนิษัทยุคแรก นักคิดลัทธิวิมัตินิยม นักคิดลัทธิสสารนิยม  นักปรัชญาสายอาชีวกะและปริพพาชกะ นักคิดกลุ่มนี้ยืนยันว่าความรู้เกิดมาจากการใช้เหตุผลของมนุษย์ล้วนๆ ไม่อ้างอำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติใดๆ มาช่วย เป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการคาดคะเนและทำนายตามหลักเหตุผลล้วนๆ

              1.3 กลุ่มประสบการณ์นิยมหรือปฎิบัตินิยม (สยเมว อภิญญา)   (Experientialist)

               กลุ่มปฏิบัตินิยมนี้กล่าวว่า  ความรู้เกิดมาจากผลแห่งการปฏิบัติที่ได้รับประสบการณ์มาด้วยตนเอง ผ่านการทดลองพิสูจน์  เป็นความรู้ที่ผ่านสัญชานะพิเศษอีกด้วย เป็นความรู้ที่แท้จริง นักคิดกลุ่มนี้  ประกอบด้วย นักปรัชญาอุปนิษัทยุคปลาย นักปรัชญาเชน เป็นต้น เรียกว่า กลุ่มรู้เองด้วยประสบการณ์และการหยั่งรู้แจ้ง

               ปรัชญาพุทธจัดอยู่ในกลุ่มที่  3 นี้ พระพุทธเจ้ายอมรับว่า  พระองค์แสวงหาความรู้จริงโดยอาศัยหลักการแห่งประสบการณ์จริงเป็นฐาน และความรู้ขั้นสูงสุดได้เกิดมาจากการค้นพบความจริงด้วยพระองค์เอง โดยการบำเพ็ญเพียรทางจิตจนเกิดญาณหยั่งรู้แจ้งขึ้นมา

               หากจะจัดสายความคิดให้แคบลงมาอีกก็จะได้นักคิดของอินเดีย 2 สาย คือ

               1. สายสมณะ ได้แก่ กลุ่มนักคิดที่เป็นนักบวช เช่น ฤาษี หรือ วรรณะพราหมณ์

               2. สายอาชีวกะ หรือ ปริพพาชกะ ได้แก่กลุ่มนักคิดที่เป็นคนธรรมดาสามัญซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ  ทั้งตั้งสำนักสอนความรู้และกลุ่มนักศึกษาที่ชอบท่องเที่ยวแสดงวาทะไปตามสถานที่ต่างๆ

               หรืออาจจัดกลุ่มตามความเชื่อเรื่องการตายแล้วเกิดก็อาจจัดได้เป็น 2 กลุ่ม [2]  คือ

               1. กลุ่มสัสสตวาทะ(Eternalism) มีความเห็นว่า ตายแล้วต้องเกิดอีกเพราะวิญญาณเป็นอมตะ

               2. กลุ่มอุจเฉทวาทะ(Annihilationism) มีความเห็นว่าตายแล้วขาดสูญ  ไม่มีวิญญาณเหลืออยู่

เป็นอมตะเพื่อการสืบต่อหลังการตาย

 2.  ประวัติศาสตร์

               พระพุทธเจ้ามีนามเดิมว่า สิทธัตถะ ประสูติที่ลุมพินี ตั้งอยู่ระหว่างนครกบิลพัสดุ์ กับเทวทหะ เมื่อ  623 ปีก่อนคริสตศักราช (ก่อนพุทธศักราช 80  ปี)  พระบิดานามว่าสุทโธทนะ มารดานามว่าพระนางมหามายา ประสูติได้ 7 วัน พระมารดาทิวงคต และอยู่ในการดูแลของพระน้าประชาบดีโคตมี  เมื่ออายุได้ 16 ปี อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพิมพา  ราชธิดานครเทวทหะ มีพระโอรส 1 องค์นามราหุล  ออกผนวช เมื่ออายุ 29 ปี เพื่อแสวงหาสัจธรรม เป็นเวลา 6 ปี จึงได้บรรลุสัมโพธิญาณ ที่โคนไม้อัสสัตถะ(Pipal) หรือไม้โพธิ์ เมื่ออายุ 35 ปี ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

               สิทธัตถะราชกุมาร สนพระทัยในการเจริญสมาธิตั้งแต่เยาว์วัย ดังปรากฏในพระราชพิธีแรกนาขวัญ จิตพระองค์เป็นสมาธิจนบรรลุขั้นปฐมฌาน ครั้นบรรลุอภิสัมโพธิญาณ  พระองค์ก็เสด็จจาริกไปตามแคว้นต่างๆ  เพื่อแสดงสัจธรรม คือ อริยสัจ 4 ตลอดระยะเวลา 45  พรรษาได้ปลดเปลื้องหมู่ชนจำนวนมหาศาลให้หลุดพ้นจากทุกข์ โดยให้ปฏิบัติตามทางที่ทรงปฏิบัติมา พระองค์เสด็จปรินิพพาน ที่สาลวโนทยาน นครกุสินารา เมื่อพระชนมายุ 80 ปี ก่อน ค.ศ. 543 ปี

               หลังปรินิพพาน 3 เดือน พระสาวกสำคัญ 3 ท่าน คือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ และพระอุบาลี  พร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวนรวม 500 รูป  ได้ทำสังคายนาคำสั่งสอนให้เป็นหมวดหมู่ครั้งแรก  หลังจากนั้นใน พ.ศ. 100  พระสาวกนำโดยพระยสกากันทบุตรได้ทำสังคายนาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสะสางข้อปฏิบัติสงฆ์ที่ผิดพระวินัย  ต่อมา ในปีพ.ศ. 236 พระสาวกนำโดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้ทำสังคายนาเป็นครั้งที่ 3 ที่นครปาฏลีบุตร มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์  ได้จัดหมู่คำสั่งสอนได้ 3 หมวด เรียกว่า ไตรปิฎก มีพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 3 นี้เอง พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระสมณฑูตรวม 9 สาย เพื่อออกไปเผยแผ่คำสอนยังดินแดนต่างๆทั้งในและนอกประเทศอินเดีย

 3. การเกิดนิกายและสำนักทางปรัชญา

               ถึงแม้จะมีการทำสังคายนาคำสั่งสอนจนถือว่าเป็นที่ยุติแล้วก็ตาม แต่ยังมีสาวกบางกลุ่มได้พยายามตีความคำสอนนั้นตามอำเภอใจของตนและดำเนินชีวิตตามที่ตนเองเห็นชอบอีกด้วย ทำให้เกิดการแตกในหมู่สงฆ์เป็น 2 นิกาย ครั้งแรก  หลังสังคายนาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 100 คือ นิกายสถวีระ(เถรวาท)  และนิกายมหาสังฆิกะ(มหายาน)  และกาลต่อมาต่างกรรมต่างวาระ ในแต่ละนิกายก็ได้แตกย่อยออกเป็นนิกายต่างๆ อีกมากมาย  ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้ 2 ฝ่ายใหญ่ ๆ คือ

1.       ฝ่ายหีนยาน เป็น กลุ่มที่ยึดคัมภีร์ แตกย่อยออกเป็นสำนักไวภาษิกะ และ     สำนักเสาตรันติกะ

2.       ฝ่ายมหายานเป็นกลุ่มที่ชอบเสรีภาพ แตกย่อยออกเป็นสำนักโยคาจาระหรือวิญญาณวาทะ        และสำนักมาธยมิกะ หรือ ศูนยวาทะ

 4. ลักษณะของพุทธปรัชญา

               ถ้าจะถามว่า ในปรัชญาอินเดียนั้น  ปรัชญาสำนักใดมีชื่อเสียงเรืองนามเป็นที่รู้จักของมหาชนที่อยู่นอกประเทศอินเดียมากที่สุด ? คำตอบก็คือ "พุทธปรัชญา" นั่นเอง คำตอบนี้ไม่ได้กล่าวเลื่อนลอย ควรจะพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ  รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ของสำนักปรัชญาในยุคพุทธกาลประกอบด้วย  เพราะปรัชญาทุกสำนัก ต่างเป็นดุจกระจกส่องสะท้อนมุมมองทางสังคม วัฒนธรรมของคนในยุคนั้นๆออกมา ดังหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฏก  พบว่าสมัยก่อนพุทธกาล  พวกนักคิดต่างคิดเรื่องวิญญาณ  เรื่องโลกนี้ โลกหน้า เรื่องบาปบุญ และเรื่องโมกษธรรม เป็นต้น

               ในทางการเมือง  อินเดียแบ่งการปกครองออกเป็นรัฐ(แคว้น)ต่างๆ ถึง 16  รัฐใหญ่ ๆ และ 5 รัฐเล็กๆ ในแต่ละรัฐก็จะมีภาษาพูด และระบบการปกครองเป็นแบบเฉพาะของตน

               ในทางปรัชญา  ในยุคแรก แนวคิดยังไม่จัดเป็นระบบ เป็นสำนักชัดเจนนัก  คัมภีร์พระเวทถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์แห่งสติปัญญาของคน และมีความเห็นขัดแย้งกันในทุกปัญหา

               ในทางจริยธรรม เหตุผลมีความสำคัญมากว่าการปฏิบัติ แต่ก็วางบนฐานศาสนา และวางบนฐานแห่งเทพเจ้า

               ในทางศาสนา เป็นเรื่องของการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์มากกว่า การรวมกับพระเจ้า

               ปรัชญา เป็นเรื่องของการฝึกคิดทางจิต หรือเป็นการเล่นลิ้น

               สังคมในยุคนั้น มนุษย์ขาดความเพียรพยายามและความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง  ทุกสถานที่จะมีแต่การเชื่อถือโชคลาง การโต้เถียงทางอภิปรัชญาที่ไร้ประโยชน์ และการปฏิบัติที่ไม่ชอบ

 พระพุทธเจ้านักปฎิวัติสังคม

               พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วจึงได้ปฎิวัติต่อต้านท่าทีดังที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงศาสนาที่มีเหตุผลสมบูรณ์ จริยธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงวางหลักง่ายๆ ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์เอาไว้ [3]  ซึ่งพอจะประมวลลักษณะเด่นๆของพุทธปรัชญาได้ดังต่อไปนี้

               4.1 หลีกเลี่ยงที่จะถกเถียงโต้แย้งทางปรัชญา(Aversion of Discussion)

               พระพุทธเจ้าไม่ใช่นักเก็งความจริง   แต่จะพยายามอธิบายหลักคำสอนของพระองค์อย่างมีเหตุผล  โดยปกติจะหลีกเว้นการอธิบายที่ยืดยาว  ในลักษณะเช่นนี้พระองค์มักจะคัดค้านพวกที่ชอบการสนทนาโต้แย้ง  ในเรื่องการถือโชคลาง   พระองค์จะมีท่าทีใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยย้ำที่คุณค่าแห่งความเพียรพยายาม และคุณค่าของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากกว่า

               ศาสนาและจริยธรรมของพุทธ เน้นที่การเชื่อและให้พึ่งตนเอง คำสอนเน้นที่การวางหลักฐานอย่างหยั่งลึกในเรื่องการวิเคราะห์อย่างถึงแก่น(วิภัชชวาที) และประสบการณ์ทางการปฏิบัติอย่างยิ่ง มากกว่าที่จะมามัวโต้เถียงกันทางอภิปรัชญาเป็นสิ่งไร้สาระและเสียเวลา

จุดหมายของพุทธไม่ใช่แต่การสนทนาโต้ตอบหาเหตุผลทางความคิดทางปรัชญา แต่มุ่งที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ เมื่อถูกถามปัญหาเกี่ยวกับอภิปรัชญา พระองค์จะปฏิเสธไม่ตอบเงียบเฉย นิ่งเสีย และบอกว่าไม่ควรถาม การนิ่งไม่ยอมตอบ ไม่ใช่เป็นความโง่ หรือเป็นเพราะความไม่รู้ แต่ถือว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่งต่างหาก เพราะแม้ตอบแล้วก็จะยังไม่จบอยู่ดี ปัญหาทาง  อภิปรัชญาที่นักคิดสมัยนั้นชอบโต้แย้งกันโดยถามหาที่สุดโลก เป็นต้น  แต่พระพุทธเจ้าไม่ตอบเรียกว่า อัพยากตปัญหา 10 อย่าง  คือ [4]

                              1. โลกเที่ยง

                              2. โลกไม่เที่ยง         

                               3. โลกมีที่สุด

                              4. โลกไม่มีที่สุด

                              5. สรีระ(ร่างกาย)และชีพ(วิญญาณ)เป็นอันเดียวกัน

                               6. สรีระ(ร่างกาย)และชีพ(วิญญาณ)เป็นคนละอย่างกัน

                              7. ตถาคตจะเกิดใหม่อีกเมื่อตายไป

                              8. ตถาคตจะไม่เกิดใหม่อีกเมื่อตายไป

                               9. ตถาคตทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป     

                              10. ตถาคตไม่ใช่ทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป

               ข้อสังเกต

               ข้อ 1 - 4 โต้เถียงในเรื่องเกี่ยวกับโลก หรือ วัตถุ (รูปธรรม)

                              ข้อ 5 - 6 โต้เถียงในเรื่องสภาวะของชีวะ(วิญญาณ) ที่เรียกว่า อาตมัน (นามธรรม)

                              ข้อ 7 - 10 โต้เถียงในเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิด การเกิดใหม่

เหตุผลที่ไม่ตอบปัญหาทางอภิปรัชญา

               พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัย การโต้เถียงปัญหาทางอภิปรัชญา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

                             1.ไม่เป็นประโยชน์ คนพูดโต้เถียงย่อมเป็นคนโง่เขลา กว่าจะได้คำตอบก็ตายก่อนทั้งนักคิดชาวตะวันตก  และนักคิดชาวตะวันออกได้พยายามมาตั้งหลายพันปีจนถึงทุกวันนี้ก็ยังตอบไม่ถูกสักคน

                              2. ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ คิดไปก็เสียเวลาเปล่า

                              3. ไม่ใช่เรื่องรีบด่วน  มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่าที่จำต้องรีบคิดแก้ไข คือทุกคนมีทุกข์ต้องรีบดับทุกข์ก่อน

                              4. ไม่ใช่เพราะพระองค์ไม่รู้คำตอบ

               ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าครั้นถูกถาม พระองค์จะนิ่งเฉยเสีย หรือปฏิเสธตรงๆ หรือให้ยกคำถามไว้ก่อนว่ายังไม่สมควรตอบ การไม่ตอบเป็นความฉลาด ถ้าตอบ"ใช่" ก็ต้องตกอยู่ในข่ายของสัสสตวาทะ (ความเห็นว่า วิญญาณเที่ยง) ถ้าตอบ "ไม่ใช่" ก็จะอยู่ในข่าย อุจเฉทวาทะ (ความเห็นว่าวิญญาณขาดสูญ) ผู้ใดมีศักยภาพสามารถรู้อดีต และอนาคตไม่มีขีดจำกัดจะรู้ และตอบปัญหานี้ได้ดี

 ท่าทีในการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า 4 วิธี  [5]

               เมื่อมีปัญหาถามมา พระพุทธเจ้ามีวิธีจัดการกับคำถาม  สามารถจำแนกวิธีตอบของพระพุทธเจ้าได้ 4 แบบ คือ

                              1. ตอบตรงๆ (ใช่ หรือไม่ใช่) เรียกว่า  เอกังสพยากรณ์

                              2. ตอบแบบวิเคราะห์(แยกตอบ) เรียกว่า  วิภัชชพยากรณ์

                              3. ตอบแบบย้อนถามว่าหมายถึงอะไร เรียกว่า  ปฏิปุจฉาพยากรณ์

                              4. บางคราวปัญหาต้องยกเอาไว้ก่อน เรียกว่า  ฐปนียพยากรณ์

               จากการปฏิบัติจริง คำตอบต่ออัพยากตปัญหาเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์  และจากฐานความคิดทางปรัชญาเอง นักปรัชญาก็ยังหาไม่พบคำตอบอันสุดท้ายเป็นที่ยอมรับกันได้โดยทั่วไป  เพราะคิดแล้วไม่รู้จักจบสิ้นดังกล่าว ดังนั้น พระองค์ จึงไม่ตอบปัญหานี้

                4.2 มีลักษณะทุทัศนนิยม(Pessimism)

               ความคิดหลักของพุทธปรัชญาถูกกล่าวหาว่าเป็นทุนิยม  คือมองโลกในแง่ร้าย  เนื่องจากพระพุทธเจ้าสอนว่า โลกเต็มไปด้วยความทุกข์  หน้าที่ของมนุษย์ต้องถอนตนออกจากโลกแห่งความทุกข์ เป็นความโง่เขลาอย่างยิ่งที่จะคาดหวังความสนุกเพลิดเพลินในโลกนี้  มองอย่างนี้เหมือนจะเป็นทุนิยม แต่พุทธปรัชญาก็แสดงหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ ให้บรรลุถึงสุขได้ อาจกล่าวได้ว่ามีจุดเริ่มต้นเป็นแบบทุนิยม แต่จุดสุดท้ายจบลงที่ความเป็นสุนิยม คือการมองโลกในแง่ดีอย่างยิ่ง

               4.3 มีลักษณะเป็นสัจนิยม(Realism)

               พระพุทธเจ้าวิจารณ์ความเชื่องมงายในคำสอนในคัมภีร์ที่สืบทอดมาตามประเพณี เช่น คัมภีร์พระเวทเป็นต้น พระองค์ทรงปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทที่ประทานมาจากเบื้องบน  แต่ทรงเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม จึงไม่ยอมรับอำนาจบงการของเทพเจ้าผู้สูงสุด    พระองค์เน้นคำสอนที่ประสบการณ์จริงของชีวิต และไม่ยอมรับว่าจะมีอะไรอื่นๆที่อยู่เหนือขอบเขตแห่งความพยายามและความเข้าใจของมนุษย์เอง

4.4 เป็นแบบปฏิบัตินิยม(Pragmatism)

               คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่นำมาปฏิบัติได้ผลจริง  จากความคิดแบบปฏิบัตินิยม พระองค์สอนเรื่อง อริยสัจ 4 ที่ชี้ตัวปัญหาพร้อมทั้งต้นตอของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างได้ผลจริง คือการไม่ยึดติด และทำลายตัณหา ความสงบทางจิต ความรู้และปัญญาจึงจะเกิด  และนั่นคือการบรรลุนิพพาน   พระพุทธเจ้าไม่ใช่พวก อไญยยนิยม (Agnostic) ที่กล่าวว่าไม่มีใครรู้จริง ไม่อย่างนั้น พระองค์จะไม่เรียกพระองค์ว่า "พุทธะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่นแน่นอน

               คำสั่งสอนที่เป็นแบบปฏิบัตินิยมอย่างชัดแจ้งเห็นได้จากคำสอนเรื่อง ใบไม้กำมือเดียว ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่ ป่าประดู่  และทรงหยิบใบไม้มาหนึ่งกำมือพร้อมทรงแสดงให้พระสาวกเห็น และตรัสถามว่า ใบไม้ในพระหัตถ์กับใบไม้ในป่า อย่างไหนมีมากกว่ากัน  สาวกตอบว่า ใบไม้ในป่ามีมากกว่าในกำพระหัตถ์นักต่อนัก พระองค์จึงเปรียบให้เห็นว่า  คำสอนของพระองค์ก็มีมากนักเหมือนใบไม้ในป่า   เฉพาะแต่สิ่งที่นำมาบอกมาสอนเพียงแค่ใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงแสดงธรรมเท่าที่จำเป็นจริงๆ ส่วนคำสอนที่เหลือไม่ได้นำมาแสดง เพราะไม่ช่วยให้บรรลุถึงความสงบ ความรู้และนิพพาน

 5. หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

              5.1 มัชฌิมาปฏิปทา

               พระพุทธเจ้าอุบัติในสังคมอินเดียที่มีความคิด และความประพฤติหลากหลาย  บางลัทธิคือเคร่งสุดโต่งอย่างที่สุดซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย [6]  คือ

              1. ลัทธิกามสุขัลสิกานุโยค  ถือหย่อนยานจัด สุดโต่งด้านการแสวงหาความเพลิดเพลินและความสุขทุกประการ ไม่คำนึงถึงศีลธรรมและจริยธรรมอันใด ทั้งยังกล่าวหาว่า  "ศาสนาและจริยธรรม"   เป็นเรื่องของการหลอกลวง เป็นอุบายของคนฉลาดแกมโกง ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ทำนาบนหลังของคนที่โง่กว่า ความสุขต้องมีที่นี่และเดี๋ยวนี้ ต้องแสวงหาเงินมาเพื่อแสวงหาความสุขทุกรูปแบบ และถือว่าความสุขเป็นสุดยอดของชีวิต เป็นจุดหมายสุดท้าย

2. ลัทธิอัตตกิลมถานุโยค ถือ เคร่งจัด การบำเพ็ญเพียรตบะก็เคร่งจนแทบจะกระดิกตัวไม่ได้ ที่เรียกว่า ลัทธิทรมานตน มีการอดอาหาร  ทรมานร่างกาย การไม่นุ่งผ้าตลอดชีวิต อย่างนิกายทิคัมพรของศาสนาเชน หรือ การกินอุจจาระ อย่าง ชัมพุกาชีวก

เมื่อพระพุทธเจ้าได้มองเห็นความคิดตกขอบของทั้ง 2 ฝ่าย เช่นนี้ ก็พิจารณาเห็นว่า  เป็นความเสียหาย และเสียเวลาเปล่า  ซ้ายตกขอบและขวาตกขอบก็เป็นอันตรายด้วยกันทั้งคู่ จึงได้แสวงหาสายกลางเป็นทางเลือกใหม่ที่เหมาะกว่า  ปลอดภัยกว่า ทางที่พระองค์ปฏิบัติเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายใหม่ ทางเลือกใหม่ ให้ความหวังใหม่ สามารถดับทุกข์ได้จริง

 5.2  ค้นพบกฎสากลในธรรมชาติ

 แม้ว่าคำสอนเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทาจะเป็นทางเลือกใหม่เว้นทางสุดโต่งสองด้าน แต่สิ่งที่พระองค์ค้นพบกลับเป็นของเก่า เป็นของสากล มีอยู่ตลอดกาล คือ กฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า "ทรงค้นพบสิ่งใหม่" นอกเหนือไปจากกฎธรรมชาติหรือหลักธรรมชาติแต่อย่างใด และมิใช่เป็นธรรมเก่า (พระเวท) อย่างที่กลุ่มนักปรัชญาสายพระเวทอ้างเอาไว้ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

"ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดมาหรือไม่เกิดมารู้ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ (กฎธรรมชาติ) ก็เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ คือ      สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง  สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ และ ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารสาระให้ยึดถือ" [7]

               5.3 พุทธปรัชญาปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาอินเดียระบบเก่า

                    5.3.1  ไม่ยอมรับความเชื่อแบบงมงายตามประเพณีที่ยึดถือความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทว่าเป็นประกาศิตเทพเจ้า นอกจากจะไม่ยอมให้เชื่ออย่างงมงายแล้ว แม้กับคำสอนของพระพุทธองค์ ถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามหลักเหตุผลแล้ว ก็ไม่ยอมให้เชื่อ  ดังที่ตรัสกับชาวกาลามะในหลักความเชื่อ 10 ข้อ

                    5.3.2 ไม่ยอมรับความเชื่อว่า พระเจ้า(พรหม) เป็นสาเหตุแห่งการสร้างโลก  และสรรพ สิ่ง  แต่บอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท  หรือสรรพสิ่ง ต้องเกิดเพราะมีปัจจัยอาศัยกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งไม่ห่วงโซ่ใดบอกว่า มี  “พระเจ้า”  อยู่เลย

                    5.3.3  ไม่รับว่าการบรรลุธรรมจะมีได้เพราะพิธีกรรมภายนอก และการประกอบพลีกรรมเหมือนที่ชาวฮินดูยกไว้เหนือสิ่งอื่นใด เช่นการล้างบาปต้องไปอาบที่แม่น้ำคงคา เท่านั้น

                    5.3.4  ไม่ยอมรับระบบวรรณะที่แบ่งชั้นมนุษย์ออกมาตามคัมภีร์พระเวท แต่บอกว่าคนจะดีหรือเลวมิใช่เพราะชาติตระกูล  แต่เพราะการกระทำหรือพฤติกรรมของตนเองต่างหากเป็นเงื่อนไขสำคัญ [8]

                    5.3.5  ไม่ยอมรับทางปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 ทางดังกล่าวแล้ว  ทั้งยังบอกให้หลีกเว้นให้ไกล ดังที่ทรงแสงปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ และแสดงทางสายกลางซึ่งถือว่า เป็นทางแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกต้อง ตามลำดับ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

               ตลอดเวลา 45 พรรษา ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา คำสอนของพระองค์ มีมากมาย แต่สามารถจัดกลุ่มได้ 3 หมวด คือ หมวดวินัย ว่าด้วยพระบัญญัติ หมวดพระสูตร ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ และ หมวดอภิธรรม  ว่าด้วยหลักปรมัตถธรรม หลักคำสอน 3 หมวด เรียกว่า ไตรปิฏก หมายถึง คัมภีร์สำคัญ 3 คัมภีร์ หากสรุปเป็นหัวใจที่สำคัญๆ ก็ประกอบไปด้วยมุมมอง เกี่ยวกับชีวิตและโลก ความจริงเกี่ยวกับชีวิต หลักปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิต  และแนวคำสอนพุทธปรัชญาปรากฏว่า เป็นที่ยอมรับของนักคิดแนววิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 19 อีกด้วย [9] พุทธปรัชญาประกอบด้วยหลักธรรมสำคัญๆ แบ่งประเด็นได้ดังต่อไปนี้

                5.4 ไตรลักษณะ  (Three Characteristics) [10]

                เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับชีวิตสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลกนี้ และอยู่เหนือโลก  ว่ามีลักษณะที่ต้องเป็นไป เหมือนกันทุกอย่าง ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่สิ่งเดียว นั่นคือ

                            5.4.1  สิ่งที่ประกอบกันเข้าเป็นสังขาร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่มีความมั่นคง ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่แตกสลาย คงอยู่เป็นอมตะ และยังมองละเอียดถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกเสี้ยววินาที ที่เรียกว่า “ขณิกวาทะ” คือทุกอย่างคงอยู่ชั่วขณะที่เร็วมาก  ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ที่เรียกภาษาทางพุทธว่า “อนิจจตา”

                             5.4.2 สิ่งทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้ว ต้องเป็นทุกข์ ต้องเจ็บปวด หรือแตกสลาย คงสภาพเดิมไม่ได้ ที่เรียกว่า “ทุกขตา”

                            5.4.3 สรรพสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นแท้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  ไม่เป็นไปตาม อำนาจใคร  บังคับไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีใคร ๆ ทั้งนั้น นอกจากกฎธรรมดา หรือ กฎธรรมชาติที่ทำงานตามเหตุปัจจัย เพราะไม่มีตัวตน ว่างเปล่าจากตัวตนที่ถาวร เรียกว่า “อนัตตตา”

                5.5 อริยสัจ 4 (The Four Noble Turth) [11]

                  เจ้าชายสิทธัตถะขณะประพาสพระราชอุทยาน ได้ทรงทอดพระเนตรเทวทูต 4 (สัญลักษณ์ของความทุกข์ และทางออกจากทุกข์) คือ คนแก่  คนเจ็บป่วย  ซากศพคนตาย และนักบวช(สมณะ) ภาพความทุกข์ 3 ประการ ทำให้พระองค์ทรงหวั่นไหวและเป็นทุกข์ใจยิ่ง เมื่อได้เห็นนักบวช ผู้แสวงหาความสงบทางจิต ในการประพาสครั้งสุดท้าย จึงรำพึงว่า ทางแก้ปัญหา คือ การบวชแสวงหาสัจธรรม พระองค์จึงออกผนวชเพื่อค้นพบสาเหตุของความทุกข์ และหนทางปฏิบัติเพื่อขจัดทุกข์ ปฏิบัติจนค้นพบความจริงอันประเสริฐ ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ประการ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

                อริยสัจ เป็นความจริงเกี่ยวกับชีวิต และสรรพสิ่ง ที่ต้องประสบ และเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นความจริงแท้  มีทั้งด้านเกิดทุกข์ และความดับทุกข์  หลักอริยสัจ เป็นการให้มองเห็นภัยของชีวิต และมองเห็นทางปลอดภัย พร้อมแนะวิธีการหลีกภัยเอาไว้ด้วย ประกอบด้วย

5.5.1 ความทุกข์  ชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังพระองค์ตรัสว่า

                               “ความเกิด เป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก การคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความเสียใจ ความตรอมใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่ตนรักก็เป็นทุกข์ ประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่ตนเกลียดก็เป็นทุกข์ ประสงค์สิ่งใด ไม่ได้สิ่งที่หวังก็เป็นทุกข์ โดยสรุปคือ สังขารที่ตนยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นทุกข์” [12]

                              “มนุษย์หลั่งน้ำตาเพราะความเสียใจมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร”

                              “มนุษย์ไม่สามารถแสวงหาสถานที่ซึ่งความตายไม่เข้าไปถึงได้เลย”

                              “มนุษย์ถูกลูกศรคือความทุกข์เสียบแทงอยู่ตลอดเวลา”

                              “ชีวิตเป็นความทุกข์ เพราะเกิดมาต้องเป็นทุกข์”

5.5.2  สมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อชีวิตเป็นทุกข์  พระพุทธเจ้าแสวงหาสาเหตุของทุกข์ ทรงค้นพบว่า ตัณหา คือความอยากเกิดเป็นนั่นเป็นนี่  ความอยากที่ประกอบด้วยความพอใจด้วยความใคร่ในสิ่งต่างๆ เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ ตัณหามี 3 คือ กามตัณหา  ปรารถนาความเพลิดเพลินทางกาม ภวตัณหา ปรารถนาความสนุกเพลิดเพลินในชีวิต(การเกิด การเป็น) และวิภวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

                              ความทุกข์จึงเกิดเพราะการยึดติดเนื่องจากอวิชชา สาเหตุแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างละเอียดในหลักปฏิจจสมุปบาท 12 ถือว่า เป็นอริยสัจข้อที่ 2 ด้วย

               5.5.3 นิโรธ การดับทุกข์ เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา  ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การดับทุกข์ คือ การดับความอยาก การตัดเยื่อใยในความรัก ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ สลัดออก สิ้นตัณหาโดยสิ้นเชิง ได้แก่  นิพพาน  อันเป็นสภาวะที่ทำลายความอยากในกาม ความสงสัย และความไม่รู้ จึงเป็นความสงบอย่างยิ่ง ดุจน้ำสมุทรที่ลึกปราศจากคลื่น อิสระอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง สามารถบรรลุได้ในชาตินี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ถ้าปฏิบัติตามรรค 8

5.5.4 มรรค ทางปฏิบัติในการออกจากทุกข์ เป็นการแสดงให้เห็นขั้นตอน หรือวิธีการออกจากความทุกข์  พระองค์เรียกว่า ทางสายกลาง มี 8 องค์ประกอบ  ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามมรรค 8 ก็สามารถถอนตนจากทุกข์ได้ นี่คือตัวแก่นสารที่เป็นหลักปฏิบัติของศาสนาพุทธ เพราะพระองค์ไม่ได้ต้องการจะสอนแต่เพียงภาคทฤษฎี ต้องให้ลงมือในภาคปฏิบัติการจริงๆจึงจะขจัดทุกข์ได้ องค์ประกอบของมรรค 8 คือ

                              1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะความไม่รู้ก่อให้เกิดความเห็นผิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกและอัตตา มนุษย์เข้าใจว่า ชีวิตที่เต็มไปด้วยทุกข์ มีอัตตายืนพื้นที่เป็นอมตะ เวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จักสิ้นสุด การสลัดความเห็นผิด  และเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ เรียกว่าเกิดสัมมาทิฏฐิ

                              2.  สัมมาสังกัปปะ   คิดถูกต้องเพื่อการขจัดรากเหง้าแห่งความคิดอกุศลทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะต้องมาคู่กับสัมมาทิฏฐิ

                              3. สัมมาวาจา มนุษย์ต้องควบคุมวาจาของตน ไม่กล่าวเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย และวิพากษ์วิจารณ์เพ้อเจ้อไร้ประโยชน์  กล่าวแต่คำสัตย์คำจริงแม้เพียงคำเดียวแต่ทำให้จิตใจสงบ ดีกว่า คำพูดเพ้อเจ้อไร้ความหมายเป็นล้านๆคำ

                              4. สัมมากัมมันตะ หมายถึงการประพฤติที่ถูกต้อง มุ่งเอาการรักษากริยาทางกาย ด้วยการไม่ทำร้าย หรือทำลายชีวิตบุคคลอื่น สัตว์อื่น ไม่ลักขโมยฉ้อโกง  ไม่ละเมิดทางเพศ เป็นต้น สรุปก็คือ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมจรรยาและหน้าที่ที่ตนควรประพฤติเพื่อความสงบของตนและสังคม

                              5. สัมมาอาชีวะ หมายถึง การประกอบอาชีพในทางสุจริต  พระพุทธเจ้ามุ่งเอาการเว้นจากการค้าอาวุธ  ค้าขายมนุษย์ ค้าขายยาพิษ ค้าขายสัตว์ ค้าขายเนื้อ ค้าขายสุรายาเมาเป็นต้น  ที่เรียกว่า มิจฉาวาณิชชะ เป็นความชั่วที่บุคคลจะแสวงหาทรัพย์ด้วยการข่มขู่ กรรโชก  กินสินบน โกง เจ้าเล่ห์ ต้มตุ๋น เป็นต้น

                              6. สัมมาวายามะ หมายถึง ความพยายามที่จะหยุดความคิดที่ชั่ว ความรู้สึกที่ชั่ว เป็นความ พยายามที่จะควบคุมตนเอง มีวินัยด้วยตนเอง หยุดอกุศลวิตก ปลุกเร้ากุศลวิตก ขั้นตอนพยายามที่ถูกต้อง คือ จิตจดจ่อในความคิดที่เป็นกุศลบางอย่าง  ศึกษาผลของการกระทำที่เกิดจากจิตอกุศล   วิเคราะห์สาเหตุของความคิดอกุศลและหยุดกระทำ  ควบคุมใจด้วยความพยายามทางกาย และ สมาทานรักษาธรรม

                              7. สัมมาสติ หมายถึงการรู้สึกตัวเสมอ การมีสำนึกในสภาวะที่จิตใจรักษารูปแบบเดิมของตน  ถ้าใจมีสติกำกับ อกุศลธรรมจะเกิดมาไม่ได้  การตั้งสติที่ถูกต้องให้กำหนดสติในอารมณ์ 4 ประเภท คือ กำหนดการเคลื่อนไหวของกายในอิริยาบถต่างๆ  กำหนดที่ความรู้สึกเวทนา เจ็บ สุข ทุกข์ หรือไม่สุขและทุกข์ กำหนดความคิดนึกในจิตของตน คิดดีคิดไม่ดี ต้องมีสติกำกับรู้ และ กำหนดที่ธรรมารมณ์

                              8. สัมมาสมาธิ หมายถึงการที่จิตสงบมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านพร้อมที่จะพิจารณาสัจภาวะ หากจิตไม่สงบนิ่งก็เหมือนน้ำที่เป็นคลื่นไหวสั่นพลิ้ว ไม่สามารถจะส่องเห็นเงาตัวเองอย่างชัดเจนได้

                              มรรค  8 สามารถเรียกอีอย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา หรือหลักปฏิบัติ 3  ชั้นที่เอื้อกัน คือ ศีลสิกขา ข้ออบรมทางศีล หมายเอาข้อที่ 3 สัมมาวาจา ข้อที่ 4 สัมมากัมมันตะ และข้อที่  5 สัมมาอาชีวะ จิตสิกขา หมายเอาข้ออบรมทางจิตให้เกิดสภาพบริสุทธิ์ นิ่ง รวมเอาข้อที่ 6 สัมมาวายามะ  ข้อที่ 7 สัมมาสติ และข้อที่ 8 สัมมาสมาธิ ประการสุดท้าย ปัญญาสิกขา  ข้ออบรมทางความรอบรู้ หมายเอาข้อที่ 1 สัมมาทิฏฐิ ข้อที่ 2 สัมมาสังกัปปะ

 5.6 ปฏิจจสมุปบาท หรือ ทฤษฏีสาเหตุสัมพันธ์ (Dependent Origination)[13]

               พระพุทธปรัชญาแสดงหลักของการเกิดขึ้นเพราะอาศัยกันและกันเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เน้นถึงทฤษฎีสาเหตุและผล การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ เกิดมีขึ้นได้ด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ เป็นการอธิบายสาเหตุของทุกข์ในระดับของจิตวิทยา และกายภาค ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักสำคัญที่คำสอนเรื่องต่างๆได้อาศัยเป็นฐานการอธิบาย เช่น กฎแห่งกรรม  ทฤษฎีขณิกวาทะ ทฤษฎีอนัตตา เป็นต้น เพื่อให้เป็นที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ คำสอนที่บอกว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมี อีกสิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุ หรือ พอเกิดเหตุอันหนึ่ง ย่อมมีผลตามมาแน่นอน

               ปฎิจจสมุปบาท เป็นการอธิบายเชิงปัจจัยสัมพันธ์ด้วย เป็นความจริงสูงสุดด้วย นั่นคือ ในแง่ปัจจัยสัมพันธ์พุทธ  อธิบายการเกิดของโลก  แต่ในแง่ความจริงสูงสุด   พุทธอธิบายความหลุดพ้น เพราะตัดห่วงของปัจจัยสัมพันธ์เป็นทางสายกลางระหว่าง สัสสตวาทะ และอุจเฉทวาทะดังกล่าวแล้ว

               หลักของปฏิจจสมุปบาท มี 4 ขั้นตอน [14]  คือ

                             1. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมีได้

                             2. เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมเกิดตามมา

                             3. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นย่อมไม่มีตามด้วย

                             4. เมื่อสิ่งนี้ดับลง สิ่งนั้นย่อมดับตามด้วย

หัวข้อปฏิจจสมุปบาท 12

                             อวิชชา            เป็นปัจจัยให้เกิด     สังขาร

               สังขาร            เป็นปัจจัยให้เกิด    วิญญาณ

                              วิญญาณ         เป็นปัจจัยให้เกิด  นามรูป

               นามรูป           เป็นปัจจัยให้เกิด  สฬายตนะ

                              สฬายตนะ      เป็นปัจจัยให้เกิด  ผัสสะ

               ผัสสะ             เป็นปัจจัยให้เกิด  เวทนา

               เวทนา            เป็นปัจจัยให้เกิด  ตัณหา

                              ตัณหา             เป็นปัจจัยให้เกิด  อุปาทาน

               อุปทาน          เป็นปัจจัยให้เกิด  ภพ

                              ภพ                 เป็นปัจจัยให้เกิด  ชาติ (การเกิด)

                              ชาติ                เป็นปัจจัยให้เกิด  ชรา มรณะโลก ปริเทวะ อุปายาสะ

                นี้คือห่วงโซ่แห่งปัจจัยของการเกิด  ส่วนห่วงโซ่แห่งปัจจัยของการดับ ก็ไล่การดับลงเรื่อยๆเช่น เพราะ  อวิชชาดับ สังขารจึงดับ  เพราะ...ดับ ชราจึงดับ นี่คือการดับแห่งทุกข์ จะเห็นว่า ในห่วงโซ่แต่ละห่วงโซ่ ไม่มีสาเหตุอื่นๆที่ เรียกว่า พระเจ้าอยู่เลย เมื่อความทุกข์ดับไป เป็นการบรรลุนิพพาน ก็ไม่มีพระเจ้ามาช่วย  ทั้งการเสวยผลกรรมดีหรือชั่วก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละบุคคล

 5.7 ชีวิตประกอบด้วยเบญจขันธ์ (Five Aggregates)  [15]

               พุทธปรัชญา มองเห็นชีวิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนประกอบกันเข้าด้วยกัน หรือเป็นเพียงการปรุงแต่ง(สังขาร) ของส่วนประกอบ 5 ส่วน ที่เรียกว่า ขันธ์ ซึ่งแปลว่า ส่วน หรือ กอง ชีวิตสามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบได้ ดังนี้   

                             5.7.1 รูปขันธ์     : ส่วนของสิ่งที่เป็นวัตถุ มี 28 อย่าง ธาตุ 4 และธาตุอาศัยอีก 24

                             5.7.2 เวทนาขันธ์  : ส่วนแห่งความรู้สึก มีสุข, ทุกข์ โทมนัส โสมนัส และอุเบกขา

                             5.7.3 สัญญาขันธ์   : ส่วนนี้เป็นการกำหนดหมาย กำหนดได้ หมายรู้อารมณ์  เช่น  สี และลักษณะ คุณภาพต่าง ๆ ของอารมณ์

                             5.7.4 สังขารขันธ์  : ส่วนที่เป็นการปรุงแต่งภายในให้จิตมีเจตนาเป็นตัวนำสำคัญ

                             5.7.5 วิญญาณขันธ์  : ส่วนที่เป็นการรู้แจ้ง อารมณ์ทางอายตนะ 6 มีการรู้สึกทางตา (การเห็น) เป็นต้น

               เมื่อแบ่งส่วนประกอบชีวิตออกเป็นขันธ์ต่างๆเช่นนี้ ก็ยังไม่พบเห็นส่วนที่เรียกว่า “วิญญาณอมตะ” หรือ "อาตมัน" ดังที่ศาสนาพราหมณ์กล่าวอ้าง ในพระพุทธศาสนา ถือว่าไม่มี “อาตมัน” ทำหน้าที่ควบคุมกายและใจอีกทอดหนึ่ง

5.8 กฎแห่งกรรม (Doctrine of Karma)

               คำสอนเรื่องกรรมของพุทธปรัชญา อาศัยคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นฐานสำคัญ  ตามคำสอนหลัก 2 ประการนี้ แสดงให้เห็นกฎแห่งกรรมว่า ชีวิตในปัจจุบัน  เป็นผล (วิบาก) ของการกระทำแห่งชีวิตในกาลอดีต   และชีวิตในอนาคต  ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำในชีวิตปัจจุบัน

               การกระทำด้วยเจตนา (ความตั้งใจ) ทางกาย วาจา ใจ จึงก่อให้เกิดผลทั้งดี ชั่ว  และกลาง ๆ ไม่มีการกระทำใดที่ไร้ผลลัพธ์ตามมา  มนุษย์และสัตว์ย่อมแตกต่างกันด้วยกรรมของใครของมัน บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น บุคคลต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตน ไม่มีการถ่ายโอนให้คนอื่น

               คำสอนเรื่องกรรมในพุทธปรัชญา ไม่ใช่เป็นแบบลัทธิกลไกลนิยม[16] ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ แม้ว่า  ชีวิตปัจจุบันจะถูกกำหนดมาแต่อดีต แต่อนาคตยังเป็นอิสระ เป็นไปตามความประสงค์ (เจตจำนง) ของเราเอง  เราเปลี่ยนอนาคตได้ กำหนดให้ดีให้ชั่วได้ การพยายามปฏิบัติตามหลักศาสนา และการทำลายทุกข์โดยชั้นเชิงจึงเกิดมีได้  เนื่องเพราะกรรมเป็นเรื่องการกระทำของแต่ละคน ผลที่จะรับขึ้นอยู่กับ การกระทำของคน  จึงมีโอกาสสลัดจากทุกข์ได้ สรุปว่า คำสอนเรื่องกรรมเป็นคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจตนเอง

               จะล้างกรรมชั่วที่ทำแล้วได้หรือไม่ ? ล้างไม่ได้ เพราะทำไปแล้ว แต่สามารถจะแก้ไขให้ลดศักยภาพที่จะก่อผลร้ายแรนงได้ ด้วยการทำความดีให้มากๆ เปรียบเหมือนการใส่เกลือจำนวน 1 ช้อนโต๊ะลงในน้ำเพียงหนึ่งแก้ว น้ำในแก้วนั้นจะมีรสเค็มจัดจนใช้ดื่มไม่ได้  แต่ถ้านำเกลือจำนวนเท่าเดิมใส่ไปแม่น้ำลำคลอง เกลือเพียงช้อนเดียวจะไม่สามารถทำให้แม่น้ำทั้งสายมีรสเค็มได้เลย แต่เกลือ 1 ช้อนก็ยังมีอยู่หากกลั่น

               5.9  อนัตตา (Anatmavada)

               หลักอนัตตา  ซึ่งเป็นปัญหาทางปรัชญาที่บุคคลอื่นเข้าใจยาก เพราะพุทธปรัชญาได้ปฏิเสธความคิดเรื่องความเป็นจริงสูงสุดคือ  วิญญาณเป็นอมตะ ที่เรียกว่าอาตมัน(Atman)ของปรัชญาสายพระเวท  มีความเชื่อของชนต่างๆ เกี่ยวกับวิญญาณ เช่น ชาวอียีปต์โบราณ เชื่อว่า คนเราประกอบไปด้วยร่างกาย และวิญญาณ ที่เรียกว่า  Ka และ Ba และ Sekhem  ซึ่งจะต้องคงอยู่ต่อไปหลังการตาย  ชาวอินเดียโบราณเชื่อว่า ในร่างกายมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ กาย ใจ และ อาตมัน(Atman) ตัวอาตมันจะไม่ตายเมื่อร่างกายสลายลง จะคงมีชีวิต นักปรัชญากรีกกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า Naus หรือ Psyche ก็เป็นแนวเดียวกันกับ วิญญาณอมตะ ในปรัชญาคริสต์ทั้งยุคปิตาจารย์และ อัสสมาจารย์ ก็กล่าวถึงธรรมชาติของ Anima หรือ วิญญาณ ไว้เช่นกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องตัวตน (I - ness)  ซึ่งเกิดมาจากการคิดอนุมานว่า มีตัวตนอยู่อีกต่างหากจากร่างกาย เป็นตัวความเป็นจริงสูงสุดอย่างหนึ่ง

หลักอนัตตาของพุทธปรัชญาที่ปฏิเสธวิญญาณอมตะ ได้มีนักปรัชญาตะวันตกหลายคน เช่น Brantano ชาว เยอรมัน Bergson  ชาวฝรั่งเศส และ Russell ชาวอังกฤษ ยอมรับและเห็นด้วยกับทฤษฎีอนัตตานี้อย่างยิ่ง

ปัญหาเรื่องอาตมัน  ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาตราบจนปัจจุบัน  แต่พุทธปรัชญามีความเห็นว่า  ความรู้สึก เป็นกระแสต่อเนื่องที่เกิดมาจากความสัมพันธ์  ของสิ่งที่เกิดก่อนและสิ่งที่ตามมาภายหลัง  ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ภายใต้การเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสนี้ การเกิดใหม่ของวิญญาณนั้น เกิดมาจากจิตดวงเก่าที่มีกรรมและส่งผลให้เกิดขึ้นตามกฎแห่งกรรม เมื่อหมดกรรมจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป ด้วยหมดความ และความยึดถือมั่น

               จิตคือ กระแสที่เคลื่อนไหว จิตดวงแรกส่งผลไปยังจิตดวงหลัง ๆ  สั่งผ่านคุณสมบัติไปให้กันต่อๆ ไป การคงเห็นว่ามีอยู่เป็นอยู่ เพราะมีการเกิดสืบต่อไม่ขาดสาย เหมือนการเห็นดวงไฟที่จุดสว่างตลอดคืนจนรุ่งแจ้งว่าเป็นดวงเดิม อันที่จริง ดวงไฟย่อมเป็นไฟละดวง เพราะน้ำมันหรือไขก็หมดสิ้นไป และไส้ก็ถูกเผาไหม้ไป  แต่เห็นว่าเป็นไฟดวงเก่าเพราะความสืบต่อของเหตุปัจจัยที่เหมือนกัน

               พุทธปรัชญาเชื่อว่า การเกิด และกฎแห่งกรรมมีจริง   แต่ไม่เชื่อการเกิดในความหมายที่วิญญาณดวงเดิมได้เคลื่อนย้ายออกจากร่างเก่าไปสถิตอยู่ร่างใหม่ แต่การเกิดตามพุทธปรัชญาหมายถึง การเกิดใหม่ หรือ การปรากฏใหม่ของขันธ์อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยเก่า ดุจการต่อดวงไฟให้กับประทีปอีกดวงหนึ่ง เราเห็นว่าดวงไฟที่ประทีปทั้ง 2  เป็นสิ่งเดียวกัน อันที่จริงดวงไฟที่ประทีบทั้งสองไม่ใช่ไฟดวงเดียวที่ย้ายจากประทีปแรกไปยังประทีปที่สอง แต่เพราะสาเหตุและความสัมพันธ์คล้ายกันจึงทำให้เกิดผลคล้ายกันได้

               เมื่อแบ่งสิ่งที่เราเรียกว่าคนออกไป  จึงพบแต่ส่วนประกอบจะ ไม่พบสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ   หรือ Soul เหมือนการประกอบอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน สิ่งที่เรียกว่า “รถ” ก็เกิดขึ้นอันที่จริง “รถ” ไม่มีอยู่  เป็นจินตนาการ เป็นการสมมติรวม “สิ่ง” ที่เกิดจากการประกอบอะไหล่เข้าไปเท่านั้นเอง

                พุทธปรัชญายืนยันว่า วิญญาณ(Consciousness) ในขันธ์ 5 ไม่ใช่สิ่งเดียวกับอาตมัน หรือ วิญญาณที่ตะวันตกที่เรียกว่า Soul  ทั้งปฏิเสธทฤษฎีวิญญาณสูงสุดของเวทานตะที่กล่าวว่า “วิญญาณ คือ พรหม” และยังไม่ยอมรับทฤษฎีวิญญาณอมตะของปรัชญาเชนที่ยึดถือว่า วิญญาณ คือ สิ่งที่มีความรู้สึกเป็นแก่นสาร และเป็นอมตะตลอดกาลหลังการบรรลุโมกษธรรมระดับไกวัลยธรรม

               แนวคิดเรื่องอาตมัน 4 แบบ

              พุทธปรัชญากล่าวว่า การที่นักคิดอินเดียสร้างวิญญาณใหญ่ขึ้นมาอีกตัวนั้นเพราะมีแนวความคิดหลักแบบใดแนวหนึ่งใน 4 แนว ดังนี้

               แนวที่ 1 มีความเชื่อว่า อาตมัน เป็นอันเดียวกับขันธ์(ร่างกาย)(Identical with Body)

               แนวที่ 2 มีความเชื่อว่า อาตมัน เป็นเจ้าของขันธ์ (Possessing of Body)

               แนวที่ 3 มีความเชื่อว่า อาตมัน  ทรงขันธ์ (Containing  of Body)

แนวที่ 4 มีความเชื่อว่า อาตมัน อาศัยอยู่ในขันธ์ Residing in Body)


6. สรุป

              จากประเด็นที่เสนอมาทำให้ทราบว่า ปรัชญาทางตะวันออกทุกสำนักมีฐานกำเนิดมาจากศาสนา และเป้าหมายสูงสุดรวมทั้งวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามทฤษฎีของแต่ละศาสนานั้นถือว่าเป็นหลักปรัชญาของศาสนานั้นๆ และปรัชญาแบบตะวันออก มักเกิดมาจากภาคปฏิบัติที่ผ่านการตรวจสอบว่าบรรลุผลมาแล้วจากพระศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนา คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ปรัชญาเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับชีวิต แต่พุทธปรัชญาเป็นเรื่องชีวิตโดยตรงของทุกคนที่เกิดมาในโลก จะปฏิเสธิมิได้ว่าไม่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ เช่น พุทธปรัชญาเรื่องอริยสัจ 4 ที่บอกถึงความจริงของชีวิต วิธีการคิดและการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชีวิตอย่างเป็นระบบแบบวิทยาศาสตร์ กฎไตรลักษณ์ที่บอกถึงสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติไม่มีผู้บงการบัญชา ครั้นตระหนักรู้ถึงกฎธรรมดาย่อมสามารถควบคุมจิตใจตนเองได้  และกฎแห่งกรรมที่สอนให้มนุษย์รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำลงไปไม่ว่าดีหรือชั่ว ประการสำคัญที่สุด พุทธปรัชญา กระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาความรู้สัจธรรมด้วยความพยายามของตัวเอง ไม่ให้พึงอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ให้กราบไหว้วิงวอนโดยที่ตัวเองมิได้ลงมือกระทำ ถ้ามนุษย์พยายามด้วยตัวเอง จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ประสบความสงบสุขได้แน่นอน พุทธปรัชญาจึงถือว่า เป็นมนุษยนิยมที่เน้นปฏิบัตินิยมเป็นฐาน

----------------


หนังสืออ้างอิง

การศาสนา กรม. วินัย มหาวรรค. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530. 

การศาสนา กรม. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. มัชฌิมนิกาย มัชฌิมาปัณณาสก์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. อังคุตตรนิกาย เอก – ทุกกะ – ติกนิบาต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.

การศาสนา กรม. อภิธรรม วิภังคะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530. 

พระราชวรมุนี(ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : คณะระดมธรรม, 2525.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.วิสุทธิมรรค เล่ม 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2525.

Phisit Kotsupho, "An Examination on Concept  of Atman in Hinduism according to Early Buddhism

                      with reference to  Plato  Descartes and Kant's Philosophy", Ph.D. Thesis.

                      Varanasi  : Sampurnanand Sanskrit University, 1990.

Radhakrishnan. Indian Philosophy. Vol. One. New Delhi : Blackie & Son Publishers, 1985.

Rahula Walpola. What The Buddha Taught. New York : Grove Weiden Field,  1974.

Sharma, R.N. Indian Philosophy. New Delhi : Orient Longman Ltd., 1972.

 



[1] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530), เล่ม 9 ข้อ 27 หน้า 16-90.

[2] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค,  เล่ม 9 ข้อ 27 และ 49 หน้า 16 และ 43.

[3]  R.N. Sharma, Indian Philosophy, (New Delhi : Orient Longman Ltd., 1972),  p. 137.

                  [4]  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530),  เล่ม 12 ข้อ 309 หน้า 308.

[5]  ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค,  เล่ม 11 ข้อ 225 หน้า 241. และ Phisit Kotsupho, "An Examination on Concept  of Atman in Hinduism according to Early Buddhism with reference to  Plato  Descartes and Kant's Philosophy", Ph.D. Thesis, (Varanasi  : Sampurnanand Sanskrit University, 1990), p.251.

[6]  วินัย มหาวรรค,   เล่ม 4 ข้อ 13 หน้า 18. และ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค,   เล่ม 11 ข้อ 91 หน้า 124.

[7] อังคุตตรนิกาย เอก–ทุกกะ–ติกนิบาต,   เล่ม 20 ข้อ 567 หน้า 368.

[8]  มัชฌิมนิกาย มัชฌิมาปัณณาสก์,   เล่ม 16 ข้อ 644 หน้า 612. และ พระราชวรมุนี( ป.อ.ปยุตโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพฯ : คณะระดมธรรม, 2525),  หน้า 217.

[9] Radhakrishnan, Indian Philosophy. Vol. One, (New Delhi : Blackie & Son Publishers, 1985), p.342.

[10] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุกก-ติกนิบาต,  เล่ม 20 ข้อ 576 หน้า 368.

[11] วินัย มหาวรรค,  เล่ม  4 ข้อ 14 หน้า 18.

[12] วินัย มหาวรรค, เล่ม  4 ข้อ 14 หน้า 18.

[13]  วินัย มหวรรค,  เล่ม 4 ข้อ 1 หน้า1, และ อภิธรรม วิภังคะ, เล่ม 35 ข้อ 274 หน้า 185, และ วิสุทธิมรรค, เล่ม 3. หน้า 107.

[14] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, เล่ม 12 ข้อ 448 หน้า 482. และ  Walpola Rahula,  What The Buddha Taught, (New York : Grove Weiden Field,  1974), หน้า 53.

[15] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค,   เล่ม17 ข้อ 95 หน้า 58.

[16] R.N.Sharma, Indian Philosophy, (New Delhi : Orient Longman Ltd., 1972), p.153.