วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย[1]
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ รวบรวม เรียบเรียง
เพื่อการอบรมหลักสูตรมัคคุทศก์ 2560
ความเป็นมา
พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่พระพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นศาสดาเกิดขึ้นมาเมื่อ 45 ปี ก่อน พ.ศ. ในประเทศอินเดีย เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้า พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่า มนุษย์ สามารถฝึกฝนตนเองได้  สามารถพัฒนาจิตใจไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้ประเสริฐได้(ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ) ด้วยความเพียรของตนกล่าวคือ พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์กำหนดชะตาชีวิตด้วยการกระทำของตน เพื่อพาตัวเองออกจากกองทุกข์ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มิได้มาจากสวดมนต์ บูชาอ้อนวอน ขอพรจากพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้)  ทรงสั่งสอนมนุษย์ให้ถอนตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ด้วยวิธีการสร้าง “ปัญญา” (สัมมาทิฐิ) ตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)  สามารถอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง
 พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ ทรงออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีปคือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน เป็นเวลา 45 พรรษา พระองค์ปรินิพพาน เมื่อ พระชนมายุได้ 80 พรรษา  หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ ให้หยั่งเห็นไตรลักษณ์(อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีแก่นสารสาระตัวตนที่แท้) อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย(เหตุให้ทุกข์เกิด) นิโรธ(ความดับทุกข์) มรรคมีองค์แปด(มัชฌิมาปฏิปทา) โอวาทสำคัญ คือ ละชั่ว ทำความดี และการชำระจิตใจให้ผ่องใส สาวกของพระพุทธเจ้า มี 4 กลุ่ม เรียกว่า พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกโดยรวมว่า พระธรรมวินัย หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก จนมีการรวบรวม จัดเป็นหมวดได้ 3 เรียกว่า พระไตรปิฎก(พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) พระพุทธเจ้า ให้ถือพระธรรมวินัยเป็นหลักการแทนพระศาสดา   “เถรวาท” เป็นนิกายดั้งเดิมของศาสนาพุทธ ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไปว่า พระธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์” เพื่อความอยู่รอดของพุทธศาสนา ทำให้เกิดนิกายใหม่ในชื่อ “มหายาน” ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีก นับได้ถึง 18 นิกาย (ในช่วงไม่ถึงหนึ่งพันปีหลังการประกาศศาสนา)  และเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนทวีปเอเชียและใกล้เคียง
ปัจจุบันศาสนาพุทธเป็นศาสนาสากล ได้เผยแผ่ไปทั่วโลก มีผู้นับถือ ประมาณ 500 ล้านคน ดังตารางต่อไปนี้



Buddhism by region in 2010
Region
Estimated total population
Estimated Buddhist population
 %
4,054,990,000
481,290,000
11.9%
344,530,000
3,860,000
1.1%
742,550,000
1,330,000
0.2%
341,020,000
500,000
0.1%
590,080,000
410,000
<0.1%
Total
6,895,890,000
487,540,000
7.1%

 ผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย  แสดงประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธจำนวนมาก ตามลำดับดังนี้
Buddhism by percentange as of 2010
Country[4]
Estimated Buddhist population
 % of total Buddhist in country
13,701,660
96.90%
64,419,840
93.20%
48,415,960
87.90%
563,000
74.70%
14,222,844
70.2% 
84,653,000
67%
คำอธิบาย: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/56/Flag_of_Laos.svg/23px-Flag_of_Laos.svg.png Laos
4,092,000
66.00%
8,000,000
35%[7]
1,725,510
33.90%
11,050,000
22%
14,380,000
16.4%



ตารางแสดงจำนวนประชากรของประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมาก 10 ประเทศ
Countries with the largest Buddhist populations as of 2010
Country
Estimated Buddhist population
 % of the total population
 % of Buddhist population
244,130,000
18.2%
46.4%
64,420,000
93.2%
12.2%
45,820,000
36.2%
9.4%
38,410,000
87.90%
7.3%
14,450,000
69.3%
2.8%
14,380,000
16.4%
2.7%
13,690,000
96.9%
2.9%
11,050,000
22.9%
2.1%
9,250,000
0.8%
1.8%
5,010,000
17.7%
1%
Subtotal for the ten countries
499,465,520
18.1%
94.9%
Subtotal for the rest of the world
26,920,000
0.7%
5.1%
World total
526,373,000
7.3%
100%
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Buddhism_by_country
พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย จัดส่งคณะพระธรรมทูตแบ่งออกเป็น 9 สาย แล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ดังนี้
สายที่ 1 มีพระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัษมิระ คือ รัฐจัมมูแคชเมียร์   และ แคว้นคันธาระ ในปัจจุบัน คือ รัฐปัญจาป ทั้งของประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน
สายที่ 2 พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแคว้นมหิสกมณฑลปัจจุบัน ได้แก่ รัฐไมเซอร์  และ  ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
สายที่ 3 พระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ณ  วนวาสีประเทศ ในปัจจุบัน  ได้แก่ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
สายที่ 4 พระธรรมรักขิตเถระ  หรือ  พระโยนกธรรมรักขิตเถระ  เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบท ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือ ดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบอมเบย์
สายที่ 5 พระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
สายที่ 6 พระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ในเอเซียกลาง ปัจจุบัน  ได้แก่ ดินแดนที่เป็นประเทศอิหร่าน และตุรกี
สายที่ 7 พระมัชฌิมเถระ  ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ณ   ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย สันนิษฐานว่า ได้แก่ ประเทศเนปาล
สายที่ 8 พระโสณเถระ  และ พระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ณ  ดินแดนสุวรรณภูมิ   ปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น
สายที่ 9 พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ  คือ พระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ  และ  พระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ณ เกาะสิงหล  ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้า เทวานัมปิยติสสะ  กษัตริย์แห่งลังกา ปัจจุบัน คือ ประเทศศรีลังกา
 ประเทศไทย ก็รวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง  ประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ไม่น้อยกว่า 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย นักวิชาการไทย ก็สันนิษฐานว่า อยู่ที่จังหวัดนครปฐม  เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่า  อยู่ที่เมือง สะเทิม   (สุธรรมวดี) ภาคใต้ของพม่า
ดินแดนประเทศไทยแต่ก่อน พวกละว้า-มอญ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ได้มาตั้งอยู่ก่อนแล้ว คนอินเดียที่มาตั้งหลักแหล่งในบริเวณสุวรรณภูมิ    เป็นกลุ่มคนที่อพยพหนีภัยสงคราม     ในสมัยพระเจ้าอโศกที่ยาตราทัพลงไปปราบแคว้นกาลิงคะ   ที่รอดชีวิตถูกจับเป็นเชลย 150,000 คน และส่วนใหญ่ลงเรือหนีมายังสุวรรณภูมิ และเลยไปเกาะชวาก็มี เส้นทางสำคัญมี 3 สายคือ
1. ทางบก ผ่านมาทางเบงกอล (บังคลาเทศ) อัสสัม ข้ามเทือกเขาเข้าสู่ตอนเหนือพม่า ล่วงมาประเทศไทย
2. ทางเรือ ข้ามอ่าวเบงกอลมาขึ้นที่อ่าวเมาะตะมะ หรือมาขึ้นที่ท่ามะริด ทวาย ตะนาวศรี เดินบกสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณ นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ราชบุรี
3. ทางเรือ ข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้าช่องแคบมะละกา ขึ้นบกที่แหลมมลายู หรืออ้อมแหลมไปยังกัมพูชา จัมปา และจีน
สำหรับเส้นทางทั้ง 2 สายนั้น มีเส้นทางแยกไปอีกคือ ขึ้นที่ตักโกละ และตรัง  ตรงมายังสุวรรณภูมิ  บางพวกไปอ่าวบ้านดอนต่อไปยังอาณาจักรฟูนัน  บางพวกออกจากจังหวัดตรังไปยังนครศรีธรรมราช สรุปว่า มีชาวอินเดียมาตั้งหลักแหล่งเริ่มตั้งแต่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ลงไปจนสุดแหลมมลายู ส่วนเส้นทางสายที่ 3 เป็นที่นิยมกันมากมาแต่สมัยโบราณ ชาวอินเดียที่ไปตั้งอาณานิคมอยู่ทางตะวันออก เช่น ชวา มลายู และจาม เป็นต้น ไม่นิยมเดินทางบก เพราะมีอันตราย การขนส่งสินค้าลำบากเมื่อทำการค้า อีกทั้งชาวอินเดียมีความรู้ทางทะเลและฤดูมรสุม จึงสามารถเดินเรือได้เป็นอย่างดี ในย่านเหล่านี้ เมื่อพระโสณะ พระอุตตระ สมณทูตมาประกาศพุทธศาสนา จึงเป็นไปด้วยความสะดวก เพราะมีชาวอินเดียได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่กันมาก และใช้ภาษาเดียวกัน หรือมีล่ามชาวอินเดียช่วยเหลือ  
การเดินทางส่วนใหญ่คงใช้ทางน้ำ แม้หลวงจีนฟาเหียน (ภิกษุชาวจีน) ได้ออกเดินทางจากเมืองเชียงอัน ผ่านตอนกลางประเทศจีนลงสู่แคชเมียร์ คันธาระ  ศึกษาอยู่ในอินเดียแล้วเลยไปลังกา จากลังกาก็กลับสู่จีน โดยผ่านอ่าวเบงกอลไปยังหมู่เกาะชวาแล้วจึงเดินทางต่อไปจีน (ใช้เวลา 15 ปี) ต่อมาหลวงจีนอี้จิงก็อาศัยการเดินทางเรือ ผ่านเส้นทางนี้เช่นเดียวกัน
พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ผ่านยุคสมัยต่อไปนี้
1. พระพุทธศาสนาในสมัยอาณาจักรต่าง ๆ ของไทย
        1.1 พระพุทธศาสนา สมัย สุวรรณภูมิ -ทวาราวดี พ.ศ. 236 – 1600
 อาณาจักรทวารวดี เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาณาจักรทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย  เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่มี เมืองนครปฐม เป็นศูนย์กลาง หลวงจีนเฮี่ยนจัง(ยวนฉ่าง) หรือ  พระถังซัมจั๋ง (Hieun Tsing) ซึ่งเดินทางจากเมืองจีนไปประเทศอินเดียทางบก ราว พ.ศ. 11721188  และพระภิกษุจีนชื่อ อี้จิง (I-Sing)  ได้เดินทางไปอินเดียทางทะเลในช่วงเวลาต่อมา ได้เรียกอาณาจักรใหญ่แห่งนี้ตามสำเนียงชนพื้นเมืองว่า โลโปตี้”  หรือ จุยล่อพัดดี้ (ทวารวดี)  เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร (อยู่ในพม่า) ไปทางตะวันออก กับเมืองอิศานปุระ (อยู่ในเขมร)  ปัจจุบันคือ ส่วนที่เป็นดินแดนภาคกลางของประเทศไทย พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า สามารถเดินเรือจากเมืองกวางตุ้งถึงอาณาจักรทวารวดีได้ในเวลา 5 เดือน
พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม โดยพระสมณทูตชุดแรก ของพระเจ้าอโศก ที่มาสุวรรณภูมิ(สายที่ 8) พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา พระปฐมเจดีย์ คือราว ๆ พ.ศ. 300  เป็นสถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจิ ในอินเดียที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี นครชัยศรีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 16)  มีปูชนียสถานที่ใหญ่โตสร้างไว้เป็นจำนวนมาก และยังเหลือปรากฎเป็นโบราณสถานอยู่ในปัจจุบัน  วัดพระประโทนเจดีย์  วัดพระเมรุ  วัดพระงาม เป็นต้น   โบราณสถานที่ค้นพบล้วนมีฝีมือประณีต งดงาม ได้พบเหรียญเงินที่มีมีอักษรจารึกไว้ว่า ศรีทวารวดีศวรประทับอยู่ด้วย นักโบราณคดีได้สำรวจพบโบราณสถาน และพระพุทธรูป ที่สร้างตามแบบฝีมือช่างในสมัยราชวงศ์คุปตะของอินเดีย (พ.ศ.860 1150) เป็นจำนวนมากที่นครปฐม  และแถบเมืองที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรื่อยไปทางภาคะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงเมืองนครราชสีมา และเมืองบุรีรัมย์   
           1.2 พระพุทธศาสนา สมัยอาณาจักรอ้ายลาว  พ.ศ. 600 (สายคนไทอพยพมาจากจีน)
   พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยที่ขุนหลวงเม้า หรือ ลิเมา กษัตริย์ไทย ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน ครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ได้รับเอาพระพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านมาทางประเทศจีน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับเอาพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่  ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง 77 มีราษฎร 51,890 ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อเกิดสงครามกับจีน จึงได้อพยพลงมาจนถึงดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน(พระพุทธศาสนาที่ติดตัวมากับคนไท)
          1.3 พระพุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย พ.ศ. 1300
   อาณาจักรศรีวิชัย ในเกาะสุมาตรา เจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 มีเมืองหลวงชื่อ ปาเลมบังสมัยนี้ พุทธศาสนาในอินเดียได้เปลี่ยนแปลงเป็นมหายานเป็นส่วนมาก  มหายานได้แผ่คลุมไปทั่วอินเดียทั้งเหนือและใต้ และยุคนั้น มหายานจากอินเดียใต้ก็แผ่เข้าสู่อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับไทยสมัยทวาราวดี  มหายานสมัยนั้น เจริญเต็มที่ ทั้งด้านการศึกษาและปฏิบัติ ศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่แหลมมลายู-เกาะสุมาตรา ควอริช เวลส์ และ  มาชุมดาร์ นักโบราณคดี กล่าวว่า กษัตริย์วงศ์ไศเลนทร์ มีอำนาจเป็นใหญ่เหนือแหลมมลายู เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะชวาทั้งหมด อาณาเขตทางตอนเหนือคลุมมาถึง จังหวัดหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน (ยุคนั้น เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช)
 พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยเป็นแบบมหายาน เพราะกษัตริย์ ทรงนับถือลัทธิมหายานนิกายตันตรยาน อย่างเดียวกับราชวงศ์ปาละแห่งอินเดียใต้ และกษัตริย์ทั้งสองมีไมตรีต่อกัน  ลัทธิมหายานในสมัยศรีวิชัย คงไม่สามารถขยายเลยสุราษฎร์ธานีขึ้นมา เพราะเวลานั้น เหนือขึ้นมายังเป็นเขตของเถรวาทอยู่  ตามทัศนะของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงยืนยันว่า ศิลปะศรีวิชัยมาถึงอู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี และที่วัดศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี(ที่อื่นไม่พบ) ปรากฏในศิลาจารึกว่าประมาณ พ.ศ. 1550 กษัตริย์เชื้อสายศรีวิชัยองค์หนึ่ง ได้ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช มาครองที่ลพบุรี และโอรสของพระองค์ได้ไปครองประเทศกัมพูชา ต่อมาไม่นานศาสนาและศิลปะวิทยาการของเขมรได้เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น[2]
  ในจารึกหลักที่ 19 กล่าวว่า ที่เมืองลพบุรีมีพระสงฆ์ทั้งสองนิกายคือ สถวีระ (เถรวาท) และมหายาน (ดูประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 หน้าที่ 12 ) เข้าใจว่าเถรวาทเป็นนิกายเดิม สืบมาแต่ครั้งสุวรรณภูมิ ส่วนมหายานนั้นเจริญอยู่ในเขมรก่อน จึงเข้ามาเจริญในประเทศไทย ในตอนที่ไทยตกอยู่ในอำนาจของเขมร หรือไม่ก็มหายานอาจจะเข้ามาพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านเขมรและด้านศรีวิชัย   พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
          1.4 พระพุทธศาสนา สมัยลพบุรี(ละโว้) พ.ศ. 1550
   ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. 1540 และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น
   เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้
   เมืองสุโขทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ
   เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
   เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงตอนเหนือ
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้ เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์     สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์ ประชาชนในอาณาเขตต่างๆ   จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิม  กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา 2 แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา ศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนา คือ พระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปะสมัยลพบุรี
  การเข้ามาของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกาม พ.ศ. 1600
  ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมพม่ากับรามัญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จนถึงลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. 1299  พระเจ้าสิงหนวัติ โอรสของขุนบรม คือ พีล่อโกะ ในภาษาจีน พระองค์เป็นกษัตริย์ของ อาณาจักรหนองแส จีนว่า น่านเจ้า แต่ลาวเรียกว่า อาณาจักรแถน (เมืองแถนเก่า)  ได้สถาปนาอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์กัมพูชาเรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือเมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามี ปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ 4 มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า
1.5 พระพุทธศาสนา สมัยสุโขทัย พ.ศ.1800
   หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง 2 อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อยู่ทางภาคเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัย มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าลิไท อาราธนาพระสุมนเถระ ศิษย์ของพระอุทุมพรสวามี แห่งเมืองพัน มาเผยแผ่ที่สุโขทัย พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธชินราช  มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน
1.6 พระพุทธศาสนา สมัยอยุธยา พ.ศ. 1991
     พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามามาก พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์ เน้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่มาก ประชาชนมุ่งเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยา ต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น ตอน ดังนี้
1.6.1  อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. 1991 - 2031)
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงผนวชเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อ พ.ศ. 1998 ที่วัดจุฬามณี และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. 2025
1.6.2  สมัยอยุธยาตอนที่สอง (พ.ศ. 2033 - 2173)
สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้พบพระพุทธบาทสระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2170 และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย
1.6.3 สมัยอยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. 2173 - 2275)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บง มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่  โดยทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี “ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามีพระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน”[3]  พระองค์ทรงนำพาประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสได้ เพราะมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
1.6.4 สมัยอยุธยาตอนที่สี่ (พ.ศ. 2275 - 2310)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช เมื่อ พ.ศ. 2275 ทรงมีบทบาทมากในการนำสังคมยุคนี้ ได้แก่ ค่านิยมการบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. 2295 พระธรรมทูตจากประเทศไทย นำโดย พระอุบาลีมหาเถระ จากวัดธรรมาราม พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย อีก 23 รูป ได้เดินทางไปเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา เป็นการเดินทางไปตามคำเชิญจาก พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกาในยุคนั้น ที่ทรงต้องการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งกำลังจะสูญสิ้น เนื่องจากไม่มีพระภิกษุสงฆ์ที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ สาเหตุมาจากคณะสงฆ์ศรีลังกาในขณะนั้นนำเอาคติความเชื่อแบบมหายานและลัทธิฮินดูเข้ามาผสมผสานกับคำคำสอนแบบเถรวาท จนกระทั่งพิธีกรรมกลายเป็นคำสอนหลัก ประกอบกับนักล่าอาณานิคมตะวันตก คือ โปรตุเกส เข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว เผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีการที่รุนแรง เพื่อถอนรากถอนโคนพระพุทธศาสนา  คณะพระธรรมทูตชุดดังกล่าวได้อุปสมบทให้กับชาวศรีลังกาจำนวน 700 รูป และบรรพชาสามเณรอีก 3,000 รูป และหนึ่งในสามเณรที่ได้รับการบรรพชาในครั้งนั้น คือ สามเณรเวลิวิตะ ศรีสรณังกร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราช และทรงสถาปนา พระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์ ขึ้น หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกาก็กลับคืนมาเข้มแข็งเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่า นิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน[4]
          1.7 พระพุทธศาสนา สมัยกรุงธนบุรี(2310-2325)
  ปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายกทัพเข้าตีจนบ้านเมืองแตกยับเยิน พม่าได้ทำลายบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เก็บเอาทรัพย์สินไป กวาดต้อนประชาชนแม้กระทั่งพระสงฆ์ไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกเผาทำลาย ครั้นต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้ ทรงตั้งราชธานีใหม่ คือเมืองธนบุรี ทรงครองราชย์และปกครองแผ่นดินสืบมา ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างวัดเพิ่มเติมอีกมาก ทรงรับภาระบำรุงพระพุทธศาสนารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาคัดเลือกจัดเป็นฉบับหลวง (แต่ไม่ยังทันเสร็จบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาล) ต่อมา พ.ศ. 2322 กองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มายังประเทศไทย ประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดแจ้ง ภายหลังพระองค์ถูกสำเร็จโทษเป็นอันสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี
          1.8 พระพุทธศาสนา สมัยรัตนโกสินทร์
   1.8.1 สมัยรัชกาลที่ 1 (2325 - 2352)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2325 ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ เช่นสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาปรารถนาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ได้ทรงทราบว่า ในเวลานั้นพระไตรปิฎกมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก  แม้พระสงฆ์จะมีความประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้ พระองค์จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งปวงให้รับภาระ  ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 และถือเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดนิพพานาราม (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) เมื่อ พ.ศ.2331  พระสงฆ์อันมีสมเด็จพระสังฆราชฯเป็นประธาน พร้อมทั้งสังคีติการกสงฆ์จำนวน 218 รูป และราชบัณฑิตาจารย์อุบาสกจำนวน 32 คน  ได้มีการทำการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกพร้อมทั้งคัมภีร์สัททาวิเสส (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) และได้จารึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม โดยใช้เวลา 5 เดือน จึงแล้วเสร็จ
เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว โปรดให้ปิดทองทั้งปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น โดยเรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ โปรดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2325
    1.8.2 สมัยรัชกาลที่ 2 (2352- 2367)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2352 ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ  ในสมัยนี้ได้มีพระสงฆ์ชาวลังการูปหนึ่ง ชื่อ พระสาสนวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกับต้นโพธิ์ลังกาเข้ามาถวาย โดยบอกว่า สมเด็จพระสังฆราชโปรดให้นำมา พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า พระสงฆ์ในลังกาก็เป็นสมณวงศ์แบบเดียวกับพระสงฆ์ไทย เคยมีสัมพันธไมตรีติดต่อกันมาช้านาน ประกอบกับพระพุทธศาสนา ในลังกาเริ่มเศร้าหมอง  เพราะลังกาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พระองค์จึงโปรดแต่งสมณทูตคณะหนึ่ง ประกอบด้วยพระสงฆ์จำนวน 9 รูป มีพระอาจารย์ดีและพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้าไปลังกา  เริ่มเดินทาง พ.ศ. 2357  กลับมา พ.ศ. 2361   ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองอนุราธบุรี  โดยเชื่อกันว่าเป็นต้นโพธิ์เชื้อสายของพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้านั่งตรัสรู้ จำนวน 6 ต้น โดยปลูกไว้ที่ รัฐกลันตัน 1 ต้น จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ต้น จังหวัดกรุงเทพฯ 3 ต้น (วัดสุทัศน์ฯ วัดมหาธาตุฯ วัดสระเกศฯ) เมื่อกลับมาแล้ว พระอาจารย์ดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระคัมภีรปรีชา และพระอาจารย์เทพได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระปัญญาวิสารเถร นับเป็นสมณทูตไทยคณะแรก สมัยรัตนโกสินทร์
ทรงฟื้นฟูวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ซึ่งไทยเคยจัดทำกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเสื่อมหายไปในสมัยอยุธยา ธนบุรี ล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง พระองค์ได้โปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีอย่างใหญ่โต เริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 14-15 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ รวม 3 วัน พระองค์ทรงรักษาพระอุโบสถศีล ปล่อยนก ปล่อยปลา ห้ามเสพสุรา ห้ามฆ่าสัตว์ ให้ถวายประทีป ตั้งโคม แขวนเครื่องสักการะบูชา เวียนเทียน ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ถวายไทยทานตลอด 3 วัน ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร 3 ชั้น คือ เปรียญตรี -โท - เอก เป็น 9 ชั้น คือชั้นประโยค 1 - 9
    1.8.3 สมัยรัชกาลที่ 3 (2367 - 2394)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยรัชกาลที่ 3  พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอ ยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย  2  ครั้ง  ครั้งที่  1  ใน พ.ศ. 2385  ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.  2387  พระไตรปิฎกสมัยนึ้จึงเป็นที่ยอมรับว่ามีความถูกต้องมากที่สุด พระองค์โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อนๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็ก ในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2372 ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ
    1.8.4 สมัยรัชกาลที่ 4 (2394 -2411)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช 27 พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ใน พ.ศ. 2394 ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2394 ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้
    1.8.5 สมัยรัชกาลที่ 5 (2411 - 2453)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงยกเลิกระบบทาสในเมืองไทย ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือวัดวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุและวัดอื่นๆอีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดให้มีการเริ่มต้น การศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ ครั้น พ.ศ. 2427 ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม ถึงปี พ.ศ. 2434 โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2435 มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) พ.ศ. 2436 โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 จบ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อ มหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ และต่อมาปี พ.ศ. 2439 ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร
              ปี พ.ศ. 2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดในปีเดียวกัน
    1.8.6 สมัยรัชกาลที่ 6 (2453- 2468)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงพระปรีชาปราดเปรื่อง ในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงโปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. เมื่อ พ.ศ. 2456 ให้เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ
    ในปี พ.ศ. 2454 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวง จากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียนเป็นครั้งแรก
   พ.ศ. 2469 ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม" โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม 2454 ตอนแรกเรียกว่า “องค์ของสามเณรรู้ธรรม”
     พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2463 โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่น ๆ เช่น วิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น
    1.8.7 รัชกาลที่ 7 (2468 - 2477)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2473 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ 45 เล่ม จำนวน 1,500 ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 500 ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด" ต่อมาปี พ.ศ. 2471 กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า “ธรรมศึกษา”
    1.8.8 สมัยรัชกาลที่ 8 (2477 - 2489)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ในขณะพระพระชนมายุ เพียง 9 พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เนื่องจาก ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อคณะราษฎร์ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477)   
       ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
       1. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด 80 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. 2500
       2. พระไตรปิฎก แปล สำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น 1250 กัณฑ์  เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2492
       พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็น กรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่
       พ.ศ. 2488 มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม
   1.8.9 สมัยรัชกาลที่ 9 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 -2559)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นราชกาลที่ 9 เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สืบต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ ดังนี้
              - ด้านการศึกษา ประชาชนได้สนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับ ได้มีการจัดตั้งสมาคม มูลนิธิทางพุทธศาสนาเพื่อการศึกษามากมาย มีการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พ.ศ. 2490 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2432 ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนาขึ้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2490 และเปิดการศึกษาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2490 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการศึกษาของพระสงฆ์ได้มีการยกระดับมาตรฐานการศึกษา เช่น ยกระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก  ได้มีการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยสากลทั่วไป และได้ออกกฏหมาย พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง โดยรัฐสภาเมื่อ พ.ศ. 2540 มีชื่อว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ "มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย"
ปัจจุบันนี้ได้มีวิทยาเขตต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน นครสวรรค์ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา หนองคาย นครปฐม นครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนการศึกษาด้านอื่น ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ ระดับประถมปลาย และ ม.1 ถึง ม.6 เมื่อปี พ.ศ. 2514 ในปี พ.ศ. 2501 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน จนได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ
   - ด้านการเผยแผ่ ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศไทยได้มีองค์กรเผยแผ่ธรรมในแต่ละจังหวัด โดยได้จัดตั้งพุทธสมาคมประจำจังหวัดขึ้น ส่วนพระสงฆ์ได้มีบทบาทในการเผยแผ่มากขึ้น โดยใช้สื่อของรัฐ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเอาวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม. 1 ถึง ม. 6 พระสงฆ์จึงได้มีบทบาทในการเข้าไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ มีการประยุกต์การเผยแผ่ธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการบรรยาย ปาฐกถา และเขียนหนังสืออธิบายพุทธธรรมมากขึ้น ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มีพระเถระนักปราชญ์ชาวไทยในยุคนี้ ได้แก่ พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น ในต่างประเทศได้มีการสร้างวัดไทยในต่างประเทศหลายวัด เช่น วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ต่อจากนั้นได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศตะวันตก คือ วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2509 นับเป็นวัดไทยวัดแรกในประเทศตะวันตก ต่อมาปี พ.ศ. 2514 ได้มีการสร้างวัดแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอเนีย ชื่อว่า วัดไทยลอสแองเจลิส นอกจากนั้นได้มีองค์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย ได้จัดให้มีการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก ปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก  มีวัดไทยในต่างประเทศ ดังนี้  ในสหรัฐอเมริกา 159 วัด 3 สำนักสง์ ในเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา  สังกัดมหานิกาย  101 วัด[5] สังกัดคณะธรรมยุต 58 วัด  3 สำนักสงฆ์, มาเลย์เชีย 79 วัด, ออสเตรเลีย 18 วัด,  อังกฤษ 16 วัด, เยอรมัน 14 วัด,  สิงคโปร์ 12 วัด. อินเดีย 11 วัด,  คานาดา 7 วัด, ฝรั่งเศส 6 วัด, สวีเดน 6 วัด, นิวซีแลนด์ 6 วัด, อินโดนีเซีย 5 วัด, ไต้หวัน 4 วัด,  สวิสเซอร์แลนด์ 3 วัด, นอร์เวย์ 3 วัด, เดนมาร์ก 3 วัด, เบลเยี่ยม 3 วัด, เนเธอร์แลนด์ 2 วัด,  ญี่ปุ่น 2 วัด, ฟินแลนด์ 2 วัด, อิตาลี 1 วัด, เนปาล 1 วัด, รัสเซีย 1 วัด, จีน 1 วัด, ไอซ์แลนด์ 1 วัด[6]   ปี พ.ศ. 2508 สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกได้ย้ายมาประจำ ณ ประเทศไทย (พ.ส.ล.) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก
   - ด้านพิธีกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เป็นพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ให้เป็นพิธีของรัฐบาล เรียกว่า “รัฐพิธี” โดยให้กรม กระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้จัด จัดให้มีงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่นวันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา ณ พุทธมณฑล ซึ่งสร้างขึ้น เมื่อคราว ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
   - ด้านวรรณกรรม ได้มีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย มีปราชญ์ทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายรูป จึงได้เกิดวรรณกรรมทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเล่ม เช่น พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ของพุทธทาสภิกขุ หนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น
    1.8.10 สมัยรัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน
    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559  สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เผยพระราชกิจสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 โดยระบุว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา จะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หลังเสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
นายพรเพชร ประธาน สนช. เป็นผู้กราบบังคมทูลเชิญองค์รัชทายาท เสด็จฯ ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์ และทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์
                   ในรัชสมัยของพระองค์ยังไม่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากการที่รัฐบาลโดย ดีเอสไอ เข้าปิดล้อมวัดพระธรรมกาย เพื่อล้อมจับพระธรรมชโย ด้วยข้อหาต่างๆ
2. ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย
                   พระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิ  ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณะทูตเข้ามาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานทางความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิตมีผลต่อวัฒนธรรมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางในการอบรมสั่งสอนฝึกฝนอบรมเยาวชนให้เป็นคนดีโดยใช้พุทธศาสนาช่วยพัฒนาจิตใจ  พระพุทธศาสนามีความสำคัญ ดังนี้
                   2.1  สำคัญในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติไทย ด้วยเหตุผล ดังนี้
                             1) ศาสนสถานและศาสนวัตถุท มีปรากฏมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยจนมาถึงปัจจุบัน
2)  พระมหากษัตริย์ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา  ทรงเป็นพุทธมามกะและสนับสนุนและส่งเสริมศาสนาอื่น
3) ประชาชนร้อยละ 95 นับถือพุทธศาสนา และสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดสีขาวเป็นสีของพุทธศาสนาและปรากฏสัญลักษณ์ในธงชาติ
4)  การกำหนดใช้พุทธศักราช เป็นหลักในการนับศักราชของไทย 
2.2  สำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
1)  ประชาชนยึดถือวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของสังคมไทยมาช้านาน
2)  พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวพุทธ
          3) เป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ
                             4)   เป็นสิ่งที่หลอมรวมศิลปวัฒนธรรมของไทย
2.3 สำคัญในฐานะสภาพแวดล้อมและครอบคลุมสังคมไทย
1)  จำนวนวัดมีมากมายกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งสำนักสงฆ์ด้วย
2)  วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีการให้บุตรหลานเข้าบวชเรียนทางธรรมเป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ 20 ปี
3)  คนไทยนิยมทำบุญและอนุรักษ์ประเพณีทางพุทธศาสนา ถือเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่สามารถนำไปส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ
3. อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย[7]
3.1. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
1)  พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ด้านต่าง ๆ วิถีชีวิตของคนไทยได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาตั้งเกิดจนตาย เนื่องจากหลักคำสอนทางพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับลักษณะอุปนิสัยคนไทย เช่นชอบความสงบ ความมีเมตตาอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบความอิสระ เสรี และพุทธศาสนาก็อยู่คู่กับชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล จึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้านต่าง ๆ ดังนี้
(1) ด้านภาษา ภาษาไทยส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี และฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่ไทย คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมด้านภาษาด้วย ดังที่ภาษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งชื่อคน ชื่อสถานที่ และชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากศัพท์บาลีแทบทั้งสิ้น เช่นคำว่า โทรศัพท์ โทรทัศน์ มหาวิทยาลัย ธนาคาร เกษตรกรรม รัฐบาล ทัศนศึกษา วิถี เป็นต้น และเป็นได้กลายเป็นภาษาไทยไปจนบางคนเข้าใจว่าเป็นภาษาไทยดั้งเดิม
(2) ด้านวรรณกรรม วรรณคดีทั้งหลายได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา และคัมภีร์พระพุทธศาสนายังเป็นที่มาแหล่งใหญ่ของบทประพันธ์และกวีนิพนธ์ต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
(3) ด้านศิลปกรรม ประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ว่าเป็นเมืองที่มีศิลปะงดงามยากที่จะหาชาติใดเหมือน ศิลปะที่ปรากฏล้วนแต่มีความประณีตสวยสดงดงาม ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้พบเห็น ซึ่งศิลปกรรมเหล่านั้นได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เช่นวัดวาอารามต่าง ๆ สวยสดงดงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ละเอียดอ่อน เขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา และชาดกต่าง ๆ นอกจากนั้นศิลปะทางดนตรีก็เนื่องอยู่ด้วยกันกับพระพุทธศาสนา วัดเป็นแหล่งกำเนิดและอนุรักษ์ศิลปะดนตรี ด้วยวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน จึงเป็นแหล่งกำเนิดหรือปรากฏตัวของดนตรีในโอกาสงานต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและอวมงคล
(4) ด้านการศึกษา การศึกษาของไทยในอดีต มีวัดเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษา มีพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาการความรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจัดการศึกษาแบบใหม่ขึ้นในหัวเมือง โปรดให้พระสงฆ์เป็นครูสอน และถือว่าคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วเป็นผู้ที่มีความรู้ จึงกำหนดให้คนที่จะเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงเกิดประเพณีบวชเรียนขึ้น และเมื่อรัฐได้นำเอาระบบการศึกษาแบบใหม่เข้ามา ทำให้บทบาทของวัดที่เคยเป็นศูนย์กลางลดน้อยลง แต่พระสงฆ์ก็ยังมีส่วนในการจัดการศึกษาชุมชน เช่นเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน ยกที่วัดให้ตั้งเป็นโรงเรียน จึงมีโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในวัดมากมาย แม้โรงเรียนสำหรับประชาชนแห่งแรกก็ตั้งในวัด คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม
(5) ด้านสังคมสงเคราะห์ วัดเป็นสถานสงเคราะห์ประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ให้การสงเคราะห์แก่ชุมชน เช่น เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสำหรับคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ มีพระเป็นจิตแพทย์ เป็นสถานพยาบาล แก่ผู้ป่วยไข้ แม้ปัจจุบัน วัดหลายแห่งกลายเป็นที่พึ่งพิงทั้งทางกายและทางใจของคนผู้ติดเชื้อเอดส์ วัดเป็นศาลไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของชาวบ้าน วัดเป็นสถานบันเทิง รื่นเริงต่าง ๆ ของชุมชน เมื่อมีประเพณีต่าง ๆ และที่สำคัญวัดเป็นสถานสงเคราะห์ที่สำคัญทางด้านจิตใจแก่ประชาชน ทุกระดับ เพราะพระพุทธศาสนา เป็นประดุจขุมทรัพย์ที่ทรงคุณค่ามหาศาล เป็นที่พี่งแก่คนตั้งแต่ระดับที่ต้องการความสุขใจสงบใจจากพิธีกรรม ความเชื่อ จนถึงผู้ที่ต้องการหลักธรรมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
(6) เป็นต้นกำเนิดพิธีกรรมและวันสำคัญต่าง ๆ พิธีกรรมของไทยมาจากความเชื่อและเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เช่นพิธีลอยกระทง พิธีทำบุญวันสารทไทย พิธีสงกรานต์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา
(7) พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา สามารถบอกกับชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสต้อนรับพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขแห่งศาสนจักรคาธอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 มีความจำเพาะตอนนี้ว่า คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาตินับว่าพระพุทธศาสนาเป็นมรดกสำคัญของชาวไทย จนเป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างประเทศว่าเมืองไทยเป็นเมืองแห่งผ้ากาสาวพัตร (ผ้าเหลือง) คือพุทธศาสนาอยู่คู่ชาติไทยมานาน ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า  “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”
3.2  ด้านการเมืองการปกครอง
พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการปกครองอย่างมาก โดยเฉพาะในอดีต สมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช อันมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองโดยเด็ดขาด แต่ด้วยทรงมั่นคงต่อหลักธรรมทางพุทธศาสนา ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ทรงสนพระทัยในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ จึงสามารถใช้ธรรมะปกครองอย่างสงบร่มเย็น  บางคราวที่บ้านเมืองอยู่ในความระส่ำระสาย ด้วยเหตุสงครามกับข้าศึก พระพุทธ ศาสนาก็เข้ามามีบทบาทต่อการกู้ชาติบ้านเมือง เช่น ใช้วัดเป็นที่ฝึกอาวุธทหาร มีพระสงฆ์เป็นผู้ให้ขวัญและกำลังใจแก่ทหารและชาวบ้านก่อนออกศึก ดังกรณีชาวบ้านบางระจัน ได้รับขวัญและกำลังใจจากหลวงพ่อธรรมโชติ สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ปัจจุบัน การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ทรงเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนามาปฏิบัติในพระจริยาวัตรของพระองค์ และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทย ยามที่บ้านเมืองประสบปัญหาภาวะวิกฤต ก็ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง ดังเช่นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทรงแนะนำให้ประชาชนหันมาปฏิบัติตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา ด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างพอดี เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย พระสงฆ์เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐ กับประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์กลางระหว่างประชาชนกับรัฐ เมื่อมีกิจการต่าง ๆ ของรัฐ เช่นการประชุม การเลือกตั้ง ก็ใช้วัดเป็นสถานที่ราชการชั่วคราว และพระสงฆ์ยังเป็นสื่อในการสร้างความเข้าในเรื่องการปกครองแก่ประชาชน เช่น การเผยแพร่ข่าวสารเรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญ ในโอกาสต่าง ๆ  ในการเทศนาสั่งสอนมักจะสอดแทรกความรู้ทางการเมืองการปกครองแก่ประชาชน
                   3.3 ด้านเศรษฐกิจ
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย ได้ชี้แนะวิธีการการดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้องและมีนำมาซึ่งความสุข แก่บุคคลและสังคมได้ พระพุทธศาสนาได้สอนเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ได้แก่การประกอบการงานอาชีพที่สุจริตและประกอบด้วยหลักธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จในกิจกรรมดังกล่าว เช่น
(1) การรู้ประมาณในการบริโภค ใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย (โภชเน มตฺตญฺญุตา) มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของประชาชนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นปัจจุบัน
(2) หลักการทำงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ หรือหัวใจเศรษฐี ได้แก่
1) อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
2) อารักขสัมปทา การประหยัดอดออมทรัพย์ที่ได้มา
3) กัลยาณมิตตตา การรู้จักคบคนดี
4) สมชีวิตา รู้ฐานะทางการเงินของตน ใช้จ่ายแต่พอดี
อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้มีบทบาทอย่างสูง ในการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่า ประเทศไทยของเราได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ก็ยังอยู่กันอย่างสงบสุข คนที่เคยทำงานตำแหน่งหน้าที่ดี ๆ เมื่อตกงานก็ปลงใจได้ และพร้อมที่จะทำอาชีพอื่น แม้จะเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ไม่มีเกียรติก็ตาม ไม่มีการต่อต้านรัฐบาลไม่มีการปล้นสะดมภ์ หรือก่อความวุ่นวายเหมือนประเทศอื่น พร้อมกันนั้นก็พยายามหาทางออกอย่างถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศไทยเรามีพื้นฐานดี อันได้แก่พื้นฐานทางสังคม และวัฒนธรรมดี หรือที่บางท่านเรียกว่าทุนทางสังคม อันได้แก่มีฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยเฉพาะการเกษตร ฐานทางทรัพยากรธรรมชาติก็มั่นคง เรามีทรัพยากรของประเทศมากมาย มีดินดี น้ำดี เหมาะแก่การเพาะปลูก และฐานทางวัฒนธรรมแข่งแกร่ง คือเรามีพระพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมทางด้านจิตใจ สามารถแก้ปัญหาในยามวิกฤตได้ วัฒนธรรมแบบพุทธได้โอบอุ้มสังคมไทยให้สงบร่มเย็นได้ ด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 องค์กรทางพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสังคมในยามวิกฤต ดังเช่นปัจจุบันวัดหลาย ๆ แห่ง กลายเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการใช้วัดเป็นสถานสงเคราะห์ ฝึกอาชีพ และกิจกรรมต่าง ๆ แก่ผู้ตกงาน วัดในชนบทหลายแห่ง กลายเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ตกงาน เป็นสนามกีฬาสำหรับเยาวชน (ในโครงการลานวัด ลานใจ ลานกีฬา ) โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ในการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน
ประการที่ 2 หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่แทรกซึมอยู่ในจิตใจของผู้คนที่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ก็มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายเกิดขึ้น หลักธรรมเหล่านั้น อันได้แก่
(1) ความเมตตาปราณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีการช่วยเหลือคนตกงานด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ดูถูกซ้ำเติม เช่นช่วยจัดหางานให้ จัดโรงทานอาหารฟรีให้ และให้กำลังใจในการต่อสู้ชีวิต ทั้งจากการแนะนำของผู้ใกล้ชิดและจากสื่อมวลชนต่าง ๆ
(2) ให้อภัย และโอนอ่อนผ่อนตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นปัญหาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือระหว่างหน่วยงานเอกชนกับรัฐที่ต้องปิดกิจการ ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ด้วยการใช้ถ้อยทีถ้อยอาศัย ผ่อนปรนต่อกันได้
(3) ความสันโดษ แม้จะถูกออกจากงานที่ทำ ก็ยินดี เต็มใจที่จะทำงานอื่น แม้จะมีรายได้น้อยกว่าก็ยินดีทำ เคยเป็นผู้จัดการบริษัทมาก่อน แต่มาขับรถแทรกซี่ก็ทำได้ เคยเป็นพนักงานธนาคารแล้วมาขายกล้วยทอดก็ทำได้ อีกประการหนึ่งคือการรู้ประมาณในการบริโภคในการใช้จ่าย มุ่งให้ประหยัด ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง
(4) ความสมานสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในชาติในอันที่จะพร้อมใจกันกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ดีกินดี แม้จะเสียสละเงินทองบริจาคช่วยชาติก็เต็มใจที่จะบริจาค
จะเห็นว่า พุทธศาสนามีบทบาทต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน แม้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้เข้าไปมีบาทในทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็มีบทบาทและอิทธิในทางอ้อม โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ อันเป็นพื้นฐานสำคัญ
4. เอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาแบบไทย[8]
พระไพศาล วิสาโล เขียนสรุปไว้ว่า  พุทธศาสนาที่แพร่หลายในประเทศไทย มีต้นทางจากประเทศศรีลังกาไม่น้อยกว่า 800 ปี ดังนั้น จึงมีลักษณะหลายประเทศคล้ายกับที่นับถือในประเทศศรีลังกา เช่น การแบ่งพระภิกษุเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฝ่ายอรัญวาสี คือ พระที่อยู่ป่า เน้นด้านการปฏิบัติกรรมฐาน กับ ฝ่ายคามวาสี คือ พระที่อยู่เมืองหรือบ้าน เน้นด้านปริยัติ โดยมุ่งศึกษาและรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งทำให้การนับถือพุทธศาสนาของคนไทยมีการแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจน ระหว่าง การศึกษาตำรา กับ การปฏิบัติ โดยเฉพาะในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามของบุคคลอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสที่ประสานการศึกษาและปฏิบัติเข้าด้วยกัน และได้รับความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นกระแสรอง
                   พระสงฆ์ไทยหากแบ่งเป็นทางการจะมี 2 นิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุติกนิกาย ซึ่งนิกายหลังเกิดขึ้นจากความพยายามปฏิรูปพุทธศาสนาเมื่อ 175 ปีที่แล้ว มหานิกายประกอบด้วยพระสงฆ์ประมาณร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ ในความเป็นจริงพระที่ถูกเรียกว่าฝ่ายมหานิกายนั้นหาได้มีแบบแผนการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวไม่ แต่มีความหลากหลายมาก ที่จริงควรเรียกว่า นิกายที่ไม่ใช่ธรรมยุตมากกว่า (non-dhammayut) เพราะมหานิกายเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังจากมีคณะธรรมยุตแล้ว ใช้เรียกพระทั้งหมดที่ไม่สังกัดธรรมยุติกนิกาย ซึ่งในเวลานั้นมีหลากหลาย นิกายมาก แต่ภายหลังได้ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการ (แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่มีแนวปฏิบัติและคำสอนเฉพาะตน แตกต่างจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่) อย่างไรก็ตามในเมืองไทยยังมีพระสงฆ์ที่ไม่ใช่เถรวาท  ได้แก่ พระสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย แต่เป็นส่วนน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีภิกษุณีซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายสิบรูป แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคม
                   ปัจจุบันพระสงฆ์ที่สังกัดทั้งสองนิกาย มีแนวทางการปฏิบัติและคำสอนคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างตรงประเด็นปลีกย่อย ดังนั้น ประชาชนที่เลือกนับถือพระสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่งจึงมีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่ไม่สู้แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ นับถือพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย ไม่มีการแบ่งแยก ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ล้วนอยู่ภายใต้องค์กรสงฆ์เดียวกัน โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งมีตัวแทนของมหานิกายและธรรมยุตจำนวนเท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เหลือได้มาจากการแต่งตั้ง คณะสงฆ์ไทย ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล อีกทั้งยังต้องพึ่งอำนาจรัฐในการรักษาเอกภาพในคณะสงฆ์ นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังมีหน้าที่เสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นสมเด็จพระสังฆราชเพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนา ดังนั้น คณะสงฆ์กับรัฐจึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ความสัมพันธ์ดังกล่าวจัดว่าเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาไทยเมื่อเทียบกับพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศอื่น ๆ ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ยังเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ อีกทั้งพิธีการของรัฐ มักมีพิธีการทางพุทธศาสนามาเกี่ยวข้อง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอยู่กลาย ๆ แม้ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม
                   พุทธศาสนาไทยให้ความสำคัญกับบทบาทของพระสงฆ์มาก ในอดีตพระสงฆ์เป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลก คือไม่เพียงให้การอบรมทางด้านศีลธรรมและการพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา วัฒนธรรม การแพทย์ และการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พระสงฆ์มีบทบาทลดน้อยลง วัดมิได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไป โดยเฉพาะในเมือง พระมีบทบาทด้านพิธีกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะงานศพ ด้วยเหตุนี้คำสอนทางพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่น้อยมาก การศึกษาสมัยใหม่ ตลอดจนสื่อมวลชนและระบบเศรษฐกิจซึ่งเน้นความสำเร็จทางโลก เช่น ความมั่งคั่งร่ำรวย มีอิทธิพลมากกว่า ค่านิยมดังกล่าวกลับมามีอิทธิพลต่อพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ทำให้คำสอนของท่านเน้นความสำเร็จทางโลก มากกว่าการลดละกิเลส หรือการเข้าถึงความสุขทางจิตใจ
                   ชาวพุทธไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการทำบุญมาก การทำบุญในพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติทางศาสนาของชาวพุทธไทยจะเน้นหนักที่การให้ทาน หรือการประกอบพิธีกรรม มากกว่าการรักษาศีล ดังนั้นในแต่ละปีเงินที่ใช้ในการทำบุญจึงมีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท แต่ในเวลาเดียวกันความหย่อนยานในเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล 5 อันเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย ยิ่งการบำเพ็ญภาวนาด้วยแล้ว ยิ่งมีน้อยลงไป อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในเรื่องสมาธิภาวนามากขึ้น มีสำนักปฏิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยก็หันมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมากขึ้น หนังสือเกี่ยวกับธรรมะได้รับความสนใจอย่างมาก จนกลายเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ขายดีในเมืองไทย
                   ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนาแบบฆราวาส คือ การที่ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้นในพุทธศาสนา ขณะที่บทบาทของพระสงฆ์ลดน้อยลง นอกจากครูสอนธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติจะเป็นฆราวาสมากขึ้นแล้ว ฆราวาสที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ช่องว่างระหว่างฆราวาสกับพระมีมากขึ้น ฆราวาสมีความศรัทธาน้อยลงต่อพระสงฆ์ ขณะที่การศึกษาของฆราวาสก้าวหน้ามากขึ้น จนรุดหน้าพระสงฆ์ส่วนใหญ่
                   อย่างไรก็ตามยังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ มีบทบาททั้งด้านปฏิบัติและเผยแผ่ สามารถชักนำให้ฆราวาสหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง มีทั้งพระสงฆ์ในเมืองและพระสงฆ์ในป่า โดยเฉพาะประเพณีการปฏิบัติแบบวัดป่านั้นได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ฆราวาสนักปฏิบัติที่อยู่ในเมือง ในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีผู้นิยมไปปฏิบัติในวัดป่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเห็นคุณค่าของการถือเพศพรหมจรรย์อย่างภิกษุ (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยหันมาบวชภิกษุณี) นอกจากนั้นยังมีพระสงฆ์อีกมากที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากทั้งในเมืองและชนบท
                   ในอดีต มีธรรมเนียมว่าผู้ชายที่นับถือพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ 20 ปีจะต้องบวช ก่อนที่จะมีครอบครัว หรือได้ใช้ชีวิตในสมณเพศสักครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้เลือนหายไปมาก หลายคนแม้จะบวช ก็บวชแค่ 15 วัน หรือน้อยกว่านั้น ขณะที่ผู้ที่บวชนาน 3 เดือนมีน้อยลงแม้กระทั่งในชนบท เพราะครอบครัวมีลูกน้อยลง (เฉลี่ย 2 คน) จึงต้องการแรงงานไปช่วยในไร่นาไม่สามารถให้ลูกบวชพระได้นาน
                   พุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือนิพพาน อันเป็นผลจากการมีปัญญาเห็นความจริงแจ่มแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงนั้นล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดติดถือมั่น เมื่อจิตปล่อยวางสังขารทั้งปวงได้ ก็เป็นอิสระจากความทุกข์ อย่างไรก็ตามชาวพุทธไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในทางโลก หรือประโยชน์ปัจจุบันที่จับต้องได้ เช่น ทรัพย์ สุขภาพ งานการ และครอบครัว รวมทั้งปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง รองลงมาคือ การมีชีวิตหน้าที่ผาสุกหรือเป็นสุคติ เช่น บังเกิดในสวรรค์ มีส่วนน้อยที่มุ่งนิพพาน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การมีนิพพานเป็นเป้าหมาย ได้กลายเป็นอุดมคติของชาวพุทธจำนวนมากขึ้น รวมทั้งฆราวาสชนชั้นกลางที่มีการศึกษา แม้ว่าแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน ยังมีความแตกต่างกันอยู่
5. สรุป
พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทย 4 ยุค[9] คือ
ยุคที่ 1 ยุคเถรวาทแบบพระเจ้าอโศกมหาราช นับแต่ช่วงเวลาที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 3 ได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่ โดย คณะพระสมณทูตสายที่ 8 มี พระโสณเถระ และ พระอุตตรเถระเป็นประธานได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ หลักฐานที่พบในประเทศไทยขุดค้นพบที่จังหวัดนครปฐม คือ ศิลารูปธรรมจักรกับกวางหมอบ แท่นสถูป อันเป็นสิ่งเคารพบูชาเหมือนกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ยุคที่ 2 ยุคมหายาน ประมาณ พ.ศ. 620 พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ 4 ของฝ่ายมหายานที่เมืองชลันธร และ ได้ส่งคณะพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในเอเชียกลางจนถึงประเทศจีน และ จากจีนก็เผยแผ่ต่อมายังอาณาจักรอ้ายลาว พ.ศ. 1300 กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตรา ได้ขยายอำนาจเข้ามาถึงดินแดนตอนใต้ของไทย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนแถบนี้ หลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (องค์เดิม) พระพุทธรูป เทวรูปหล่อ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระพิมพ์ต่าง ๆ ในระหว่าง พ.ศ. 14541725 ขอมมีอำนาจเข้ามาครอบงำแผ่นดินประเทศไทย ขอมนับถือนิกายมหายาน เมื่อมีอำนาจทำให้อิทธิพลของมหายานครอบคลุมไปทั่ว เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามหายานรุ่งเรือง ทำให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาทั้งสองแบบและศาสนาพราหมณ์ผสมผสานกันไป
 ยุคที่  3  ยุคเถรวาทแบบพุกาม  เมื่อ พ.ศ. 1600 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งพม่ามีอำนาจ ทรงตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพุกาม ทรงแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมมาถึงดินแดนตอนเหนือของไทย คือ ล้านนา ลงมาถึงลพบุรีและทวาราวดี  พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามซึ่งเป็นสายที่มาจากเมืองมคธ ประเทศอินเดีย   จึงครอบงำคนไทยแถบนั้นไปด้วย คนไทยจึงหันไปนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามอีก   แต่อย่างไรก็ดี คนไทยฝ่ายใต้ลงมาส่วนใหญ่คงนับถือฝ่ายมหายานอยู่
 ยุคที่  4  เถรวาทแบบลังกาวงศ์เมื่อ พ.ศ. 1698 พระเจ้าปรักกมพาหุแห่งประเทศลังกาได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา  ได้อาราธนาพระมหากัสสปะชำระสะสางพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาก็กลับรุ่งเรือง มีชื่อเสียงไปไกล ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็สนใจพากันเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและได้รับการอุปสมบทใหม่    ครั้นศึกษาจนจบแล้วก็กลับบ้านเมืองของตน เฉพาะประเทศไทย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่นครศรีธรรมราช  
นับแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ฝังรากลึกในจิตใจขิงสังคมไทย ผ่านยุคสมัย นับแต่ สมัยทวาราวดีเป็นต้นมาถึงสมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความมั่นคงมากที่สุดในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกตั้งอยู่ในประเทศไทย
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานทางความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิตมีผลต่อวัฒนธรรมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางในการอบรมสั่งสอนฝึกฝนอบรมเยาวชนให้เป็นคนดีโดยใช้พุทธศาสนาช่วยพัฒนาจิตใจ  พระพุทธศาสนามีความสำคัญ  ในฐานะเป็นศาสนาหลักของชาติไทย ในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย ในฐานะสภาพแวดล้อมและครอบคลุมสังคมไทย  
พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อสังคมไทยหลายด้าน ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ
เอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาแบบไทย  พระภิกษุแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอรัญวาสี คือ พระที่อยู่ป่า เน้นด้านการปฏิบัติกรรมฐาน กับ ฝ่ายคามวาสี คือ พระที่อยู่เมืองหรือบ้าน เน้นด้านปริยัติ ศึกษาและรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา พระสงฆ์ไทย มี 2 นิกาย คือ มหานิกาย กับ ธรรมยุติกนิกาย ยังมีพระสงฆ์ต่างนิกาย เช่น พระสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย
                    คณะสงฆ์กับรัฐมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก   ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ยังเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ อีกทั้งพิธีการของรัฐ มักมีพิธีการทางพุทธศาสนามาเกี่ยวข้อง
 ในอดีต พระสงฆ์เป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลก คือไม่เพียงให้การอบรมทางด้านศีลธรรมและการพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา วัฒนธรรม การแพทย์ และการพัฒนาชุมชน  ในปัจจุบัน พระสงฆ์มีบทบาทลดน้อยลง  อย่างไรก็ตามยังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ มีบทบาททั้งด้านปฏิบัติและเผยแผ่ สามารถชักนำให้ฆราวาสหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง  
                   ในอดีต มีธรรมเนียมว่าผู้ชายที่นับถือพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ 20 ปีจะต้องบวช ก่อนที่จะมีครอบครัว ใช้ชีวิตในสมณเพศครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้เลือนหายไป
ชาวพุทธไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ  3 ประเภท คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนใหญ่ชาวพุทธไทยจะเน้นหนักที่การให้ทาน หรือ การประกอบพิธีกรรม มากกว่าการรักษาศีล  มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในทางโลก หรือประโยชน์ปัจจุบันที่จับต้องได้ เช่น ทรัพย์ สุขภาพ งานการ และครอบครัว มีส่วนน้อยที่มุ่งนิพพาน
เอกสารอ้างอิง
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับชาติไทย. กรุงเทพฯ; มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2536.
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2532.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯซ ธรรมสภา, 2540.
พระราชธรรมนิเทศ, (ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2536.
นนท์ ธรรมสถิตย์. พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์ เอดิสัน. 2532.
เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2535.
http://www.dhammathai.org/thailand/thailand.php.
http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=22046.
http://www.thairath.co.th/content/331687.
http://www.asc.mcu.ac.th/?bwl_kb=buddhism-thailand.
http : //www.visalo.org korobiznet รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล.
http://thaitemple.org รายนามวัดในเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา.
                http://udn.onab.go.th/attachments/504_watthaitangpratet.pdf. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.



[1] http://www.dhammathai.org/thailand/thailand.php
[2] http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/buddhism_to_the_country/06.html
[3] http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=22046
[4] http://www.thairath.co.th/content/331687
[5] http://thaitemple.org รายนามวัดในเครือสมัชชา
[6] http://udn.onab.go.th/attachments/504_watthaitangpratet.pdf
[7] http://www.asc.mcu.ac.th/?bwl_kb=buddhism-thailand
[8] รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet     

[9] https://sites.google.com/site/khruphrphilixublsthitynangfa/sara-kar-reiyn-ru-raywicha-phraphuthth-sasna/kar-pheyphae-phraphuthth-sasna-khea-su-prathesthiy