วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

การศึกษาในยุคจรวด

การศึกษาในยุคจรวด
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ใครก็ตามที่คิดและตัดสินใจทำอะไรช้าๆ มักจะถูกตราหน้าว่า ไม่ทันสมัย เป็นคนโบร่ำโบราณ ขาดวิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกล เป็นผู้ที่ไม่กล้าเสี่ยงต่อการตัดสินใจ เข้าลักษณะของคนโบราณที่สอนกันมาฝังหัวว่า ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ถ้าคนดังกล่าวมาเกิดในยุคสมัยนี้ก็จะถูกแซงหน้าและพวกก็กันเอาไว้ด้านหลัง เพราะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ทันการณ์ ทันเวลา ตามยุคจรวด
ถามว่า การทำอะไรช้าๆ ไม่ดีเลยหรือ และ การทำอะไรที่รวดเร็วว่องไว ดีไปหมดหรือ ?
เป็นคำถามที่ท้าทายนักคิดนักวิจารณ์ทั้งหลายว่า จะเลือกข้างเชียร์ฝ่ายใด เมื่อเลือกข้างเชียร์แล้ว แน่นอน เหตุผลของแต่ละท่านที่สนับสนุนความคิดตนย่อมเป็นคำตอบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งนี้ เราต้องมาดูภาพรวมกันหละ
ภาษิตไทยที่ว่า “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” นั้น ผมคิดเอาเองว่า คนแต่ก่อนเป็นคนช่างสังเกต การประดิษฐ์เครื่องมือหรือเครื่องทุนแรงของตน โดยเอาการตีมีดตีพร้าเป็นกรณีศึกษา การตีมีดพร้า นายช่างตีมีดพร้าย่อมเลือกวัตถุดิบอย่างดีมาตี เหล็กต้องกล้าและมีความเหนียว คุณสมบัติแค่เหล็กกล้าอย่างเดียว แน่นอน ย่อมแกร่ง และมีความคม แต่สิ่งใดที่กล้าแกร่ง ก็ย่อมเปราะ ไม่ยืดหยุ่น บิ่น แตกหักง่าย หรือ เหล็กมีความเหนี่ยวอย่างเดียวก็อ่อน ไม่คมกล้า คนโบราณจึงเอาเหล็กทั้งสองชนิดมาตีเข้าด้วยกัน ต้องตีให้เข้าอย่างกันได้สนิทเป็นเนื้อเดียว กว่าจะได้เนื้อเดียวทั้งแผ่นเหล็ก ต้องใช้เวลานาน ใช้ความมานะอดทน วิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง การตีเหล็กจะเร่งตีให้เสร็จๆไปก็ไม่ได้ ต้องค่อยตีไป พิเคราะห์ไป ทดสอบความเหนียวกับความกล้าไปด้วยกัน
เทคโนโลยีปัจจุบัน จะเอาเหล็กที่มีคุณสมบัติสองชนิดไปหลอมรวมกันด้วยความร้อนและหล่อแบบ ออกมาเป็นมีดเป็นพร้า ให้มีคุณสมบัติเหมือนเหล็กตี จะ ได้หรือไม่ ก็ยังขาดความรู้และไม่แน่ใจว่า  จะทำได้หรือไม่ หากทำได้ ก็คงเป็นมีดพร้าเหล็กหล่อ มิใช่มีดพร้าจากกระบวนการตี   ที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูป ตบแต่ง ค่อยดัด อย่างช้าๆ ใจเย็นๆ สุดท้ายก็จะได้พร้าเล่มงาม ที่มีคุณภาพทั้งความเหนียวและความคมกล้าด้วยกัน การตีมีดพร้าแต่ละดวงจึงต้องพิถีพิถัน สุดท้าย ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ใช้ไปจนกุดก็ยังมีคุณค่า ฝนเกือบหมดเล่ม ความคมก็ยังมีอยู่
มองย้อนมาที่สถานการณ์ทางการศึกษาบ้านเรา เดี๋ยวนี้ เป็นยุคจรวด อะไรๆก็ต้องการความฉับไวเป็นที่ตั้ง เช่น มีคนที่ต้องการเร่งผลิตบัณฑิตออกมาชนิดตามกระแสตลาด เข้าโปรแกรมเร่งด่วน เรียนแบบกวดวิชา หลักสูตรระยะสั้น หายหน้าไปแค่ปีเดียวจบปริญญามาแล้ว  จึงไม่ค่อยแน่ใจคุณภาพของการเร่งผลิตบัณฑิตแบบนี้ออกมาตามกระแสตลาด  ความรู้มิใช่สิ่งสำเร็จรูปที่จะยัดเยียด บรรจุใส่สมองให้กันได้ ทว่า องค์ความรู้เป็นเรื่องต้องค่อยก่อ ค่อยสาน ค่อยฝึกฝนอบรม เพาะบ่ม ตามลำดับ  ความแก่กล้าทางสติปัญญาจึงจะเกิด จบเป็นบัณฑิตและมีความพร้อมทั้งคุณวุฒิภูมิรู้ และวุฒิภาวะรับผิดชอบ แต่การคอยเติมเต็มเขาให้เกิดวุฒิภาวะนั้น ก็ยังเป็นเรื่องยากสักหน่อย
อยากแสดงความเห็นว่า ไหน ๆ ประเทศไทยทำการปฏิรูปการศึกษา ไม่น่าจะเพียงแค่ต้องการเร่งแข่งขันผลิตบัณฑิต  นับใบปริญญามาจัดระดับอวดกันว่า ใครผลิตได้ไวและมรจำนวนมากกว่า ทำนองแมสโปรดักซ์ จึงไม่น่าจะเป็นคำตอบที่คนในสังคมต้องการ
จรวดไปได้ไวและไกลก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนก็คือ ทุนการผลิตจรวด เชื้อเพลิงจรวดที่แพงกว่าน้ำมันเตา นั่นหละ  เทียบกับธุรกิจการศึกษาเชิงพาณิชย์ ใครต้องการไวก็ต้องลงทุนสูงเป็นธรรมดา
นี่มนุษย์นะ ไม่ใช่วัสดุที่จะนำไปหลอมเร่งปฏิกิริยาทางคุณภาพได้อย่างทันอกทันใจ
เราปฏิรูปผิดทาง หรือผิดวิธีหรือเปล่าครับท่านผู้รู้ทั้งหลาย
ทางออกจากลู่วิ่งแข่งขัน ธุรกิจการศึกษา ที่สุกเอาเผากิน เร่งให้จบตามหลักสูตร หรือไวกว่าหลักสูตร ด้วยการเทียบโอนนั่นนี้  จะมีไหมหนอ

ลงใน เส้นทางเศรษฐกิจ / พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 18 มีนาคม 2545