วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การวิจัยทางปรัชญาและศาสนา






การวิจัยทางปรัชญาและศาสนา

เรียบเรียงโดย
ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม 
และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการอบรมนักวิจัย
o รุ่นที่ 1  วันที่  12-13 มกราคม 2555
o รุ่นที่ 2  วันที่  21-22 มีนาคม 2555
o รุ่นที่ 3  วันที่  23-24 สิงหาคม 2555

ณ ห้องประชุม อาคารรวม บัณฑิตวิทยาลัย - สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2555

เนื้อหา
1
การวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา : หลักการ วิธีการ และเป้าหมาย
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์  [1]
-----------
1.    ความนำ     
การที่จะกล่าวถึงการวิจัยทางปรัชญา ขอให้พิจารณาถึงกรอบความคิดที่ว่าด้วยวิชาปรัชญาก่อน เคยได้ยินการสนทนากันเล่นๆในวงเสวนาว่า  ใครก็ตามที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรที่ผู้ฟังต้องขบคิด และตีความหมายออกมา  เช่น ประโยคที่ว่า “จงอย่าทำตนตามกระแส หรือทวนกระแสของสังคม แต่จงทำตนให้อยู่เหนือกระแส” หรือประโยคที่ว่า “ถ้ารู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ แล้ว อีกหลายอย่างก็จะรู้ได้” และ ฯลฯ  ก็จะถูกตัดพ้อว่า อย่าพูดเป็นปรัชญาเลย เพราะฟังไม่เข้าใจ นั่นคือการเข้าใจ ปรัชญาที่ยังไม่ถูกต้อง
1.1 ปรัชญา คือ อะไร
ความหมายตามรูปศัพท์
“ปรัชญา” แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ ความรู้ที่ดีเลิศ ความรู้อันสูงสุด ความรู้รอบ ความรู้ทั่ว หรือความเปรื่องปราด  ความหมายตามรากศัพท์ภาษาไทย พระเจ้าวรวงค์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บัญญัติศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า ปฺร แปลว่า สูงสุด หรือ ประเสริฐ และ ชญา แปลว่า รู้ รวมความแล้วหมายถึง ความรู้อันสูงสุด พระองค์ทรงบัญญัติศัพท์ มาจากPhilosophy ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณคือ “Philosophia("philos"+"sophia") philos” แปลว่า ความรัก, ความชอบ,ความสนใจ,ศรัทธา หรือความเลื่อมใส “Sophia”แปลว่า ความรู้, ความฉลาด,สติปัญญา, ความเป็นปราชญ์ หรือความเปรื่องปราด ดังนั้น “Philosophy” จึงแปลว่า ความรักความสนใจในความรู้ ความสนใจในความฉลาด หรือความชอบ ความใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้ ความรักในการศึกษาเล่าเรียน อยากฉลาด อยากเป็นนักปราชญ์ อยากเป็นบัณฑิต
ความหมายของ “ปรัชญา” ตามคำกล่าวของนักปราชญ์
นักปราชญ์ทั้งหลายให้ความหมายของปรัชญาในด้านต่างๆ ซึ่งก็สื่อให้รู้ว่า ปรัชญาหมายความว่าอย่างไร ดังได้เสนอต่อไปนี้
 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  ให้ความหมายว่า “ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยหลักความรู้และความจริง”
เพลโต นักปรัชญากรีก กล่าวว่า “ปรัชญาหมายถึงการศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของ สิ่งทั้งหลาย”
อริสโตเติล กล่าวว่า “ปรัชญาคือศาสตร์ที่สืบค้นถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีอยู่โดยตัวเอง ตลอดจนคุณลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งนั้น”
โอกัส กองต์ กล่าวว่า “ปรัชญาคือศาสตร์ของศาสตร์ทั้งหลาย (Science of Science)
วุนต์ กล่าว ว่า “ปรัชญา คือการรวบรวมความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆมาไว้ในที่เดียวกัน” 
เสฐียร พันธรังษี กล่าว ว่า “ปรัชญา ได้แก่หลักฐานแห่งความรู้ ,หลักวิทยาการหรือหลักประพฤติปฏิบัติ หรือหมายถึงความเชื่ออันใดอันหนึ่ง เป็นความรู้ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้าใดๆ”
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า “ปรัชญา หมายถึงหลักความดีที่สามารถสอนกันเองได้ คิดค้นมาใหม่ได้ ซึ่งมีจดจารึกกันไว้เพื่อศึกษากันต่อมา ไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่ได้มาจากเทพเจ้า หรือสวรรค์ชั้นใด”
ถ้าจะอธิบายว่า ปรัชญา คือ ประมวลความคิดเห็นของมนุษย์เกี่ยวกับความเป็นจริงต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบคำถาม 3 ประการ คือ 1. ความเป็นจริงคืออะไร 2. เรารู้ความจริงได้อย่างไร  3. เราพึงปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับความเป็นจริงที่พบ ดังนั้น ปรัชญา เป็นแนวคิดด้วยเหตุและผล(ทฤษฎี) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องต่างๆ
1.2 ประเภทและสาขาของปรัชญา
ประเภทของปรัชญา แบ่งเป็น 2ประเภทใหญ่ คือ
   1) ปรัชญาบริสุทธ์ และ
   2) ปรัชญาประยุกต์
1) ปรัชญาบริสุทธิ์มี 5 สาขา คือ
(1) อภิปรัชญา คือ สาขาที่ว่าด้วยการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความจริงสูงสุด
  ก. วัตถุนิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่าความจริงสูงสุด คือ สสาร หรือพลังงาน
  ข. จิตนิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงสูงสุด คือ จิต สสารเป็นผลมาจากจิต
  ค. ทวินิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงสูงสุดมีทั้งในสสารและจิต
อภิปรัชญายังสามารถแบ่งโดยทั่วไปได้เป็น
  ก. ภววิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับความจริงสากล ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
  ข. เทววิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับจักรวาล
  ค. จักรวาลวิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับความจริง บ่อเกิด และโครงสร้างของจักรวาล
(2) ญาณวิทยา หรือ ทฤษฏีความรู้
ปรัชญาตะวันตกแบ่งบ่อเกิดความรู้เป็น 3 ทาง คือ
  ก. ประสบการณ์  คือ ความรู้เกิดจากประสาทสัมผัส
  ข. เหตุผล คือ ความรู้เกิดจากคิดตามหลักเหตุผล
  ค. การหยั่งรู้ภายใน(อัชญัติกญาณ) คือ ความรู้เกิดขึ้นในใจโดยตรง
ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับญาณวิทยา
  ก. ลัทธิประสบการณ์นิยม เชื่อว่า ประสาทสัมผัสเป็นมาตรการในการตัดสินความจริง
  ข. ลัทธิเหตุผลนิยม เชื่อว่า เหตุผลเป็นมาตรการในการตัดสินความจริง
  ค. ลัทธิอัชฌัติกญาณนิยม เชื่อว่า อัชฌัติกญาณเป็นมาตรการในการตัดสินความจริง
(3) จริยศาสตร์ คือ สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความดี
  ก. ความดีคืออะไร (ปัญหาเรื่องความมีอยู่ของคุณค่า)
  ข.ปัญหาเรื่องเกณฑ์ในการตัดสินความดี
  ค.ปัญหาเรื่องอุดมคติของชีวิต การใช้ชีวิตแบบใดคือการใช้ชีวิตที่ดี
(4) สุนทรียศาสตร์ คือ สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความงาม ศิลปะในธรรมชาติ เป็นต้น
กลุ่มที่ตัดสินความงามในสุนทรียศาสตร์เช่น
   ก. กลุ่มอารมณ์นิยม กล่าวว่า ความงามขึ้นอยู่กับอารมณ์
                    ข. กลุ่มเหตุผล กล่าวว่า ความงามคือการเห็นสิ่งที่ไม่ขัดตา
                    ค. กลุ่มสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความงามเกิดมาจากความสามารถในการสร้างสรรค์
(5) ตรรกศาสตร์ คือ กฎเกณฑ์การใช้เหตุผล เครื่องมือในการหาคำอธิบายคำตอบอย่างมีเหตุมีผล มีการเปรียบเปรยว่า คณิตศาสตร์คือเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริง เช่นใด ตรรกศาสตร์ก็คือเครื่องมือในการค้นหาคำตอบ อธิบายคำตอบของนักปรัชญาเช่นนั้น ตรรกศาสตร์ไม่ใช่ตัวความจริง แต่เป็นเครื่องมือในการหาความจริง
2) ปรัชญาประยุกต์
(1) ปรัชญาศาสนา 
(2) ปรัชญากฎหมาย
(3) ปรัชญาการศึกษา
(4) ปรัชญาวิทยาศาสตร์
(5) ปรัชญาการเมือง
(6) ปรัชญาภาษา
(7) ปรัชญาจิต
(8) ปรัชญาประวัติศาสตร์
(9) ปรัชญาคณิตศาสตร์
(10) ปรัชญาสังคม
          ความรู้ทางปรัชญา จึงเป็นองค์ความรู้ทุกอย่าง และไม่จำกัดอยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะปรัชญาจึงเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์ต่างๆ เป็นศาสตร์สากล(Universal Science) แม้ว่าศาสตร์ทั้งหลายจะแตกต่างจากปรัชญาตรงที่ให้ความจริงแท้แน่นอน และมีกฎเกณฑ์เฉพาะมารองรับ แต่ศาสตร์เหล่านั้นก็ยังไม่พ้นจากกรอบของปรัชญาไปได้ เพราะปรัชญาได้ติดตามแทรกไปอยู่ดุจยาดำในทุกศาสตร์ นั่นคือแต่ละศาสตร์ย่อมจะมีทฤษฎี จุดหมาย คุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้ก็คือปรัชญานั่นเอง เพราะฉะนั้น ปรัชญาจึงมีทั้งก่อนจะเป็นศาสตร์ และหลังจากการเป็นศาสตร์แล้ว (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2547)
          1.4 เครื่องมือทางปรัชญา
                    เครื่องมือทางปรัชญาที่ใช้ในการแสวงหาความจริง มีดังต่อไปนี้
                             1. เหตุผล หรือ การให้เหตุผล(Reasoning)
                             2. การสังเกต และการทดลอง(Experiment)
                             3. ความสงสัย(Doubt) และความประหลาดใจ(Wonder)
                                      4. ศรัทธา หรือ ความเชื่อ(Faith)
                                      5. อัชฌัติกญาณ หรือปัญญาหยั่งรู้ฉับพลัน(Intuition)

2.  การวิจัยทางปรัชญา หนึ่งในสาขาของการวิจัยทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์
วิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social research) เป็นการวิจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การวิจัยด้านปรัชญา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นต้น การวิจัยทางสังคมศาสตร์นี้แตกต่างกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาก เนื่องจากสังคมศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยสังคม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งวัดไม่ได้โดยตรงและควบคุมได้ยาก แต่มนุษย์ก็ได้พยายามวัดโดยใช้เครื่องมือวัดทางอ้อม เช่น ใช้แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบวัดเจตคติ ฯลฯ และได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวิจัย ทำให้ผลการวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การวิจัยทางสังคมศาสตร์อาจจำแนกตามสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้
2.1 สาขาปรัชญา เช่น หลักปรัชญา วรรณคดี การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เป็นต้น  
2.2 สาขานิติศาสตร์ เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายการปกครอง ฯลฯ
2.3 สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เช่น การเมือง การปกครอง การบริหารราชการทั่วไป ฯลฯ
2.4 สาขาเศรษฐศาสตร์ เช่น การเงินและการคลัง เศรษฐศาสตร์การพัฒนา ฯลฯ
2.5 สาขาสังคมวิทยาศาสตร์ เช่น ประชากรศาสตร์ พัฒนาชุมชน ฯลฯ

การวิจัยทางสังคมศาสตร์เจริญก้าวหน้าช้ากว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพราะว่าปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์นั้นมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น
1) การควบคุมปรากฏการณ์ทางสังคมให้คงที่นั้นทำได้ยาก
2) เมื่อวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปด้วย
3) การทำนายผลบางอย่างล่วงหน้า อาจไม่เกิดผลนั้นขึ้นมาเพราะมนุษย์อาจป้องกันไว้ล่วงหน้าได้
4) การที่จะศึกษาความคิด ความรู้สึกและเจตคติของมนุษย์นั้นทำได้ยากและวัดได้ยาก
5) ปัญหาทางสังคมศาสตร์จะเหมือนกับปัญหาของสามัญชน ทำให้คนทั่วไปคิดว่าวิชาสังคมศาสตร์เป็นวิชาสามัญสำนึกได้ แม้ว่าการวิจัยทางสังคมศาสตร์จะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการก็ตาม แต่การวิจัยทางด้านนี้ก็สามารถศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ได้มากพอสมควร

แนวทางการศึกษา ใช้แบบการวิจัยเชิงตีความ  (Interpretive Approach) เกี่ยวข้องกับตัวแปรจำนวนไม่มาก  แต่เป็นตัวแรกที่รู้สึกจริงในเรื่องที่เราศึกษา  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  (Qualitative Research) โดยการศึกษาวิจัยในด้านต่าง ๆ คือ  ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์  ศิลปะ วรรณกรรม  เป็นต้น ที่กล่าวมาแล้วก่อนนี้

3. หลักการวิจัยทางปรัชญา
หลักการทางปรัชญา คือ การคิดที่เป็นระบบ  นับตั้งแต่ สงสัยในความเชื่อ หรือความรู้แบบเดิม ตรวจสอบองค์ความรู้ อย่างพินิจพิเคราะห์  ทบทวนใหม่ วิเคราะห์  วิจารณ์ ประเมินค่า แล้วสร้างปรัชญาที่เป็นระบบขึ้นมา หากจะตรวจสอบกับแนวคิดและวิธีการของการวิจัยโดยทั่วไปก็อาจกล่าวได้ว่า หลักการและวิธีการวิจัยพัฒนามาจากแนวคิดและวิธีการทางปรัชญา ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า  วิชาปรัชญา ถือ ได้ว่าเป็นศาสตร์แม่บทของวิชาการทั้งหลาย มีทั้งก่อนจะเป็นศาสตร์ และหลักจากการเป็นศาสตร์แล้ว นักปรัชญาทั้งหลายได้ตั้งปัญหาพื้นฐานไว้ 3 ประการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่นักวิจัยทั้งหลายต้องคิดคำนึงถึงเช่นเดียวกัน ประเด็นแรกเป็นปัญหาทางอภิปรัชญา คือ ความจริงคืออะไร  ความรู้ที่ค้นหากันตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันถือว่าเป็นความจริงหรือไม่ ประเด็นต่อมาเป็นปัญหาทางญาณวิทยา คือ มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้หรือไม่  จะเข้าถึงได้โดยวิธีใดและวิธีการใดที่ดีที่สุด และ ประเด็นสุดท้ายเป็นปัญหาทางคุณวิทยา คือ การเข้าถึงความจริงนั้นเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติในแง่ใด  
หลักการวิจัยทางปรัชญาก็คงไม่แตกต่างกันกับหลักการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพราะเป็นการวิจัยทางหลักความคิด ตรวจสอบกระบวนทัศน์ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนมาจากค่านิยม อุดมการณ์ทางความคิด หรือ การปฏิบัติหรือการดำรงชีวิตที่อาศัยฐานความคิด ดังหลักการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น เพียงแต่การวิจัยทางสาขาปรัชญาอาจมีรายละเอียดที่เป็นแบบเฉพาะของตน แยกย่อยออกไปตามสาขาและประเภทของเนื้อหาวิชาต่างๆเท่านั้นเอง
แนวคิดและหลักการทางปรัชญา รวมถึงระเบียบวิธีวิจัยทางปรัชญา ต้องเอื้ออาศัยกันและเกี่ยวข้องกัน และอาจจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการของวงการวิจัยโดยตรงด้วย เพราะแนวความคิดทางปรัชญาของนักปรัชญาสำนักต่างๆ เป็นเสมือนความรู้ด้านทฤษฎี ทั้งนี้เพราะทฤษฎีเปรียบเสมือน “ดวงตา”หรือ “ญาณ” ที่จะช่วยทำให้นักวิจัยมองสิ่งธรรมดาที่อยู่รอบๆตัวออกว่า “อะไรคือประเด็นปัญหาที่ควรหยิบมาทำการวิจัย และปัญหานั้นควรจะถูกศึกษาภายใต้มุมมองอะไร ส่วนความรู้และทักษะในระเบียบวิธีนั้น เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ชาย โพธิสิตา(2547 : 8) กล่าวไว้ว่า “ความรู้ในทฤษฎีและทักษะในระเบียบวิธีเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็จะทำให้การวิจัยหย่อนคุณภาพ นักวิจัยที่มีแต่ทฤษฎี แต่ขาดทักษะในระเบียบวิธี ก็ไม่ต่างอะไรกับช่างไม้ที่มีแต่ความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดเครื่องมือหรือทักษะในการใช้เครื่องมือ ถึงจะมีความคิดดี และมีวัตถุดีบดีเลิศเพียงใด  ประดิษฐกรรมชั้นดีจากฝีมือของเขาก็หาเกิดขึ้นได้ไม่ ในทำนองเดียวกัน นักวิจัยที่เก่งเฉพาะเรื่องระเบียบวิธี แต่ไม่มีความรู้ด้านทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษาอย่างดีพอ ก็ไม่ต่างอะไรกับกัปตันเรือเดินทะเลที่ไม่มีเข็มทิศและเรดาร์นำทาง โอกาสที่จะถึงจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัยย่อมยากลำบาก”
          การวิจัย มีหลักว่า  วิธีคิดต้องมาก่อน วิธีการจะตามมาเอง  วิธีคิดสำคัญ  ทำให้มองเห็นปรากฏการณ์ และเข้าใจ   การวิจัยต้องถูกต้องทั้งวิธีคิดและวิธีการ  และการเข้าถึงความจริงต้องอาศัยการวิจัย อาศัยเพียงความเชื่อ  ความคิดเห็นและเหตุผลเท่านั้นไม่พอ  อย่าเชื่อตามที่เราเห็น ให้พิจารณาตามหลักกาลามสูตร(รำไพ  แก้ววิเชียรสรุปผลการอบรมการวิจัยเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 18-21  มีนาคม  2545 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค, กรุงเทพฯ
นักวิจัยต้องเตือนตนเองเสมอ ว่าสิ่งที่เราเห็น หรือเชื่อตามแนวเหตุผล  เป็นไปได้ 2 ทางเสมอ   ความจริงที่เรามองเห็นเป็นธรรมดา และความจริงที่เรามองข้าม  ปรากฏการณ์ (Phenomena) ที่มองใกล้ หรือ มองไกล จะแตกต่างกัน  ทั้งนี้เพราะมีเงื่อนไขให้เราวิเคราะห์  ขึ้นอยู่กับบริบทที่เกี่ยวข้อง  ดังเช่น แสงไฟฟ้าที่วิ่งวน ที่เรามองเห็นนั้นเพราะเรามองจากที่ไกล เมื่อเราเข้าไปอยู่ไต้ดวงไฟ เราจะบอกว่าไฟนั้นดับสลับดวงเท่านั้น   เราเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์กับการที่เราไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์  จะทำให้เราคิดถึงสิ่งที่เห็น (phenomena) ต่างกัน สภาวะของความจริง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น
      - ความจริงขึ้นอยู่กับบริบท
      - ความจริงขึ้นอยู่กับการตีความของคนที่เกี่ยวข้อง
      - ความจริงที่ปรากฏ ความจริงที่จับต้องได้ (Reliable)
      - ความจริงของเขา กับความจริงที่เราไปวัด
      - ความจริงมีหลายระดับ
          ระดับชั้นของการตีความ ความจริง” จากการศึกษาเอกสาร เราจะเข้าใจคำเมื่อเห็นประโยค
เข้าใจประโยคเมื่อเห็นย่อหน้า   เข้าใจย่อหน้าเมื่ออ่านทั้งบท  เข้าใจบทเมื่ออ่านทั้งเล่ม  เข้าใจหนังสือทั้งเล่มเพราะรู้จักผู้เขียน ตามลำดับ
ดังนั้น หลักการวิจัยทางปรัชญา หากใช้ในการศึกษาเอกสาร ได้แก่ นักวิจัยต้องแม่นทฤษฎีทางปรัชญาที่จะนำมาเป็นกรอบในการศึกษา  ใช้ระเบียบวิธีทางปรัชญาที่อาศัย การตรวจสอบความรู้และความเชื่อเดิม อย่างพินิจพิเคราะห์  ทบทวนใหม่ วิเคราะห์  วิจารณ์ ประเมินค่า ด้วยเหตุผล มีความถูกเที่ยงตรง ถูกต้องตามหลักตรรกะและความเป็นจริง   

4. วิธีการวิจัยทางปรัชญา
          วิธีการวิจัยทางปรัชญา มักจะวิจัยจากข้อมูลเชิงเอกสาร หรือจากแนวคิดของบุคคล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ไม่เน้นการนำเสนอในรูปแบบของตัวเลข ที่สามารถชั่ง ตวง วัด (แต่ก็สามารถใช้การวิจัยเชิงปริมาณได้ หรือ ใช้แบบผสมผสาน บูรณาการก็ได้  ในการวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเสริมการวิเคราะห์เนื้อหา) เพราะการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการศึกษาเชิงคุณลักษณะ มีคำที่ใช้หมายถึงการวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ เช่น “การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา, การวิจัยเชิงมานุษยวิทยา, การวิจัยเชิงธรรมชาติ, การวิจัยศึกษาชีวประวัติบุคคล, การวิจัยเชิงปรากฏการณ์, การวิจัยแบบศึกษาเฉพาะกรณี การวิจัยเชิงวัฒนธรรม” แม้จะดูแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ในแง่ของแนวทาง และวิธีการหลักๆ แล้วไม่แตกต่างกัน ทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่ม วิจัยเชิงคุณภาพ
          แม้จะมี นักปราชญ์ให้คำจำกัดความและขอบเขตการวิจัยเชิงคุณภาพไว้แตกต่างกัน ผู้เขียนเห็นว่า คำจำกัดความเชิงปฏิบัติการที่ให้ไว้โดย  Rice and Ezzy (1999 : 1) ที่มองการวิจัยเชิงคุณภาพว่า เป็นการวิจัยที่ ให้ความสำคัญกับการ ตีความหมาย มุ่งทำความเข้าใจในกระบวนการสร้างและธำรงไว้ซึ่งความหมาย ที่สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน จุดมุ่งหมายของการวิจัยแบบนี้ อยู่ที่การกรองเอาข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ หรือการกระทำ โดยคงไว้ซึ่งบริบทของเหตุการณ์หรือการกระทำเหล่านั้น และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาที่ให้รายละเอียดเป็นบูรณาการ(คือการเชื่อมโยงเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เข้าในระบบความหมายและแบบแผนทั้งหมด) ...การวิจัยเชิงคุณภาพนำเอาแนวคิดทฤษฎีหลากหลายมาใช้ในการศึกษา ..ทฤษฎีว่าด้วยการศึกษาวัฒนธรรม... นอกจากนี้ยังเอาวิธีการเก็บข้อมูลหลายอย่างมาใช้  เช่นการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์เชิงพรรณนา วิธีการชาติพันธุ์วรรณนา และวิธีการสนทนากลุ่มเป็นต้น” มีความสอดคล้องในวิธีการวิจัยทางปรัชญา  ที่ต้องการวิเคราะห์ ความหมาย หาความเป็นเหตุเป็นผล ความสอดคล้องของคำอธิบายข้อมูลกับหลักการทางปรัชญา

โจทหรือปัญหาสำหรับการวิจัยทางปรัชญา
          การวิจัยทางปรัชญา มีโจทหรือปัญหาการวิจัยดุจการวิจัยในสาขาอื่นๆ ที่เริ่มต้นด้วยคำคำถามว่า อะไร (ประเด็นหรือเรื่องที่จะศึกษา) ที่ไหน(ถามถึงแหล่งกำเนิด หรือสถานที่ของเรื่องที่จะศึกษา) เมื่อไร(ถามถึงเวลา หรือช่วงระยะของเลาที่ปรากฏการณ์นั้นดำรงอยู่)  อย่างไร(ถามถึงลักษณะกระบวนการที่ทำให้เกิด หรือสภาพที่เป็นไป รวมถึงผลกระทบที่เกิดทำให้เรื่องนั้นๆต้องเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม) เพราะเหตุไร(ถามถึงสาเหตุและตัวแปร หรืออิทธิพลที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ) 
วิธีการวิจัยทางปรัชญา ไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยในกระบวนการวิจัยต้องประกอบด้วย กระบวนการวิเคราะห์ ในประเด็นดังต่อไปนี้

          4.1 การรวบรวมข้อมูลให้มากพอและหลากหลาย
          4.2 การศึกษาความหมายในแนวคิด
          4.3 ความเป็นมาของเรื่องที่ทำการวิจัย
          4.4 ลักษณะสำคัญของแนวคิด
          4.5 พรรณนารายละเอียดของแนวคิด
          4.6 วิเคราะห์/วิจารณ์และ
4.7 การตีความ/ประเมินค่าข้อมูล
         
5. เป้าหมายการวิจัยทางปรัชญา
          5.1 เพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือข้อค้นพบใหม่ เป้าหมายของการวิจัยทางปรัชญาระดับนี้ ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยว่าต้องการความรู้ลึกซึ้ง สามารถต่อยอดทฤษฎีเดิม หรือขัดแย้งกับทฤษฎีเดิม เป็นการแสวงหาความรู้เชิงลึก ที่เรียกว่า การวิจัยพื้นฐาน แม้ชื่อจะบอกว่า การวิจัยพื้นฐาน แต่มิใช่พื้นฐานที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นการวิจัยที่ต้องการค้นหารากฐานขององค์ความรู้นั้นๆจนถึงแหล่งกำเนิด เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายการวิจัยส่วนนี้ เกิดมาจากการวิจัยในสาขาปรัชญาบริสุทธิ์
          5.2 เพื่อการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในศาสตร์ต่างๆ เป้าหมายอีกประการหนึ่งของการวิจัยเชิงปรัชญาในระดับนี้  ก็เพื่อการนำองค์ความรู้มาปรับใช้ เป็นการวิจัยเพื่อสร้างรูปแบบ หรือ เป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต หรือ แสวงหาหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางความคิด หรือ ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ การวิจัยแบบนี้ อาศัยสาขาปรัชญาประยุกต์ เป็นกรอบในการศึกษา เช่น ปรัชญาการศึกษา เป็นต้น
          ตัวอย่างรายชื่องานวิจัยทางปรัชญา
“การศึกษาจริยศาสตร์สังคมในพุทธศาสนาในเชิงวิจารณ์ = A critical study of social ethics in Buddhism” / ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2520.
“พุทธปรัชญาในงานประติมากรรม = The Buddhist philosophy in the individual sculpture” / ธานี กลิ่นขจร, 2530.
“การศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาในภาษิตไทย = A study of philosophical perspectives in Thai sayings / นัยนา นาควัชระ, 2531.
“การศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินความดีในพุทธปรัชญาเถรวาทกับในปรัชญาของคานท์ = The criteria of goodness in Thearavada Buddhism and Kant's philosophy : a comparative study” / ไพลิน เตชะวิวัฒนาการ, 2533.
“การศึกษาเชิงปรัชญาเรื่องปรัชญาการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) = A philosophical analysis of philosophy of education in the view of Phradhammapitaka (Prayudh Payutto)” / พระมหาบรรจง สิริจนฺโท (สมนา), 2539.

6. หลักการวิจัยทางศาสนา
          ในประเด็นที่เป็นหลักการวิจัยทางศาสนา ก็คงอาศัยแนวทางการวิจัยเชิงเป็นหลักอิงได้ เพราะความแตกต่างกันในหลักการวิจัย วิธีการวิจัย และเป้าหมายการวิจัยมีไม่มากนัก        จุดที่ต่างกันก็เรื่องพื้นฐานหรือที่มาของของศาสนา ในขณะที่ปรัชญามีพื้นฐานมาจากนักคิดอิสระ ใช้เหตุผล วิพากษ์วิจารณ์เป็นหลักในการแสวงหาความรู้ ทางโลกตะวันตก ปรัชญาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากศาสนาได้อย่างเด็ดขาด ส่วนโลกทางตะวันออก ศาสนากับปรัชญาไปด้วยกัน แต่ฐานทางศาสนา เน้นศรัทธา หรือความเชื่อเป็นเบื้องต้น ศาสนาจะเป็นศาสนาสมบูรณ์ต้องมีหลักการปฏิบัติตามความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งส่วนหลังนี้ สาขาปรัชญาดูจะขาดหายไป
          หากมองศาสนาอย่างเป็นระบบ เราจะพบว่า ในทุกศาสนาย่อมมีหลักใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
                   หลักแห่งความเชื่อ
                   หลักแห่งความจริง
                   หลักแห่งความรู้
                   หลักแห่งการปฏิบัติ
          การวิจัยทางศาสนา จึงต้องกำหนดเป้าหมายว่า จะเป็นการวิจัยพื้นฐาน(หลักการ) หรือเป็นการวิจัยประยุกต์(นำหลักการออกไปปรับใช้) ตัวอย่าง เรื่องการวิจัยแบบพื้นฐาน
การวิจัยในหลักความเชื่อทางศาสนา  “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท = Dasaparami in Theravada Buddhism / สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2524.
“ความเชื่อตามหลักแห่งกรรม ที่ปรากฏตามคัมภีร์เป็นอย่างไร และความเชื่อของศาสนิกชนที่เบี่ยงเบนหรือขัดกับหลักกฎแห่งกรรมเป็นอย่างไร”
“ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์กับกฎแห่งกรรมของชาวพุทธไทยในปัจจุบัน = Astrology and the law of karma as believed and applied by present Thai Buddhists “/ พระมหาประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ (ชั่งแสง), 2541.
การวิจัยหลักแห่งความจริง “การตีความเรื่องการผิดพระวินัยเพราะถวายเงิน/ทองและการรับเงินและทองของพระภิกษุของพระเกษม วัดป่าสมแยก”
การวิจัยในหลักการปฏิบัติ “วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของสำนักสวนโมกข์ กับวิธีปฏิบัติวิปัสสนาของสำนักวัดมหาธาตุ”
ตัวอย่าง การวิจัยเชิงประยุกต์ใช้
“วิเคราะห์การนำพุทธศาสนามาใช้ในการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” / วสันต์ ณ ถลาง, 2515.
“การนำเสนอรูปแบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพุทธศาสตร์ = A proposed educational model for sustainable development based on Buddhism / ดลพัฒน์ ยศธร, 2542.
 “พุทธศาสนากับการพัฒนาเยาวชนในยุคโลกาภิวัตน์ : ศึกษาเฉพาะกรณีนักเรียนในโรงเรียนพณิชยการสุโขทัย = Buddhism with glogalizational young's development : a case study of Suchothai Commercial College student / พระมหาวีระ ลิขิตเลิศ, 2545.
“การวิเคราะห์ ตัวละครในนิทานพื้นบ้านยุโรปในเชิงคุณธรรมตามวิถีพุทธ = The Analysis of the charactors in European folklore from Buddhist virtue aspects”/ พูลสุข อาภาวัชรุตม์ ตันพรหม, 2554.

7. แหล่งเอกสารอ้างอิง
          ชาย โพธิสิตา,(2547). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยคุณภาพ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้ง.
          เบญจา ยอดดำเนิน-แอ็ตติกจ์,(2544). การศึกษาเชิงคุณภาพ : เทคนิคการวิจัยภาคสนาม. (พิมพ์ครั้งที่ 5, นครปฐม : สถาบันการวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
          พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, (2529). ศาสตร์แห่งการวิจัย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
          พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, (2547). ทฤษฎีและปัญหาญาณวิทยา. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์.
          มนัส สุวรรณ และคณะ, (2543). การเขียนโครงการวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
          รำไพ  แก้ววิเชียร (2545).  สรุปผลการอบรมการวิจัยเชิงคุณภาพ ระหว่างวันที่ 18-21  มีนาคม  2545 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค  กรุงเทพฯ.
Rice P.L. and Ezzy, D, (1999). Qualitative Research Methods : A Health Focus. South Melbourne,Victoria : Oxfrod University Press.  
-----------
2
เครื่องมือการวิจัยทางปรัชญาและศาสนา
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ [2]

           การทำวิจัยทางปรัชญาและศาสนา ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ(qualitative research) (หรือผสมผสานกับการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลที่นำมายืนยัน)  หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการวิจัยเอกสาร(documentary research) ต้องการศึกษาแนวคิด ค้นหา วิเคราะห์  ตีความ เปรียบเทียบหลักการ / ทฤษฎี ทางปรัชญาหรือศาสนา หรือเจาะลึกลงไปถึงการแสวงหากรอบแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความอยากรู้ หรือสร้างทฤษฎีใหม่  อันจะสามารถจะนำมาเป็นคำตอบ ทั้งสามารถจะนำประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพบริบทของสังคมแห่งการเรียนรู้(ทางปรัชญา)และสังคมแห่งการปฏิบัติ(ศาสนา)
          โจทความคิดหลักทางปรัชญาเป็นเรื่องของการค้นหาความจริงด้วยเหตุผล สรุปเป็นกรอบได้ 3 ประเด็น คือ  1. เรา(มนุษย์) /โลก(จักรวาล) ตามความจริง(Truth)/ความเป็นจริง(Reality) เป็นอะไรแน่  (What is the Ultimate Truth or Reality of man & the Universe? 2. เราจะรู้และเข้าถึงความจริง/ความเป็นจริง(ของตัวเรา / ของโลก)นั้นได้อย่างไร(How should I know and realize their Truth or Reality?  และ 3. เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์และอาศัยอยู่ในโลกนี้ เอาอะไรมาตัดสินคุณค่าการประพฤติเช่นนั้น (What I ought to be   or  How should I live? What  life or ideal should I live or die for?
ในการวิจัยทางศาสนาก็คงไม่ต่างกันมากในโครงสร้าง (3 กรอบข้างต้น) แต่ต่างกันในรายละเอียด เพราะศาสนาโดยส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ความศรัทธา(Faith)มาก่อน แม้ว่าศาสนาพุทธจะเน้นปัญญา(เหตุผล)เป็นหลัก แต่ก็ยังมีส่วนแห่งศรัทธา เรียกว่า “ศรัทธาประกอบด้วยปัญญา” เป็นส่วนผสมด้วย เพียงแต่ใช้ปัญญานำศรัทธา หรือ ใช้เหตุผลกำกับความเชื่อ   การวิจัยทางพุทธศาสนา จึงเน้นไปที่ การแสวงหาความหมาย  การตีความหลักคำสอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล ให้ตรงหรือสอดคล้องกับหลักการดั้งเดิมของศาสนา การวิจัยเพื่อนำหลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้ตามให้เหมาะกับสภาพบริบทของชีวิตและสังคมที่อยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ
ทั้งปรัชญาและพุทธศาสนาต่างก็ยึดหลักการที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจ หยั่งถึง ความจริง หรือของจริง ที่ไม่ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง(Fact)หรือความจริง/สัจธรรม(Truth)  และชี้แนะกรอบการประพฤติตน / ดำรงตนในวิถีทางที่ถูกต้องดีงามเพื่อความสุขสงบของสังคมมนุษย์เป็นพื้นฐาน
ดังที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า การวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา  เป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ – มนุษยศาสตร์  เครื่องมือสำหรับการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ จึงมีหลายแบบ และมีหลายชนิดซึ่งนักวิจัยสามารถนำมาใช้ได้ตามการออกแบบการวิจัย(Research Design) ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ หรือการวิจัยเชิงคุณภาพ และหรือการวิจัยเชิงบูรณาการ(ปริมาณผสมคุณภาพ) ซึ่งเมื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวแล้ว สามารถหาคำตอบให้กับโจทการวิจัยในครั้งนั้นๆได้

1. เครื่องเมือการวิจัย(Research  Tools)
          เป็นที่ทราบกันดีว่า การวิจัยที่จะได้คำตอบออกมาต้องมีเครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม ได้ข้อมูล(คำตอบ)มาแล้ว ยังต้องมาจัดระบบความคิด ทำการวิเคราะห์ด้วยค่าทางสถิติ(Statistic Analysis) ต่างๆ หรือด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา(Content Analysis) และรายงาน อภิปรายผลที่ได้รับจากการวิจัยด้วยเครื่องมือเหล่านั้น  ในการเขียนบทความครั้งนี้ ผู้เขียน ตั้งใจจะนำเสนอเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเครื่องมือการวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา ครอบคลุมไปถึง  วิธีการเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล และการรายงานผลการวิจัย เป็นที่สุด  (ส่วนใดที่เป็นระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ที่แสดงกระบวนการสร้างเครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ค่าความตรงเชิงเนื้อหา (IOC =Item Objective Conguence Index) หรืออัตราส่วนความตรงเชิงเนื้อหา (CVR: Content Validity Ratio) แม้กระทั่งการทดสอบเครื่องมือนำไปทดลองใช้  ผู้เข้ารับการอบรมคงจะได้รับความรู้จากวิทยากรทางด้านวิจัยเชิงปริมาณมากแล้ว จะขอข้ามส่วนนี้ไป)
          มีคนให้กรอบของเครื่องมือการวิจัยว่า เครื่องมือการวิจัย  หมายถึง  วัสดุ  อุปกรณ์หรือเทคนิควิธีการที่ผู้วิจัยใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัย  รวมทั้งโดยการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีการที่มีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการได้คิดสร้างไว้เพื่อใช้ในการวิจัย  เช่น  แบบสอบถามวัดทัศนคติของ Thurstone  มาตราส่วนประมาณค่าของ  Likert  และวิธีการ  Semantic  Differential  ของ  Osgood  เป็นต้น  และหรือโดยการสร้างเครื่องมือวิจัย  ได้แก่แบบสอบถาม (Questionnaires)  แบบสัมภาษณ์(Interview)  และแบบสังเกตการณ์(Observation)  เป็นต้น  โดยอาศัยธรรมชาติและหลักการของปัญหาการวิจัย  รวมทั้งเกณฑ์มาตรฐาน  แล้วจึงนำไปทดลองใช้ (Try  Out)  ปรับปรุงแก้ไขแล้ว  จึงนำเครื่องมือการวิจัยไปใช้ในภาคสนาม  ดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลการวิจัยจริงต่อไป  เพื่อให้เห็นภาพรวมของเครื่องมือการวิจัย จะขอเสนอโดยย่อดังนี้
          1.1  แบบสอบถาม(Questionnaire)  แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล  ประกอบด้วยชุดของข้อคำถามที่ต้องการให้กลุ่มตัวอย่างตอบ  โดยกาเครื่องหมาย หรือ เขียนตอบ  หรือ กรณีที่กลุ่มตัวอย่างอ่านหนังสือไม่ได้หรืออ่านได้ยาก  อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม  ส่วนมากนิยมถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือความรู้สึกนึกคิด บุคลิกภาพ ค่านิยมและทัศนคติของผู้ตอบ  เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล 
1.1.1 โครงสร้างของแบบสอบถามโดยทั่วไปจะมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบ  3  ส่วน  ดังนี้ 
ส่วนนำ คำชี้แจงในการตอบแบบสอบถาม  ที่ปกของแบบสอบถามจะเป็นคำชี้แจง  ซึ่งมักจะระบุถึงจุดประสงค์ในการให้ตอบแบบสอบถาม  หรือจุดมุ่งหมายของการทำวิจัย  อธิบายลักษณะของแบบสอบถาม  วิธีการตอบแบบสอบถามพร้อมตัวอย่าง 
    ส่วนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับสถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม จะให้ตอบเกี่ยวกับรายละเอียดส่วนตัว  เช่น   เพศ  อายุ  ระดับการศึกษา  อาชีพ   รายได้ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้เป็นตัวแปรอิสระมากน้อยเพียงใด  
    ส่วนที่ 2 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด  ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการศึกษา
    ส่วนที่ 3 เป็นข้อคำถามปลายเปิด(Open Ended questions) ที่ต้องการให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความคิดเห็นอย่างเสรี ในประเด็นที่เป็นปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไข  
1.1.2 รูปแบบของคำถาม ในแบบสอบถาม มี 6 ประเภท คือ
       1) คำถามที่มีคำตอบให้เลือก 2 ทาง (Dichotomous Questions)
       2) คำถามที่มีหลายคำตอบให้เลือก (Multiple Choice Questions)
       3) คำถามที่ผู้ตอบเลือกได้หลายคำตอบ(Checklist Questions หรือ Multiple Responses)
       4) คำถามที่ให้ผู้ตอบใส่ลำดับที่(Ranking Question)
       5) คำถามที่แสดงถึงระดับความเห็นด้วยหรือชอบ (Scale Questions)
       6) คำถามเปิด(Open-ended Questions) ส่วนใหญ่แยกไปทำในส่วนที่ 3 
1.2 แบบสัมภาษณ์(Interview form) การสัมภาษณ์ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐาน โดยใช้การสนทนา หรือ การเจรจาอย่างมีจดมุ่งหมาย ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ นักวิจัย(ฐานะผู้สัมภาษณ์) และผู้ให้ข้อมูล(ฐานะผู้ถูกสัมภาษณ์) ด้วยบรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ อันดีระหว่างกัน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง  และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัย แบบสัมภาษณ์ มีรายละเอียด ดังนี้
1.2.1 ลักษณะสำคัญของการสัมภาษณ์ 4 ประการ(อมรรัตน์ รัตนสิริ และคณะ, 2555)
1) นักวิจัยเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและโครงสร้างของการสนทนา
2) นักวิจัยพยายามหารายละเอียดเบื้องต้นเพื่อทำความเขาใจในตัวผู้ให้ข้อมูล
              3) ความสำเร็จสวนใหญ่ของการสัมภาษณ์ขึ้นอยู่กับคำถามที่ใช้ในการ สัมภาษณ์ว่าเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจะทราบหรือไม่เพียงใด และผู้ให้ ข้อมูลตอบคำถามตรงต่อความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
4) นักวิจัยควรจะมีความชำนาญในการสัมภาษณ์พอสมควร
1.2.2 องค์ประกอบของการสัมภาษณ์ โดยทั่วไปการสัมภาษณ์จะมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้ 
ผู้สัมภาษณ์    ผู้ให้สัมภาษณ์    เรื่องที่จะสัมภาษณ์   เป้าหมายการสัมภาษณ์    วิธีการสัมภาษณ์ 
                   1.2.3 ประเภทของการสัมภาษณ์ จำแนกตามลักษณะโครงสร้างได้ 3 ประเภท คือ
                             1)  การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง(Structured interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการวางแผน จัดเตรียมชุดคำถาม และวิธีการ สัมภาษณ์อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนล่วงหน้า มีการดำเนินงานแบบ เป็นทางการภายใต้กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานเดียวกัน
2) การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง(Semi-Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการวางแผน การสัมภาษณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างเป็น ขั้นตอน แบบเข้มงวดพอประมาณ และ ข้อคำถามในการสัมภาษณ์มีโครงสร้าง แบบหลวม(Loosely structure)
                             3) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการกำหนด กฎเกณฑ์เกี่ยวกับคาถามและลำดับ ขั้นตอนของการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า เป็นการพูดคุยสนทนาตามธรรมชาติ(Naturalistic Inquiry)

การวิจัยเชิงคุณภาพมักใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth Interview)  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่ได้มาจากวิธีการอื่นๆได้ดีขึ้น
2. เพื่อตรวจสอบความเป็นจริงของข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาก่อน
                   3. เพื่อดูร่องรอยอื่นๆที่ไม่ได้แสดงออกมาด้วยคำพูด            
แนวคำถามที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ใช้แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ แนวคำถามจะเป็นเครื่องมือการวิจัยที่มีโครงสร้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแบบสอบถาม แต่แนวคำถามที่ดีควรจะมีความ ครอบคลุมและรัดกุม ดังนั้น ในการสร้างแนวคำถามเพื่องานวิจัย ผู้ที่จะสร้างแนวคำถามได้ดีควรต้องศึกษาปัญหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัยให้เข้าใจ จากนั้นจึงสามารถกำหนดแนวคำถามได้
                   1.2.4 ลักษณะการสัมภาษณ์  สามารถแบ่งออกเป็น  ลักษณะ คือ 
                        (1) การสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล (Personal Interview) และ
                                  (2) การสัมภาษณ์กลุ่ม(Focus Group Interview)
1.3  แบบสังเกต (Observation form)  การสังเกตเป็นเทคนิคการรวบรวมข้อมูลการวิจัยอย่างหนึ่ง  ที่ผู้สังเกตจะใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการศึกษาเหตุการณ์ หรือ ปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจลักษณะธรรมชาติและความเกี่ยวข้องกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นๆ ซึ่งแบบสังเกต มีรายละเอียด ดังนี้ 
1.3.1 ประเภทของการสังเกต แบ่งตามวิธีการสังเกตได้ 2 ประเภท คือ
                   1) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม(Participant observation)  การสังเกตแบบนี้จะเป็นลักษณะที่ผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วม หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้ถูกสังเกต โดยที่ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกตอยู่   และเป็นการสังเกตทางตรง(Direct  Observation)ที่ผู้สังเกตการณ์ได้สัมผัสกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงด้วยตนเอง 
                   2)  การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม(Non-participant observation) การสังเกตแบบนี้จะเป็นลักษณะที่ผู้สังเกตไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม หรือไม่ได้เข้าทำกิจกรรมกับผู้ถูกสังเกต  เรียกว่า เป็นการสังเกตทางอ้อม(Indirect  Observation)   ผู้สังเกตไม่ได้เฝ้าดู ศึกษาเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นๆโดยตรง  แต่จะศึกษาจากสิ่งที่ได้บันทึกมา  เช่น  ภาพยนตร์  โทรทัศน์  เทปบันทึกภาพ(วิดีโอ)  เป็นต้น 
                   1.3.2 หลักในการสังเกต  มีข้อที่ควรคำนึง ดังนี้
1) ต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการสังเกตอย่างชัดเจน
2) ต้องทำการสังเกตอย่างรอบคอบ  ตั้งใจ  และไม่ทำแบบผิวเผิน
3) เมื่อสังเกตเห็นสิ่งใดให้จดบันทึกไว้ทันที และไม่มีความลำเอียงในการจดบันทึก
4)  ควรจะมีการสังเกตซ้ำในบางเรื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลการสรุปอย่างเที่ยงตรง
1.3.3 คุณสมบัติของผู้สังเกตที่ดี(ปดิวรัดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, มปป.)  นักวิจัยที่ใช้เครื่องมือแบบสังเกตรวบรวมข้อมูล ควรประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ 
                        1) มีความไวในการรับรู้และสื่อความหมาย 
                        2) มีความละเอียดรอบคอบและช่างสังเกต 
                        3) มีความตั้งใจในการสังเกต 
                        4) มีความยุติธรรม(เป็นกลาง)

1.4 การประชุมกลุ่ม (Focus Group) หรือกลุ่มที่เจาะจง   เป็นเทคนิคหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ การใช้เทคนิคแบบ Focus Group ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 โดยเริ่มต้นจากกลุ่มที่ทำงานทางด้านสังคมศาสตร์(Social Sciences) มีลักษณะเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา  มีการกำหนดหัวข้อเฉพาะบางประเด็นของผู้จัด(Organizer) โดยกลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมซึ่งเรียกว่าเป็น Participants หรือ Respondents จะมีจำนวนประมาณ 8-10 คน(แต่ไม่ควรเกิน 12 คน) และผู้ที่จะเข้าร่วมการทำการประชุมกลุ่ม ควรจะได้รับการคัดเลือก(Screen) ตามเงื่อนไข(มีคุณสมบัติตรง)มาอย่างดี 
 กลุ่มที่เจาะจง คือ กลุ่มคนที่ถูกจัดขึ้นมา เพื่อการสนทนาหรืออภิปรายกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเจาะจงเฉพาะ เพื่อจะหาข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงประเด็น สำหรับตอบคำถามการวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ที่กล่าวว่า “เจาะจง” ก็เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นถูกเจาะจงเลือกมา โดยถือคุณสมบัติที่นักวิจัยกำหนด เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ตั้งไว้
วัตถุประสงค์ของการจัดสนทนากลุ่มที่เจาะจง ก็เพื่อให้นักวิจัยได้ข้อมูลที่ดีที่สุด ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย โดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันของสมาชิกในวงสนทนา ไม่ใช่การให้สมาชิกตอบคำถามของนักวิจัยเป็นรายบุคคล ดังเช่น การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว วิธีการนี้จึงถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่า “การอภิปรายกลุ่มแบบเจาะจง หรือ Focus Group Discussion(FGD)” (ชาย โพธิสิตา, 2547.)
Jane Imber and Betsy Ann Toffler ได้นิยาม Focus Group Interview (การสัมภาษณ์กลุ่ม)ไว้ดังนี้  “การประชุมกลุ่ม หรือ การสัมภาษณ์กลุ่ม   คือ เทคนิคการสัมภาษณ์กลุ่มแบบไม่มีโครงสร้างซึ่งนำคน 8-12 คน มารวมกันภายใต้การนำของผู้สัมภาษณ์ที่ผ่านการอบรมแล้ว(Trained Modulator) โดยจะพูดคุยเจาะลึกไปยังเรื่องเฉพาะเจาะจง(Specific Issue)” เช่น ปัญหายาเสพติดของชุมชน ปัญหาการผลิตสินค้า 1ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล(OTOP)  มีผู้ดำเนินการสนทนา(Modulator) ที่ชำนาญในการพูดคุย มีความชำนาญสูงในการทำหน้าที่แนะนำเรื่องที่จะคุย และคอยกระตุ้นสมาชิกให้สนทนากัน (ประชาสรรณ์ แสนภักดี,  2555.)
ในการทำ Focus Group มีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณา เพื่อให้งานสมบูรณ์ คือ
                   1) จำนวนกลุ่ม
                   2) ขนาดของกลุ่ม จำนวนคนเข้าร่วม
                   3) การจัดหาผู้เข้าร่วมสนทนา(Screen)
                   4) การพิจารณาผู้ดำเนินการสนทนา(Modulator)
                   5) การพิจารณาสถานที่ และการเก็บประเด็นข้อมูล
                   6) การพิจารณาแนวการสัมภาษณ์(Guide line)
    
1.5 นักวิจัย ในฐานะเป็นเครื่องมือของการวิจัย(Researcher) วิธีการทำวิจัยทางคุณภาพทั่วไปถือว่า  นักวิจัยเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุด  นั่นคือ ผู้วิจัยหรือนักวิจัยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะงานวิจัยจะสำเร็จสมความมุ่งหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนักวิจัยเป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะรวบรวม วิเคราะห์ ตีความ
นักวิจัยจึงต้องมีคุณลักษณะที่จำเป็นบางประการ(http://www.watpon.com,2555.) ดังต่อไปนี้
1.5.1 มีความรู้พื้นฐานในสาขาวิชาที่ทำการวิจัยเป็นอย่างดี นักวิจัยจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดี ในสาขาวิชาที่ตนทำการวิจัยอยู่ เพื่อจะได้เลือกใช้เทคนิค วิธีการและเครื่องมือให้เหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะของงานวิจัยนั้นๆ และสามารถค้นหา หรือเลือกใช้ความรู้จากงานวิจัยที่แล้วมาได้อย่างรวดเร็ว และการที่นักวิจัยมีความรู้ดีเป็นพื้นฐาน ก็จะสามารถสรุปผลของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ฉะนั้น นักวิจัยจึงต้องค้นคว้า ติดตาม อ่านผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อจะได้ศึกษาความก้าวหน้าทางวิชาการและติดตามทันเทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
1.5.2 มีความรอบรู้ในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ นักวิจัยจะต้องมีความรู้ในวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะในการวิจัยนั้น อาจจะพาดพิง หรือ เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาต่างๆอยู่บ้าง เนื่องจากขอบเขตของการวิจัยไม่สามารถจะแยกออกไปได้อย่างชัดเจน เหมือนวิชาเรียนในห้องเรียน เช่น การศึกษาเรื่องการคายน้ำของพืช ก็ต้องอาศัยความรู้ทางชีววิทยาและเคมี เป็นต้น ฉะนั้น นักวิจัยจึงต้องศึกษาและแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งอาจจะกลับไปทบทวนความรู้ที่เคยเรียนมาก่อนหรือต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมระดับที่สูงขึ้นไป



2. การวิจัยทางปรัชญาหรือศาสนา ส่วนมากเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร(Documentary Research)
          การวิจัยเอกสาร หมายถึง การวิจัยที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงาน แล้วเสนอผลในเชิงวิเคราะห์ การวิจัยเอกสาร จึงเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความรู้ที่นิยมใช้กันมากในสถาบันการศึกษา เพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ หรือ เขียนรายงานอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยเอกสารประเภทต่างๆ ในการอ้างอิง รวมทั้งใช้เมื่อต้องการรู้ผลเร็วในกรณีที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว หรือ กรณีที่ผู้วิจัยไม่มีงบประมาณพอ และอยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูล ซึ่งไม่สามารถลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง หรือเข้าไปศึกษาได้โดยยากลำบาก
          การสร้างความรู้ใหม่ คงมิได้จำกัดเฉพาะแหล่งข้อมูลต้องมาจากบุคคลเท่านั้น ผู้วิจัยยังสามารถค้นหาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มิใช่บุคคลอีกด้วย เช่น แหล่งข้อมูลจากเอกสาร จารึก สารสนเทศ หรือข้อความที่เขียนบันทึก เป็นต้น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ใหม่จากเอกสารต่างๆ ดังที่กล่าวมา เรียกว่า การวิจัยเอกสาร” (Documentary  Research) (เฉลิมลาภ ทองอาจ,2555.) ซึ่งการวิจัยทางปรัชญาและศาสนา ส่วนมากเน้นการวิจัยเอกสารเป็นหลัก โดยใช้เอกสาร ตำรา หนังสือทฤษฎีทางปรัชญา หรือ คัมภีร์ทางศาสนาเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ผู้เขียนจะให้ข้อมูลพื้นฐานการวิจัยเอกสารพอเป็นให้แนวสำหรับการทำวิจัยเอกสาร ดังต่อไปนี้
     2.ความเป็นมาของการวิจัยเอกสาร    การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ว่า  มีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้สามารถทำได้ในหลายลักษณะ  อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้จะต้องสามารถตอบคำถามว่า สภาพการณ์ที่ศึกษาเป็นเช่นไร วิธีการศึกษาข้อมูลในการวิจัย อาศัยการสืบค้นข้อมูลเอกสาร การวิจัยเอกสารจึงเป็นสาขาหนึ่งของ  การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาอย่างกว้างๆ เพื่อสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงลักษณะทั่วๆ ไป หรือความคลุมเครือของสิ่งที่จะต้องวิจัย สำรวจเนื้อหา บทเรียน ตำรา คัมภีร์  กฎหมาย  กิจกรรม โครงสร้างของหลักสูตร ระเบียบราชการ คำสั่ง  เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ อธิบาย ตีความ ขยายความ  เปรียบเทียบ ประเมิน อันจะเป็นแนวทางสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาของสังคมต่อไป
     2.2  ความหมายของการวิจัยเอกสาร    การวิจัยเอกสาร หมายถึง  การแสวงหาคำตอบหรือการสร้างองค์ความรู้ด้วยการใช้หนังสือ(text) เอกสาร(document) รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์  วีดิทัศน์  ภาพวาด  สมุดบันทึก  ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์(Scott. J., 2006.) ที่ได้มีการจัดพิมพ์ หรือเผยแพร่ไว้  ดังนั้น  คำว่า “เอกสาร” จึงมิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น 
ในการวิจัยเอกสาร ผู้วิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ  เอกสาร รายงาน หรือสื่ออื่นๆ  แล้วเสนอผลการศึกษาในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้  ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร ผู้วิจัยสามารถใช้ทั้งวิธีเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
         เฉลิมลาภ ทองอาจ ให้ข้อควรพิจารณาการใช้แห่งข้อมูลเอกสารเพื่อการวิจัยอย่างน่าสนใจว่า  “การศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารมีข้อที่ควรพิจารณา ซึ่งนักวิจัยควรกำหนดเป็นแนวทางในการวิจัยก็คือ เอกสารส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเขียนขึ้นโดยบุคคลหรือคณะบุคคลก็ตาม ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเฉพาะสำหรับเอกสารชิ้นนั้น ตัวอย่าง เช่น นวนิยาย ผู้เขียนก็ต้องแต่งขึ้นตามจินตนาการเพื่อนำเสนอสารบางอย่าง โดยมีจุดเน้นเพื่อสร้างความบันเทิงหรือให้ข้อคิด ดังนั้น การนำนวนิยายมาวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์สภาพสังคม ประวัติศาสตร์ ค่านิยม หรือ ความเชื่อบางอย่าง ในนวนิยาย เป็นการวิเคราะห์ทางอ้อม เพราะในนวนิยายอาจจะมิได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนนัก วัตถุประสงค์ของเอกสารที่นำมาศึกษากับวัตถุประสงค์ของการวิจัยจึงอาจจะไม่สอดคล้องกัน”  ดังที่  Mogalakwe ได้อธิบายในประเด็นนี้สรุปได้ว่า  “เอกสารแต่ละฉบับนั้นเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายหรือยู่บนสมมติฐานที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังนำเสนอในวิธีและรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย การนำข้อมูลจากเอกสารต่างๆ มาวิเคราะห์  นักวิจัยจึงต้องให้ความสำคัญ โดยจะต้องสนใจอย่างยิ่งต่อเป้าหมายที่แท้จริงของเอกสาร  รวมถึงผู้ที่เป็นผู้ใช้ข้อมูลจากเอกสารนั้นอย่างแท้จริง” (Scott. J., 2006.)
     2.3  ประเภทของแหล่งข้อมูลเอกสาร  นักวิชาการได้แบ่งเอกสารที่นำมาใช้ในการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และสังเคราะห์หาความรู้ใหม่ ออกเป็น 2 ประเภท  ดังนี้ 
              2.3.1  เอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิ(primary  document)  หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่เรียกว่า ประจักษ์พยาน(eye-witness)  ที่อยู่ในเหตุการณ์ ณ ขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ตัวอย่างเช่น  บันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น  หรือบันทึกส่วนตัว(diary)  ที่ผู้เขียนแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเองในบันทึกนั้น  ซึ่งหากจะศึกษาบุคคล นักวิจัยก็สามารถศึกษาได้จากบันทึกส่วนตัวของบุคคลที่ตนเองสนใจ เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษามากที่สุด
              เอกสารชั้นต้นในทางปรัชญา ได้แก่ ตำราต่างๆที่นักปรัชญาเจ้าของทฤษฎีนั้นๆ แต่งขึ้นมา ส่วนในทางศาสนา หมายถึงตัวคัมภีร์หลักชั้นต้น ในทางศาสนาพุทธ หมายถึง คัมภีร์พระไตรปิฎก หรือ เรียกว่า พระบาลี รองลงมาจาก พระบาลี ก็คือ อรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์สำคัญทางศาสนาด้วย
              2.3.2  เอกสารชั้นรองหรือเอกสารทุติยภูมิ(secondary document)  หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่มิได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่รับทราบข้อมูลจากประจักษ์พยาน  ด้วยการสนทนา หรือ การบอกเล่าสืบต่อๆ กันมา  หรือได้เคยอ่านผลงานการเขียนของประจักษ์พยาน ข้อมูลจากเอกสารชั้นรองนี้จึงอาจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่าเอกสารชั้นต้น 
               นอกจากเกณฑ์การแบ่งตามประสบการณ์หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้เรียนแล้ว   เรายังสามารถแบ่งประเภทของเอกสารได้ตามแหล่งผลิตเอกสารฉบับนั้นๆ ด้วย แบ่งเป็น  เอกสารสาธารณะและเอกสารส่วนบุคคล ดังนี้
              (1) เอกสารสาธารณะ(public document)  หมายถึง เอกสารที่เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานสาธารณะ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูล นโยบาย แนวทาง หรือข้อความรู้ต่างๆ ตัวอย่างของเอกสารสาธารณะ เช่น  กฎหมายในรูปพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง รายงานประจำปี  หรือเอกสารที่แสดงค่าสถิติต่างๆ ที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้  เอกสารสาธารณะเหล่านี้เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นประจำตามวาระของหน่วยงานราชการ
                        (2)  เอกสารส่วนบุคคล(personal document)  หมายถึง เอกสารที่ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ  ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลภายในของหน่วยงาน หรืออาจจะเป็นข้อมูลที่บุคคลเขียนขึ้นจากบันทึกส่วนตัว  จดหมายเตือนความจำ  หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในลักษณะอื่นๆ  เช่น  ภาพถ่าย  บันทึกทางการแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพ  บันทึกประจำวัน  จดหมายส่วนบุคคล
2.4  เกณฑ์ในการเลือกเอกสาร    การคัดเลือกเอกสารเพื่อนำมาวิเคราะห์จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการวิจัยย่อมมีมาก เอกสารบางชนิดยังมีความซับซ้อนของข้อมูล ผู้วิจัยย่อมไม่อาจที่จะศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ครบทุกชิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย  มีเกณฑ์ที่สำคัญ   4  ประการได้ดังนี้ (Scott, J.,  1990.)  
        2.4.1  ความจริง(authenticity)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารที่เป็นเอกสารที่แท้จริง (origin)  ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การพิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลแท้จริงหรือไม่  จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน่วยงานที่เขียนเอกสารว่ามีความน่าเชื่อถือถือไม่ อย่างไร  รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนั้น สอดคล้องกับข้อมูลในบริบทอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่มีการเขียนเอกสารนั้นอย่างไร   
2.4.2 ความถูกต้องน่าเชื่อถือ(credibility)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารด้วยการพิจารณาว่า  เอกสารนั้นจะต้องไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เอกสารจำพวกหนังสือพิมพ์หรือบทวิจารณ์ต่างๆ เพราะเป็นการเขียนข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองประกอบเข้าไปด้วย ข้อคิดเห็นเหล่านี้ หากผู้วิจัยมิได้สนใจศึกษา อาจจะมีอิทธิพลทำให้ข้อมูลโดยภาพรวมเกิดการบิดเบือนไปก็ได้
2.4.3  การเป็นตัวแทน(representativeness)  ในการคัดเลือกเอกสาร ผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า  เอกสารดังกล่าวมีความเป็นตัวแทนหรือไม่ ในที่นี้ การเป็นตัวแทนมีหลายระดับ  ระดับแรก  หมายถึง  การที่เอกสารนั้นสามารถใช้แทนหรือเป็นแบบฉบับที่แทนเอกสารประเภทเดียวกันได้หรือไม่  และระดับที่สองคือ ข้อมูลในเอกสารที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรได้  ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยที่ได้มีการสุ่มตามวิธีวิทยาการวิจัย และใช้สถิติวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ย่อมถือว่าข้อมูลหรือผลที่เสนอในงานวิจัยนั้นเป็นตัวแทนข้อมูล ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อได้
2.4.4 ความหมาย(meaning)  การใช้เกณฑ์ความหมาย หมายถึง การคัดเลือกเอกสารที่มีความชัดเจนและสามารถที่จะเข้าใจได้ง่าย  ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น ด้วยการพิจารณาข้อมูลคร่าวๆ ว่า เอกสารที่นำมาพิจารณานั้น มีข้อมูลใดที่เป็นนัยสำคัญหรือจะสร้างความหมายให้กับการวิจัยหรือไม่  การตีความเอกสารบางประเภทจึงสามารถที่จะตีความทั้งในระดับที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือการสรุปสาระสำคัญที่ปรากฏ และอีกระดับหนึ่งคือการตีความข้อมูลที่เป็นนัยที่ซ่อนแฝงอยู่  การตีความนัยค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตีความเป็นพื้นฐาน
การวิจัยเชิงเอกสารนอกจากจะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อหาจุดบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงแก่นโยบายหรือโครงการต่างๆแล้ว  ยังเป็นการวิจัยที่ได้รับความนิยมในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับความคิด ทรรศนะ และ ค่านิยมของบุคคล ซึ่งปรากฏในงานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น  เช่น งานวิจัยทางอักษรศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอีกด้วย  ข้อดีของการวิจัยเชิงเอกสาร คือ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือทรัพยากรมากในการวิจัย ประหยัดทั้งเวลา และเมื่อได้รับเอกสารสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลครบถ้วนก็สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว
          เป็นอันสรุปได้ว่า เครื่องมือการวิจัยทางปรัชญา หรือศาสนา ที่ใช้เอกสารเป็นแหล่งข้อมูลได้แก่ “ผู้วิจัย ที่มีประสบการณ์ มีความรอบรู้ ใฝ่รู้  มีกรอบคิดตามสาขาวิชาที่ตนศึกษา เป็นสำคัญ”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องอาศัยการตีความ ทั้งนี้ เพราะการตีความเป็นพฤติกรรมทางสติปัญญา  ที่ค่อนข้างเป็นอัตวิสัย (subjective)  ซึ่งผู้วิจัยเองจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้มา อาศัยกรอบความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ของของตน ผลของการตีความอาจจะไม่ตรงกับความจริงที่แท้จริงก็ได้  อีกประการหนึ่งความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยไม่ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ก็ได้   นักวิจัย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง.

3. การเก็บข้อมูล / การวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนของกาวิจัยทางปรัชญา หรือ ศาสนา เมื่อคิดจะทำการศึกษาประเด็นใด ที่เกี่ยวหลักความคิด หลักธรรม หลักปฏิบัติ  ความเชื่อ หรือ พิธีกรรม ผู้วิจัยต้องแสวงหา สืบค้น รวบรวมเอกสารโดยตรง(ปฐมภูมิ) และเอกสารโดยอ้อม(ทุติยภูมิ) ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด(เท่าที่เวลาและแหล่งข้อมูลที่จะหาได้อำนวย)  และลงมือศึกษาวิจัยในขั้นตอนว่าด้วยการเก็บรวบรวบรวมข้อมูล ดุจการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม เพียงแต่การวิจัยเอกสาร ไม่แจกแบบสอบถาม หรือขอสัมภาษณ์ แต่เป็นการลงมือเก็บเอกสาร คัดเลือก คัดกรอง ตามกรอบ ความจริง ความถูกต้องน่าเชื่อถือ การเป็นตัวแทน และความหมาย ดังแสดงขั้นตอนการเก็บข้อมูล ดังนี้ 
1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูล(เอกสาร)ในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ
2. ผู้วิจัยวางกรอบแนวคิด โดยกำหนดกรอบข้อมูล(เอกสาร)ให้สอดคล้องตรงประเด็นกับ
เป้าหมายของการวิจัย
3. ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูล โดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ที่กำหนดกรอบเอาไว้ เช่น ให้นิยามศัพท์ ความหมาย ลักษณะ ประเภท ระดับ คุณลักษณะ/คุณสมบัติ คุณและโทษ การตีความเชิงปฏิบัติการเป็นต้น   ซึ่งผู้วิจัยต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด
4. สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
ความแตกต่างกันระหว่าง “การตรวจเอกสาร” กับ “งานวิจัยเอกสารคือ การตรวจเอกสารเป็นการทบทวนประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย เพื่อเสริมความคิด ป้องกันความผิดพลาด และลดความซ้ำซ้อนในงานวิจัยที่จะทำ   ส่วนการวิจัยเอกสาร เป็นการนำข้อมูลที่มีการเก็บรวมรวมมาทำการวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่

4. องค์ประกอบของการวิจัยทางปรัชญา หรือ ศาสนา
องค์ประกอบการวิจัยเอกสาร อาจมีได้หลายแบบ ดังนี้
แบบที่ประกอบไปด้วย 5 บท ได้แก่
บทที่ 1 บทนำ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา
วัตถุประสงค์
กรอบแนวคิด
ขอบเขตการวิจัย
วิธีดำเนินการวิจัย/แหล่งข้อมูล
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
บทที่ 2 การตรวจเอกสาร (อาจใช้ชื่อเนื้อหาในการตรวจเอกสารเป็นชื่อบท จำนวนบทขึ้นอยู่กับกรอบแนวคิดในการศึกษา)
บทที่ 3 บทวิเคราะห์ สังเคราะห์
บทที่ 4 การนำไปใช้
บทที่ 5 สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
ตัวอย่างแบบที่ 1 : การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมจากการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
โดย พันตรีสมคิด สวยล้ำ ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา)
บทที่ 1 บทนา
1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย   
1.3 ขอบเขตของการวิจัย  
1.4 คำจำกัดความของศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย  
1.5 ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  
1.6 วิธีดำเนินการวิจัย  
1.7 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  
บทที่ 2 แนวคิดเกี่ยวกับเทวดาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  
2.1 ความหมายของเทวดา  
2.2 ความเป็นมาของเทวดา  
2.3 ประเภทของเทวดา  
2.3.1 สมมติเทพ   
2.3.2 อุปปัตติเทพ  
2.3.3 วิสุทธิเทพ  
2.4 หลักธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดเป็นเทวดา   
2.4.1 บุญ   
2.4.2 สัมปทา
2.4.3 วัตตบท  
2.4.4 เทวธรรม   
2.5 อายุขัยของเทวดา
บทที่ 3 การตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
3.1 สาเหตุที่เทวดาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า
3.1.1 กลัวต่อมรณภัย
3.1.2 กลัวจะไปเกิดในนรก
3.1.3 เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า
3.1.4 ต้องการตอบสนองความอยากรู้ของตน
3.2 การตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
3.2.1 ปัญหาของพระพรหม
3.2.2 ปัญหาของท้าวสักกะ
3.2.3 ปัญหาของเทวดาที่ปรากฏนาม
3.2.4 ปัญหาของเทวดาที่ไม่ปรากฏนาม
3.3 หลักการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
3.4 เหตุผลในการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
3.4.1 เพราะทรงบาเพ็ญพุทธกิจให้บริบูรณ์
3.4.2 เพราะทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
3.4.3 เพราะทรงคำนึงถึงสติปัญญาความสามารถของผู้ฟัง
3.4.4 เพราะทรงอนุเคราะห์ชาวโลก
3.4.5 เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า
3.4.6 เพราะเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
3.4.7 เพราะการให้ธรรมยอดเยี่ยมกว่าการให้ทั้งปวง
บทที่ 4 วิเคราะห์หลักธรรมจากการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า
4.1 หลักธรรมเพื่อสนองความอยากรู้ของเทวดา
4.2 หลักธรรมเพื่อพัฒนาตนเอง
4.3 หลักธรรมเพื่อพัฒนาสังคม
4.4 หลักธรรมเพื่อพัฒนาไปสู่ความหลุดพ้น
บทที่ 5 สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ
5.1 สรุปผลการวิจัย
5.2 ข้อเสนอแนะ

การวิจัยเรื่อง “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระพุทธศาสนาเถรวาท : กรณีศึกษามโหสถชาดก
โดย ว่าที่เรือตรี ปกรณ์ ศรีปลาด
บทที่ 1 บทนา
1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา  
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย  
1.3 คำจำกัดความในการวิจัย
1.4 ขอบเขตของการวิจัย  
1.5 วิธีการดาเนินการวิจัย
1.6 ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   
1.7 ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับ  
บทที่ 2 โครงสร้างเนื้อหาของมโหสถชาดก
2.1 โครงสร้างของชาดก   
2.1.1 ลักษณะของนิบาตชาดก  
2.1.2 ลักษณะของอรรถกถาชาดก  
2.2 ความหมายและกาเนิดมโหสถบัณฑิต   
2.2.1 ความหมายของคาว่ามโหสถ  
2.2.2  กาเนิดมโหสถ   
2.3 การบาเพ็ญบารมีของมโหสถโพธิสัตว์  
2.3.1 ความหมายของบารมี  
2.3.2 ระยะเวลาของการบาเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์   
2.3.3 ระดับของการบาเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
2.4 วัตถุประสงค์ของการตรัสมโหสถชาดก  
2.5 ผลของการตรัสเรื่องมโหสถชาดก 
บทที่ 3 ศึกษาวิเคราะห์ข้อพิพาทที่ปรากฏในมโหสถอรรถกถาชาดก
3.1 แนวคิดเกี่ยวกับข้อพิพาท 
3.2 ข้อพิพาทที่ปรากฏในมโหสถอรรถกถาชาดก  
3.2.1 ข้อพิพาทเรื่องโค” 
3.2.2 ข้อพิพาทเรื่องเครื่องประดับทาเป็นปล้อง ๆ”  
3.2.3 ข้อพิพาทเรื่องด้ายกลุ่ม”  
3.2.4 ข้อพิพาทเรื่องบุตร” 
3.2.5 ข้อพิพาทเรื่องคนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ”  
3.2.6 ข้อพิพาทเรื่องรถ  
3.3 สรุปสาเหตุที่ก่อให้เกิดข้อพิพาท  
3.3.1 สาเหตุภายใน   
 3.3.2 สาเหตุภายนอก 
บทที่ 4 วิเคราะห์วิธีการที่มโหสถบัณฑิตใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
4.1  วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของมโหสถบัณฑิต  
4.1.1  การอภิปรายปัญหาหรือข้อพิพาท  
4.1.2  การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 
4.2  ผลอันเกิดจากข้อพิพาท 
4.3  หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  
4.3.1  หลักธรรมเชิงรับในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท   
4.3.2  หลักธรรมเชิงรุกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท   
4.3.4 หลักธรรมคู่ขนานในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 
4.4 สรุปสาเหตุที่ทำให้มโหสถบัณฑิตไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสาเร็จ  
4.4.1 สาเหตุภายใน  
4.4.2 สาเหตุภายนอก  
บทที่ 5 สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
5.1 สรุปผลการวิจัย 
5.2 ข้อเสนอแนะ 

การวิจัยเรื่อง “ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
: ศึกษากรณีเทศบาลนครพิษณุโลก”
โดย นายชาญณวุฒ ไชยรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
1. บทนำ
1.1 วัตถุประสงค์ในการวิจัย
1.2 กรอบแนวความคิด
1.3 ขอบเขตของการวิจัย
1.4 วิธีดำเนินการวิจัยข้อมูลและแหล่งข้อมูล
1.5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
2. เทศบาลและเทศบาลนครพิษณุโลก
2.1 เทศบาล
2.2 เทศบาลนครพิษณุโลก
3. แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.1 แนวความคิดเรื่องหลักความโปร่งใส
3.2 แนวความคิดเรื่องหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.3 งานวิจัยที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม
3.4 ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม
4. บทวิเคราะห์
4.1 เทศบาลนครพิษณุโลกกับความโปร่งใส
4.2 เทศบาลนครพิษณุโลกกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
4.3 เทศบาลนครพิษณุโลกกับความเชื่อถือไว้วางใจของสาธารณชน
5. สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ

แบบที่ 2
ตัวอย่างแบบที่ 2  การวิจัยเรื่อง ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา เล่ม 3 ป่าชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
โดย เสน่ห์ จามริก และยศ สันติสมบัติ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
บทที่ 1 บทนำ
1.1 ความสำคัญของปัญหาของการศึกษา
1.2 วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1.3 กรอบความคิดในการศึกษา
1.4 เกณฑ์การเลือกพื้นที่
1.5 ระเบียบวิธีการวิจัย
1.6 การแบ่งยุคเพื่อการศึกษา
บทที่ 2 ลักษณะทางกายภาพ
2.1 ลักษณะกายภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2.2 ลักษณะพืชพรรณป่าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2.3 ลักษณะกายภาพพื้นที่ป่าที่ศึกษา
บทที่ 3 ความหมายของป่าชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3.1 ปัญหาของป่าชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3.2 เหตุผลและประสบการณ์ของชาวบ้านในการใช้พื้นที่ป่า
3.3 กรณีศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวสรุปความหมาย
3.4 การเลือกใช้พื้นที่ป่าของชาวบ้าน
3.5 ระดับของสิทธิใช้สอย
3.6 ป่าชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ความหมายจากการศึกษา
บทที่ 4 การเปลี่ยนแปลงในสภาพทรัพยากรป่าชุมชน
4.1 สภาพทรัพยากรป่าชุมชนในอดีต
4.2 สภาพทรัพยากรป่าชุมชนยุคบุกเบิกป่า
4.3 สภาพทรัพยากรป่าชุมชนในปัจจุบัน
4.4 เหตุแห่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
4.5 การเปลี่ยนแนวความคิดการปลูกพืชของชาวบ้าน
4.6 บทสรุปสถานภาพทรัพยากรป่าชุมชน
บทที่ 5 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
5.1 ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อป่าชุมชน
5.2 สภาพเศรษฐกิจป่าชุมชน
5.3 เหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าชุมชน
5.4 บทสรุปเศรษฐกิจการผลิตบนพื้นที่ป่าชุมชน
บทที่ 6 การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความเชื่อ
6.1 กรอบการนำเสนอ
6.2 ความเข้มข้นของวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับป่า
6.3 เหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมความเชื่อ
6.4 การปรับตัวทางวัฒนธรรมของป่าชุมชน
6.5 บทสรุปป่าชุมชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเชื่อ
บทที่ 7 การปรับตัวทางสังคมเพื่อการบริหารและการจัดการทรัพยากร
7.1 รูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชุมชน
7.2 องค์กรชุมชน
7.3 ความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรชุมชน
7.4 ประเด็นที่น่าสนใจ
บทที่ 8 สรุปและข้อเสนอแนะ
8.1 ลักษณะของป่าชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
8.2 เงื่อนไขการเกิดและการดำรงอยู่ของป่าชุมชน
8.3 การบริหารการจัดการป่าชุมชน
8.4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 5. เอกสารอ้างอิง
เฉลิมลาภ ทองอาจ, (2555). การวิจัยเอกสาร (documentary research), http//www.gotoknow.org. สืบค้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555.
ชาญณวุฒ ไชยรักษา. (มปป.)ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษาเทศบาลพิษณุโลก. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,
ชาย โพธิสิตา, (2547.) ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ, นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, มหาวิยาลัยมหิดล,
ปกรณ์ ศรีประหลาด, ว่าที่เรือตรี,  (2553.) “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระพุทธศาสนาเถรวาท : กรณีศึกษามโหสถชาดก, วิทยานิพนธ์ปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา, มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย
ประชาสรรณ์ แสนภักดี, เภสัชกร, (2555.)  การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) , M.P.H. CMU ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล – ขอนแก่น e-mail : dmindmap@yahoo.com สืบค้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555.
ปดิวรัดา  ปาลกะวงศ์  ณ  อยุธยา, (มปป.) การวิจัยนิเทศศาสตร์,  กรุงเทพฯ :   คณะวิทยาการจัดการ  สถาบันราชภัฏธนบุรี.
สมคิด สวยล้ำ, พันตรี, (2553.) “การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมจากการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขา พระพุทธศาสนา, มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย
เสน่ห์ จามริก และยศ สันติสมบัติ, (2536.) ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา เล่ม 3 ป่าชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา,
อมรรัตน์ รัตนสิริ  และคณะ www.kku.ac.th/sompong/cm2/indepth.pdf, สืบค้นวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2555.
Mogalakwe, M., )(2006).  “The use of documentary research methods in social research.”,  African sociological review. 10 (1).
Scott, J.,  (1990). A matter of record : Documentary sources in social research,   London : Polity press Cambridge.
Scott . J., (2006). Documentary research.  London : Sage. 

---------------


3
การวิเคราะห์เนื้อหาในงานวิจัยทางปรัชญา / ศาสนา
------------------
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ [3]
ในการอบรมโครงการพัฒนานักวิจัยภาคเหนือ 2 ครั้งที่ผ่านมา ผู้เข้าอบรมได้รับทราบถึงหลักการ วิธีการและเป้าหมายของการวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในร่มใหญ่ของการวิจัยทางสังคมศาสตร์จำแนกออกมาเป็นพิเศษเพื่อให้เห็นว่า การวิจัยทางปรัชญาและศาสนา มีความเฉพาะปลีกย่อยของตน ทั้งในด้านหลักทฤษฎี และระเบียบวิธีการวิจัย ดังที่เคยสรุปไว้ในการอบรมครั้งที่ 1 นั้นว่า  “แนวความคิดทางปรัชญาของนักปรัชญาสำนักต่างๆ เป็นเสมือนความรู้ด้านทฤษฎี ทฤษฎีเปรียบเสมือนดวงตาหรือญาณ(พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, การวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา : หลักการ วิธีการ และเป้าหมาย, วันที่ 12-13 มกราคม 2555 )ที่จะช่วยให้นักวิจัยมองสิ่งที่อยู่รอบๆตัวออกว่า อะไรคือประเด็นปัญหาที่ควรหยิบมาทำการวิจัย และปัญหานั้นควรจะถูกศึกษาภายใต้มุมมองอะไร ส่วนความรู้และทักษะในระเบียบวิธีนั้น เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการวิจัยทางปรัชญา มักจะวิจัยจากข้อมูลเชิงเอกสาร หรือจากแนวคิดของบุคคล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ(qualitative research)  ไม่เน้นการนำเสนอในรูปแบบปริมาณอันสามารถชั่ง ตวง วัด (แต่ก็สามารถใช้การวิจัยเชิงปริมาณได้ หรือ ใช้แบบผสมผสานในการวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเสริมการวิเคราะห์เนื้อหา)”
ในการอบรมครั้งที่สอง ผู้เขียนเน้นว่า ในเมื่อการวิจัยทางปรัชญา/ศาสนาส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลทางเอกสาร ตำรับตำรา  ทางปรัชญา / ทางศาสนา หรือแนวคิดของบุคคลผู้ทรงภูมิรู้ ถอดออกมาเป็นองค์ความรู้ การวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา จึงเป็นการวิจัยเอกสาร(documentary research) (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, เครื่องมือการวิจัยทางปรัชญาและศาสนา, วันที่ 21-22 มีนาคม 2555.) ต้องการศึกษาแนวคิด ค้นหา วิเคราะห์  ตีความ เปรียบเทียบหลักการ / ทฤษฎี ทางปรัชญาหรือศาสนา หรือเจาะลึกลงไปถึงการแสวงหากรอบแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความอยากรู้ หรือสร้างทฤษฎีใหม่  อันจะสามารถจะนำมาเป็นคำตอบ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพบริบทของสังคมแห่งการเรียนรู้(ทางปรัชญา)และสังคมแห่งการปฏิบัติ(ศาสนา) เครื่องมือการวิจัยที่เป็นเทคนิควิธีก็คงไม่แตกต่างกับเครื่องมือวิจัยหลักที่นักวิจัยใช้โดยทั่วไป ประการสำคัญที่สุดอยู่ที่นักวิจัยเอง ซึ่งนักวิจัย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, เครื่องมือการวิจัยทางปรัชญาและศาสนา, วันที่ 21-22 มีนาคม 2555.) คุณลักษณะของผู้วิจัย ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรอบรู้ ใฝ่รู้  มีกรอบคิดตามสาขาวิชาที่ตนศึกษา เพราะกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารหรือแนวคิดจากการการสัมภาษณ์ผู้ทรงภูมิรู้ต้องอาศัยการตีความ โดยผู้วิจัยจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาอาศัยกรอบความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง 
และผู้เขียนได้ให้หลักการในการเก็บข้อมูล เอาไว้พอเป็นแนว คือ เมื่อผู้วิจัยคิดจะทำการศึกษาประเด็นใด ที่เกี่ยวหลักความคิด หลักธรรม หลักปฏิบัติ  ความเชื่อ หรือ พิธีกรรม ผู้วิจัยต้องแสวงหา สืบค้น รวบรวมเอกสารโดยตรง(ปฐมภูมิ) และเอกสารโดยอ้อม(ทุติยภูมิ) ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด(เท่าที่เวลาอำนวยและแหล่งข้อมูลที่จะหาได้)  แล้วลงมือเก็บรวบรวบรวมข้อมูล ดุจการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยการ คัดเลือก คัดกรอง ตามกรอบ ความจริง ความถูกต้องน่าเชื่อถือ การเป็นตัวแทน และความหมาย จากแหล่งข้อมูลที่คัดเลือกไว้ ซึ่งมีลำดับขั้นตอนในการเก็บข้อมูล ดังนี้  1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูล(เอกสาร)ในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ 2. ผู้วิจัยวางกรอบแนวคิด โดยกำหนดกรอบข้อมูล(เอกสาร)ให้สอดคล้องตรงประเด็นกับ
เป้าหมายของการวิจัย 3. ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูล โดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ที่กำหนดกรอบเอาไว้ เช่น ให้นิยามศัพท์ ความหมาย ลักษณะ ประเภท ระดับ คุณลักษณะ/คุณสมบัติ คุณและโทษ การตีความเชิงปฏิบัติการเป็นต้น   ซึ่งผู้วิจัยต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด 4. สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
          ในการอบรมครั้งที่ 3 นี้ จึงเป็นการต่อยอดการอบรมสองครั้งที่ผ่านมา คือการะบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และการเขียนรายงานการวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา ดังมีรายละเอียดจำแนกเป็นประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Analysis of Qualitative Data)
การวิเคราะห์เนื้อหาทางปรัชญา หรือศาสนา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพมีหลายวิธี ดังที่ Miles และ Huberman ได้จำแนกวิธีวิเคราะห์หลักๆออกเป็น 3 วิธีคือ( Bruce L. Berg, Chapter 11 แปลโดย ฟ้ารัตน์  สมแสน. 2554)
1.1    วิธีการตีความ (Interpretation approaches) เป็นการหาความหมายเพื่อทำความเข้าใจการปฏิบัติจากความหมายและการกระทำต่างๆ ซึ่งการกระทำของมนุษย์ถูกมองว่าเป็นรูปแบบการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของความหมาย (a collection symbols expressing layers of meaning)   ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสังเกตจะถูกคัดลอกหรือถ่ายทอดในการเขียนบริบทเพื่อการวิเคราะห์  การตีความบริบทอย่างไรจะขึ้นอยู่กับกรอบทฤษฏีที่นักวิจัยนำมาใช้ ในทางปรัชญาหรือศาสนา เราใช้ตีความหมาย จากคำศัพท์ บท วิลี ประโยค หรือ ข้อความ เนื้อหา สาระที่ ผู้วิจัยต้องการแสดงความหมายที่คลุมเครือให้ชัดเจน ซึ่งจะยกตัวอย่างในขั้นตอนการวิเคราะห์เนื้อหาในลำดับถัดไป
1.2 วิธีการทางมานุษยวิทยา (Social anthropological approaches)  ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยภาคสนามหรือกรณีศึกษา(case study) นักวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาชุมชนหรือคัดเลือกปัจเจกบุคคลในการวิจัย ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยมีมุมมองที่พิเศษจากข้อมูลที่ถูกรวบรวมระหว่างการวิจัย  เช่น มีความเข้าใจที่พิเศษจากการเข้าไปมีส่วนร่วม และปัจเจกชนเหล่านี้ตีความโลกทางสังคมของพวกเขาอย่างไร ปกตินักวิจัยที่ใช้วิธีการทางสังคมมนุษย์ จะสนใจในพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้นในทุกวันของชีวิตที่ดำเนินไป (everyday life) เช่น  ภาษาและการใช้ภาษา  พิธีกรรมและประเพณีต่างๆ และความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ  งานของนักวิจัย  คือ การให้คำนิยามหรือคำจำกัดความและอธิบายวิธีการที่ประชาชนในสังคมใช้หรือปฏิบัติตามที่กำหนดไว้  เช่น   ประชาชนเข้าใจสิ่งต่างๆ  ได้อย่างไร   การให้เหตุผล การกระทำ   และการจัดการชีวิตในแต่ละวัน  นักวิจัยหลายคนใช้วิธีนี้  โดยเริ่มต้นจากกรอบแนวคิดหรือทฤษฏีแล้วเข้าไปสู่การวิจัยภาคสนามเพื่อทำการพิสูจน์หรือแก้ไขกรอบแนวคิด
1.3 วิธีการวิจัยการมีส่วนร่วมทางสังคม (Collaborative social research approaches) คือ การเข้ามีส่วนร่วมของสิ่งที่ศึกษาหรือคนที่ผู้วิจัยจับตามอง เช่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการกระทำ   ข้อมูลจะถูกรวบรวมและพิจารณาทั้งในแง่ของผลสะท้อนกลับ(feedback)ต่อการกระทำ  และการใช้ทำความเข้าใจสถานการณ์หนึ่งๆ  ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาหรือความสะดวกในการทดลองภาคสนาม กลยุทธ์ที่นำมาใช้อาจคล้ายกับวิธีการตีความ(Interpretative) และวิธีการทางสังคมมนุษย์ (Social anthropological  approaches)


2. การวิเคราะห์เนื้อหา(Content analysis)
          2.1 ความหมาย หลักคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์เนื้อหา มีนักคิดหลายให้คำจำกัดความหลากหลาย เพื่อความเข้าใจตรงกัน ขอนำเสนอพอเป็นสังเขปดงต่อไปนี้
เบอเรลสัน “การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นเทคนิคการวิจัยอย่างหนึ่ง เพื่ออธิบายเนื้อหาสาระ  ของการสื่อสารอย่างมีหลักเกณฑ์มีระบบและสามารถอธิบายในเชิงปริมาณได้ด้วย”
คาร์เนย์ “วิธีการที่ใช้ในการศึกษาเนื้อหาของสาระอย่างมีหลักเกณฑ์ และกำหนดขั้นตอนไว้อย่างมีระบบ
โฮลสติ  “เป็นการประมวลข้อสนเทศอย่างหนึ่งเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสาระของการสื่อความหมาย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์ อย่างมีระบบซึ่งสามารถสรุปผลและเปรียบเทียบได้
อรจรีย์  ณ ตะกั่วทุ่ง  “เป็นวิธีการแยกแยะแจกแจงเนื้อหาหรือแนวคิดที่ปรากฏในเอกสาร ข่าวสาร คำพูด หรือภาพ ทำให้ทราบโครงสร้างและขอบเขตเนื้อหาอย่างละเอียด”
          2.2 ประวัติการใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา ยุคแรกของการวิเคราะห์เนื้อหา คือในช่วงปี  พ.ศ. 2473 (ค.ศ.1930) โดยนักศึกษาวิชาหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย(School of Journalism,Columbia University) ได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือพิมพ์อเมริกันซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลายในขณะนั้น เพื่อศึกษาความสนใจในเนื้อหาด้านต่างๆ ต่อมาได้เกิดพัฒนาการรุดหน้าไปมาก โดย ฮาโรล           ดีลาสเวลล์และผู้ร่วมงาน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้คำแนะนำหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เช่น รัฐสภาอเมริกัน ได้ตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ศึกษาวิจัยสื่อ เกี่ยวกับการสื่อสารในระหว่างสงคราม จากหนังสือพิมพ์ที่สำคัญๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความสนใจส่วนใหญ่ในขณะนั้น โดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา
          2.3 วิธีวิเคราะห์เนื้อหา จากประวัติการเกิดการวิเคราะห์เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลเอกสารสิ่งพิมพ์ ที่อเมริกา เป็นการย้ำว่า การวิเคราะห์เนื้อหา เป็นวิธีที่นักวิจัยใช้พิจารณาการติดต่อสื่อสารทางสังคมของมนุษย์ ทั้งประเภทที่มีการเขียนเป็นเอกสาร(documentary Communication) หรือ ประเภทการติดต่อสื่อสารแบบใช้ถ้อยคำภาษา (Verbal Communication)  ซึ่งมันเป็นคำนิยามกว้างๆ
การวิเคราะห์เนื้อหา จึงเป็นเทคนิคการสรุปผลอย่างเป็นระบบ ใช้สิ่งที่ถ่ายทอดไว้มาให้ความหมายลักษณะพิเศษของสาร(messages) จากสิ่งที่เห็นภาพได้ เช่น ภาพถ่าย  วิดีโอเทป หรือสิ่งอื่นๆ   อันสามารถทำเป็นบริบทที่ยอมรับได้ในการวิเคราะห์เนื้อหา
Holsti  อธิบายกระบวนการวิเคราะห์เนื้อหา(Content analysis) ไว้ว่า การนำเนื้อหามารวมหรือแยกเนื้อหาออกไปเป็นการกระทำเพื่อปรับใช้กับเกณฑ์การคัดสรร หรือเพื่อต้องการที่จะแยกแยะการวิเคราะห์เฉพาะวัตถุดิบ(material) ที่สนับสนุนการพิสูจน์สมมติฐานของนักวิจัย และเพื่อความเข้าใจกระจ่างแจ้ง
ผู้เขียนจะได้แยกวิธีการ และกระบวนการวิเคราะห์เนื้อหาออกเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
               2.3.1 องค์ประกอบของการวิเคราะห์เนื้อหา มีอยู่ 3 ประการ คือ
   1) เนื้อหาที่จะวิเคราะห์ เนื้อหาในที่นี้อาจเป็นข้อความในตำรา หนังสือเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ บทสนทนา รูปภาพ ภาพในสไลด์ เป็นต้น
   2) วัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ โดยทั่วไปในการวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อหาความหมาย ตีความ เปรียบเทียบ  ประเมินผลกระทบ หรือการแสวงหารูปแบบใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเนื้อหาทำให้ทราบโครงสร้าง และลำดับของเนื้อหา
   3) หน่วยในการวิเคราะห์ เพื่อใช้แสดงปริมาณของการวิเคราะห์ มักวิเคราะห์ออกมาเป็นหัวเรื่อง หัวเรื่องย่อย หัวข้อย่อย รวมทั้งปริมาณ เช่น จำนวนแนวคิด จำนวนคำ จำนวนข้อความ เป็นต้น
      2.3.2 ขั้นตอนการวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์เนื้อหามีขั้นตอนตามลำดับ(แน่งน้อย  ย่านวารี, 2554.)  ดังนี้
             1) ผู้วิจัยจะต้องตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นสำหรับคัดเลือกเอกสาร  และหัวข้อที่จะทำการวิเคราะห์ ศึกษาเนื้อหาสาระจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้เนื้อหาครบถ้วน และไม่ ซ้ำซ้อน
             2) ผู้วิจัยจะต้องวางเค้าโครงของข้อมูล โดยการทำรายชื่อ หรือข้อความที่จะถูกนำมาวิเคราะห์แล้วแบ่งไว้เป็นประเภท (Categories) และ ศึกษาวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อให้ทราบขอบเขตเนื้อหาและเรื่องที่ต้องการทำวิจัย
             3) ผู้วิจัยจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์คำนึงถึงบริบท(Context) หรือสภาพแวดล้อมประกอบของข้อมูลเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ เพื่อแยกแยะรายละเอียดของ เนื้อหา จัดลำดับเนื้อหาเพื่อให้ทราบความสัมพันธ์ของเนื้อหา เช่น ใครเป็นผู้เขียน เขียนให้ใครอ่าน ช่วงเวลาที่เขียนเป็นอย่างไร เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบรรยายคุณลักษณะเฉพาะของเนื้อหาโดยไม่โยงไปสู่ลักษณะของเอกสาร ผู้ส่งสารและผู้รับ
                       4) ทำการวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมด  โดยทำตามเนื้อหาที่ปรากฏ (Manifest Content) ในเอกสารมากกว่ากระทำกับเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ (Latent Content) การวัดความถี่ของคำหรือข้อความในเอกสารเป็นการวัดความถี่ของคำหรือข้อความที่ปรากฏอยู่ แต่ผู้วิจัยไม่ตีความคำหรือข้อความเหล่านั้น การตีความจะทำเฉพาะตอนที่สรุปเท่านั้น
   5) การวัดความถี่ของการใช้ หรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ แล้วให้ได้คำตอบที่มีความหมายสัญลักษณ์กับสิ่งที่ต้องการค้นหา ซึ่งวิธีการนี้อาจจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนแต่ไร้ความหมาย
               2.3.4 กิจกรรมการวิเคราะห์เนื้อหา ควรใส่ใจกิจกรรมหลักๆ ดังต่อไปนี้
                       1) ข้อมูลจะถูกรวบรวมและนำมาทำเป็นเนื้อหาหรือบริบท เช่น การจดบันทึกภาคสนาม   การสรุปย่อ เป็นต้น
                       2) รหัสต่างๆ ถูกพัฒนาสู่การวิเคราะห์ หรือ ถูกให้คำนิยามไว้ในข้อมูล และถูกทำให้เหมาะสมเพื่อการบันทึกหรือสรุปย่อในกระดาษ
                       3) รหัสต่างๆ จะถูกแปลงไปอยู่ในรูปป้ายหรือฉลากของการกำหนดกลุ่มเนื้อหา(categories) หรือแก่นของเรื่อง
                       4) วัตถุดิบหรือข้อมูล ถูกคัดเลือกโดยการกำหนดกลุ่มเนื้อหา คำจำกัดความที่คล้ายกัน   แบบแผน    ความสัมพันธ์  และความเป็นสาธารณะทั่วไปหรือความแตกต่างกัน
                       5) การเลือกวัตถุดิบหรือข้อมูล  ถูกพิจารณาแยกจากรูปแบบของความหมาย และกระบวนการต่าง ๆ
                       6) การนิยามรูปแบบจะถูกพิจารณาอย่างชัดเจนก่อนทำการวิจัยทฤษฎีต่างๆ  ตลอดจนกำหนดความเป็นลักษณะทั่วไป(generalizations)

3. การวิเคราะห์เนื้อหาทางปรัชญา
          ในการวิเคราะห์เนื้อหาการวิจัยทางปรัชญานั้น ผู้วิจัยต้องวิเคราะห์ตามกรอบของวัตถุประสงค์ ว่า จะอธิบาย ขยายความ ตีความ หาแก่นหรือหลักการเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทสังคม หรือการพัฒนาวิชาการได้หรือไม่ อย่างไร ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์เนื้อหาของการวิจัยทางปรัชญา 2 เรื่อง ดังนี้
          3.1 วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาชีวิตไทยในกวีนิพนธ์กรุงรัตนโกสินทร์” ของ พระมหาเทอด ญาณวชิโร(วงศ์ชะอุ่ม)  วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต(สาขาปรัชญา) (พระมหาเทอด ญาณวชิโร(วงศ์ชะอุ่ม),2545.)
          วิทยานิพนธ์นี้มุ่งแสดงภาพรวมแนวคิดเชิงปรัชญาที่คนไทยแสดงออกผ่าน งานกวีนิพนธ์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นแต่รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3 ในการศึกษาได้กำหนดลักษณะพื้นฐานแนวคิดของคนไทยไว้ 4 ลักษณะ คือ (1) ปรัชญาชีวิตไทยมีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (2) ปรัชญาชีวิตไทยมีลักษณะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ขวัญและลางสังหรณ์ (3) ปรัชญาชีวิตไทยเกิดจากอิทธิพลทางศาสนา และ (4) ปรัชญาชีวิตไทยเน้นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
          ลักษณะพื้นฐานแนวคิดทั้ง 4 ประการนี้เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างแนวคิดเชิงปรัชญาของไทย ปรากฏอยู่ในวรรณคดีทั่วๆ ไป ทั้งวรรณคดีมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์ สำหรับกวีนิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีลายลักษณ์ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพันธกิจหลักในการตอบสนองความต้องการด้านสุนทรียะมีสถานะเป็นเครื่องมือ บันทึกความรู้สำนึกคิดที่มนุษย์มีต่อชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง เชื่อมโยงครอบคลุมมิติทางความคิดระบบต่างๆ ไว้ทุกด้าน พิจารณาความสืบเนื่องทางด้านแนวคิดกวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบต่อแนวคิดมาจากกวีนิพนธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาหากก่อตัวขึ้นใหม่ในบริบทแห่ง การฟื้นฟูสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงเนื้อหาที่กวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสืบ ต่อมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยพิจารณาจาก 3 ประการ ดังนี้ (1) รูปแบบกวีนิพนธ์ ได้แก่ รูปแบบทางการประพันธ์ที่กวีกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประพันธ์ขึ้น โดยยึดกรอบแห่งฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างกวีกรุงศรีอยุธยา (2) เนื้อหากวีนิพนธ์ ได้แก่ เนื้องานกวีนิพนธ์ในยุคนี้มักดำเนินตามเนื้อเรื่องชาดกเป็นหลัก ตามขนบการประพันธ์ของกวีสมัยกรุงศรีอยุธยา และ (3) แนวคิดกวีนิพนธ์ ได้แก่ การสอดแทรกแนวคิด ทัศนคติ อุดมคติของกวีในเนื้อหาหรือคำพูดของตัวละคร ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและสรรพสิ่งตามที่กวีต้องการนำเสนอ
          จากการวิจัยพบว่า บรรยากาศการแสวงหาแนวคิดเชิงปรัชญาของคนไทยเป็นกิจกรรมทางด้านความรู้สึกนึก คิดที่คนไทยใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินในการดำเนินชีวิต มิใช่กิจกรรมสำหรับเสาะแสวงหาเป้าหมายของชีวิตและสัจจะในสรรพสิ่ง ส่วนการแสวงหาเป้าหมายของชีวิตคนไทยอาศัยศาสนาเป็นหลัก การแสวงหาแนวคิดเชิงปรัชญาเป็นกิจกรรมซึ่งคนไทยกระทำควบคู่ไปกับกิจกรรม อื่นๆ ทางสังคมสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องวิญญาณเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญต่อแนวคิดแบบจิตนิยม หากพิจารณาในแง่พัฒนาการ แนวคิดแบบจิตนิยมในสังคมไทยถึงขีดสูงสุดด้วยการแยกขวัญออกเป็นส่วนหนึ่งจาก จิต แล้วอธิบายว่า ขวัญ เป็นสารัตถะของจิต ส่วนแนวคิดเชิงจักรวาลวิทยา คติความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง เคราะห์กรรมเป็นพลังเร้นลับที่มีส่วนสัมพันธ์กับระเบียบบนท้องฟ้าและควบคุม ความเป็นไปของจักรวาล ทำให้วิถีการโคจรของเทหะบนท้องฟ้ามีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง สำหรับการประพฤติปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องด้วยหลักศาสนามีส่วนสำคัญในการกำหนด แนวคิดด้านญาณวิทยาและจริยศาสตร์ เนื้อหาด้านญาณวิทยา ความรู้ที่นับว่าประเสริฐสำหรับปุถุชนคือความรู้เพื่อการดำรงชีพ ความรู้นอกนั้นถือว่าไร้แก่นสาร เนื้อหาด้านจริยศาสตร์มุ่งตัดสินคุณค่าของคนว่าดีหรือไม่ด้วยคำนินทาส่วน เนื้อหาทางด้านสุนทรียศาสตร์นั้นเน้นการสร้างความงาม มากกว่าการรู้จักหรือการทำความเข้าใจความงาม
          แนวคิดเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา การประกอบอาชีพ บทเพลง การละเล่น การเมืองการปกครองวัฒนธรรมประเพณี ตลอดถึงกิจกรรมการสร้างงานวรรณคดีทั้งในรูปแบบวรรณคดีมุขปาฐะและวรรณคดีลาย ลักษณ์ กวีนิพนธ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีจึงจำเป็นต้องอาศัยการศึกษา วิเคราะห์อย่างกว้างขวาง เพื่อสกัดเอาเนื้อแท้ของแนวคิดออกมา อันจะเป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศการศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาของไทยต่อไป
          3.2 รายงานการวิจัย เรื่อง “แนวคิดเชิงปรัชญากับการสร้างพระพุทธรูป ; ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย” ของญาณภัทร ยอดแก้ว อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, (ญาณภัทร ยอดแก้ว, 2552.)
          ความแตกต่างกันของพระพุทธรูปในยุคสมัยและสังคมที่แตกต่างกัน  สะท้อนให้เห็นแนวความคิดในการสร้างที่มีที่มาที่ไปอันละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง การสร้างพระพุทธรูปจึงมิใช่เป็นเพียงการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น  แต่ยังมีนัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก  อาทิ  ความจริง ความดี และความงาม   ซึ่งเป็นแนวความคิดที่แฝงอยู่กับการสร้างพระพุทธรูปและก่อให้เกิดคุณค่าอย่างยิ่งต่อปัจเจกบุคคล สังคมและพระพุทธศาสนา  การศึกษาและอธิบายแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปนั้น  อาจอาศัยแนวคิดเชิงปรัชญามาเป็นแนวทางได้  เพราะปรัชญามีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงเรื่องแนวคิดดังกล่าว  ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอเป็นลำดับ คือ
          กรอบความคิดที่เป็นฐานทฤษฎี คือ สาขาของปรัชญา 4 สาขา ทั้งนี้  เมื่อพิจารณาถึงความชัดเจนในเนื้อหาสาระของปรัชญาแต่ ละสาขาจะพบว่าสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปโดยตรงน่า จะเป็นคุณวิทยา(Axiology) โดยเฉพาะเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับจริยศาสตร์ (Ethics)และสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) เพราะแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปตลอดถึงการบูชาพระพุทธรูปมีความเกี่ยว ข้องอย่างชัดเจนกับเรื่องความดีหรือจริยธรรมและความงามหรือสุนทรียภาพอัน เป็นสาระสำคัญในจริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ดังที่วิบูลย์  ลี้สุวรรณ กล่าวไว้ว่า “ เป้าหมายของการสร้างศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนานั้น ต่างไปจากการสร้าง    ศิลปะประเภทอื่นเพราะมีเป้าหมายที่แน่นอนอยู่ที่การศิลปกรรมเพื่อรับใช้ศาสนา    ดังนั้นเนื้อหาของศาสนศิลป์จึงเน้นที่  ความดีและความงามเพื่อให้ผู้พบเห็นได้รับ  ความรู้สึกนึกคิดบนพื้นฐานที่เป็นปรัชญาของศาสนาแต่ละศาสนา” จากนัยนี้  พระพุทธรูปในฐานะเป็นศิลปะทางศาสนาจึงไม่พ้นที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความดีอันเป็นประเด็นที่อยู่ในขอบข่ายของจริยศาสตร์  และความงามซึ่งอยู่ในขอบข่ายของสุนทรียศาสตร์
การสร้างพระพุทธรูปเป็นการแสดงออกถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้า  แต่ด้วยพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่แล้ว  การจะเข้าเฝ้า  กราบไหว้ บูชาพระองค์จริงของพระพุทธเจ้าจึงไม่อาจกระทำได้  ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแทนพระพุทธเจ้า  ซึ่งตามหลักการทางพระพุทธศาสนา การเคารพบูชาพระพุทธเจ้าถือเป็นหลักธรรมสำคัญใน คารวธรรม 6 ประการ  ได้แก่ สัตถุคารวตา  การแสดงความเคารพต่อพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า
          ผลสำคัญของการสร้างพระพุทธรูป คือ ทำให้ชาวพุทธมีสัญลักษณ์เตือนใจให้ได้เจริญพุทธานุสสติ คือ  การตรึกระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระคุณธรรมต่างๆของพระองค์  เช่น ทรงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วละกิเลสได้  เรียกว่า อรหํแปลว่าผู้ไกลจากกิเลิศทั้งมวล หรือ พุทโธหรือแปลทับศัพท์ว่าพระพุทธเจ้า”  ทรงมีความเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้ำเลิศ  และทรงมีพระเมตตาและเกื้อกูลประโยชน์สุขต่อมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวง  กล่าวคือ  ทรงเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยพระพุทธคุณโดยย่อที่สุด 3 ประการ ได้แก่ 1) พระบริสุทธิคุณ ที่ทรงพ้นแล้วจากห้วงทุกข์ทั้งปวงเป็นแม่แบบที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงของมวลมนุษยชาติ 2) พระปัญญาธิคุณ ที่ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ แล้วนำมาเปิดเผยแก่ชาวโลกให้รู้ตาม 3) พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเมตตาช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์
         การได้ระลึกถึงพุทธคุณเหล่านี้  นำมาซึ่งความปีติหรือความอิ่มใจ เพราะความซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์  ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อได้สักการะบูชาแล้ว  ยังสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนได้ด้วย  การสร้างพระพุทธรูปจึงก่อให้เกิดคุณค่าทางการปฏิบัติซึ่งหมายถึงการส่งเสริมจริยธรรมของผู้คนในสังคมไปโดยปริยาย  พระพุทธรูปจึงไม่เป็นแต่เพียงศิลปกรรมประเพณี  อันเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางด้านปฏิมากรรมที่ทรงคุณค่าของพระพุทธศาสนาเท่านั้น  แต่พระพุทธรูปยังเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธปรัชญา เป็นเครื่องหมายของความเคารพ บูชา สักการะและเป็นเครื่องเตือนให้ประกอบความดีอีกด้วย    
การสร้างพระพุทธรูปเป็นการถ่ายทอดแนวคิดและจินตนาการที่สะท้อนถึงความศรัทธา ที่มีต่อพระพุทธเจ้ามาเป็นองค์แทนของพระองค์ในลักษณะของงานศิลปะ  ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงความดีแล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงความประสานสอดคล้องกันระหว่างปรัชญาพุทธศาสนาและปรัชญาศิลปะ จนก่อให้เกิดความงามที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพอย่างสูง   ดังที่ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปางลีลา  ซึ่งช่างสุโขทัยนิยมสร้างกันเป็นพิเศษว่า
          ในการมองดูพระพุทธรูป(ปางลีลา) ที่สวยงามแบบนี้รูปหนึ่ง  เราจะรู้สึกว่ารูปนั้น กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแช่มช้อย มีนิ้วพระหัตถ์ทำท่าอย่างสุภาพเป็น เครื่องหมายแสดงถึงพระธรรมจักร คือ พระอริยาบถของพระพุทธองค์ขณะทรงดำเนินไปประกาศพระศาสนาของพระองค์ พระวรกายมีทรวดทรงอ่อนช้อยอย่างสวยงาม เพราะเหตุว่าในขณะที่พระองค์กำลังเบือนไปทางด้านหนึ่งตามลักษณะการเคลื่อนที่ของพระชงฆ์นั้น พระกรก็จะห้อยลงมาอย่างได้จังหวะตามลักษณะที่อ่อนโค้ง พระเศียรมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมและพระศอซึ่งผายออกเบื้องล่างก็ตั้งอยู่บนพระอังสาอย่างได้สัดส่วน  ความงดงามของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ภายนอกเช่นนี้แล้ว  ยังสามารถสื่อถึงพระพุทธจริยาของพระองค์ตามตำราหรือคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ได้อธิบายไว้ด้วย  โดยเฉพาะตำรามหาบุรุษลักษณะที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้า  32 ประการ ถือว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างพระพุทธรูปตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
สรุปได้ว่า  ตามแนวคิดเชิงปรัชญาการสร้างพระพุทธรูปเป็นการถ่ายทอดความดีตามแนวทางของจริยศาสตร์และความงดงามตามแนวทางของสุนทรียศาสตร์  ผ่านวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งอาจมีความเกี่ยวเนื่องไปถึงแนวคิดเชิงปรัชญาในส่วนอื่น ๆ ด้วย   แต่การเข้าถึงหรือการเข้าใจแนวคิดนั้น ๆ  ย่อมขึ้นอยู่กับพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคนว่าจะเข้าถึงในระดับใดและมากน้อยเพียงใด 

4. การวิเคราะห์เนื้อหาทางศาสนา
          ในการวิเคราะห์เนื้อหาการวิจัยทางศาสนานั้น ผู้วิจัยต้องวิเคราะห์ตามกรอบของวัตถุประสงค์ ว่า จะอธิบาย ตีความ หาแก่นหรือหลักการเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทสังคม หรือการพัฒนาวิชาการได้หรือไม่ อย่างไร  
ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์เนื้อหาของการวิจัยทางศาสนา 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้
4.1 การวิจัยเรื่อง การศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของร่างทรง : กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร” ของพระเฑียรวิทย์ อตฺตสนฺโต(โอชาวัฒน์) มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับร่างทรง, เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการทรงเจ้า, เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักพุทธธรรมในการประกอบพิธีกรรมของร่างทรง, เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างร่างทรงกับพระรัตนตรัย และเพื่อศึกษาอิทธิพลของร่างทรงที่มีต่อสังคมไทย(พระเฑียรวิทย์ อตฺตสนฺโต(โอชาวัฒน์), 2548.)
ในการศึกษาวิจัยเพื่อตอบวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ประการนั้น มี 2 วิธีการ คือ 1. การวิจัยภาคเอกสาร เป็นการวิจัยโดยศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับร่างทรง จากเอกสาร หลักฐาน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พระไตรปิฎก/อรรถกถา และข้อเขียนทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง/นิตยสาร/วารสาร/สงพิมพ์ต่างๆ / อินเทอร์เนต
2. การวิจัยภาคสนาม โดยใช้วิธีการเข้ามีส่วนร่วม และสังเกตการณ์ (Participant - Observation) ในพิธีกรรมที่ร่างทรงจัดขึ้น เช่นงานไหว้ครูประจำปี การเข้าทรงประจำวัน การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยใช้เครื่องมือ คือ เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูป สมุดบันทึกย่อย(Field note) สมุดบันทึกหลัก (Camp note) โดยสัมภาษณ์ร่างทรงจำนวน 16 คน ประเด็นการสัมภาษณ์ประกอบด้วย สาเหตุที่มาเป็นร่างทรง พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ลักษณะ/ สถานที่/ ความถี่ในการทำบุญกุศล แนวทาง/ วิธีการปฏิบัติธรรมประเภทเจ้าเข้าทรง จุดมุ่งหมายในชีวิต ปัญหา/ อุปสรรคที่ต้องการแก้ไข ประเภทการให้บริการกิจกรรมทางสังคมและพระพุทธศาสนา และการแจกแบบสอบถาม เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานภาพทางสังคม และเศรษฐกิจ ความเชื่อความคิดเห็น และประเภทการใช้บริการ ของผู้มารับบริการ (ลูกศิษย์/ลูกค้า) ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) จำนวน 95 คน และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows version 11 คำนวณหาค่าความถี่ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t – test)
          การวิเคราะห์ข้อมูลจากเนื้อหา ผู้วิจัยได้อาศัยเอกสารเกี่ยวกับ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับร่างทรง ใช้แนวความคิดทางมานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, จิตวิทยา รวมทั้งวิญญาณนิยมและลัทธิเจตนิยม เป็นแนวทางในการสร้างแบบสอบถาม เก็บข้อมูล และการวิเคราะห์เนื้อหา  (ในงานวิจัยบทที่ 2 ประวัติและพัฒนาการของร่างทรง ความหมายของร่างทรง ประเภทของร่างทรง ประเภทขององค์ความหมายของการทรงเจ้า/การเข้าทรง/เข้าผี ประเภทที่แสดงออกในการทรงเจ้า ประวัติของร่างทรง กระบวนการสู่การเป็นร่างทรง  การคงอยู่ของร่างทรง บทบาททางด้านบวก และด้านลบ เช่น ร่างทรง คือมนุษย์ธรรมดา ที่องค์เทพหรือเจ้าหรือผี จับเอาร่างเป็นทางผ่าน เพื่อจะสื่อสารและสัมผัสกับมนุษย์ได้ โดยพิธีการอัญเชิญ และต้องกระทำตัวให้อยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ข้อห้ามต่างๆ เช่น รักษาศีล มนุษย์ธรรมดานี้หมายถึงชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ที่ถูกเลือกโดยเจ้าที่มาประทับทรงเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยผู้ที่เป็นร่างทรงนั้นจะยอมเป็นร่างทรง ด้วยความเต็มใจหรือจำใจก็ตามจึงกล่าวได้ว่า ร่างทรงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่เจ้าพ่อเจ้าแม่ต้องอาศัยติดต่อกัน หรือมีความสามารถในการติดต่อกับผีหรือวิญญาณได้ และจะเป็นร่างให้วิญญาณมาประทับทรง เป็นบุคคลซึ่งถูกควบคุมโดยวิญญาณหรือมีวิญญาณอยู่ในร่าง ถูกคนในสังคมใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ) ในด้านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการทรงเจ้า (บทที่ 3 ผู้วิจัยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาหลายหมวด เช่น ปฏิจจสมุปบาท  อุปาทาน 4 ศรัทธา4 โยนิ(กำเนิด) 4...กรรมและการเกิดใหม่ /สังสารวัฏ) แนวคิดเรื่องผี พระพุทธเจ้ากับผีสางเทวดา ; โลกวิญญาณ / โอปปาติกะ)  เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาตามหลักพุทธธรรมแล้ว ความเชื่อร่างทรงจัดอยู่ในกลุ่มอุปาทาน  4 ชนิด อัตตวาทุปาทาน และ สีลัพพตุปาทาน และเป็นเดรัจฉานวิชา แต่มีหลักธรรมหลายหมวดที่น่าจะส่งผลต่อแนวคิดเรื่องร่างทรง(วิญญาณนิยม) คือ เรื่องโอปปาติกะ(ในโยนิ 4), เรื่องเทพ/เทวดา(ในเทพ 3, ภูมิ 4, คติ 5), เรื่องสัตวโลก (ในโลก 3), เรื่องสังขารและวิญญาณ(ในขันธ์ 5) และเรื่องกรรมกับการเกิดใหม่(สังสารวัฏ) ที่ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของ ปรโลก และสวรรค์ อันเป็นสาระหลักของความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและพิธีทรงเจ้าเข้าผี ส่วนหลักธรรมที่ส่งผลต่อการประกอบพิธีกรรมนั้นประกอบด้วย หลักศรัทธา หลักกรรม หลักการบำเพ็ญบารมี ทำให้เกิดระบบของการเสียสละ ในรูปแบบต่างๆ ของผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำของร่างทรง  ในด้านการประยุกต์หลักศรัทธา กรรม และการบำเพ็ญบารมี ในการประกอบพิธีกรรมของร่างทรงนั้น ไม่ได้แยกอย่างเด็ดขาดออกเป็นส่วน แต่จะมีความเกี่ยวเนื่องจนเป็นเนื้อเดียวกัน สำเร็จเป็นพิธีกรรมที่มีความแนบแน่นในแนวเดียวกัน เช่นในพิธีกรรมไหว้ครู ปรากฏชัดเจนถึงการนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในพิธีกรรม เป็นการ แสดงให้เห็นถึงหลักความเชื่อ ที่มีการระลึกถึงพระรัตนตรัย แต่มีลักษณะไสยศาสตร์แทรกปนอยู่ ส่วนเรื่อง  ร่างทรงกับพระรัตนตรัย มีความสัมพันธ์กันในภาวะแบบความเชื่อถือ น้อมรับมา และปรับใช้ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของตนเอง และสังคม ร่างทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระรัตนตรัย และเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ได้รับประสบการณ์ตรง มีการแนะนำคนอื่น ให้ศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ซึ่งถูกยกไว้เป็นที่เคารพในระดับสูง
สุดท้าย อิทธิพลของร่างทรงที่มีต่อสังคมไทย ทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของร่างทรงส่วนใหญ่คือ ความเชื่อเรื่องบุญ-บาป ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติธรรม ความเชื่อในพระรัตนตรัย ความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ และความเชื่อเรื่อง นิพพานตามลำดับ ความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่พิธีกรรมตามบริบทของความเชื่อนั้นๆ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของร่างทรงที่ประกอบส่วนใหญ่คือ การสวดมนต์ ไหว้พระ รองลงมาคือ การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม การทำบุญทอดกฐิน-ผ้าป่า สร้างพระพุทธรูป การเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน พรมน้ำมนต์ตามลำดับ

          4.2 การวิจัยทางศาสนาคริสต์ เรื่อง “การวิเคราะห์เนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์
ภาคพันธสัญญาเดิม หมวดบทกวีและวรรณกรรมปัญญา” ของ สมมาตร์ เสถียร บทความจากวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (สมมาตร์ เสถียร, 2554.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมหมวดบทกวีและวรรณกรรมปัญญา และเปรียบเทียบความสัมพันธ์สอดคล้องของจริยธรรมที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม หมวดบทกวีและวรรณกรรมปัญญากับคุณธรรม 30 ประการที่กรมการศาสนากำหนด
วิธีการวิจัยทำโดยการใช้หัวข้อจริยธรรม 26 หัวข้อ ซึ่งคัดเลือกจากแหล่งที่มา 7 แห่ง มาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ โดยการอ่านพิจารณาเนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏในรูปของคำ วลี ประโยค ข้อความ บทบรรยายหรือบทบาทการแสดงของตัวละครในเรื่อง บันทึกข้อมูลลงในแบบวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า หนังสือที่มีเนื้อหาจริยธรรมปรากฏมากที่สุดคือ หนังสือสุภาษิต รองลงมาคือ หนังสือสดุดี ส่วนหนังสือเพลงซาโลมอนมีเนื้อหาจริยธรรมปรากฏน้อยที่สุด เนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏตามประเด็นวิเคราะห์มากที่สุดคือ ความยุติธรรม รองลงมาคือ ความมีวาจาสัตย์ และเนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏน้อยที่สุดคือ การประหยัดอดออม และความมีมนุษยสัมพันธ์ ความสอดคล้องของจริยธรรมที่ปรากฏใน พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม หมวดบทกวีและวรรณกรรมปัญญากับคุณธรรม 30 ประการที่กรมศาสนากำหนดพบว่า โดยภาพรวมมีความสอดคล้องกัน

5. สรุป
          ในการวิเคราะห์เนื้อทางปรัชญา ก็ต้องอาศัยกรอบทฤษฎีทางปรัชญามาใช้อธิบายว่า สาระที่ได้จากข้อมูลนั้น มีส่วนใดบ้างที่ตรงกัน สอดคล้องกัน เกี่ยวเนื่องกัน สัมพันธ์กันกับทฤษฎีทางปรัชญา เช่นการสร้างพระพุทธรูป สอดคล้องกับทฤษฎีจริยศาสตร์ และเข้าได้กับสาขาสุนทรียศาสตร์ เป็นต้น แล้วสรุปสาระที่ได้มาเขียนรายงานผลการศึกษา
          สำหรับการวิเคราะห์เนื้อหาทางศาสนา ผู้วิจัยก็ต้องมีกรอบในการวิจัย เช่น หลักพุทธธรรม ในพระไตรปิฎก  หรือ หลักคริสตธรรม ศึกษาปรากฏการณ์ เช่น การเข้าทรง หรือ ค้นคว้าข้อมูลเอกสาร เช่น พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ก็ต้องนำหลักการทางศาสนาที่กล่าวมา วิเคราะห์ คัดกรองสาระที่เข้ากันได้อย่างไม่ผิดหลักการทางศาสนา นำเสนอตามวัตถุประสงค์และเขียนรายงานการวิจัยออกมา
ข้อคิดสุดท้าย ผู้วิจัยจะต้องแยกออกเป็นขั้นตอน เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ และตรวจสอบ ซึ่งในการวิเคราะห์นั้น ผู้วิจัยจะต้องพยายามตอบคำถามว่าสิ่งที่วิเคราะห์นั้น มีรูปแบบอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร เพราะเหตุใด และจะมีผลกระทบต่อกิจกรรม สถานการณ์ หรือความสัมพันธ์นั้น ๆ ได้อย่างไร ซึ่งการตอบคำถามเหล่านั้นจะต้องอาศัยการเก็บข้อมูลหลายอย่าง หลายวิธี ผู้วิจัยเองจะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง และรอบครอบ  ตามทัศนะของ  รองศาสตราจารย์ ดร. โยธิน แสวงดี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในการวิเคราะห์และตีความต้องนำความรู้จากทฤษฎี วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงานวิจัยที่ผ่านมา มาร่วมพิจารณาด้วยทุกครั้ง โดยต้องเขียนผสมผสานเข้าด้วยกันในลักษณะการอ้างอิงและระบุเชิงอรรถ เช่น ใช้คำว่า สอดคล้องกับ คล้ายกับ ขัดแย้งกับ ตอบโต้กับ ฯลฯ หากไม่มีการนำทฤษฎี วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและงานวิจัยที่ผ่านมา มาร่วมบรรยายในลักษณะข้างต้น ผลการวิเคราะห์ในเชิงการบรรยายจะเหมือนกับเรื่องเล่า เป็นการบรรยายข้อมูลที่ขาดการวิเคราะห์และตีความรายงานจะไม่มีคุณค่า ดังนั้นวิธีการเขียนคือ เขียนโดยใช้สำนวนสารคดี แบบเล่าเรื่อง ที่นิยมนำปรากฏการณ์และหลักฐานมายืนยัน” (โยธิน แสวงดี, 2555.)


6. แหล่งอ้างอิง
ญาณภัทร ยอดแก้ว, (2552).รายงานการวิจัยเรื่อง “แนวคิดเชิงปรัชญากับการสร้างพระพุทธรูป ; ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย” โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม,
แน่งน้อย  ย่านวารี, (2555). การวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยเชิงคุณภาพ, เอกสารเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต
พระเฑียรวิทย์ อตฺตสนฺโต (โอชาวัฒน์), (2548.) วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของร่างทรง : กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร” วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (วงศ์ชะอุ่ม), ,(2545).  วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาชีวิตไทยในกวีนิพนธ์กรุงรัตนโกสินทร์,”  วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, (2555.) การวิจัยทางปรัชญา/ศาสนา : หลักการ วิธีการ และเป้าหมาย, เอกสารการอบรม โครงการอบรมนักวิจัยภาคเหนือ รุ่น 1 / 2 วันที่ 12-13 มกราคม 2555.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, (2555). เครื่องมือการวิจัยทางปรัชญาและศาสนา, เอกสารการอบรม โครงการอบรมนักวิจัยภาคเหนือ รุ่น 2 วันที่ 21-22 มีนาคม 2555.
โยธิน แสวงดี, (2555).  การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้น 2555.
สมมาตร์ เสถียร, (2554). วิทยานิพนธ์เรื่อง“การวิเคราะห์เนื้อหาจริยธรรมที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม หมวดบทกวีและวรรณกรรมปัญญา”วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ลงใน วารสารบรรณศาสตร์ มศว ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554.
 Bruce L. Berg, (2554.) Qualitative research method  For  the social sciences, บทที่ 11 แปลโดย ฟ้ารัตน์  สมแสน.
-----------------






[1]  อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรียบเรียงเพื่อโครงการอบรมนักวิจัย รุ่น 1 / 2 วันที่ 12-13 มกราคม 2555. ณ ห้องประชุม อาคารรวมบัณฑิตวิทยาลัย-สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[2]  อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรียบเรียงเพื่อโครงการอบรมนักวิจัย รุ่น  2 วันที่  21-22 มีนาคม 2555. ณ ห้องประชุม อาคารรวมบัณฑิตวิทยาลัย-สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[3] อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรียบเรียงเพื่อโครงการอบรมนักวิจัยภาคเหนือ รุ่น 3 วันที่ 23-24 สิงหาคม 2555. ณ ห้องประชุม อาคารรวมบัณฑิตวิทยาลัย-สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่